ทำไมใครๆ หลายคนต้องจากบ้าน มาเป็นแรงงานในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร ?
1. คำถามแสนพื้นฐาน ที่ถูกถามมานับครั้งไม่ถ้วน แต่น่าเศร้าที่จนถึงวันนี้ก็ยังเป็นคำถามอยู่ แม้ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติชี้ว่า การย้ายถิ่นของประชากรในปี 2563 กรุงเทพฯ อยู่ในอันดับสุดท้าย คือมีผู้ย้ายถิ่นเข้าเพียงร้อยละ 1 ของ 1.05 ล้านคน แต่กรุงเทพฯ ยังคงครองอันดับ 1 จังหวัดที่มี “ประชากรแฝง” ไม่ว่าจะเป็น “แฝงกลางวัน” (กลุ่มที่เข้ามาทำงานหรือเรียนหนังสือ ในลักษณะไปเช้าเย็นกลับระหว่างกรุงเทพฯ กับ จังหวัดที่อยู่อาศัย) ซึ่งมีประมาณร้อยละ 44.7 หรือ “แฝงกลางคืน” (กลุ่มที่อาศัยในกรุงเทพฯ เป็นประจำ แต่ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน) ร้อยละ 33.4
2. ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า กรุงเทพฯ ในฐานะเมืองหลวงที่ถูกทำให้เป็นเมืองโตเดี่ยว และเป็นศูนย์กลางในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐราชการรวมศูนย์ ที่ถูกระดมทรัพยากรและ “การพัฒนา” มากกว่าพื้นที่อื่นๆ เลยกลายเป็นจุดหมายปลายทางของใครหลายคนโดยสภาพ เพื่อเข้ามาแสวงหาโอกาสทางการศึกษา หรือแสวงหาโอกาสในการประกอบอาชีพ
แม้ประเทศไทยสถาปนาหลักการกระจายอำนาจลงในรัฐธรรมนูญ 2540 เพื่อหวังคืนโอกาสในการสร้างความเจริญไปยังทุกจังหวัด สร้างงานที่มีคุณภาพให้เกิดขึ้นใกล้บ้านประชาชน แต่ผ่านมากว่า 20 ปี คงตอบได้ไม่ยากว่าภารกิจนี้ ก้าวหน้า ถดถอย หรืออยู่กับที่
3. สาเหตุที่สำคัญส่วนหนึ่งเพราะที่ผ่านมา ยังไม่มีการกระจายอำนาจที่แท้จริง แต่กลับแฝงระเบียบกลไกที่ทำให้ส่วนกลางยังสามารถควบคุมสั่งการส่วนท้องถิ่นได้ อาทิ ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ สั่งให้ผู้บริหารท้องถิ่น ประธานสภาท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น หยุดปฏิบัติหน้าที่หรือพ้นจากตำแหน่งได้ หรือ การกำหนดสัดส่วนรายได้ของท้องถิ่นต่อรายได้ของประเทศ จากเดิมร้อยละ 35 พร้อมกำหนดระยะเวลาเป้าหมายชัดเจน แต่ต่อมามีการแก้ไขกฎหมายโดยนำระยะเวลาเป้าหมายออกไป
4. เมื่อส่วนกลางยังหวงอำนาจ ไม่ยอมให้ท้องถิ่นได้บริหารจัดการพื้นที่ของตัวเองอย่างเป็นอิสระ ไม่ยอมให้ท้องถิ่นมีงบประมาณที่เพียงพอและตัดสินใจได้เองว่าต้องการนำเงินไปลงทุนเรื่องอะไร จึงไม่แปลกที่ศูนย์รวมความเจริญของประเทศไทยตลอดหลายสิบปี ยังคงเป็นกรุงเทพมหานครที่มีส่วนกลางอยู่ในเมืองมหานครแห่งนี้ จึงไม่แปลกที่เศรษฐกิจในต่างจังหวัดจะถูกกดไม่ให้เติบโตได้ทัดเทียมกับเมืองหลวง เมื่อการจ้างงานมีน้อย หรือแม้มีงานก็ไม่หลากหลาย ค่าตอบแทนไม่สูง คนในจังหวัดอื่นๆ ยุคแล้วยุคเล่า จึงต้องจากบ้านห่างครอบครัวเข้ามาขายแรงงานในเมืองมหานครใหญ่
5. ยิ่งไปกว่านั้น ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เศรษฐกิจภาพรวมได้รับผลกระทบหนักมาก แรงงานและประชาชนจำนวนมาก ต้องตกงาน ถูกเลิกจ้าง กลายเป็นต้องอพยพกลับบ้าน เพราะตกงาน ไม่มีรายได้ จึงไม่สามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปในเมืองมหานครที่มีค่าครองชีพสูงอีกต่อไปได้
