การอภิปรายถึงกษัตริย์และการประท้วงในสภาผู้แทนราษฎร

19 กุมภาพันธ์ 2564

การประท้วงในสภาผู้แทนราษฎร

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 2564 ผู้ติดตามการประชุมสภามักจะพบว่าขณะที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกำลังอภิปรายสมาชิกในคณะรัฐมนตรีอย่างดุเด็ดเผ็ดมันส์ การอภิปรายกลับต้องสะดุดหยุดลงเมื่อมี ส.ส. จากฝ่ายรัฐบาลยกมือขึ้นประท้วงแทบจะตลอดเวลา จนหลายครั้งทำให้การอภิปรายติดขัดและไม่ต่อเนื่อง

ในสภาผู้แทนราษฎรประเทศไทยกำหนดว่าให้มีการประท้วงได้ตามข้อบังคับการประชุมสภา โดยก่อนจะลุกขึ้นประท้วง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำเป็นจะต้องขออนุญาตประธานสภาก่อน สมาชิกฯ จะต้องลุกขึ้นยืนและยกมือขึ้นเหนือศรีษะ ทั้งนี้ ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้สิทธิ์ ส.ส. ในการประท้วงด้วยเหตุผลตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ 2 ข้อได้แก่ 

ข้อ 69 การอภิปรายต้องอยู่ในประเด็นหรือเกี่ยวกับประเด็นที่กำลังปรึกษากันอยู่ ต้องไม่ฟุ่มเฟือย วนเวียน ซ้ำซาก หรือซ้ำกับผู้อื่น และห้ามไม่ให้นำเอกสารใด ๆ มาอ่านให้ที่ประชุมฟัง โดยไม่จำเป็น และห้ามไม่ให้นำวัตถุใด ๆ เข้ามาแสดงในที่ประชุม เว้นแต่ประธานจะอนุญาต

ห้ามผู้อภิปรายแสดงกิริยาหรือใช้วาจาอันไม่สุภาพ ใส่ร้าย หรือเสียดสีบุคคลใด และห้ามกล่าวถึงพระมหากษัตริย์หรือออกชื่อสมาชิกหรือบุคคลใดโดยไม่จำเป็น

ข้อ 71 สมาชิกผู้ใดต้องการประท้วงว่ามีการฝ่าฝืนข้อบังคับ ให้ยืนและยกมือขึ้นพ้นศีรษะ ประธานต้องให้โอกาสผู้นั้นชี้แจง แล้วให้ประธานวินิจฉัยว่าได้มีการฝ่าฝืนข้อบังคับตามที่ประท้วงหรือไม่ คำวินิจฉัยของประธานถือเป็นเด็ดขาด

ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่ผู้ถูกอภิปรายพาดพิงถึงเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องอื่นใดอันเป็นที่เสียหายแก่ผู้นั้น 

จะเห็นได้ว่า การประท้วงในสภาผู้แทนราษฎรไทยถูกเขียนอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรในลักษณะระเบียบข้อบังคับการประชุม 

ในทางตรงกันข้าม ระเบียบข้อบังคับการประท้วงดังกล่าวกลับกลายเป็นเครื่องมือในการสกัดขัดขวางและสร้างความรำคาญให้กับประชาชนผู้ติดตามการถ่ายทอดการประชุมสภาฯ จนสรุปได้ว่าเหตุผลและกลไกของการประท้วงมีลักษณะอยู่ 3 ประการคือ 

1.ต้องการสกัดขัดขวางและทำลายสมาธิของสมาชิกสภาผุ้แทนราษฎรที่กำลังอภิปราย

2.สร้างความน่าเบื่อหน่ายแก่ประชาชน จนรู้สึกไม่น่าฟัง และเลิกติดตาม ซึ่งในสมัยก่อนการประชุมสภาฯ ทำการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์เพียงทางเดียว เมื่อประชาชนรำคาญก็เลิกดูจนอาจพลาดเนื้อหาสำคัญไป

