แนะนำหนังสือ : A Brief History of Equality โดยโทมัส ปิเกตตี้

22 พฤศจิกายน 2564

โทมัส ปิเกตตี้ (Thomas Piketty, ศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์, ผู้อำนวยการศูนย์ School of Advanced Studies in the Social Sciences และผู้อำนวยการร่วมห้องปฏิบัติการ World Inequality Lab) เคยสร้างงานสั่นสะเทือนสังคมอย่าง Capital in the Twenty-First Century (2013) ที่อธิบายกลไกการสะสมและการเปลี่ยนแปลงของทุน และ Capital and Ideology (2019) อธิบายบทบาทของอุดมการณ์ที่ผลิตจากสังคมที่แตกต่างจะส่งผลต่อการก่อร่างสร้างการสะสมทุนและความเหลื่อมล้ำในสังคมอย่างไร อย่างไรก็ตามงานดังกล่าวก็มีข้อเสนอเกริ่นนำเพียงเล็กน้อยในการหาทางออกของความเหลื่อมล้ำของทุนนิยมในศตวรรษที่ 21

Une brève histoire de l’égalité หรือ A Brief History of Equality (2021) คือผลงานล่าสุดของปิเกตตี้ที่เปรียบดังส่วนต่อขยายเพิ่มเติมจากงานเก่า รวมถึงการเสนอทางออกอันแสนทะเยอทะยานของเขาจากความเหลื่อมล้ำของระบอบทุนนิยม ปิเกตตี้ได้เคยให้สัมภาษณ์ว่า Capital in the Twenty-First Century (2013) จะเป็นหนังสือเล่มสุดท้ายที่เขาจะใช้กรอบของตะวันตกเป็นศูนย์กลางในการเขียนที่ใช้กระบวนการวิจัย ทฤษฎี รวมถึงข้อมูลจากมุมมองของการสะสมองค์ความรู้แบบตะวันตก ดังนั้นในผลงานล่าสุดที่เขาได้ทลายกรอบมุมมองดังกล่าวแล้ว การเล่าประวัติศาสตร์ของความ (ไม่) เท่าเทียมจึงเป็นรูปแบบการนำเสนอที่มีเสน่ห์ น่าติดตาม และทลายมายาคติที่ว่า “ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาทางด้านเศรษฐศาสตร์” อีกต่อไป สำหรับเขาแล้วความเหลื่อมล้ำเป็น “ผลผลิตร่วมของ ประวัติศาสตร์ การเมือง และสังคม” ที่ทุกคนในสังคมต้องมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา

ความเหลื่อมล้ำคือ ผลผลิตร่วมของประวัติศาสตร์ สังคม และการเมือง

ทฤษฎีรวมถึงข้อมูลในการวิเคราะห์ที่ใช้ในผลงานเล่มนี้จึงเป็นสหสาขาวิชาที่รวมทั้งหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ข้อมูลในรูปสถิติและข้อมูลคุณภาพ ข้อมูลทางด้านสังคม การเมือง รวมถึงใช้ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์สถาบัน เพื่อฉายภาพวิวัฒนาการของความเท่าเทียมกันในสังคมแต่ละสังคมโดยข้อมูลที่เก็บมาจะเริ่มที่ศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากระบอบเก่าไปสู่ระบอบทุนนิยมจนถึงข้อมูลในช่วงปัจจุบัน

