110 ปี “คณะปฏิวัติ ร.ศ.130” อ่านอีกครั้ง “ว่าด้วยความเสื่อมซามแลความเจรีญประเทศ” เอกสาร “เลคเชอร์” เตรียมก่อการ

1 มีนาคม 2565

แม้ยังไม่มีบทสรุปแน่ชัดว่าตรงกับวันไหน แต่ก็น่าจะเป็นช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ต่อต้นเดือนมีนาคมนี่เอง ที่ “คณะปฏิวัติ ร.ศ.130” ถูกจับกุม หลังจากที่คนกลุ่มนี้นัดประชุมรวมตัวกัน และมีความคิดที่จะทำการ “ปฏวัติ” เปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” มาเป็นระบอบ “ประชาธิปไตย” เมื่อ พ.ศ.2455 หรือเมื่อ 110 ปีที่แล้ว

สำหรับชื่อเสียงเรียงนามของ “คณะปฏิวัติ ร.ศ.130” มีจำนวนที่เข้าร่วมทั้งหมดเท่าไหร่นั้นไม่แน่ชัด แต่คาดว่าน่าจะไม่ต่ำกว่า 50 คน โดยส่วนใหญ่เป็นนายร้อยหนุ่มจบใหม่หมาด, บางส่วนเป็นหมอ, บางส่วนเป็นนักกฎหมาย แต่ที่น่าสนใจคือเกือบทั้งหมดล้วนเป็น “คนธรรมดาสามัญ” หาใช่ลูกท่านหลานเธอที่มีตระกูลใหญ่โต

อาทิ ร.อ.ขุนทวยหาญพิทักษ์ หรือ นพ.เหล็ง ศรีจันทร์ หัวหน้าคณะ, ร.ท.จรูญ ณ บางช้าง รองหัวหน้าคณะ, ร.ท.จือ ควกุล เสนาธิการคณะ, ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์ เลขานุการคณะ, ร.ต.เหรียญ ศรีจันทร์, ร.ต.เขียน อุทัยกุล, ร.ต.วาส วาสนา, ร.ต.ถัด รัตนพันธุ์, ร.ต.สอน วงษ์โต, ร.ต.จรูญ ษตะเมษ, ร.ต.บ๋วย บุณยรัตนพันธุ์, พันตรี หลวงวิฆเนศร์ประสิทธิ์เวทย์ หรือ นพ.อัทย์ หะสิทตะเวช, เปลี่ยน ไชยมังคละ ฯลฯ

แม้ความคิดที่จะทำการ “ปฏิวัติ” ครั้งนั้นไม่สำเร็จ เพราะความแตกเสียก่อนเนื่องจากมีผู้ทรยศหักหลัง จน “ผู้ก่อการ” ต้องถูกจับและดำเนินคดี ติดคุกกันคนละกว่า 10 ปี เป็นอย่างน้อย แต่ทว่าเรื่องราวของพวกเขาก็ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ “คณะราษฎร” ที่นำโดย ปรีดี พนมยงค์ สานต่อและทำให้เกิดเหตุการณ์อย่างวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ทำให้ประเทศไทยมีการปกครองในระอบประชาธิปไตยมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้

หลักฐานสำคัญชิ้นหนึ่ง ที่รัฐบาลในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยึดได้จากบ้านของ “หมอเหล็ง” ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะ นั่นก็คือเอกสารชื่อ “ว่าด้วยความเสื่อมซามและความเจริญของประเทศ”

เอกสารดังกล่าวเป็นลายมือเขียนของ “หมอเหล็ง” เป็นคล้ายๆ กับ “เลกเชอร์” ให้สมาชิกของคณะได้รู้จักว่าการปกครองประเทศนั้นมีรูปแบบอย่างไรบ้าง รวมทั้งมีการวิพากษ์วิจารณ์ ชี้ให้เห็นข้อดีข้อเสีย โดยในคำให้การของสมาชิกคณะ ร.ศ.130 บางคนบอกว่า “หมอเหล็ง” จะนำมาใช้บรรยายในการประชุม เสมือนทำความเข้าใจ ทำงานความคิดกับสมาชิกผู้ร่วมก่อการ มีการ่วมวิพากษ์วิจารณ์ตลอดจนหามติในที่ประชุมแต่ละครั้งว่า “สยาม” ถ้าปฏิวัติแล้วจะไปสู่การปกครองรูปแบบใด

กล่าวสำหรับ “ว่าด้วยความเสื่อมซามและความเจริญของประเทศ” นับว่าเป็นความกล้าหาญมากที่มีเอกสารลักษณะนี้เกิดขึ้นในยุค “สมบูรณาญาสิธิราชย์”

เพราะหากไปดูเนื้อหา แม้จะเป็นในรูปแบบของการ “บรรยาย” ให้ความรู้ แต่ก็ดูจะโน้มเองไปในทางตัดสินใจของ “ผู้เขียน” แล้วว่า อยากเห็นประเทศเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่รูปแบบใด

เอกสารดังกล่าวมีไม่กี่หน้า แต่แบ่งหัวข้อใหญ่ๆ ออกเป็น 3 เรื่อง (ในข้อเขียนนี้จะเขียนด้วยภาษาที่ถูกต้องในปัจจุบัน) ได้แก่ 1.ว่าด้วยการปกครองประเทศ โดยมีกษัตริย์อยู่เหนือกฎหมาย (Absolute monarchy ) 2.ว่าด้วยการปกครองประเทศตามแบบ Limited monarchy และ 3.ว่าด้วยวิธีปกครองประเทศตามแบบ Republic

