– 1 –
บทสรุปการเมืองปี 2564
การเมืองในสถาบันการเมือง
ปี 2564 คือ ปีที่สถาบันการเมืองทั้งระบบไม่พร้อมปรับตัวและไม่ยินยอมสนองตอบข้อเรียกร้องของประชาชน ทำให้ประชาชนเริ่มหมดหวังกับการเมืองในสถาบันการเมือง บังคับให้ประชาชนหันเหไปพึ่งพิงและใช้การเมืองนอกสถาบันการเมืองมากขึ้น
นอกจากนี้ ปี 2564 เป็นปีที่เผยให้เห็นถึงรอยปริแยกแตกร้าวทั้งใน “ฝ่ายรัฐบาล” และ “ฝ่ายค้าน”
ในส่วนของฝ่ายรัฐบาล การเกิดขึ้นของพรรคพลังประชารัฐสัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกกับการสืบทอดอำนาจของ คสช. การรวมตัวกันของนักการเมืองพรรคพลังประชารัฐมิได้มาจากความคิด อุดมการณ์ วัฒนธรรมการเมือง แต่มาจาก “ผลประโยชน์” ที่ได้จากการสืบทอดอำนาจของ คสช. เมื่อรัฐบาลไม่สามารถตอบสนองความต้องการของมุ้งต่างๆในพรรคได้อย่างถ้วนทั่ว ความแตกแยกก็ทยอยปรากฏตัวให้เห็นชัด
เช่นเดียวกัน พรรคที่ไปร่วมรัฐบาล ทั้งพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคอื่นๆ ต่างก็มีข้อเรียกร้องและวาระของตนเอง เมื่อไม่ได้ตามที่ต้องการ ก็ทำให้ความขัดแย้งกับพรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นแกนจัดตั้งรัฐบาล เริ่มเผยให้เห็นมากขึ้น
ในส่วนของฝ่ายค้าน พรรคก้าวไกลซึ่งสืบทอดมาจากพรรคอนาคตใหม่ ถือกำเนิดขึ้นมาในบริบทการเมืองของยุคสมัยนี้ เป็นปฏิกิริยาต่อวิกฤตการเมืองตลอดทศวรรษที่ผ่านมา จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่อุดมการณ์ ความคิด และวิธีการเดินจะแตกต่างจากพรรคเพื่อไทย จุดร่วมกันที่ทำให้มารวมตัวในฐานะพรรคฝ่ายค้านมีอยู่เพียง “ต่อต้านการสืบทอดอำนาจ คสช.”
เมื่อการเมืองทั้งในและนอกสถาบันการเมืองแหลมคมมากยิ่งขึ้น ก็ทำให้ทั้งสองพรรคจำเป็นต้องตัดสินใจตามยุทธศาสตร์และยุทธวิธีของตนเอง ประกอบกับการเมืองไทยได้เปลี่ยนจาก “การเมืองของชนชั้นนำและนักการเมือง” ไปเป็น “การเมืองแบบมวลชน” มากยิ่งขึ้น แต่ละพรรคต่างก็มีมวลชน Voters ผู้สนับสนุนของตนเองที่คอยกดดันเรียกร้องพรรค ก็ยิ่งทำให้เห็นแนวทางที่แตกต่างกันของทั้งสองพรรคมากยิ่งขึ้น
การเมืองนอกสถาบันการเมือง
การชุมนุมของ “ราษฎร” ที่เคยพุ่งขึ้นสูงในปลายปี 2563 กลับแผ่วลงอย่างต่อเนื่องในปี 2564 เพราะ รัฐตั้งหลักรับมือได้ โดยเลือกใช้ “นิติสงคราม” ตั้งข้อหา ดำเนินคดี จับกุม คุมขัง แกนนำผู้ปราศรัยและผู้ชุมนุมจำนวนมาก
ข้อเสนอทั้งสามข้อ ได้แก่ 1.ประยุทธ์ออกไป 2.ทำรัฐธรรมนูญใหม่ของประชาชน 3.ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ไม่ได้รับการตอบสนองแม้แต่น้อย ข้อเสนอเหล่านี้ค่อยๆหายไปจากพื้นที่สาธารณะ เหลือเพียงภาพความรุนแรงที่เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนใช้กับผู้ชุมนุม และภาพของกระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยว ส่วนข้อเสนอหลักทั้งสามนั้นถูกบังคับให้แปลงสภาพกลายเป็นการรณรงค์ “ปล่อยเพื่อนเรา”
– 2 –
การเมืองปี 2565
การเมืองในสถาบันการเมือง