เขาตั้งใจตั้งชื่อหนังสือเล่มนี้ว่า “ประวัติศาสตร์ย่อของความเท่าเทียมกัน” เพื่อบ่งบอกว่าเมื่อย้อนดูประวัติศาสตร์แล้วแนวโน้มของความเหลื่อมล้ำตั้งแต่ศตวรรษที่18 มีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก ถึงแม้ปัจจุบันที่ผู้คนได้สัมผัสถึงความเหลื่อมล้ำจากทุนนิยมที่นับวันรุนแรงมากขึ้น แต่การหมุนเข็มนาฬิกาย้อนกลับไปสู่ระบอบศักดินาก็หาใช่ทางออกไม่ เพื่อยืนยันข้อเสนอดังกล่าวแล้ว การใช้ข้อมูลสถิติและตัวชี้วัดจึงเป็นสิ่งจำเป็นและขาดไม่ได้โดยตัวชี้วัดที่เขาใช้เป็นหลักได้แก่ สัดส่วนการครอบครองสินทรัพย์ (หรือรายได้) ของชนชั้นร่ำรวย (ชนชั้นนำ) เปรียบเทียบกับชนชั้นกลางและชนชั้นยากจน (ชนชั้นประชาชนส่วนใหญ่) ซึ่งตามข้อมูลสถิติแล้วระบอบทุนนิยมก็ช่วยให้ลดความเหลื่อมล้ำได้ดีกว่าระบอบศักดินา หรือระบอบทาสอย่างมหาศาล เพียงแต่ว่าในช่วงตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมาที่ระบอบทุนนิยมเริ่มถึงทางตันและส่งสัญญาณความเหลื่อมล้ำที่สูงมากขึ้น

ระบอบทุนนิยมช่วยให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจและลดความเหลื่อมล้ำแก่ยุโรปและอเมริกาซึ่งเป็นแต้มต่อสำคัญให้ประเทศเหล่านี้พัฒนาประเทศได้ไกลกว่ากลุ่มประเทศอื่น อย่างไรก็ตามถ้ามองแต่ตัวชี้วัดระดับมหภาคเพียงอย่างเดียวโดยไม่ลงรายละเอียดทางประวัติศาสตร์เชิงลึก ก็ย่อมสร้างความเข้าใจผิดได้ว่าระบอบทุนนิยมจะสร้างความเท่าเทียมกันได้โดยธรรมชาติ มิใช่เลย มิใช่เลย ระบอบทุนนิยมเป็นเพียงปัจจัยเดียวเท่านั้น แต่ยังต้องประกอบไปด้วยการเคลื่อนไหวทางสังคม อุดมการณ์ทางสังคม การต่อสู้ทางการเมือง เพื่อนำไปสู่เป้าหมายสังคมที่เท่าเทียมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมใดๆ ที่มีสถาบันทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองแบบเก่าที่แข็งแกร่งฝังรากลึกเท่าไหร่แล้ว ยิ่งต้องใช้เวลา ความอดทน จากหินก้อนแรกสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในท้ายสุด และมันอาจจะกินเวลามากกว่าศตวรรษก็เป็นได้อย่างที่เกิดขึ้นในยุโรป

ข้อดีของระบบทุนนิยม

ระบอบทุนนิยมช่วยลดความเหลื่อมล้ำเนื่องจาก ประการแรก มันเกิดการสร้างกรรมสิทธิ์ที่ชัดเจนมากขึ้น และค่อยๆ ย้ายการครอบครองทรัพย์สินและปัจจัยการผลิตจากเดิมที่เป็นชนชั้นขุนนางและชนชั้นพระเป็นผู้ครอบครอง ไปสู่ชนชั้นประชาชนธรรมดา ทำให้คนธรรมดาหวงแหนและพัฒนาการใช้ทุนเพื่อผลประโยชน์ตนเองมากขึ้นโดยไม่ต้องถูกจัดเก็บส่วยให้กับชนชั้นนำ

ประการที่สอง ระบอบทุนนิยมได้ล้มล้างระบบอภิสิทธิ์จากชาติกำเนิด เกิดการเปลี่ยนสถานะจากไพร่ในระบอบศักดินาเป็นพลเมืองซึ่งค่อยๆ มีการพัฒนาสิทธิต่างๆ ทั้งสิทธิทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

ประการที่สาม ทุนนิยมช่วยขยายการศึกษาและบริการรักษาพยาบาลให้ทั่วถึงแก่ประชาชนซึ่งทั้งสองสิ่งนี้เป็นทุนมนุษย์ที่สำคัญที่สุดที่ให้ประโยชน์ทั้งแก่ตัวปัจเจกเอง และส่งผลกระทบภายนอกแก่ระบบเศรษฐกิจทั้งระบบอีกด้วย

ประการที่สี่ เศรษฐกิจทุนนิยมที่ขยายตัวมากขึ้นก็ช่วยให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น และมีสถานะทางการคลังที่ดีมากพอจะพัฒนาและขยายนโยบายสวัสดิการสังคมให้ดีขึ้นตามมา

