Brave New World

22 พฤศจิกายน 2565
22 พฤศจิกายน ครบรอบวันเสียชีวิตของ ‘อัลดัส ฮักซ์ลีย์’ (Aldous Huxley) นักเขียนชื่อดังชาวอังกฤษ ผู้จากไปด้วยวัย 69 ปี ในปี 1963 ด้วยโรคมะเร็งกล่องเสียง ภรรยาเขาเล่าว่า เมื่อวาระสุดท้ายใกล้มาถึง ฮักซ์ลีย์ร้องขอให้เธอฉีด LSD ปริมาณ 100 ไมโครกรัม เข้ากล้ามเนื้อ เธอตอบรับคำขอนั้น ก่อนเขาจะหมดลมหายใจในไม่กี่ชั่วโมงต่อมา

ด้านหนึ่ง อิทธิพลที่เกิดจากการใช้สารเหล่านี้ก็เป็นเรื่องน่าสนใจศึกษา แต่อีกด้านหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าพฤติกรรมเหล่านี้จะไม่มีความหมายอะไรเลย หาก ‘ผลงาน’ ของเขาไม่ได้คุณภาพจนเป็นที่ยอมรับ 

‘Brave New World’ คือผลงานที่โด่งดังที่สุดของฮักซ์ลีย์ BBC News จัดให้มันเป็น 1 ใน 100 นวนิยายที่ทรงอิทธิพลต่อมนุษยชาติที่สุด Modern Library จัดให้มันเป็นนวนิยายภาษาอังกฤษในศตวรรษที่ 20 ซึ่งดีที่สุดอันดับ 5 จาก 100 อันดับ มันยังเป็นนวนิยายที่ถูกนำไปดัดแปลงเป็นละครทีวี ภาพยนตร์ และละครทีวี หลายครั้งหลายโอกาสเสมอมา

มันเป็นนวนิยายดิสโทเปียที่ฉายภาพโลกอนาคตซึ่งวิทยาการของมนุษย์ก้าวหน้าถึงขั้นสามารถแย่งความเป็นเจ้าโลกจากพระเจ้าและธรรมชาติมาได้ หนำซ้ำ รัฐประชาชาติทั้งหลายยังถูกทลายหายไป เหลือเพียงสถาบันปกครองหนึ่งเดียว คือ ‘รัฐโลก’


ฟอร์ดและฟรอยด์ พระเจ้าแห่งรัฐโลก

ระเบียบพื้นฐานของโลกนี้ สามารถเข้าใจได้ผ่าน 2 ชื่อสำคัญ 

ชื่อแรก- ‘เฮนรี่ ฟอร์ด’ (Henry Ford) ผู้ระเบิดพลังการผลิตด้วยการปรับใช้ระบบสายพาน ในนวนิยายเรื่องนี้ ฮักซ์ลีย์สถาปนาให้ฟอร์ดกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดแทนที่พระเจ้า อารยธรรมในเรื่องล้วนแต่มีฟอร์ดศูนย์กลาง หอนาฬิกาบิ๊กเบนถูกเปลี่ยนชื่อเป็นบิ๊กฟอร์ด การนับปีศักราชถูกจำกัดให้เหลือเพียงปี ฟ.ศ. (ฟอร์ดศักราช) ไม่มีใครอุทานด้วยคำว่า “โอ้! พระเจ้า” อีกต่อไป จะมีแต่ “โอ้! ฟอร์ด” (น. 87) ทั้งหมดนี้เป็นเพราะรัฐโลกสนใจแต่มูลค่าทางธุรกิจอุตสาหกรรมเท่านั้น 

