เปิดแล้ว! หลักสูตร “นักการเมืองท้องถิ่นก้าวหน้า” สร้าง 3 ค. “ความรู้ – คน – เครือข่าย” พลิกโฉมประเทศไทย

7 มีนาคม 2565

ในที่สุดก็เปิดตัวอออกมาอย่างเป็นทางการแล้วสำหรับสิ่งที่เรียกว่า “อคาเดมี” ของ คณะก้าวหน้า โดยในครั้งแรกนี้ผนึกกำลังกับ มูลนิธิคณะก้าวหน้า จัดทำหลักสูตร “นักการเมืองท้องถิ่นก้าวหน้า” ติวเข้มไม่ว่าจะผู้ที่สนใจจะเป็นนักการเมืองท้องถิ่น รวมถึงผู้ที่สนใจเรื่องราวของการเมืองท้องถิ่น การบริหารจัดการเมืองรูปแบบใหม่

7 มีนาคม 2565 คือวันที่ ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า แถลงข่าวและเปิดตัวหลักสูตรและรับสมัครผู้สนใจอย่างเป็นทางการวันแรก

สานต่อภารกิจ “อนาคตใหม่”
ยุติรัฐราชการรวมศูนย์ กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

กว่าจะเกิดเป็นหลักสูตร “นักการเมืองท้องถิ่นก้าวหน้า” ย้อนที่มาที่ไปกันสักเล็กน้อย โดยเท้าความไปตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็น “พรรคอนาคตใหม่” นโยบายสำคัญหนึ่งที่พรรคใช้ในการรณรงค์หาเสียงนั่นคือเรื่องของการกระจายอำนาจ โดยในครั้งนั้นให้ชื่อนโยบายว่า “ยุติรัฐราชการรวมศูนย์ ทวงคืนอำนาจสู่ท้องถิ่น”

เรื่องการกระจายอำนาจถูกพูดถึงมานาน โดยมีหมุดหมายสำคัญคือรัฐธรรมนูญ 2540 แต่ผ่านมาแล้วกว่า 20 ปี ก็ยังคงล้มลุกคลุกคลาน ท้องถิ่นไม่เคยมีอำนาจที่แท้จริงเสียที นี่จึงเป็นเหตุให้พรรคอนาคตใหม่คิดนโยบายนี้ขึ้น

แต่ทว่า ยังไม่มีโอกาสได้ไปเป็นรัฐบาล ยังไม่มีโอกาสได้ไปมีอำนาจเพื่อคืนอำนาจสู่ท้องถิ่น พรรคก็ถูกยุบ และคณะกรรมการบริหารทั้งหมดก็ถูกตัดสิทธิรับสมัครเลือกตั้ง แต่ด้วยความที่ไม่ถอดใจ และเล็งเห็นว่าการเมืองท้องถิ่นเป็นเรื่องสำคัญ จึงมาให้การสนับสนุนนักการเมืองท้องถิ่นในทุกระดับการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะป็นระดับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ระดับเทศบาล รวมถึงระดับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)

“ถ้าทำการเมืองท้องถิ่นให้ดีขึ้น เปลี่ยนการเมืองท้องถิ่นให้เป็นรูปแบบใหม่ จะยิ่งไปสนับสนุนการกระจายอำนาจมากขึ้น” ปิยบุตร กล่าว

และผลงานที่ผ่านมา ภายใต้การไปช่วยบริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่คณะก้าวหน้าให้การสนับสนุน ก็มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ไม่ว่าจะเป็น น้ำประปาดื่มได้, จัดการขยะก้าวหน้า, ท่องเที่ยวชุมชน ฯลฯ ล้วนแต่สร้างความฮือฮามาแล้วทั้งสิ้น

ความรู้ – คน – เครือข่าย
3 วัตถุประสงหลักสูตร “นักการเมืองท้องถิ่นก้าวหน้า”

