ทุกครั้งที่เกิดกรณีเหตุการณ์ทรมานบังคับสูญหาย สังคมไทยจะมีความตื่นตัวและถกเถียงกันในประเด็นนี้อยู่สักพักใหญ่ๆ อาจจะ 1-2 สัปดาห์ แล้วเรื่องก็เงียบ ไม่เคยมีรูปธรรมใดๆ ออกมาที่ชัดเจนโดยเฉพาะจากฝ่ายผู้กุมอำนาจรัฐ
มีนาคม 2547 เรารับรู้และออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมกรณีอุ้มหาย ทนายสมชาย นีละไพจิตรอดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม และนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ผู้ที่คอยให้ความช่วยพี่น้องประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดใต้ที่ถูกกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐ ในช่วงการปราบปรามสิ่งที่รัฐเรียกว่า “ผู้ก่อการร้าย” อย่างหนักในช่วงนั้น
เมษายน 2557 เราช่วยกันออกตามหาและพอรู้ตัวผู้ต้องสงสัยกรณี พอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงแห่งบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ซึ่งหายตัวไป โดยครั้งสุดท้ายที่มีพยานพบเห็นเหตุการณ์ บอกว่าเขาอยู่กับคนที่เป็นถึงระดับหัวหน้าอุทยานแห่งชาติ
เมษายน 2559 เราโกรธแค้นและหลั่งน้ำตาให้กับกรณี เด่น คำแหล้ ชาวบ้านธรรมดาที่ลุกขึ้นต่อสู้เรียกร้องสิทธิเรื่องที่ดินทำกินที่หายตัวไป ก่อนสุดท้ายจะพบว่าเสียชีวิต ผลจากการต่อสู้เพื่อปกป้องผืนดินทำกินที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ แต่กลับถูกนโยบาย “ทวงคืนผืนป่า” ที่เกิดขึ้นภายหลังการยึดอำนาจของ คสช. ที่นำโดย ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขับไล่ให้ออกจากพื้นที่ดังกล่าว
มีนาคม พ.ศ. 2560 เรารับไม่ได้กรณี ชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมเยาวชนสิทธิมนุษยชน ชาติพันธุ์ลาหู่ถูกสังหารที่ด่านตรวจโดยทหารของกองทัพบก สังกัดกองร้อยทหารม้าที่ 2 บก. ควบคุมที่ 1 หน่วยเฉพาะกิจกรรมทหารม้าที่ 2 อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าชัยภูมิมียาเสพติดและต่อสู้ขัดขวาง และจะใช้อาวุธระเบิดขว้างใส่เจ้าหน้าที่ทหาร
สิงหาคม 2562 เราตั้งคำถามกับการเสียชีวิตของ อับดุลเลาะ อีซอมูซอ ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งถูกควบคุมตัวในค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2562 โดยที่ญาติหรือใครไม่รู้ชะตากรรม แต่จู่ๆ ก็ถูกส่งตัวออกมาในร่างที่ไร้ลมหายใจกับสาเหตุการตายคือปอดอักเสบ
มิถุนายน 2563 เราออกมาเรียกร้องขอความชัดเจนและความเป็นธรรม กรณี ‘ต้าร์’ หรือ วันเฉลิมสัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ซึ่งหายตัวไปจากกรุงพนมเปญประเทศกัมพูชา ซึ่งกรณีนี้เป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ทำให้เกิดการลุกฮือชุมนุมของประชาชน
