เวทีแบบเบิ้มๆ ที่แรก ! “ปิยบุตร” ลุย “สกลนคร” คืนสังเวียนปราศรัยเลือกตั้งท้องถิ่น – หนุน “ณรงเดช อุฬารกุล” ผู้สมัครเบอร์ 3 ชิง นายก อบจ.

7 พฤศจิกายน 2563

น่าจะกล่าวได้ว่า จ.สกลนคร เป็นที่แรกที่มีการจัดเวทีปราศรัยแบบเบิ้มๆ สำหรับการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) ที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 20 ธันวาคมนี้ นั่นหมายความว่า มีเวลาเหลือสำหรับหาเสียงไม่ถึง 2 เดือน !

เวทีนี้ ณรงเดช อุฬารกุล ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายก อบจ.สกลนคร หมายเลข 3 ในนามคณะก้าวหน้า และทีมผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.อบจ. ทั้ง 36 เขต ขึ้นเวทีพร้อมหน้าพร้อมตา โดยที่พิเศษ ขวัญใจพ่อใหญ่แม่ใหญ่ชาวอีสาน อดีตนักวิชาการด้านกฎหมายมหาชน อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ และอดีตดาวสภา ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า คืนเวทีปราศรัยอีกครั้งหลังจากห่างหายไปบรรยายทางวิชาและสื่อสารผ่านการเขียนมาระยะหนึ่ง

แต่ก่อนเปิดเวที เช็คเรตติ้งกันแต่เช้าตรู่ด้วยการเดินตลาด ได้แก่ ตลาด ต.การค้า ต่อด้วยตลาดเช้าสกลนคร ได้รับการตอบรับจากประชาชนและพ่อค้าแม่ขายในตลาดอย่างอบอุ่น น่าตกใจว่าหลายคนยังไม่รู้ว่าจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 20 ธันวาคมนี้ และเมื่อได้รู้ ก็ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะให้การสนับสนุนผู้สมัคร อบจ.ของคณะก้าวหน้า

“ที่บ้านมี 5 เสียง ครั้งที่แล้วให้อนาคตใหม่หมดเลย เสียดายไม่ได้เป็น ส.ส. ตอนนี้ไม่มีพรรคอนาคตใหม่แล้ว 5 เสียงบ้านแม่ก็จะให้กับนายก อบจ. คณะก้าวหน้าเน้อ” แม่ค้ารายหนึ่งในตลาด บอกกับปิยบุตร

พอหอมปากหอมคอ ประชาสัมพันธ์เชิญชวนมาฟังการปราศรัยสักพักก็กลับมาตั้งหลักกันที่เวที ซึ่งตั้งอยู่บริเวณหน้าสำนักงานคณะก้าวหน้า จ.สกลนคร ซึ่งนาทีนั้น ประชาชนที่มารอฟังการปราศรัยแทบจะเต็มเก้าวอี้ทุกตัวที่เตรียมไว้แล้ว

“ณรงเดช” ชู 3 นโยบายการศึกษา-เกษตร-ท่องเที่ยว
ชี้ต้องกระจายงบฯ ชวนประชาชนร่วมออกแบบ

เวทีปราศรัยหาเสียงนายก อบจ. และ ส.อบจ. แบบเบิ้มๆ เริ่มต้นเป็นที่แรกในประเทศไทย ณรงเดช พร้อมด้วยผู้สมัคร ส.อบจ.ทั้ง 36 เขต ขึ้นปราศรัยแสดงวิสัยทัศน์

ณรงเดช ระบุว่า เมื่อครั้งที่เขาสมัครมาเป็นผู้สมัครนายก อบจ.ในนามของคณะก้าวหน้า ถูกถามถึงวิสัยทัศน์และนโยบาย ซึ่งเป็นครั้งแรกที่การสมัคร นายก อบจ.ต้องกลับไปทำการบ้านเรื่องนโยบายมาอย่างหนัก ทำให้ได้กลับมาตั้งคำถามว่า เหตุใดจังหวัดสกลนครที่ใหญ่โต มีประชากรถึง 1.15 ล้านคน แต่ไม่พัฒนาเหมือนที่อื่น จนได้มาดูข้อมูล ทำให้พบว่าแทบทุกบ้านส่งลูกหลานไปเรียนที่อื่น เพราะการศึกษาของสกลนครไม่ดีพอ ที่ผ่านมาก็มีการปิดโรงเรียนขนาดเล็กหลายโรงเรียน ทำให้ต้องไปเรียนในเมือง หรือไปเรียนที่จังหวัดอื่น เมื่อจบออกมาก็ไม่มีตำแหน่งงานที่เงินเดือนสูงให้ทำ ต้องย้ายไปหางานที่อื่นทำ