ประการที่ห้า รัฐทุนนิยมเป็นฐานให้มีการพัฒนาเป็นรัฐสังคม (Social State) ที่รัฐสามารถใช้นโยบายการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า ใช้นโยบายการกระจายทรัพยากร  (distribution) และนโยบายการจัดการทรัพยากรใหม่ (redistribution) ในการลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มบทบาทของรัฐในสัดส่วนการถือครองกรรมสิทธิ์สินค้าสาธารณะ และการควบคุมกลไกตลาด

สาเหตุทั้งห้าประการดังกล่าวเป็นลักษณะสากลที่พบได้ในทุกประเทศที่เปลี่ยนผ่านสู่ระบอบทุนนิยมและมีความเหลื่อมล้ำลดลง  อย่างไรก็ตามเมื่อศึกษาข้อมูลประวัติศาสตร์เชิงลึกอีกขั้นก็ปรากฏว่า วิธีดังกล่าวมันก็ไม่ได้เป็นสูตรสำเร็จที่ใช้ได้และให้ผลเหมือนกันในทุกๆ ประเทศ สถาบันทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองในแต่ละประเทศสามารถส่งผลลดทอน หรือส่งเสริมให้การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อย่างล่าช้า หรือรวดเร็วก็ได้ อีกทั้งกระบวนการเปลี่ยนผ่านก็มิใช่เป็นเส้นตรงเสมอไป แต่สามารถประสบกับปัญหาการโต้อภิวัฒน์ และส่งผลให้การเปลี่ยนแปลงเป็นลักษณะลุ่มๆ ดอนๆ ยกตัวอย่างเช่น การปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 ถึงแม้ประสบความสำเร็จในการล้มระบอบเก่าลง สร้างรัฐธรรมนูญและสิทธิของประชาชน แต่ก็เป็นภารกิจที่มิแล้วเสร็จในรูปของการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคม หนำซ้ำยังถูกการโต้อภิวัฒน์จากสถาบันเก่าที่ยังหลงเหลืออยู่ นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางสังคมก็หวนกลับคืนมาอีกครั้ง

อุดมการณ์และความเหลื่อมล้ำ

ในหนังสือเล่มนี้ ปิเกตตี้ได้มีการอธิบายเพิ่มเติมจาก Capital and Ideology (2019) เพื่อให้ฉายภาพชัดเจนอีกครั้งถึงความสำคัญของแนวคิดอุดมการณ์เกี่ยวข้องอย่างไรกับความเหลื่อมล้ำ อุดมการณ์ในแต่ละสังคมมีความแตกต่างกันตามค่านิยมสังคม ประวัติศาสตร์สังคม ซึ่งอุดมการณ์จะเป็นตัวครอบงำความคิดและพฤติกรรมของสมาชิกในสังคมว่า ลักษณะแบบใดเป็นเรื่องยุติธรรมหรือไม่ยุติธรรม อุดมการณ์เป็นสิ่งที่แปรผันไปตามสภาพแวดล้อมและกาลเวลา และสร้างมายาคติว่าความเหลื่อมล้ำเป็นสิ่งธรรมชาติและถูกต้องแล้ว ยกตัวอย่างเช่น การปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 มีวัตถุประสงค์ในการทำลายฐานันดรและสร้างสถานะคนเท่ากัน แต่ทว่าค่านิยมในยุคดังกล่าวกับมองว่า คนคือเพศชายเท่านั้น เพศหญิงจึงมิได้มีสิทธิในการเลือกตั้งเหมือนบุรุษ หรือการยกเลิกระบบทาสและศักดินาที่เกิดขึ้นในผืนแผ่นดินฝรั่งเศสนั้นก็มิได้หมายรวมถึงผืนแผ่นดินอาณานิคมของฝรั่งเศส ดังนั้นจึงมีการใช้ทาสและการขูดรีดแรงงานทาสอยู่เสมอในอาณานิคมฝรั่งเศสในแคริเบียน (ปัจจุบันคือ ไฮติ) และอาณานิคมในอินโดจีน ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญให้กับประเทศแม่จนกระทั่งศตวรรษที่ 20 โดยความล่าช้าในการปลดแอกดังกล่าวยังส่งผลถึงความเหลื่อมล้ำในปัจจุบันที่ระบบปิตาธิปไตยกดทับเพศหญิงให้มีสถานะ และการเข้าถึงทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียมกับเพศชาย หรือถึงแม้ระบอบอาณานิคมของประเทศยุโรปได้ถูกล้มล้างไปแล้วก็ตาม แต่ปรากฏว่าประเทศที่ได้รับอิสรภาพทีหลังก็มีการเจริญเติบโตที่ต้องไล่ตามหลังประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศอดีตอาณานิคมต้องพึ่งพิงประเทศอดีตเจ้าอาณานิคมเสมอมา เสมือนเป็นระบบอาณานิคมใหม่

