ยิงรถประชาชนที่ “นราธิวาส” ปัญหาเชิงโครงสร้าง – มาตรการความมั่นคงทำ ปชช.อยู่ในความเสี่ยง “คณะก้าวหน้า” ชวนร่วมแคมเปญ “ด่านจิต”

12 มกราคม 2565

ช่วงเวลาราว 02.00 น.ของวันที่ 9 มกราคม ที่ผ่านมา วัยรุ่น 2 คนอายุ 18 ปี และ 21 ปี ซึ่งไปตั้งแคมป์กับเพื่อนๆ ขับรถเพื่อที่จะไปซื้อของที่ร้านสะดวกซื้อ แต่ระหว่างทางพวกเขาต้องพบกับ “ด่านลอย” ของ สภ.ตันหยง จ.นราธิวาส ซึ่งออกมาตั้งตรวจตรายามดึกๆ ดื่นๆ โดยเจ้าหน้าที่ซึ่งอยู่ในชุดนอกเครื่องแบบได้เรียกให้รถคันดังกล่าวจอด แต่ทว่าด้วยความที่คิดว่าเป็นคนร้าย คนขับจึงไม่จอดและรีบขับหนี จึงถูกตำรวจไล่ตามและกราดยิงปืนเอ็ม 16 ใส่ จนได้รับบาดเจ็บสาหัส

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ในช่วงแรก ใบสรุปเหตุการณ์ประจำวันของงานการข่าวศูนย์ปฏิบัติการตำรวจส่วนหน้า (ศปก.ตร.สน.) ระบุว่าผู้ถูกยิงเป็นคนร้าย หากแต่เมื่อมีการนำเสนอข่าวของสื่อในพื้นที่ รวมถึงกระแสในโซเชียลมีเดียต่างๆ ทำให้ทราบข้อเท็จจริงว่าตำรวจเป็นผู้ก่อเหตุ ซึ่งต่อมา ผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.นราธิวาส ออกมาให้ข่าวทำนองว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นความเข้าใจผิดทั้ง 2 ฝ่าย เนื่องจากทาง สภ.ตันหยงได้รับแจ้งว่าจะมีการขนย้ายยาเสพติดเข้ามาในพื้นที่ เมื่อเห็นรถคันดังกล่าวที่ไม่ยอมจอดจึงไล่ตามและยิงสกัดจนเกิดเหตุขึ้น

เหมือนจะง่ายกับคำอธิบายว่าเป็นเรื่อง “เข้าใจผิด” หากแต่ในปัญหาความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ มี “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” ที่น่าครุ่นคิดเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งถ้าปล่อยให้ดำรงอยู่ต่อไป ก็เชื่อแน่ว่าเหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้จะเกิดขึ้นอีก

นี่จึงเป็นที่มาของแคมเปญ “ด่านจิต” ของ คณะก้าวหน้าชายแดนใต้/ปาตานี ที่ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาคม นักวิชาการ นักกิจกรรม และประชาชนในพื้นที่ร่วมตรวจสอบการตั้งด่านของเจ้าหน้าที่รัฐ ตลอดจนเป็นการพัฒนานโยบายสันติภาพและความมั่นคงด้วย

แต่ก่อนจะไปสู่เรื่องของแคมดังกล่าว รอมฎอน ปันจอร์ จากคณะก้าวหน้าชายแดนใต้/ปาตานี ผู้ซึ่งทำงานเกาะติดเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่มาอย่างยาวนาน ชวนคิดถึงเหตุการณ์ยิงรถของประชาชนที่เพิ่งเกิดขึ้น โดยเขาระบุว่า เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาในเชิงโครงสร้างที่น่าสนใจหลายอย่าง

กรณีแรก เรื่องการรับรู้ข่าวสารของสาธารณะ คือในช่วงแรก ใบสรุปเหตุการณ์ประจำวันของงานการข่าวศูนย์ปฏิบัติการตำรวจส่วนหน้า (ศปก.ตร.สน.) ระบุว่า มีกลุ่มคนร้ายที่ถูกเจ้าหน้าที่ยิง แต่ข่าวสารตลอดรอบวันจากสื่อทางเลือกต่างๆ จากกระแสโซเชียลต่างๆ กลายเป็นว่าข่าวสารที่เราพบเปลี่ยนไป เป็นเรื่องการตั้งด่านลอยและมีการกราดยิงรถของกลุ่มวัยรุ่น นั่นเป็นเพราะมีการเปิดเรื่องนี้ในพื้นที่สาธารณะมากขึ้น เลยทำให้ทราบข้อเท็จจริงว่าตำรวจเป็นผู้ก่อเหตุ

