ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี : ข้อเสนอแก้ปัญหาแรงงานในยุควิกฤตโควิด-19 “รัฐสวัสดิการ – UBI” เป็นไปได้

1 พฤษภาคม 2564

“ปลายฝน” ไม่ใช่คนสุดท้าย

คืนฝนกระหน่ำ 30 เมษายน 2563 เป็นวันที่ “ปลายฝน” หญิงสาววัย 19 ปี ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองด้วยการผูกคอตาย โดยทิ้งรูปวาดของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นสักขีพยานประจานความล้มเหลวของรัฐบาล ซึ่งนับถึงวันนี้ ผ่านมา 1 ปีเต็มแล้ว แต่บ้านนี้เมืองนี้ก็เหมือนว่าจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปเลย

ยังมีคนที่ต้องดิ้นรนทำงานหนักเพื่อเงินแค่พอซื้อนมให้ลูกเช่นเดียวกับ “ปลายฝน”, ยังมีคนที่ต้องตกงานและฆ่าตัวตายเพราะเรื่องเศรษฐกิจปากท้องในช่วงวิกฤตโควิด ซ้ำเติมด้วยความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล เช่นเดียวกับ “ปลายฝน”

ลองสมมติว่าคืน 30 เมษายน 2563 คุณนอนหลับไปแล้วตื่นขึ้นมาในเช้าวันนี้ คือ 1 พฤษภาคม 2564 ซึ่งเป็น “วันกรรมกรสากล” เฉกเช่นทุกปี คุณก็คงจะไม่รู้สึกว่ามีอะไรแปลกผิดปกติ

คุณยังคงเป็นผู้ใช้แรงงานที่ทำงานหนักวันละ 60-70 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แลกกับค่าจ้างที่ต่ำเตี้ยและสวัสดิการที่ง่อยเปลี้ยเหมือนยอมให้เสียมิได้ ยิ่งในภาวะวิกฤตโควิดเช่นนี้ คุณต้องยอมทิ้งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพื่อปอกเปลือยประจานความลำบากยากแค้นของตัวเองให้ผู้มีอำนาจรับรู้ ให้เขาเห็นใจ แล้วโยนเศษเงินให้ความช่วยเหลือในนามของ “มาตรการรัฐ” และ “บุญคุณ”

ตราบจนกระทั่งคุณเข้าคิวแย่งชิงไม่ทัน และความมืดมนอับจนหนทางบังเกิดขึ้น คุณอาจจะตัดสินใจทำแบบเธอ “ปลายฝน”

“รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า” และ “UBI : Universal basic income” (เงินเดือนพื้นฐานถ้วนหน้า) คือคำตอบ คือทางออก ของเรื่องที่กล่าวมาทั้งหมด และมันเป็นไปได้

เป็นคำยืนยันจาก ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ที่ต่อสู้เรื่องนี้มาอย่างยาวนาน

“ประเทศไทยแทบไม่ต่างจากการเลิกทาสไพร่เมื่อ 100 กว่าปี ก่อนเลย ถ้าคุณเกิดมาอยู่ในครอบชนชั้นกลางระดับบนหรือว่าชนชั้นสูง คุณก็สามารถตามหาความหมายของจักรวาลได้ แต่ถ้าคุณเกิดมายากจน เกิดมารักดีแค่ไหนก็คงได้แค่ทำงานเซเว่น ทำงานให้เจ้าสัวมั่งคั่งขึ้นไป เพราฉะนั้น คนเราจึงถูกกักขังด้วยชาติกำเนิด มีสิ่งเดียวที่จะทำให้ความรวยและความจนโดยกำเนิดของเราเป็นโมฆะได้ นั่นคือการสร้างรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจร”

เป็นบางตอนที่เขาเคยประกาศไว้บนเวทีแห่งหนึ่ง และนี่คือห้วงเวลาที่ใกล้เคียงที่สุด

วันกรรมกรสากลปีนี้ พี่น้องผู้ใช้แรงงานคงไม่ได้ออกไปรวมตัวแสดงพลังกัน คงต้องกักตัวอยู่บ้าน อยู่กับคนที่คุณรัก อยากเชิญชวนอ่านบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ เพื่อย้ำยืนยันความมั่นใจกันอีกครั้งว่า รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า และ UBI ในประเทศไทย เป็นไปได้

ษัษฐรัมย์ ในวันขึ้นเวทีปราศรัยเรื่อง “รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า” และ “UBI” หน้าธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ 25 พฤศจิกยน 2563

ก่อนอื่น อยากชวนลองให้คะแนนการทำงานของรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ในรัฐบาลของประยุทธ์ที่อยู่มาจนถึงวันนี้ ทั้งในสมัยของ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล จนถึง สุชาติ ชมกลิ่น ?

ผมไม่ลังเลใจเลยที่จะให้คะแนนศูนย์ เพราะไม่มีอะไรที่แสดงว่าเป็นสิ่งใหม่ และในขณะเดียวกัน อะไรที่น่าจะเป็นพื้นฐานซึ่งควรต้องทำกลับทำได้แย่ และยิ่งในช่วงวิกฤตโควิด ก็ตอบสนองทุกอย่างล่าช้า เรื่องการประสานงาน เรื่องการเยียวยาต่างๆ เรื่องที่เห็นว่าควรจะมีกระทรวงแรงงานเป็นหน้าด่านก็กลายเป็นว่าไม่ใช่ นี่ยังไม่นับรวมปัญหาในช่วงการชุมนุมทางการเมืองต่างๆ จะเห็นว่ามีการเลิกจ้างจากแนวคิดทางการเมืองเยอะ แล้วยังไม่นับว่ากระทรวงแรงงานเองก็กลายเป็นสมการหนึ่งที่ทำให้กลายเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