“ชาวสกลนครถ้าไม่ได้เป็นข้าราชการก็ต้องไปขายแรงงานในเมืองอื่น ตามหัวเมืองใหญ่ๆ ทำให้ขาดคนวัยแรงงาน ในหมู่บ้านมีคนหนุ่มสาวเหลือน้อย การเกษตรก็มีอัตราการใช้ที่ดินน้อยลง คนที่ออกไปทำงานต่างเมืองก็เป็นแรงงานราคาถูก ไม่สามารถตั้งถิ่นฐานได้ เมื่อแก่ตัวลงก็ต้องกลับมาอยู่ที่บ้าน มาทำการเกษตรหรือรับจ้าง รับค่าแรงราคาต่ำ เมื่อเป็นคนชรา ใช้บริการโรงพยาบาล แพทย์ เครื่องมือการแพทย์ ก็ขาดแคลนการพัฒนาอย่างมาก ก็ต้องไปใช้บริการสาธารณสุขในเมืองหรือพื้นที่อื่นที่ไกลออกไป”

สิ่งที่ ณรงเดช ยกตัวอย่าง เหมือนจะเป็นวงจรที่ไม่จบไม่สิ้น !

“เราจะเห็นได้ว่าสกลนครเป็นจังหวัดที่ ‘ไปๆ มาๆ’ คือขาดการพัฒนาไปทุกด้าน ตั้งแต่เด็กจนแก่ นั่นทำให้ผมมีวิสัยทัศน์ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ระดับรากฐาน ตั้งแต่ที่การศึกษา พัฒนาให้มีคุณภาพ ไม่ใช่เพียงเรียนเพื่อจบเท่านั้น ไปจนถึงภาคการเกษตร ที่จังหวัดสกลนครมีการลงทุนจำนวนมหาศาล แต่ขาดการวางแผน มีการขุดลอกคูคลองทุกปี ทั้งที่ไม่มีปัญหาด้านแหล่งน้ำ ซึ่งตนเห็นว่า การแก้ปัญหาเรื่องนี้จะต้องมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเพิ่มมูลค่าผลผลิต ลดความเสี่ยงจากการผลิต ซึ่งจะทำได้ต้องมีการลงทุนในเทคโนโลยี และดึงลูกหลานให้กลับมามีงานทำ

“ด้านการท่องเที่ยว จากข้อมูลมีอัตรานักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทุกปี มูลค่าการท่องเที่ยวเพิ่ม 30% ทุกปี ผมเห็นว่าสามารถทำให้สอดรับไปกับการพัฒนาภาคการเกษตรได้ นั่นคือการหาตลาดให้กับผู้ผลิต เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว ให้นักท่องเที่ยวได้มาซื้อสินค้าเกษตรด้วย” ณรงเดช กล่าว และย้ำความมั่นใจว่าสิ่งที่ตนเองพูดสามารถทำได้อย่างแน่นอน

ผู้สมัครนายก อบจ. จากคณะก้าวหน้า กล่าวอีกว่า งบประมาณของ อบจ.สกลนคร ปีละ 900 ล้านบาท ถ้าตัดงบประมาณฝากจ่ายจากส่วนกลางออกไป จะมีไม่น้อยกว่า 350 ล้านบาทที่จะนำมาบริหารได้ สกลนครมี 125 ตำบล ถ้าตนได้เป็นนายก อบจ. จะให้ประชาคมทุกตำบลไปร่วมกันคิดออกแบบนโยบายมา ให้ทุกตำบลมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการกำหนดนโยบายและใช้งบประมาณ

“วันนี้ถ้าบอกว่าต้องการจายอำนาจ คือ แค่ให้เลือกตั้งอย่างเดียวแล้วไม่กระจายเงินหรือไม่กระจายงบประมาณออกไป โดยกระจุกตัวที่นายก อบจ. คนเดียว นั่นไม่ถูกต้อง วันนี้ถ้าอยากกระจายอำนาจ ต้องกระจายงบประมาณด้วย ไม่ใช่พัฒนาแค่เขตอำเภอเมือง ไม่ใช่พัฒนาแค่เขตอำเภอใหญ่ๆ มันต้องพัฒนาทุกตำบลอย่างเท่าเทียมกัน คนทุกพื้นที่ในจังหวัดสกลนครต้องมีสิทธิมีเสียงเท่าเทียมกัน ประชาธิปไตยจึงเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนา” ณรงเดช กล่าว