การกลับมาของความเหลื่อมล้ำ

อัตราภาษีก้าวหน้าและมาตรการการคลังเพื่อสังคมเป็นเครื่องมือสำคัญช่วยลดความเหลื่อมล้ำ อย่างไรก็ตามตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมาความเหลื่อมล้ำทางวัตถุกลับเพิ่มขึ้นมาอีกครั้งในทุกๆ ประเทศ ถึงแม้ความเหลื่อมล้ำรายได้จากแรงงานมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่มีการกระจุกตัวของทรัพย์สินและกรรมสิทธิ์ของชนชั้นนำ (ชนชั้นมั่งคั่งที่สุดร้อยละ 1 ของประเทศ) ซึ่งทุนที่ชนชั้นนำสะสมมามีความหลากหลายมากขึ้น เช่น ที่ดิน หุ้นการเงิน เป็นต้น และทุนเหล่านี้สามารถสร้างผลตอบแทน เงินต่อเงินได้อย่างมหาศาลกว่าค่าตอบแทนจากแรงงาน ดังนั้นกลุ่มชนชั้นนำจึงมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นห่างจากชนชั้นอื่นอย่างรวดเร็ว เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวปิเกตตี้มีข้อเสนอที่ทะเยอทะยาน คือ การเก็บภาษีสินทรัพย์และการกระจายสินทรัพย์ถ้วนหน้า โดยแต่ละคนจะได้สินทรัพย์ถ้วนหน้าเป็นมูลค่าร้อยละ 60 ของสินทรัพย์เฉลี่ยต่อประชากรผู้ใหญ่ เช่น ฝรั่งเศสมีมูลค่าสินทรัพย์เฉลี่ย 200,000 ยูโรต่อคน ดังนั้นสินทรัพย์ถ้วนหน้าจึงควรมีมูลค่า 120,000 ยูโร และเมื่อประชาชนคนใดอายุครบ 25 ปีก็จะได้รับเงินก้อนนี้มาครั้งเดียวเป็นทุนเริ่มต้น ซึ่งแหล่งเงินที่นำมาใช้ก็ได้มาจากการผสมผสานทั้งจากภาษีอัตราก้าวหน้าจากมรดก และจากสินทรัพย์ โดยชนชั้นที่ครอบครองสินทรัพย์สูงจะถูกเก็บถึงร้อยละ 90 ของมูลค่าสินทรัพย์ที่ครอบครอง เพื่อผลสุดท้ายให้ชนชั้นประชาชน (ชนชั้นร้อยละ 50 ที่รายได้น้อยสุด) จะกลายเป็นชนชั้นผู้ครอบครองสินทรัพย์ร้อยละ 40 ของสินทรัพย์ทั้งประเทศ ส่วนชนชั้นกลางก็จะได้ครอบครองทรัพย์สินร้อยละ 45 และชนชั้นร่ำรวยร้อยละ 10 ก็จะได้ครอบครองสินทรัพย์ลดลงเหลือร้อยละ 20 ของสินทรัพย์ทั้งประเทศ นอกจากนี้เพื่อให้ความเหลื่อมล้ำจากรายได้ลดลง จึงควรมีการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้ารายได้ เบี้ยสังคม และภาษีคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อนำเงินส่วนนี้ไปสร้างรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า การประกันการจ้างงาน และใช้จ่ายด้านนโยบายสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้ที่มีรายได้สูงก็จะมีโอกาสถูกเก็บภาษีตัวนี้ถึงร้อยละ 90 ของรายได้   