ตั้งแต่สมัยของ ม.ร.ว.จัตุมงคล มาจนถึงตอนนี้ คือสมัยของคุณสุชาติ พบว่าผู้บริหารยังมีความคิดแบบเดิม ที่ทำให้ผมรู้สึกตั้งคำถามว่า ตกลงแล้วนี่เป็นกระทรวงนายจ้างหรือว่ากระทรวงแรงงานกันแน่ คือวิธีการคิดกลับเป็นเพื่อปกป้องผลประโยชน์นายจ้าง โดยทำให้ผู้ใช้แรงงานพอใจกับสถานภาพที่เป็นอยู่ การบังคับใช้กฎหมายแรงงานต่างๆ ยิ่งมีความล่าช้า ในสภาพวิกฤตโควิดอย่างนี้ ยิ่งเปิดเผยแผลที่ค่อนข้างชัดเจนของกระทรวงนี้

เรื่องที่ควรทำ ไม่ทำ เรื่องทีไม่ควรทำ กลับทำ ?

เรื่องที่ควรทำก็อย่างที่บอกไป กระทรวงแรงงานควรจะเป็นหน้าด่านของการเยียวยาและการรักษางานของประชาชน ผมคิดว่านี่เป็นสิ่งเบื้องต้นที่คนเป็นรัฐมนตรีต้องแอคชั่น ในวิกฤตโควิด มีเรื่องที่เป็นหัวใจ 3 เรื่อง คือ สุขภาพ สวัสดิการ และงาน โดยในสองอย่างหลังนั้นอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงโดยตรง แต่กลายเป็นว่าไม่ทำ เพื่อให้เกิดการรักษางานและการเยียวยาให้ชีวิตคนไปต่อได้ คือ กระทรวงควรเป็นคนตั้งเรื่อง ตั้งประเด็นต่างๆ เข้าไป เพื่อให้มีกระบวนการเยียวยาที่ถ้วนหน้า รวดเร็ว แต่ทว่าสิ่งที่เราเห็นกลับไม่เกิดขึ้น ไม่มีการเยียวยาผ่านกระทรวงนี้เลย ที่มีก็แค่ประกันสังคมที่เป็นปกติอยู่แล้ว ไม่ได้สะท้อนความก้าวหน้าอะไรเลย

ส่วนสิ่งที่ไม่น่าจะทำแต่ดันทำ อันนี้ผมอ้างอิงจากการตอบของรัฐมนตรีคือคุณสุชาติ ต่อประเด็นที่มีการตั้งคำถามช่วงเกิดปรากฏการณ์ม็อบชนม็อบ คำถามว่ามีความข้องเกี่ยวกับผู้มีอิทธิพลที่จังหวัดชลบุรี ก็มีคำตอบหนึ่งของรัฐมนตรีแรงงาน ประมาณว่า ท่านรัฐมนตรีก็รู้จักบุคคลเหล่านี้ในฐานะผู้ที่จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์เหมือนกัน นี่เหมือนกับเป็นการเทียบเคียงให้เห็นว่า การเกิดปรากฏการณ์ม็อบชนม็อบต่างๆ นี้ ถือว่าเป็นเรื่องปกติ ถือว่สิ่งที่เกิดขึ้นสามารถเข้าใจได้ ซึ่งเหล่านี้ ส.ส.ปีกแรงงานพรรคก้าวไกลตั้งคำถามมาตลอดว่า เวลาของรัฐมนตรีแรงงาน ท่านให้ความสำคัญชีวิตผู้ใช้แรงงานมากพอมั้ย

อีกเรื่องสำคัญที่ผมอยากย้ำนอกเหนือจากเรื่องโควิด คือมีการเลิกจ้างจากทัศนคติทางการเมือง และส่วนมากถูกกดดัน บังคับให้อยู่ใต้เงื่อนไขการเซ็นใบลาออกเอง สิ่งเหล่านี้ รัฐบาลไทยเคยให้สัตยาบันในอนุสัญญาว่าด้วยการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและอาชีพ แต่ว่ากระทรวงแรงงานเองกลับนิ่งเฉย ผมในฐานะที่ปรึกษากรรมาธิการแรงงานเคยถามไปถึงกระทรวงเพื่อให้อธิบาย คาดหวังแค่ว่าให้กระทรวงมีหนังสือไปบอกนายจ้างทั่วไปว่าอย่าทำแบบนี้ มันผิดกฎหมาย ผิดตามอนุสัญญา แต่กระทรวงแรงงานกลับตอบกลับมาว่า ถ้ามีใครถูกเลิกจ้างให้ไปฟ้องเอา

ก่อนนี้กระทรวงแรงงานมีแค่เจ้ากระทรวง ตอนนี้เพิ่มตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยเข้ามาคือ  นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ไม่ได้ช่วยแบ่งเบา หรือทำให้งานดีขึ้นเหรอ ?

น่าสนใจว่า คุณนฤมลเข้ามาในประเด็นเรื่องการ อัพสกิล (Upskill) และ รีสกิล (Reskill) ของแรงงาน คือจะพูดเยอะเรื่องการเตรียมประสิทธิภาพแรงงาน แต่ทว่าก็ไม่ประสบความสำเร็จ น่าแปลกใจ คือคุณสุชาติก็เป็นถึงอดีตวิปพรรคพลังประชารัฐ คุณนฤมิลก็เป็นถึงอดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งถ้ามองดูตามชื่อชั้นของทั้งคู่ที่ผ่านมาก็ต้องถือว่าเป็นตัวใหญ่ๆ ของพรรคพลังประชารัฐ ดังนั้น มันต้องผลักดันประเด็นต่างๆ ให้ก้าวหน้าได้สิ มีอำนาจมากขนาดนี้ แต่สิ่งที่ผมเห็นก็คือ มันมี พ.ร.บ. ที่ถูกปัดตกโดยนายกรัฐมนตรี ถึง 2 ฉบับ ที่ยื่นโดยพรรคฝ่ายค้าน ผ่านกลไกกรรมาธิการแรงงาน

พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน ที่เป็นนโยบายหาเสียงของพรรคอนาคตใหม่ ที่วันนี้กลายมาเป็นพรรคก้าวไกล ซึ่งใช้กระบวนการที่ยาวนานมาก ในการจัดทำ แต่สุดท้ายนายกรัฐมนตรีมาปัดตก เพราะว่าเป็น พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับการเงิน ทั้งที่สิ่งที่เป็นเรื่องการเงินมีเรื่องเดียวคือการเพิ่มวันลาคลอด ซึ่งเกี่ยวข้องกับเงินประกันสังคม นี่เป็นจุดที่ภาคประชาชนพูดกันอยู่ว่า ทำไมนายกรัฐมนตรีถึงมีสิทธิตีตกเรื่องพวกนี้ ทั้งที่มันเป็นเรื่องที่ควรจะเอาไปถกเถียงในสภา มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาร่วม หาจุดร่วมกัน

ยังไม่นับอีกตัวหนึ่ง ที่เสนอผ่านกรรมาธิการ คือการ แก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงาน มาตรา 4 คือการให้กฎหมายคุ้มครองแรงงานบังคับใช้กับคนที่ทำงานภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้าง พนักงาน ถ้ายังไม่มี พ.ร.บ คุ้มครองที่ดีกว่ากฎหมายแรงงานนะ ต้องใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานในการควบคุมซึ่งมาตรา 4 ยกเว้นไว้ เราจะเห็นได้ว่า ทำไมยังมีนักการภารโรงที่ได้รับเงินเดือน 6,000 บาท ซึ่งมันต่ำกว่ากฏหมายแรงงานอยู่ ทำไมยังมีแม่บ้านที่ไม่มีห้องพัก ซึ่งขัดกับกฎหมายเรื่องความปลอดภัยในที่ทำงานที่คุณต้องจัดห้องพักให้กับแม่บ้านในที่ทำงาน แม้แต่ในมหาวิทยาลัย ในรัฐสภาเอง แม่บ้านต้องไปอาศัยตามซอกห้องน้ำ ซอกอะไรต่างๆ เป็นที่พักผ่อน นี่มันต่ำกว่ากฎหมายแรงงาน

เรื่องแบบนี้มันเกิดขึ้นได้เพราะว่ากฎหมายคุ้มครองแรงงานมาตรา 4 ยกเว้นไว้ ซึ่งทางกรรมาธิการแรงงานนำโดย ส.ส.ปีกแรงงานพรรคก้าวไกล ได้ยื่นแก้ไขกฎหมายตัวนี้ไป หวังว่าอย่างน้อยที่สุดให้บังคับใช้ โดยคุณต้องห้ามมีครูผ้าป่า คือ ครูประเภทที่ชาวบ้านระดมเงินทอดผ้าป่ากันแล้วนำมาจ้าง อย่างนั้นต้องไม่มี ตามกฏหมายแรงงานรัฐบาลต้องเข้ามาควบคุมดูแล ให้เป็นไปตามมาตรฐาน แต่ก็เช่นเดียวกัน นายกรัฐมนตรีก็ตีตกไป เพราะเห็นว่าสิ่งเหล่านี้ไม่มีความสมเหตุสมผลทางด้านการเงิน

รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับชีวิตผู้ใช้แรงงานอย่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ ที่เสนอเข้ามาโดยภาคประชาชน กับอีก 3 พรรคการเมือง ก็ถูกตีตกหมดเลย

อย่างนี้สะท้อนอะไร ?

ผมคิดว่า ถ้ารัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เห็นความสำคัญของผู้ใช้แรงงานจริง ทำไมกฎหมายเหล่านี้ถึงตกหมดเลย คือคุณต้องเป็นตัวตั้งตัวตีในการผลักดัน ช่วยดิเฟ้นด์ ( defend) ในคณะรัฐมนตรี ช่วยดิเฟ้นด์กับนายกรัฐมนตรีเรื่องพวกนี้สิ แต่นี่ชัดเจนมากว่า เรื่องพวกนี้ไม่เคยถูกผ่านเข้าไปอยู่ในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระดับนโยบายเลย เราอาจจะเห็นรัฐมนตรีไปเปิดงานเยียวยาอะไรต่างๆ บ้าง แต่ผมคิดว่าอีกหน้าที่สำคัญของฝ่ายบริหารคือการผลักดันนโยบายที่มันก้าวหน้า แต่กลายเป็นรัฐบาลชุดนี้มีส่วนสำคัญในการตีตก พ.ร.บ. ที่มันมีความก้าวหน้าหลายตัว และผมคิดว่ารัฐมนตรีแรงงานก็มีความสัมพันธ์ด้วยนะ การที่คุณไม่ออกมาปกป้อง หรือไม่มีความพยายามอย่างยิ่งที่จะผลักดันเรื่องพวกนี้

1 ปี สถานการณ์โควิด อยากให้ช่วยสะท้อนปัญหา สภาพชีวิตของพี่น้องผู้ใช้แรงงานว่าเป็นอย่างไรบ้าง ?