ชื่อสอง- ‘ซิกมันด์ ฟรอยด์’ (Sigmund Freud) บิดาแห่งวงการจิตวิเคราะห์ ผู้เคยเสนอให้ใช้โคเคนรักษาอาการติดมอร์ฟีนและซึมเศร้า ทั้งยังนิยมสูบซิการ์วันละ 20 มวนต่อวัน ในนวนิยาย ฟรอยด์ไม่ได้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป แต่เป็นสมญานามซึ่งเจ้าของตำแหน่ง ‘ผู้ควบคุมโลก’ ใช้เรียกตัวเอง (น. 49) ชื่อของฟรอยด์มีบทบาทสำคัญ เนื่องจากทุกคนในรัฐโลกจะไม่มีปมเรื่องครอบครัว (พ่อ-แม่-ลูก) หรือ Oedipus complex อีกต่อไป เพราะต่างเกิดมาจากหลอดแก้ววิทยาศาสตร์ และสามารถปลดปล่อยแรงปรารถนาทางเพศได้อย่างไม่มีข้อจำกัดทางศีลธรรม (หากต้องสรุปอย่างหยาบๆ ฟรอยด์เสนอว่า ปัญหาทางจิตล้วนมีต้นตอจากแรงขับทางเพศที่ถูกกดไว้ใต้ศีลธรรมให้เด็กไม่สามารถรักพ่อแม่ตัวเองได้)

เมื่อแรงขับทางเพศไม่ถูกจำกัดด้วยครอบครัวและศีลธรรม ‘การเก็บกด’ (repression) ที่ฟรอยด์บอกว่าจะแสดงตัวผ่านความฝันหรือการพูดผิด (freudian slip) จึงไม่มีอีกต่อไป 

ในแง่หนึ่ง การเป็นสังคมที่ร่วมเพศได้อย่างเสรี (free sex) ที่การครองรักแบบผัวเดียวเมียเดียวกลายเป็นสิ่งสามานย์นี้ ไปด้วยกันอย่างดีกับการเป็นสังคมบริโภคนิยมสุดขั้ว ที่ไปสนับสนุนสังคมแห่งธุรกิจของฟอร์ดอีกทีหนึ่ง (ดังที่โฆษณาสินค้าจำนวนมากในโลกความจริงก็อาศัยข้อเสนอเกี่ยวกับแรงดึงดูดทางเพศของฟรอยด์ในการล่อให้คนบริโภคสินค้าของตน) โลกใน Brave New World จึงไม่มีกรอบคิดเรื่องการซ่อมแซมหรือรีไซเคิล ตัวเลือกเดียวที่เหลืออยู่เวลาเสื้อผ้าชำรุดคือการซื้อใหม่เท่านั้น เพราะ “ยิ่งเย็บก็ยิ่งรวยน้อยลง” 

ในนวนิยายเรื่องนี้ มูลค่าทางธุรกิจ สังคมบริโภคนิยมสุดโต่ง และการเสพสังวาสอย่างเสรี จึงเป็นสิ่งที่สนับสนุนซึ่งกันและกัน

อย่างไรก็ดี ใช่ว่าทุกคนในเรื่องจะสามารถกระทำเช่นนั้นได้ พฤติกรรมและทัศนคติเหล่านี้ต่างถูก ‘ปรับสภาพ’ ให้เป็นไปตามชนชั้นที่ตนเองสังกัดตั้งแต่ยังเป็นตัวอ่อน และยิ่งถูกประกอบสร้างให้แบ่งแยกมากขึ้นเรื่อยๆ ตอนโต มันชัดเจนมากที่สุดในบทที่ 2 “บทเรียนกล่อมสอนเด็กตอนนิทรา” (Hypnopeadia) ที่ฉายภาพห้องเรียนอนุบาลซึ่งปรับใช้ทฤษฎีการเรียนรู้การวางเงื่อนไขแบบคลาสสิก ของ พาฟลอฟ (Ivan Petrovich Pavlov) ที่ถูกค้นพบจากการทดลองในสุนัข ในการทดลองนั้นพาฟลอฟเริ่มด้วยการสั่นกระดิ่งทุกครั้งที่ให้อาหารกับสุนัข และเมื่อถึงจุดหนึ่งสุนัขก็จะน้ำลายไหลทุกครั้งที่ได้ยินเสียงกระดิ่งแม้จะไม่มีอาหารก็ตาม โดยในห้องเรียนนี้ สุนัขถูกเปลี่ยนให้เป็นเด็ก (ชนชั้นสติปัญญาต่ำ) เปลี่ยนจากกระดิ่งเป็นเสียงดังกับกระแสไฟฟ้า และเปลี่ยนจากอาหารเป็นหนังสือกับดอกไม้ 