ปิยบุตร กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา เรามีความรู้ ประสบการณ์จากการเข้าไปร่วมบริหารท้องถิ่น เห็นการทำงานท้องถิ่นว่ามีข้อจำกัด มีอุปสรรคการบริหารท้องถิ่นอย่างไร จึงเป็นที่มาของการอยากนำความรู้ที่ได้มานั้นเผยแพร่ให้กับประชาชนที่สนใจการเมืองท้องถิ่น คนที่อยากเป็นนักการเมืองท้องถิ่นในอนาคต รวมถึงพลเมืองที่มีความสนใจอยากเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเมือง

ในสุดก็กลายมาเป็นหลักสูตร “นักการเมืองท้องถิ่นก้าวหน้า” โดยความร่วมมือของ คณะก้าวหน้าและมูลนิธิคณะก้าวหน้า ซึ่งเป็นมูลนิธิที่ได้รับการจดทะเบียนเมื่อปีที่แล้ว มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการศึกษา การให้ความรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตย ที่ต่อไปเราจะมีหลักสูตรอื่นๆ เพิ่มมากขึ้นด้วย

“การเปลี่ยนแปลงเรื่องสำคัญ เรื่องใหญ่ๆ ในเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการกระจายอำนาจนั้น ไม่สามารถเข้าไปมีอำนาจแล้วเปลี่ยนได้อย่างเดียว แน่นอนว่าอยากเปลี่ยนเรื่องอะไรเราต้องเข้าไปมีอำนาจเพื่อนำนาจนั้นมาเปลี่ยนแปลง แต่ไม่เพียงพอ ต้องอาศัย ความรู้ คน และเครือข่ายด้วย และนี่คือ “3 ค.” ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ของหลักสูตรที่เราก่อตั้งขี้นมา”

1.ค. ความรู้ เราต้องการปลูกฝัง ขยายความรู้ ความคิด เกี่ยวกับเรื่องกระจายอำนาจ การปกครองท้องถิ่น รวมถีงการบริหารจัดการเมืองในรู้แบบใหม่

2.ค.คน ต้องมีการสร้างคน คือนักการเมืองท้องถิ่นรุ่นใหม่ๆ รวมถึงสร้างพลเมืองท้องถิ่นที่ให้ความสำคัญกับการเมืองท้องถิ่น ตรวจสอบ ติดตาม เรียกร้องนโบายกับผู้บริหารท้องถิ่นของตนเอง

3.ค.เครือข่าย เราจะไม่จำกัดอยู่แค่ในกลุ่มของตัวเอง แต่นี่จะเป็นการรวมตัวกันคนที่เห็นด้วย และคนที่สนับสนุนเรื่องการกระจายอำนาจ เห็นด้วยว่าต้องยุติรัฐราชการรวมศูนย์ทวงคืนอำนาจท้องถิ่น เกิดเป็นเครือข่ายผู้ที่สนใจการบริหารจัดการเมือง เครือข่ายนักวิชาการ นักการเมืองท้องถิ่น และพลเมือง เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนกัน

“ทั้ง 3 วัตถุประสงค์นี้ ถ้าทำสำเร็จ ผลประโยชน์จะตกอยู่กับประชาชน ที่จะได้รับการบริการที่ดีจากผู้บริหารท้องถิ่น ประชาชนจะได้ในสิ่งที่ต้องการ หรือถ้าไม่ได้สิ่งที่ต้องการก็ปฏิเสธไม่ยอมรับและเข้าไปมีส่วนร่วมในฐานะพลเมืองได้ ภาพใหญ่จะส่งผลเรื่องประชาธิปไตยและการปฏิรูประบบราชการด้วย” เลขาธิการ คณะก้าวหน้า กล่าวอย่างเชื่อมั่น

เรียนแบบไหน? เมื่อไหร่? อย่างไร?
ค่าใช้จ่ายเท่าไหร่?