สิ่งที่ผมอยากย้ำ ในทางการเมืองและตัวเลขจริงๆ ผมว่าสามารถใช้คำนี้ได้คือ “เราทุกคนคือแรงงาน” เพราะฉะนั้น มันจึงไม่ได้ว่าเป็นเรื่องของแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม หรือแรงงานคนที่ถูกเลิกจ้าง สิ่งหนึ่งที่เราเห็นในช่วงนี้คือ ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา มีความล้มเหลวอยู่ 2 มาตรการใหญ่ คือ มาตรการเยียวยากับมาตรการรักษางาน

มันมีคนที่ตกงานปริมาณมหาศาล แล้วงานวิจัยหลายชิ้นพบว่า การตกงานในช่วงโควิด มันคือ ‘แผลเป็น’ ของชีวิตคน ที่จะไม่สามารถกลับไปมีชีวิตใหม่ได้โดยง่าย สมมติว่าคุณตกงานตอนอายุ 45 ปี คุณจะกลับมาเริ่มงานใหม่เมื่ออุตสาหกรรมใหม่ฟื้นตัวก็ทำไม่ได้ เทียบง่ายๆ ว่า ถ้าคุณต้องกู้เงินนอกระบบในช่วงโควิด 30,000 บาท คุณต้องใช้เวลากี่ปี่ในการใช้หนี้ก้อนนี้หมด ผมว่าอย่างน้อย 3-5 ปี หรือบางทีอาจจนเกษียณ นี่คือปัญหาใหญ่

คนกำลังจะสูญเสียความฝันไป เพราะคนกำลังจะสูญเสียงาน และสิ่งที่ผมเห็นกับแรงงานรุ่นใหม่คือ คนที่เรียนจบก็ไม่สามารถไปทำงานในสิ่งที่ตัวเองถนัดและได้รับค่าจ้างที่เหมาะสมได้ เพราะว่าอำนาจในการต่อรองต่ำ และยังไม่นับรวมถึงเด็กจบ ม.6 ซึ่งผมย้ำว่าเราต้องใส่ใจคนกลุ่มนี้ในสมการการเป็นผู้ใช้แรงงานด้วย ด้านที่พวกเขาไม่สามารถที่จะเรียนต่อในมหาวิทยาลัยได้ด้วยเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจ จากการสำรวจเบื้องต้น ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ จะไม่ได้กลับมาเรียนต่อแล้ว หมายความว่า ปีนี้เศรษฐกิจแย่ คุณออกไปทำงานก่อนแล้วคิดว่าค่อยกลับมาเรียนต่อใหม่ ปรากฏว่า 80 เปอร์เซ็นต์ คือไม่ได้กลับมาเรียนแล้ว ไปแล้วไปลับ เช่นเดียวกับเด็กที่ต้องดร็อปเรียนในช่วงเวลานี้ด้วย

เรากำลังสูญเสียอนาคตของคนเหล่านี้ไป ?

นี่คือคนที่กำลังจะมีส่วนร่วมกับเศรษฐกิจในอนาคตอย่างมาก แต่ถ้าไม่ได้เรียนต่อ ความฝัน อนาคตก็พัง คือมันมีกรณีอย่างที่ จ.อุบลราชธานี เยาวชนคนหนึ่งเรียนไปด้วย ทำงานร้านหมูกระทะด้วย จากเดิมที่เคยทำงานได้เดือนละ 5,000- 6,000 บาท พอเป็นค่าใช้จ่าย กลายเป็นว่าพอร้านปิดตัว เขาต้องมาขับแกร็ป จากวันหนึ่งเคยทำงาน 6 ชั่วโมง กลายเป็นต้องทำ 15 ชั่วโมง เพื่อให้ได้รับเงินเท่าเดิม ซึ่งสถานการณ์อย่างนี้ มันจะนำมาสู่จุดสุดท้ายคือไม่ไหว ทำให้เขาไม่อาจเรียนต่อได้ ต้องออกมาทำงานขับแกร๊ป หรือขับไลน์แทน แบกรับความเสี่ยงไป

ผมอยากจะย้ำให้เห็นว่า มันมีบาดแผล มีแผลเป็นที่เกิดขึ้น อย่างที่เราทราบกันคือ มีคนจำนวนมากที่เป็นมากกว่าแผลเป็น นั่นก็คือการจบชีวิต คือการปลิดชีวิตของตัวเอง เพราะว่ามาตรการของรัฐที่มันช้าเกินไป น้อยเกินไป และการที่รัฐไม่เคยมองเห็นว่าชีวิตของผู้ใช้แรงงานมีความสำคัญ

อย่างกรณีของคุณ “ปลายฝน” วันนี้ก็ผ่านมา 1 ปีเต็ม แต่สถานการณ์ทุกอย่างคล้ายกับยังคงเหมือนเดิม ?

เรื่องของคุณปลายฝน ที่ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองเมื่อปีที่แล้ว ทำให้ผมเศร้า และคิดอะไรหลายอย่าง คือเวลาที่ผมพูดเรื่องการผลักดัน พ.ร.บ คุ้มครองแรงงาน ฉบับพรรคอนาคตใหม่-พรรคก้าวไกล ผมก็เคยบอกตัวเองว่า เออ คนทั่วไปอาจจะไม่ได้สนใจ แต่ว่ามันมีวันหนึ่งที่ผมมีโอกาสสนทนากับพนักงานรักษาความปลอดภัย คือเขาตามข่าวต่างๆ อยู่ แล้วเขามาทักและบอกกับผมว่า เสียดายนะ ที่ พ.ร.บ.ถูกตีตกไป คือผมก็ตกใจว่า เราคิดว่าไม่เป็นเรื่องสำคัญ เรื่องการเปลี่ยนจ้างงานแบบรายวันเป็นรายเดือน เรื่องการลดชั่วโมงทำงานจาก 48 ชั่วโมง เหลือ 40 ชั่วโมง คือเขาบอกว่า ถ้ากฎหมายนี้ผ่าน มันเปลี่ยนชีวิตของเขาประมาณหนึ่งเลย อย่างน้อยที่สุด เขาจะได้มีเวลากลับบ้านไปอยูกับครอบครัว หรือเขาอาจจะได้บรรจุเป็นพนักงานรายเดือนที่มีเงินเดือนแน่นอนสักที ไม่ต้องควงกะทำงานทั้งวัน นี่คือเรื่องสำคัญสำหรับเขา

เรื่องบางอย่าง สำหรับเราอาจมองเป็นเรื่องเล็กน้อย ดูเหมือนว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่ว่ามันมีคนกลุ่มหนึ่งที่เขารอคอยเรื่องพวกนี้ และคุณปลายฝนก็ไม่ได้เป็นศพเดียวในช่วงสถานการณ์ของโควิด มันมีคนอีกมากมายที่ต้องอยู่กับแผลเป็นที่มันส่งทอดมาถึงทุกวันนี้ การเยียวยาและรักษาอาชีพ รัฐบาลทำได้แย่มากๆ ในช่วงที่ผ่านมา

ได้ยินพูดเรื่องการรักษางานไว้บ่อยๆ พอมีตัวอย่างของต่างประเทศที่มีมาตรการเรื่องพวกนี้มั้ย ?

