ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ : การกลับมาของจิตร ภูมิศักดิ์ “คุณเพิกเฉยตัวเขาได้ แต่ไม่อาจเพิกเฉยงานของเขาได้เลย !”

30 กันยายน 2563

ถ้าวันนี้ “จิตร ภูมิศักดิ์” ยังมีชีวิตอยู่ เขาจะมีอายุครบ 90 ปี พอดี 

ปัญญาชน นักคิด นักเขียน และนักปฏิวัติคนสำคัญของไทยผู้นี้ เกิดเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2473  และในโอกาสนี้เอง ทำให้คณะกรรมการนิสิตอักษรศาสตร์ (ก.อศ.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนิสิตจุฬาฯ กลุ่มหนึ่งร่วมกันจัดงาน “90 ปีชาตกาล จิตร ภูมิศักดิ์” มีกิจกรรมรำลึกตลอดเดือนกันยายน – ตุลาคม โดยก่อนงานเริ่มมีโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ตั้งอยู่ในกรอบป้ายไฟแอลอีดีอย่างโดดเด่นกลางห้างสรรพสินค้าจามจุรีสแควร์ และเมื่องานดำเนินไปก็ได้รับความสนใจเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง  ซึ่งแน่นอนมากกว่าในยุคสมัยที่เขายังมีชีวิตอยู่ 

คณะก้าวหน้า ชวน ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ พูดคุยเกี่ยวกับเรื่องราวของจิตรและบริบทการเมืองในยุคสมัยนั้น ขณะเดียวกันก็ไม่ลืมนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับยุคสมัยปัจจุบัน ในวันที่เกิดกระแสการชุมนุมของนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนเป็นจำนวนมาก รวมถึงกระแส #รับพี่จิตรคืนจุฬา ที่น้องๆ พยายามมอบความชอบธรรมใน “รั้วจามจุรี” คืนให้กับ “พี่จิตร” หลังจากที่เขาถูกนิสิตกลุ่มหนึ่งจับ “โยนบก” ซ้ำยังต้องถูกพักการเรียนไป 1 ปี โดยที่ความผิดคือแค่เขียนหนังสือจริงๆ เหรอ? 

อ่านบทสนทนาถึงจิตรอย่างจุใจนับตั้งแต่บรรทัดถัดไปได้เลย ! 

คำถามแห่งยุคสมัย “ถ้าจิตรยังมีชีวิตอยู่” เขาจะเป็นอย่างไรในวันนี้ ?

น่าสนใจว่าคนรุ่นจิตร ภูมิศักดิ์ ที่เป็นฝ่ายซ้าย และในช่วงรัฐประหาร 2500 นั้น พวกฝ่ายซ้ายนี้ก็ร่วมกันตี จอมพล ป.พิบูลสงคราม เพื่อสนับสนุนจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ทำรัฐประหาร พวกเขาพร้อมร่วมกันล้มจอมพล ป. โดยอธิบายว่าอยู่มานานแล้ว  พวกเขาพร้อมร่วมกันตีรัฐทหารแต่กลับไม่ตีรัฐศักดินา และถ้าเราดูคนรุ่นนั้นที่เติบโตมาก็กลับกลายเป็นว่ามีแนวโน้มหันไปภักดีกับศักดินา ดังที่จะเห็นอย่างกองทัพปลดแอกเพื่อประชาธิปไตยปกป้องสถาบันหลักของชาติและปกป้องตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อะไรเทือกๆ นั้น เพราะพวกนี้เข็ดขยาด ผ่านการต่อสู้มา กลับจากพรรคคอมมิวนิสต์ด้วยความพ่ายแพ้จึงมาปรับตัวใหม่ ตีทุน ไม่ตีศักดินา

ถามว่าถ้าจิตรยังอยู่ถึงตอนนี้ คิดว่าก็มีแนวโน้มที่คงจะคิดหนัก แต่ผมเชื่อว่าจิตรจะไม่ไปอยู่ฝ่ายสนับสนุนศักดินาอย่างแน่นอน เพราะงานของจิตรก้าวหน้ามากเมื่อเที่ยบกับฝ่ายซ้ายคนอื่นๆ ที่แทบไม่มีใครอธิบายเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ได้ดีกว่าจิตร ส่วนใหญ่ก็แค่รู้สึกชอบในด้านความคิด แต่ไม่เคยมีงานที่จะอธิบายโดยใช้แนวคิดคอมมิวนิสต์เข้ามาจับ อย่าง “โฉมหน้าศักดินาไทยในปัจจุบัน” ได้ฉีกหน้าศักดินาอย่างชัดเจน จิตรนั้นเคยคลั่งชาติ เกลียดเพื่อนบ้าน ตีทุน เป็นแบบพิมพ์ตามอุดมการณ์สร้างชาติเป๊ะ แต่พอตอนหลังเขาไปไกลกว่าคนอื่นในด้านตีศักดินา จิตรไม่เอาศักดินา เผลอๆ เขาน่าจะยืนหยัดตีศักดินาด้วย 

ดังนั้น ถ้าบอกว่าตอนนี้จิตรจะเป็นอย่างไร ผมเชื่อว่าตอนนี้จิตรคงจะอยู่ข้างนักศึกษา ธงของนักศึกษาตอนนี้คือสิ่งที่จิตรน่าจะบอกว่าใช่เลย  นี่คือสิ่งที่เขาพยายามชูธงในยุคสมัยของเขา แต่ไม่มีใครตาม

พลังของคนรุ่นใหม่ในยุคของจิตร เป็นอย่างไร และพวกเขาต่อสู้กับอะไร ?

ขบวนการนักศึกษารุ่นจิตรเป็นขบวนการแค่ชั่วครู่ชั่วยาม ไม่หนักแน่นเหมือนอย่างในตอนนี้ ซึ่งยุคนั้นดูเหมือนเขาจะสู้เรื่องความถูกต้องเป็นธรรมในการเลือกตั้งปี 2500 แต่ที่ว่าการเลือกตั้งสกปรก กลับไม่เคยมีใครเข้าไปแคะไปคุ้ยว่า จริงๆ แล้วสกปรกด้วยฝีมือใคร นี่คือสิ่งที่ อ.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ได้ทิ้งประเด็นเอาไว้ว่า การเลือกตั้งสกปรกน่าจะเป็นแผนหนึ่งของขบวนการรัฐประหาร เพราะการที่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเดินขบวนประท้วง ซึ่งก่อนเดินขบวนนั้นจอมพลสฤษดิ์เป็นคนไปปราศรัยในหอประชุมใหญ่ว่า นักศึกษามีความชอบธรรมที่จะเดินขบวน และทหารจะคุ้มกันให้ ซึ่งต่อมามันก็มีการเดินขบวน ในแง่นี้ ฝ่ายจอมพลสฤษดิ์ใช้นักศึกษาเพื่อทำลายความชอบธรรมของจอมพล ป.  

