สถานการณ์โควิด-19 บังคับให้เราต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อปกป้องตัวเอง ครอบครัว และชุมชนของเรา แต่คำถามใหญ่ที่ใครๆ ก็รอคำตอบในช่วงเวลานี้ คือ “เปิดเรียนได้เมื่อไหร่ ?”
ดิฉันเห็นว่า คำถามนี้ยังถามไม่ตรงกับสถานการณ์เท่าใดนักจึงขอเปลี่ยนคำถามใหม่เป็น “โรงเรียนพร้อมเปิดเรียนเมื่อไหร่ ?”
ก่อนอื่นขอเกริ่นเลยว่า การกลับไปเรียนครั้งนี้จะไม่เหมือนเดิม แต่เนื่องจากเราต้องอยู่กับโรคนี้ไปจนกว่าวัคซีนจะได้รับการทดลองจนสำเร็จ การพิจารณาการกลับเข้าโรงเรียนของเด็กๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่พ่อแม่ต้องออกไปทำงานจึงจำเป็นอย่างยิ่ง
เมื่อการไปโรงเรียนจำเป็นสำหรับคนหลายกลุ่ม ดิฉันจึงพยายามรวบรวมแนวทางมาตรการต่างๆ ที่ได้ศึกษา ถามไถ่ แลกเปลี่ยนกับผู้มีความรู้แขนงต่างๆ ออกมาดังต่อไปนี้
1. เมื่อก่อนเปิดเทอม เรารู้ว่าใครบ้างที่จะเข้า–ออกโรงเรียน และพวกเขาปลอดภัยจากเชื้อโรค
แน่นอนว่าข้อนี้คือข้อควรทำพื้นฐาน เช่น ครูและเด็กๆ ที่จะต้องมาโรงเรียนควรอยู่บ้านก่อนอย่างน้อย 7-14 วัน รวมถึงทำแบบสอบถามถึงคนในครอบครัวว่า พวกเขาอยู่กับบุคคลกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุไหม หากเป็นเช่นนั้น เด็กคนนั้นอาจไม่ควรมาโรงเรียน โดยโรงเรียนต้องจัดการเรียนการสอนตามเหมาะสมให้แก่เขาหรือเธอ ที่สำคัญต้องทำ check list อาการหลักๆ ของโควิด-19 ทุกวันที่ต้องอยู่ในช่วงมาโรงเรียน
2. เมื่อโรงเรียนพร้อมในแง่สถานที่
สิ่งที่ต้องคิดคือ โรงเรียนได้มีการทำความสะอาด (Big Cleaning) สถานที่เรียบร้อยหรือยัง / โรงเรียนเตรียมอ่างล้างมือให้พร้อมใช้ และมีสบู่ให้แก่นักเรียนและบุคลากรหรือยัง / โรงเรียนได้จัดพื้นที่ แบ่งระยะห่างชัดเจน เพื่อรองรับนักเรียนหรือยัง ได้มาร์คจุดบนพื้น จัดโต๊ะนักเรียนใหม่ หรือยัง
3. เมื่อโรงเรียนมีมาตรการรักษาระยะห่างและความสะอาดที่ชัดเจน
แน่นอนว่าโรงเรียนจะไม่เหมือนเดิม การกลับไปเรียนไม่ควรคาดหวังให้เรียนกลายเป็นโรงเรียนที่เราคุ้นเคย ดังนั้น การเปิดเรียนครั้งนี้ต้องไม่ยึดหลักความปกติ ต้องยึดหลักการรักษาระยะห่าง ซึ่งจะเป็นไปไม่ได้เลยหากนักเรียนทุกคนต้องเข้าเรียนพร้อมกัน ดังนั้น การมาเรียนเพียงครึ่งวัน และไม่เกิน 3 วันต่อสัปดาห์ในช่วงแรก การกำหนดนักเรียนต่อห้องในจำนวนที่เหมาะสม หรือการมาเรียนเฉพาะกลุ่มนักเรียนที่ไม่สะดวกเรียนรู้ที่บ้านจริงๆ จึงเป็นทางออกที่เหมาะสมกว่า
รวมถึงเมื่อมาโรงเรียนนักเรียนต้องสวมผ้าปิดปาก / ล้างมือทุก 1-2 ชั่วโมง เช่น ก่อนและหลังเข้าชั้นเรียน และออกจากพื้นที่โรงเรียน / เก็บของเล่นชิ้นเล็กที่เด็กเล็กอาจจับ เล่น หรือเอาเข้าปากได้ เหลือไว้แต่ของเล่นที่ครูใช้ และทำความสะอาดสะดวกเพื่อลดภาระการทำความสะอาด/ เตรียมน้ำยาเช็ดพื้นผิวให้เด็กๆ ช่วยทำความสะอาดพื้นผิวที่ใช้ร่วมกัน เช่น ลูกบิดประตู อย่างน้อย วันละ 1 ครั้ง / เตรียมการเล่นนอกอาคาร ให้เด็กๆ ได้ออกกำลังกายด้วยตนเอง เช่น การปั่นจักรยานบนลู่ การเล่นผ่านอุปสรรคต่างๆ ที่ต้องเล่นทีละคน ส่วนนี้จะลดทอนความเครียดให้กับเด็กได้บ้าง และไม่ต้องใช้มาตรการรักษาความสะอาดมากนัก เช่น กำหนดจำนวนเด็กต่อพื้นที่ พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อวันละครั้ง