ปีหน้า 2565 เป็นปีแห่งถนนมุ่งสู่การเลือกตั้ง ต้นปี มีการเลือกตั้งซ่อมหลายเขต กลางปี มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและ ส.ก. มีการเลือกตั้งนายกเมืองพัทยา และปลายปี หลังการแก้ไข พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.พรรคการเมือง หลัง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีผ่าน อาจมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร
ดังนั้นตลอดทั้งปี 2565 การเคลื่อนไหวของ “ตัวละคร” ทั้งหลายในสถาบันการเมือง จะวนเวียนอยู่ที่ “การเลือกตั้ง” ตั้งแต่ รัฐบาลอัดเงินลงไปผ่านโครงการต่างๆเพื่อ “หาเสียงล่วงหน้า” มีการประลองกำลังระหว่าง “มุ้ง” ต่างๆ มีการเปิดตัวพรรคการเมืองใหม่ๆ ตลาดนักการเมืองกลับมาคึกคัก มีการเชิญชวนทาบทามให้ย้ายพรรคกันมากขึ้น ในส่วนของสภาผู้แทนราษฎร ไม่ได้เป็นเวทีแห่งการถกเถียงอภิปราย แต่กลายเป็น “สถานที่” ให้ผู้แทนราษฎรมา “เข้าเวร” กดปุ่มลงคะแนนตามมติวิป
ทั้งหมดนี้ การเมืองในสถาบันการเมืองจะยิ่งสร้างความผิดหวังให้กับประชาชนที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงมากยิ่งขึ้น
ในส่วนของพรรคก้าวไกล การอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรและการลงมติในประเด็นสถาบันกษัตริย์ ได้ทำให้พรรคก้าวไกลกลายเป็น “แกะดำ” ของการเมืองในสถาบันการเมืองไปโดยสมบูรณ์
ปัญหาที่พรรคก้าวไกลต้องนำไปขบคิดต่อ มีอยู่ว่า
หนึ่ง พรรคก้าวไกลจะสามารถเปลี่ยนแปลงความเป็น “แกะดำ” นี้ ให้กลายเป็น “แกะขาว” ได้อย่างไร?
สำหรับการเมืองในสถาบันการเมือง พรรคก้าวไกลจะยกระดับให้ก้าวหน้า ทำความคิดให้พรรคอื่นๆเห็นด้วยได้อย่างไร?
ในส่วนการเมืองนอกสถาบันการเมือง ทำอย่างไรให้มวลชนและการเมืองนอกสถาบันการเมืองสนับสนุนเพื่อยืนยันว่า พรรคก้าวไกลเป็น “แกะดำ” ในหมู่ชนชั้นนำการเมืองและนักการเมืองแบบดั้งเดิมที่ต้องการรักษา status quo แต่เป็น “แกะขาว” ในหมู่ประชาชนที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง? ทำอย่างไรให้ประชาชนผู้ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่า พรรคก้าวไกลกลายเป็น “ทางเลือกหลักทางเลือกเดียว” ที่เหลืออยู่ในบรรดาพรรคการเมืองทั้งหมด?
สอง พรรคก้าวไกลจะทนทานกับการบดขยี้จากกลไกรัฐได้หรือไม่?
พรรคก้าวไกลต้องเร่งทำความคิดกับสมาชิก ผู้ปฏิบัติงาน ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และ ส.ส. ให้ตระหนักว่า นี่คือภารกิจแห่งยุคสมัย ต้องพร้อมรับมือกับการบดขยี้จากกลไกรัฐในทุกรูปแบบ พร้อมปรับเปลี่ยนวิธีการต่อสู้ตามสถานการณ์ที่สุกงอมขึ้นตามลำดับ
การเลือกตั้ง ส.ส.ในปี 2518 เกิดปรากฏการณ์ “พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย/พรรคแนวร่วมสังคมนิยม/พรรคพลังใหม่” ได้ ส.ส.รวมกัน 34 คน ต่อมาในการเลือกตั้งปี 2519 จำนวน ส.ส.ของทั้งสามพรรคลดลงเหลือ 6 คน ในท้ายที่สุด ทั้งสามพรรคก็ถูกบดขยี้จนสูญสลายไปหลังจาก 6 ต.ค.19
การเลือกตั้ง ส.ส. 24 มีนาคม 2562 พรรคอนาคตใหม่ได้คะแนนเสียง 6.3 ล้าน ส.ส. 81 คน
21 ก.พ.63 พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ มีพรรคก้าวไกลแทนที่ เหลือ ส.ส.54 คน
เข้าสู่ปี 64 จำนวนลดลงไปอีก เพราะ มี ส.ส.ที่ต้องการย้ายไปพรรคอื่น แต่ขี้ขลาดไม่กล้าลาออกจากสมาชิกพรรค เพราะ กลัวเสียตำแหน่ง ส.ส.
สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ ก็คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนระบบการเลือกตั้ง พรรคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ พรรคก้าวไกล แม้ระบบการเลือกตั้งแบบรัฐธรรมนูญ 40 อาจทำให้จำนวน ส.ส.น้อยลง แต่ทำอย่างไรที่จะเพิ่มคะแนนรวมทั้งประเทศ หรือ Popular vote ไปให้ถึง 8 9 10 ล้านให้ได้ เพื่อยืนยันว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกือบร้อยละ 20 ยังสนับสนุนให้พรรคก้าวไกลเป็น “พาหนะ” ในการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่
ในช่วงหัวต่อหัวเลี้ยวที่สถานการณ์การเมืองแหลมคมขึ้นเรื่อยๆ พรรคก้าวไกลต้องทนทานต่อการบดขยี้ของกลไกรัฐ พร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์
วันใด หากผู้กำกับภาพยนตร์ “ยุบพรรค” สั่งเดินกล้องกลับมาฉายซ้ำ ก็ต้องพร้อมยกระดับการต่อสู้ พร้อมที่จะมี “พรรคการเมือง” เป็นพาหนะลำถัดไป มีมวลชนสนับสนุนต่อ ยกระดับข้อเสนอแนวทางให้ก้าวหน้าขึ้นหรืออย่างน้อยต้องไม่ถอยไปกว่าเดิม ทั้งหมดนี้ เพื่อให้ “การยุบพรรค” ไม่สำเร็จในทางความเป็นจริง
การเมืองนอกสถาบันการเมือง
ปี 2565 รัฐยังคงมุ่งหน้าทำ “นิติสงคราม” กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง
แนวทางการใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม มีสองวิธีการ วิธีการแรก คือ การป้องกัน ไม่ให้คนออกมาร่วมชุมนุม เมื่อป้องกันไม่ได้ ก็จะมาสู่วิธีการที่สอง คือ การปราบปราม
วิธีการป้องกัน มีสองเครื่องมือหลัก หนึ่ง เป็นเครื่องมือที่ใช้มาอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2564 ได้แก่ สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 และการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน สอง เป็นเครื่องมือที่พึ่งคิดค้นเมื่อ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นั่นคือ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในคดีล้มล้างการปกครอง เครื่องมือเหล่านี้ทำหน้าที่ “ขีดวง” “ปิดล้อม” การเคลื่อนไหว พร้อมกับ “ข่มขู่” ทำให้คนกลัว
ในส่วนของวิธีการปราบปรามนั้น มีทั้งการใช้ความรุนแรงทางกายภาพ ได้แก่ ตำรวจสลายการชุมนุม และมีทั้งการใช้ความรุนแรงทางกฎหมาย ได้แก่ การดำเนินคดี จับกุม คุมขัง ปล่อยตัวชั่วคราวแบบวางเงื่อนไขเคร่งครัด
แม้ “นิติสงคราม” จะเดินหน้าบดขยี้อย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อการเมืองในสถาบันการเมืองไม่ตอบโจทย์ และไม่พร้อมที่จะเป็นทางออกให้ได้ เสียงเรียกร้องของประชาชนจึงมีแต่เพิ่มมากขึ้น ทั้งในแง่จำนวนปริมาณ ทั้งในแง่ความหลากหลายของข้อเรียกร้อง ความไม่พอใจของประชาชนไม่มีทางลดน้อยถอยลงไป