จอมพล ป. นั้นเกษียณอายุราชการ ตั้งแต่ปี 2495 ดังนั้น ถ้าจะอยู่ต่อแกก็ต้องเล่นเกมเลือกตั้ง ซึ่งก็ลากมาได้จนถึงปี 2500  และแน่นอนว่าเกมเลือกตั้งนี้ไม่เป็นประโยชน์กับจอมพลสฤษดิ์ที่ยังมีอายุราชการอีกหลายปี  เพราะถ้า จอมพล ป. ชนะ ความชอบธรรมจะอยู่ที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ดังนั้น ถ้าต้องการทำลาย ก็ต้องทำให้การเลือกตั้งสกปรก และต่อมาคือทำให้เป็นโมฆะ ตรงนี้เองที่ในประวัติศาสตร์บอกเราว่า เราตกหลุมพรางรัฐทหาร เพราะหลุมพรางรัฐทหารคือการทำให้การเลือกตั้งไม่ชอบธรรม เพราะถ้าเมื่อไหร่การเลือกตั้งชอบธรรม อำนาจอันชอบธรรมจะอยู่ที่ฝ่ายพรรคการเมืองและนักการเมือง ดังนั้น เมื่อการเลือกตั้งไม่ชอบธรรม ก็เท่ากับว่ามันสามารถล้มได้ 

เราจะตกหลุมพรางว่านักการเมืองเป็นคนไม่ดี เพราะว่าเป็นนักธุรกิจ คือที่เป็นนักธุรกิจเพราะเขาไม่ได้ประกอบอาชีพข้าราชการอย่างไรล่ะ เขาก็ต้องหางานทำสิ (หัวเราะ) แต่มันกลายเป็นว่า นักการเมืองคือนักธุรกิจ นักธุรกิจคือเข้ามากอบโกย อ้าว พรรคการเมืองในระบบประชาธิปไตยมันเกิดจากกลุ่มขบวนการทุน กลุ่มผลประโยชน์ เพื่อเข้ามาสร้างนโยบายเพื่อตอบสนองกลุ่มผลประโยชน์ของตัวเอง นี่คือทฤษฎีรัฐศาสตร์ที่ดูก้าวหน้ามาก แต่พอนำมาใช้อธิบายการเมืองไทยมันกลับงงไปหมดเลย เหมือนกับที่ถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนักการเมืองหรือไม่ ส่วนใหญ่ตอบว่าไม่ใช่นักการเมือง เขาเป็นข้าราชการ แล้วพอถามว่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ คำตอบคือว่าเป็น แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนักการเมืองไหม ก็ยังมีส่วนใหญ่ที่บอกว่าไม่เป็น อ้าว! นี่มันสร้างวาทกรรมได้จนกระทั่งฝังรากมาจนวันนี้ว่าใครคือนักการเมืองบ้าง ทหารไม่ใช่นักการเมือง การรัฐประหารนั้นเขาเข้ามาเพื่อชาติ นี่คือตรรกะที่ปั่นป่วนมาก

คำว่าโกงเลือกตั้ง, เลือกตั้งสกปรก เหล่านี้จึงเป็นเพียง “วาทกรรม” เพื่อสร้าง “ความชอบธรรม” ในการยึดอำนาจ ซึ่งไม่เคยมีใครตั้งคำถาม ?

ที่ว่าโกงเลือกตั้ง  ที่ว่าเป็นการเลือกตั้ง 26 กุมภาพันธ์ 2500 สกปรกที่สุดในประวัติศาสตร์นั้น น่าสนใจว่ามาจากฝีมือใคร บัตรเลือกตั้งที่หล่นออกมางอกออกมานั้นเกิดในเขตทหารใช่ไหม และคนที่คุมพื้นที่คือจอมพลสฤษดิ์ ในฐานะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร แล้วบัตรเลือกตั้งปรากฏออกมา ทำไมไม่มีนักข่าวตามเรื่องนี้ต่อ คนส่วนใหญ่พร้อมที่จะไม่สนใจ ไม่ตามติดข้อเท็จจริงเรื่องนี้อีก เพื่อที่จะต้องการจะกำจัดให้จอมพล ป.ให้พ้นจากอำนาจ  คือ จอมพล ป. แกยังต้องการมีอำนาจ แต่ต้องเปลี่ยนฐานสนับสนุนจากกองทัพให้เป็นฐานสภาผู้แทนราษฎรและการเลือกตั้ง โดยตัวเองลงเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร ขณะที่ภรรยาคือท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ก็ลงสมัครรับเลือกตั้งที่ จ.นครนายก 

เรื่องนี้ก็ช่วยให้ภาพกับเราว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่ทหารเกษียณอายุราชการ ทหารจะรักการเลือกตั้งอย่างมาก (หัวเราะ) เพราะมันคือหนทางเดียวที่จะเข้าสู่อำนาจ อยู่ต่อได้  คือถ้ายังไม่เกษียณ คุณจะพิทักษ์ระบอบที่ไม่ใช่การเลือกตั้ง แต่ถ้าคุณเกษียณคุณจะตั้งพรรคการเมืองและเข้าสู่เกมการเลือกตั้ง ต้องเลือกตั้งเท่านั้น นี่คือเส้นทางของอำนาจฝ่ายทหาร 

ยุคนั้นไม่มีประเด็นข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัติริย์แบบในปัจจุบัน ?

ช่วงนั้นสถาบันกษัตริย์เพิ่งเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู เพราะพระมหากษัตริย์เพิ่งกลับมาประทับอยู่ประเทศไทยช่วงปลายปี 2494 ส่วนใหญ่ประทับอยู่ที่วังไกลกังวล หัวหิน และจะเน้นงานทางด้านพื้นที่ กลับมาในบทบาทของสถาบันทางวัฒนธรรม ไม่ใช่สถาบันทางการเมือง 

แต่อย่างไรก็ตาม จิตรก็ยังมีผลงานที่เป็นความคิดแหวกแนวของไทยออกมา นั่นก็คือ “โฉมหน้าของศักดินาไทยในปัจจุบัน” ซึ่งจิตรเพียงแค่ต้องการทำความเข้าใจว่า สถานะของศักดินาในขณะนั้น คือปี 2500 เป็นอย่างไร แต่น่าเสียดายที่เขาเขียนไม่จบ อย่างไรก็ตาม จากการอ่านก็ชี้ให้เห็นว่าจิตรกำลังมองเห็นว่า สิ่งที่มีอำนาจอยู่ในสังคมไทย คือ ศักดินา ในขณะที่คนส่วนใหญ่ นักวิชาการ และปัญญาชนขณะนั้นมองว่าปัญหาสังคมไทยอยู่ที่รัฐทหาร ดังนั้น การที่นักศึกษานิติศาสตร์ยอมตีพิมพ์ผลงานชุดนี้ ก็แสดงว่านักศึกษานิติศาสตร์กลุ่มนี้ก็เป็นพวกฝ่ายซ้ายในธรรมศาสตร์ และช่วงนั้นถือว่าเป็น “เกมเปิด” ที่ จอมพล ป. เริ่มให้มีการตั้งพรรคการเมือง เริ่มให้มีการไฮด์ปาร์ค การเคลื่อนไหวต่างๆ จึงทำได้ บทความชิ้นนี้จึงสามารถตีพิมพ์ออกมาได้ ซึ่งก็ฮือฮามากแล้ว

ถามว่าขบวนการนักศึกษาเป็นขบวนหรือเปล่า คิดว่าคงไม่ใช่ แต่คงมีคนที่มีความคิดก้าวหน้าอยู่ในมหาวิทยาลัยต่างๆ และเป็นกลุ่มที่ยึดครององค์กรนักศึกษาไว้ได้ และเข้าไปสร้างเนื้อหาที่เป็นความก้าวหน้า อย่างหนังสือ “รับเพื่อนใหม่” ของมหาวิทยาลัยศิลปากร ก็มีงานของจิตรตีพิมพ์ และก็ถูกเก็บ นั่นแสดงว่างานของจิตรต้องพิลึกพิลั่นแน่ๆ ในยุคสมัยนั้น 

กรณีจิตรกับการเข้าเรียนอักษรศาสตร์ จุฬาฯ มีคนเคยวิเคราะห์ไว้ว่า แท้จริงก่อนหน้านี้เขาไม่ได้อยากเป็นนักคิด ปัญญาชนฝ่ายซ้ายแบบนี้ ?