3.สร้างภาพลักษณ์ด้านลบแก่การประชุมและระบบรัฐสภา

แท้จริงแล้ว ระเบียบเรื่องการประท้วงมีเป้าหมายเพื่อสร้างความสงบเรียบร้อยในการะประชุม แต่ที่ผ่านมากลับกลายเป็นเครื่องมือในการทำลายระเบียบและจุดประสงค์ของการอภิปรายแทน

การประท้วงถูกทำกันจนเป็นธรรมเนียม และก่อให้เกิดกลุ่ม “มือประท้วง” ทั้งจากฟากรัฐบาลและฝ่ายค้าน หรือ “องค์รักษ์พิทักษ์รัฐมนตรี” ที่มักจะประท้วงเพื่อสกัดกั้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือช่วยรัฐมนตรีของตนให้ไม่ต้องชี้แจงเองอยู่เสมอ

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบการประชุมสภาในต่างประเทศ เช่น ประเทศฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักร ก็พบว่ารัฐสภาในต่างประเทศมีขนาดเล็ก ส.ส. นั่งใกล้ชิดกันมาก ไม่มีกฎข้อบังคับเกี่ยวกับการยกมือประท้วงในสภาฯ 

การแสดงความไม่พอใจหรือไม่เห็นด้วยของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มักกระทำด้วยการโห่ด้วยเสียงดังๆ หรือปรบมือแสดงความเห็นด้วย โดยเป็นหน้าที่ของประธานสภาในการควบคุมบรรยากาศการประชุม หากเสียงดังเกินไปหรือการประชุมเริ่มเสียบรรยากาศจนรบกวนการอภิปราย ก็จะใช้ค้อนทุบโต๊ะ และสั่งให้ ส.ส. เงียบเสียงลง ถือเป็นหน้าที่ของประธานในการรักษาความเรียบร้อย

ในขณะที่รัฐสภาไทยมักใช้เวลาอภิปรายถึง 4-5 วันต่อสัปดาห์ การประชุมสภาในต่างประเทศส่วนมากไม่เกินครั้งละ 2-4 ชั่วโมงเท่านั้น แต่ก็ยังสามารถออกกฎหมายได้อย่างสม่ำเสมอ โดยมีข้อกำหนดตั้งเวลาอภิปรายคนละไม่เกิน 10-15 นาที เพื่อความกระชับ

นอกจากนี้การอภิปรายไม่ไว้วางใจในต่างประเทศ (Motion of No-confidence หรือ Censure Debate) ยกตัวอย่างเช่น ประเทศฝรั่งเศส ส.ส. ไม่ต้องสังกัดพรรค จึงมีการจับกลุ่มกัน (Parliamentary Groups) เพื่อแบ่งสัดส่วนเวลาและหัวข้อในการอภิปราย

ทั้งหมดนี้สะท้อนภาพใหญ่ของระบอบรัฐสภาไทยว่ายึดถือหลัก “นิติศาสตร์นิยมล้นเกิน” (Hyper-Legalism) คือ ยึดถือกติกาจำนวนมาก ทำให้ต้องใช้ดุลยพินิจ และมักถูกตีความโดยผู้มีอำนาจไปเกินขอบเขตและเจตนารมย์ของกฎหมายนั้น อีกทั้งยังทำลายเป้าหมายหลักของการประชุมสภา คือการออกกฎหมายและการตรวจสอบรัฐบาล ไปจนหมดสิ้น เพราะเจอการสกัดขัดขวางผ่านการประท้วง จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ของการให้สิทธิ์ประท้วงอย่างไม่สมเหตุสมผลจนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติไป

การอภิปรายถึงบุคคลภายนอก

นอกจากการประท้วงแล้ว ประเด็นห้ามไม่ให้พาดพิงบุคคลภายนอกก็ถูกหยิบยกขึ้นมาห้ามปรามผู้อภิปรายอยู่บ่อยครั้ง 