ทุนในทัศนคติของปิเกตตี้จึงมิควรถูกครอบครองโดยเอกชนมากเกินไป แต่ควรจะมีสัดส่วนทุนสาธารณะมากขึ้น โดยกระบวนการตัดสินใจใช้ทุนสาธารณะก็ต้องเป็นระบบประชาธิปไตยที่มีการกระจายอำนาจ โดยลดบทบาทรวมอำนาจตัดสินใจจากรัฐส่วนกลาง เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดความล่าช้า คอร์รัปชันจากระบบราชการ รวมถึงความเสี่ยงจากรัฐอำนาจนิยมศูนย์กลาง  

ยิ่งไปกว่านั้นเขายังมองว่าระบบกรรมสิทธิ์ไม่ใช่ระบบธรรมชาติตามสำนักคลาสสิคเชื่อ กรรมสิทธิ์มิได้มีลักษณะเป็นสากลเหมือนกันทุกประเทศ หรือมีลักษณะคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง แต่เป็นสิ่งที่กำหนดมาจากการเมือง แน่นอนว่าระบบกรรมสิทธิ์ช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตได้ แต่ความเหลื่อมล้ำในปัจจุบันมันเกิดจากระบบกรรมสิทธิ์เกินตัว การกระจายกรรมสิทธิ์ที่เท่าเทียมจึงต้องวางอยู่บนฐานของการเมืองประชาธิปไตยที่ปราศจากการถูกครอบงำจากกลุ่มสถานะสังคมที่สูงกว่า ดังนั้นเส้นทางการเงินที่ใช้ในการรณรงค์เลือกตั้ง เพื่อผลิตสื่อสารมวลชน และติงค์แทงค์ควรจะเป็นไปอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อรับประกันว่าก่อนที่นโยบายสาธารณะจะออกมาบังคับใช้นั้นต้องมีกระบวนการผลิตนโยบายที่ยุติธรรมด้วยเช่นเดียวกัน

ทุนในทัศนคติของปิเกตตี้จึงมิควรถูกครอบครองโดยเอกชนมากเกินไป แต่ควรจะมีสัดส่วนทุนสาธารณะมากขึ้น โดยกระบวนการตัดสินใจใช้ทุนสาธารณะก็ต้องเป็นระบบประชาธิปไตยที่มีการกระจายอำนาจ โดยลดบทบาทรวมอำนาจตัดสินใจจากรัฐส่วนกลาง เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดความล่าช้า คอร์รัปชันจากระบบราชการ รวมถึงความเสี่ยงจากรัฐอำนาจนิยมศูนย์กลาง  