ตั้งแต่ก่อนเข้าจุฬาฯ จิตรใฝ่ฝันว่าอยากจะเป็นราชบัณฑิต เขาอ่านหนังสือเกี่ยวกับผู้นำ ไปห้องสมุดดำรงราชานุภาพ คุยกับคนโน้น คนนี้ที่เป็นราชบัณฑิต เขาเป็นแบบพิมพ์ของพวกชาตินิยมที่รักชาติ เกลียดเพื่อนบ้าน ครบเซ็ต (หัวเราะ) ตอนเรียนอยู่ที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร เคยนำนักเรียนต่อต้านการซื้อสินค้าจีนในโรงเรียน ช่วงปี 2488 ที่เกิดกรณีคนจีนจะติดธงชาติในย่านเยาวราช สำเพ็ง ขณะที่คนไทยบอกว่าทำไม่ได้ ก็ตีกันขนานใหญ่ ในเหตุการณ์ช่วงนั้น จิตรก็ลุกขึ้นมาต่อต้านจีน หรือกรณีต้องคืนดินแดนที่ได้มาจากอินโดจีนของฝรั่งเศส เขาก็ฟูมฟายเรื่องเสียดินแดน ครบถ้วนตามการปลูกฝังชาตินิยมจอมพล ป. 

แต่ทว่า จากความคิดอยากเป็นราชบัณฑิตกลายเป็นว่าไม่เอาแล้ว ความคิดก้าวหน้าของเขามาเร็วมาก หลังเหตุการณ์กรณีโยนบก ปี 2496 แต่อย่างไรก็ตาม คิดว่ามีอีกกลุ่มหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงจิตร นั่นคือเพื่อนสนิทฝ่ายซ้ายตั้งแต่สมัยเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ผมคิดว่าจิตรอาจจะเจอหนังสือใหม่ๆ จากเพื่อนด้วยซ้ำไป 

กรณีถูก “โยนบก” ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอย่างมากในชีวิตของจิตร ?

คุณถูกโยนบก คุณถูกทำร้าย แต่มหาวิทยาลัยทำโทษคุณโดยให้พักการเรียน 1 ปี ลองคิดว่าถ้าเป็นคุณจะเกิดคำถามมั้ยว่า ตกลงแล้ว ใครผิดวะ เพราะคำสั่งให้พักการเรียนเพราะเรื่องอะไรก็ไม่ชัดเจน คนก็บอกว่าเป็นเพราะเรื่องทำหนังสือ คือมันมีความผิดจริงเหรอ แล้วอะไรคือความชัดเจน ไม่มี ให้พักการเรียนก็ให้พักเฉยๆ ไม่มีคำอธิบาย คิดว่าช่วงนั้นจิตรคงโหยหาอะไรบางอย่างที่จะต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น น่าจะผลักดันให้มองเห็นปัญหาที่แท้จริงมากขึ้นของสังคม เป็นต้นว่า ระบบศักดินาเป็นปัญหาไหม ? เกิดคำถามขึ้นมาเลย เพราะหลังจากนี้ก็ทำให้จิตรสั่งสมความรู้ และคนคว้าจนมาเขียนบทความขนาดยาวอย่าง “โฉมหน้าศักดินาของไทยในปัจจุบัน” ซึ่งในตอนนั้นก็คงเป็นเหมือนการพยายามหาที่ทางว่า สังคมไทยอยู่สถานะไหนในลำดับชั้นของแนวคิดแบบคอมมิวนิสต์ เป็นสังคม primitive, สังคมทาส, สังคมศักดินา, สังคมทุนนิยม สังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ 

ถ้าคุณเป็นคนอ่านทฤษฎี ต้องคิดต้องถามในประเด็นนี้ ว่าตอนนี้สังคมไทยอยู่ในระดับชั้นไหนตามแนวคิดของคาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) เพราะบทความชิ้นนี้ พยายามจะบอกว่าสังคมไทยมันอยู่ตรงไหน คือจิตรอาจจะไม่ได้เกลียดศักดินา แต่เขาเห็นศักดินาที่อยู่ในสังคมไทย ก็เลยพยายามที่จะหาคำตอบว่ามันอยู่ตรงไหน ซึ่งเรื่องนี้พวกฝ่ายซ้ายจะถกเถียงกันตลอดว่า เราเป็นนั่นเป็นนี่ เราอยู่ตรงไหน นั่นเพื่อที่จะได้ชูธงให้ชัดขึ้นว่าสู้กับอะไร นี่เป็นสไตล์ของฝ่ายซ้าย เหมือนตอนนี้ ใครคือประเด็นสำคัญทางสังคม เป็นคำถามที่จิตรถามเรื่องนี้กับตัวเองพอสมควร ตอนที่ผมเข้าเรียนธรรมศาสตร์ ผมฟังเขาเถียงกันหน้าดำหน้าแดงประเด็นทำนองนี้ ซึ่งผมเองก็ไม่รู้เรื่องเลย (หัวเราะ) ทุนนิยมนำศักดินา หรือ ศักดินานำทุนนิยม ผมก็โอ้ย ! แตกต่างอย่างไร มึน

ลึกๆ แล้วในใจของจิตร หรือผลงานงานที่ออกมาจนเป็นเหตุให้ถูก “โยนบก” นั้น มันซ้ายหรือโน้มเอียงไปทางคอมมิวนิสต์มั้ย ?

ยัง เป็นเพียงการวิพากษ์สังคม แต่วิพากษ์คนสองกลุ่มซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีใครแตะต้องกับความคิดความเชื่อเรื่องนี้ คือ 1. ผู้หญิง ตั้งคำถามในฐานะความเป็นแม่  กับ 2. พระ ซึ่งที่ผ่านๆ มาส่วนใหญ่วิพากษ์วิจารณ์ถกเถียงกันเรื่องหลักธรรมคำสอน แต่จิตรใช้คำว่า “พวกผีตองเหลือง” มีความหมายว่า ไอ้พวกเกาะสังคม แสดงว่า จิตรได้อ่านกรอบของทฤษฎีมาร์กซิสต์มาบ้าง จึงนำมาใช้อธิบายถึงโครงสร้างส่วนบนของสังคมไทยว่าเป็นอย่างไร รวมถึงชื่อบทความที่ยาวมากๆ ว่า “พุทธปรัชญาแก้สภาพสังคมตรงกิเลส วัตถุนิยมไดอะเลคติค แก้สภาพสังคมที่ตัวสังคมเอง และแก้ได้ด้วยการปฏิวัติ มิใช่ปฏิรูปตามแบบสิทธารถ ปรัชญาวัตถุนิยมไดอะเลคติค กับปรัชญาของสิทธารถผิดกันอย่างฉกรรจ์ตรงนี้”  ซึ่งถ้ามองจากทฤษฎีมาร์กซ์ด้วยสายตาแบบปัจุบัน โคตรหยาบคาย (หัวเราะ) คือเพิ่งได้ทฤษฎีมา แล้วเอามาบอกเลย ประมาณว่าสังคมที่เชื่อพระพุทธคุณหลงงมงาย เป็นโครงสร้างส่วนเกินที่ดูดกินประชาชน เพราะฉะนั้นทางออกคือไดอะเลคติค (dialectic หรือ วิพาษวิธี)  มันเหมือนได้กรอบแนวคิดในการทำวิทยานิพนธ์มา ตั้งชื่อยาวๆ แบบนี้ โอ้ย! อ่านแต่ชื่อก็พอแล้ว จบ 

