(1)
สำหรับ Ferdinand de Saussure การแปลและโยกย้ายคำในระบบภาษาหนึ่ง ไปยังอีกระบบภาษาหนึ่ง อาจคงความหมายเหมือนเดิมไว้ได้บ้าง แต่ด้วยความที่คำนั้นต้องไปอยู่ใน ‘ความสัมพันธ์’ แบบใหม่ ระหว่างตัวมันเองกับคำอื่นในอีกระบบภาษา ย่อมทำให้ความหมายและคุณค่าของมันเปลี่ยนแปลงไปโดยปริยาย
ในงานชิ้นหนึ่งของ Kojin Karatani นักปรัชญาและนักวรรณกรรมวิจารณ์ ปรับใช้ข้อเสนอดังกล่าวเพื่ออธิบาย ‘ทฤษฎีว่าด้วยมูลค่า’ (theory of value) ของ Marx ว่า สาเหตุที่สินค้าซึ่งมีคุณค่าหรือราคาถูกในที่หนึ่ง สามารถมีราคาแพงในอีกที่หนึ่งได้ ก็เกิดจากการที่ความสัมพันธ์ของสินค้าในแต่ละที่มีความแตกต่างกัน (ตรงจุดที่แตกต่างกันนี้เองที่ ‘ทุนการค้า’ หรือ ‘marchant capital’ จะเข้ามามีบทบาท)
(2)
‘เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่’ นวนิยายลำดับที่ 2 ในซีรีส์ Neapolitan ของ Elena Ferrante เป็นรูปธรรมชัดเจนของคำอธิบายข้างต้น มันทำให้เห็นว่าความสามารถที่ดีเลิศในสถานที่หนึ่ง ไม่มีค่าอะไรเลยหากมันอยู่ในที่ๆ ไม่ได้ให้ค่ามัน เหมือนกับที่ความสามารถในทางวิชาการอันดีเลิศของ ‘เลนู’ ตัวละครหลักของเรื่อง เป็นเพียงสิ่งเหลวไหลไร้สาระใน ‘เนเปิลส์’ เมืองบ้านเกิดของเธอ อันเป็นสถานที่ซึ่งเงิน คำหยาบโลนและการใช้กำลังเท่านั้นที่ถูกให้ความหมาย
สติปัญญาและความเป็นปัญญาชนไม่ใช่สิ่งที่ชุมชนบ้านเกิดเธอให้คุณค่า หลายช่วงตอนในนวนิยายแสดงให้เห็นว่าเลนูตระหนักถึงข้อเท็จจริงนี้ดี หนึ่งในตอนที่ชัดที่สุดคือเมื่อครั้งเธอกลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิดหลังเรียนจบสูงถึงระดับมหาวิทยาลัยจากเมืองปิซา
“ศิลปะแห่งความมุ่งร้ายที่ฉันได้รับการฝึกฝนมาที่เนเปิลส์มีประโยชน์ต่อฉันมากเมื่ออยู่ปิซา แต่ปิซาไม่มีประโยชน์เลยเมื่อฉันอยู่เนเปิลส์ มันเป็นอุปสรรค กิริยามารยาท น้ำเสียงและรูปร่างหน้าตาที่เรียบร้อย สิ่งที่ร่ำเรียนมาจากตำราซึ่งอัดแน่นอยู่ในหัวและบนลิ้น ล้วนเป็นเครื่องหมายของความอ่อนแอซึ่งทำให้ฉันกลายเป็นเหยื่อที่ถูกล่าโดยง่าย ประเภทที่ถูกจับแล้วไม่ดิ้น” (น.479)
(3)
นวนิยายเล่มนี้ยังฉายภาพ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ หรือ ‘patriarchy’ ชัดเจนมากยิ่งกว่าเล่ม 1 เสียอีก เพราะความโกลาหลทั้งหมดในเรื่องล้วนมีสาเหตุจากการมี ‘นามสกุล’ ใหม่ของลิลา เพื่อนรักของเลนูที่ไม่ได้โอกาสเรียนต่อและจำต้องแต่งงานกับสเตฟาโน คาร์รัชชี เพื่อดึงทรัพย์สินที่เขามีมายกระดับชีวิตและฐานะของตนเองกับครอบครัว
เมื่อนามสกุลเปลี่ยน สถานะของลิลาก็เปลี่ยนตามไป เธอไม่ใช่ทรัพย์สินที่พ่อและพี่ชายของเธอจะดุด่าตบตีอย่างไรก็ได้อีกต่อไป สเตฟาโนสามีผู้ร่ำรวยของเธอต่างหากที่มีสิทธิ์ทำเช่นนั้น
‘ความรัก’ และ ‘ความปรารถนาดี’ คือคำสวยหรูที่มีไว้อธิบายพฤติกรรมเหล่านั้น
“…กับสเตฟาโนในตอนนี้ เธอไม่แสดงความก้าวร้าวใดๆ ออกมาให้เห็นเลย แน่ละ เรื่องนี้อธิบายได้ง่าย เราเห็นพ่อของเราตบตีแม่ตั้งแต่เรายังเด็กๆ เราเติบโตขึ้นมากับความคิดที่ว่า คนแปลกหน้าไม่ควรมาถูกเนื้อต้องตัวเราแม้เพียงแผ่วเบา แต่หากเป็นพ่อ แฟน หรือสามีแล้ว จะตบเราเมื่อไรก็ได้ เพราะพวกเขาทำไปด้วยความรัก และต้องการอบรมสั่งสอนและดัดนิสัยเรา” (น.54)