ถ้าเทียบต่างประเทศ โควิดของเขาก็ระบาดรุนแรง อย่างในยุโรปหรืออเมริกาเองก็รุนแรงกว่าประเทศไทยเยอะมาก ทั้งในแง่ของตัวเลข ตั้งแต่ปี 2563 เรื่อยมา และแม้ปัจจุบันตัวเลขอัตราผู้ติดเชื้อของเราก็พอๆ กับอังกฤษที่ฉีดวัคซีนกันแล้วครึ่งประเทศราววันละ 2,000 คน แต่ที่ผมอยากยกตัวอย่าง คือในกรณีของเยอรมัน สิ่งที่เขาทำลำดับแรกในสถานการณ์นี้คือ รัฐบาลโอนเงินให้แก่บริษัทเพื่อทำการจ้างพนักงานต่อ บริษัทไหนที่ต้องปิด 100 เปอร์เซ็นต์ตามคำสั่งของรัฐ เช่น ฟิตเนส ร้านอาหาร ผับต่างๆ ที่ไม่สามารถดำเนินการได้ เขาโอนเงินเดือนพนักงานให้ ทำอย่างไรก็ได้ให้พนักงานมีเงินเดือน แม้ว่าคุณไม่ได้เปิดร้านเลยเป็นเวลา 5-6 เดือน

เพราะเขารู้ดีว่า ถ้าคนต้องสูญเสียงานไป มันจะทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจลำบาก สิ่งที่เขาทำก็คืออัดฉีดเงินเพื่อเก็บงานของคนไว้ พอเศรษฐกิจฟื้นก็แค่เปิดร้าน และพนักงานก็กลับเข้ามาทำงานใหม่ เขาคิดว่า แค่นี้ประชาชนก็ลำบากมากพอแล้ว อารมณ์ของคนก็แย่พอแล้ว กำไร การขยายตัวของบริษัทก็หยุดนิ่ง แต่ที่สำคัญที่เขาจะไม่ทำคือ การทำให้คนรู้สึกสิ้นหวังในเรื่องเศรษฐกิจไปมากกว่านี้ อย่างน้อยคือการเก็บคนไว้ได้

ซึ่งต่างจากประเทศไทย สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เราจะเห็นว่าในช่วงปี 2563 แรงงานในภาคบริการต้องกลับไปอยู่กับภาคเกษตร ซึ่งภาคเกษตรเดิมทีมันอยู่ไม่ได้ มันอยู่ได้เพราะภาคบริการส่งเงินมาให้ ตายายทำนาด้วยกัน 2 คน โดยเฉลี่ยหักต้นทุนเหลือประมาณเดือนละ 8,000 กว่าบาท นี่คืออย่างมากนะ อยู่ไม่ได้ ต้องมีภาคบริการส่งเงินมาให้ แต่ทีนี้พอภาคบริการกลับไปอยู่กับภาคเกษตร ตรงนี้คือความตึงเครียดของความสัมพันธ์ในครอบครัว

อย่างไรก็ตาม พอเศรษฐกิจเริ่มฟื้นกลับ พวกเขาก็ได้กลายมาเป็นแรงงานอิสระ คนที่เคยเป็นพนักงานรายเดือนก็กลายเป็นพนักงานรายวัน คนที่เคยเป็นพนักงานรายวันก็กลายเป็นเหมาค่าแรง คนที่เคยเหมาค่าแรงก็ต้องมาเป็นแรงงานนนอกระบบไม่มีการจ้างงานแบบคิดเป็นทางการ นี่กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่มันกำลังเกิดขึ้น

ความมั่นคงที่พอมีอยู่บ้าง ยิ่งกลายเป็นความไม่มั่นคง ?

ใช่ ความไม่มั่นคงที่มันเกิดขึ้น มันทำให้คนวางแผนเกี่ยวกับชีวิตของตัวเองไม่ได้ พอวางแผนเกี่ยวกับชีวิตตัวเองไม่ได้ สถานะทางเศรษฐกิจมันก็ถดถอย และยิ่งกับเด็กรุ่นใหม่ แรงงานรุ่นใหม่ การที่เขาต้องเริ่มงานในสถานการณ์แบบนี้มันเป็นเวลาที่หนักหน่วงมาก แต่ว่ารัฐบาลใส่ใจพวกเขาน้อยมาก เรื่อง กยศ. เรื่องการลดค่าเล่าเรียน รัฐบาลช่วยพวกเขาน้อยมาก และทิ้งให้พวกเขาในช่วงเวลาที่เคว้งคว้างที่สุดในวัยที่มันสับสนมากที่สุดด้วย นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้น แรงงานรุ่นใหม่อยู่ในช่วงเวลาที่ลำบากมาก

ทำให้ในอีกด้านหนึ่ง มันก็เกิดความรู้สึกเกลียดชัง ชิงชัง การตั้งคำถามในหมู่คนรุ่นใหม่ก็เกิดขึ้นแบบขนานใหญ่เช่นเดียวกัน

สถานการณ์โควิด เป็นจังหวะดีที่เราจะได้ผลักดันเรื่องรัฐสวัสดิการ เรื่อง UBI ?