ผมคิดว่าช่วงนั้น จิตรกำลังเป็นแค่ปัญญาชนผู้ได้รับกรอบทฤษฎีมาร์กซิสต์ เขากำลังเผยแพร่กรอบแนวคิด คือเหมือนคนรุ่นใหม่ๆ ที่ได้รับเอากรอบแนวคิดเข้ามาและอยากเผยแพร่ ทีนี้ทางออกในงานของนักศึกษา ก็คือเผยแพร่ในวงการนักศึกษาคือหนังสือมหาวิทยาลัย ของ สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เขาได้รับเลือกเป็นสาราณียกร เพราะน่าจะได้อ่านกันบ้าง ช่วงนี้ เราจะยังไม่เห็นจิตรทำงานด้านสื่อสารมวลชน แต่เขาทำงานอยู่กับ ดร.วิลเลียม เจ. เก็ดนีย์ (William J. Gedney) นักวิชาการด้านภาษาศาสตร์คนสำคัญ ทำให้จิตรมีเงินใช้ ว่ากันว่าจิตรโคตรสำอาง ใส่รองเท้าแพงมาก ถ้าตอนนั้นเป็นคอมมิวนิสต์คงโดนด่าตาย (หัวเราะ)  

แล้วการเข้าไปเปลี่ยนแปลงรูปแบบและเนื้อหาของหนังสือมหาวิทยาลัย คิดว่ามีความคิดหรือแรงบันดาลใจแบบไหน ? 

ก็อยากทำงานสิ่งพิมพ์ให้มีเนื้อหาสาระบ้าง ปรับปรุงเนื้อหาบ้าง แค่นั้นจริงๆ  คือในยุคของจิตรนั้น นักศึกษาทำกิจกรรมก็แค่อยากให้เพื่อนๆ ได้รับรู้ว่ามีอีกด้านหนึ่งของความคิด มีข้อมูลแบบนี้นะ มีความคิดความเชื่อน่าจะประมาณนี้อยู่ด้วยนะ เป็นการอยากเผยแพร่ แต่พอเขาต้องถูกพักการเรียน จิตรได้เริ่มทำงานหนังสือพิมพ์ คราวนี้เป็นการสื่อสารกับกับสังคม และคิดว่าทำอย่างไรให้คนได้อ่านงานสำคัญๆ ต่อมาก็กลายเป็นงานอย่าง “ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน” นอกจากนี้ยังมีงานภาษาต่างประเทศที่เขาแปลงมาให้อ่าน ที่ทำให้ดูก้าวหน้า นี่คือความได้เปรียบของโอกาสการเข้าถึงก่อน ได้กลายเป็นผู้นำทางปัญญา

หลังจากกรณี “โยนบก” แล้ว จิตรพัฒนาเรื่องนี้ไปไกลมาก เขากลับมาเรียนอีกครั้งและได้ประสบการณ์การทำทัวร์ด้วย นี่เป็นที่มาของหนังสือ “ประวัติศาสตร์สนทนา ตำนานแห่งนครวัด” เล่มนี้จิตรใช้ประสบการณ์การเป็นมัคคุเทศน์พาฝรั่งไปเที่ยวนครวัด แต่ทว่าวิธีการเล่าของเล่มนี้ซับซ้อนกว่าบทความ “ผีตองเหลือง” ชิ้นก่อนนั้นมาก เพราะการอธิบายทั้งหมดคือ สังคมศักดินาใช้พลังงานไพร่ ทาส อย่างไรในการสร้างอาณาจักร ใช้พลังศรัทธาศาสนาและความเชื่ออย่างไรในการควบคุมคน สร้างปราสาทหินใหญ่โตใหญ่โตมโหฬาร  เป็นการวิพากษ์แบบพาเที่ยว มีบทสนทนา มีความละมุนละไมมาขึ้น

“ประวัติศาสตร์สนทนาตำนานแห่งนครวัด” จิตรเขียน 2498-2499 ก่อนจะเกิดงานอย่าง “โฉมหน้าของศักดินาไทยในปัจจุบัน” ปี 2500   โดยจิตรใช้เป็นที่ฝึกปรือการแปลงทฤษฎีการเมืองให้เกิดการอธิบายสังคมโบราณกัมพูชาที่มีมากว่าพันปี ว่าสิ่งที่คุณเห็นตรงหน้านั้น คุณเห็นหรือไม่ว่าแรงงาน ชนชั้นผู้ถูกปกครองถูกใช้งานหนักเพื่อทำให้ศักดินามีสถานภาพ และต่อมาพอเกิดงานอย่าง “โฉมหน้าศักดินาของไทยในปัจจุบัน” คราวนี้จิตรดึงกลับมาที่อยุธยาและฟันธงกันเลย เสียดายว่านี่เป็นแค่ส่วนแรก เขายังเขียนไม่จบ 

ช่วงที่จิตรถูกพักการเรียน 1 ปี ได้ไปทำงานหนังสือพิมพ์ ข้อเขียนเขานั้นเป็นที่จับตาของฝ่ายต่างๆ แล้วหรือยัง ?

พวกกลุ่มปัญญาชนนักหนังสือพิมพ์ อาทิ ทวีป วรดิลก น่าจะมองเห็นแล้ว เขาจึงเริ่มสนิทกัน คงอารมณ์ประมาณว่าได้อ่านงานที่ สดใหม่ เฮ้ย ใครวะ ก็รู้จักกันสนิทกัน จิตรเริ่มได้เพื่อนใหม่ๆ และ “ทวีปวร” ตอนนั้นก็เหมือนจะเป็นพี่ๆ ในหมู่ของสื่อมวลชนด้วย เป็นนักเขียนด้วย สำหรับจิตรนั้นเขามีตัวตนอยู่แล้ว สันติบาลจับตาตั้งแต่กรณีเหตุการณ์กรณี “โยนบก” เพราะแม้แต่ตอนที่เขาถูกจับเข้าคุกหลังจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจปี 2501 แฟ้มประวัติก็เขาย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์นั้น

ภัยคอมมิวนิสต์ในช่วง 2500 ภายหลังการยึดอำนาจของจอมพลสฤษดิ์ เป็นอย่างไร ?

จอมพลสฤษดิ์แกใช้คอมมิวนิสต์เป็นภัยที่ทำให้ตนเองได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากอเมริกา กล่าวคือ เมื่อไทยแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2  ปี 2488 โซเวียตซึ่งอยู่ฝ่ายชนะสงคราม เป็น 1 ใน 5 มหาอำนาจของโลก และเป็นประเทศในค่ายคอมมิวนิสต์บอกว่า ถ้าไทยต้องการเข้ามาเป็นสมาชิกสหประชาชาติ โซเวียตขออยู่แค่เรื่องเดียวคือให้ยกเลิก พ.ร.บ.คอมมิวนิสต์ ที่ใช้มาตั้งแต่ 2476 สมัยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ที่ตอนนั้นออกมาเพื่อกำจัดปรีดี พนมงยงค์ ดังนั้น ไทยจึงยอมยกเลิกเพื่อให้ตัวเองได้เข้าเป็นสมาชิกในช่วงปลายปี 2489 และต่อเนื่องมา ซึ่งช่วงยกเลิกไปนี้เองที่ทำให้ “เกมเปิด” ทำให้เรื่องราวและหนังสือลัทธิคอมมิวนิสต์ ทฤษฎีความรู้ต่างๆ แพร่กระจายได้เพราะ “ไม่มี” ภัยคอมมิวนิสต์ มาจนกระทั่งเหตุการณ์ปราบกบฎสันติภาพ 2495 การใช้ข้ออ้างคอมมิวนิสต์จึงกลับมาอีกครั้ง ซึ่งในตอนนั้นไทยได้เป็นสมาชิกสหประชาชาติที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพแล้ว 