“สถานภาพภรรยาเป็นประหนึ่งแก้วครอบเธอไว้ เธอเป็นดั่งเรือกางใบล่องอยู่ในอาณาบริเวณที่คนเข้าไม่ถึง ซ้ำร้ายยังปราศจากทะเล” (น.59) สาเหตุสำคัญที่ทำให้เธอต้องตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น เพราะนั่นคือค่านิยมที่ภรรยาที่ดีพึงประพฤติ ซึ่งในที่นี้หมายถึงการปรนนิบัติ เชื่อฟังสามี และที่สำคัญที่สุด คือการมีลูก (ให้ฝ่ายชาย)
ทรัพย์สิน คุณภาพชีวิต และฐานะ คือคำสำคัญในการทำความเข้าใจสังคมชายเป็นใหญ่ ซึ่งสัมพันธ์กับนามสกุลและการมีลูก เพราะเมื่อกฎเกณฑ์ทางสังคมถูกกำหนดให้ต้องนับสายเครือญาติของฝ่ายชายเป็นหลัก (patrilineal) การมีลูก (ชาย) ก็จะทำให้เกิดการสืบเชื้อสายสกุลของผู้ชายต่อไปได้ การนับญาติแบบนี้จึงสัมพันธ์กับความต่อเนื่องและความมั่นคงในยศถาบรรดาศักดิ์และทรัพย์สินของตระกูลฝ่ายชาย
ดังนั้น การมีลูกคือสาระสำคัญของการแต่งงานเป็นภรรยา หากหญิงใดไม่สามารถมีลูกให้แก่ตระกูลฝ่ายชายได้ ก็ต้องถูกประณามสาปส่ง (ไม่ว่านั่นจะเป็นความบกพร่องฝ่ายหญิงหรือชายก็ตาม) การแต่งงานจึงเป็นกรงขัง เป็นสิ่งที่ Marx และ Engels เสนอไว้ใน Communist Manifesto ว่าคือการค้าบริการ (อย่างเป็นทางการ) ที่จำเป็นต้องถูกทำลาย (รักแท้จึงเกิดขึ้นได้ยากในสังคมแบบนี้ เพราะความรัก/ร่างกายพร้อมที่จะถูกเปลี่ยนเป็นสินค้า เป็นทุน เป็นทรัพย์สินชนิดหนึ่งเสมอ)
นวนิยายเล่มนี้ย้ำประเด็นดังกล่าวอยู่หลายจุด เช่นในตอนหนึ่งซึ่งบรรยายถึงลิลาว่า “ไม่ว่าเธอจะดิ้นรนกระเสือกกระสนเพียงใด ทำอะไรมากเพียงใด ป่าวร้องเพียงใด เธอก็หลุดออกมาไม่ได้ ความทุกข์ที่หนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ ควบคุมยากขึ้นเรื่อยๆ คอยไล่ตามเธอมาตั้งแต่วันแต่งงาน” (น. 149)
อย่างไรก็ดี ในหลายท่อนตอนของนวนิยายเล่มนี้ ยังแสดงให้เห็นว่า สังคมชายเป็นใหญ่ ไม่ได้เป็นโทษแก่เฉพาะเพศหญิงเพียงเท่านั้น ตัวละครเพศชายจำนวนมากก็มีชีวิตรันทดไม่แพ้กัน ตัวละครชายบางตัวต้องใช้ชีวิตอย่างอัตคัด บางตัวก็ต้องถูกเกณฑ์ทหารเนื่องจากไม่มีเส้นสายและเงินไปติดสินบน อย่างที่ตัวละครชายฐานะร่ำรวยในเรื่องกระทำ
ชนชั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่แยกไม่ออกจากเรื่องเพศ สังคมชายเป็นใหญ่แยกไม่ออกจากทุนนิยม (ในหนังสือ Feminisms: A Global History ของ Lucy Delap ก็บรรยายไว้ชัดเจนว่า กรอบคิดสังคมนิยม/คอมมิวนิสต์เป็นสาแหรกหนึ่งของเฟมินิสต์)
(4)
กระนั้น ประเด็นเรื่องชนชั้น ก็ไม่ใช่แรงขับเคลื่อนเดียวของเรื่อง การวิ่งไล่ล่ารักแท้ต่างหากคือสิ่งที่ทำให้เกิดสถานการณ์น่าตื่นเต้นและน่าติดตาม ความรักที่สวนทางย้อนเกร็ดโครงสร้างอำนาจต่างหากที่ทำให้ค่านิยมหลักของสังคมกระทบกระเทือน การพยายามมีความรักที่ฝ่าวงล้อมศีลธรรมและข้อจำกัดของเมืองที่ปราศจากความรักต่างหาก คือสิ่งที่ทำให้ผู้อ่านสามารถอ่านนวนิยายเล่มนี้ได้ โดยไม่อาจวางลง
และเมื่ออ่านพ้นบรรทัดสุดท้าย ผู้อ่านจะพูดกับตัวเองอย่างคับข้องใจทันทีว่า “เล่ม 3 อยู่ไหน!?”