เสียงปรบมือดังกระหึ่ม ผู้สมัครนายก อบจ.สกลนคร หมายเลข 3 กล่าวขอบคุณทุกคนที่มาร่วมฟังการปราศรัย

“ปิยบุตร” ย้ำหลักการทำงานจาก “อนาคตใหม่” สู่ “คณะก้าวหน้า”
ยืนหยัดใช้นโยบายสู้-ไม่ขายเสียง-ปักธงทวงอำนาจคืนท้องถิ่น

ไมค์ถูกส่งต่อมาที่ ปิยบุตร เขาเริ่มต้นการปราศรัยด้วยการกล่าวถึงความผูกพันของตนเอง ของคณะก้าวหน้า กับ จ.สกลนคร โดยระบุว่า นี่เป็นครั้งแรกในรอบ 1 ปี 9 เดือน ที่ได้กลับมาปราศรัยหาเสียงอีกครั้ง การส่งคนชิงตำแหน่งนายก อบจ.ในนามคณะก้าวหน้าวันนี้เกิดขึ้นมาได้ ต้องย้อนความกลับไปถึงพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งมีหนึ่งในนโยบายธงคือการกระจายอำนาจ ยุติรัฐราชการรวมศูนย์ เอาอำนาจคืนกลับมาให้ท้องถิ่น

“วันนั้น เราตั้งใจว่ามีเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อไหร่เราจะลงสมัครให้ครบทุกจังหวัด แต่เมื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 7 คนมีคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ไป พร้อมตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 10 ปี หลายคนเสียใจและเสียดายโอกาสรวมถึงคะแนนที่กาให้เรา แต่ถ้าเราหยุดเพียงเพราะเขายุบพรรคและตัดสิทธิ นั่นแปลว่าเรายอมแพ้และจะแพ้เขาไปตลอดดกาล เราจึงเงยหน้าขึ้นมาใหม่ ยืนตัวตรงขึ้นมาใหม่ ก่อตั้งเป็นคณะก้าวหน้าขึ้นมา และคณะก้าวหน้าจะรับภารกิจของพรรคอนาคใหม่เดิมในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่นทั้งหมดทุกระดับ”

และสำหรับการเลือกตั้งนายก อบจ. ครั้งนี้ คณะก้าวหน้าประเดิมด้วยการส่งชิง 41 จังหวัด จากทั้งหมด 76 จังหวัด

ปิยบุตร กล่าวว่า และจังหวัดหนึ่งที่เราให้ความสำคัญอย่างมากก็คือสกลนคร ซึ่งเป็นจังหวัดที่ประกาศตัวว่าจะส่งคนชิงนายก อบจ.และ ส.อบจ.เป็นที่แรกๆ ตั้งแต่สมัยเป็นพรรคอนาคตใหม่ และเมื่อมาเป็นคณะก้าวหน้า สกลครก็ยังคงยืนหยัดประกาศส่งคนชิงนายก อบจ.และ ส.อบจ.ไปกับเรา ทุกคนได้เห็นวิสัยทัศน์ของคุณณรงเดชแล้ว มีการแกะงบประมาณออกมาเป็นนโยบายครบถ้วน ถ้าทุกคนร่วมกันกาให้เป็น นายก อบจ. ในวันที่ 20 ธันวาคมนี้ พร้อมทำงานทันที

“เราให้ความสำคัญกับการเมืองท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ หลายคนยังไม่ทราบว่าจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นกันแล้ว เราไม่ได้เลือกกันมาเกือบ 10 ปีแล้ว หลายครั้งเรารู้สึกเป็นเรื่องไกลตัว รู้สึกว่าเลือกแล้วไม่เปลี่ยนแปลง จึงทำให้หลายคนอาจจะละเลยไปบ้าง นี่จึงเป็นเหตุให้คณะก้าวหน้ามีความมุ่งมั่น ที่ต้องการจะเปลี่ยนการเลือกตั้งท้องถิ่นให้เป็นแบบใหม่” ปิยบุตร กล่าว