ความเหลื่อมล้ำพหุมิติ

ความเหลื่อมล้ำทางด้านวัตถุ (รายได้และทรัพย์สิน) เป็นความเหลื่อมล้ำมิติเดียวเท่านั้น ความเหลื่อมล้ำยังมีมิติอื่นๆ เช่น การเมือง เชื้อชาติ ความเชื่อ เพศ การศึกษา เป็นต้น ที่ต้องพิจารณาด้วยเพื่อให้ประสบความสำเร็จในการสร้างสังคมที่เท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำในมิติต่างๆ มีความเชื่อมโยงกัน ดังนั้นความเหลื่อมล้ำพหุมิติจึงมีความซับซ้อนอย่างมาก การแก้ปัญหาดังกล่าวจึงต้องพิจารณามิติอื่นๆ นอกจากด้านการกระจายทางวัตถุ และการแก้ปัญหาจึงอาจไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว แต่ต้องมีการศึกษาเชิงลึกในแต่ละสังคม รวมถึงปัญหาลักษณะเฉพาะของแต่ละสังคมประกอบด้วย ตัวอย่างเช่น การศึกษาในฝรั่งเศสเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองทุกคนจนถึงระดับปริญญาเอก แต่ปรากฏว่าก็มีความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาเกิดขึ้น โดยลูกหลานของครอบครัวที่มีการศึกษาสูงมักจะมีโอกาสการศึกษาที่สูงกว่าชนชั้นอื่น อีกทั้งงบประมาณอุดหนุนโรงเรียนรัฐก็ไม่เท่าเทียมกันเมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างโรงเรียนในเขตใจกลางเมืองปารีสกับเขตชานเมืองปารีส สถานะการจ้างงานของครูในโรงเรียนรัฐในเขตชานเมืองปารีสมีสัดส่วนการจ้างงานแบบชั่วคราวสูงกว่าโรงเรียนรัฐในกลางเมืองปารีส เป็นต้น ดังนั้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำการศึกษาจึงต้องมีการปฏิรูปการคลังด้านการศึกษา ให้มีการกระจายงบประมาณจากรัฐที่ยุติธรรมมากขึ้น ซึ่งคำว่ายุติธรรมก็ไม่ได้หมายถึงเท่ากัน แต่ต้องใช้ข้อมูลสถิติเชิงลึกและโปร่งใสเพื่อสร้างตัวชี้วัดที่ครอบคลุม เช่น รายงานประจำปีการกระจายทรัพยากรการศึกษา อัตราการเข้าถึงการศึกษาในแต่ละระดับชั้นโดยคำนึงถึงสถานะทางสังคม รายได้ของผู้ปกครอง เป็นต้น โดยข้อมูลเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญในขั้นต่อมาที่ทำให้เกิดการอภิปรายสาธารณะและประชาธิปไตยโดยรับประกันว่าไม่มีกลุ่มอำนาจใดมีอิทธิพลเหนือกว่าในการกำหนดนโยบายสาธารณะ

การเลือกปฏิบัติ

การเลือกปฏิบัติเชิงบวก (positive discrimination หรือ affirmative action) เป็นอีกวิธีที่ใช้ลดความเหลื่อมล้ำทางอัตลักษณ์ เช่น ความเหลื่อมล้ำทางเพศ ความเหลื่อมล้ำทางเชื้อชาติ ความเหลื่อมล้ำทางความเชื่อ ที่หลายๆ ประเทศริเริ่มใช้กัน มีวิธีหลากหลายในการใช้เลือกปฏิบัติเชิงบวก เช่น การกำหนดโควตาการจ้างงาน โควตาคณะกรรมการบริหาร เป็นต้น อย่างไรก็ตามมาตรการดังกล่าวก็ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีระบบแบ่งแยกชนชั้นสังคมและเชื้อชาติที่เป็นประวัติศาสตร์วัฒนธรรมอย่างต่อเนื่องอย่างประเทศอินเดีย การลดความเหลื่อมล้ำทางอัตลักษณ์จึงเป็นเรื่องที่ยาก และเป็นเรื่องที่ต้องเปลี่ยนแปลงในระดับวัฒนธรรมสังคม ข้อเสนอของปิเกตตี้ในการลดความเหลื่อมล้ำดังกล่าวจึงมีความทะเยอทะยานมากกว่านั้นคือ ให้แบ่งสัดส่วนผู้แทนประชาชนของแต่ละกลุ่มอัตลักษณ์ให้เท่ากัน เช่น ในสภาผู้แทนราษฎรควรแบ่งจำนวนให้เป็นชายร้อยละ 50 และหญิง ร้อยละ 50 หรือถ้าเป็นบริษัทเอกชนก็ควรให้สัดส่วนคณะผู้บริหารเป็นผู้แทนจากแรงงานครึ่งหนึ่ง และอีกครึ่งหนึ่งเป็นของฝ่ายผู้ถือหุ้น เป็นต้น เพื่อให้อำนาจในการกำหนดนโยบายและสิทธิประโยชน์ต่างๆ มีการกระจายที่เท่าเทียมกันระหว่างกลุ่มอัตลักษณ์ต่างๆ

