แม้ประเทศไทยวางเสาต้นแรกเรื่องการกระจายอำนาจลงในรัฐธรรมนูญ 2540 แต่ผ่านมากว่า 20 ปี เรื่องการกระจายอำนาจก็ยังลุ่มๆ ดอนๆ ด้วยปัจจัยต่างๆ รวมไปถึงประเด็นเรื่องการบริหารงานบุคคลของท้องถิ่น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องการกระจายอำนาจ ก็ยังไม่ลงหลักปักฐาน ไม่เป็นอย่างที่ควรจะเป็น – ปัจจุบันสัดส่วนข้าราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมกันมากกว่า 80% ข้าราชการสังกัดท้องถิ่นมีไม่ถึง 20% ทั้งที่จำนวนนับขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีมากกว่า 7,800 แห่ง ห่างจากหน่วยงานส่วนกลางและส่วนภูมิภาคที่รวมกันอยู่ที่จำนวนหลักร้อย
แต่หากยังนึกภาพไม่ออก ว่าสถานการณ์การกระจายคนในระบบราชการของไทยที่ผ่านมา น่าผิดหวังและน่ากังวลแค่ไหน ลองนำไปเปรียบกับอีกประเทศหนึ่งที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับไทย ทั้งรูปแบบรัฐ คือเป็นรัฐเดี่ยว และ ระบอบการปกครอง ที่เป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุขอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แต่สามารถกระจายอำนาจได้อย่างเต็มสูบ ชนิดที่ถ้าเทียบกันทีละด้าน คงเปรียบเสมือน “โลกกลับด้าน” ของการกระจายอำนาจ ประเทศที่ว่านั้นคือประเทศญี่ปุ่น
- เมื่อดูจำนวนประชากร ญี่ปุ่นมีมากกว่าไทยประมาณหนึ่งเท่า (125 ล้านคน : 66 ล้านคน) แต่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่าไทยมาก (ข้อมูลปี 2021ญี่ปุ่นอันดับ 3 ของโลก : ไทยอันดับ 26 ของโลก) ส่วนหนึ่งมีการตั้งข้อสังเกตุกันว่าเป็นผลจากการกระจายอำนาจที่ทำให้การพัฒนาทางเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศญี่ปุ่น ทำได้อย่างคล่องตัว ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก แต่ขณะเดียวกันก็รักษาเอกลักษณ์ของพื้นที่
- เมื่อดูจำนวนข้าราชการ ข้อมูลปี 2561 (ค.ศ. 2018) ข้าราชการญี่ปุ่น มีจำนวนประมาณ 3.32 ล้านคน แบ่งเป็น สังกัดท้องถิ่นประมาณ 2.74 ล้านคน (ราว 82%) สังกัดส่วนกลางประมาณ 585,000 คน (ราว 18%) ส่วนสำคัญเป็นเพราะการปฏิรูปโครงสร้างการบริหารราชการที่ออกแบบให้ส่วนกลางมีขนาดเล็ก (11 กระทรวง และ ไม่มีราชการส่วนภูมิภาค) และให้รัฐบาลท้องถิ่นได้แสดงบทบาทครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ โดยแบ่งเป็น 2 ระดับ คือจังหวัด (47 จังหวัด) และ เทศบาล (ประมาณ 1,780 แห่ง)
- เมื่อดูที่ผู้บริหารท้องถิ่น คนญี่ปุ่นสามารถเลือกตั้งผู้บริหารที่มีอำนาจสูงสุดของเมืองได้โดยตรง ส่วนไทย แม้เปิดทางให้ประชาชนเลือกนายก อบต. นายก อบจ. หรือนายกเทศมนตรี แต่ถ้าถามว่าตำแหน่งเหล่านั้นคือคนที่มีอำนาจสูงสุดในจังหวัดหรือไม่ คำตอบคือไม่ ได้เป็นเช่นนั้น เพราะยังมีอำนาจแฝด ที่ทับซ้อนกันอยู่กับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งมาจากการแต่งตั้งของกระทรวงมหาดไทย