6. เท่ากับว่า การทำให้เกิดการพัฒนาแบบเมืองโตเดี่ยว เป็นรัฐราชการแบบรวมศูนย์ ที่รวมศูนย์ทั้งอำนาจ รวมศูนย์ทั้งความเจริญ และรวมศูนย์การตัดสินใจ ส่งผลให้เศรษฐกิจความเจริญผูกอยู่กับเมืองมหานครอย่างกรุงเทพ ประชาชนและแรงงานจึงมีทางเลือกไม่มากที่ต้องเข้ามาแสวงหาโอกาสในชีวิตในเมืองศูนย์กลาง แต่เมื่อเกิดโรคระบาด เศรษฐกิจได้รับผลกระทบ หลายคนต้องตกงาน โรงงาน บริษัทถูกปิดตัวลง ส่งผลให้ผู้คนอีกเป็นจำนวนมากจึงถูกบังคับกลายๆ ให้ต้องกลับบ้าน แต่การกลับไป ก็ไม่ได้มีโอกาสในชีวิต ไม่ได้มีงานดีๆ ในพื้นที่ให้ทำ หนักกว่านั้นคือไม่มีรายได้ แต่ก็ยังดีกว่าต้องอยู่ในเมืองใหญ่โดยที่ไม่มีรายได้ เพราะค่าใช้จ่าย ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าครองชีพ ไม่ได้สามารถหยุดจ่ายไปด้วยได้
7. ดังนั้น จากปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมา ทางออกของเรื่องทั้งหมดนี้ ไม่เห็นทางออกอื่น ที่จะทำให้ประชาชนและแรงงานจำนวนมากจะได้ประโยชน์และออกจากปัญหางูกินหางนี้ได้ ทางออกคืออย่างน้อยจำเป็นต้องคืนอำนาจให้ท้องถิ่น ปลดล็อก 4 กุญแจสำคัญที่จะกระจายโอกาส กระจายความเจริญ ปลดปล่อยศักยภาพทางเศรษฐกิจของท้องถิ่นทั่วประเทศ และเพิ่มโอกาส คืนอำนาจให้กับประชาชนที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ในพื้นที่ของตัวเอง
7.1 ปลดล็อก #งาน เพิ่มอำนาจให้ท้องถิ่นเป็นหลักในการจัดทำบริการสาธารณะ
7.2 ปลดล็อก #เงิน เพิ่มงบประมาณ การหารายได้ใหม่ของท้องถิ่น
7.3 ปลดล็อก #คน เพิ่มความดึงดูดของงานการเมือง ราชการในท้องถิ่น
7.4 ปลดล็อก #อำนาจ เพิ่มอำนาจประชาชน มีส่วนร่วมพัฒนาท้องถิ่น
ปลดล็อกงาน ให้ท้องถิ่นทำงานได้ทุกอย่างเพื่อดูแลชีวิตประชาชนตั้งแต่ตื่นถึงหลับตานอน ไม่ว่าจะน้ำไม่ไหล ไฟดับ ถนนพัง หมาเป็นโรค เกิดปัญหาก็แค่บอกท้องถิ่น ไม่ต้องง้อส่วนกลาง
ปลดล็อกเงิน ให้ท้องถิ่นได้รับส่วนแบ่งรายได้เท่าเทียมกับส่วนกลาง (50:50) และสามารถหารายได้ด้วยวิธีใหม่ๆ หมดปัญหามีไอเดียแต่ไม่มีตังค์ อยากเนรมิตอะไรก็ทำได้
ปลดล็อกคน ให้ท้องถิ่นมีผู้บริหารเมืองที่ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน และ เป็นที่ที่สามารถดึงดูดคนมีความสามารถให้เข้ามาทำงานเพื่อพัฒนาพื้นที่
ปลดล็อกอำนาจ ให้ท้องถิ่นมีหลังพิงเป็นรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติรับรองหลักความเป็นอิสระ ไม่ถูกแทรกแซงจากส่วนกลาง
8. สิทธิแรงงานที่ได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นธรรม ไม่ต่างจาก สิทธิของประชาชนในท้องถิ่นที่ต้องการกำหนดอนาคตของตนเอง เราได้มันมาไม่ใช่เพราะความกรุณาของผู้ครองอำนาจ แต่ด้วยการเรียกร้องรณรงค์
มาร่วมรณรงค์และเข้าชื่อ #ปลดล็อกท้องถิ่น เพื่อทุกคนจะได้มีทางเลือกในชีวิตมากขึ้น ทุกคนสามารถมีตัวเลือกงานดีๆ ได้ที่บ้านของตัวเอง หรือทางเลือกอื่นๆ ที่ทุกคนสามารถเลือกออกแบบตามความต้องการของชีวิตได้ ไม่ใช่ต้องทำเพราะไม่มีทางเลือก หรือจำใจต้องไปทำ
เรื่องนี้เปลี่ยนได้ แต่ใหญ่เกินกว่าจะทำคนเดียว