จะเป็นข้อดีมั้ยก็คงพูดได้ไม่เต็มปาก แต่ว่ามันช่วยทลายมายาคติอะไรหลายอย่างเช่นกัน คือ อันดับแรก เราไม่เถียงกันแล้วว่าเอาเงินมาจากไหน เพราะเราเห็นแล้วว่าประเทศนี้มีเงินมากพอในการที่จะดูแลประชาชน และสิ่งที่เราเห็นหลายอย่าง แม้ว่ามันจะเป็นนโยบายที่ไม่ได้ก้าวหน้ามาก อย่างเช่น โครงการคนละครึ่ง โครงการ ม.33 เรารักกัน แม้ว่ามันจะไม่ได้ก้าวหน้ามาก แต่เราเห็นว่าเมื่อคนได้เงิน มันไม่ได้น่ากลัวมากอย่างที่คิด คือแต่ก่อนนักวิชาการพวกเสรีนิยมมักจะประสาทแดกล่วงหน้าถ้าคนธรรมดาได้เงิน กลัวว่าเดี๋ยวต้องใช้จ่ายแบบฟุ่มเฟือย ไม่มีวินัย ขาดการวางแผน ประเทศเราจะเป็นแบบกรีซ แบบเวเนซุเอลา มันจะมีผีอย่างนี้คอยหลอกหลอน

แต่ในสถานการณ์นี้พิสูจน์แล้ว เงินที่รัฐให้ที่ผ่านมาต้องถือว่าเป็นสเกลที่ใหญ่และเยอะ แต่เราก็เห็นว่า คนก็ไปใช้ในสิ่งที่จำเป็นสำหรับเขา ถามว่า มีคนที่เอาตรงนี้ไปเทรดเป็นเงินสดมั้ย มันก็มี แต่มันน้อยมาก ไม่ได้แบบเยอะขนาดนั้น

เงินมี พฤติกรรมการใช้จ่ายของคนก็ไม่น่ากลัว ซึ่งนี่ทลายมายาคติเรื่องรัฐสวัสดิการไปเยอะเหมือนกัน วันนี้ผมไม่ต้องเถียงกับใครแล้วว่าจะเอาเงินมาจากไหน ไม่ต้องเถียงกับใครแล้วว่าคนจะงอมืองอเท้าอยู่บ้าน เพราะว่าคนก็ยังอยากได้งาน ยังอยากหางาน ยังอยากออกไปทำงาน แม้จะมีเงินตัวนี้อยู่

เรื่องเงินเด็ก เงินคนแก่ หรือว่าแม้แต่การเรียนหนังสือฟรีในระดับมหาวิทยาลัย ผมคิดว่ามายด์เซ็ต (Mindset)โดยรวมของคนไทยไม่ได้มีปัญหาต่อเรื่องเรื่องรัฐสวัสดิการแล้ว แต่มีปัญหากับกลุ่มชนชั้นนำในรัฐบาล หรือชนชั้นนำในสังคมไทยที่ยังขวางอยู่ ทุกคนคิดว่าเป็นไปได้ และควรจะเป็น เหลือแค่การต่อสู้ทางการเมืองให้ปลดล็อกได้มาแค่นั้นเอง

มองการที่เจ้าสัว หรือ ซีอีโอ ออกมาแนะนำรัฐบาลตอนนี้อย่างไร ?

ผมคิดว่าความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับนายทุนแนบชิดกันมานานอยู่แล้ว ก่อนที่จะมีการออกมาชี้แนะ เราก็เห็นมีการออกมาเป็นระยะๆ อยู่แล้ว เอาเข้าจริง ผมไม่ได้พูดตลกนะ จริงๆ แล้วผมคิดว่าพวกเขาคงมีกรุ๊ปไลน์คุยกันที่ค่อนข้างสนิทชิดเชื้อ สามารถคุยกันได้ จริงๆ แล้ว ในกรรมาธิการหรืออนุกรรมาธิการต่างๆ ของรัฐสภาที่ใหญ่ที่สุดในโลกนี้ ก็มีตัวแทนเจ้าสัว ตัวแทนนายจ้างอยู่เต็มไปหมดเลย ยังไม่ต้องนับรวมถึง ส.ส.ที่มีความสัมพันธ์โดยตรงนะ

กรณีนี้ก็เป็นความสัมพันธ์โดยปกติธรรมดาที่นายทุนกับรัฐสัมพันธ์กัน เพียงแต่เป็นการส่งสัญญาณว่า มันมีสิ่งที่เขาต้องการที่มันชัดเจนแบบนี้ และรัฐบาลอาจจะทำช้าเกินไป เขาจึงออกมา แต่ก็น่าสนใจว่า ที่ผ่านมาเสียงของประชาชนมันไม่เคยถูกพิจารณา ไม่เคยถูกให้ความสำคัญ ถ้าเทียบกับเสียงของนายทุน

กับสถานการณ์แรงงานตอนนี้ ถ้าจะให้ช่วยให้คำแนะนำนายก สำหรับมาตรการเพื่อพี่น้องแรงงาน ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ควรเป็นอย่างไร ?