อะไรคือเหตุผลที่รัฐโลกต้องทำเช่นนี้ คำตอบอยู่ในหน้า 31-32 

“ถ้าหากเด็กๆ พวกนี้ถูกทำให้หวีดร้องเมื่อเห็นดอกกุหลาบ นั่นแสดงว่านโยบายด้านเศรษฐกิจบรรลุถึงเป้าหมายอย่างสูง เมื่อไม่นานมานี้ (หนึ่งศตวรรษหรือประมาณนั้น) พวกแกมมา พวกเดลตาหรือแม้แต่พวกเอ็พซิลอน [ชื่อเรียกวรรณะในเรื่อง เป็นพวกมีสติปัญญาระดับกลางถึงต่ำ] ถูกกำหนดให้ชื่นชอบดอกไม้เป็นพิเศษและให้ชอบธรรมชาติป่าเขาเป็นพื้นฐาน แนวคิดก็เพื่อให้พวกเขาอยากออกไปท่องเที่ยวตามชนบททุกครั้งเมื่อมีโอกาส และนั่นเป็นการบังคับให้พวกเขาต้องบริโภคการขนส่ง

[แต่] ดอกพริมโรสและภูมิประเทศ … มีข้อเสียสำคัญอย่างคือ มันเป็นของได้เปล่า ความรักธรรมชาติไม่ก่อให้เกิดมูลค่าให้เกิดมูลค่าธุรกิจอุตสาหกรรม จึงได้มีการพิจารณายกเลิกความรักธรรมชาติในพวกวรรณะต่ำทุกกลุ่มชั้น ยกเลิกความรักธรรมชาติไปก็จริงแต่ไม่ได้สูญเสียการบริโภคการขนส่งไป เพราะจริงๆ แล้วเป็นเรื่องจำเป็นที่พวกเขาจะต้องออกไปยังชนบทอยู่ถึงแม้จะเกลียดมันก็ตาม ปัญหาก็คือ การหาเหตุผลทางเศรษฐกิจในการบริโภคการขนส่งอย่างคุ้มค่าที่ฟังเข้าท่ามากกว่าแค่ความชื่นชอบดอกพริมโรสกับภูมิประเทศเท่านั้น และเหตุผลที่เหมาะสมนั้นก็ถูกค้นพบแล้ว

“เราสร้างเงื่อนไขให้คนพวกนี้จำนวนมากเกลียดชนบท” ผู้อำนวยการศูนย์สรุป

“แต่ขณะเดียวกันเราก็สร้างเงื่อนไขให้พวกเขาหลงใหลกีฬาชนบททุกชนิด ขณะเดียวกันเราก็คอยตรวจสอบว่ากีฬาชนบททุกชนิดนั้นนำไปสู่การใช้อุปกรณ์อย่างดี ดังนั้นพวกเขาก็จะบริโภคผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรวมทั้งการขนส่งด้วย นี่แหละคือเหตุผลของการช็อตด้วยไฟฟ้า”

ดังนั้น มนุษย์ที่สมบูรณ์ใน Brave New World จึงไม่ใช่คนที่ดำรงตนอย่างเสรีชน หรือรักความยุติธรรม หากเป็นมนุษย์ที่สามารถ “พลเมืองที่ทำงานหนัก บริโภคผลิตภัณฑ์สินค้า และมีความสุขคนหนึ่ง” (น. 244)