นอกจากนี้ ไม่ควรมีการรับประทานอาหารร่วมกันที่โรงเรียน ควรอุดหนุนเงินให้นักเรียนเตรียมมาจากบ้าน หรือโรงเรียนปรุง แต่นักเรียนเตรียมภาชนะมาจากบ้าน
4. เมื่อโรงเรียนมีแผนการให้ความรู้กับเด็กๆ และเตรียมใช้แผนนั้นมาล่วงหน้าก่อนที่นักเรียนจะกลับเข้าโรงเรียน
ควรมีการให้ความรู้ผู้ปกครอง ฝึกเรื่องการล้างมือที่ถูกต้องจากที่บ้าน บอกนักเรียนเรื่องมาตรการการล้างมือที่โรงเรียน การใส่หน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในพื้นที่สาธารณะ การงดแตะต้องตัวเพื่อน เป็นต้น / บทเรียนที่ให้ความรู้นักเรียนเชิง activity-basedที่เริ่มทำจากที่บ้านได้ เช่น การทดลองเรื่องเชื้อโรคแพร่กระจายอย่างไร ทำไมเราต้องรักษาความสะอาด อาการต่างๆ ของโรคโควิด 19
5. เมื่อโรงเรียนมีมาตรการรับมือหากเกิดผู้ติดเชื้อโควิด
บุคลากรทุกคนรวมถึงพ่อแม่ผู้ปกครองต้องทราบถึงขั้นตอนการดำเนินการ หากพบผู้ติดเชื้อโควิดในโรงเรียน มีการซักซ้อมทำความเข้าใจช่วงโรงเรียนปิด
6. เมื่อโรงเรียนมีมาตรการรับมือโรคประจำฤดูกาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงฤดูฝน
เมื่อฝนมา ไข้หวัดจะมา หากไข้หวัดมา โควิด19 จะทวีความรุนแรงและซับซ้อนขึ้นไปอีก โรงเรียนจึงควรมีมาตรการรับมือโรคประจำฤดูกาล ไม่ว่าจะเป็น มือ เท้าปาก โรคไข้เลือดออก (ฉีดพ่นฆ่าลูกน้ำยุงลาย) โรคไข้หวัดสายพันธุ์ต่างๆ มาตรการเหล่านี้ควรชัดเจน และสื่อสารให้ผู้ปกครองเข้าใจ ก่อนเข้าช่วงโรคประจำฤดูกาลระบาดอีกครั้ง
ทั้ง 6 ข้อนี้ คือ สิ่งที่เป็นข้อเสนอเกี่ยวกับมาตรการที่พอจะทำให้โรงเรียนเปิดได้บ้างในช่วงระบาดโควิด
แต่ที่สำคัญ คือ โรงเรียนทำคนเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยทั้งงบประมาณ บุคลากร นักเรียน ผู้ปกครอง คนในชุมชน ช่วยรักรักษาความสะอาด และระยะห่างเบื้องต้น ถือเป็นข้อตกลง ความรับผิดชอบร่วมกันในห้วงเวลาเช่นนี้
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว คงนึกถึงเรื่องงบประมาณมากมาย เพราะต้องปรับปรุงสถานที่และเตรียมซื้อน้ำยาอุปกรณ์ทำความสะอาด
ใช่ค่ะ ต้องเตรียมงบประมาณ เตรียมแผนให้บุคลากรทำงานได้ เตรียมการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพสูงมาก สื่อสารซ้ำๆ ฝึกฝน ซักซ้อมจนเกิดความเข้าใจ และสร้างเป็นนิสัย
ใช่ค่ะ ต้องหาภาคีช่วยเหลือโรงเรียน เช่น อสม. ผู้ใหญ่บ้านต้องจับมือโรงเรียน ข่วยกันออกแบบ ประเมิน และตรวจสอบมาตรการเหล่านี้
ใช่ค่ะ อาจไม่ใช่ทุกโรงเรียน และทุกวัน ที่เด็กจะได้กลับไปเรียน แต่ควรไล่จากเด็กกลุ่มที่มีความจำเป็นมากและไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง ไม่ได้อยู่กับกลุ่มเสี่ยงก่อน (ซึ่งท้าทายมาก เพราะเด็กหลักล้านคนอยู่ในครอบครัวที่มีเฉพาะปู่ ย่า ตา ยาย) มิพักต้องนึกถึงกลุ่มเด็กที่อยู่กับพ่อแม่ ไม่มีปู่ย่าตายายและพ่อแม่ต้องออกไปทำงาน จะทิ้งลูกไว้กับทีวีก็พะวงหน้าพะวงหลัง ไม่ทิ้งลูกไว้ก็ไม่มีรายได้
ดังนั้น รัฐต้องมีประสิทธิภาพ วางแผนให้ครอบคลุม เตรียมแผนเปิดเรียนหลายๆ แบบไว้ รองรับบริบทที่แตกต่างไป
แต่ก่อนอื่นรัฐต้องมีธงว่าเด็กจะต้องได้กลับไปใช้ชีวิตในโรงเรียนได้ผ่านการสนับสนุนของรัฐ เพราะเป็นหน้าที่เสียก่อน
อย่าเพิ่งทำแต่แพลตฟอร์มออนไลน์ และ DLTV จนลืมไปว่า เด็กๆ จำนวนมากไม่สะดวกจะใช้อุปกรณ์ใดๆ ในการเรียนด้วยข้อจำกัดหลายประการ