ปลายฝน – ต้นฤดูฝนที่โรคระบาดเริ่มจางหายแต่ชีวิตคนยังปลิดปลิว : รัฐสวัสดิการถ้วนหน้ากับการสร้างความหมายของชีวิต

1 พฤษภาคม 2563

“ปลายฝน” ชื่อเธอไพเราะ แต่เรื่องราวเธอชวนเศร้า 

เธอชื่อปลายฝน แต่เธอจากไปในวันต้นฤดูฝน ที่ฝนตกตั้งแต่ช่วงเที่ยงของวันที่ 29 เมษายน สองวันก่อน “วันกรรมกรสากล”

ผู้หญิงชนชั้นแรงงานปลิดชีวิตตัวเองหลังสะท้อนถึงความทุกข์ทนในชีวิตที่เธอต้องเผชิญ วัยที่ควรมีความหวังในชีวิต แต่เหมือนเธอแบกโลกทั้งใบ เธอทำงานหนักเป็นพนักงานรายวัน คนรักเธอไม่ต่างกัน เป็นแรงงานรายวัน เธอถูกเอาเปรียบด้วยเรื่องปกติในสังคมไทยอย่างน่าเศร้า และลูกของเธอ คงมีชีวิตและโอกาสไม่ต่างจากพ่อแม่ 

เพลง “ไกล” ที่เธอบรรยาย คือภาพสะท้อนความฉ้อฉลของสังคม เราต้องสิ้นหวังขนาดไหนถึงปลิดชีวิตตัวเอง

เมื่อใดมีการเรียกร้องเรื่องความเป็นธรรม รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า หรือกฎหมายแรงงานที่เป็นธรรม มักมีคำอธิบายว่าสิ่งเหล่านี้กำลังทำลายความสมดุลของ “กลไกตลาด” และจะทำลายผลประโยชน์ของกลุ่มนายทุน ที่สุดท้ายการทำลายผลประโยชน์ของนายทุนจะกลายเป็นการทำลายผลประโยชน์ของพวกเราทั้งหมด? 

มีคำแก้ต่างแบบนี้อยู่บ่อยครั้ง ประเทศไทยขยับอย่างเชื่องช้าสู่รัฐสวัสดิการด้วยคำแก้ต่างของเหล่าชนชั้นนำและอำนาจเผด็จการทางการเมือง แต่ความเชื่องช้าเหล่านี้กำลังฆ่าคน แบบเดียวกันกับที่มันทำมามากกว่าครึ่งศตวรรษในสังคมไทย ด้วยระบบสังคมสงเคราะห์ พิสูจน์ความจน และการเพิ่มอำนาจของกลุ่มทุน

ช้าหนึ่งวันก็มีคนตายเพราะเรื่องนี้เพิ่ม เป็นข่าวบ้าง ไม่เป็นบ้าง

นักเศรษฐศาสตร์แก้ต่างว่าสร้างรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าประเทศจะล่มสลาย แต่ไม่ลังเลใจเวลารัฐบาลอุ้มกลุ่มทุนการเงินขนาดใหญ่ ชีวิตปลายฝนและลูกเคยอยู่ในสมการของพวกเขาหรือไม่ ?                                    

ผู้ประกอบการพร่ำบ่นว่า พนักงานรายวันจะเปลี่ยนเป็นรายเดือนทั้งหมดได้อย่างไร ชีวิตวันละ 12 ชั่วโมงยืนขาแข็งของปลายฝนเคยอยู่ในสมการหรือไม่ ?

นักวิชาการบนหอคอยงาช้างกลัวว่าคนจนเมื่อได้เงินและสวัสดิการจะขี้เกียจ และใช้เงินไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ควรเป็น พวกเขาประวิงเวลาในการสร้างรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า และหมุนวนอยู่กับกลไกการพิสูจน์ความจน ชีวิตแรงงานอพยพอย่างปลายฝนก็คงจะไม่อยู่ในสมการเช่นเดียวกัน

ปลายฝนใจเธอเด็ดเดี่ยว เธอปรารถนาให้โลกนี้เป็นบ้านของทุกคน เรื่องง่ายๆแต่ ผู้มีอำนาจกลับทำให้มันซับซ้อน

ข้อความสุดท้ายของเธอ คือภาพสะท้อนชีวิตของคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ เราคือเธอ เราทุกคนคือ “ปลายฝน”

“เป็นภาพวาดที่วาดแล้วรู้สึกไม่อยากวาดต่อ เป็นภาพที่รู้สึกว่า วาดบนกระดาษแผ่นไหนก็ได้อ่ะ ตั้งแต่เรียนมา ไม่เคยมองรูปวาดไหนต่ำเท่ารูปนี้เลย วาดด้วยอารมณ์ที่ไม่มีเงิน ตังซื้อนมให้ลูกไม่พอ ค่านู่นค่านี่แพงไปหมด วาดด้วยอารมณ์ที่ทำงาน 12 ชม.ต่อวัน แล้วแม่งไม่เหลือไรเลย” เธอบรรยายในสื่ออนไลน์ส่วนตัว ถึงภาพวาดนายกรัฐมนตรี ก่อนเธอจะปลิดชีวิตตัวเอง

วันนี้ สถานการณ์โรคระบาดกำลังผ่อนคลาย แต่สถานการณ์มรณกรรมของประเทศกำลังเดินหน้าต่อไป ความเปราะบางและเหลื่อมล้ำแสดงตัวตนอย่างชัดเจนภายใต้วิกฤติครั้งนี้ พนักงานรายวันที่ทำงานหนักอย่างมาก กลับมีเงินไม่พอกับการประทังชีพ คนที่ทำงานหนักที่สุดกลับกลายเป็นคนจนที่สุดในสังคม และสิ้นหวังที่สุดในสังคม 

