หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

19 พฤศจิกายน 2565

ผมอ่าน “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” (The Usefulness of Useless Knowledge) ของ Abraham Flexner จบภายในเวลาไม่นาน เอาเป็นว่า ระยะเวลาการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะหนึ่งเที่ยว ในความหมายที่รวมเวลารอด้วย ไม่ว่าจะรถเมล์หรือรถไฟฟ้า ก็สามารถพลิกอ่านได้ครบทุกหน้าได้แล้ว

หนังสือเล่มนี้พยายามเป็นคูคลองที่ล้อมรอบอาณาจักรของความรู้และการวิจัย มันยกคำพูดและตัวอย่างจำนวนมากเพื่อแสดงให้เห็นว่า ความรู้ที่ไม่มีประโยชน์ในตอนแรก อาจเป็นอะไรที่ก่อตัวเป็นประโยชน์ได้เมื่อผ่านกาลเวลา มันยังชี้ให้เห็นชัดๆ ว่า ความรู้ใหม่ไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลยหากปราศจากซึ่งความรู้เก่าๆ (ที่ไร้ประโยชน์)

การคัดง้างกับวิธีคิดแบบอรรถประโยชน์คือหัวใจของหนังสือเล่มนี้ เพราะภายใต้เงื่อนไขปัจจุบัน ผู้ที่ประกอบอาชีพในฐานะผู้รักใน (การสร้าง/ค้นพบ) ความรู้ จะต้องต่อสู้กับ ‘ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ’ จากแหล่งทุนวิจัยทั้งหลาย ทั้งๆ ที่พูดถึงที่สุดแล้ว เราจะบอกได้อย่างไรว่ามีอะไรที่อยู่หลังเนินเขาข้างหน้าบ้าง หรือเราจะบอกได้อย่างไรว่าจักรวาล (ที่ขยายตลอดเวลา) มีขนาดเท่าไหร่ มีความเป็นไปได้ใดที่อยู่พ้นไปจาก ‘องค์’ ความรู้ปัจจุบัน

บทความของ Flexner และอีก 2 คนที่บรรจุในหนังสือเล่มนี้ คือ Robert Dijkgraaf กับนำชัย ชีววิวรรธน์ มีน้ำเสียงไปในทางเดียวกัน คือภายใต้โลกที่ใช้ประโยชน์/กำไรขาดทุน/ความคุ้มค่า เป็นศูนย์กลาง โดยเฉพาะเหล่าสถาบันการศึกษาและวิจัย กำลังส่งผลให้ความรู้ตาย กำลังทำให้เสรีภาพเป็นเพียงแค่ตัวอักษรทางกฎหมาย และที่ร้ายแรงที่สุด มันกำลังทำให้จิตวิญญาณที่เต็มไปด้วย ‘ความอยากรู้อยากเห็น’ ของมนุษย์ล่มสลายลง

หนังสือเล่มนี้จัดวางให้ความอยากรู้อยากเห็นเป็นขั้วตรงข้ามกับอรรถประโยชน์ แต่เอาเข้าจริงแล้วผมกลับเห็นว่า ข้อเสนอของมันก็ยังยืนอยู่บนอรรถประโยชน์อยู่ดี เพราะมันกำลังพยายามปกป้อง ‘ประโยชน์ของความรู้ (ที่ยัง) ไร้ประโยชน์’ ว่าอาจมีประโยชน์ในอนาคตในแบบที่คาดไม่ถึง

แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ผมให้น้ำหนักนัก สิ่งที่ผมให้น้ำหนักคือ เวลาใครพูดว่าอะไรหรือความรู้ใดมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ มันไม่ใช่การตัดสินใจจากสุญญากาศ มันต้องกระทำผ่านจุดยืนบางอย่างเสมอ เอาแค่ทัศนคติที่มีต่อความอยากรู้อยากเห็นก็ได้ ถ้าเราเทียบตำนานปกรณัมอย่าง Pandora’s Box หรือการกินผลแห่งความรู้ของอาดัมกับเอวาในไบเบิลปฐมภูมิ จะเห็นได้ไม่ยากว่าความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ถูกตัดสินว่าเป็นโทษ เป็นสิ่งที่นำไปสู่ความตายและหายนะ และที่สำคัญที่สุด มันเป็นสิ่งที่ขัดขืนต่อระเบียบ/คำสั่งของผู้มีอำนาจ ของผู้กุมทรัพยากร ของพระผู้เป็นเจ้า 

ในแง่นี้ ‘การวัดประเมินผลงาน’ จึงเป็นสิ่งที่ทำโดยมีฐานจากระบอบความรู้เดิม ที่ไม่ยอมเสี่ยงให้เกิดความรู้ใหม่มาปั่นป่วนมัน การจำกัดอยู่ภายใต้เงื่อนไขของระบอบความรู้นี้จึงตัดความรู้และความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น เพราะความรู้ (ใหม่) พวกนี้ไม่สามารถประเมินได้ด้วยความรู้เก่า พูดอีกอย่างคือ ความรู้ใหม่ที่จะเกิดขึ้นนั้นไม่ได้มีค่าอะไรเลย เนื่องจากมันอยู่นอกปริมณฑลของระบอบความรู้ที่เป็นอยู่นั่นเอง