คือสถานการณ์ประเทศไทย หลังจากรัฐประหาร 2490 เป็นต้นมา ทหารสามารถปราบคู่ต่อสู้ฝ่ายต่างๆ ได้หมด ไม่ว่าจะ กบฏวังหลวง กบฏเสนาธิการ หรือการปราบปรามทหารเรือจนแทบไม่เหลืออำนาจ ดังนั้น เสี้ยนหนามเพียงแห่งเดียวที่เหลืออยู่ก็คือ ส.ส. ปัญญาชน และนักศึกษาฝ่ายซ้าย ดังนั้น เลยต้องปราบจับด้วยการออก พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ 2495  ทำให้คอมมิวนิสต์ที่เคยเคลื่อนไหว 5-6 ปี อย่างเปิดเผยต้องลงไปเคลื่อนไหวใต้ดิน ช่วงนี้เผลอๆ นักข่าว นักหนังสือพิมพ์รุ่นนั้นอาจจะถูกกวาดจับไปหลายคนจนต้องเปิดรับงานกันใหม่ ซึ่งต่อมาจิตรเองก็มาเป็นคนเขียนหนังสือพิมพ์ เขียนวิจารณ์ต่างๆ  

ปี 2500 หลังการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ต่อมาพจน์ สารสิน เป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราว และมีการเลือกตั้งช่วงปลายปี 2500 สภาผู้แทนราษฎรเลือก พล.ท.ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งช่วงนี้จอมพลสฤษดิ์ป่วยหนัก กำลังจะตาย เลยต้องบินไปรักษาตัวที่อเมริกา และสิ่งที่อเมริกาทำคือพยายามที่จะให้จอมพลสฤษดิ์เออออด้วย อเมริกาพยายามทำให้จอมพลสฤษดิ์เห็นว่าปัญหาคอมมิวนิสต์เป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทยและของภูมิภาค

จอมพลสฤษดิ์กำลังจะตาย ? 

ใช่ คือ จอมพลสฤษดิ์ล้มรัฐบาลจอมพล ป. ในการรัฐประหาร 2500 ใช่ไหม เคยสงสัยไหมว่าแล้วทำไมเขาไม่ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยตัวเอง ทำไมส้มจึงหล่นไปที่จอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งตอนนั้นยศแค่ พล.ท. ถามว่าสฤษดิ์อยากเป็นนายกรัฐมนตรีไหม อยากเป็นใจจะขาด (หัวเราะ) แต่มีปัญหาด้านสุขภาพ ต้องไปรักษาตัว ดังนั้น จึงต้องให้ พล.ท.ถนอมเป็นนายก และในการประชุมคณะรัฐมนตรีชุดแรกของรัฐบาลก็คือการมีมติตั้งวงเงิน 1 ล้านบาท เพื่อให้จอมพลสฤษดิ์เดินทางไปดูงานที่อเมริกา ซึ่งจริงๆ แล้วก็คือไปรักษาตัว ซึ่งในตอนแรกนั้นค่าใช้จ่ายต่างๆ รัฐบาลไทยต้องจ่าย ค่ารักษา ค่าเครื่องบินเหมาลำต่างๆ แต่พอรักษาเสร็จ ประธานธิบดีอเมริกาบอกว่าออกค่าใช้จ่ายให้ ซื้อใจ โน้มน้าวใจ เพราะอเมริกาเองเขารู้ว่าจอมพลสฤษดิ์คือผู้นำที่แท้จริงของประเทศไทย ไม่ใช่ พล.ท.ถนอมที่เป็นนายกในขณะนั้น ดังนั้น ถ้าหากอยากมีอิทธิพลเหนือประเทศไทยก็ต้องทำให้จอมพลสฤษดิ์ หายตาย !

เรื่องเกี่ยวกับจอมพลสฤษดิ์กำลังจะตายนั้นเป็นสิ่งที่ผมศึกษาตอนทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก วิธีการที่ผมศึกษานั้นคือการไปอ่านหนังสือพิมพ์รายวันช่วงนั้น เพราะถ้าใช้งานสารคดีที่มีคนเขียนไว้จะไม่พบอะไร ห้องสมุด ม.ธรรมศาสตร์ เก็บหนังสือพิมพ์รายวันตั้งแต่ช่วงก่อน 2500 ผมไปนั่งอ่านและในข่าวก็จะพบ “ข่าวที่หายสาบสูญ”  ซึ่งก็บังเอิญด้วยที่เอกสารของฝ่ายอเมริกาเผยแพร่ออกมา เป็นจดหมายติดต่อของสถานทูตของเขามีหลักเกณฑ์ว่า ถ้าผ่านไป 25 ปีแล้วต้องมีเผยแพร่ ผมดีใจมาก อเมริกาเขาให้โหลดทั้งเล่ม ตอนนั้นช่วงปี 2549  อินเตอร์เน็ตยังไม่เร็วมาก ผมก็โหลดเก็บแล้วปริ้นออกมาเป็นตั้งเลย ยังกองอยู่ที่บ้านจนถึงตอนนี้ เอกสารนี้ทำให้เราได้รู้ว่าอเมริกาคุยกับใครและบอกอะไรกับใคร อย่างไร ที่แม้จะมีการเซ็นเซอร์ชื่อบางชื่อ แต่ก็ทำให้เราพอปะติดปะต่อได้ อย่างเรื่องราวของจอมพลสฤษดิ์ที่ไปรักษาตัวที่อเมริกา มีข้อมูลว่าแพทย์บอกทราบว่า จอมพลสฤษดิ์จะตายใน 5 ปี ดังนั้น ให้งดกินเหล้า ดูแลสุขภาพ ซึ่งต่อมาแกก็ตายอาจจะเกิน 5 ปีมาหน่อย 

เรื่องจอมพลสฤษดิ์จะตายนั้นเป็นเรื่องใหญ่มาก คือลองคิดดูสิว่า ถ้าคุณเป็นผู้นำประเทศ และรู้ว่าตัวเองกำลังจะตายใน 5 ปี คุณจะบ้าได้ขนาดไหน จอมพลสฤษดิ์รักษาตัวอยู่ที่อเมริกา  8-9 เดือน พอกลับมา คราวนี้เขาทำรัฐประหารปี 2501 ยึดอำนาจอีกครั้ง และเป็นนายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เริ่มมีการกวาดล้าง นักคิด นักเขียน และปัญญาชนฝ่ายซ้าย 

จิตรจึงถูกจับและติดคุกยาวตั้งแต่ปี 2501 – 2507 โดยไม่มีความผิด รัฐบาลเผด็จการยุคนั้นจับจ้องเขาแล้ว ?

