สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ : ครบ 1 ปี หลัง ‘วันเฉลิม’ ถูกบังคับให้สูญหาย ในวันที่ประเทศไทยได้เปลี่ยนไปตลอดกาล

4 มิถุนายน 2564

ย้อนกลับไปเมื่อ 1 ปีก่อน ขณะนั้นประเทศไทยเพิ่งจะเริ่มต้นคลายมาตรการล็อคดาวน์ บริษัท ห้าง ร้าน ทยอยกลับมาเปิดให้บริการ บรรยากาศความกลัวต่อโรคระบาดคลายลงเล็กน้อย แต่เมื่อถอยหลังกลับไปอีกเล็กน้อย ก่อนการระบาดของไวรัสโควิด-19 เราจะนึกถึงภาพการชุมนุมแฟลชม็อบที่ผุดขึ้นตามสถานศึกษา สถานบันต่างๆ พร้อมกับติด # ต้านเผด็จการ นักเรียน นักศึกษาและประชาชน เริ่มออกมารวมตัวเพื่อต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ ก่อนทุกอย่างจะกลับไปสงบลงเพราะการระบาดของโรคอุบัติใหม่ที่ยังไม่มีใครรู้จัก

แน่นอนว่าไม่มีใครจะล่วงรู้ได้เลยว่า หลังจากนั้นอีกไม่กี่เดือน ฟางเส้นสุดท้ายจะขาดลง ความเคียดแค้นชิงชังที่มีต่อรัฐบาลทหารของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ถูกเชื่อมาเสมอว่าสามารถควบคุมได้ ก็ปะทุขึ้น เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 มีข่าวการถูกบังคับสูญหายของ ‘ต้าร์’ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ กระจายเต็มโลกออนไลน์ 

วันเฉลิม เป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองอยู่ที่ประเทศกัมพูชา หลังจากการรัฐประหารเมื่อปี 2557 และการหายตัวไปของเขาในเวลาอีก 6 ปี ต่อมา ก็ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยที่ไม่มีวันหวนกลับคืนได้อีก 

คณะก้าวหน้า ได้มีโอกาสชวน ‘เจน’ สิตานัน สัตย์ศักดิสิทธิ์ พี่สาวของ ‘ต้าร์’ มานั่งพูดคุยถึงการต่อสู้ทวงความเป็นธรรมให้น้อง และชีวิตในวันที่ตนเองได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ และกลายเป็นหมุดหมายของประเทศไทยใหม่

ช่วงเวลา 1 ปีมานี้ ชีวิตของคุณเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง ?

1  ปีที่ผ่านมาเป็นอะไรที่ยากลำบากสำหรับเราเนอะ พูดง่ายๆ ว่า มันไม่ใช่เรื่องปกติของคนทั่วไป ยิ่งการหายตัวไปของต้าร์ ก็เป็นการหายตัวที่แตกต่างจากทุกคน เพราะว่าเป็นการหายในต่างประเทศ และยิ่งเป็นการหายตัวที่เกี่ยวพันกับรัฐบาลด้วย มันก็ทำให้คดีนั้นยากขึ้นไปอีก

ส่วนชีวิตมุมของเราก็เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ อย่างที่บอกมาตลอดว่า ปกติเราไม่ได้ยุ่ง หรือติดตามอะไรทางการเมือง แต่พอน้องหายไป ทำให้ต้องลุกขึ้นมาทำทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เราต้องทำการแจ้งความ เก็บหลักฐาน พยายามตามทุกอย่างเองหมด พยายามรวบรวมทุกสิ่งทุกอย่างที่เราจะหาได้ แน่นอนว่าได้รับความช่วยเหลือ มีองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องพยายามคอยช่วยเหลืออยู่ 

การดำเนินงานหรือเคลื่อนไหวในช่วงที่ผ่านมายากไหม ?