ระยะสั้นที่สุด คือ สำหรับเรื่องแรงงานจริงๆ คือสิ่งที่ผมพยายามจะสะท้อนถึงชนชั้นนำมาโดยตลอดว่า วันนี้ รัฐสวัสดิการถ้วนหน้ามันยังสามารถเป็นทางออกที่จะเรียกให้สังคมมีจุดประนีประนอมกันได้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเห็นพ้องต้องกันนะ แต่เป็นจุดที่ทำให้คนได้มายืน แล้วสามารถคุยกัน เจรจากันภายใต้เงื่อนไขความขัดแย้งได้ รัฐสวัสดิการถ้วนหน้าเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ และทำให้สังคมมาถึงจุดที่จะคุยเรื่องอื่นหรือแก้เรื่องอื่น ไปกันต่อได้

แต่ว่าถ้าช้ากว่านี้ เมื่อความโกรธ ความไม่พอใจของคนไปไกลกว่านี้ รัฐสวัสดิการอาจไม่สามารถที่จะเยียวยาได้แล้ว คือรัฐสวัสดิการมันเคยประสบความสำเร็จในสังคมที่เกิดวิกฤตมากๆ มันทำให้ฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายมาคุยกันและหาทางออก แต่ว่าถ้ามันช้า ผมคิดว่าบางทีรัฐสวัสดิการก็อาจจะไม่เพียงพอในการเยียวยาผู้คน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ และความพอใจทางการเมือง

เพราะฉะนั้น เรื่องเงินเลี้ยงดูเด็ก เงินบำนาญถ้วนหน้า การยกหนี้ กยศ. หรือว่าทำอะไรต่างๆ อย่างยกระดับประกันสังคมที่สามารถไปคุ้มครองแรงงานอิสระ แรงงานนอกระบบ ให้เขาดีมากกว่าที่เป็นอยู่นี้ คุณทำตอนนี้ คุณจะใช้เงินเพิ่มอีกประมาณปีละ 1 ล้านล้านบาท แต่มันจะทำให้ประเทศไม่ล่มสลายนะ แต่วันนี้ผมคิดว่ารัฐบาลดูเบามาตลอด ตั้งแต่ม็อบของคนรุ่นใหม่ ตั้งแต่วิกฤตโควิด คิดแต่ว่ามันสามารถที่จะฟื้นตัวได้ เหมือนกับคอยว่าจะให้ดินฟ้าอากาศลมฝนพัดผ่านไปทุกอย่างจะดีขึ้นเอง แต่ไม่ใช่ ดังนั้น ระยะสั้น ผมคิดว่าต้องรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าเท่านั้น

ส่วนในระยะกลาง และระยะยาว สิ่งหนึ่งที่อยากชี้ให้เห็นคือ ต้องปลดล็อกเรื่องการเมืองที่ทำให้เดินหน้าไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ ไม่อย่างนั้นจะทำให้พื้นที่การเจรจาต่างๆ ไม่มี และสิ่งหนึ่งที่ผมเห็นคือ การต่อสู้ในครั้งนี้มันเป็นมากยิ่งกว่าการต่อสู้เรื่องเจเนอเรชัน (Generation) มันมีประเด็นชนชั้นที่แหลมคมมากขึ้น ชนชั้นทางเศรษฐกิจ ชนชั้นทางการเมือง จะสังเกตว่า ทำไมเรื่องรัฐสวัสดิการมันอยู่ในทุกม็อบเลย ทั้งม็อบธรรมศาสตร์และการชุมนุม ม็อบเยาวชนปลดแอก หรือม็อบรีเดม ฯลฯ เพราะเขารู้ว่า เขาเงยหน้าไปในประเทศนี้ตอนนี้มันไม่เห็นอนาคต ทั้งเรื่องการเมือง เรื่องเศรษฐกิจ เขาเชื่อมได้ เป็นเรื่องเดียวกัน

ถ้ารัฐบาลอยากจะทำให้ทุกอย่างคลี่คลาย ระยะสั้นคือรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ระยะกลางคือการปรับเปลี่ยนเรื่องกลไกการเมือง อำนาจนิยมให้ลดน้อยลง และระยะยาวก็เป็นเรื่องประชาชนว่ากันไป นี่คือสิ่งที่ต้องทำ

ถ้าช้าไปกว่านี้ คาดการณ์ได้มั้ยว่าจะไปสู่จุดไหน ?

จริงๆ แล้วในทางการเมืองมันก็คงไม่มีการพยากรณ์อะไรที่แม่นยำ แต่ผมคิดว่า จากปี 2563 เป็นต้นมา รัฐบาลน่าจะเห็นแล้วว่ากำลังสูญเสียคะแนนนิยมกับคนหลักล้านคนไปเลย และแน่นอนว่าส่วนหนึ่งก็คือคนรุ่นใหม่ที่มีปีละ 7-8 แสนคน คุณนับถอยหลังไปเลย คนที่อายุน้อยกว่า 30 ปี เขาไม่สามารถไปกับโครงสร้างที่เป็นอยู่นี้แล้ว เขาไม่โอเคกับระบบนี้ เพราะฉะนั้น เมื่อผนวกกับสถานการณ์โควิดที่ระบาดมากขึ้น ถ้าช้ากว่านี้ก็สองด้าน ประชาชนลุกสู้ให้ได้มา หรืออีกด้านหนึ่งก็เละเทะไม่เหลืออะไรเลย

ผมไม่อยากเห็นทั้งสองอย่างนี้ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการลุกฮือจนเกิดการปะทะ และการที่ประเทศนี้ชนชั้นนำสร้างกำแพงสูงขึ้นเรื่อยๆ แล้วโยนประชาชนอย่างพวกเราออกมา นี่คือจินตนาการที่น่ากลัว คือมันคงมีคนที่รอดแหละ แต่สำหรับผมเองรวมถึงคนส่วนใหญ่ นี่คือสิ่งที่เราไม่พึงประสงค์

ในการเลือกตั้งครั้งหน้า คิดว่านโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ จะมีเรื่องรัฐสวัสดิการ และเรื่อง UBI มากน้อยแค่ไหน ?

