24 มิถุนายน 2475 “ปฏิวัติสยาม” ถึงเวลา “คณะราษฎรศึกษา” หรือยัง? และอยากเห็นอะไรเกิดขึ้น?

24 มิถุนายน 2564

สยามหรือประเทศไทย เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยคณะผู้ก่อการที่เรียกตัวเองว่า “คณะราษฎร”

นั่นคือการ “ปฏิวัติ” ที่มีอยู่ครั้งเดียวสำหรับประเทศนี้ เพราะได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างประเทศ สร้างรัฐประชาชาติ หรือ Nation state ที่แท้จริง ประชาชนมีสิทธิมีเสียง และรับรู้ถึงอำนาจที่ตัวเองมี ภายใต้การปกครองที่เรียกว่า “ประชาธิปไตย”

แต่จากวันนั้นถึงวันนี้ ดูเหมือนว่ากระบวนการสร้าง “ประชาธิปไตย” ของเรา ต้องเจอกับอุปสรรคสารพัด 89 ปีที่ผ่านมาล้มลุกคลุกคลานทุลักทุเล และคล้ายจะไม่จบโดยง่าย ไม่มีใครมั่นใจได้ว่า ปีที่ 90 ปีที่ 100 จะสามารถสถาปนาหลักแห่ง “อำนาจเป็นของของประชาชน” ได้อย่างแท้จริงหรือไม่

ย้อนกลับไปในปี 2535 ในวาระครบรอบ 60 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครอง “อ.ยิ้ม” สุทธาชัย ยิ้มประเสริฐ ผู้ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งขณะนั้นเป็นอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รื้อฟื้นเรื่องราวของคณะราษฎรขึ้นมา ซึ่งก่อนหน้านั้นคนพูดถึงน้อยมาก โดยได้จัดเป็นกิจกรรมทางวิชาการ มีโครงการจัดทำหนังสือชุด “60 ปีประชาธิปไตยไทย” และเริ่มมีการพูดถึงคำว่า “คณะราษฎรศึกษา”

โครงการในครั้งนั้น แม้ได้ให้กำเนิดหนังสือเกี่ยวกับคณะราษฎร เกี่ยวกับการปฏิวัติสยามออกมาจำนวนหนึ่ง หากแต่ท้ายที่สุด เรื่องราวของคณะราษฎรก็ห่างหายไปอีก มาจนกระทั่งเกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จึงเริ่มมีการรื้อฟื้นกลับมาพูดถึง ต่อเนื่องมาจนรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 และอย่างแพร่หลายในปัจจุบันนี้ ถึงขนาดที่กลุ่มผู้ชุมนุม นักเรียน เยาวชน นักศึกษาและประชาชนทั่วไป เรียกตัวเองว่า “คณะราษฎร 2563”

และคำว่า “คณะราษฎรศึกษา” ก็ถูกหยิบยกกลับมาพูดถึงกันอีกครั้งครั้งด้วย

“คณะก้าวหน้า” หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาพูดคุยกับ 3 นักวิชาการที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องราวของ “คณะราษฎร” และการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ด้วยคำถามง่ายๆ ว่าถึงเวลา “คณะราษฎรศึกษา” หรือยัง? และอยากเห็นอะไรเกิดขึ้น?

____

“วาทกรรมคณะราษฎรชิงสุกก่อนห่าม คิดว่ายังอยู่กับสังคมไทยเรานะ เพราะว่าคนที่ประชาสัมพันธ์โฆษณาชวนเชื่อวาทกรรมนี้มีอำนาจ เขาคุมกระทรวงศึกษาธิการ คุมระบบการศึกษาทั้งหมด แต่ผมอยากชวนมองกลับกันว่า การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ไม่ใช่ว่าคณะราษฎรชิงสุกก่อนห่ามหรอก แต่เป็นเพราะคณะเจ้ากับคณะขุนนางใจเย็นเกินไป หรือเผลอๆ อาจจะไม่ได้คิดด้วยซ้ำไป

“ความคิดเรื่องต้องการความเปลี่ยนแปลงมีมานานแล้ว ตั้งแต่ครั้งหมอบรัดเลย์ แปลรัฐธรรมนูญอเมริกาเป็นภาษาไทยในสมัย ร.4 ซึ่งเจ้านาย ขุนนาง ต่างก็ได้อ่านทั้งนั้นเพราะเป็นสมาชิก นี่ย่อมแสดงว่าความคิดสมัยใหม่ว่าด้วยประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญมันมาถึงประเทศสยามแล้ว

“ในสมัย ร.5 ก็มีเจ้านายกลุ่มหนึ่งนำโดยพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ถวายคำกราบบังคมทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดิน ร.ศ.103 ปฏิรูปประเทศให้มีรัฐธรรมนูญแบบจักรพรรดิญี่ปุ่น ต่อมาถึงสมัย ร.6 ก็มีเรื่องเรื่องคณะปฏิวัติ ร.ศ.130 ที่นำโดยหมอเหล็ง ศรีจันทร์ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นภายหลังปฏิวัติล้มราชวงศ์ชิงในจีน ที่ระบบจักรพรรดิถูกยกเลิกไป แต่การก่อการของหมอเหล็งและคณะนายทหารหนุ่มในสยามนั้นไม่สำเร็จ

“ผมคิดว่า ความคิดเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงเป็นสมัยใหม่ เป็นประชาธิปไตย มีรัฐธรรมนูญ มันมีมาตั้งแต่ ร.4 – ร.5 -ร.6 เพียงแต่เพราะว่าฝ่ายเจ้าใจเย็น ดังนั้น กว่าจะถั่วสุกงาก็ไหม้ จึงเกิดคณะราษฎร ปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งไม่ใช่เรื่องชิงสุกก่อนห่าม นี่คือประวัติศาสตร์อีกด้านหนึ่งของเหรียญ

“สังคมไทยได้เรียนรู้ว่าเรามีปรากฏการณ์ที่สำคัญมากๆ คือ การปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 แต่ก็น่าเสียดายไม่เรียนรู้ความหมายและนัยยะที่แท้จริงของปราฏการณ์อันนี้ ยังมีกลุ่มคนที่หลงละเมอเพ้อฝันกับเรื่องราวของสังคมในระบอบเก่าอยู่ ยังฝันถึงคืนวันที่คนกลุ่มเล็กๆ มีอำนาจมีอิทธิพล ไม่ได้เรียนรู้ว่าสิ่งที่เป็นโลกสมัยใหม่ หัวใจสำคัญของการปกครองของโลกสมัยใหม่คือ ประชาธิปไตย การเลือกตั้ง การที่กฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งสูงสุดเหนือสถาบันหรือบุคคล

“จึงทำให้ เราอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างความคิดเก่ากับความคิดใหม่ ถ้าไม่สามารถจะประนีประนอม ไม่พยายามแลกเปลี่ยนความคิดกัน ผมว่าความเจ็บปวดนี้จะยังอยู่ และจะมีสิทธิเกิดความรุนแรงงมากกว่าที่เราเห็นด้วยซ้ำไป มันเหมือนวันนี้เราอยู่แบบกัดกินตัวเองรอเวลาปะทุ

“สิ่งที่เรียกว่า ‘คณะราษฎรศึกษา’ มันเป็นประเด็นที่ใหญ่มากๆ สำหรับสังคมไทย เพราะฉะนั้น ถ้าวงวิชาการ มหาวิทยาลัย ลุกขึ้นมาทำ ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีมากๆ และผมคิดว่ามีคนจำนวนหนึ่งพร้อมอยู่แล้วที่จะทำได้ มีคนที่อาจจะเรียกว่าไม่แก่เฒ่าจนเกินไปนัก อายุสัก 40-50 ปีเยอะมากๆ ที่มีความสามารถทำเรื่องนี้ เพียงแต่อาจไม่มีองค์กรกลางจัดทำขึ้นมา

“อย่างไรก็ตาม คงต้องค่อยทำค่อยไป อย่างเป็นต้นว่าเทอมหน้าสร้างวิชาขึ้นมาหนึ่งรายวิชา เกี่ยวกับคณะราษฎร เปิดรับนักศึกษาเรียนสัก 20-30 คน ระดมคนที่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องการเมืองการปกครองมาบรรยาย ทำสารนิพนธ์กันไป ค่อยๆ เก็บหลักฐานต่างๆ กันไป ค่อยต่อยอดเป็นห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ก็ค่อยๆ ทำกันไป แต่ขั้นต้น ได้สารนิพนธ์ดีๆ ความคิดใหม่ๆ สัก 10 เล่ม ก็นอนตายตาหลับแล้ว