ยากสิ ยากมาก แค่วันที่เรารู้ว่าน้องเราหายไป – – ก็ยากแล้ว เพราะเราต้องประสานกับคนหลายๆ คน บางคนเรารู้จัก บางคนเราได้ยินแค่ชื่อ ต้องบอกก่อนว่า  ต้าร์ไม่ได้เล่ารายละเอียดอะไรให้ฟังมาก รู้แค่ว่าเขาทำอะไร แล้วเพื่อนเขาที่รู้จักมีใครบ้าง เขาก็เคยบอกไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า เพื่อนที่เขาไว้ใจมีเพียง 1 คน แล้ว 1 คนที่เขาเคยเอ่ยชื่อ ก่อนจะหายไป ถ้ามีอะไรให้คุยกับคนนี้ เราก็ต้องเรียบเรียงหลายๆ อย่าง ทั้งคนที่เข้ามาหาเราในตอนนั้น เราไม่รู้หรอกว่าคนๆ นี้เป็นใคร เขามาดีหรือเขามาร้าย เราต้องคัดกรองคนเยอะมากในช่วงตลอดเวลาที่ผ่านมา ซึ่งเป็นอะไรที่ยากมากในช่วงแรกๆ 

และที่สำคัญไม่มีใครช่วยเราดูเลย ต้องอธิบายก่อนว่า ต้าร์เป็นคนที่มีเพื่อนเยอะ มีเพื่อนหลากหลายวงการมาก แม้กระทั่งเราเองก็ไม่สามารถตัดสินได้ว่าใครเป็นใคร คนที่เข้ามาก็จะบอกว่า ผมเป็นเพื่อนต้าร์นะ เราไม่รู้เลยว่า เราจะตัดสินว่าคนนี้ดี ไม่ดี เพราะถ้าต้าร์อยู่ เขาก็อาจจะบอกว่า โอ๊ย พี่อย่าไปคุยด้วยเลย คนนี้รู้จักกันผิวเผิน เราไม่สามารถจะไปถามใครได้ว่าคนนี้เป็นอย่างไร ใช้ความคิดของเราว่าสิ่งที่เขาพูดมันจริงแท้อย่างไร

ถามว่ามีเพื่อนใหม่ไหม คือรุ่นเด็กๆ อ่ะ เราไม่คิดเลยว่าเขาจะมาเป็นแรงผลักดัน แรงขับเคลื่อนในชีวิตให้เรา อย่างที่บอก ว่าไปม็อบก็จะมีทุกวัย อย่างวัยเด็ก วัยชรา แล้วทุกคนก็เป็นมิตรกับเรา ไม่ได้เป็นศัตรูกับเรา 

แสดงว่าตลอดหนึ่งปีนี้ คุณก็ต้องมีเพื่อนกลุ่มใหม่ๆ ด้วยเช่นกัน ?

เวลาที่เขาเข้ามาให้กำลังใจ เราก็รู้สึกดีใจ แล้วก็รู้สึกขอบคุณเขาด้วยว่า ในยามที่เราลำบาก เราโดดเดี่ยวก็ยังมีคนที่ไม่รู้จักกันมาก่อน มีคนให้กำลังใจ อย่างคราวก่อน Amnesty จัดกิจกรรมให้ประกวดวาดภาพวันเฉลิม มันก็มีน้องหลายๆ วาดภาพ เขาก็ติดต่อมาหาเราว่า พี่ มีคนมาติดต่อซื้อภาพวาด (วันเฉลิม) ของผม ผมจะให้เขาติดต่อพี่ ให้เงินพี่ หรือพี่เอาไปขายได้ เราก็บอกว่า ไม่ต้องๆ น้องเอาเงินไปดำรงชีวิตของน้องเถอะ เรามีความรู้สึกว่า คนเราไม่เคยรู้จักกันมาก่อน เขายังวาดภาพน้องเราขึ้นมา เราก็รู้สึกดีใจแล้วก็ขอบคุณน้องเขาแล้ว 

แล้วต้องปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่ เพื่อนกลุ่มใหม่ คนใหม่ๆ ในแวดลงการเมืองบ้างไหม ?

ต้องปรับตัวเยอะนะ เอาง่ายๆ คนเรามันมีหลายมุม เราเองก็กำลังเบื่อกับชีวิตตอนนี้มากๆ เลยนะ ไม่รู้ว่าเขามองยังไงเพราะคนที่เข้ามาก็เข้าใจว่าทุกคนต้องการความช่วยเหลือหมด แต่เราก็ไม่ใช่ NGOs เราเป็นผู้เสียหาย แต่เราอยากจะบอกว่า ได้รับการช่วยเหลือจากหลายๆ คน ดังนั้น ก็อยากจะส่งต่อความช่วยเหลือให้คนอื่นด้วย เพราะก่อนหน้านี้ ผู้สูญหาย 8 ราย ที่เขาไม่ออกมาต่อสู้ เรียกร้อง ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะว่า ไม่มีใครหยิบยื่นโอกาสให้เขา 