รูปแบบการเรียนหลักสูตรนี้มี 4 รูปแบบ คือ การบรรยายในชั้นเรียน การจัดสัมมนา การทดลองปฏิบัติงาน และการศึกษาดูงานทั้งในท้องถิ่น ภาครัฐและเอกชน โดยรวมๆ แล้วใช้เวลาเกือบ 100 ชั่วโมง

ด้านเนื้อหา แบ่งเป็น 4 หมวดใหญ่ๆ คือ

1.วิชาพื้นฐาน

2. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการปกครองท้องถิ่น

3.หมวดการบริหารจัดการเมืองสมัยใหม่

4.หมวดทักษะความเป็นผู้นำ

จากการแถลงข่าวของปิยบุตร เน้นย้ำว่าหลักสูตรที่ออกแบบมานี้มีความแตกต่างจากหลักสูตรอื่นๆ และมี “ลายลายเซ็น” ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะอย่างแน่นอน โดยเขาชี้ให้เห็น ใน 3 เอกลักษณ์ คือ

1.เรียนรู้อดีตเพื่อเข้าใจปัจจุบันแล้วนำไปออกแบบอนาคต มีหลายหัวข้อเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์ เช่น ประวัติศาสตร์การเกิดขึ้นของรัฐไทย ที่เมื่อเข้าใจประวัติศาสตร์แล้วก็จะทำให้เราเข้าใจว่าทำไมกระจายอำนาจยากเย็นเหลือเกิน

2. ศึกษาเปรียบเทียบตัวอย่างแรงบันดาลใจ ทั้งท้องถิ่นในต่างประเทศและในประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จ

3.แนวทางแบบที่เป็นอยู่ VS แนวทางใหม่ที่ควรทำ ซึ่งมองว่าสถานการณ์นี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน กว่าจะเอาสิ่งใหม่แทนที่สิ่งเก่าได้ ต้องรู้จักสิ่งเก่าด้วย เพื่อชักชวนคนที่ยังอยู่กับสิ่งเก่าไปหาสิ่งใหม่ด้วยกันมากขึ้น

หลักสูตร “นักการเมืองท้องถิ่นก้าวหน้า” เปิดรับสมัคร 7 มีนาคม – 28 พฤษภาคม 2565

ค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตร 12,000 บาท ครอบคลุมค่าหลักสูตร สถานที่บรรยาย เอกสารหลักสูตร อาหารกกลางวัน ไม่รวมค่าเดินทางในการร่วมกิจกรรมและค่าที่พัก

เปิดเรียนวันแรกคือศุกร์ที่ 3 มิถุนายน 2565 และจัดต่อเนื่องทุกสัปดาห์ไปอีก 2 เดือน

รับสมัครผู้เข้าอบรมรุ่นแรกเพียง 60 คน เท่านั้น!

หลักสูตรนักการเมืองท้องถิ่นก้าวหน้า

ชื่อหลักสูตร

นักการเมืองท้องถิ่นก้าวหน้า

เหตุผลและความเป็นมา

พรรคอนาคตใหม่ให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น โดยจัดทำเป็นนโยบาย “ชูธง” ของพรรคในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 โดยให้ชื่อว่า “ยุติรัฐราชการรวมศูนย์ ทวงคืนอำนาจสู่ท้องถิ่น” ภายหลังพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบลง กรรมการบริหารพรรคที่ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งจึงได้ก่อตั้งคณะก้าวหน้าและมูลนิธิคณะก้าวหน้าขึ้นเพื่อรณรงค์ทางความคิดตามแนวทางของพรรคอนาคตใหม่ โดยคณะก้าวหน้าให้การสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น ทั้งในระดับองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล พร้อมกันนั้นยังให้การสนับสนุนทางความรู้และการดำเนินนโยบายแก่ผู้บริหารท้องถิ่นที่ทำงานร่วมกันกับคณะก้าวหน้า ส่วนมูลนิธิคณะก้าวหน้ามีวัตถุประสงค์ในการจัดการศึกษาอบรมในเรื่องประชาธิปไตย และจัดพิมพ์หนังสือที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

ด้วยความรู้และประสบการณ์ของของคณะก้าวหน้าในเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่นและการบริหารท้องถิ่นประกอบกับภารกิจของมูลนิธิคณะก้าวหน้าในเรื่องการศึกษาอบรม ทั้งสององค์กรจึงร่วมกันจัดการศึกษาอบรมในหลักสูตร “นักการเมืองท้องถิ่นก้าวหน้า” ให้แก่บุคคลทั่วไปขึ้น