ข้อเสนอของปิเกตตี้ในการลดความเหลื่อมล้ำดังกล่าวจึงมีความทะเยอทะยานมากกว่านั้นคือ ให้แบ่งสัดส่วนผู้แทนประชาชนของแต่ละกลุ่มอัตลักษณ์ให้เท่ากัน เช่น ในสภาผู้แทนราษฎรควรแบ่งจำนวนให้เป็นชายร้อยละ 50 และหญิง ร้อยละ 50 หรือถ้าเป็นบริษัทเอกชนก็ควรให้สัดส่วนคณะผู้บริหารเป็นผู้แทนจากแรงงานครึ่งหนึ่ง และอีกครึ่งหนึ่งเป็นของฝ่ายผู้ถือหุ้น เป็นต้น เพื่อให้อำนาจในการกำหนดนโยบายและสิทธิประโยชน์ต่างๆ มีการกระจายที่เท่าเทียมกันระหว่างกลุ่มอัตลักษณ์ต่างๆ

ความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เมื่อถอดแว่นเรื่องรัฐชาติ เพื่อมองดูโลกทั้งระบบ ก็ปรากฏว่าความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและด้อยพัฒนาก็ยังเป็นปัญหาเรื้อรัง มาตรการเงินกู้เงินช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาจากองค์การระหว่างประเทศต่างๆ มิได้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำแต่อย่างใด องค์การระหว่างประเทศให้ความสำคัญด้านการค้าเสรี ผลประโยชน์ของแต่ละประเทศมากกว่าการช่วยเหลือประเทศด้อยพัฒนา อีกทั้งกลไกการตัดสินใจต่างๆในองค์การระหว่างประเทศก็กระจุกตัวที่ประเทศพัฒนาแล้วมากกว่า ระบบโลกในปัจจุบันจึงเป็นระบบอาณานิคมใหม่และแบ่งงานกันทำที่ประเทศพัฒนาแล้วได้เปรียบ โลกาภิวัตน์และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาโลกร้อนที่สามารถทำลายที่อยู่ของมนุษย์จนไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในรุ่นต่อๆ ไปกลายเป็นปัญหาสำคัญที่สร้างความเหลื่อมล้ำ และเกินความสามารถที่รัฐใดรัฐหนึ่งจัดการได้ แต่ต้องใช้ความร่วมมือระหว่างประเทศ ข้อเสนอของปิเกตตี้คือ ต้องมีการเพิ่มสิทธิให้แก่ประเทศยากจนมากขึ้น และขยายแนวความคิดรัฐเพื่อสังคมเป็นสหพันธรัฐเพื่อสังคม

เขาได้ขยายสิทธิมนุษยชนให้ครอบคลุมเรื่องสิทธิในการพัฒนาด้วย และมองว่าระบบโลกมีการเชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออก การสะสมทุนจนมั่งคั่งของประเทศหนึ่ง (หรือคนคนหนึ่ง) ก็มาจากความช่วยเหลือร่วมกันของประเทศยากจน (คนยากจน) ดังนั้นจึงต้องมีการเก็บภาษีโลกขึ้นโดยเก็บภาษีความมั่งคั่งร้อยละ 2 จากบุคคลหรือบริษัทที่มีความมั่งคั่งตั้งแต่ 10 ล้านยูโร ซึ่งมีจำนวนแค่ 0.1% ของประชากรทั่วโลกแต่ครอบครองสินทรัพย์ 75 % ของโลกทั้งหมด ทำให้มูลค่าภาษีโลกที่เก็บได้ในแต่ละปีสูงถึง 1 ล้านล้านยูโร และเพียงพอที่จะเข้ามาแทนที่เงินช่วยเหลือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาในโครงการต่างๆ ที่ช่วยขยายการศึกษา บริการสุขภาพ โครงสร้างพื้นฐานให้ประเทศยากจน

เพื่อป้องกันไม่ให้เงินช่วยเหลือโครงการพัฒนาแก่ประเทศยากจนถูกใช้ไปในทางผิดเพื่อสะสมความมั่งคั่งให้แก่ผู้นำประเทศที่ได้รับความช่วยเหลือ ดังนั้นจึงต้องมีความโปร่งใสเรื่องการตรวจสอบสินทรัพย์ของผู้นำประเทศรวมถึงผู้บริหารขององค์กรเอกชน