กับครอบครัวเหยื่อผู้สูญหายอื่นๆ มีอะไรก็ปรึกษากัน แต่ก็ต้องบอกว่า ยังมีคนที่เขาไม่กล้าแสดงตัวหรือออกมา มีบางรายโทรมาคุย เขาบอกว่า เขาไม่กล้าออกมา เขากลัว เขาไม่กล้าทำในสิ่งที่เราทำ แม้กระทั่งแจ้งความเขาก็ยังไม่แจ้งเลย ซึ่งมองว่า เราอาจจะโชคดีกว่าทุกคนที่ได้รับโอกาส ซึ่งแต่ละคนโอกาสมันไม่เหมือนกัน ถึงบอกว่า เมื่อเราได้รับโอกาส ได้รับการช่วยเหลือจนถึงทุกวันนี้ ถ้ามีโอกาสก็อยากส่งต่อ เราก็อยากจะบอกทุกคนเสมอว่า ถ้าคุณได้รับการช่วยเหลือแล้ว คุณต้องช่วยเหลือคนอื่นด้วย

หนึ่งปีนี้ก็อาจจะแตกต่างจาก หนึ่งปีก่อน มีการกลับมาระบาดของโรค พอเป็นอย่างนี้แล้วคุณจะเคลื่อนไหวอย่างไร ?

คือ แผนน่ะมีอยู่แล้ว มองว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมันก็มีระยะเวลาของมัน มีระยะเวลาที่เหมาะเจาะเหมาะสม แต่ว่าสิ่งที่อยากจะบอกว่าตอนนี้ พอมีโรคระบาด มันไม่มีม็อบ ก็ไม่เป็นไร เด็กๆ ไม่จำเป็นต้องเคลื่อนไหวตอนนี้ เพราะว่า คนที่ตาสว่างและรับรู้ว่าปัญหา รับรู้ว่ารัฐบาลนี้มันบริหารงานไม่ได้ มันจะต้องลาออก ปรับเปลี่ยน เข้าใจแก่นและปัญหาของมันก็ไม่ต้องออกมาในเวลาแบบนี้ก็ได้

ตอนที่เห็นการเคลื่อนไหวแรกๆ รู้สึกอย่างไรที่มีคนพยายามต่อสู้เพื่อน้องชายของตนเองมากขนาดนั้น ?

ณ วันนี้กับตอนนั้น มุมมองคนมันเปลี่ยนไปเยอะมาก มันมีตอนที่ต้าร์หายไปใหม่ๆ จะมีภาพหนึ่งที่ภูเก็ต จะเป็นรูปต้าร์คนเดียว โปสเตอร์สีเหลืองๆ น่ะ ตอนม็อบช่วงแรก มันก็จะมีหลายๆ คน ปะปนกันใช่ไหม พี่ก็ตกใจ เอ้าทำไมมันมีคนเดียวยืนชูรูปวันเฉลิม คนทั่วไปก็จะรับรู้ว่าที่ภูเก็ตคนส่วนใหญ่คิดอย่างไร แล้วทำไมที่ภูเก็ตมีรูปต้าร์ เราก็เซอร์ไพรส์ แล้วมารู้ทีหลังว่า ตอนที่เกิดสึนามิ ต้าร์เขาได้ลงไปช่วยงานที่พังงาและภูเก็ต รู้สึกว่า ต้าร์ไปอยู่ 3 เดือน ลงไปช่วยเก็บ DNA ช่วยงานเท่าที่ทำได้ เราก็เลยมีความรู้สึกว่า อ๋อ คนก็เริ่มเปลี่ยนแหละ ว่าคนที่เขาก็ทำเพื่อสังคมจริงๆ แล้วกลับมาต้องมาสูญหายแบบนี้ ก็จำเป็นที่จะต้องเรียกร้องให้ มีความรู้สึกว่า คนเริ่มเปลี่ยนแล้วนะตอนนั้น ก็ดีใจมากๆ

ถ้าถามเราตอนนี้นะ เรามองว่ามันเป็นเหมือนฟางเส้นสุดท้าย ที่ทำให้ทุกคนลุกขึ้นมาเรียกร้อง เมื่อก่อนก็ไม่มีใครพูดเรื่องสถาบัน แต่พอเกิดเรื่อง มีการเคลื่อนไหวในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ตอนนี้ก็ลุกขึ้นมาพูดกัน มีทั้งเรื่องวัคซีน หรือเรื่องการบริหารงานที่ห่วยแตกของรัฐบาล ทุกคนกล้าพูดซึ่งมันผิดกับก่อนหน้านี้ ผิดกับปี 2562 นี่มันเป็นจุดเปลี่ยน ที่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงต่อไปอีก

ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา คนที่บ้านว่ายังไง ?

