นักเรียนไม่ได้เอาช้อนมาบังคับให้ซื้อช้อนกินข้าว
ถุงเท้าต้องสีขาวพื้นถุงเท้าสีเทาไม่ได้
ต้องใส่เสื้อทับกับเสื้อนักเรียนเท่านั้น
ผมยาวไปไม่ได้ สั้นไปก็ไม่ได้เช่นกัน ทั้งหมดนี้เอาไม้บรรทัดมาวัด
ไม่ใช้กระเป๋าโรงเรียนไม่ได้เป็นอันขาด
ผมห้ามหยิกแม้ว่าเกิดมาเป็นคนผมหยักศก เอาแม่มายืนยันก็โดนสั่งให้ไปยืด
ฯลฯ
“ความประสาทแดก” ในชีวิตนักเรียนมากมายถูกทำให้กลายเป็นสิ่งปกติมาโดยตลอด และถูกทำให้เป็นสิ่งอันพึงกระทำในสมัยที่อำนาจรัฐมาจากแนวคิดเผด็จการช่วง 5-6 ปีนี้ ไม่แน่ใจจริงๆ ว่าเพราะเรามีโซเชียลมีเดีย เราจึงเห็นกรณีแบบนี้เพิ่มขึ้น หรือกรณีเหล่านี้เป็นสิ่งปกติที่เกิดขึ้นอยู่แล้วเพียงแต่เราไม่มีโอกาสได้เห็น
แต่ที่แน่นอนที่สุด ยิ่งเราพบเจอความประสาทแดกแบบอธิบายด้วยเหตุผลอื่นใดไม่ได้นอกจากคำว่า “ระเบียบวินัย” มากเท่าไหร่ เรามั่นใจได้เลยว่า เรากำลังปะทะกับอำนาจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“ระเบียบวินัย” เป็นคำที่ได้ยินจนแทบจะไร้ความหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้อธิบายการใช้อำนาจเหนือนักเรียนอย่างไร้เหตุผลในโรงเรียน
ราชบัณฑิตยสถาน นิยาม “ระเบียบ” ว่า แบบแผนที่วางไว้เป็นแนวปฏิบัติหรือดำเนินการ เช่น ระเบียบวินัย ระเบียบข้อบังคับ ต้องปฏิบัติตามระเบียบ ส่วน “วินัย” คือ ระเบียบแบบแผนและข้อบังคับ, ข้อปฏิบัติ, เช่น วินัยทหาร ทหารต้องยึดมั่นในวินัย เราจึงไม่ต้องแปลกใจหากคำนี้จะถูกใช้เป็นข้ออ้างเพื่อการใช้อำนาจเหนือใครสักคน
คำถามที่ต้องถามคือ ในการสร้างการเรียนรู้ให้เกิดขึ้น เราจำเป็นต้องใช้แบบแผน ข้อปฏิบัติ ข้อบังคับ หรือข้อตกลงร่วมกัน หากเป็นข้อบังคับดังที่เป็นมา นั่นหมายความว่าในขอบเขตห้องเรียนและโรงเรียน นักเรียนไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั้นเลย แต่หากเราใช้ข้อตกลงร่วมกัน นั่นหมายความว่าเรามองเห็นนักเรียนอยู่ในพื้นที่นั้น
ไม่ต้องแปลกใจเลยว่าทำไมนักเรียนมากมาย ทั้งกลุ่มนักเรียนเลว กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท จึงออกมาเรียกร้องถึงสิทธิของพวกเขา
ตลอดระยะเวลาเกือบ 140 ปีนับตั้งแต่วันแรกที่ประเทศไทยมีโรงเรียนหลวงอย่างโรงเรียนนายทหารมหาดเล็ก เมื่อ พ.ศ.2424 หรือโรงเรียนราษฎร์ อย่างวัดมหรรณพาราม เมื่อพ.ศ.2427 นักเรียนแทบไม่เคยได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมห้องเรียน พวกเขาเป็น “ข้า” อย่างข้าราชการในโรงเรียนนายทหารมหาดเล็ก และเป็นลูกศิษย์ที่ต้องมอบกายถวายชีวิตให้กับพระเพื่ออบรมสั่งสอน
สิ่งที่นักเรียนเรียกร้องจึงมิใช่เพียงทรงผม เสื้อผ้า หรือการยกเลิกกฎบ้าบอประสาทแดก หากแต่เป็นคำเรียกร้องต่อทุกคนในประเทศนี้ให้มองเห็นพวกเขาในฐานะมนุษย์เฉกเช่นเดียวกับมนุษย์คนอื่นๆ สักที
น่าเสียใจเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกล่าวว่าวัฒนธรรมนี้จะเป็นตัวฉุดรั้งให้ไม่เกิดการเรียนรู้ของผู้เรียนได้
แต่หากมองในวันนี้ แสงสว่างปลายอุโมงค์กลับมาจากการที่นักเรียนที่อยู่ชั้นล่างสุดของโครงสร้างอำนาจในโรงเรียน ผู้ซึ่งพบปะอำนาจนิยมในรูปแบบต่างๆ ทุกเมื่อเชื่อวัน ต่างลุกขึ้นมาเรียนรู้สิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง นอกห้องเรียน จากความสงสัยใคร่รู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเขามันคืออะไร และมันมีวิธีที่ดีกว่านี้หรือไม่
ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขายืนยันว่าต่อจากนี้ไปจะไม่ยอมเป็น “ข้า” ของอำนาจประสาทแดกในโรงเรียนอีกต่อไป
ก่อนจบ ขอหมายเหตุไว้ตรงนี้ว่า “ประสาทแดก” ในบทความนี้หมายถึง สิ่งที่หาเหตุผลมาอธิบายไม่ได้ว่าทำไปเพื่อประโยชน์อันใด
จึง “เรียน” มาเพื่อทราบ