สิ่งที่ควรพิจารณาคือ ส.ส. สามารถกล่าวพาดพิงถึงบุคคลภายนอกสภาได้หรือไม่? ใน รัฐธรรมนูญ 2560 ระบุไว้ชัดเจนในมาตรา 124 ว่า 

ถ้าสมาชิกกล่าวถ้อยคําใดที่อาจเป็นเหตุให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่รัฐมนตรีหรือสมาชิกแห่งสภานั้นได้รับความเสียหาย ให้ประธานแห่งสภานั้นจัดให้มีการโฆษณาคําชี้แจงตามที่บุคคลนั้น ร้องขอตามวิธีการและภายในระยะเวลาที่กําหนดในข้อบังคับการประชุมของสภานั้น ทั้งนี้โดยไม่กระทบต่อสิทธิของบุคคลในการฟ้องคดีต่อศาล 

นอกจากนี้ ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ข้อ 39 ก็ระบุว่า 

ในกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกล่าวถ้อยคำในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่มีการถ่ายทอดทางวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์หรือทางสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่น อันอาจเป็นเหตุให้บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้รับความเสียหาย บุคคลนั้นมีสิทธิร้องขอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรภายในกำหนดเวลาสามเดือน นับแต่วันที่มีการประชุมครั้งนั้น เพื่อให้มีการโฆษณาคำชี้แจง 

แสดงให้เห็นว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสามารถกล่าวพาดพิงถึงบุคคลภายนอกได้ และบุคคลภายนอกเองก็มีสิทธิ์ในการชี้แจ้งต่อสภาผู้แทนราษฎร

ในอดีต ส.ส. มักอภิปรายถึงบุคคลภายนอกอยู่เสมอ โดยเฉพาะในกรณีที่บุคคลภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องกับรัฐมนตรีซึ่งถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ การกล่าวถึงจึงเป็นเรื่องปกติ 

ที่ผ่านมามีกรณีการกล่าวถึงบุคคลภายนอก จนเป็นให้รัฐบาลต้องยุบสภา จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เมื่อวันที่ 19-20 กันยายน 2539 โดยมีพรรคชาติไทยเป็นแกนนำรัฐบาล ประชาธิปัตย์เป็นพรรคฝ่ายค้าน ข้อกล่าวหาที่ถูกตั้งไว้คือ กรณีเกี่ยวกับความไม่ชอบมาพากลของการปล่อยเงินกู้ของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) โดยพูดถึงคนนอก ทั้งธนาคาร ทั้งกรรมการผู้จัดการ ส่งผลสะเทือนให้รัฐบาลพรรคชาติไทยตัดสินใจยุบสภาในเวลาต่อมา และทำให้ประชาชนไปถอนเงินจากธนาคารเพราะมีความไม่น่าเชื่อถือ อันเป็นการพูดถึงบุคคลภายนอกอย่างชัดเจน

นอกจากนี้การอภิปรายพาดพิงบุคคลภายนอกรัฐสภามีความเกี่ยวข้องกับเรื่องเอกสิทธิ์และความคุ้มกันของ ส.ส. เพราะการอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสภาฯ ไม่อาจนำไปฟ้องร้องเป็นคดีความได้ เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ 

ถ้าหากมีคดีอาญาเกิดขึ้นโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ยังคงอยู่ในสมัยประชุมสภา จะต้องให้การประชุมสมัยดังกล่าวสิ้นสุดลงก่อน จึงจะดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีต่อได้ เพื่อให้การประชุมสภานั้นเป็นไปได้อย่างเต็มที่ตามหลักเสรีภาพในการแสดงออกและไม่เกิดความเสียเปรียบต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อีกทั้งไม่เปิดโอกาสให้มีการกลั่นแกล้ง ข่มขู่ ดำเนินคดีกับ ส.ส. เพื่อสกัดขัดขวางการอภิปรายได้

อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญ 2521 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายที่ระบุเรื่องเอกสิทธิ์และความคุ้มกันของ ส.ส. ในทุกกรณี เนื่องจากใน รัฐธรรมนูญ 2534 มีการเพิ่มเติมข้อยกเว้นไว้ในมาตรา 125 ซึ่งระบุว่า

เอกสิทธิ์ตามวรรคหนึ่งไม่คุ้มครองสมาชิกผู้กล่าวถ้อยคําในการประชุมสภาที่มีการถ่ายทอดทางวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์ : หากถ้อยคําที่กล่าวในที่ประชุมไปปรากฏนอกบริเวณรัฐสภาและการกล่าวถ้อยคํานั้นมีลักษณะเป็นความผิดทางอาญาหรือละเมิดสิทธิในทางแพ่งต่อบุคคลอื่น

ส่งผลมาถึงปัจจุบัน เอกสิทธิ์ดังกล่าวจึงใช้ไม่ได้ในทางความเป็นจริง เพราะขณะนี้การประชุมสภามีการถ่ายสดผ่านทางโทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต และยังมีการเผยแพร่เพิ่มขึ้นในหลายๆ ช่องทาง 

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ถูกพาดพิงก็สามารถฟ้องร้องคดีได้หากมีการถ่ายทอดสด ในทางเดียวกัน การอภิปรายถึงบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐมนตรี เพื่อประโยชน์สาธารณะ เพื่อประโยชน์ของการรักษาผลประโยชน์ชาติย่อมทำได้และยิ่งต้องทำ โดยผู้อภิปรายเป็นผู้รับผิดชอบการอภิปรายของตนเอง

การอภิปรายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ในรัฐสภา

การกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์กระทำได้ในสภาผู้แทนราษฎร แม้จะมี ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า 

ข้อ 69 การอภิปรายต้องอยู่ในประเด็นหรือเกี่ยวกับประเด็นที่กำลังปรึกษากันอยู่ ต้องไม่ฟุ่มเฟือย วนเวียน ซ้ำซาก หรือซ้ำกับผู้อื่น และห้ามไม่ให้นำเอกสารใด ๆ มาอ่านให้ที่ประชุมฟัง โดยไม่จำเป็น และห้ามไม่ให้นำวัตถุใด ๆ เข้ามาแสดงในที่ประชุม เว้นแต่ประธานจะอนุญาต

ห้ามผู้อภิปรายแสดงกิริยาหรือใช้วาจาอันไม่สุภาพ ใส่ร้าย หรือเสียดสีบุคคลใด และห้ามกล่าวถึงพระมหากษัตริย์หรือออกชื่อสมาชิกหรือบุคคลใดโดยไม่จำเป็น

อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์การประชุมสภาผู้แทนราษฎรไทย มีการอภิปรายเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างตรงไปตรงมาโดยตลอด โดยไม่มีปัญหาหรือการประท้วงใดๆ เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์ถือเป็นองค์กรภายใต้รัฐธรรมนูญเช่นกัน

ดู บันทึกเอกสารการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในอดีต ที่นี่

กรณี พันโท โพยม จุลานนท์ ส.ส. จังหวัดเพชรบุรี อภิปรายความเห็นเกี่ยวกับร่างบทบัญญัติเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์เพิ่มเข้ามาในรัฐธรรมนูญ 2492 โดยได้อภิปรายว่า 