วันแรกที่ต้าร์หายไป เราก็คุยกับน้องชายว่า เอาไง? เขาก็บอกว่า เอาไงก็เอากัน น้องชายเราทำงานที่กรุงเทพนะอีกคน แต่น้องสาวก็อยู่ที่จังหวัดอุบลฯ กับแม่ แต่วันนั้นน้องสาวก็โทรมาขอร้อง เขาก็คงเป็นห่วง เราก็โอเคไม่เป็นไร ถ้าไม่ออกมา เราทำเอง คือระยะเวลาการเคลื่อนไหวของเรามันนานขึ้น แม่ก็บอกว่า เออ ถ้ามันไม่ไหวก็พอนะ อย่าให้คนตายขายคนเป็น เราก็รู้แล้วล่ะ ว่าเขาห่วงเรา แต่สิ่งที่เราทำมาขนาดนั้นแล้ว คงจะทิ้งไปไม่ได้

ตอนที่มันมีเหตุการณ์ไวรัล โยกย้ายประเทศกัน น้องสาวก็พูด ซึ่งปกติเขาเป็นคนไม่เคยพูดนะ แต่เขาพูดว่า ถ้าเป็นไปได้ พาพวกเขาย้ายไปเถอะ ประมาณว่าเราเดินหน้าตามหาคนเดียว เขาไม่ได้ว่าอะไรนะ แต่หันมามองเขาด้วย (น้ำตาซึม) แต่เราเข้าใจว่า ทุกคนอยู่ได้ เพราะน้องคนเล็กรับราชการ อีกคนก็ทำงานแบงค์ พอเขาพูดแบบนั้น เราก็คิดว่ามันเกิดอะไรขึ้น (น้ำตาซึม) เขาก็บอกว่าเขาโดนกดดันตั้งแต่ต้าร์หายไป มีคนด่า คนพูดไม่ดีกับต้าร์ เขาก็เจอหลายๆ เรื่องมา ยิ่งงานเขากับสถานการณ์ตอนนี้ด้วย ก็คงมีอะไรกดดันเขา เพราะปกติน้อง ไม่เคยพูดไง เราก็ลืมดูไป  เราก็พยายามทำทุกอย่างเพื่ออีกคน แต่ก็ลืมมองว่า ข้างหลังก็ยังมีครอบครัวอยู่ เขาไม่ได้ลำบากหรอกนะ แต่เขาก็โดนกดดันเหมือนกัน ไม่ใช่แค่เรา เรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องนึงจริงๆ ที่เราลืมไป

แล้วคุณล่ะ พอออกมาเคลื่อนไหวถูกคุกคามบ้างไหม ?

พูดง่ายๆ ก็คือ เราเปิดหน้าชกกับเขาเนอะ สิ่งที่เราเจอ ก็จะมีคนตาม เวลาไปทำอะไรก็จะมีคนตาม เหมือนคราวที่แล้วที่ไปยื่นหนังสือที่อัยการสูงสุด ก็ไม่รู้ว่าเขาจะตามเราทำไม แต่ถ้าถามว่าปลอดภัยไหม ก็ไม่รู้ ถามว่าเรากลัวไหม มันเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วนะที่จะกลัว แต่ถ้าเรากลัวมาก เราจะใช้ชีวิตปกติไม่ได้ ถ้าเห็น เราก็จะเดินเข้าไปคุยมาทำอะไรวันนี้

ยิ่งตอนเราไปกัมพูชา ตามตั้งแต่วันแรก จนถึงวันสุดท้าย (ตามไปถึงกัมพูชา?) เขาส่งคนตามแต่เรา ซึ่งก็ไม่รู้ว่า เป็นคนของรัฐไทย หรือ กัมพูชา เอาง่ายๆ นะ ไปถึงที่โน่น ต้องเปลี่ยนซิมโทรศัพท์ เปลี่ยนกันหมดทั้งทีม 

ตอนอยู่ที่กัมพูชา ทางการเขาช่วยเหลือดีไหม เป็นอย่างไรบ้าง? 