ในปี 2565 ภารกิจสำคัญ นอกจากการแสวงหาหนทางในการแสดงออก เรียกร้อง รณรงค์ ภายใต้กลไกรัฐที่มุ่งใช้ “นิติสงคราม” แล้ว ยังต้องขบคิดถึงวิธีการหลอมรวมเอาทุกข้อเรียกร้อง ทุกความต้องการของประชาชนมาไว้ด้วยกัน หลอมรวมเป็น “ประชาชน” ที่อยู่ตรงข้ามกับชนชั้นนำทางการเมืองและเศรษฐกิจ ตรงข้ามกับพวกผู้ปกครอง ตรงข้ามกับพวก 1 เปอร์เซนต์ มัดรวมทุกข้อเรียกร้อง ยกระดับให้เป็นประเด็นปัญหา “ร่วมกัน” ของประชาชน เพื่อให้ “ประชาชน” รวมพลังกันเข้ารื้อถอนระเบียบโครงสร้างเดิม เดินหน้าสถาปนาโครงสร้างใหม่
– 3 –
การณรงค์การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ผมได้นำเสนอ “ข้อเสนอ 5 ข้อต่อขบวนการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” ผมเห็นว่าข้อเสนอทั้งห้าข้อยังใช้การได้อยู่ จึงขอนำมาเผยแพร่ใหม่อีกครั้ง อ่านได้ที่นี่
ผมเห็นว่า ในปี 2565 ภายใต้สถานการณ์การบดขยี้ของกลไกรัฐเช่นนี้ จำเป็นต้องปรับวิธีการต่อสู้ในการรณรงค์ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เสียใหม่ การชุมนุมในรูปแบบที่ทำกันในปี 63/64 แต่เพียงอย่างเดียว ย่อมไม่เพียงพอ ตราบใดที่กำลังของฝ่ายปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ยังมีไม่เพียงพอ การใช้วิธีการชุมนุมแต่เพียงอย่างเดียวก็อาจนำไปสู่การปราบปราม
เราจำเป็นต้องสร้าง “ขบวนปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” ที่หลากหลาย มุ่งเน้นทำงานทางความคิด หาช่องทาง “ไต่เพดาน/รอดกับดัก” สร้างวิธีการสื่อสารที่หลากหลายให้สอดคล้องกับกลุ่มคนประเภทต่างๆ เพื่อนำประเด็นข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์กลับมาอยู่ในพื้นที่สาธารณะอีกครั้ง
– 4 –
สร้าง “สะพาน” เชื่อมระหว่าง “นโยบายขั้นต่ำ” กับ “นโยบายขั้นสูง” ด้วย “นโยบายในระยะเปลี่ยนผ่าน”
ปี 1938 ช่วงเวลาที่ความคิดแบบซ้ายถูกกระหน่ำทั้งสองข้าง ข้างหนึ่ง เผด็จการแบบฟาสซิสต์-นาซี อีกข้างหนึ่ง เผด็จการแบบสตาลิน ในขณะเดียวกันความคิดแบบซ้ายในยุโรป ก็หันเหไปจากหนทางที่ควรจะเป็น เลือกเส้นทาง “ประนีประนอม” ในขณะที่ขบวนการประชาชนและขบวนการแรงงานในหลายประเทศประสบความพ่ายแพ้ เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี ออสเตรีย สเปน
ในปีนั้นเอง Leon Trotsky ได้เขียนงานชิ้นหนึ่งในชื่อ The Death Agony of Capitalism and the Tasks of the Fourth International ข้อเสนอสำคัญในงานชิ้นนี้ คือ การสร้างนโยบายในระยะเปลี่ยนผ่าน เพื่อเป็น “สะพานเชื่อม” ระหว่าง นโยบายขั้นต่ำที่ตอบสนองข้อเรียกร้องในปัจจุบันเฉพาะหน้า และนโยบายขั้นสูงที่ไปสู่การปฏิวัติสังคมนิยมและการครองอำนาจของชนชั้นกรรมาชีพ
นโยบายระยะเปลี่ยนผ่าน มิใช่เพียงจำกัดความพอใจอยู่กับนโยบายขั้นต่ำ ตรงกันข้าม มันคือการกระตุ้นให้คนเห็นพ้องต้องกันว่าระบบที่ดำรงอยู่นั้นไม่สามารถตอบสนองต่อข้อเรียกร้องใดๆ แม้เป็นเพียงข้อเรียกร้องขั้นต่ำของประชาชน ก็ไม่อาจตอบสนองได้ จนประชาชนต้องแสวงหาหนทางไปสู่การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ เพื่อล้มระบบที่เป็นอยู่