ตอนนี้ เรื่อง UBI ถูกพูดถึงกันมากขึ้น แต่ว่าเท่าที่ผมดู พรรคการเมืองก็ยังกล้าๆ กลัวๆ ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล เพราะนี่เป็นเรื่องใหม่ เรื่องที่ว่าทุกคนมีเงินเดือนเป็นอะไรที่ใหม่มาก แม้แต่ในประเทศรัฐสวัสดิการ เขาทำให้ทุกคนมีงานทำ แต่ว่าถ้าใครไม่ได้ทำงานก็รับเบี้ยว่างงานไป แต่เรื่องการให้เปล่าเงินกับคนไปเลยนั้น ก็ยังเป็นแค่ในระดับท้องถิ่น หรือระดับการทดลองอยู่ เช่น ในรัฐอลาสก้า ที่ทำกันอย่างจริงจังเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมอยากพูดคือ เรื่อง UBI คนอาจคิดว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่ว่าถ้าเราคิดง่ายๆ ว่า การแก้เรื่องคนจน ก็คือการทำให้คนจนมีเงิน หรือถ้าอยากให้คนมีสุขภาพดี ก็ต้องทำให้คนรักษาฟรี ถ้าเรากลับมาคิดง่ายๆ แบบนี้ มันก็เป็นไปได้ ผมมีโอกาสฟังเสวนาสาธารณะในหลายครั้งเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็ยังรู้สึกว่า นักการเมืองยังไม่ซื้อไอเดียเรื่องนี้เต็มที่นัก

ผมอยากเชียร์พรรคการเมืองให้กล้าๆ เพราะนโยบายที่ก้าวหน้าแบบนี้เท่านั้นที่จะทำให้คุณอยู่ในใจคนรุ่นใหม่ได้ คือถ้าเราออกแบบนโยบายด้วยการกดเครื่องคิดเลข และใช้ความเป็นไปได้ของคนรุ่นก่อน ผมคิดว่าอย่างนั้นจะมีปัญหา เพราะตัวเลขมันคือความเป็นไปได้ของคนรุ่นก่อน คุณมีน้ำอยู่ในขวดแค่นี้ คุณเลยคิดได้แค่น้ำในขวด แต่ไม่ได้มองว่ามันมีไอน้ำ มีหยดน้ำ มีแม่น้ำลำธาร มีมหาสมุทร ที่เราจะเอามาใช้ได้

เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าพรรคการเมืองจำเป็นต้องก้าวออกจากกรอบการกำหนดนโยบายแบบเดิม และพยายามมองว่า คนรุ่นใหม่ต้องการอะไรจริงๆ คืออย่ามองเขาด้วยสายตาพ่อที่อยากให้ลูกเป็นอะไร แต่ให้มองในสายตาที่ว่า ถ้าคุณเป็นเขา คุณอยากโตมาในสังคมแบบไหน

คนรุ่นใหม่เขาไม่ได้มีปัญหาอะไรกับเรื่องนี้เลย คนที่มีปัญหาคือคนที่ไม่คุ้นชินกับเสรีภาพ ความเสมอภาค และก็ดันคิดว่าคนรุ่นใหม่ไม่คุ้นชินกับเรื่องนี้ด้วย คือมันจะมีปัญหาอะไรกับการที่คนแก่ทุกคนมีเงินเดือน จะมีปัญหาอะไรกันกับการที่เด็กทุกคนมีเงินเลี้ยงดู จะมีปัญหาอะไรกันกับการที่ทุกคนเรียนหนังสือฟรี และจะมีปัญหาอะไรกันกับการที่ทุกคนมีเงินเดือนยืนพื้นกันคนละ 4,000-5,000 บาท เพื่อทำให้ไม่ต้องกังวลเวลาจะเปลี่ยนงาน หรือฝึกสกิลใหม่ๆ หากอยากเปลี่ยนงาน

พรรคฝั่งรัฐบาลจะมีวี่แววบ้างไหมที่ร่วมผลักดัน เสนอนโยบายเรื่องเหล่านี้ ?

ถ้าเขาคิดจะทำหรือเป็นนโยบายหาเสียงก็ต้องทำให้เกิดขึ้นมาในตอนนี้ เพราะเป็นจังหวะที่ดีมากสำหรับพวกเขา เพราะมีอำนาจในการผลักดัน แต่ถ้าคุณยังเลือกใช้วิธีการทำพื้นที่แบบเดิม เช่น ใกล้เลือกตั้งก็ไปแจกข้าวของ ทุ่มงบประมาณลงไป ซึ่งไม่ใช่ว่าอย่างนั้นไม่สำคัญ แต่ประเด็นคือว่า ถ้าคุณมีอำนาจรัฐอยู่ในมือ อย่างน้อยที่สุด คุณต้องทำให้ พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติมันผ่าน จะผ่านโดยหน้าของใครก็ได้ชาวบ้านเขาไม่สนใจหรอก จะเป็นกฎหมายของภาคประชาชน หรือของ ส.ส. ฝ่ายค้าน แต่ถ้าทำได้ในรัฐบาลคุณ น้ำหนักการหาเสียงเรื่องนี้ก็จะมีผล

กลับกัน ถ้าว่าสมมติจะมีการเลือกตั้งปีหน้า แล้วคุณบอกว่าคุณเสนอเรื่องรัฐสวัสดิการ เสนอเรื่อง UBI ชาวบ้านก็คงถามกลับมาว่า แล้วที่ผ่านมาไม่เห็นทำอะไรเลย แม้แต่พรรคที่คุมกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตอนหาเสียงเรื่องเด็ก คุณพูดเรื่องเกิดปั๊บรับแสน ซึ่งมันก็ใช้เงินน้อยมากนะ แต่พอมาเป็นรัฐบาล คุณก็ยังไม่ทำเลยในช่วงที่ผ่านมา นี่ชี้ให้เห็นแล้วว่า ถ้าพรรคฝั่งรัฐบาลจะทำเรื่องพวกนี้ มันต้องมีสัญญาณอะไรที่ชัดเจนมากกว่านี้

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า