ไม่ (ส่ายหัว) ดูจากสถานการณ์แล้วเขาก็พยายามปฏิเสธ เราก็ไปพบรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติของกัมพูชา เขาก็ได้อธิบายว่า ไม่เห็นคนชื่อวันเฉลิม เขาดูกล้อง 16 ตัว ไม่มีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น เขาเช็คแล้ว ไม่มีรายชื่อของวันเฉลิม ไม่มีใครรู้จัก แต่เขาลืมไปว่า ก่อนหน้านั้น เหลังจากออกจาก state quarantine เราได้ไปพบคนหลายๆ คน เขาก็อาจจะรู้หรือไม่รู้ เราแยกกันทำงาน เราก็สืบของเขาด้วย เก็บหลักฐานมาหมด จะบอกไม่มีได้ยังไง

เคยคิดบ้างไหม ถ้าวันที่ 4 มิถุนายน 2563 เรื่องไม่ได้เกิดที่กัมพูชา แต่เป็นที่อื่น การติดตามเรื่องของเราจะดีกว่านี้ ?

แน่นอนค่ะ ถ้าเป็นญี่ปุ่น เป็นประเทศแถบยุโรปก็ต้องได้ดีกว่านี้แน่นอน ไม่เหมือนประเทศแถบนี้ ฟิลิปปินส์ อินโดฯ อันนี้ก็ต้องขอกล่าวถึง เพราะมันมีเคสของผู้สูญหาย 8 ราย ที่เกี่ยวเนื่องและต้องกล่าวถึง เพราะมันมีปฏิบัติการจริงๆ ถ้าไปสิงคโปร์ก็อาจจะมีปัญหา แต่แถบนี้ ลาว เวียดนาม กัมพูชา อินโดฯ แล้วก็ฟิลิปปินส์ มันก็จะเป็นอีหรอบนี้แหละ มันมี 1 ใน 8 รายที่ไปสิงคโปร์ และกลับมาเวียดนามแล้วโดนจับก็มี 

แล้วความคืบหน้าของคดีเป็นอย่างไรบ้าง ?

ได้ข่าวมาว่า ทางการกัมพูชาเรียกพยานมาสอบเพิ่ม เราไม่รู้ว่ามาหรือไม่มา เขาก็ยังไม่แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร อันนี้ถามจากทนายของเราที่ทางโน้น ส่วนทางไทยก็ไม่ต้องพูดถึง เพราะปฏิเสธกันมาจะหนึ่งปีแล้ว ปฏิเสธการอยู่ การหายไป ปฏิเสธทุกข้อหาการมีอยู่ของวันเฉลิมมาตลอด 

วันที่ 1 มิถุนายนนี้ เราได้ยื่นหนังสือทีดีเอสไอ ตอนปีที่แล้วพี่ไปยื่นแล้ว เขาตอบกลับมาว่าเขาไม่สามารถรับเป็นคดีพิเศษได้ เพราะมันเกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรไทย แล้วพอกลับมาจากกัมพูชา มันมีความกะตือรือร้น เขาตั้งหน่วยงานใหม่เกี่ยวกับคนหายขึ้นมา เขาก็เลยอยากได้ข้อมูล เขาก็เลยเรียกเราไปสอบปากคำ เราก็เลยตามความคืบหน้าของดีเอสไอจะมีอะไรให้เราไหม 

เคลื่อนไหวและตามหาน้องชายมาตลอด 1 ปี แล้วเรื่องงานเป็นอย่างไร คุณทำอะไรอยู่ ?

ไม่ได้ทำอะไรเลย เราก็ขายทุกอย่างที่เรามี ตอนไปกัมพูชา ต้องขายเอาเงินมาใช้ ขายไปก็พยายามหาอย่างอื่นทำ แต่มันก็ไม่ได้มาก ในสถานการณ์โควิดแบบนี้ด้วย ก็พยายามอยู่ให้ได้ เงินที่เราได้มา เราก็พยายามทำให้มันมีประโยชน์ แล้วก็หารายได้จากเงินก้อนนี้ เราวางแผนว่าให้มันอยู่ได้ 1 ปี อยู่ให้มันพอกับการขับเคลื่อน และสิ่งที่เราจะทำหลังจากนี้ เราก็จะมีการเดินทางไปต่างประเทศ 

แต่แผนเรื่องศาลโลกยัง มันอาจจะเป็นแค่ภาพ แต่ในเรื่องของข้อกฎหมาย มันอาจจะต้องมีมากกว่านั้น กำลังปรึกษากับทีมทนายอยู่ว่าจะทำอะไรให้เชื่อมได้

ฟังจากที่เล่า ก็จะรู้ว่าการเคลื่อนไหวเรียกร้องนั้นมีราคา ?