ปลายฝนคือตัวแทนของกลุ่ม “แรงงานเสี่ยง” ในประเทศนี้

 Guy Standing  นักวิชาการชาวอังกฤษ ระบุสถานะของคนอย่างปลายฝนว่าคือ “แรงงานเสี่ยง (precariat)” เป็นกลุ่มคนที่แบกรับความเสี่ยงแทนชนชั้นนายทุน ไม่มีการรวมตัว ค่าจ้างไม่แน่นอน ไม่สามารถเลื่อนสถานะในการทำงานได้ 

หากเดิมทีนายทุนอ้างว่าตัวเองคือผู้แบกรับความเสี่ยงจึงเป็นผู้ควรได้กำไร แต่ในสภาวะปัจจุบัน คนอย่างปลายฝน อดีตพนักงานส่งนมตามบ้าน (แต่ต้องปลิดชีวิตเพราะไม่มีเงินค่านมลูก) สู่การเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยรายวัน เธอแบกรับความเสี่ยง ไม่ว่าจะเรื่องของสุขภาพตัวเอง ชีวิตการศึกษาของลูก ความเจ็บป่วยทั้งทางกายและใจจากความไม่มั่นคงในการทำงาน ชั่วโมงการทำงานและรายได้ที่ไม่แน่นอนแม้กระทั่งการทำให้ร่างกายของเธอแข็งแรงพอที่จะออกไปแบกความเสี่ยงให้กลุ่มทุนมั่งคั่งต่อไป เธอเสี่ยงที่สุด แต่ยากจน และลำบากมากที่สุด

เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมได้ปิดโครงการงานวิจัย “การเลื่อนลำดับชั้นระหว่างรุ่น และความสัมพันธ์กับระบบสวัสดิการประเทศต่างๆ” 

สิ่งที่ชัดเจนคือว่า หากประเทศไทยเรายังคงใช้ระบบสังคมสงเคราะห์หรือการจัดสวัสดิการที่เน้นการพิสูจน์ความน่าสงสาร คิดว่าสวัสดิการเป็นเรื่องของคนเหนือกว่าให้แก่คนจนที่น่าสงสาร จะไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำในประเทศได้ ซ้ำร้ายมันกลับสร้างโอกาสให้กลุ่มชนชั้นนำสะสมความมั่งคั่งมากขึ้น ด้วยการสร้างกำแพงสูงและโปรยเศษทานออกนอกกำแพง พร้อมด้วยเทคโนโลยีทันสมัยที่สร้างความชอบธรรมภายใต้คำสวยงามว่า “ให้เฉพาะคนจนที่ตรงจุด หรือการสร้างระบบเครดิตที่ซับซ้อนมาจัดสวัสดิการ เพื่อป้องกันความวุ่นวายในสังคม” แต่สิ่งนี้ คือข้ออ้างที่จะไม่ยอมเสียภาษีอัตราก้าวหน้า และสร้างความเท่าเทียมผ่านรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า 

งานวิจัยฉายภาพมุมกลับว่า หากประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า การเลื่อนลำดับชั้นของคนจะทำได้ง่ายขึ้น ความแตกต่างระหว่างชนชั้นลดลง และสำคัญที่สุดคือศักดิ์ศรีของคนในสังคมที่อยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียม

รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า จึงไม่ใช่แค่ระบบการสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจจากความล้มเหลวของกลไกตลาด แต่คือกลไกสำคัญที่ธำรงความเป็นมนุษย์ ที่มนุษย์ไม่ต้องถูกวัดประเมินเป็นตัวเลขตลอดเวลา เพราะเลือด เนื้อหัวใจ มันไม่สามารถประเมินได้ 

รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า คือ การยืนยันว่าต้องมีพื้นที่ส่วนใหญ่ในสังคมที่ไม่ต้องถูกวัดประเมินเป็นตัวเลขและลดคุณค่าความเป็นมนุษย์

และรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า คือ หัวใจสำคัญที่ทำให้ประชาธิปไตยเป็นมากกว่าแต่คำสวยๆ  นั่นคือ การคืนวิญญาณเสรีให้มนุษย์ไม่ถูกกักขังด้วยชาติกำเนิด และรักษาความเป็นมนุษย์ของพวกเราไว้

ในบทความชิ้นต่อไป เราจะมาคุยกันว่า รัฐสวัสดิการถ้วนหน้ามีเงื่อนไขการวางระบบการจัดสรรทรัพยากรอย่างไรที่สร้างความสมดุลย์ทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ และความไว้ใจระหว่างกันในสังคม

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

6 ตุลาคม 2563    โลกใหม่ที่เป็นไปได้

เหลียวซ้ายแลขวา บทเรียนจาก 6 ตุลาคม 2519 : จิตสำนึกสังคมนิยมแห่งยุคสมัย-พวกเขาคือนักสังคมนิยม

24 มิถุนายน 2563    โลกใหม่ที่เป็นไปได้

เผด็จการกับการทำลายรัฐสวัสดิการ : ประวัติศาสตร์โดยย่อของการปฏิเสธรัฐสวัสดิการโดยฝั่งอำนาจนิยม (2)

22 พฤษภาคม 2563    โลกใหม่ที่เป็นไปได้

เผด็จการกับการทำลายรัฐสวัสดิการ : ประวัติศาสตร์โดยย่อของการปฏิเสธรัฐสวัสดิการโดยฝั่งอำนาจนิยม (1)

1 พฤษภาคม 2563    โลกใหม่ที่เป็นไปได้

ปลายฝน – ต้นฤดูฝนที่โรคระบาดเริ่มจางหายแต่ชีวิตคนยังปลิดปลิว : รัฐสวัสดิการถ้วนหน้ากับการสร้างความหมายของชีวิต

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า