แต่แม้ความคิดจิตใจ อคติ และทัศนคติ ที่รัฐปลูกฝังนี้ จะติดตัวเด็กไปจนตาย (น.38-39) แต่มันก็ไม่ต่างจากระบบการผลิตสินค้าทั่วไป ที่ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าระบบจะดีอย่างไร ข้อบกพร่องก็มีโอกาสเกิดได้เสมอ 

ข้อบกพร่องนี้เองที่แสดงให้เห็นอารมณ์ขันในงานของฮักซ์ลีย์อีกครั้ง เพราะเขาตั้งให้ตัวละครที่แปลกแยกไปจากคนอื่นในสังคมมีชื่อว่า ‘เบอร์นาร์ด มาร์กซ์’ ชายผู้มีชื่อมาจาก ‘คาร์ล มาร์กซ์’ (Karl Marx) ปูชนียบุคคลแห่งลัทธิคอมมิวนิสต์


มาร์กซ์ (และผองเพื่อน) ตัวละครแห่งความแปลกแยกในสังคม

ก่อนจะพูดถึง ‘ความแปลกแยก’ (alienation) ที่เกิดขึ้นกับตัวละครชื่อมาร์กซ์ จำเป็นต้องเล่าก่อนว่า ความร้ายกาจที่แสดงผ่านชื่อตัวละคร ยังปรากฏผ่านการทำให้ ‘เลนิน’ (Vladimir Lenin) นักปฏิวัติหัวล้าน ผู้ล้มล้างระบอบกษัตริย์และเปลี่ยนรัสเซียเป็นคอมมิวนิสต์ กลายเป็น ‘เลนิน่า’ ตัวละครหญิงผมน้ำตาลแดงหยิกเป็นลอน (น. 123) ที่พยายามตามตื๊อร่วมรักกับมาร์กซ์ตลอดต้นเรื่อง ทั้งนี้ การเปลี่ยนนักปฏิวัติชายแท้อย่างเลนินกลายเป็นผู้หญิงและมีเส้นผม อาจยังไม่ร้ายกาจเท่าการทำให้เขามีนามสกุลที่อ้างอิงกับระบอบกษัตริย์อย่าง ‘คราวน์’ (Crown) ซ้ำร้าย ฮักซ์ลีย์ยังจัดให้เลนิน่ากลายเป็นเพื่อนสนิทของ ‘แฟนนี่’ ซึ่งมีที่มาจาก ‘แฟนนี่ แคปแลน’ (Fanny Kaplan) หญิงผู้เคยพยายามลอบสังหารเลนินอีกด้วย

กลับมาที่มาร์กซ์ ที่แม้จะเป็นตัวละครสังกัดวรรณะสติปัญญาสูงสุดในสังคม แต่ก็ต้องรู้สึกแปลกแยกจากร่างกายที่เตี้ยกว่าค่าเฉลี่ยของชายในวรรณะตนเองถึง 8 เซนติเมตร ซึ่งก็บังเอิญสอดคล้องกับมาร์กซ์ในโลกความจริงที่ก็มีปัญหาเรื่องรูปลักษณ์ภายนอกจากการมีภาวะต่อมเหงื่ออักเสบ (Hidradenitis Suppurativa) บางคนถึงกับเสนอให้มันเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มาร์กซ์พัฒนาทฤษฎีความแปลกแยกขึ้นมาได้เลยทีเดียว (นับว่าบังเอิญมาก เพราะฮักซ์ลีย์เขียนนวนิยายเรื่องนี้ในปี 1931 แต่ภาวะนี้ถูกบรรจุเข้าตำราแพทย์อังกฤษในปี 1933) 

อีกสิ่งหนึ่งที่ผลักให้มาร์กซ์กลายเป็นคนแปลกแยกในสังคมนี้ ก็มาจากการปฏิเสธที่จะใช้ ‘โซม่า’ ยาสามัญประจำโลกที่จะทำให้ผู้ใช้มองทุกอย่างในแง่บวก ปราศจากอารมณ์ทุกข์เศร้าเหงาซึม และที่สำคัญมันจะทำให้ผู้ใช้ไม่ต้องคิดอะไรมาก และหันไปบริโภคสารเสพติดชั้นต่ำที่สุดในเรื่อง นั่นคือ ‘แอลกอฮอล’ (มาร์กซ์ตัวจริงเองก็ขึ้นชื่อว่าเสพติดแอลกอฮอลอย่างหนัก) 