เรียงตามลำดับ 3 รูปแบบการปกครองมาดังนี้ โดยในส่วนของหัวข้อแรกจะให้พื้นที่มากสุด มีบทวิพาษ์วิจารณ์มากที่สุด

ไม่ว่าจะเป็น “การปกครองประเทศตามวิธีนี้ เป็นวิธีที่ร้ายแรงมาก เพราะกษัตริย์มีอำนาจเต็มที่ โดยอยู่เหนือกฎหมาย กษัตริย์จะทำการชั่วร้ายอย่างหนึ่งอย่างใดก็ทำได้ เพราะไม่มีใครขัดขวาง กษัตริย์จะกดขี่แลเบียดเบียนราษฎรให้ได้ความทุกข์ยากด้วยประการหนึ่งประการใดทุกอย่าง ราษฎรที่ไม่มีความผิด กษัตริย์จะเอามาเฆี่ยนตีหรือฟันและจองจำได้ตามความพอใจ ทรัพย์สมบัติและที่ดินของราษฎรนั้น กษัตริย์จะเบียดเบียนเอามาเป็นผลประโยชน์ส่วนตัวได้โดยไม่มีขีดขั้น..”

การปกครองแบบ Absolute monarchy ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำให้เกิดพวก “สอพลอ”

“คนสอพลอนั้นมีอยู่ 2 จำพวก จำพวกหนึ่งทำการให้กษัตริย์โดยตรง ดังเช่น ทาสและพวกบริวารของกษัตริย์ อีกจำพวกหนึ่งนั้นถึงแม้ว่ามีหน้าที่ตั้งแต่งให้ทำงานสำหรับรัฐบาลก็จริง แต่เอาเวลาไปใช้ในทางสอพอเสียหมด ส่วนการออฟฟิศนั้นถึงแม้ว่าจะบกพร่องแลเสียหายอย่างไรก็ไม่ต้องคิด ขแต่ให้ได้ใกล้ชิดกลิ้งเกลือกอยู่กับฝ่าบาทก็แล้วกัน…”

กระนั้นในส่วนของหัวข้อนี้ ก็มีน้ำเสียงที่ชื่นชมประเทศ “ญี่ปุ่น” ที่รู้จักปรับตัวปฏิรูปประเทศ เช่นตอนหนึ่งว่า “…ให้คิดดูถึงประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่เล็กกว่าสยาม เหตุใดญี่ปุ่นจึงมีเงินพอสำหรับบำรุงเครื่องมือจนญี่ปุ่นมีอำนาจเท่ากับมหาประเทศ เพราะกษัตริย์ญี่ปุ่นอยู่ใต้กฎหมายมาช้านานแล้ว เงินผลประโยชน์ของแผ่นดินที่ได้มาก็ไม่มีใครจะล้างผลาญ นอกจากใช้ในการแผ่นดินฝ่ายเดียว”

ขณะที่ในหัวข้อที่สอง เป็นการสรุปสั้นๆ ว่าถ้าปกครองในรูปแบบ Limited monarchy นั้น จะทำให้พวก “สอพลอ” ไม่ได้เกิด และคนจะมีตำแหน่งก็ด้วยผลงานความสามารถ

พร้อมกันนี้ได้ชื่นชมอังกฤษว่า “ประเทศอังกฤษเป็นผู้เริ่มใช้ขึ้นก่อน ตั้งแต่แผ่นดินพระเจ้าจอร์จเป็นต้นมา เพราะเวลานั้นกษัตริย์ในเมืองอังกฤษประพฤติชั่วร้ายมาก จึงต้องถูกบังคับให้อยู่ใต้กฎหมาย เมื่อได้เปลี่ยนแปลงวิธีปกครองใหม่เรียบร้อยแล้ว ประเทศอังกฤษก็มีความเจริญยิ่งขึ้นทุกที”

และในหัวข้อที่สาม “ว่าด้วยวิธีปกครองประเทศตามแบบ Republic ” เอกสารชิ้นนี้ให้ความสำคัญกับนิยามที่ว่า “คนเท่ากัน”

“การแบ่งคนออกเป็นตระกูลสูงและตระกูลต่ำเช่นนี้ ประเทศที่เป็น Republic ได้ยกเลิกเสียหมด เหยียดคนทั่วไปให้เป็นตระกูลเดียวกัน ให้มีความอิสรภาพเท่าๆ กัน ไม่มีใครเป็นตระกูลต่ำและเป็นตระกูลสูงกว่ากัน เพราะฉะนั้น การดูถูกแลการข่มเหงซี่งกันก็หมดไป ไม่มีใครเป็นค่าเจ้าบ่าวนายเหมือนการปกครองวิธีอื่น…”

นี่คือบางช่วงบางตอนของ “เอกสารประวัติศาสตร์”

เป็น “เลคเชอร์” ที่ใช้เตรียมก่อการ “ปฏิวัติ” เมื่อ 110 ปีที่แล้ว อันเป็นจุดเริ่มต้น เป็นเชื่อไฟของการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยในเวลาต่อมา

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า