วัตถุประสงค์

วัตุประสงค์ของหลักสูตรประกอบไปด้วย 3 ค. ได้แก่ ความรู้ คน และเครือข่าย

ความรู้ หลักสูตรมุ่งให้ความรู้ในเรื่องการกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารจัดการเมือง ทั้งภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติ และการศึกษาเปรียบเทียบ   

คน หลักสูตรมุ่งสร้างนักการเมืองท้องถิ่นรุ่นใหม่ และพลเมืองที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการท้องถิ่น  

เครือข่าย หลักสูตรมุ่งสร้างการรวมตัวกันของคนที่สนับสนุนการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยกระจายอำนาจได้สำเร็จโดยสมบูรณ์ และมุ่งสร้างการรวมตัวกันของบุคคลผู้สนใจการบริหารจัดการท้องถิ่นทั้งนักการเมือง นักวิชาการ และพลเมือง เพื่อประสานความร่วมมือและแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการพัฒนาเมือง  

เอกลักษณ์ของหลักสูตร

1. เรียนรู้อดีต เข้าใจปัจจุบัน ออกแบบอนาคต

2. เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ

3. ศึกษาเปรียบเทียบตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จเพื่อเป็นตัวแบบและแรงบันดาลใจ

4. ศึกษาข้อจำกัดในระบบปัจจุบันเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่แนวทางใหม่ตามอุดมคติ  

ผู้จัดการอบรม

โครงการ Progressive Academy โดยมูลนิธิคณะก้าวหน้า

ระยะเวลาการอบรม

อบรมทุกวันศุกร์,เสาร์,อาทิตย์ หรือวันเสาร์,อาทิตย์ รวม 7 สัปดาห์

ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 3 มิถุนายน 2565 ถึงวันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม 2565

สถานที่

อาคารอนาคตใหม่ ชั้น 7 เลขที่ 167 รามคำแหง 42 แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ  

การศึกษาดูงานในจังหวัดอื่นๆ

จำนวนผู้เข้ารับการอบรม

60 คน

การรับสมัคร

สมัครได้ที่ https://forms.gle/6SbNcGaCEECHcc3X9 ตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค.- 28  พ.ค. 65

ค่าลงทะเบียน

12,000 บาท

โครงสร้างหลักสูตร

แบ่งเป็น 4 หมวดวิชา ได้แก่ วิชาพื้นฐาน ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการปกครองท้องถิ่น การบริหารและการจัดการเมือง และทักษะจำเป็นสำหรับนักการเมืองท้องถิ่น โดยในแต่ละหมวดวิชาประกอบไปด้วย 6 หัวข้อการศึกษาอบรมในแต่ละหัวข้อ มีทั้งรูปแบบการบรรยายในชั้นเรียน การทดสอบและการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหลังการบรรยาย การทำ workshop การสัมมนา และการศึกษาดูงาน

คำอธิบายรายหัวข้อโดยสังเขป

หมวด 1 วิชาพื้นฐาน

8 หัวข้อ รวม 23 ชั่วโมง

ประวัติศาสตร์การกำเนิดรัฐไทย (3 ชั่วโมง)

ศึกษาประวัติศาสตร์การกำเนิดรัฐไทย การก่อรูปของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การผนวกรวบควบรวมหัวเมืองต่างๆและการปฏิรูปราชการในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตลอดจนศึกษาข้อถกเถียงในประเด็นสำคัญ เช่น การรักษาเอกราชของสยาม สยามเคยตกเป็นเมืองขึ้นหรือไม่ การล่าอาณานิคมภายในสยาม เป็นต้น

ประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ (3 ชั่วโมง)

ศึกษาการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 ในประเด็นมูลเหตุ การเปลี่ยนแปลงตามหลักการมูลฐานของระบอบใหม่ ผลกระทบ และการโต้อภิวัฒน์ ศึกษาการขึ้นครองอำนาจทางการเมืองของทหาร วงจรรัฐประหาร บทบาทของพรรคการเมืองและรัฐสภา ขบวนการต่อสู้ของประชาชน และความพยายามเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย

ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย (3 ชั่วโมง)

ศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบัน โดยพิจารณาจากเหตุการณ์สำคัญอันเป็นหมุดหมายที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจและการพัฒนาในประเทศไทย เช่น สนธิสัญญาบาวริ่ง การปฏิรูปราชการในสมัยรัชกาลที่ 5 การสร้างความมั่งคั่งและสะสมทุนของสถาบันกษัตริย์ การอภิวัฒน์สยาม 2475 การสร้างความมั่งคั่งและสะสมทุนของทหาร ข้าราชการ และทุนผูกขาด การขึ้นมาของทุนธนาคารและทุนอุตสาหกรรม วิกฤติเศรษฐกิจปี 1997 เป็นต้น ศึกษาความล้าหลังของทุนไทยในกระแสทุนโลก    

ประวัติศาสตร์การกระจายอำนาจไทย (3 ชั่วโมง)

ศึกษาพัฒนาการการกระจายอำนาจในประเทศไทย การต่อสู้กันระหว่างฝ่ายสนับสนุนการปกครองส่วนท้องถิ่นตามหลักการกระจายอำนาจกับฝ่ายขัดขวาง ตั้งแต่ความคิดการจัดตั้งเทศบาลของปรีดี พนมยงค์ ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2476 ข้อเรียกร้อง “การเลือกผู้ว่าราชการจังหวัด” การเปลี่ยนให้ นายก อบจ.มาจากการเลือกตั้ง การสร้าง อบต. มาจนถึงการสถาปนาหลักการกระจายอำนาจและความเป็นอิสระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ในรัฐธรรมนูญ 2540 ตลอดจนสภาพปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้การกระจายอำนาจตามกฎหมายแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจไม่ประสบความสำเร็จจนถึงปัจจุบัน

รัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง (3 ชั่วโมง)

ศึกษาแนวคิดพื้นฐานของกฎหมายรัฐธรรมนูญ เช่น รูปแบบของรัฐธรรมนูญ กำเนิดรัฐธรรมนูญ ความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ศึกษาโครงสร้างและความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันการเมืองต่างๆในรัฐธรรมนูญ ศึกษาสิทธิขั้นพื้นฐาน หลักการประชาธิปไตย การเลือกตั้ง และพรรคการเมือง

กฎหมายปกครอง (3 ชั่วโมง)

ศึกษาหลักการพื้นฐานของกฎหมายปกครอง เช่น หลักความชอบด้วยกฎหมาย หลักความได้สัดส่วน หลักการคุ้มครองความเชื่อถือไว้วางใจของปัจเจกบุคคล เป็นต้น ศึกษารูปแบบการกระทำขององค์กรเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ได้แก่ คำสั่งทางปกครอง กฎ ปฏิบัติการทางปกครอง คำสั่งและระเบียบภายใน ศึกษากระบวนการโต้แย้งคำสั่งทางปกครอง การฟ้องคดีปกครอง และความรับผิดของรัฐ  

การปฏิรูประบบราชการและงบประมาณ (2 ชั่วโมง) 

ศึกษาการปฏิรูประบบราชการและงบประมาณในประเทศไทย ปัญหาของระบบราชการและงบประมาณในปัจจุบัน ระบบราชการและงบประมาณเปรียบเทียบกับต่างประเทศ ข้อเสนอแนะและแนวทางแก้ไข ตลอดจนสภาพปัญหาของระบบราชการและงบประมาณที่เป็นอุปสรรคและส่งผลกระทบต่อการปกครองส่วนท้องถิ่นและการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น

สิทธิมนุษยชน (3 ชั่วโมง)

ศึกษาข้อความคิดสิทธิมนุษชนในด้านต่างๆ เช่น ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาค สิทธิในชีวิตและร่างกาย เสรีภาพในการแสดงออก สิทธิทางการเมือง สิทธิในทางสังคมและเศรษฐกิจ สิทธิชุมชน เป็นต้น ศึกษากลไกการคุ้มครองสิทธิ และการต่อสู้ของภาคประชาสังคมในระดับท้องถิ่นในเรื่องสิทธิชุมชนและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

