เปิดบันทึกการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร พูดถึงสถาบันกษัตริย์ได้ ไม่ใช่เรื่องต้องห้าม

17 กุมภาพันธ์ 2564

หมายเหตุ : บทความนี้เกิดจากกรณีที่ ไพบูลย์ นิติตะวัน และ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล ได้ยินคำว่า ‘พระมหากษัตริย์’ ในการประชุมสภาแล้วตกใจ ประท้วงกันไม่หยุด ซึ่งหากย้อนเวลากลับไปในอดีตมีหวังได้กระอักเลือดกันแน่ เพราะที่ผ่านมาการพูดอภิปรายเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ก็สามารถทำได้มาโดยตลอด ไม่ได้มีปัญหาอะไร และ ส.ส. หลายท่านก็สามารถพูดได้อย่างตรงไปตรงมา

การที่ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลโดยเฉพาะ ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ ประท้วงในช่วงต้นของการประชุมสภา จนยืดเวลาการเริ่มเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจไปหลายชั่วโมง โดยอ้างว่าไม่ให้ฝ่ายค้านพูดอภิปรายเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์และไม่ให้อ่านญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ ส.ส. พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ร่วมกันเสนอต่อรัฐสภาและได้รับการอนุมัติญัตตินี้ไปแล้ว ซึ่งมีข้อความในญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจระบุว่า

“รัฐบาลไม่ยึดมั่นและศรัทธาในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำลายและเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย ทำลายความสัมพันธ์อันดีระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชน นำสถาบันเป็นข้ออ้างเพื่อแบ่งแยกประชาชน แอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเกราะปิดบังความผิดพลาดล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินของตนเอง”

ไพบูลย์ นิติตะวัน และ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล แค่ได้ยินเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ตกใจกลัว หน้าชาปากชา ลุกขึ้นประท้วงตีรวน ทำทีจะไม่ยอมให้ฝ่ายค้านได้อภิปราย

ด้วยเหตุนี้ จึงอยากพาไพบูลย์ และ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล ย้อนเวลากลับไปในอดีต เพื่อดูว่าการประชุมสภาผู้แทนราษฎรไทย มีการพูดอภิปรายเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์กันมาโดยตลอด มีการอภิปรายเกี่ยวกับเรื่องพระราชอำนาจ พระราชสถานะ การเข้าสู่ตำแหน่ง บทบาทและตำแหน่งแห่งที่ของพระมหากษัตริย์กันอย่างกว้างขวาง และก็ไม่เห็นว่าจะมีปัญหาอะไร

ส.ส.แต่ละฝ่ายสามารถโต้แย้ง ให้เหตุผลชี้แจงกันได้อย่างมีอารยะและอยู่บนหลักการประชาธิปไตย อีกทั้ง ส.ส. หลายท่านในอดีตก็สามารถพูดถึงพระมหากษัตริย์ได้อย่างตรงไปตรงมา

แต่ทว่าในปัจจุบัน นับตั้งแต่การปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 ที่ระบอบประชาธิปไตยมีอายุมาเกือบจะ 89 ปีแล้วนั้น ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลกลับมีการประท้วงกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ตกใจกลัวการพูดถึงเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างตรงไปตรงมา ไม่ยอมให้พูดถึง

หากย้อนกลับไปที่การอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญในอดีต ซึ่งต่อมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้นได้กลายเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2492 ได้มีการลุกขึ้นอภิปรายให้เหตุผลของ ส.ส. ฝ่ายต่างๆในเรื่องที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์

ในครั้งนั้น พ.ท.โพยม จุลานนท์ ส.ส.เพชรบุรี ได้ร่วมอภิปรายด้วย ซึ่ง พ.ท.โพยม ก็ไม่ใช่ใครที่ไหนแต่เป็นพ่อแท้ๆ ของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกเสนอชื่อโดยคณะรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ.2549 และเป็นประธานองคมนตรีในรัชสมัยปัจจุบัน โดย พ.ท.โพยม ผู้นี้เองได้เคยลุกขึ้นอภิปรายส่วนหนึ่งของร่างรัฐธรรมนูญไว้ว่า