เพียงแค่การมีสรีระผิดแปลกไปจากมาตรฐานก็หนักหนาแล้ว ยิ่งผสมกับการดื่มของเหลวชั้นต่ำเป็นประจำ ก็ยิ่งทำให้มาร์กซ์กลายเป็นคนนอกมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม กรอบคิดเรื่องความแปลกแยก (แบบที่มาร์กซ์ตัวจริงเสนอ) จะเกิดขึ้นได้ต้องไม่ใช่อะไรที่ปัจเจกเพียงคนเดียวประสบอยู่ลำพัง

แต่เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นในระดับกลุ่ม (collective) 

ในเรื่องนี้เราจะเห็นว่าตัวละครดำเนินเรื่องต่างก็มีปัญหาความแปลกแยกกันทั้งนั้น แต่หากจะต้องยกตัวอย่างก็คงต้องเป็น ‘เฮล์มโฮลทซ์ วัตสัน’ เพื่อนร่วมทุกข์รูปหล่อของมาร์กซ์

“สภาพล้นเกินทางด้านจิตใจได้ก่อผลกระทบหลายอย่างในตัวเฮล์มโฮลทซ์ คล้ายคลึงกับผลกระทบที่ทำให้เกิดความบกพร่องทางร่างกายของเบอร์นาร์ด มาร์กซ์ กระดูกและกล้ามเนื้อที่มีน้อยเกินไปทำให้เบอร์นาร์ดแปลกแยกโดดเดี่ยวจากเพื่อนฝูงคนหนุ่มทั้งหลาย และความรู้สึกแปลกแยกนี้-ซึ่งหากกล่าวตามมาตรฐานทั่วไปแล้วถือว่าเป็นสภาพล้นเกินทางจิตใจอย่างหนึ่ง-ก็ได้ย้อนกลับมาเป็นสาเหตุแห่งการแยกห่างที่ถ่างกว้างมากกว่าเดิมไปอีก ความแปลกแยกที่เคยทำให้เฮล์มโฮลทซ์รู้สึกไม่สบายใจถึงความเป็นตัวของตัวเองและความโดดเดี่ยวนี้แหละถือว่าเป็นความสามารถยิ่งยวด สิ่งที่ชายหนุ่มทั้งสองมีร่วมกันคือความรู้และความเป็นเอกเทศของตน ในขณะที่มีความบกพร่องทางสรีระ เบอร์นาร์ดทุกข์ทรมานอยู่ตลอดชีวิตกับความรู้สึกถึงความอ้างว้างโดดเดี่ยว แต่เฮล์มโฮลทซ์ วัตสันซึ่งตระหนักดีถึงสภาพล้นเกินทางจิตใจของตน ก็รู้สึกว่าตัวเองแตกต่างจากผู้คนรอบๆ ข้างเช่นกัน”

(น. 76)


สลาวอย ชิเช็ค กับ ความจริง-ความสุขในโลกหลังอุดมการณ์ 

“โซม่ามีไว้เสมอเพื่อให้เราหยุดพักผ่อนว่างเว้นจากความจริงทั้งหลาย และมีไว้เสมอเพื่อสะกดรำงับความโกรธของเรา เพื่อสร้างปรองดองระหว่างเรากับศัตรู … ศาสนาคริสต์ที่ปราศจากน้ำตา-นั่นละคือ สิ่งที่โซม่าเป็น” (น.246) คำบรรยายสรรพคุณของโซม่าที่ผู้ควบคุมให้ไว้ในบท 17 “โลกที่ปลอดพระเจ้า” (The World Without God) บอกชัดเจนว่า ‘ความสุข’ คือสิ่งที่รัฐโลกใน Brave New World ใช้กล่อมประสาทประชาชน กล่าวอีกนัยหนึ่ง ความสุขถูกใช้เป็นโฆษณาชวนเชื่อเพื่อกันไม่ให้คนเดินบนถนนแห่งความเจ็บปวดที่ชื่อว่า ‘ความจริง’ 