สถานการณ์คือว่าหลังจากที่ไทยเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติจนถึงเกิดเหตุการณ์กบฏสันติภาพ ที่บอกว่า “เกมเปิด” นั้น ก็ทำให้สิ่งต่างๆ ปรากฏบนผืนดิน ก็รู้แล้วใครบ้าง จอมพลสฤษดิ์ยึดอำนาจอีกครั้งปี 2501 ชี้ตัวบุคคลได้ถูกหมดเลย และจิตรเองเขาเขียนหนังสือพิมพ์รายวันด้วย คือตอนจิตรติดคุก เขาก็เหมือนจะยังไม่สนใจอะไรนะ นั่งทำงานไปด้วย ก็คงคิดว่าติดอยู่ไม่นาน แต่ที่ไหนได้ กลายเป็นว่าอยู่ในคุกนานเลยจนกระทั่งจอมพลสฤษดิ์ตาย แล้วรัฐบาลใหม่ของจอมพลถนอมจึงเสนอให้ปล่อยตัว บอกว่าถูกปรับทัศนคติแล้ว เพียงพอแล้ว และอีกอย่างช่วงที่สฤษดิ์ตาย ปัญหาคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคก็เริ่มลดลงและอเมริกาก็เริ่มลดเงินสนับสนุนลงด้วย

อเมริกาจะให้เงินสนับสนุนมากขึ้นถ้ามีปัญหาภัยคอมมิวนิสต์ เช่น ปี 2497 เกิดสงครามที่เดียนเบียนฟู อเมริกาทุ่มงบมามาให้เต็มที่ แต่พอหลัง 2500 เป็นต้นมาก็เริ่มลดลง มาพุ่งอีกปี 2503 เพราะฝ่ายซ้ายลาวเข้าเวียงจันทน์ คราวนี้อเมริกาทุ่มทุนสร้างทางรถไฟจากหนองคายถึงชายแดนลาว แต่ต่อมาก็ได้มีการเจรจาได้ก็เริ่มสงบ เงินสนับสนุนจากอเมริกาก็ลงลง มาจนถึงช่องที่จอมพลสฤษดิ์ตายในปี 2507 การจับคอมมิวนิสต์เพื่อผลประโยชน์ความสัมพันธ์กับอเมริกา ไม่มีประโยชน์แล้ว ก็เลยมีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองเหล่านี้

สภาพชีวิตในคุกลาดยาว เป็นอย่างไร จิตรเขียนหนังสืออย่างไร ค้นคว้าหาข้อมูลจากแหล่งไหน ?

ยุคนั้น คุกลาดยาวไม่กีดกันหนังสือวิชาการ และในส่วนที่จิตรอยู่ก็เป็นส่วนของนักโทษการเมือง อย่างที่เราจะเห็นภาพถ่ายว่ามีบ้าน มีมุมสวนครัว มีมุมส่วนตัว มีเด็กอาศัยอยู่ด้วย คือคุณถูกจำกัดในรั้ว ไม่ได้ปะปนกับนักโทษคดีอื่นๆ  และจิตรก็สอนหนังสือให้คนนั้นคนนี้ในคุกลาดยาวนี้ด้วย  ถามว่าเขาเอาหนังสือจากไหนไปอ้างอิงทำงานวิชาการ ก็ปรากฏว่า ให้พี่สาวไปยืมหนังสือที่หอสมุดให้ เอาเข้าไปใช้ปกติ เพราะไม่ใช่หนังสือการเมือง ตอนนั้นไม่ซีเรียสห้ามอ่านนั่นนี่ คือพวกนี้ ก็ต้องทำอาชีพเพื่อเลี้ยงครอบครัวที่อยู่ข้างนอกด้วย ก็ยังเขียนกันเรื่อยๆ อย่างตอนจอมพลสฤษดิ์ตาย จิตรยังเขียนบทกวีลงหนังสือพิมพ์ด่าโครงการพัฒนาของจอมพลสฤษดิ์อยู่เลย เขียนด่าจากในคุกนี่แหละ (หัวเราะ) 

นักคิด นักเขียน ปัญญาชนที่อยู่ในคุกด้วยกันเปลี่ยนจิตรบ้างไหม 6 ปีเขาได้อะไรจาก “มหาวิทยาลัยลาดยาว” ?

ต้องถามใหม่ว่า จิตรเปลี่ยนใครในคุกลาดยาวบ้าง (หัวเราะ) ถ้าเราดูชื่อในกลุ่มลาดยาว ปัญญาชนคอมมิวนิสต์ เผลอๆ จิตรอาจจะอยู่อันดับหนึ่งด้วยซ้ำไป เพียงแต่เรื่องที่จิตรเล่น เป็นเหมือนเรื่องประวัติศาสตร์ ไม่ใช่เรื่องปัจจุบัน ดังนั้น งานของจิตรที่ออกมาในช่วงนั้น เช่น “ความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ” ถ้าใครไปดูก็คงจะงง อะไรวะ ไกลไปไหม เป็นหนังสือที่คนอาจกล่าวถึงแต่คงไม่ได้อ่านหรอก เพราะมันไกล แต่จริงๆ แล้ว จิตรกำลังชี้ให้เห็นรากของคนต่างๆ ที่กำลังเติบโตบนแผ่นดินนี้ว่าคือใคร หรืออีกเล่มอย่าง “โองการแช่งน้ำ และข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา” โอ้ เล่นอย่างนี้เลยเหรอ ไกลจัง แต่ทั้งหมดนี้จิตรพยายามจะบอกคือ ศักดินานั้นเคลื่อนเข้าสู่สังคมไทยได้อย่างไร ผ่านกระบวนการอะไร การใช้ศาสนาเคลื่อนเข้าควบคุมอย่างไร ฯลฯ

แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นมรดกของจิตรให้กับคนรุ่นใหม่ ก็น่าจะเป็นบทกวีที่ออกมา เป็นบทเพลงที่กินใจ และให้ภาพของเขาในการเป็นนักต่อสู้ บทกวี บทเพลง กลายเป็นรอยต่อของยุคสมัย 

6 ปี ในคุกลาดยาว ผมคิดว่าให้การไม่ยอมแพ้กับจิตร เพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” สะท้อนให้เห็นว่า แม้คุณมองเห็นเพียงแสงดาว แต่ก็ไม่ยอมแพ้หรอก  การที่จิตรก้มหน้าก้มตาทำงานทำงานอย่างมากมายในคุกคือสิ่งยืนยัน ถามว่า ถ้าคุณติดคุก คุณจะใช้ชีวิตอย่างไร ระหว่างนั่งทำอารมณ์สงบไม่ให้ตึงเครียด หรือหากิจกรรมทำในด้านต่างๆ ซึ่งจิตรทำงานเป็นบ้าเป็นหลัง เขารู้ว่าการต่อสู้ของเขาคือการผลิตงาน เป็นการสื่อสารความคิด เป็นการต่อสู้ผ่านปัญญาของตนเอง ดังนั้น จิตรเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เขียนบทกวีใหม่ๆ คือการคิดสื่อสารต่อโลกข้างนอก คนที่ได้อ่านงานจิตรจะเห็นพลังทางภาษา ได้เห็นปัญหาสังคม ทั้งหมดนี้คือการไม่ยอมแพ้ 

ภัยคอมมิวนิสต์เหมือนจะลดลง จนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้จิตรได้รับการปล่อยตัว แต่ในท้ายที่สุดเขาก็ต้องเข้าป่าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ ?

