วันที่ 11 พฤษภาคม เป็นวันคล้ายวันเกิดของปรีดี พนมยงค์ หรือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม จึงถือกันว่า วันนี้เป็นวันปรีดีด้วย โดยปรีดี พนมยงค์คือแกนนำคณะราษฎรสายพลเรือน ผู้ร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยปรีดีได้รับการยกย่องว่าเป็นมันสมองของคณะราษฎรด้วย
หลายคนอาจจะจดจำอาจารย์ปรีดี ในฐานะนายกรัฐมนตรี แกนนำคณะราษฎร ผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญ ผู้ร่างเค้าโครงทางเศรษฐกิจ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ผู้ที่มีส่วนสำคัญให้ไทยรอดพ้นจากการเป็นประเทศผู้แพ้สงครามในสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือแม้กระทั่งจดจำอาจารย์ปรีดีในฐานะผู้ที่ถูกใส่ร้ายในคดีสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 จนต้องลี้ภัยทางการเมืองจนไปเสียชีวิตอยู่ต่างแดน
แต่อีกหนึ่งภารกิจที่อาจารย์ปรีดีได้ปูรากฐานเอาไว้ให้สังคมไทยแต่หลายคนอาจจะไม่รู้ คือ อาจารย์ปรีดีเป็นบุคคลสำคัญที่เป็นคนนำหลักวิชาแนวคิดที่ว่าด้วยรัฐไทยเป็นรัฐเดี่ยว โดยมีการจัดองค์กรของรัฐหรือจัดระเบียบบริหารราชการ แบ่งออกเป็น 3 ชั้น คือ การบริหารราชการส่วนกลาง การบริหารราชการส่วนภูมิภาค และการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น
ตามหลักแนวคิดการรวมอํานาจ (Centralization) การแบ่งอํานาจ (Deconcentration) และหลักการกระจายอํานาจ (Decentralization) เข้ามาในประเทศสยาม นอกจากนำเข้ามาแล้วอาจารย์ปรีดีก็ได้มีการอบรมวิชาความรู้ให้กับนักการเมือง ข้าราชการ นิสิตนักศึกษา และประชาชน รวมทั้งได้นำแนวคิดหลักวิชาการไปปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยกระทำผ่านการตรากฎหมายสำคัญๆ อาทิ “พระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476”
นอกจากนี้ ในบทความ “ปรีดี พนมยงค์ กับการปกครองท้องถิ่นไทย” ของนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ อดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ปัจจุบันไปเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ระบุไว้ด้วยว่า ปรีดี พนมยงค์เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการตรา “พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. 2476”
นครินทร์ ยังระบุไว้ด้วยว่า “ความสําคัญของกฎหมายนี้ คือ การประดิษฐ์หรือสร้างหน่วยท้องถิ่นของไทยขึ้นใหม่ ซึ่งเป็นหน่วยทางกฎหมายที่แยกตัวเองอย่างชัดเจนออกจากหน่วยธรรมชาติ หรือท้องถิ่นธรรมดา และเป็นหน่วยที่แยกตัดขาดออกจากการสุขาภิบาลที่ดํารงอยู่แต่เดิม มิใช่เป็นพัฒนาการที่สืบเนื่อง หรือต่อเนื่องกับหน่วยสุขาภิบาล”
นั่นอาจจะหมายถึงว่าการที่มีการอธิบายกันในหลักสูตรการเรียนการสอนหรือเรื่องเล่าผ่านประวัติศาสตร์ทางการที่บอกว่า… “เทศบาล” เป็นภาคต่อของ “สุขาภิบาล”…ที่เกิดขึ้นในสมัยในหลวงรัชกาลที่ 5 นั้น อย่างน้อยนครินทร์ ก็เห็นว่าไม่จริง โดยมองว่า “เทศบาล” เป็นของใหม่ของประเทศไทย ไม่ใช่ผลสืบเนื่องมาจาก “สุขาภิบาล”
ตามประวัติศาสตร์เทศบาลเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศฝรั่งเศส ในปี ค.ศ.1789 หรือ ปี พ.ศ.2332 ช่วงที่มีการปฏิวัติฝรั่งเศส โดยได้มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดการปกครองท้องถิ่นให้เป็นประชาธิปไตย โดยให้ท้องถิ่นมีอํานาจปกครองตนเอง มีสภาเทศบาลและคณะเทศมนตรีเป็นผู้ดําเนินงาน
ในกรณีประเทศไทย (หรือในสมัยนั้นยังเป็นประเทศสยาม) อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวแสดงความมุ่งหมายในการให้มีเทศบาลในประเทศไว้ว่า “เราจะได้ยกตําบลทุก ๆ ตําบลให้มีสภาพ เป็นเทศบาลขึ้น มีการปกครองท้องถิ่น… โดยวิธีนี้ ราษฎรในท้องถิ่นจะได้ทําประโยชน์แก่บ้านเมืองของตนได้เต็มกําลัง…”
ไม่ใช่แค่มีความมุ่งมั่นตั้งใจเท่านั้น แต่อาจารย์ปรีดียังได้ผลักดันแนวคิดนี้ให้เกิดขึ้นไว้ในกฎหมายอย่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. 2476 ที่อาจารย์ปรีดีผลักดัน โดยมีเนื้อหาสำคัญคือจะผลักดันให้ท้องถิ่นของรัฐไทยจะกลายเป็นเทศบาลไปทั้งหมด และแยกเป็นเทศบาลตําบล เทศบาลเมือง และเทศบาลนคร โดยที่เทศบาลทั้งสามประเภท มีการจัดองค์กรเป็นสภาเทศบาล กับคณะเทศมนตรี เสมอเหมือนกัน
อีกทั้ง อาจารย์ปรีดียังมีแนวคิดที่จะผลักดันให้เกิด “สหเทศบาล” คือการเทศบาลหลายๆ ที่รวมตัวตกลงกันเองเพื่อทำภารกิจร่วมกัน เมื่อตกลงกันได้ก็ให้แจ้งไปที่รัฐบาลกลางเพื่อให้ตราเป็น พ.ร.บ.สหเทศบาล ด้วย
แม้ว่าในช่วงชีวิตของอาจารย์ปรีดี จะจัดตั้งเทศบาลได้จำนวนไม่มาก ดังที่ท่านคิดและตั้งใจ แต่แนวคิดของท่านก็เป็นรากฐานที่สำคัญต่อการปกครองท้องถิ่นในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันเทศบาลก็ได้ถูกจัดตั้งอยู่ทั่วประเทศมีจำนวนแล้วทั้งสิ้น 2,472 แห่งด้วยกัน สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ก็เพราะมีรากฐานแนวความคิด มีวิสัยทัศน์ในการนำเรื่องนี้เข้ามาในประเทศไทยของอาจารย์ปรีดีเมื่อหลายทศวรรษก่อนหน้า ซึ่งนับเป็นคุณูประการและผลงานที่สำคัญ เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในปัจจุบัน”เทศบาล” นับว่าเป็นราชการส่วนท้องถิ่นที่สำคัญในการเป็นหน่วยงานระดับฐานราก ที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนทั่วประเทศ อีกทั้งยังมีส่วนผลักดันในการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศไทยด้วย