หมวด 2 ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการปกครองท้องถิ่น

6 หัวข้อ รวม 21 ชั่วโมง

กฎหมายปกครองท้องถิ่น (4 ชั่วโมง)

ศึกษาแนวคิดพื้นฐานการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน รูปแบบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย หลักความเป็นอิสระของการปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งในเรื่องความเป็นนิติบุคคลมหาชน อำนาจหน้าที่ งบประมาณ บุคลากร ศึกษาเครื่องมือและรูปแบบการกระทำขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น ข้อบัญญัติท้องถิ่น มติ คำสั่ง สัญญา ความร่วมมือกันระหว่างท้องถิ่น เป็นต้น ตลอดจนกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการปกครองท้องถิ่น  

การคลังท้องถิ่น (4 ชั่วโมง)

ศึกษารายรับของท้องถิ่น ได้แก่ รายได้จากภาษีอากร รายได้จากทรัพย์สินและการบริการ เงินกู้ และเงินอุดหนุน ศึกษารายจ่ายของท้องถิ่นและการจัดทำงบประมาณรายจ่ายของท้องถิ่น ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างราชการส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่นในด้านการคลัง เช่น การให้เงินอุดหนุน การแบ่งสัดส่วนรายได้ การแบ่งอำนาจการจัดเก็บภาษี ตลอดจนศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างฐานรายได้ใหม่ให้แก่ท้องถิ่น

การกำกับดูแลและการตรวจสอบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (4 ชั่วโมง)

ศึกษารูปแบบการกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยราชการส่วนกลาง ได้แก่ การกำกับดูแลเหนือบุคคล การกำกับดูแลเหนือการกระทำ และการกำกับดูแลทางการคลัง ศึกษารูปแบบการตรวจสอบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งการตรวจสอบโดยองค์กรอิสระ ได้แก่ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และ ป.ป.ช. และการตรวจสอบโดยประชาชนและภาคประชาสังคม 

คดีปกครองท้องถิ่น (3 ชั่วโมง)

ศึกษาคำพิพากษาศาลปกครอง ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ความเห็นของคณะกรรมการกระจายอำนาจ ในประเด็นสำคัญที่เกี่ยวกับการปกครองท้องถิ่น

การจัดทำนโยบาย ข้อบัญญัติท้องถิ่น และการประชุม (3 ชั่วโมง)

ศึกษารูปแบบและวิธีการในทางปฏิบัติอันจำเป็นเมื่อดำรงตำแหน่งเป็นนายกท้องถิ่นหรือสมาชิกสภาท้องถิ่น ได้แก่ การแถลงนโยบายของนายกท้องถิ่น การจัดทำงบประมาณท้องถิ่นประจำปี กระบวนการตราข้อบัญญัติท้องถิ่น การออกมติ การประชุมผู้บริหารท้องถิ่น การประชุมสภาท้องถิ่น

การปกครองท้องถิ่นเปรียบเทียบ (3 ชั่วโมง)

ศึกษาการปกครองท้องถิ่นของประเทศต่างๆ ทั้งประเทศที่เป็นรัฐเดี่ยวและสหพันธรัฐ ทั้งประเทศที่มีราชการส่วนภูมิภาคและไม่มีราชการส่วนภูมิภาค ทั้งประเทศที่มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแบบสองชั้นและสามชั้น เพื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบกับการปกครองท้องถิ่นไทย  

หมวด 3 การบริหารและการจัดการเมือง

4 หัวข้อ รวม 16 ชั่วโมง และการศึกษาดูงานสองครั้ง

การจัดการเมืองสมัยใหม่ (7 ชั่วโมง)

ศึกษาแนวทางการจัดการเมืองสมัยใหม่ การออกแบบนโยบาย การจัดทำบริการสาธารณะท้องถิ่น เศรษฐกิจท้องถิ่น การออกแบบระบบขนส่งสาธารณะ การศึกษาและวัฒนธรรมท้องถิ่น การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดการเมือง และการจัดการเมืองตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนและรักษาสิ่งแวดล้อม