พอจิตรได้รับการปล่อยตัว ปี 2507 ก็บังเอิญคราวนี้เกิดวิกฤตอ่าวตังเกี๋ย ในเวียดนาม ที่เรือของอเมริกาถูกยิงตอร์ปิโดใส่ ดังนั้น อเมริกาจึงสั่งถล่มชายฝั่งเวียดนาม และเอาฝูงเครื่องบินลงดอนเมือง ผมคิดว่าจอมพลถนอมซึ่งขึ้นเป็นรัฐมนตรีต่อหลังจากที่จอมพลสฤษดิ์เสียชีวิต ก็น่าจะสะใจ ดีใจมาก นี่แหละอเมริกามาแล้ว ใช่เลย (หัวเราะ) คือจิตรถูกปล่อยตัว เขาอยากอยู่กรุงเทพฯ ทำงานในเมือง เพราะก่อนติดคุกก็เป็นข้าราชการ สอนหนังสือ เขาอยากเป็นครู อยากเป็นนักวิชาการ แต่ทีนี้พอสถานการณ์ในภูมิภาคเปลี่ยน เกิดเหตุการณ์วันเสียงปืนแตก 7 สิงหาคม 2508   รัฐบาลจอมพลถนอมตั้งกองบัญชาการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ ( บก.ปค. ) เพื่อเตรียมรับมือและให้จอมพลประภาส จารุเสถียร เป็นผู้ดูแล 

สายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ที่ติดต่อมาทางจิตรบอกว่า คุณมีทางเลือกสองทาง คือ อยู่ในเมืองแล้วถูกจับ เข้าคุกเหมือนเดิม หรือเข้าป่า ซึ่งทาง พคท.ตั้งใจจะให้จิตรไปเป็นนักวิชาการ  โดยข้อเสนอสายพรรคคือ ให้ไปศึกษาต่อต่างประเทศ ไม่ได้เป็นนักรบนะ แล้วก็ส่งตัวจิตรไปเขตภูพานเพื่อเดินทางต่อ ไปเมืองจีน แต่ทีนี้บังเอิญก็เกิดเหตุการณ์ “วันเสียงปืนแตก” ติดอยู่ในเขตนั้นยังไปต่อไม่ได้ สุดท้าย ก็ถูกยิงเสียชีวิต คือต้องบอกว่า นี่เป็นจังหวะชีวิต คือจิตรอยากอยู่ในเมือง อยากสอนหนังสือ อยากทำงานเขียน เขาคือคนจับปากกาสู้ ไม่ใช่คนจับปืนสู้ 

“พฤษภาคม 2509 เขาตายในชายป่า” คำถามคือ ถ้าจิตรไปถึงเมืองจีน ไปศึกษาเพิ่มเติมอย่างที่สายของพรรคคอมมิวนิสต์ต้องการ คาดเดาได้ไหมว่าจะเป็นอย่างไร?

เอ่อ ผมอยากดูตัวอย่างของ “ศรีบูรพา” หรือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ช่วงที่อยู่เมืองจีน ทั้งๆ ที่เป็นนักเขียน แต่ปรากฎว่าไม่เขียนงานออกมาเลย เขาอาจจะมีความคิดเป็นปฏิปักษ์ต่อขบวนการจีนด้วยก็ได้ การอยู่ที่นั่นก็ทำให้เขียนไม่ได้ เพราะถ้าอยู่แล้วอินคงต้องเขียนส่งออกมาแล้ว คนอย่างศรีบูรพาไม่น่าจะปล่อยเรื่องนี้ เขาเป็นนักเขียนโดยอาชีพ ขนาดไปญี่ปุ่นไม่กี่เดือนยังได้นิยาย “ข้างหลังภาพ” มาอย่างสวยงาม นี่คุณอยู่จีนนะ จะไม่เห็นอะไรมีเสน่ห์ในการเขียนเรื่องเลยเหรอ นี่ผมตั้งคำถามเปรียบเทียบ และจิตรไปถึงเมืองจีนก็อาจจะเป็นอย่างนั้นก็ได้ หรืออย่าง ปรีดี พนมยงค์ ก็เช่นกัน ตอนอยู่เมืองจีนก็ไม่เห็นมีผลงานอะไร เขียนตอนไปอยู่ฝรั่งเศสแล้ว

หลังเสียชีวิตไปแล้ว จิตรเกิดใหม่อีกครั้งด้วยผลงาน หลังชัยชนะในเดือนตุลาคม ปี 2516 ของขบวนการนักศึกษา งานของจิตรถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยปัจจัยอะไรบ้าง ?

 พรรคคอมมิวนิสต์สนับสนุน หนังสือหลายเล่มถูกเลือกผลิตซ้ำเพราะพรรคคอมมิวนิสต์ จิตรถูกทำให้เป็นวีรชนของคนรุ่นใหม่ ฝ่ายคอมมิวนิสต์อธิบายว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งการเคลื่อนไหวในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ช่วงนั้นมีการสร้างวีรชนในอดีตให้กลับคืนมา 2 คน หนึ่งคืออาจารย์ปรีดี ซึ่งเป็นคนที่ขบวนการนักศึกษาเอาด้วย และตัวแกเองก็มีแถลงการณ์ออกมาด้วยหลังจากนั้น และอีกคนหนึ่งที่ถูกปลุกนั้นก็คือ จิตร โดยกรณีของจิตรถามว่าใครเอามา ใครพูดถึงแล้วได้ประโยชน์ ถ้าจิตรถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ตายที่ชายป่า และใครมาเล่าเรื่องนี้ให้ หงา คาราวาน ได้รู้เรื่องและเขียนเป็นเพลงในปี 2517  รู้ได้อย่างไรว่าว่า “เขาตายในชายป่า” การที่คุณจะเขียนได้ต้องมีคนมาเล่าให้ฟัง ทำให้จิตรได้กลายเป็นวีรชนของคนหนุ่มสาว เป็นตัวแทนของคอมมิวนิสต์ที่เป็นปัญญาชน และใครได้จะประโยชน์จากงานนี้ ถ้าจิตรเป็นคอมมิวนิสต์ ก็คอมมิวนิสต์ใช่ไหมล่ะ

เล่าให้เป็นข้อมูลด้วยวว่า งานอย่าง “ความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ” ในคำนำบอกว่าสุภา ศิริมานนท์ ได้ผลงานชุดนี้มา โดยจิตรนำมาฝากไว้ก่อนจะเข้าป่า สุภาได้ใส่ห่อฝังไว้ใต้ดิน พอหลังเหตุการณ์14 ตุลาฯ  ก็ได้ขุดขึ้นและฝากมาให้อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และมูลนิธิโครงการตำราธรรมสังคมศาสตร์  ตีพิมพ์ แต่หนังสือเล่มนี้ พิมพ์ได้ไม่กี่เดือนก็เกิดรัฐปี 2519  ถูกยึดไปหมดเลย

กระบวนการทำให้จิตรกลับคืนมา แน่นอนอาจมีจุดเริ่มต้นจากคนที่เราไม่รู้จัก หรืออาจจะพรรคคอมมิวนิสต์ก็ได้ แต่ที่สำคัญคือทำให้จิตรเกิด  ทำให้เกิดกระแสว่าคนรุ่นใหม่เห็นจิตรเป็นผู้นำของเขา แต่พอหลังรัฐประหารปี 2519 จิตรก็หายไปอีก แต่จากนั้น 2-3 ปี หลังป่าแตกจากนโยบาย 66/23 งานของจิตรก็กลับมาใหม่ เกิดร้านหนังสือดอกหญ้า ตีพิมพ์งานของจิตรหลายเล่ม จิตรถูกสถาปนาว่าเป็นนักรบของคนรุ่นใหม่ คนจึงบอกว่านั่นแหละ จิตรเกิดครั้งที่ 2 พอมีการสร้างอนุสาวรีย์จิตรที่บ้านหนองกุง จ.สกลนคร เราก็นิยามว่าเป็นการเกิดครั้งที่ 3 

มองอย่างไรกับกระแสแฮชแท็กในช่วงนี้อย่าง #รับพี่จิตรคืนจุฬา รวมถึงงาน “90 ปีชาตกาลจิตร ภูมิศักดิ์” ซึ่งจัดโดยนิสิตนักศึกษาคนรุ่นใหม่ ? 