“และถ้าพูดในแง่คนสอนประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ ดูจากประสบการณ์ตัวเองซึ่งสอนหนังสือที่ ม.ธรรมศาสตร์มาตั้งแต่ปี 2516 ผมว่าคนรุ่นนี้ให้ความสนใจประวัติศาสตร์การเมือง ให้ความสนใจกับเรื่องคณะราษฎร เรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 มากกว่าที่ผ่านที่ผมเคยรู้จัก แล้วให้ความสนใจในประเด็นที่หลากหลายและตีความไปแตกต่างจากเดิมมากๆ น่าสนใจมากๆ”

_____

“หลังเหตุการณ์ ‘พฤษภาคม 2535’ มีความพยายามที่จะก่อตั้ง ‘สถาบันประชาธิปไตย’ ขึ้น เพื่อเป็นหน่วยงานในสังกัดของสภาผู้แทนราษฎร มีงบประมาณเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย ทำการค้นคว้า วิจัย ฝึกฝนอบรมต่างๆ แต่สถาบันนั้นก็ได้รับการตั้งชื่อมาว่า ‘สถาบันพระปกเกล้า’

“วันนี้ ที่มีคำถามเรื่อง ‘คณะราษฎรศึกษา’ ซึ่งผมอยากชวนคิดถึงถึงเรื่อง ‘สถาบันคณะราษฎร’ ในระดับเดียวกันกับที่เป็นหน่วยงานในสังกัดของสภาผู้แทนราษฎร และได้รับงบประมาณเพื่อค้นคว้าวิจัย อบรม ฝึกฝนต่างๆ เหมือนกัน เพื่อเป็นเครื่องมือของการสร้างประชาธิปไตย เพราะต้องไม่ลืมว่า ส.ส.นั้น เกิดจาก ‘คณะราษฎร’ และการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 แต่ทว่า ‘คณะราษฎร’ ถูกสภาผู้แทนราษฎรลืมได้อย่างไร ทั้งๆ ที่เขาคือบิดาของคุณ

“ดังนั้น สถาบันคณะราษฎร ควรเป็นสถาบันที่ถูกสร้างขึ้นอยู่ภายใต้โครงสร้างของระบบทางการเมืองของไทย ซึ่งมันก็สามารถทำให้เราสร้างกระบวนการต่างๆ ได้ เพราะต้องการงบประมาณต่างๆ จำนวนมาก เราต้องสร้างนักวิชาการที่ไม่มีข้อจำกัดด้านเสรีภาพในการทำวิจัย เพราะไม่อย่างนั้นสร้างประชาธิปไตยไม่ได้

“สถาบันคณะราษฎรที่อยากเห็นคือ เป็นการศึกษาวิจัยเพื่อสนับสนุนเผยแพร่ประชาธิปไตยในทุกด้าน เพราะประชาธิปไตยนั้นต้องถูกบ่มเพาะ ความคิด ความเชื่อ พิธีกรรมของคนในทุกระดับทั้งในเมืองและชนบท เป็นกระบวนการทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง ทำให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าเป็นเจ้าของอำนาจอย่างแท้จริง เราไม่เรียกสิ่งนี้ว่าเป็นการฝึกฝนประชาชน หรือต้องทำให้ประชาชนมีการศึกษา ไม่ใช่อย่างแน่นอน

“ประชาธิปไตยเป็นการต่อสู้บนผลประโยชน์ของคนแต่ละคน ของกลุ่มแต่ละกลุ่มต่างๆ ไม่ใช่เป็นเรื่องวาทกรรมแบบว่าจะต้องมีการศึกษา จะต้องมีการฝึกฝน ซึ่งเป็นวาทกรรมของการรักษาอำนาจของระบอบเดิมต่างหาก

“แต่ถ้าถามว่า แล้วเรื่องคณะราษฎรที่ควรศึกษาล่ะ ผมคิดว่า สองเรื่องที่ควรทำ เรื่องแรก เราต้องตามหาว่า คณะราษฎรแต่ละคนคือใคร มีบทบาทอย่างไร รวมทั้งบรรดาภรรยาของพวกเขา อาจจะเป็นผู้หญิงที่อยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงนั้น ตรงนี้ก็ต้องมีการศึกษา

“เรื่องที่สอง คณะราษฎรกับการรักษาประชาธิปไตย อย่างเรื่อง ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎรรุ่นแรกที่ได้รับการเลือกตั้ง เขาคิดอะไรกัน ทำอะไรกัน และส่งผลมรดกอย่างไรต่อระบบรัฐสภาไทย ส่งผลอย่างไรต่อการเมืองไทย ผมคิดว่าที่เด่นมาก การต่อสู้ของ ส.ส.ที่มาจากต่างจังหวัด เพราะถ้าคุณไม่ยกย่อง ส.ส. คุณทำลาย ส.ส. คุณก็คือส่วนหนึ่งของการทำลายระบอบประชาธิปไตย

“ที่ผ่านมา เราถูกสร้างวาทกรรมว่า ส.ส.ไม่ดี แต่ถ้าเราลงลึกรายละเอียดมากยิ่งขึ้น เราจะเห็น ส.ส.กลุ่มใหญ่เลยที่เขามีความคิดความฝันในการสร้างประเทศนี้ ดังนั้น เราต้องให้พื้นที่กับ ส.ส.มากยิ่งขึ้น เพราะวาทกกรรมที่ผ่านมา เรื่อง “เสียงโฆษณาของนักการเมือง” ในเพลง “มนต์การเมือง” มันเป็นเพลงที่ถูกแต่งมาเพื่อทำให้ ส.ส.ดูเป็นภาพลบ เพราะเกมของเขาในยุคก่อน พ.ศ.2500 เป็นเกมที่เขาทำให้ ส.ส.ไม่มีอำนาจอะไรเลย เป็นเกมที่เขาทำให้ ส.ส.เป็นรัฐบาลไม่ได้ เมื่อเป็นรัฐบาลไม่ได้ ก็เป็นแค่โฆษณาหาเสียง เพื่อได้ไปนั่งในสภาแค่นั้น

“เพลงนี้มันถูกแต่งขึ้นมาเป็นเรื่องมือของฝ่ายรัฐประหาร ซึ่งในที่สุดมันก็ทำให้เกิดการยอมรับว่า ส.ส.ไม่ใช่ทางออก สภาไม่ใช่ทางออก รัฐประหารคือทางออก

“และข้อสำคัญก็คือ คนในสังคมไทยถูกทำให้มีวาทกรรม เจอ ส.ส. เจอนายทุน ให้ตีทั้ง ส.ส.และนายทุน แต่ไม่ตีศักดินาและไม่ตีทหาร ดังนั้น สิ่งที่เขาสร้างวาทกรรมมาตลอดหลายสิบปีมานี้ มันได้ออกดอกออกผล สภาผู้แทนราษฎร กลไกของสภาซึ่งสัมพันธ์กับทุนนิยมที่ตรวจสอบได้ ถูกทำให้ภาพกลายเป็นผู้กอบโกย โกงกิน ทั้งๆ ที่ทุนศักดินา ทุนทหาร คือทุนผูกขาด ไม่เคยมีการตรวจสอบ ผมคิดว่าเราต้องทำสิ่งนี้ให้มากขึ้น

“คำว่า คณะราษฎรศึกษา ทำให้รู้สึกว่าเป็นงานทางวิชาการเป็นหลัก แต่ถ้าคุณต้องการขยาย ออกไปก็อาจจะเป็น ‘สถาบันคณะราษฎร’ หรือเป็นการรวมตัวอย่างหลวมๆ ของหลายองค์กร ซึ่งตรงนี้จะทำอะไรก็ได้เพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย ซึ่งผมคิดว่าในสังคมไทยขาดสิ่งที่สนับสนุนทางจิตวิญญาณประชาธิปไตยในเรื่อง เพลง หนัง ละคร นิยายทั้งเรื่องสั้นเรื่องยาว ภารกิจด้านการศึกษาวิชาการก็เป็นด้านหนึ่ง แต่ภารกิจด้านการสร้างอีเว้นท์ใหม่ๆ เหล่านี้ก็เป็นสิ่งสำคัญ”

______

“เรื่องราวของ ‘คณะราษฎร’ มีทั้งสิ่งที่เป็นความสำเร็จและล้มเหลวเยอะแยะ แต่อย่างน้อย สิ่งที่เป็นรากฐานที่พวกเขาได้วางไว้แล้วก็คือเกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญ การจำกัดอำนาจพระมหากษัตริย์ และการเปิดให้คนมีความเสมอภาค มีความเป็นคนเท่าเทียมกัน สามารถยืนด้วยตัวเอง ซึ่งส่วนนี้เราอาจะหลงๆ ลืมกันไปบ้างว่า แต่เดิมคนไม่มีสิทธิ ไม่มีเสียง แต่หลังปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 มันทำให้เรายืนตรง มันทำให้เราเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย นี่แหละเป็นจุดเริ่มต้นระบอบประชาธิปไตย