“ข้าพเจ้าใคร่จะขอตั้งข้อสังเกตอีกอันหนึ่งว่า การสืบราชสันตติวงศ์นั้นย่อมสืบลงมาเป็นลำดับแต่หากว่าในราชตระกูลนั้น บังเอิญท่านผู้นั้นได้กระทำผิดกฎหมายอาญาขึ้นก่อนแต่คดียังไม่มีการฟ้องร้อง แต่บังเอิญได้ถูกสถาปนาขึ้นครองราชย์บัลลังก์ขึ้นมาแล้ว การฟ้องร้องการกระทำความผิดกก่อนเสวยราชย์ก็ฟ้องร้องไม่ได้เพราะเป็นพระมหากษัตริย์ เช่นนี้ข้าพเจ้าเห็นว่ามันขัดกัน ข้าพเจ้ามีความเห็นอย่างนี้ เราได้รับเราพูดไปอย่างหนึ่ง ข้าพเจ้าตำหนิว่าการที่เราวางหลักเพื่อปลอบใจประชาชนไว้ให้สิทธิว่าบุคคลย่อมเสมอภาคกันในทางกฎหมาย ฐานันดรศักดิ์ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นประชาชนเชื่อว่าต่อไปนี้เราเท่ากันหมด แต่ความจริงในหมวด 2 ยกให้พระมหากษัตริย์เป็นบุคคลที่จุติมาจากสวรรค์”

กรณี ร้อยโท จงกล ไกรฤกษ์ ส.ส. จังหวัดพิษณุโลก อภิปรายไม่เห็นด้วยกับการให้มีองคมนตรีและการให้ที่มาของวุฒิสภาแต่งตั้งมาจากพระมหากษัตริย์ โดยอภิปรายว่า 

“ข้าพเจ้าถือว่าการร่างรัฐธรรมนูญนี้เป็นการหาพวกให้แก่พระมหากษัตริย์ เช่น องคมนตรีหรือวุฒิสภา พวกของพระมหากษัตริย์เหล่านั้นเท่ากับเป็นกำแพงที่กั้นความจงรักภักดีของประชาชนทั้ง 18 ล้าน เราประชาชนทั้ง 18 ล้านคนต้องการสนิทชิดพระมหากษัตริย์โดยที่ไม่ต้องมีกำแพงกั้น เราที่เป็นประชาชนตั้ง 18 ล้านคนในที่นี้ หมายความว่าตัวแทนของประชาชน คือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับรัฐบาล ขอให้คิดดูว่าถ้าพระมหากษัตริย์มีพวก ใครจะรับรองว่าพวกของพระองค์จะดีเสมอไป เพราะฉะนั้นเราใคร่จะให้พระองค์ซึ่งดีอยู่เสมอและเคารพอยู่เสมอเช่นนั้น ประชาชนจะมีความเห็นอกเห็นพระทัยในพระมหากษัตริย์น้อยเกินไปและถ้ามีข้อพิพาทขึ้น ประชาชนถ้าเป็นฝ่ายแพ้ก็จะต้องเป็นศัตรูของพระมหากษัตริย์เพราะเหตุที่พวกของพระมหากษัตริย์นี่แหล่ะเป็นคนก่อขึ้น โดยเหตุนี้ข้าพเจ้าไม่รับรองขอให้ระลึกถึงความจริงใจในอกในใจของประชาชนคนไทยทั้งปวงว่า เราโดยที่เคารพสักการะพระมหากษัตริย์เป็นอย่างยิ่ง อย่างที่อังกฤษว่า The King Can Do No Wrong แต่พวกของพระมหากษัตริย์จะมามี Can Do No Wrong ด้วยไม่ได้ทีเดียว ถ้าใครมีชีวิตอยู่ในรัชกาลที่ 6 คงจะได้อิดหนาระอาใจมาแล้วว่า ในพวกที่ใกล้ชิดพระมหากษัตริย์บางท่านที่เสียหายไปก็ด้วยเหตุนี้แหละ ถ้าเราจะมีพวกพระมหากษัตริย์ขึ้นก็ประวัติศาสตร์ที่ร้ายก็ซ้ำรอยมาสู่เมืองไทยอีก”

กรณี นิวัฒน์ ศรีสุวรนันท์ ส.ส. จังหวัดร้อยเอ็ด อภิปรายไม่เห็นด้วยกับการให้มีองคมนตรีและการให้ที่มาของวุฒิสภาแต่งตั้งมาจากพระมหากษัตริย์ โดยอภิปรายว่า 