อย่างไรก็ตาม ต้องย้ำว่าการยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่น ไม่ได้แปลว่าเราจะเลียนแบบเขาทุกอย่าง หรือ มองข้ามปัจจัยเฉพาะของสังคมไทยที่อาจมีความแตกต่างหลากหลายจากของญี่ปุ่น แต่สิ่งที่เรามองเห็นคือ “โอกาส” จากจุดร่วมบางอย่างที่ทั้งไทยและญี่ปุ่นมีอยู่ร่วมกัน ที่เราสามารถเรียนรู้ นำมาปรับใช้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องลองผิดลองถูกด้วยตนเอง รวมถึงศักยภาพของท้องถิ่นทั่วประเทศไทยที่ยังไม่ถูกปลดปล่อย ทำให้เชื่อว่าประเทศไทยจะไปได้อีกไกล หากสามารถเรียนรู้แนวทางกระจายอำนาจของญี่ปุ่นมาปรับใช้ได้ เพราะหัวใจของการกระจายอำนาจ ก็คือการทำให้อำนาจในการตัดสินใจ และ ทรัพยากรที่จำเป็นต่อการพัฒนากลับไปอยู่กับท้องถิ่น ซึ่งเป็นหน่วยที่ใกล้ชิดและยึดโยงกับประชาชนมากที่สุด ควบคู่ไปกับ การยุติบทบาทของรัฐราชการรวมศูนย์
ด้วยเหตุนี้ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปลดล็อกท้องถิ่น จึงเสนอ #ปลดล็อกคน ด้วยการกำหนดให้ผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่น ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน และ โอนถ่ายข้าราชการส่วนใหญ่ไปสังกัดส่วนท้องถิ่น เพื่อเพิ่มศักยภาพของท้องถิ่นในการทำงานดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชน อีกทั้ง การเอาอำนาจ งาน เงิน และคนมาให้กับ อปท. เป็นสิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาให้ข้าราชการท้องถิ่นได้อย่างมาก โดยเฉพาะในส่วนของอำนาจหน้าที่หากรัฐธรรมนูญระบุเพียงแค่ข้อยกเว้นที่ท้องถิ่นไม่สามารถทำได้ ส่วนที่เหลือในเรื่องของการจัดทำบริการสาธารณะต่างๆ การบำบัดทุกข์บำรุงสุขประชาชนต่างๆ ในพื้นที่สามารถทำได้หมด ก็จะทำให้ข้าราชการทำงานได้สบายใจขึ้น ไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง และดูแลพี่น้องประชาชนได้เต็มที่ร่วมกับผู้บริหารท้องถิ่น นอกจากนี้ ข้าราชการจะมั่นใจได้ว่า การเปลี่ยนสังกัด จะไม่กระทบต่อความก้าวหน้าทางอาชีพของพวกเขา กลับกันโอกาสในการก้าวหน้าทางการงานจะมีเพิ่มขึ้น รวมทั้งปัญหาหลายๆ เรื่องสามารถแก้จบได้เลย ไม่ต้องรอยาวนาน ชงเรื่องเข้าไปขออนุมัติแก้ปัญหาจากส่วนกลาง
อ้างอิง
- จำนวนกระทรวงญี่ปุ่น https://www.japan.go.jp/directory/index.html#ministries
- จำนวนท้องถิ่นญี่ปุ่น (หน้า 5) http://www.jlgc.org.uk/en/pdfs/LocalGovernmentInJapan2010.pdf
- ขนาดเศรษฐกิจ https://www.visualcapitalist.com/visualizing-the-94-trillion-world-economy-in-one-chart/
- จำนวนข้าราชการญี่ปุ่น https://www.jinji.go.jp/en/recomme/annual2018/pdf/03NumberandTypeofPublicEmployees.pdf
- (คิดจาก 2,740,000 / 3,320,000 * 100 = 82.5%)