“เวลานี้ทุกคนมีความสุข” เป็นถ้อยคำซ้ำซากที่ประชากรรัฐโลกถูกเป่าหูกว่าร้อยห้าสิบเที่ยวทุกคืนเป็นเวลาสิบสองปี มันเป็นคาถาที่ย้ำเตือนว่า การสูญเสียความจริงคือราคาที่ต้องจ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งความสุข (น. 237) ในสังคมเช่นนี้

หากว่ากันตามประวัติศาสตร์ ความสุขก็ไม่ใช่เพียงแค่อารมณ์ความรู้สึกแบบวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองที่มีมาแต่ไหนแต่ไร อริสโตเติลก็เคยเชิญชวนให้คนเคลื่อนย้ายมาอาศัยอยู่ในเมือง/รัฐ หรือ ‘Polis’ เพราะนั่นคือวิถีที่จะนำไปสู่ชีวิตที่ดี หรือ ‘Eudaimonia’ (สำหรับผู้สนใจเชิงลึก ขอแนะนำหนังสือ “ว่าด้วยความสุข” ของ ธเนศ วงศ์ยานนาวา)

“อย่าเลื่อนความสุขที่มีในวันนี้ได้ไปพรุ่งนี้” คือคำกล่อมสอนซ้ำซากสองร้อยเที่ยว สองครั้งต่อสัปดาห์ตั้งแต่อายุสิบสี่ถึงสิบหกปีครึ่ง เพื่อจูงใจให้คนกินโซม่าเพื่อเร่งความสุขขับความเศร้าในทุกเวลา

รัฐโลกใน Brave New World จึงสะท้อนสังคมหลังสิ้นสุดสงครามเย็นจบที่เราเรียกว่า ‘หลังอุดมการณ์’ (post-ideology) ซึ่งหมายถึงสังคมที่ปราศจากการต่อสู้ทางอุดมการณ์โดยสิ้นเชิง เพราะเสรีประชาธิปไตย/ทุนนิยม ได้เอาชนะเหนือ สังคมนิยม/คอมมิวนิสต์ เรียบร้อยแล้ว ในแง่นี้เอง จึงเป็นอีกหนึ่ง ‘ความล้ำ’ ของนวนิยายเรื่องนี้ เพราะแม้มันจะเขียนในปี 1931 แต่กลับสมจริงมากยิ่งขึ้นในอีกเกือบ 100 ปีให้หลัง

สำหรับ สลาวอย ชิเช็ค (Slavoj Žižek) นักปรัชญาร่วมสมัยชื่อดัง การเข้าใจว่าเรากำลังอยู่ในโลกที่ไร้การแข่งขันหรือความขัดแย้งทางอุดมการณ์ ตลอดจนการกลายเป็นเพียงซับเจคที่ไล่ตามหาความสุขสบายไปเรื่อยๆ หรือ ‘subject of pleasure’ แท้จริงแล้วกลับเป็นการถูกทำให้กำราบอยู่ภายใต้อุดมการณ์ที่สถาปนาตัวเองเป็นพระเจ้าหนึ่งเดียว กล่าวอีกนัยหนึ่ง มันเป็นอุดมการณ์ที่ปรากฏในรูปแบบซึ่งบริสุทธิ์ที่สุด (‘ideology at its purest’) เป็นอุดมการณ์ที่เราไม่จำเป็นต้องรู้ตัวว่ากำลังยึดมั่นถือมั่นในตัวมัน ขอเพียงแค่ปฏิบัติมันอย่างสม่ำเสมอก็เพียงพอ (‘Just Do It!’ เหมือนกับที่ตัวละครในเรื่องต้องกลืนโซม่าในทุกที่ทุกเวลา) 