ระบบอภิบาลองค์กรระหว่างประเทศก็ควรจะมีการปฏิรูปเพื่อให้ประเทศยากจนมีสิทธิมีเสียงมากขึ้น ปิเกตตี้ได้เสนอว่าสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านการค้าและการเงินที่ใช้อยู่ในปัจจุบันควรถูกแทนที่ด้วยสนธิสัญญาการพัฒนาร่วมกันและเป็นธรรม ซึ่งแตกต่างจากสนธิสัญญาเก่าๆ ที่ให้ความสำคัญด้านการค้าเสรีและการเงินเป็นเรื่องหลัก แต่สนธิสัญญาใหม่จะมุ่งไปที่จุดประสงค์ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น ภาษีโลก ภาษีนานาชาติ การกระจายความมั่งคั่ง การกระจายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การรักษาความหลากหลายชีวภาพ เป็นต้น และองค์กรที่ผลักดันประเด็นดังกล่าวจะเป็นรูปสภานานาชาติซึ่งอาจจะเป็นลักษณะแรก คือ สภาสหภาพยุโรป หรือ สภาของภูมิภาคต่างๆ เช่น สภาพสหภาพแอฟริกา สภาสหภาพเอเชีย เป็นต้น หรือในรูปแบบที่สองที่ในอุดมคติมากกว่า คือการเลือกตั้งผู้แทนเข้าสู่สภานานาชาติ  

สรุป

กล่าวโดยสรุป สำหรับนักเศรษฐศาสตร์สายมาร์กซิสม์อย่างปิเกตตี้แล้วเขาเชื่อว่าระบบทุนนิยมไม่ใช่ระบบที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นและสามารถเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นได้ เช่นเดียวกันความเหลื่อมล้ำตามทรรศนะของเขาจึงไม่ใช่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่เป็นผลผลิตร่วมที่สร้างมาจากประวัติศาสตร์ สังคม และการเมือง ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ระบบทุนนิยมเริ่มพบทางตันและความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงขึ้น และเขาก็เห็นข้อจำกัดของระบอบคอมมิวนิสม์ที่มีลักษณะอำนาจนิยม ปิเกตตี้จึงได้เสนอแนวคิดที่ลดความเหลื่อมล้ำได้แก่ การสร้างระบบสังคมนิยมประชาธิปไตย, สร้างรัฐเพื่อสังคม และขยายสู่ความร่วมมือสากลอย่างสหพันธรัฐเพื่อสังคม, การกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วม, การพัฒนารักษาระบบนิเวศวิทยาและความหลากหลายชีวภาพ, การเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า ภาษีสินทรัพย์ การกระจายสินทรัพย์ถ้วนหน้า, ความเท่าเทียมกันทางด้านการศึกษา, ระบบเศรษฐกิจที่มิใช่วางอยู่บนกลไกตลาดเป็นสำคัญ, ระบบการเลือกตั้งและสื่อสารมวลชนที่ปราศจากการครอบงำของอำนาจเงินตรา อย่างไรก็ตามเขาก็ตระหนักเสมอว่าสิ่งที่เขาเสนอมิใช่ทางออกหนึ่งเดียวหรือสูตรสำเร็จในการแก้ปัญหา แต่ยอมรับความเห็นที่แตกต่าง

ผมหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะช่วยให้ผู้อ่านทุกท่านกลับมาตั้งคำถามในสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำประเทศไทยที่มีแต่จะมากขึ้นในทุกมิติ ช่วยกระตุ้นให้ฉุกคิดว่าความเหลื่อมล้ำที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน มิใช่เป็นสิ่งปกติธรรมชาติ แต่เป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข และศึกษาหาสาเหตุรากเหง้าของความเหลื่อมล้ำพหุมิติ ระบบเศรษฐกิจไทยเป็นระบบทุนนิยมแบบประเทศพัฒนาแล้ว หรือเรายังอยู่ในระบบการผลิตแบบเก่าแบบระบบศักดินา? รวมถึงมีสถาบันทางเศรษฐกิจสังคมการเมืองใดบ้างที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาเศรษฐกิจและลดความเหลื่อมล้ำ?

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า