“ข้าพเจ้าใคร่จะขอตั้งข้อสังเกตอันหนึ่งว่า การสืบราชสันตติวงศ์นั้นย่อมสืบลงมาเป็นลำดับ แต่หากว่าในราชตระกูลนั้น บังเอิญท่านผู้นั้นได้กระทำผิดกฎหมายอาญาขึ้นก่อน แต่คดียังไม่ได้มีการฟ้องร้อง แต่บังเอิญได้ถูกสถาปนาขึ้นครองราชย์บัลลังก์ขึ้นมาแล้ว การฟ้องร้องการกระทำความผิดก่อนเสวยราชย์ก็ฟ้องร้องไม่ได้ เพราะเป็นพระมหากษัตริย์ เช่นนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่ามันขัดกัน ข้าพเจ้าตำหนิว่าการที่เราวางหลักเพื่อปลอบใจประชาชนไว้ให้สิทธิว่าบุคคลย่อมเสมอกันทางในทางกฎหมาย ฐานันดรศักดิ์ ทุกสิ่งทุกอย่างนั้น ประชาชนเชื่อว่าต่อไปนี้เราเท่ากันหมด แต่ความจริงในหมวด 2 ยกให้พระมหากษัตริย์เป็นบุคคลที่จุติมาจากสวรรค์”

หรือแม้แต่กรณีของอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นฝ่ายผู้นิยมพระมหากษัตริย์เป็นอย่างสูง อย่าง ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์ ส.ส. พิษณุโลก ในขณะนั้น ผู้เป็นปู่แท้ๆ ของจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในสัดส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ และยังเคยเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ด้วย โดย ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์ ได้เคยอภิปรายเพื่อคัดค้านการมีองคมนตรีไว้ว่า

“องคมนตรีก็ดี อภิรัฐมนตรีก็ดี หรือจะเรียกว่าปุโรหิตาจารย์หรือโชกุนก็ดี สิ่งเหล่านี้มีมาในรัชกาลที่ 5 เพราะพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 5 ที่จะโน้มมาสู่ระบอบประชาธิปไตยตรงที่จะให้อำนาจสูงสุดมาเป็นของปวงชนชาวไทย นี่เป็นประวัติขององคมนตรีที่มีมาแต่เบื้องหลัง ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะรัฐบาลในในสมัยนั้นไม่ได้มีรัฐสภาเหมือนเช่นทุกวันนี้กำกับอยู่ด้วย อำนาจสูงสุดเป็นของพระมหากษัตริย์เท่านั้นจึงได้มีองคมนตรีขึ้น แต่ว่าบัดนี้เรามีอำนาจสูงสุดเป็นของปวงชนเรามีรัฐสภาแล้ว เราจะยังมีองคมนตรีสภาขึ้นนี้ ด้วยเหตุผลกลใดที่มี อย่างที่ข้าพเจ้าได้กราบเรียนต่อที่ประชุมนี้ว่าจะเป็นกำแพงกั้นความจงรักภักดีของปวงชนต่อพระมหากษัตริย์เสีย ทีนี้ข้าพเจ้าใคร่จะกล่าวถึงความในประวัติที่เกิดอภิรัฐมนตรีขึ้น เกิดขึ้นในสมัยต้นรัชกาลที่ 7 เพราะพระองค์ท่านเป็นพระมหากษัตริย์ที่ไม่ค่อยทรงสมบูรณ์ในสุขภาพและพระองค์มีเกรงพระทัยเจ้านายผู้ใหญ่อยู่จึงได้ตั้งอภิรัฐมนตรีขึ้น และอภิรัฐมนตรีที่มีมาแล้วนั้นมีความเป็นอยู่ที่ทำผลประโยชน์แก่บ้านเมืองเพียงไร ข้าพเจ้าจะของดกล่าวในที่นี้ เราก็ได้ทราบกันแล้วว่าอภิรัฐมนตรีได้เกิดขึ้นได้นั้นได้เกิดขึ้นในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็บัดนี้เราเป็นประชาธิปไตยแล้วเราจะกลับย้อนหลังว่ายน้ำเข้าไปหาตลิ่งแล้วเราอยู่กลางคลองของประชาธิปไตยแล้ว ข้าพเจ้าเห็นว่าไม่สมควรที่จะให้มีพวกของพระมหากษัตริย์ดังร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอเข้ามานี้”

เท่านั้นยังไม่พอ ร.ท.จงกล คนเดิมนี้เองยังเคยได้อภิปรายให้ความเห็นถึงผลกระทบที่อาจจะตามมาเนื่องจากองคมนตรี และยังได้อ้างถึงบทเรียนที่เคยเกิดขึ้นกับ ‘พวกของพระมหากษัตริย์’ ในสมัยรัชกาลที่ 6 ด้วยการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรไว้ว่า