“ตามธรรมดานั้นการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น ถ้าประมุขของประเทศโดยเฉพาะพระมหากษัตริย์มีอำนาจมากขึ้นเท่าไร ความไม่สมบูรณ์แห่งประชาธิปไตยก็มีมากขึ้นเท่านั้น ถ้าหากว่าองค์พระมหากษัตริย์หรือประมุขของประเทศได้อำนาจไปแต่น้อยความเป็นประชาธิปไตยก็สมบูรณ์ยิ่งขึ้น … ถ้าหากว่าเราคืนอำนาจให้พระมหากษัตริย์ไปมากๆ ในเรื่องนี้แล้วอนาคตข้างหน้าความเป็นประชาธิปไตยของเราจะเป็นอย่างไร เมื่อให้พระมหากษัตริย์ตั้งบุคคลในราชสำนัก ตั้งองคมนตรี ตั้งวุฒิสภาเป็นพวกพ้องสภาของตนได้มากเช่นนี้แล้ว ข้าพเจ้ายิ่งเห็นว่าพระทัยของพระองค์ท่านย่อมจะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามคำประจบสอพลอของอำมาตย์ผู้หวังลาภยศในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แล้วการปกครองต่อไปจะเป็นอย่างไร ท่านนึกหรือไม่ว่าอาจจะคืนเข้าสู่ระบอบเดิมอย่างแน่

กรณี เสรี อิศรางกูร ณ อยุธยา ส.ส.จังหวัดบุรีรัมย์ อภิปรายโต้แย้งกับหลวงประกอบนิติสารว่า

“คุณหลวงประกอบฯ ท่านบอกว่า พระมหากษัตริย์เปรียบเหมือนบิดาของคนทั้ง 18 ล้าน ถ้าหากว่าคำพูดเช่นนี้ ถ้าพูดในสมัยพ่อขุนรามคำแหงก็พอสมควรอยู่ แต่ว่าหากมาใช้ในสภาระบอบประชาธิปไตยแล้วนั้น ข้าพเจ้าขอคัดค้าน พระมหากษัตริย์เราจะถือว่าเป็นพ่อบ้านพ่อเมืองเป็นพ่อของประชาชน 18 ล้าน ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วย และโดยเฉพาะถ้าเป็นพ่อของข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าไม่ยอม”

ทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นข้อยืนยันทางประวัติศาสตร์ของการประชุมสภาผู้แทนราษฎรไทยว่า ส.ส. สามารถกล่าวถึงประเด็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ เพราะมีฐานะเป็นองค์กรทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ 

จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 2564 นี้ เห็นว่ามีความพยายามสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับสภาผู้แทนราษฎรไทย ในการคัดค้านไม่ให้มีการกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์เลย แม้กระทั่งเอ่ยคำว่า “พระมหากษัตริย์” ก็ประท้วงกันมือระวิง 

เหล่านี้เป็นความพยายามสร้างบรรทัดฐานที่เป็นปัญหาอย่างยิ่ง เนื่องจากหากมีกรณีที่ต้องเปลี่ยนแปลงตัวบทกฎหมายหรือสถานะเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ นำมาสู่คำถามที่ว่าในกรณีเช่นนี้จะทำได้หรือไม่? 

ซ้ำร้าย ยังเป็นการผลักให้การพูดคุย แลกเปลี่ยน ถกเถียง ประเด็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ควรจะอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยของการเมืองในระบบอย่างสภาผู้แทนราษฎร ต้องออกไปอยู่เฉพาะการเมืองบนท้องถนน ยิ่งจะส่งผลร้ายให้กับความเชื่อมั่นศรัทธาต่อการเมืองในระบบรัฐสภาและทำให้ประเด็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ถูกนำมาพูดคุยถกเถียงในระบบอีกด้วย 

บทความที่เกี่ยวข้อง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า