การมีส่วนร่วมของพลเมือง (3 ชั่วโมง)

ศึกษารูปแบบและกระบวนการมีส่วนร่วมของพลเมืองในการบริหารท้องถิ่น เช่น การจัดทำประชาคมรับฟังความเห็น การจัดประชาพิจารณ์ การจัด Town hall การจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม (Participatory Budgeting) การจัดตั้งสภาพลเมืองท้องถิ่น การนำรูปแบบรัฐเปิดเผย (Open Government) มาใช้ การเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น การถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น (Recall) เป็นต้น

การบริหารท้องถิ่นไทย : ข้อจำกัด อุปสรรค ความท้าทาย (3 ชั่วโมง)

ศึกษาแนวทางการบริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทยที่ต้องเผชิญกับการกระจายอำนาจที่ยังไม่สมบูรณ์และมีอุปสรรคขัดขวาง เช่น กฎหมายแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจที่ไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง ความซ้ำซ้อนในอำนาจหน้าที่ระหว่างส่วนกลางและส่วนภูมิภาคกับส่วนท้องถิ่น ความพยายามในการแทรกแซงจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ข้อจำกัดทางงบประมาณและบุคลากร ตลอดจนการกระจายอำนาจสะดุดหยุดลงนับแต่รัฐประหาร 22 พ.ค.2557 เป็นต้น ศึกษาแนวทางการประสานงานและแสวงหาความร่วมมือกับราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ศึกษาประเด็นปัญหาที่เป็นความท้าทายใหม่ต่อการบริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนศึกษากรณีตัวอย่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สามารถบริหารจัดการได้ดีภายใต้ข้อจำกัดและอุปสรรคเหล่านี้ 

ต้นแบบการจัดการเมืองในต่างประเทศ (3 ชั่วโมง)

ศึกษาตัวอย่างการการบริหารท้องถิ่นและการจัดการเมืองในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จ สร้างชื่อเสียง และมีจุดเด่นน่าสนใจ ทั้งระดับมหานครไปจนถึงท้องถิ่นขนาดเล็ก

การศึกษาดูงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้นแบบในประเทศไทย ครั้งที่ 1

ศึกษาดูงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ที่เป็นต้นแบบความสำเร็จและมีจุดเด่นน่าสนใจ

การศึกษาดูงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้นแบบในประเทศไทย ครั้งที่ 2  

ศึกษาดูงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็กที่เป็นต้นแบบความสำเร็จและมีจุดเด่นน่าสนใจ

หมวด 4 ทักษะจำเป็นสำหรับนักการเมืองท้องถิ่น  

6 หัวข้อ 28 ชั่วโมง

ทักษะความเป็นผู้นำ (8 ชั่วโมง)

ศึกษาทักษะด้านต่างๆในการสร้างภาวะผู้นำ

การสื่อสารทางการเมือง (7 ชั่วโมง)

ศึกษาทักษะการสื่อสารที่เป็นประโยชน์ในแวดวงการเมือง ได้แก่ การพูดในที่สาธารณะ การปราศรัยหาเสียง การอภิปรายโต้วาที การพูดในรายการ การสัมภาษณ์สื่อ การสรุปประเด็นรวบยอด การสื่อสารทางโซเชียล มีเดียและสื่อสังคมออนไลน์

การบรรยายพิเศษ 1 (3 ชั่วโมง)

การบรรยายพิเศษโดยวิทยากรผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการบริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

การบรรยายพิเศษ 2 (3 ชั่วโมง)

การบรรยายพิเศษโดยวิทยากรจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการบริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

เปิดโลกกว้างกับภาคเอกชน (4 ชั่วโมง)

ศึกษาดูงานธุรกิจภาคเอกชนที่ทันสมัย เท่าทันอนาคต อันเป็นประโยชน์และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่การบริหารท้องถิ่น

เสวนาปิดการอบรม (3 ชั่วโมง)

เสวนาในหัวข้อที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์กับการบริหารท้องถิ่น โดยผู้บริหารท้องถิ่นและนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องการปกครองท้องถิ่น

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า