ผมคิดว่า ภาพการเคลื่อนไหวของนักศึกษาช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา คือการรื้อฟื้นชีวิตบุคคลที่เคยเป็นศิษย์เก่าแล้วถูกลืม ถ้าจำไม่ผิด รายแรกๆ เลยก็คือ คุณจารุพงษ์ ทองสินธุ์ นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ และอุปนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.)  วีรชนในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่เดิมชื่อของเขาเป็นชื่อห้องประชุมในตึกกิจกรรม ต่อมาถูกเอาออก จนเกิดกระแสเรียกร้องรณรงค์ “อย่าลบจารุพงษ์ ออกจากธรรมศาสตร์” จนมหาวิทยาลัยต้องออกมาชี้แจง และต่อมาก็คือกรณีของคณะเศรษฐศาสตร์ ปลดรูปของสมเด็จ วิรุฬหผล นิสิตปี 1 ของคณะที่ถูกยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์เรียกร้องรัฐธรรมนูญ 14 ตุลาคม 2516 ทำให้นิสิตกลุ่มหนึ่งออกมาล่ารายชื่อคัดค้าน ไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว และทางมหาวิทยาลัยก็ต้องออกมาชี้แจงเช่นกัน

และแน่นอน กระแสนี้คือเขากำลังคืนความชอบธรรมให้กับผู้เสียชีวิต คืนชื่อเสียง คืนความเป็นญาติมิตร ดังนั้น กิจกรรมที่เขาทำก็ไม่จำเป็นต้องเป็นทางการในนามมหาวิทยาลัย ซึ่งกรณีของจิตรก็มีการพูดกันมาบ้างแล้ว แต่ก็ยังเป็นในคนกลุ่มน้อยๆ แต่สำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่ยุคนี้ เราต้องไม่ลืมว่าพวกเขาอ่านหนังสือ อ่านงานเขียนต่างๆ กันเยอะมาก กรณีการจัดงานมันจึงมีพลังอย่างมาก

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาด้านผู้บริหารมหาวิทยาลัยเอง คงไม่เห็นประโยชน์ของจิตรที่จะกลายเป็นจุดแห่งความภาคภูมิใจ เพราะเป็นเพียงนักศึกษา ติดคุก แล้วก็ตาย มีแต่เรื่องฉาวโฉ่อย่างกรณีถูกโยงบก จึงไม่ได้ให้ความสำคัญ เชิดชูคนอื่นน่าจะดีกว่าไหม และอีกอย่าง จุฬาฯ ผูกพันกับบางสิ่งบางอย่างกับวัฒนธรรมจารีตดั้งเดิม มันเลยทำให้ภาพของจิตรเป็นภาพความขัดแย้ง เพราะผลงานของจิตรนั้นตีไปที่จารีต (หัวเราะ) ดังนั้น กระบวนการของนักศึกษา ผมเห็นด้วยว่าควรเริ่มจากกระบวนการเล่าเรื่อง ทำให้จิตรกลับเป็นส่วนหนึ่งอักษรศาสตร์ แต่ละรุ่นเข้าไปได้รับการบอกเล่าถึง จิตรจะกลายเป็นพลังในที่สุด และอาจจะได้ไปนั่งหน้าสวนตึกอักษรศาสตร์ ต้องทำให้เรื่องเล่าของจิตรมีพลัง ไม่ใช่เป็นแค่เรื่องซุบซิบ

จิตรเป็นอะไรหลายอย่าง นักคิด นักเขียน นักวิชาการ นักปฏิวัติ ในมุมมองอาจารย์แล้วคิดว่าจิตรจะเป็นตัวแทนของ “นักอะไร” และอะไรที่เขาทำได้ดีที่สุด ?

ขึ้นกับบริบทตอนนั้นว่า คุณอยากได้ผู้นำแบบไหน เอาจิตรไปใช้ทำอะไร เขาเป็นได้ทุกอย่างขึ้นกับว่าจะถูกให้นิยามในบริบทอย่างไร ตอนนี้ ถ้าบอกว่าเป็นคอมมิวนิสต์นักปฏิวัติ อาจจะไม่ฮือฮา เพราะคอมมิวนิสต์ในบริบทโลกก็หายไปมากแล้ว แต่ถ้าเป็นนักเขียนก็อาจจะพอได้  หรือเป็นนักกวี นักแต่งเพลงก็ได้ จิตรจะฮือฮาได้เมื่อบริบทตอนนั้นฮือฮาเรื่องอะไร และถ้าบอกว่าเขาเป็นนักวิชาการ ในความเห็นของผม จิตรคืนกลับเข้าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ได้เลยทันทีนะ เป็นนักวิชาการผู้เป็นศาสตราจารย์หลังการตาย 50 ปี โอโห เท่มาก (หัวเราะ) เพราะถามว่างานอย่างจิตรมีใครทำได้บ้าง “ความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ” อยู่ในเกณฑ์คณะอักษรฯ รับได้ไหม ?  “โองการแช่งน้ำ และข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา”  อยู่ในเกณฑ์รับได้ไหม ? 

ผลงานของจิตร เขาทำได้ดีภายใต้สถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตของเขาเอง เมื่อต้องทำมาหากิน ประกอบอาชีพ ก็สามารถแปลงความรู้เป็นงานอย่าง “ประวัติศาสตร์สนทนา ตำนานแห่งนครวัด” เขียนเป็นนิยายได้ เมื่อทำงานหนังสือพิมพ์ เขาก็ใช้การเขียนบทความ วิจารณ์หนัง บทกวี บทเพลง บทละครเป็นประเด็นสื่อสารกับสังคม, เมื่ออยู่ในคุกทำงานทางวิชาการพร้อมกับเขียนบทกวี แต่งเพลงปลุกใจออกมาได้อย่างดี  ถ้าเรามองแต่ละช่วง เขาทำงานตอบโจทย์ต่อบริบทและสถานการณ์ของตนเอง ถามว่าอะไรโดดเด่นที่สุด ตอบว่าเขาทำตอบโจทย์ต่อตัวเขาเองได้ทั้งหมดเลย ดังนั้น เช่นกัน สำหรับคนที่ศึกษาผลงานของเขา ก็ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละช่วงตอบโจทย์ชีวิตว่าคุณเผชิญหน้ากับอะไรอยู่ คุณอยู่ภายใต้กรอบของงานแบบไหน เรามาดูงานของเขา เราจะชื่นชอบเพราะว่าเราอยู่ตรงไหนของมัน

 ผมชื่นชอบจิตรเพราะชอบบทกวี ชอบงานวิชาการ แต่ถ้าฟังคนอื่น เขาอาจจะบอกว่าชื่นชอบเพราะบทเพลง ก็ขึ้นอยู่กับคนที่จะยกย่องด้วย มีคนบอกว่าฝ่ายผม อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ทำให้ภาพของจิตรเป็นแต่นักวิชาการ ซึ่งก็ใช่ไง เราเป็นนักวิชาการ เราเห็นความงาม ความสามารถที่เขาแสดงออกทางวิชาการ งานวิชาการของจิตรคือการสั่นสะเทือนในยุคสมัย การเขียน “โฉมหน้าศักดินาไทยในปัจจุบัน” ถึงขั้นทำให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ต้องเขียนงานอย่าง “ฝรั่งศักดินา” ออกมาโต้ตอบ งานของจิตรเผยแพร่ไม่ได้ แต่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เผยแพร่จนได้รับยกย่องว่าเป็นผู้รอบรู้มากกมาย

นั่นย่อมแสดงว่า งานของจิตรแม้ไม่ได้รับการเผยแพร่ในวงกว้างมาก หากแต่สั่นสะเทือน จนกระทั่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ต้องออกโรง แม้ถ้าเทียบสถานะทางสังคมในตอนนั้นแล้ว ถือว่าคนละชั้น คือคุณเพิกเฉยตัวเขาได้ แต่ไม่อาจเพิกเฉยงานเขาได้เลย คุณต้องลงสนามชกเพื่อป้องกันตำแหน่ง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า