ยังมีอีกมากมาย อาทิ เตียง ศิริขันธ์, หะยีสุหลง โต๊ะมีนา, ทนง โพธิ์อ่าน, กมล เหล่าโสภาพันธ์, อิทธิพล สุขแป้น, สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์, ชัชชาญ บุปผาวัลย์, ไกรเดช ลือเลิศ, ชูชีพ ชีวะสุทธิ์, สยาม ธีระวุฒิ ฯลฯ ที่ถูก “ทรมาน-บังคับสูญหาย” และไม่เคยได้รับความเป็นธรรม หรือบางเหตุการณ์ก็ไม่มีการเริ่มต้นคดีใดๆ ทั้งสิ้น
ญาติของผู้เสียหาย ตลอดจนภาคประชาสังคมพยายามเรียกร้องผลักดันให้เกิด “กฎหมาย” ขึ้นมาเพื่อป้องกันไม่ให้เรื่องทำนองนี้เกิดกับใครอีก แต่ทว่า 10 กว่าปีผ่านไปไม่เคยมีความชัดเจน ไม่เคยมีความจริงใจจากผู้มีอำนาจในบ้านเมืองนี้
เป็นระยะเวลากว่า 10 ปี ที่ภาครัฐไม่ขานรับ เพราะแน่นอนว่าพวกเขาคือผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงหากกฎหมายนี้บังคับใช้
อย่างไรก็ตาม จากกรณีของ “ผู้กำกับโจ้” หรือ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล ที่ก่อเหตุทำร้ายผู้ต้องหาค้ายาเสพติด ใช้ถุงดำคลุมศีรษะจนเสียชีวิต โดยมีภาพจากกล้องวงจรปิดแสดงพฤติกรรมอย่างชัดเจนนั้น ก็ทำให้สังคมเริ่มกลับมาคิดถึงเรื่องนี้อย่างจริงๆ จังๆ อีกครั้ง
จนอาจกล่าวได้ว่า นี่คือโอกาสที่ดีที่สุด ที่ประเทศไทยจะได้ผลักดันกฎหมายป้องกันทรมานและบังคับสูญหายให้เกิดขึ้น ให้เหมือนนานาอารยประเทศ
แน่นอนว่าหลักๆ ที่อยากเห็นคือ การทรมาน-บังคับสูญหายเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น ไม่ว่าจะในสถานการณ์ใดๆ กรณีใดๆ จะประกาศกฎอัยการศึก จะประกาศภาวะฉุกเฉินหรืออะไรก็ตาม ต้องไม่มีเรื่องทำนองนี้
ในเรื่องของการควบคุมตัวผู้ต้องหา ญาติหรือทนายความต้องรู้ว่านำตัวไปที่ไหน ไม่ใช่หายไปอยู่ในค่ายทหารเนิ่นนานแล้วกลับออกมาแบบไร้ลมหายใจ และแน่นอนถ้าดันเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นกระบวนการเยียวยา การให้ความเป็นธรรมต้องเกิดขึ้นโดยเร็ว
โดยคณะกรรมการที่จะดำเนินการเรื่องนี้ต้องเป็นอิสระที่แท้จริง และมาจากหลายๆ หน่วยงาน อาจรวมถึงภาคประชาชนด้วย ไม่ใช่ตั้งกันเอง สอบกันเอง อย่างที่เกิดขึ้น
ที่น่าสนใจ และจะเป็นสิ่งวัดใจผู้มีอำนาจว่าจะให้กฎหมายฉบับนี้ผ่านหรือไม่ มีอีก 3 ประเด็นสำคัญนั่นก็คือ 1. ถ้าเกิดกรณีซ้อมทรมาน อุ้มหาย เกิดขึ้น ผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานที่กระทำนั้นต้องรับผิดชอบด้วย 2.คดีไม่ควรมีอายุความและสามารถย้อนไปเริ่มคดีที่ผ่านมาแล้วได้
และ 3. ยืนยัน “หลักการไม่ผลักดันกลับ” กรณีอย่างที่รัฐบาลไทยเคยส่งผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ให้รัฐบาลจีนเป็นความผิด และต้องมีผู้ถูกลงโทษ
กล่าวซ้ำตรงนี้อีกครั้ง นี่คือโอกาสที่ดีที่สุดที่เราจะร่วมกันผลักดันกฎหมายฉบับนี้
หยุดความ “ป่าเถื่อน” ในบ้านนี้เมืองนี้ อย่างน้อยก็ให้มีสิ่งที่เหมือน “อารยประเทศ” สักเรื่องเถอะ !