ความเจ็บปวดที่เห็นแม่ลาลูกด้วยการบอกให้ไปอยู่บ้านเด็กกำพร้า
ความเจ็บปวดที่เห็นเด็กสองคนกอดกันทั้งที่ไม่รู้ชะตากรรมตนเอง
ความเจ็บปวดที่ยังต้องเห็นการรับอุปการะเด็กเป็นรายๆ โดยรัฐไม่เหลียวแล
เมื่อเกิดการสูญเสีย คำถามข้อใหญ่ที่เกิดขึ้นคือว่า รัฐจะจัดการกับครอบครัวที่สูญเสียอย่างไร บางบ้านขาดเสาหลัก บางบ้านเด็กต้องกลายเป็นลูกกำพร้า บางบ้านลูกเสียชีวิตไป เราจะดูแลเยียวยาบุคคลที่สูญเสียคนที่พวกเขารักไปได้อย่างไร
ลักษณะของการกำพร้าและการสูญเสียผู้ดูแลมี 3 ประเภทหลักๆ ในสถานการณ์นี้คือ
1. ภาวะกำพร้าคือ พ่อหรือแม่ หรือทั้งสองคนเสียชีวิต
2. การสูญเสียผู้ดูแลหลัก พ่อหรือแม่ หรือทั้งสองคนเสียชีวิต และ/หรือ ปู่ ย่า ตา ยาย ที่ดูแลก็เสียชีวิต
3. การสูญเสียผู้ดูและหลักหรือรอง พ่อหรือแม่ หรือทั้งสองคนเสียชีวิต และ/หรือ ปู่ ย่า ตา ยาย ที่ดูแลก็เสียชีวิต และผู้ดูแลครอบครัวคนอื่นเสียชีวิต
จากการประเมินของ Imperial College London ประเทศไทยมีเด็กกำพร้า
กลุ่มที่ 1 จำนวน 160 คน, กลุ่มที่ 2 จำนวน 180 คน, กลุ่มที่ 3 จำนวน 350 คน และพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในเดือนกรกฎาคม
ดิฉันต้องการให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เปิดเผยตัวเลขเหล่านี้ต่อสาธารณชน
ชีวิตผู้คนไม่ใช่แค่ตัวเลข แต่ตัวเลขข้อมูลที่มาจากการใส่ใจคุณค่าของชีวิตผู้คน จะสามารถช่วยชีวิตเขาได้จริงๆ
จากการคาดการณ์ตัวเลขในรายงานที่ตีพิมพ์ใน Lancet Medical Journal ทั่วโลกจะมีเด็กที่ต้องสูญเสียผู้ที่ให้การดูแลพวกเขาโดยตรงไม่ว่าจะเป็นพ่อหรือแม่ หรือตายาย ในช่วงเวลา 14 เดือนตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 – 30 เมษายน 2564 ประมาณ 1.13 ล้านคน และ อีกมากกว่า 1.5 ล้านคนที่ได้ผ่านประสบการณ์สูญเสียผู้ดูแลหลัก หรือผู้ดูแลที่อยู่ในครอบครัวเดียวกัน เช่น ญาติพี่น้อง และเด็กกลุ่มนี้สูญเสียพ่อมากกว่าแม่ถึง 2-5 เท่า
ขณะที่สถิติจากรายงานของธนาคารโลกคือ ทุกๆ 12 วินาที จะมีเด็กหนึ่งคนที่กำพร้าจากการสูญเสียอันเนื่องมาจากโควิด-19
สถิติในอินเดียที่มีการระบาดของโควิด-19 อย่างหนักคือ ณ วันที่ 5 มิถุนายน 2564 มีเด็กกำพร้าเฉียบพลัน 3,632 คน และ 27,176 คนที่สูญเสียพ่อหรือแม่ในช่วงเวลานี้ไป
สถานการณ์ในไทยที่น่าเป็นห่วงคือผู้สูงอายุที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงนั้น มีกี่คนที่เป็นผู้ดูแลหลักหรือรองของเด็กๆ ในประเทศ เด็กๆ ที่ต้องกลายเป็นเด็กกำพร้าเฉียบพลันเปราะบางต่อการดูแลทั้งจากญาติ คนรู้จัก หรือในสถานสงเคราะห์ และเสี่ยงต่อการเข้าสู่วงจรการค้ามนุษย์เพิ่มขึ้น
ว่ากันว่าการประเมินว่ารัฐมีประสิทธิภาพให้ดูกันที่การดูแลบุคคลที่เปราะบาง บุคคลที่เข้าถึงโอกาสยากกว่าผู้อื่น บุคคลที่ต้องการความช่วยเหลือมากกว่าผู้อื่น
และการดูแลที่ว่าคือการดูแลให้พวกเขาได้มีคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานที่ดีเพียงพอ มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เหมือนๆ กับทุกคน
ปัจจุบันกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ยังไม่สามารถจัดการข้อมูลว่าจำนวนเด็กพิการในประเทศไทยมีกี่คน บ้านเด็กกำพร้าที่แม่ได้สั่งลาให้ลูกไปอยู่มี capacity หรือการรองรับเด็กกำพร้าได้กี่คน เต็มกำลังหรือยัง เจ้าหน้าที่เพียงพอหรือไม่
การไม่มีข้อมูลเหล่านี้จะทำให้การจัดการสถานการณ์ปัจจุบันลำบากมากขึ้น เพราะกำลังการรับรองเด็กกำพร้าจะช่วยให้ออกแบบปริมาณทรัพยากรที่จะใช้ทั้งในระยะสั้น กลาง ยาว ได้ และเมื่อไม่มีแม้กระทั่งข้อมูลภาพรวมเหล่านี้ การจะพยากรณ์ตัวเลขเพื่อจัดการระบบรับรองเด็กกลุ่มนี้ จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้
ยกตัวอย่างรายงานสถานการณ์ทางสังคมประจำปี 2561 หรือรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสสี่และภาพรวมปี 2563 ก็ไม่ได้รายงานเรื่องเด็กกำพร้าเอาไว้
และน่าเศร้าเป็นอย่างยิ่งที่ดิฉันยังไม่สามารถกล่าวถึงคุณภาพการดูแลชีวิตเด็กเหล่านี้ เพราะไม่กลัดกระดุมเม็ดนี้แล้ว การดำเนินการจัดการหลังจากนี้จะสะเปะสะปะไร้ทิศทางและขาดประสิทธิภาพอย่างแน่นอน
ป้องกัน–เตรียมพร้อม–ปกป้อง
ธนาคารโลกเสนอการป้องกันผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นด้วยการฉีดวัคซีนและการตรวจหาผู้ติดเชื้อแบบปูพรม การเตรียมพร้อมหาครอบครัวของเด็กๆ ที่ต้องกำพร้าเพื่อหลีกเลี่ยงการส่งเด็กเข้าสถานสงเคราะห์ การปกป้องเด็กจากความเสี่ยงรูปแบบต่างๆ
จากแนวทางนี้ดิฉันขอเสนอการจัดการสถานการณ์ในระยะสั้น กลาง ยาว ดังต่อไปนี้
ระยะสั้น / เร่งด่วน : การตรวจหาเชื้อ การติดตามผล การกักกันเด็กหากติดเชื้อ การดูแลสภาพจิตใจหลังจากการสูญเสีย
ระยะกลาง: การพาเข้าสู่ระบบการดูแลระยะยาวที่มีการติดตามทั้งจากการส่งเด็กไปอยู่กับญาติและการส่งเข้าสถานสงเคราะห์ โดยอาจใช้ อสม.ในพื้นที่เป็นกลุ่มตั้งต้นในการสแกนหาเด็กๆ ที่สูญเสียผู้ดูแลไป
ระยะยาว: การจัดระบบสวัสดิการเงินอุดหนุนรายเดือนตรงให้ครอบครัวที่ต้องดูแลเด็กกลุ่มนี้ พร้อมทั้งจัดการสนับสนุนและติดตามการดูแลเด็กๆ รวมถึงการดูแลจนบรรลุนิติภาวะ และหลังบรรลุนิติภาวะ
ณ ขณะนี้การป้องกันไม่ให้เกิดเป็นไปได้ยากมากด้วยประสิทธิภาพการจัดการของรัฐบาลอันน้อยนิดไม่สามารถรักษาชีวิตผู้คนจำนวนมากเอาไว้ได้ เราจึงจะต้องเผชิญกับสภาวะจำนวนเด็กกลุ่มเปราะบางที่เสี่ยงต่ออันตรายหลากรูปแบบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เราทำได้แค่มองดูเด็กๆ เหล่านี้เดินทางไปสู่เส้นทางอันตรายเช่นนี้จริงหรือ ?
เราต้องทำได้ดีกว่านี้ รัฐต้องทำได้ดีกว่านี้สิ !
จึง “เรียน” มาเพื่อทราบ
———
อ้างอิง
https://imperialcollegelondon.github.io/orphanhood_calculator/#/country/Thailand
https://edition.cnn.com/2021/07/20/health/covid-orphans-lancet/index.html
รายงาน Children: The Hidden Pandemic 2021 จาก Global Reference Group on Children Affected by COVID-19: Joint Estimates and Action