ถูกต้อง ถูกต้อง เราอยากจะให้พวกสลิ่มที่มองว่าม็อบเด็กนี่ออกมาทำไม มองไปถึงว่าพวกเขาออกมาเรียกร้องเพื่ออนาคตนะ เด็กๆ เขามองไม่เห็นอนาคต รู้ไหมว่าเด็กที่ออกมามีค่าใช้จ่ายสารพัด ค่ารถ ค่าอะไร ทำไมคุณไม่มองตรงนี้ อย่างเราไปม็อบ โอ้โห ค่าใช้จ่ายฉันเยอะมาก เลยมองว่า เราอ่ะมาต่อสู้เพื่อน้องชาย แต่เด็กเขาก็มาต่อสู้เพื่ออนาคตของเขา มันมีราคานะ มันสะท้อนให้เห็นอะไรหลายๆ อย่างของประเทศไทย เด็กจบปริญญาตรี ทำงานได้เงินเดือนเดือนละหมื่นห้า แต่ค่าเงินต่างกับที่พี่สมัยที่เราโตมา มันเป็นสิ่งที่คุณควรจะมองเห็นได้แล้วล่ะว่า เด็กๆ เขาต้องการอะไรกันแน่

ขณะที่คนอยากจะเคลื่อนไหวแต่ไม่มีต้นทุน เราพยายามจะพูดกับทุกคนว่า ใครอยากออกก็ออก เอาที่ทุกคนไหว ใครไม่ไหวก็ call out ใน facebook twitter clubhouse เพียงแค่คุณเข้าใจปัญหาจริงๆ ว่าการเคลื่อนไหวมันเกิดขึ้นเพราะอะไร คุณไม่จำเป็นต้องไปทุกครั้งหรอก เราเองก็ไม่ได้ไปทุกครั้ง โอเคเราติดธุระ ก็ไม่ได้ไป ทุกคนมันไม่เหมือนกัน เราไม่เคยโกรธเลยนะ พี่ผมไปวันนี้ วันนั้นผมไม่ได้ไป ไม่ๆ เอาที่ทุกคนไหวเพราะตอนนี้ทุกคนลำบากหมด 

คิดว่าจะสู้ไปอีกนานแค่ไหน ?

ก่อนหน้านี้ เราก็คุยกับอัยการท่านหนึ่ง เขาก็บอกว่า 2 ปีนะอย่างต่ำๆ ที่เราจะต้องต่อสู้กับเรื่องเหล่านี้ ไหวไหม เราก็ถามว่ามัน 2 ปีเลยเหรอ เขาพูดมาเราก็เก็บกลับมาคิด ตั้งแต่วันที่น้องหายไป เราก็กลับมาเก็บหลักฐานตั้งแต่วันแรกเลย แล้วหลักฐานที่มี จะรอแค่ตอนมีเงิน ถึงจะมาสู้เหรอ หรือว่าจะสู้ไปเลยตอนนี้ ถ้ารอตอนมีเงิน ก็ไม่รู้ว่าสถานการณ์มันจะเป็นอย่างไร เราก็เลย ไม่ ฉันจะสู้ตั้งแต่ตอนนี้เลย

อยากจะบอกว่าในหมู่ผู้สูญหาย 8 ราย ก็ไม่มีใครกล้าทำอะไรเลย เคสดีเจ ซุนโฮ ก็ไม่เคยได้แจ้งความเลย เราก็เลยมีความรู้สึกว่า ถ้าเราไม่ทำ มันก็จะมีรายที่ 10 รายที่ 11 รายที่12 ไหม เราเก็บหลักฐาน เราก็เลยตัดสินใจว่า ถ้าเรารอให้เรารวย แล้วกลับมาทำ อะไรๆ ก็คงไม่ทันแล้ว ก็เลยตัดสินใจวันนั้น เลยลองดูซักตั้ง ซึ่งวันข้างหน้าเราก็ไม่รู้ว่ามันจะเป็นอย่างไร แต่ถ้าจะให้ถอยตอนนี้นะ มันก็คงไม่ถอย

เราก็รู้สึกกดดัน โคตรเบื่อ อยากจะหนีเลยนะ… แต่ถ้าให้เลิก ก็ต้องบอกว่าเลิกไม่ได้

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า