น้ำไม่ไหล ไฟส่องทางไม่สว่าง ถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ น้ำท่วมขัง ขยะไม่ได้รับการจัดเก็บ ฯลฯ
เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างของปัญหาที่พ่อแม่พี่น้องประชาชนประสบพบเจอ ซึ่งเมื่อก่อน ในการร้องเรียนนำเรื่องไปสู่ผู้ที่มีหน้าที่จัดการ ซึ่งก็คือผู้บริหารท้องถิ่นนั้น อาจต้องส่งจดหมายแจ้ง กรอกข้อมูลร้องเรียนช่องทางเว็บไซต์ หรือไม่ก็ต้องเดินทางไปถึงที่สำนักงานเทศบาลด้วยตัวเองเพื่อกรอกเอกสารแบบฟอร์มน่าปวดหัววุ่นวาย
และที่เลวร้ายก็คือ เมื่อแจ้งไปแล้วก็ไม่รู้ด้วยว่า “สถานะของเรื่อง” นั้นอยู่ในขั้นตอนไหนแล้ว มีการดำเนินการอย่างไรแล้วหรือไม่ !
ด้วยเหตุนี้ “คณะก้าวหน้า” จึงนำพาผู้บริหารท้องถิ่นและประชาชนมาพบกันที่ แอพพลิเคชั่น Traffy Fondue หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “ฟองดูว์”
“ฟองดูว์” คือนวัตกรรมการแก้ไขปัญหาและข้อร้องเรียนในท้องถิ่นของเทศบาลก้าวหน้า ซึ่งคำว่า “Fondue” จริงๆ แล้วมาจากคำว่า “ฟ้องดู” ในภาษาไทยที่ผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นผันเสียงเป็นภาษาอังกฤษเพื่อให้เรียกชื่อได้ง่ายขึ้น
เทคโนโลยีนี้มีจุดเริ่มต้นจากการมองเห็นปัญหาพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำไหล ไฟสว่าง ถนนหนทาง ไปจนถึงคุณภาพชีวิต และสวัสดิการด้านต่างๆของประชาชน
หากเมื่อใดที่พี่น้องประชาชนประสบปัญหาก็สามารถแจ้งหรือฟ้องมาโดยตรงไปยังเทศบาลได้ทันที
เนื่องจาก “ฟองดูว์” เป็นแอพลิเคชั่นสำเร็จรูปที่ใช้งานผ่านมือถือ และขณะนี้เทศบาลก้าวหน้าทั้ง 16 แห่ง ได้ติดตั้งระบบรับเรื่องร้องเรียนออนไลน์ของเทศบาลเรียบร้อยทุกแห่งแล้ว
ทั้งนี้ ระบบ “ฟองดูว์” เป็นระบบเปิด 24 ชั่วโมง พี่น้องประชาชนสามารถแจ้งข้อความ ร้องทุกข์ ร้องเรียนปัญหาต่างๆ ที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของหน่วยงานต่างๆ ในเทศบาล สามารถถ่ายภาพจุดที่เกิดเหตุพร้อมทั้งระบุพิกัดตำแหน่ง GPS เพื่อความถูกต้องแม่นยำของสถานที่ได้
และที่สำคัญคือ สามารถรับทราบ “สถานะของเรื่อง” ที่แจ้งไปว่าคืบหน้าถึงไหนอย่างไรแล้ว !
และจากการที่เทศบาลต่างๆ ในนามคณะก้าวหน้า นำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้แล้วระยะหนึ่ง อยากพูดถึงเทศบาล 2 แห่งที่ได้รับคำชื่นชมจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ นั่นคือ เทศบาลตำบลอาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด และเทศบาลตำบลนาคำไฮ จ.หนองบัวลำภู
ซึ่งทั้ง 2 เทศบาล มีประชาชนในพื้นที่ส่งเรื่องร้องเรียนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 40 เรื่องต่อเดือน และทั้ง 2 แห่ง ก็จัดการแก้ปัญหาให้ประชาชนได้อย่างทันท่วงที หรือด้วยระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน
ส่วนใหญ่เป็นเรื่องพื้นฐานสาธารณูปโภคอาทิ ปัญหาเรื่องน้ำ ต้นไม้ ไฟฟ้า และถนน ฯลฯ ซึ่งระบบฟองดูนี้ช่วยให้การร้องเรียนของพี่น้องประชาชนส่งเรื่องตรงเข้าระบบได้ทันที โดยเทศบาลจะมีเจ้าหน้ารับผิดชอบดูแลระบบและส่งเรื่องไปยังฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จากนั้นเจ้าหน้าที่จะเข้าไปดูแลและแก้ไขปัญหา หรือมีการตอบกลับหากมีการดำเนินการที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไข
เทพพร จำปานวน นายกเทศมนตรีตำบลอาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด นอกจากเป็นผู้นำร่องนโยบายน้ำประปาดื่มได้ของเทศบาลตำบลอาจสามารถแล้ว เขายังเป็นผู้แข็งขันที่จะนำระบบฟองดูว์มาให้ชาวอาจสามารถใช้ร้องเรียนปัญหาผ่านมือ
พร้อมกันนี้ เทพพรยังได้สนับสนุนให้มีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เทศบาลให้มีความรู้ ความสามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรับแจ้งปัญหาเรื่องราวร้องทุกข์ของพี่น้องประชาชนได้ทันท่วงที ซึ่งปัจจุบันเทศบาลตำบลอาจสามารถมีเจ้าหน้าที่คอยประสานงานรับเรื่องทั้งหมด 19 คน ที่คอยดูแลประสานงาน จนทำให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่มีความพึงพอใจต่อการแก้ไขปัญหาของเทศบาลเป็นอย่างมา
อีกแห่งหนึ่งคือ เทศบาลตำบลนาคำไฮ จ.หนองบัวลำภู โดย สุวัฒน์ มนตรี นายกเทศมนตรี เป็นผู้ผลักดันนำเอาระบบรับเรื่องร้องเรียนออนไลน์ฟองดูว์มาใช้ ปัจจุบันเทศบาลแห่งนี้มีเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 17 คน ดูแลรับผิดชอบงานในระบบ ซึ่งในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนในระบบทั้งสิ้น 42 เรื่อง ซึ่งเขาและทีมงานก็ไม่รอช้าที่จะจัดการแก้ไขให้
อย่างไรก็ตาม แม้วันนี้จะใช้เทคโนโลยีมาได้ระยะหนึ่งแล้ว แต่สุวัฒน์ก็ยังคงเดินหน้าทำการประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่รู้จักกับระบบดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งลงมือจัดการระบบหลังบ้านฟองดูว์ด้วยตัวเองอีกด้วย
สุวัฒน์ให้ความเห็นว่า ระบบฟองดูว์จะกลายเป็นเทคโนโลยีหลักในการรับเรื่องร้องเรียนและแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชน ซึ่งจะสัมฤทธิ์ผลได้ก็ต่อเมื่อระบบถูกออกแบบให้ผู้ใช้งาน (ผู้ร้องเรียน) และผู้ประสานงาน (เจ้าหน้าที่เทศบาล) สามารถติดต่อสื่อสารระหว่างกันได้อย่างรวดเร็ว ลดขั้นตอนทางราชการที่ยุ่งยากลง เพื่อให้แก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้น หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใด มีวิสัยทัศน์นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการให้บริการดูแลพี่น้องประชาชน นำเงินภาษีจากท้องถิ่นมาพัฒนาการทำงานเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการและสิ่งอำนวยความสะดวกจากเทศบาลให้มากที่สุดแล้ว ย่อมถือว่านี่คือจุดเริ่มต้นที่ดีและเป็นการทำงานการเมืองท้องถิ่นที่เปิดเผยและใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชนแบบจับต้องได้จริงๆ
สุดท้ายนี้ คณะก้าวหน้าต้องขอขอบคุณ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ NECTEC ซึ่งเป็นผู้พัฒนาแพลตฟอร์มข้อร้องเรียนออนไลน์ Traffy Fondue นี้ขึ้นมา ซึ่งในปัจจุบันแพลตฟอร์มนี้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศนำไปใช้อยู่จำนวนหนึ่งซึ่งไม่มากนัก
เราหวังว่านอกจากเทศบาลก้าวหน้าท้องถิ่นทั้ง 16 แห่งที่เราได้เริ่มต้นนำมาใช้แล้ว จะมีเทศบาลอื่นๆ ที่มองเห็นประโยชน์และโอกาสในการพัฒนาคุณภาพการให้บริการแก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ จะนำแอพพลิเคชั่นนี้ไปใช้ในวงกว้างยิ่งๆ ขึ้นไปในอนาคต
ทั้งหมดนี้ก็เพื่อประโยชน์สูงสูดของประชาชนนั่นเอง