“ข้าพเจ้าถือว่าการร่างรัฐธรรมนูญนี้เป็นการหาพวกให้แก่พระมหากษัตริย์ เช่น องคมนตรีหรือวุฒิสภา พวกของพระมหากษัตริย์เหล่านั้นเท่ากับเป็นกำแพงที่กั้นความจงรักภักดีของประชาชนทั้ง 18 ล้าน เราประชาชนทั้ง 18 ล้านคนต้องการสนิทชิดพระมหากษัตริย์โดยที่ไม่ต้องมีกำแพงกั้น เราที่เป็นประชาชนตั้ง 18 ล้านคนในที่นี้ หมายความว่าตัวแทนของประชาชน คือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับรัฐบาล ขอให้คิดดูว่าถ้าพระมหากษัตริย์มีพวก ใครจะรับรองว่าพวกของพระองค์จะดีเสมอไป เพราะฉะนั้นเราใคร่จะให้พระองค์ซึ่งดีอยู่เสมอและเคารพอยู่เสมอเช่นนั้น ประชาชนจะมีความเห็นอกเห็นพระทัยในพระมหากษัตริย์น้อยเกินไปและถ้ามีข้อพิพาทขึ้น ประชาชนถ้าเป็นฝ่ายแพ้ก็จะต้องเป็นศัตรูของพระมหากษัตริย์เพราะเหตุที่พวกของพระมหากษัตริย์นี่แหล่ะเป็นคนก่อขึ้น โดยเหตุนี้ข้าพเจ้าไม่รับรองขอให้ระลึกถึงความจริงใจในอกในใจของประชาชนคนไทยทั้งปวงว่า เราโดยที่เคารพสักการะพระมหากษัตริย์เป็นอย่างยิ่ง อย่างที่อังกฤษว่า The King Can Do No Wrong แต่พวกของพระมหากษัตริย์จะมามี Can Do No Wrong ด้วยไม่ได้ทีเดียว ถ้าใครมีชีวิตอยู่ในรัชกาลที่ 6 คงจะได้อิดหนาระอาใจมาแล้วว่า ในพวกที่ใกล้ชิดพระมหากษัตริย์บางท่านที่เสียหายไปก็ด้วยเหตุนี้แหละ ถ้าเราจะมีพวกพระมหากษัตริย์ขึ้นก็ประวัติศาสตร์ที่ร้ายก็ซ้ำรอยมาสู่เมืองไทยอีก”

นอกจากนี้ก็ยังมี เสรี อิศรางกูร ณ อยุธยา ส.ส.บุรีรัมย์ ก็ได้เคยอภิปรายโต้แย้งหลวงประกอบนิติสาร ที่เปรียบเทียบไม่ให้ลูกฟ้องพ่อแม่ ด้วยการอธิบายว่าพระมหากษัตริย์เปรียบเหมือนพ่อของคนไทย เสรี อิศรางกูร ณ อยุธยา ได้อภิปรายว่า

“คุณหลวงประกอบฯ ท่านบอกว่า พระมหากษัตริย์เปรียบเหมือนบิดาของคนทั้ง 18 ล้าน ถ้าหากว่าคำพูดเช่นนี้ ถ้าพูดในสมัยพ่อขุนรามคำแหงก็พอสมควรอยู่ แต่ว่าหากมาใช้ในสภาระบอบประชาธิปไตยแล้วนั้น ข้าพเจ้าขอคัดค้าน พระมหากษัตริย์เราจะถือว่าเป็นพ่อบ้านพ่อเมืองเป็นพ่อของประชาชน 18 ล้าน ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วย และโดยเฉพาะถ้าเป็นพ่อของข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าไม่ยอม”

รวมทั้งได้เคยมี ส.ส. ร้อยเอ็ด ในตอนนั้นคือ นิวัฒน์ ศรีสุวรนันท์ ได้เคยอภิปรายเรื่องขอบเขตพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย และแสดงความเป็นห่วงในการให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจแต่งตั้งตั้งบุคคลในราชสำนัก ตั้งองคมนตรี ตั้งวุฒิสภา ว่าอาจจะกลายเป็นการกลับคืนไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยได้อภิปรายไว้ว่า

