บ่อยครั้งเมื่อมีใครออกมาผลักดันเรื่อง “การกระจายอำนาจ” มักถูกฝ่ายที่คัดค้านโต้แย้งด้วยเหตุผลชุดเดิม ๆ คืออ้างว่าการกระจายอำนาจ “ไม่เหมาะ” กับประเทศไทย หรือ ต่อให้เกิดขึ้นก็จะไม่ประสบความสำเร็จเพราะท้องถิ่น “ยังไม่พร้อม” โดยยก 3 ข้ออ้างที่แฝงอคติและอาจไม่ได้ตั้งอยู่บนข้อเท็จจริง ดังนี้
1.ท้องถิ่นไม่มีศักยภาพ?
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เคยกล่าวว่า “ศักยภาพ” ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นเอง แต่เกิดจากการลงมือทำ เรียนรู้ ลองผิดลองถูก ในขณะที่หน่วยงานราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคมีงบประมาณมากพอในการจ้างคนมาทำงาน แต่ท้องถิ่นหลายแห่ง แค่จะว่าจ้างวิศวกรที่ปรึกษาในการออกแบบฝายเล็กๆ หรือออกแบบบ่อขยะ งบประมาณที่มีในมือก็ยังไม่พอ ผู้บริหารท้องถิ่นต้องคอยเขียนโครงการไปขอจากหน่วยงานต่างๆ
ดังนั้น ถ้าปลดล็อกท้องถิ่นให้อำนาจและงบประมาณมาอยู่ใกล้ประชาชนได้ ศักยภาพก็จะเกิดตามมา การตอบสนองความต้องการของประชาชนจะรวดเร็วยิ่งขึ้น และส่งเสริมให้ประชาธิปไตยเข้มแข็ง แตกต่างจากโครงสร้างในปัจจุบันที่ทำให้ประชาชนบางส่วนมองว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นไม่สำคัญ หย่อนบัตรแล้วก็ไม่มีอะไรเปลี่ยน เพราะคนที่มาจากการเลือกตั้งไม่มีอำนาจและไม่มีงบประมาณเพียงพอในการแก้ไขปัญหา การกระจายอำนาจจึงไม่เพียงปลดโซ่ตรวนที่ล่ามความสามารถของท้องถิ่น แต่ยังทำให้เกิดการแข่งขันเพื่อทำงานรับใช้ประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบทได้
2.กระจายอำนาจ = กระจายการทุจริต?
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศมี 7,850 หน่วย ถูกจับตาการทำงานอยู่ตลอดเวลาทั้งจากประชาชนและฝ่ายค้านซึ่งเป็นคู่แข่งในพื้นที่ ยังไม่นับว่าทุก 4 ปีต้องผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งไม่มีอะไรรับประกันว่าจะชนะและได้กลับมาทำงานอีกหรือไม่ แต่เมื่อตัดภาพไปที่ราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค (เฉพาะที่มีสถานะเป็นนิติบุคคล) จำนวน 507 หน่วยงาน ความก้าวหน้าหรือความถดถอยในหน้าที่การงานของข้าราชการมาจากการสอบแข่งขันและการแต่งตั้ง ยึดโยงกับ “ผู้บังคับบัญชา” มากกว่าประชาชน ดังนั้น ทั้งจำนวนหน่วยที่เยอะกว่า และถูกตรวจสอบมากกว่า คงพอเป็นคำตอบได้ว่าเหตุใดข่าวการทำงานของท้องถิ่นจึงผ่านหูผ่านตาเราอยู่บ่อยๆ ซึ่งก็ถือว่าเป็นทิศทางที่ดีเพราะนั่นแสดงให้เห็นว่าผู้บริหารท้องถิ่นถูกตรวจสอบได้ ตรวจสอบแล้วเจอ จะได้จัดการแก้ปัญหาได้ทัน ไม่ให้ปัญหาลุกลามบานปลาย หรือสามารถนำคนผิดไปลงโทษได้
บรรยง พงษ์พานิช เคยให้ความเห็นว่า ความกังวลที่ว่าการกระจายอำนาจจะนำไปสู่การทุจริตนั้น ในระยะต้นต้องยอมรับว่าเป็นความจริง เพราะทำให้เกิดมาตรฐานที่ต่างกันในแต่ละพื้นที่ แต่สาเหตุที่เรารู้สึกว่าการทุจริตมีมาก เพราะท้องถิ่นอยู่ในที่สว่างและเรามองเห็น แต่ต้องไม่ลืมว่าการทุจริตที่เรามองไม่เห็นมีอีกเยอะ โดยเฉพาะการโกงในลักษณะเอื้อประโยชน์ กำจัดการแข่งขัน ล็อกสเปก ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่ส่วนกลาง ดังนั้น แม้มีบางท้องถิ่นที่มีปัญหา แต่ผู้บริหารท้องถิ่นที่ดีก็มีเยอะ ต้องยกพวกเขาขึ้นมาให้ประชาชนรู้ ให้เกิดการเปรียบเทียบและให้ประชาชนสร้างแรงกดดันเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
3. กระจายอำนาจ = แบ่งแยกดินแดน?
ความต้องการแบ่งแยกดินแดน ไม่ว่าด้วยเหตุผลทางการเมือง ศาสนา วัฒนธรรม หรือประวัติศาสตร์ มีเป้าหมายคือการแยกตัวออกมาจากประเทศเดิม โดยดินแดนที่กำเนิดใหม่จะมีอำนาจอธิปไตยเป็นของตัวเอง แต่เป้าหมายของการกระจายอำนาจไม่ใช่แบบนั้น ประเทศยังคงเป็น “แผ่นดินเดียวกัน” เพียงแต่อำนาจที่เคยกระจุกอยู่ที่ส่วนกลาง จะถูกถ่ายโอนไปยังท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่นมีอิสระในการกำหนดนโยบาย การบริหาร การจัดทำบริการสาธารณะ การเงินและการคลัง ตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างคล่องตัวทันท่วงที ไม่ต้องรอการตัดสินใจจากส่วนกลางไปเสียทุกเรื่อง
ท้ายสุด มายาคติเหล่านี้จะถูกทำลาย การกระจายอำนาจจะเกิดขึ้นได้ ต้องเชื่อมั่นและมีความไว้วางใจประชาชน
- ไว้วางใจว่าประชาชนมีความรู้ความเข้าใจมากที่สุดในการพัฒนาท้องถิ่น
- ไว้วางใจว่าประชาชนจะไม่นิ่งดูดายเมื่อเกิดการทุจริต
- ไว้วางใจว่าประชาชนจะพร้อมเปลี่ยนใจไปเลือกคนใหม่ๆ หากได้พบตัวเลือกที่ดีกว่า
มาถึงวันนี้คงถึงเวลาที่จะยุติความเชื่อและความเข้าใจผิดๆ ที่ถูกส่งต่อเพื่อสกัดกั้นการกระจายอำนาจ ถึงเวลาหรือยังที่จะมั่นใจในประชาชนให้เป็นผู้เลือกคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับบ้านของตัวเอง