หากนำความคิดเรื่อง “นโยบายระยะเปลี่ยนผ่าน” ของ Trotsky มาประยุกต์ใช้ บรรดาข้อเสนอต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ การปฏิรูปศาล การปฏิรูปกองทัพ การยุติรัฐราชการรวมศูนย์ ทวงคืนอำนาจสู่ท้องถิ่น การลดความเหลื่อมล้ำ รัฐสวัสดิการ การทลายทุนผูกขาด การแก้ไขกฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพ ทั้งหลายเหล่านี้ จึงมิใช่เป็นเพียงข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปในช่วงเวลาปัจจุบันเท่านั้น แต่มันยังต้องรับภารกิจในการเป็น “นโยบายระยะเปลี่ยนผ่าน” ทำหน้าที่เป็น “สะพานเชื่อม” จาก “นโยบายขั้นต่ำ” ไปสู่ “นโยบายขั้นสูง”
ภารกิจแห่งยุคสมัย ก็คือ การทำความคิดกับผู้คนให้ตระหนักได้ทันทีว่า เมื่อไรก็ตามที่ข้อเสนอเหล่านี้ไม่ได้รับการตอบสนอง ถูกเพิกเฉย ถูกปฏิเสธ หรือได้รับคำตอบมาแต่เพียง “รับไว้พิจารณา” นั่นก็หมายความว่า ระบบนี้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงใดๆได้ ระบบนี้นำพาไปสู่ทางตัน
ทางออกที่คงเหลืออยู่เพียงทางเดียว ทางออกที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ก็คือ การปฏิวัติ
…..
การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมขนานใหญ่ไม่มีทางได้มาโดยง่าย ต้องใช้เวลา
ณ วันนี้ เราเดินทางมาถึงยุคสมัยที่พูดกันว่า “เวลาอยู่ข้างเรา” และ “ให้มันจบที่รุ่นเรา”
แม้เวลาอยู่ข้างเรา แต่หากนั่งรอเวลาให้วันนั้นมาถึงโดยไม่ลงมือทำอะไรเลย คำว่า “เวลาอยู่ข้างเรา” ก็กลายเป็นเพียงคำปลอบใจปรับทุกข์กันเอง การเปลี่ยนแปลงก็อาจมาไม่ถึง
“อำนาจนำ” แบบเดิมสูญหายไป ชนชั้นนำผู้ปกครองหมดปัญญาสร้าง “อำนาจนำ” ขึ้นแทนที่ การปกครองคนไม่ได้เกิดจากความยินยอมพร้อมใจเช่นแต่ก่อน แต่ต้องใช้กลไกรัฐ ศาล ทหาร คุก ตำรวจ กฎหมาย เข้าบังคับ
ด้วยลักษณาการเช่นนี้เอง จึงไม่มีห้วงเวลาใดเหมาะสมไปกว่าห้วงเวลานี้อีกแล้ว
ต้องเร่งเร้า ระดม ปลูกฝัง ทำงานความคิดแบบก้าวหน้าให้ก้าวหน้าถึงรากมากขึ้น
พร้อมกับปรับเปลี่ยนยุทธวิธีการต่อสู้ให้สอดคล้องกับภาววิสัย
ก้าวนำหนึ่งก้าว ถอยกลับมาสองก้าว คือ การถอย
แต่ก้าวนำหนึ่งก้าว แล้วหยุด หรือแม้ถอยกลับหนึ่งก้าว คือ การตั้งหลัก ขบคิด เพื่อปรับเปลี่ยนยุทธวิธีการต่อสู้
เมื่อกลไกรัฐบดขยี้อย่างต่อเนื่อง หนักหน่วง ไม่มีผ่อน หากใช้ยุทธวิธีแบบเดิม/แบบเดียวในการต่อสู้ ภายใต้กำลังที่ยังไม่เพียงพอเช่นนี้ ย่อมไม่มีทางเอาชนะได้
รณรงค์ทำงานความคิดให้ถึงราก และแสวงหาแนวร่วมให้มากขึ้น คิดหายุทธวิธีการเคลื่อนแบบใหม่ๆ
สะสมกำลังของคนที่ไม่พอใจระบบให้มากขึ้น
เมื่อสถานการณ์ถึงพร้อม ความคิดถึงพร้อม จำนวนปริมาณถึงพร้อม
การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน