ไม่มีใครคาดคิดว่า เพียงแค่การมาชุมนุมของพี่น้องประชาชนชาวจะนะ บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ในนามกลุ่ม “จะนะรักษ์ถิ่น” ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและผู้สูงวัย จะถูกรัฐบาลสั่งสลายการชุมนุมอย่างไม่เป็นไปตามหลักสากล เมื่อช่วงหัวค่ำของวันที่ 6 ธันวาคม ที่ผ่านมา
พร้อมกันนี้ ยังจับกุมและดำเนินคดีกับพี่น้องชาวจะนะ 37 คน ซึ่งมีเพียงสองมือเปล่า กับ ข้าวปลา อาหารทะเล ฯลฯ เท่านั้น
ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ม็อบซึ่งมาเรียกร้องในประเด็นการเมือง หากแต่เป็นม็อบที่มาเพราะปัญหาความเดือดร้อน มาเพราะต้องการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นตนเอง จาก “โครงการจะนะเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต”
และที่สำคัญคือเป็นการมา “ทวงสัญญา” ที่รัฐบาล เคยทำบันทึกข้อตกลงไว้กับพวกเขาเมื่อธันวาคม 2563 ว่าจะยุติการดำเนินโครงการทั้งหมด เพื่อตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ให้มีการศึกษาผลกระทบต่างๆ อย่างรอบด้าน
แต่ทว่า ในความเป็นจริง คนในพื้นที่บอกว่ามีความเคลื่อนไหวของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการอยู่ตลอดเวลา โดยมีการจัดเวทีต่างๆ แบบที่ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการไม่อาจมีส่วนร่วม

จึงเป็นที่มาซึ่งทำให้ ไครียะห์ ยะหมันระ วัย 18 ปี “ลูกสาวแห่งท้องทะเลจะนะ” ต้องมาทวงสัญญา นั่งแสดงสัญลักษณ์ที่บริเวณหน้าทำเนียบ ก่อนที่จะตามมาด้วยการที่พี่น้องชาวจะนะ จ.สงขลา เดินทางตามมาสมทบในอีกไม่กี่วันต่อมา และถูกสลายการชุมนุมและถูกดำเนินคดีกันในที่สุด
เพราะความลุแก่อำนาจของรัฐบาลอย่างนี้ จึงอย่าแปลกใจถ้าต่อมาเราจะเห็นการชุมนุมของพี่น้องกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นเกิดขึ้นอีกที่บริเวณหน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติ หรือ UN
และอย่าแปลกใจถ้าจะพบว่ามีประชาชน กลุ่มเครือข่ายต่างๆ เข้าร่วมสมทบมากขึ้น ๆ ไม่ว่าจะเป็น สมาพันธ์สมาคมประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย, สมาคมสมาพันธ์โรงเรียนสอนอศาสนาอิสลามภาคใต้, ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ เป็นต้น
กระทั่งมีการเคลื่อนขบวนเพื่อไป “ทวงสัญญา” และยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีในวันนี้ ท่ามกลางเจ้าหน้าที่และเครื่องกีดขวางต่างๆ ที่ถูกขนมาป้องป้องทำเนียบรัฐบาลราวกับเป็นสถานที่ประชาชนคนธรรมดาห้ามย่างกรายเข้าใกล้

ความไม่ชอบมาพากลของโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ มีอยู่มากมายหลายประการ มีรายงานปรากฏผ่านสื่อเป็นจำนวนมาก หรือแม้แต่ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ ส.ส.พรรคก้าวไกล คนปักษ์ใต้ ก็เคยอภิปรายเรื่องขบวนการซื้อขายที่ดินเพื่อมาดำเนินโครงการนี้ไว้อย่างน่าจะทำให้ รมต.หลุดเก้าอี้ (ติดตามได้ที่ : https://www.moveforwardparty.org/news/mfpcensure2021/1741/)
ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งอยากจะชี้ให้เห็นในที่นี้ คือ ประชาชนไม่ได้ขัดขวางการพัฒนา หากแต่การพัฒนาที่จะเกิดขึ้น คำถามมีอยู่ว่า มีใครได้ไปฟังเสียงของพี่น้องประชาชนในพื้นที่หรือไม่ ได้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น มีการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์อย่างรอบคอบหรือไม่
เพราะไม่อย่างนั้นอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้น ประโยชน์ก็จะตกอยู่กับแค่นายทุนไม่กี่กลุ่ม ขณะที่ประชาชนในพื้นที่ต้องเป็นผู้รับกรรม
การยุติโครงการทั้งหมด แล้วกลับไปทำทุกอย่างให้ถูกต้อง จึงเป็นข้อเรียกร้องของพี่น้องประชาชนที่เรียบง่ายและเป็นข้อเรียกร้องที่ต่ำที่สุดแล้ว
และนั่นก็คือสิ่งที่รัฐบาลได้ให้สัญญาไว้กับประชาชน
แต่เมื่อรัฐบาลตระบัดสัตย์ จึงมีความชอบธรรมยิ่งแล้วที่พี่น้องชาวจะนะ จะบุกทำเนียบยื่นข้อเรียกร้อง และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลต้องฟัง !
ไม่ใช่หลับหูหลับตาล่องลอยไปแต่กับเสียเชียร์จอมปลอม แล้วแสดงความลุแก่อำนาจด้วยการกำจัดเสียงที่ท่านไม่อยากได้ยิน