FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

8 ธันวาคม 2565

อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ


กีฬาฟุตบอลมีประวัติศาสตร์ยาวนานนับพันปีในหลายภูมิภาค และขยายตัวไปทั่วโลกจากเครืออาณานิคมอังกฤษ ปัจจุบันถือกันว่านี่คือกีฬาที่ได้รับความนิยมที่สุดในโลก ทั้งปริมาณผู้ชมและผู้เล่นอาชีพ 

ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ฟุตบอลก็เป็นกีฬาที่มีการจัดแข่งขันทั้งในโอลิมปิกฤดูร้อน และโอลิมปิกซ้อน (1906 Intercalated Games) อยู่ก่อนแล้ว จากความนิยมก่อให้เกิดการก่อตั้งสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ FIFA ในปี 1904 และหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ฟุตบอลได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสานสัมพันธ์นานาชาติมากขึ้น จนเป็นต้นทางที่ทำให้เกิดการจัดการแข่งขัน FIFA World Cup ครั้งแรก ในปี 1930 นั่นเอง

แม้ว่าที่ผ่านมา จะมี FIFA World Cup จะมีการแข่งขันทั้งประเภทผู้ชายและผู้หญิง (FIFA Women’s World Cup เริ่มแข่งมาตั้งแต่ปี 1991)  แต่ World Cup ที่เป็นมหกรรมระดับโลกจริงๆ นั้นจะเป็น World Cup ผู้ชายเป็นหลัก ประกอบกับแฟนคลับส่วนใหญ่ที่มักเป็นเพศชายเช่นกัน ทำให้หลายคนมีภาพจำว่า ฟุตบอลเป็นกีฬาสำหรับผู้ชายตรงเพศ (Straight Men) เท่านั้น และเป็นผลให้นักเตะหลายคนเองที่ไม่ได้มีอัตลักษณ์ตรงเพศ จำเป็นต้องปกปิดตัวตนทางเพศตลอดเวลาที่ยังลงสนาม เพราะมีความกังวลถึงค่านิยมและอคติทางเพศที่ฝังรากลึกอยู่ทั้งในกลุ่มผู้ชมและนักกีฬาด้วยกันก็ตาม คนรักเพศเดียวกัน ยังเป็นเรื่องต้องห้ามในแวดวงนักกีฬาฟุตบอลอาชีพอยู่1 และไม่มีทีท่าว่าอคติเช่นนี้จะหายไปจากวงการในเร็ววัน

ขณะที่ปัจจุบัน การตระหนักรู้เรื่องอัตลักษณ์และความเท่าเทียมทางเพศ ได้กลายเป็นคุณค่าหลักที่ประชาคมโลกต้องยึดถือร่วมกันภายใต้ร่มของสิทธิมนุษยชน (Human Rights) ทางสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้นในแวดวงกีฬาของตนเอง เป็นผลให้เกิดการออกระเบียบมาตรการที่ทีชื่อว่า “FIFA Governance Regulations (FGR)” เพื่อจัดการเลือกปฏิบัติ และการเหยียดทุกรูปแบบในสนาม2 แต่กระนั้นเมื่อกลับมาไล่ดูเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนระหว่างช่วงที่มีการแข่งขัน FIFA World Cup ตั้งแต่ปี 2010เป็นต้นมา กลับพบว่า:

  1. การแข่งขัน FIFA World Cup ครั้งที่ 19 ที่จัด ณ ประเทศแอฟริกาใต้ ในปี 2010 มีรายงานจาก Amnesty International ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจของแอฟริกาใต้ได้ใช้กำลังข่มขู่ และจับกุมพ่อค้าหาบเร่ คนไร้บ้าน รวมถึงสั่งรื้อถอน ทำลายที่อยู่พักพิงชั่วคราวของผู้ลี้ภัย/ผู้อพยพที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงกับสนามฟุตบอลที่ใช้เป็นสนามที่จัดงานทำให้ผู้คนต่างมองว่า กฎหมายที่ออกมาให้สอดคล้องกับระเบียบของ FIFA กำลังถูกใช้โดยตำรวจเพื่อขับไล่คนไร้บ้านและผู้ค้าตามท้องถนนออกจากพื้นที่ใกล้เคียงสถานที่จัดงาน โดยโทษปรับของกฎหมายดังกล่าวอยู่ที่ 1,300 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน3
  2. การแข่งขัน FIFA World Cup ครั้งที่ 20 ที่จัด ณ ประเทศบราซิล เมื่อปี 2014 ก็มีรายงานจาก Amnesty International เช่นกันว่า ประชากรชาวบราซิล 170,000 คนถูกขับไล่ออกจากบ้านของพวกเขาที่ มอรโร ดา โพรวิเดนเซีย (morro da providência) สลัมแห่งแรกของเมืองริโอ เดอ จาเนโร ในช่วงก่อนจัดงาน FIFA 2014 และ Olympic 20164
  3. การแข่งขัน FIFA World Cup ครั้งที่ 21 ที่จัด ณ ประเทศรัสเซีย เมื่อปี 2018ที่ผ่านมา มีรายงานจาก กลุ่ม “ทรีไลออนส์ไพรด” ซึ่งเป็นกลุ่มสนับสนุนแฟนบอลที่เป็นบุคคลหลากหลายทางเพศ (LGBTIQ+) ในอังกฤษ ว่า แฟนบอลที่เป็น LGBTIQ+ หลายคน โดนข่มขู่คุกคามว่าจะถูก “แทง” ถ้าหากเดินทางเข้ารัสเซีย5 รวมถึงกรณีที่แฟนบอลทีมจังโก้ของเม็กซิโก ไปตะโกนใส่มานูเอล นอยเออร์ ผู้รักษาประตูทีมชาติเยอรมนีว่า ‘Puto!’ มีความหมายสแลงว่า โสเภณีชาย แสดงให้เห็นถึงอคติและความเกลียดกลัวคนรักชอบเพศเดียวกันอย่างชัดเจน แม้ทาง FIFA จะสั่งปรับแฟนบอลจำนวน 10,035 เหรียญสหรัฐ หรือราว 330,843 บาท6 จากกรณีการใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม แต่สิ่งที่แฟนบอลหลายคนก็ยังสงสัยว่า เหตุใดสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติถึงอนุมัติให้มีการจัดการแข่งขันฟุตบอลในประเทศที่คนบางกลุ่ม “ไม่ได้ถูกต้อนรับ”
  4. นอกจากนี้ในรอบชิงชนะเลิศของ FIFA World Cup ครั้งที่ 21 ก็มีเหตุการณ์ที่วงดนตรีชื่อ “Pussy Riot” ได้บุกเข้าไปในสนามฟุตบอลเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง เรียกร้องให้ยกเลิกการห้ามเดินขบวนทางการเมือง รวมถึงเรียกร้องให้รัฐหยุดสอดส่องพฤติกรรมประชาชนในโลกออนไลน์อีกด้วย ซึ่งสุดท้าย FIFA ได้จัดการกับเหตุการณ์นี้ด้วยการไม่อนุญาตให้สื่อถ่ายทอดสดภาพกิจกรรมที่เกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองในสนามฟุตบอล เป็นผลให้ภาพของการเรียกร้องปรากฏอยู่แค่ในหนังสือพิมพ์/สื่อออนไลน์เท่านั้น ขณะที่สมาชิก Pussy Riot ต้องถูกตัดสินจำคุก 15 วันจากเหตุการณ์ครั้งนั้น7


เมื่อ FIFA เลือก “กาตาร์” เป็นเจ้าภาพ ความกังวล (ที่มากขึ้น) จึงบังเกิด

สำหรับการแข่งขัน Qatar FIFA World Cup ครั้งที่ 22 ที่จะจัดขึ้นที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ระหว่างวันที่ 20 พฤศจิกายน – 18 ธันวาคม 2022นี้ ก็มีข่าวคราวหลายระลอกที่ชวนให้แฟนบอลหลากหลายประเทศต่างรู้สึกไม่พอใจ เริ่มต้นจากที่ประชุมคณะกรรมการ FIFA มีมติให้กาตาร์เป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขัน FIFA World Cup ครั้งที่ 22 ขณะที่กาตาร์ไม่มีความพร้อมในเรื่องสถานที่จัดการแข่งขัน ด้วยเหตุนี้ กาตาร์จึงต้องเร่งก่อสร้างสนามกีฬาแห่งชาติขึ้นมาในประเทศเพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ และนำมาสู่การจัดทำรายงานเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศกาตาร์ของ Human Rights Watch 

โดยรายงานของ Human Rights Watch ระบุว่า กาตาร์ละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายกรณี ประเด็นแรกคือ การละเมิดสิทธิของแรงงานข้ามชาติ โดยแรงงานข้ามชาติในกาตาร์ต้องประสบกับการจ่ายค่าจ้างที่ล่าช้า การจ่ายค่าจ้างไม่ถูกต้องตามสัญญาหรือไม่จ่าย การทำงานล่วงเวลาโดยไม่ได้รับค่าจ้าง และการหักลดหย่อนตามอำเภอใจจากนายจ้าง และที่แย่ที่สุดคือ ในระหว่างปี 2010-2019 มีแรงงานข้ามชาติเสียชีวิตในประเทศกาตาร์แล้วกว่า 15,021 ราย8

ประเด็นดังกล่าว ส่งผลให้แฟนบอลเยอรมนีออกมาแสดงเจตจำนงต่อต้านกาตาร์ ผ่านการชูแบนเนอร์หน้าสเตเดียมใหญ่ๆ ในเมืองฮัมบวร์กและเบอร์ลิน เช่น ป้ายที่ระบุว่า “มีคนตาย 15,000 คนเพื่อการแข่งฟุตบอล 5,760 นาทีเนี่ยนะ บ้าไปแล้ว!” 9 และเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา Amnesty International ได้เผยแพร่แบบสำรวจที่ชี้ว่า 75 เปอร์เซ็นต์ของแฟนฟุตบอลทั้งหมด 17,000 คน จาก 15 ประเทศ ได้สนับสนุนให้ FIFA จ่ายค่าชดเชยให้กับครอบครัวของเหล่าแรงงานข้ามชาติที่เสียชีวิตจากการเร่งสร้างสนามกีฬาแห่งชาติของกาตาร์

ประเด็นที่สองคือ การละเมิดสิทธิผู้หญิงและกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ พบว่า จนถึงขณะนี้ผู้หญิงในกาตาร์ยังต้องได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองชายเสียก่อน จึงจะสามารถแต่งงาน เรียนต่างประเทศด้วยทุนรัฐบาล ทำงานราชการหลายอย่าง เดินทางไปต่างประเทศ หรือเข้าถึงสิทธิในการดูแลสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์บางรูปแบบ และในช่วงเดือนกันยายน 2022 ที่ผ่านมา แม้ว่ารัฐบาลกาตาร์จะเตรียมการตรวจตราอย่างเข้มงวดเพื่อการปฏิบัติต่อกลุ่มคนหลากหลายทางเพศอย่างเท่าเทียม แต่กองกำลังของกรมรักษาความปลอดภัย กลับจับกุมกลุ่มคนหลากหลายทางเพศอย่างจงใจ และทำให้พวกเขาถูกกักขังและตกอยู่ในอันตราย10

รวมถึงเมื่อเร็วๆ นี้ สื่อหลายสำนักรายงานว่า สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติจะยังไม่อนุญาตให้ 32 กัปตันทีมที่ผ่านมาเข้าสู่รอบสุดท้าย สวมปลอกแขนหัวใจสีรุ้ง “OneLove” ที่แสดงถึงการสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ และการต่อต้านการเหยียดเพศทุกรูปแบบในสนาม11 แต่เนื่องด้วยการรักเพศเดียวกันเป็นเรื่องต้องห้ามตามกฎหมายของกาตาร์12 ทั้งนี้ ต่อให้ปลอกแขน OneLove จะไม่ถูกสวม แต่ถ้าสื่อมวลชนรายงานข่าวการแข่งขันฟุตบอลออกไปอย่างผิดธรรมเนียม ค่านิยม หรือหลักการทางสังคม ก็อาจถือว่ากระทำผิดกฎหมายอาชญากรรมทางไซเบอร์ปี 2014 ของกาตาร์ ที่ให้โทษจำคุกสูงสุด 3 ปี และปรับ 500,000 ริยัลกาตาร์ (หรือประมาณ 4.9 ล้านบาทไทย)

ประเด็นสุดท้ายคือ เรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ปกติแล้วจะเป็นเครื่องดื่มสามัญคู่กับการชมกีฬา แต่เนื่องจากกาตาร์เป็นรัฐอิสลาม เงื่อนไขในการดื่มแอลกอฮอล์จึงแตกต่างไปจากความเคยชินของแฟนบอลหลายๆ คน โดยก่อนหน้านี้ มีรายงานโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจกาตาร์ว่า มีแฟนบอลเม็กซิโกพยายามตบตาเจ้าหน้าที่กาตาร์ ผ่านการเทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลงไปในกล้องส่องทางไกลปลอม แต่สุดท้ายแล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจกาตาร์ก็จับได้ และริบเครื่องดื่มไป 

ขณะเดียวกัน ก็มีคลิปไวรัลในโลกโซเชียลมีเดีย บันทึกวิดีโอโดยแฟนบอลอังกฤษระหว่างกำลังเดินหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลังชมฟุตบอลเสร็จ จนกระทั่งได้ไปพบกับกลุ่มเศรษฐีชาวกาตาร์ที่อยู่บริเวณนั้น โดยพวกเขาได้พาแฟนบอลคนนั้นไปดื่มแอลกอฮอล์ที่คฤหาสน์ จากคลิปนี้ทำให้หลายคนตั้งคำถามไปตามๆ กันว่า “ทำไมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นของต้องห้ามในประเทศกาตาร์ ถึงได้มีอยู่ในคฤหาสน์ของกลุ่มชนชั้นสูง? หรือว่าจริงๆ แล้ว เจ้าหน้าที่รัฐกาตาร์เลือกปฏิบัติกับพลเมืองประเทศไม่เท่าเทียมกัน?”

หลังจากนี้ แฟนบอลผู้สมาทานประชาธิปไตยและความเท่าเทียมของมนุษย์ คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่า การเดินทางมายังประเทศกาตาร์ของบรรดาเหล่านักเตะ (ที่มีอัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลาย) จากหลายประเทศจะมีปัญหาหรือไม่? และการแข่งขันในอีก 8 แมทช์ที่เหลือ จะมีกรณีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนเพิ่มขึ้นอีกหรือเปล่า?



อ้างอิง

 Matt Williams, Is homophobia in football still a taboo?, BBC News UK. http://news.bbc.co.uk/sport2/hi/football/4426278.stm 

FIFA, FIFA Governance Regulations (FGR) https://www.icsspe.org/system/files/FIFA%20Governance%20Regulations_0.pdf

Amnesty International, Human rights concerns in South Africa during the World Cup https://www.amnesty.org/en/latest/press-release/2010/06/human-rights-concerns-south-africa-during-world-cup/

Amnesty International, Brazil: Human rights under threat ahead of the World Cup https://www.amnesty.org/en/latest/press-release/2014/04/brazil-human-rights-under-threat-ahead-world-cup/ 

ประชาไท, ดูการต่อสู้ของแฟนบอลชาวเกย์ เมื่อบอลโลกจัดในประเทศที่เกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน https://prachatai.com/journal/2018/06/77491

THE STANDARD, FIFA สั่งปรับเม็กซิโก 10,035 เหรียญสหรัฐ ฐานตะโกนเหยียดเพศนอยเออร์ https://thestandard.co/fifa-fines-mexico-as-hernandez-asks-fans-to-stop-homophobic-chant/

The Guardian, Pussy Riot members jailed for World Cup final pitch invasion https://www.theguardian.com/football/2018/jul/17/pussy-riot-members-jailed-for-world-cup-final-pitch-invasion

Human Rights Watch, HUMAN RIGHTS GUIDE FOR REPORTERS 2022 FIFA World Cup in Qatar https://www.hrw.org/sites/default/files/media_2022/11/202211mena_qatar_worldcup_reportersguide_2.pdf

Time. News, World Cup: “15,000 dead for 5,760 minutes of football!”, German supporters call for a boycott https://time.news/world-cup-15000-dead-for-5760-minutes-of-football-german-supporters-call-for-a-boycott/

Human Rights Watch, Human Rights Reporters’ Guide for 2022 FIFA World Cup Qatar https://www.hrw.org/sites/default/files/media_2022/11/202211mena_qatar_worldcup_reportersguide_2.pd

Siamsport, One Love : ปลอกแขนกัปตันทีมที่อาจมาพร้อมใบเหลืองใน ฟุตบอลโลก 202https://www.siamsport.co.th/worldcup2022/7227

PPTVHD36,  จ่อห้ามกัปตันทีมสวมปลอกแขนเท่าเทียมทางเพศ เตะฟุตบอลโลก 2022 https://www.pptvhd36.com/sport/news/181178

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า