ตรงนี้เองที่ “แม่ง โคตรโฟนี่เลย” หนังสือรวมปาฐกถาและคำอภิปรายของ ไอดา อรุณวงศ์ เข้ามาเป็นบทสนทนาต่อยอด 

“แต่สุดท้ายแล้ว คุณก็จะต้องมาถูกประเมินผลอยู่ภายใต้ระบบเก่าที่ปฏิเสธการใช้ปัญญา อันมาพร้อมกับระบบประเมินคุณค่าแบบปัญญาอ่อนอย่างใหม่ … พวกเขาจะไม่มาถกเถียงกับคุณเรื่องข้อเสนอ แต่เขาจะพูดเรื่อง “ประเภท” ว่าอะไรคือบทความวิชาการ อะไรคือตำรา อะไรคือบทความวิจัย ซึ่ง For Chirst’s sake! ก็จะมีพวกเขาอีกเช่นกันที่ไม่รู้จักหัดแยกแยะเสียทีว่า ของบางอย่างยิ่งพยายามแยกแยะ ยิ่งสะท้อนความไม่เอาไหนของความสามารถในการแยกแยะของวงวิชาการไทย” (น. 49-50)

“อาจารย์วรรณคดีรุ่นใหม่จะรู้แกวว่า ถ้าหากอยากได้งานที่เข้าข่ายนิยามว่า “งานวิจัย” ก็แค่ไปขอทุนจากหน่วยงานโคตรพ่อโคตรแม่อย่าง สกอ. และ สกว. ให้มีเอกสารประทับตราโลโก้รับรองจากหน่วยงานที่มีคำว่า “วิจัย” อยู่ในชื่อ มันก็จะเข้าข่ายงานวิจัยได้ ต่อให้มันเป็นเพียงคลิปปิ้งข่าวตัดหรือเป็นการประมวลเรียบเรียงไปโง่ๆ ทื่อๆ ตามๆ กันมา

แต่ถ้าเป็นบทความที่ทั้งขุดคุ้ยเอกสารเก่า คันคว้าทฤษฎีใหม่ ทดลองการใช้ใหม่ ๆ แทบตาย แต่ไม่ได้เขียนไปแบมือขอเงินหน่วยงานวิจัยหน้าไหนมาปะหน้า คุณก็จะได้รับบรรดาศักดิ์ว่าเป็นแค่ “บทความวิชาการ” ไม่ใช่งาน “วิจัย” (น. 57)

ไม่มากก็น้อย ส่วนที่สกัดมาข้างต้น (และส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะบท “ไมใช่กล้วย”) ขยายความข้อเสนอในหนังสือของ Flexner อย่างแน่นอน แต่ถ้าจะมีความแตกต่างอะไร ก็คือบริบทของ Flexner เขากำลังพูดถึงความเป็นสากล แต่ในกรณีของไอดา มันคือความเฉพาะเจาะจงแบบพิกลพิการ ที่ทำให้เห็นว่าในประเทศที่มี ‘องค์’ หนึ่งครอบหัวแทบจะเบ็ดเสร็จ สภาพขององค์ ‘กร’ หนึ่งภายใต้การครอบงำนั้น ก็เป็นเพียงภาพสะท้อนขององค์กรอื่นๆ ไม่ต่างกัน เพราะอย่างน้อยที่สุดในบริบทของไอดามันก็คือ ‘วงวิชาการไทย’ ในความหมายที่ ‘ความเป็นไทย’ ครอบงำ ‘วิชาการ’ 

ในที่นี้ จึงขอเน้นไปที่ความเป็นไทยที่แทรกซึมครอบงำในสถาบันต่างๆ อันเป็นสิ่งซึ่งไอดาตีแผ่ในหลาย ‘วรรค’ ของหนังสือ ยกตัวอย่างเช่น วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด (impunity) ในบท “ภาพลักษณ์  จิตร ภูมิศักดิ์ ในยุคปัจจุบัน”

“ดังที่บอกตั้งแต่ต้นว่าจุฬาฯ คือจุลจักรวาลของอำนาจทางวัฒนธรรมในสังคมไทย การที่จุฬาฯ ไม่อาจแสดงความสำนึกผิดต่อจิตร ภูมิศักดิ์ ได้ ก็คือภาพสะท้อนของสังคมไทยที่ไม่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมการแสดงความสำนึกผิด หรือ remorse ที่ชนศิวิไลซ์ชาติอื่นเขามีกัน อันที่จริง remorse นี่ยังดูสง่ากว่า guilt ที่พวกเขาไม่มีทางยอมรับอยู่แล้วด้วยซ้ำ remorse หรือการสำนึกเสียใจต่อความผิดที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะกระทำด้วยตัวเอง หรือกระทำในนามของเรา หรือกระทั่งของชนชาติเรา เป็นสมบัติที่ผู้ดีแถวนี้ไม่มี

ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่มีคำถามจาก อบจ. ว่า ถ้าคุณปู่ของเราทำผิดไปชกหน้าคนอื่น เราต้องขอโทษหรือ? ซึ่งมันก็ชวนให้นึกถึงอีกคำถามที่สะท้อนกันว่า ถ้าขี้ข้าของเราไปฆ่าคนอื่นในนามของความรักเทิดทูนเรา เราต้องขอโทษหรือ? ดังนั้นเอง การจับกุมคุมขัง กระทำทารุณฆ่าล้างในนามความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ จึงยังดำเนินต่อไป โดยไม่เพียงไม่มีการสืบหาผู้กระทำผิด แต่ผู้ที่ปล่อยให้ความทารุณนี้ดำเนินต่อไปก็ไร้ซึ่งสปิริตของการ remorse ฉะนั้นแล้วจะแปลกอะไรที่ จิตร ภูมิศักดิ์ จะถูกโยนบกเพราะถูกหาว่าไม่เคารพต่อกษัตริย์ผู้เป็นปู และถูกฆ่าตายเพราะเป็นคอมมิวนิสต์ที่ถูกมองว่าเป็นพิษภัยต่อกษัตริย์ผู้เป็นหลาน” (น. 203)

การไม่มีวัฒนธรรม remorse จึงเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย วัฒนธรรมที่ “รองรับและให้ความชอบธรรมต่อชายเลวมากกว่าหญิงร้าย” (น.141) เป็นวัฒนธรรมที่มาพร้อมอาการประสาท

“คือไม่ว่าใครจะเขียนอะไรพูดอะไรในบริบทหนึ่ง ก็ถูกอาการโรคจิตหวาดระแวงที่กำลังเป็นกันทั้งสังคม อันเป็นผลจากการโหมประโคมความรักที่อ้างว่ายิ่งใหญ่ แต่แท้จริงแล้วดูจะใจเสาะและขาดความมั่นคงทางจิตใจถึงขนาดหวาดระแวงไปทั่วว่าใครไม่รักจะประหารเสียให้สิ้น มาตีความให้กลายเป็นความอัปลักษณ์ ทั้งที่ถ้าหากมันจะอัปลักษณ์ มันก็อัปลักษณ์เพราะมันเป็นภาพสะท้อนอย่างซื่อๆ ของความเป็นจริงอันอัปลักษณ์ที่คนสติดีที่ไหนก็ควรจะมองเห็นได้ตำตาอยู่แล้ว … แต่สัจธรรมมีอยู่ว่า คนที่มีอำนาจบาตรใหญ่มักจะเป็นคนขวัญอ่อนและเสียสติได้ง่ายกว่า และก็พาสังคมตกอยู่ในบรรยากาศของความกลัวถึงขั้นเสียสตินั้นไปด้วย” (น. 82-83)

ความเฉพาะเจาะจงแบบพิกลพิการยังถูกนำมาประจานต่อในอีกหลายท่อน เช่นว่า การมองเห็นประชาชนที่มีเลือดเนื้อต้องถูกสังหาร “มีความหมายสมบูรณ์น้อยกว่าถ้อยคำว่า “ประชาชน” ที่พวกเขาจำกัดเชิดชูไว้ในบทกวี หรือเรื่องสั้นและนวนิยาย สำหรับพวกเขา … ประชาชนที่ถูกทหารยิงตายอยู่บนถนน ไม่ใช่อย่างเดียวกับ “ประชาชน” ในวรรณกรรม” (น. 216)

ข้อสังเกตของไอดานี้กระมังคือความเป็นไทยเป็นไทยที่อ้างถึงกัน คือความเป็นเอกลักษณ์ที่ไปด้วยกันไม่ได้กับความสากล เพราะเมื่อปะทะเข้ากับความเป็นสากล/ความเป็นอื่นแล้ว ก็เห็นถึงความเน่าเฟะภายใน และฟ้องชัดว่าอย่างไหนคือความจริง อย่างไหนคือสิ่งสมมติ ชัดถึงขนาดต้องย้ำอยู่เสมอว่า ปากกาอยู่ที่กู (ไม่ใช่คนอื่น) และมันเป็นของกูตราบเท่าที่ยังไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่ง

หนังสือของไอดาเล่มนี้ เป็นการชี้หน้าต่อองค์ทุกองค์  ไม่ว่ามันเป็นองค์รวม องค์ความรู้ องค์กร องคชาติ หรือองค์ … ใดๆ ว่าบรรดาองค์เหล่านี้ แม่ง โคตรโฟนี่เลย

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า