“เรื่องนี้สำคัญ เพราะที่ผ่านมานั้น มีแบบแผนที่มีข้อเท็จจริงคนละชุดหลายเหตุการณ์มากในพื้นที่ โดยข้อเท็จจริงที่เป็นของทางการชุดหนึ่ง กับข้อเท็จจริงที่เป็นการรับรู้ของประชาชนจะเป็นอีกชุดหนึ่ง ดังนั้น เวลาเจ้าหน้าที่ตกเป็นผู้สงสัยหรือเป็นผู้ก่อเหตุเสียเอง ความคลุมเครือของเหตุการณ์เหล่านี้จะมีอยู่เยอะมาก ทำให้ความไว้เนื้อเชื่อใจเจ้าหน้าที่รัฐ ความชอบธรรมในการการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐในสายตาของประชาชนไม่ค่อยน่าเชื่อถือ ยิ่งมีเรื่องของวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด ดังนั้นเวลาเจ้าหน้าที่รัฐตกเป็นผู้สงสัยหรือเป็นผู้ก่อเหตุ ประชาชนมักจะคาดหวังไม่ได้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐเหล่านั้นจะได้รับการลงโทษ” รอมฎอน กล่าว

กรณีต่อมา คือ การเป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งด้วยกำลังอาวุธ ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและฝ่ายต่อต้านรัฐ เรียกได้ว่ามีกำลังพลซึ่งพร้อมจะใช้อาวุธเต็มพื้นที่ ความเสี่ยงที่จะมีการใช้อาวุธโดยฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจึงมีอยู่สูงมาก และเรื่องนี้ก็ไปสัมพันธ์กับการใช้ชีวิตของผู้คนในพื้นที่ อย่างในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือวัยรุ่นไปตั้งแคมป์กับเพื่อนๆ ซึ่งเป็นวิถีชีวิตปกติ แต่บังเอิญอยู่ในพื้นที่ความมั่นคงสูง ประกอบกับมีปัญหาเรื่องความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชน ที่ดูเผินๆ อาจบอกว่าเหตุการณ์นี้เป็นความเข้าใจผิด แต่ลึกๆ แล้วนี่คือปัญหาเชิญโครงสร้าง


“นี่เป็นโครงสร้างของสถานการณ์ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ได้ง่าย และกรณีด่านลอยเป็นปัญหามากในพื้นที่ความมั่นคงสูง การตัดสินใจ การบังคับใช้กฎหมาย การใช้กำลังโดยเจ้าหน้าจึงมีความสุ่มเสี่ยงเกิดที่อาจเกิดผลกระทบต่อประชาชน” หนึ่งในคณะทำงานจากคณะก้าวหน้าชายแดนใต้/ปาตานี กล่าว

กล่าวสำหรับแคมเปญ “ด่านจิต” เริ่มขึ้นเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา โดยอาศัยงานวิจัยเมื่อปี 2561 ของสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ ซึ่งได้สำรวจการตั้งด่านของเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ พบว่าใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา มีด่านความมั่นคงถึง 1,887 แห่ง ดังนั้น เบื้องต้นของแคมเปญนี้จึงอยากรู้ว่า เมื่อเวลาผ่านไป 3-4 ปีแล้ว ด่านต่างๆ เหล่านี้เพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร

รอมฎอน ชวนคิดด้วยว่า ท่ามกลางสถานการณ์ที่เหมือนว่าคลี่คลาย แต่ทำไมความรู้สึกประชาชนกลับไม่รู้สึกว่าเป็นอย่างนั้น และแคมเปญนี้จะเป็นการสำรวจตรวจสอบและจับจ้องไปที่เจ้าหน้าที่รัฐด้วยว่ามีพฤติกรรมอย่างไร ทำอะไรกับเราในแต่ละด่าน เพราะที่ผ่านมาประชาชนมักรู้สึกตัวเล็กลีบ ไม่มีอำนาจ ไม่เคยถูกให้เกียรติ แต่แคมเปญนี้จะเป็นการพลิกกลับ ให้ประชาชนได้จับจ้องเจ้าหน้าที่และรายงานออกมา เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อลดอิทธิพล ลดอำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐและยังเป็นการพัฒนานโยบายสันติภาพและความมั่นคงด้วย

สามารถติดตามรายละเอียดแคมเปญดังกล่าวได้ที่ https://web.facebook.com/danjit34

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า