จึงไม่แปลกที่รัฐโลกจะกลัวพฤติกรรมแหกวิถีปฏิบัติมากเสียกว่าการประกอบอาชญกรรม เหมือนกับที่หนังสือบรรยายไว้ว่า

“ไม่มีความผิดใดจะร้ายกาจยิ่งกว่าพฤติกรรมนอกธรรมเนียมแบบแผน การฆาตกรรมแค่ทำลายชีวิตปัจเจกบุคคล … เราสามารถสร้างคนใหม่ได้อย่างง่ายดายที่สุด-จะเอามากสักเท่าไรก็ได้ พฤติกรรมนอกรีตนอกรอยต่างหากที่เป็นภัยน่ากลัวกว่า แค่ชีวิตของปัจเจกบุคคลเดียว มันโจมตีสังคมโดยตรง”

(น. 153-154)

โลกอารยะในนวนิยายเรื่องนี้ จึงเป็นโลกของเด็กทั้งทางกายและใจ เพราะมันไม่เรียกร้องให้ประชากรมีความคิดเห็นเป็นของตัวเองแต่อย่างใด ขอเพียงแค่ปฏิบัติตัวอยู่ในร่องในรอย ใช้เสรีภาพ (ที่ถูกประทานมา) กับการบริโภคให้เต็มที่ มีชีวิตให้มีความสุขอย่างเต็มเปี่ยม ก็เพียงพอแล้ว

หากเชื่อตามชิเช็ค มันจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างหรือค้นหาภาษา/ไอเดียที่จะทำให้กลุ่มคนที่ถูกครอบงำโดยอุดมการณ์เหล่านี้ตระหนักถึงการไร้เสรีภาพของตัวเอง เป็นการทำให้ตระหนักว่าสิ่งที่ตนเองเข้าใจว่าเป็นเสรีภาพตลอดมานั้น แท้จริงแล้วเป็นการไร้เสรีภาพที่ถูกห่อหุ้มให้สวยงามด้วยวัสดุที่เรียกว่าเสรีภาพแค่นั้นเอง

แต่สุดท้ายแล้ว การออกจากอุดมการณ์ที่ใช้ความสุขเป็นโฆษณาชวนเชื่อก็เป็นเรื่องเจ็บปวด เสรีภาพที่ผูกติดกับความจริงจะทำลายภาพฝันอันรื่นรมย์เหล่านั้นมลายหายไป การที่คนจำนวนมากยังยึดติดอยู่กับอุดมการณ์จึงอาจไม่ใช่เพราะระดับสติปัญญาที่ต่ำเตี้ย แต่เป็นเพราะการไม่รู้และขาดจินตนาการว่า นอกจากความต้องการในความสุขที่รัฐมอมเมาว่าจะมอบให้ แท้จริงแล้วตนต้องการอะไร 

การทำให้ผู้คนเห็นว่าเสรีภาพที่พวกเขาเข้าใจ แท้จริงแล้วเป็นเพียงเสรีภาพปลอมๆ ที่รัฐอนุญาตให้มี หรือการมีความสุขอาจไม่ใช่เรื่องสำคัญหรือน่าปรารถนามากขนาดนั้น อาจเป็นภารกิจที่หนักหนาเหลือทน แต่นวนิยาย Brave New World ของฮักซ์ลีย์ ก็กระชากคอเสื้อเรียกสติเราแรงๆ ว่า การมีความสุขภายใต้ความเป็นทาส และกักเก็บความคิดเสรีไว้ในกรงขังแห่งความแปลกแยก ก็เป็นเรื่องแสนสาหัสมากกว่ากันนัก 


หมายเหตุ: สามารถยืมหนังสือเล่มนี้ได้ฟรีในโครงการอ่านเปลี่ยนโลก https://form.jotform.com/221880458508462   

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า