“ทุกวันนี้ท้องถิ่นก็ทำอะไรได้ตั้งหลายอย่าง แล้วจะเอาอะไรอีก” ประโยคนี้น่าจะเคยแล่นผ่านหูใครหลายคน โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในวงสนทนาเรื่องการกระจายอำนาจ
ที่จริงประโยคนี้ไม่ได้ผิดเสียทีเดียว เพราะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในปัจจุบันก็มีอำนาจหน้าที่ในการทำอะไรได้หลายอย่าง แต่ปัญหาอยู่ที่คำว่า “หลายอย่าง” นี่แหละ
- ปัญหาในแง่ การรับมือกับอนาคต: เราแน่ใจได้อย่างไรว่าภารกิจ “หลายอย่าง” ที่เขียนในกฎหมายวันนี้ จะครอบคลุมทุกภารกิจที่ควรเป็นหน้าที่ของท้องถิ่นในอนาคตด้วย ในเมื่อโลกหมุนไวขึ้นเรื่อยๆ มีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวัน งานของท้องถิ่นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว กับอีก 20 ปีข้างหน้า จะยังเหมือนกันจริงหรือ
- ปัญหาในแง่ ความซ้ำซ้อนของอำนาจ: ประเทศไทยมีกฎหมายหลายฉบับ ที่ให้อำนาจหน่วยงานส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาค ซ้ำซ้อนกับส่วนท้องถิ่น ทำให้บางครั้งเกิดความงงว่าภารกิจนี้ ใครควรเป็นคนทำ (เช่น กรณีเรื่องการฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า ที่น่าจะเข้าข่ายเป็นอำนาจของท้องถิ่น แต่ขณะเดียวกันก็มีกฎหมายให้อำนาจกรมปศุสัตว์ด้วย) เมื่อขาดความชัดเจน แม้กฎหมายจะเขียนให้ท้องถิ่นทำได้ “หลายอย่าง” แต่ท้องถิ่นก็อาจลังเลที่จะทำ เพราะเกรงว่าอาจถูกเล่นงานโดยองค์กรอิสระโดยการเรียกเงินคืนหรือชี้มูลความผิดผู้บริหาร หรือการตีความกฎหมายให้มีอำนาจทั้งคู่ แต่โดยสภาพท้องถิ่นมีทรัพยากรน้อยกว่า โดยสภาพก็จะเป็นงานของส่วนกลางส่วนภูมิภาคโดยสภาพ
ดังนั้น คำถามวันนี้จึงไม่ใช่ “ท้องถิ่นจะเอาอะไรอีก” แต่คือ “ส่วนกลางจะกั๊กอำนาจไว้ทำไม” ในเมื่อ อปท. มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และ เป็นคนที่รู้ปัญหาของพื้นที่ พวกเขาย่อมมีความชอบธรรมที่จะทำงานได้ทุกอย่างเพื่อประโยชน์ของประชาชน ขณะที่ส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาค ควรลดบทบาทมาทำหน้าที่ผู้ประสานหรือผู้ให้ความช่วยเหลือในเรื่องที่ท้องถิ่นทำไม่ไหว
นี่จึงเป็นเหตุผลที่ เราคณะก้าวหน้าพยายามย้ำอยู่เสมอว่า การกระจายอำนาจ ไม่ใช่แค่คืนอำนาจให้ท้องถิ่น แต่ต้องยุติอำนาจของรัฐส่วนกลางที่ยังกดทับท้องถิ่น ควบคู่ไปด้วย และพูดให้ถึงที่สุดทั้งหมดนี้คือการคืนอำนาจและเพิ่มอำนาจให้กับประชาชนในพื้นที่ต่างๆ
หนึ่งในข้อเสนอของแคมเปญ #ปลดล็อกท้องถิ่น จึงพูดถึงการ #ปลดล็อกงาน – ปัจจุบัน พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนทองถิ่น พ.ศ. 2542 มาตรา 16-17 กำหนดภารกิจของ อปท. (เช่น เทศบาล อบต. อบจ.) ว่าทำอะไรได้บ้าง โดยเขียนเป็นข้อๆ ตั้งแต่ 29-31 ข้อ (เช่น การจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น การจัดการศึกษา การจัดการสิ่งแวดล้อมและมลพิษต่างๆ) ซึ่งหมายความว่า ถ้าท้องถิ่นจะทำงานอะไร ก็ต้องมาไล่ดู ว่าข้อไหนเข้า ข้อไหนไม่เข้า
เราจะเปลี่ยนวิธีมอง กลับมุมมองวิธีคิด โดยการเขียนให้ท้องถิ่นทำได้ “ทุกอย่าง” (เรียกหลักการนี้ในภาษาอังกฤษว่า General competence) ยกเว้นเพียงบางเรื่องที่ทำไม่ได้ (เช่น การทหาร ระบบเงินตรา) เพื่อยืนยันหลักการว่า อปท. ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนในพื้นที่ ต้องมีอำนาจเต็มในการจัดบริการสาธารณะในท้องถิ่นทุกเรื่อง และยืนยันว่า ท้องถิ่นเป็นหน่วยงานที่ต้อง “ทำก่อน” หน่วยงานอื่นๆ หากเกิดปัญหาเกี่ยวกับบริการสาธารณะทั้งหมดในพื้นที่ (เช่น ถนนพัง ไฟฟ้าดับ ขนส่งสาธารณะห่วย) ประชาชนก็จะได้รู้แน่ชัดว่าความรับผิดชอบเป็นของหน่วยงานใด เขาต้องไปติดต่อใครเพื่อคลี่คลายความทุกข์ร้อนเหล่านั้น
การปลดล็อกงานให้ท้องถิ่น จึงไม่ใช่แค่ช่วยสร้างความมั่นใจให้ อปท. ในการทำงานรับใช้ประชาชน แต่ยังช่วยลดงานของหน่วยงานส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาค ให้มีเวลามากขึ้นในการไปพิจารณาปัญหาภาพใหญ่ และที่สำคัญ ช่วยให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น เพื่อให้การพัฒนาท้องถิ่นตอบโจทย์ความต้องการของคนในพื้นที่อย่างแท้จริง