“คณะราษฎรศึกษา ควรมีการพูดถึงในที่สาธารณะมาตั้งนานแล้ว ไม่ใช่มีแต่ในห้องเรียน ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือในการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างเดียว แต่ควรพูดถึงในวงกว้าง และเปิดพื้นที่ให้คนทุกคน ไม่ว่าจะแนวคิดอะไรก็ตาม คุณสามารถอธิบายคณะราษฎรตามแนวคิดของคุณได้ แต่อย่างน้อยบนหลักฐานข้อเท็จจริงที่เอามาอธิบาย เอามาตีแผ่ถกเถียงกัน

“อย่างน้อยสิ่งที่ผมอยากเห็น คือการทำ Archive ในรูปแบบดิจิทัลที่ให้คนทั่วไปได้เข้าถึงง่าย เปิดเป็นสาธารณะ เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับคณะราษฎร เก็บทุกอย่าง ข่าว อย่างน้อย ปี พ.ศ.2475-2500 วัตถุสิ่งของที่เกี่ยวข้อง, โปสการ์ด ,โปสเตอร์ บันทึกความทรงจำ เป็นต้น

“เพราะที่ผ่านมา ในฐานะเป็นผู้ศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองเกี่ยวกับการปฏวัติ 2475 ปัญหาที่ชัดเจนเลยคือ เรามีแต่รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่สามารถเข้าถึงได้ แต่กรณีรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีนั้นเข้าถึงยากมาก น่าจะทำให้คนเข้าถึงให้ง่ายขึ้น อย่างทุกวันนี้ ต้องทำเรื่องถึงหอสมุดเลขาธิการ ครม.ให้เขาอนุมัติ

“ผมคาดหวัง และอยากเห็นรูปแบบ Archive ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นทางการจนเข้าถึงอยากแบบหอจดหมายเหตุ แต่ให้เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลที่ให้ทุกคนเข้าถึงได้ เราอยากเห็นคนเอาข้อมูลเหล่านี้ไปต่อยอดด้วย เช่น เอาไปทำงานวัฒนธรรม บทภาพยนตร์ ละครเวที คือขยายไปเรื่องอื่นๆ ให้มันอยู่ในชีวิตประจำวันของคน

“ที่ผ่านมา คณะราษฎรถูกพูดถึงน้อย ก็ต้องยอมรับว่า เพราะเรื่องราวของคณะราษฎรมีการเมืองของเรื่องเล่าและความทรงจำ ไม่สามารถแยกขาดจากบริบทการเมืองร่วมสมัยได้ กระแสการอธิบายคณะราษฎรมันสัมพันธ์กับการเมือง เช่น ช่วงหนึ่งก็เชียร์ราษฎรโจมตีคณะเจ้า พอคณะราษฎรหมดอำนาจก็โจมตีคณะราษฎรเชียร์คณะเจ้า แล้วก็มีการรื้อฟื้นคณะราษฎรกลับมาใหม่ หลังรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา ยิ่งวันนี้ก็มีคณะราษฎร 2563 ที่มีจุดเชื่อมอะไรหลายอย่างกับคณะราษฎร โดยเฉพาะข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะในทางประวัติศาสตร์การเมือง ไม่มียุคสมัยไหนที่ระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญเข้มแข็งเท่ายุคสมัยคณะราษฎรอีกแล้ว

“ด้านหนึ่ง คนรุ่นนี้เขาอาจจะผ่านประสบการณ์ทางการเมือง เผชิญปัญหาทางการเมืองมาตลอดหลายสิบปีที่เขาเติบโตขึ้นมา อันนี้น่าจะเป็นสิ่งปลุกเร้าที่ทำให้เขาไปหาคำตอบ ว่า อะไรเป็นสาเหตุที่พาสังคมเขาเป็นแบบนี้ ที่เป็นอยู่นี้มันมีที่มาที่ไปอย่างไร จนนำไปสู่การอ่าน การค้นคว้าจากอินเตอร์เน็ต ซึ่งโลกทุกวันนี้ทำได้ง่ายดายมาก มีเครื่องมือที่ทันสมัย และที่สุดก็ไปลงตัวกับเรื่องราวของคณะราษฎร ที่ข้อเรียกร้องในการต่อสู้มันเชื่อมโยงกันได้”

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า