“ตามธรรมดานั้นการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น ถ้าประมุขของประเทศโดยเฉพาะพระมหากษัตริย์มีอำนาจมากขึ้นเท่าไร ความไม่สมบูรณ์แห่งประชาธิปไตยก็มีมากขึ้นเท่านั้น ถ้าหากว่าองค์พระมหากษัตริย์หรือประมุขของประเทศได้อำนาจไปแต่น้อยความเป็นประชาธิปไตยก็สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ถ้าเรามาหวนรำลึกถึงวันที่ 24 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันที่เราปฏิวัติครั้งแรกเพื่อเปลี่ยนมาเป็นระบอบประชาธิปไตยนี้ วันนั้นวันแรกเป็นวันที่ 24 เราได้อำนาจของพระมหากษัตริย์ที่มีอยู่ทั้งหมดมาให้อยู่ในมือของประชาชนทั้งหมด เข้าใจว่าทุกคนคงไม่ลืม แล้วต่อไปเราได้พิจารณาถวายให้ท่านไปเท่าที่จะไม่เป็นภัยต่อระบอบการปกครองระบอบประชาธิ ปไตย อันนี้ทุกๆ คนใจ ข้าพเจ้าเข้าใจอย่างนั้น และอำนาจที่เราถวายคืนไปนั้นส่วนมากในขณะนั้นหรือเท่าที่เรารู้สึกกัน เราได้ถวายคืนไปเฉพาะอำนาจที่เรียกว่าพระคุณ ไม่ใช่อำนาจที่เรียกว่าเป็นพระเดช เพราะที่มอบอำนาจที่เป็นพระเดชไปการปกครองระบอบประชาธิปไตยก็มีไม่ได้ เมื่อเราหวนรำลึกไปถึงการปกครองระบอบประชาธิปไตยนี้ได้ก้าวย่างมาเพียง 17 ปี ถ้าจะเทียบกับการเกิดของคนเราแล้วก็จะแสดงให้เห็นว่ายังไม่บรรลุนิติภาวะพอที่จะรับผิดชอบตนเองได้ ถ้าหากว่าเราคืนอำนาจให้พระมหากษัตริย์ไปมากๆ ในเรื่องนี้แล้วอนาคตข้างหน้าความเป็นประชาธิปไตยของเราจะเป็นอย่างไร เมื่อให้พระมหากษัตริย์ตั้งบุคคลในราชสำนัก ตั้งองคมนตรี ตั้งวุฒิสภาเป็นพวกพ้องสภาของตนได้มากเช่นนี้แล้ว ข้าพเจ้ายิ่งเห็นว่าพระทัยของพระองค์ท่านย่อมจะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามคำประจบสอพลอของอำมาตย์ผู้หวังลาภยศในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แล้วการปกครองต่อไปจะเป็นอย่างไร ท่านนึกหรือไม่ว่าอาจจะคืนเข้าสู่ระบอบเดิมอย่างแน่ ”

ที่ยกมาข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่มีการอภิปรายเรื่องสถาบันกษัตริย์ในสภาผู้แทนราษฎรอย่างตรงไปตรงมา ในโอกาสนี้จึงขอเชิญชวน ไพบูลย์ นิติตะวัน และ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล สามารถอ่านเพิ่มเติมในประเด็นนี้ได้จากหนังสือ “นี่คือปณิธานที่หาญมุ่ง” ของรองศาสตราจารย์สมชาย ปรีชาศิลปะกุล ที่เขียนถึงข้อถกเถียงว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ในองค์กรจัดทำรัฐธรรมนูญของไทยตั้งแต่ พ.ศ.2475-2550

อย่างไรก็ตาม นอกจากจะพาย้อนเวลากลับไปดูการอภิปรายของสภาผู้แทนราษฎรที่ได้ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาในอดีตแล้วนั้น ก็จำเป็นต้องตั้งคำถามไปยังสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปัจจุบันด้วยว่า การลุกขึ้นประท้วงขัดขวางการอภิปรายกันมากขนาดนี้ ตีรวนไปมาของ ไพบูลย์ นิติตะวัน และพวก จนน่าสงสัยว่า…

การกระทำเช่นนี้บ่งชี้ว่าเป็นผู้แทนของราษฎร หรือเป็นผู้แทนของใครกันแน่ ?

เปิดเอกสารบันทึกรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในอดีต พูดได้ทุกเรื่อง รวมถึงเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ได้อย่างตรงไปตรงมาโดยไม่ได้มีปัญหาอะไร

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า