สำหรับแนวทางการทำงานของคณะก้าวหน้า ที่สานต่อภารกิจของพรรคอนาคตใหม่ ปิยบุตรเปิดเผยไว้ว่า

  1. เราจะแข่งขันในสนามเลือกตั้งโดยอาศัยนโยบาย ข้อมูล เราจะไม่แข่งกันที่อิทธิพล หรือวงศ์วานว่านเครือของใคร เรายืนยันที่จะแข่งด้วยนโยบาย เป็นจุดเด่นที่สุดที่จะมาขายกับประชาชน เรามีนโยบายที่จะเปลี่ยนแปลงสกลนคร ทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น
  2. ทำให้เป็นการเมืองของคนสกลนครทุกคน เข้ามามีส่วนร่วมได้หมด ใครอยากเป็นผู้สมัครในนามคณะก้าวหน้า ไม่ต้องเป็นเครือข่ายอิทธิพลใหญ่โต ขอเพียงมีอุดมการณ์แบบเดียวกัน ต้องการเปลี่ยนจังหวัดให้ดีขึ้น มีวิสัยทัศน์พัฒนาบ้านเกิด ต่อต้านเผด็จการไปกับเรา ผู้สมัครของเราจึงเป็นคนธรรมดาที่เจอกันได้ทุกวัน และเรายังเปิดโอกาศให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามาลงสมัครกับเรา แม้เป็นที่น่าเสียดายว่าอายุของ นายก อบจ.ตามกฎหมายถูกจำกัดไว้ที่ 35 ปีขึ้นไป แต่เราก็มีคนรุ่นใหม่เข้ามาเติมเต็มเป็นทีม ส.อบจ.ของเราอย่างคับคั่งในทุกพื้นที่

และที่สำคัญ คือนโยบายการทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม ประชาชนทุกคนจ่ายภาษีมากมายที่นำไปสู่งบประมาณในระดับท้องถิ่น แต่ไม่เคยได้มีโอกาสกำหนดว่าจะเอาภาษีไปทำโครงการอะไรบ้าง แต่คณะก้าวหน้ามีวิสัยทัศน์ที่ต่างไปจากนั้น คือเราต้องการให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดงบประมาณ ว่าในแต่ละพื้นที่ประชาชนต้องการให้เอาไปใช้ในเรื่องไหนบ้าง

  1. ต่อสู้โดยไม่ซื้อสิทธิขายเสียง เราพิสูจน์มาแล้วในวันที่เป็นพรรคอนาคตใหม่ เราไม่ใช้เครือข่ายอิทธิพลและกลไกรัฐ เราได้มา 6.3 ล้านคะแนน เป็นการเขย่าการเมืองไทยในระดับชาติ ว่าการทำการเมืองแบบไม่มีอิทธิพล กลไกรัฐ ไม่มีการซื้อเสียง สามารถประสบความสำเร็จในการเมืองไทยได้ และครั้งนี้เราก็ยังคงยืนยันที่จะใช้วิธีการแบบเดิมในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง

ใช้เลือกตั้งท้องถิ่นเป็นเครื่องมือเปลี่ยนประเทศ
ส่งเสียงความไม่พอใจของประชาชนถึงผู้มีอำนาจ

ปิยบุตร กล่าวอีกว่า การเมืองท้องถิ่นแบบใหม่ครั้งนี้มีความสำคัญ เราแปลกใจว่าเหตุใดในเมื่อช่วงต้นเดือนมีวันหยุดยาวหลายวัน ที่ประชาชนที่ไปทำงานต่างเมืองจะกลับมาบ้าน และมาใช้สิทธิเลือกตั้งไปพร้อมกันได้ แต่ทำไมถึงให้ไปเลือกวันที่ 20 ธันวาคมนี้ ดังนั้น ถ้าพี่น้องเห็นความสำคัญของการเมืองท้องถิ่นครั้งนี้ เราต้องช่วยกันออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งนายก อบจ.และ ส.อบจ.ให้มากที่สุด เพราะมีความสำคัญอยู่ 3 ประการ

  1. เราเลือกตั้งนายก อบจ.ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2555 นี่จึงเป็นการเลือกตั้งนายก อบจ.ครั้งแรกในรอบ 8 ปี นี่คือการเลือกตั้งที่เราจะสามารถกำหนดชีวิตของเราใหม่ได้ ถ้าเลือกแบบเดิมเราก็จะได้แบบเดิม ถ้าเลือกแบบใหม่เราก็จะได้ทีมบริหารในสกลนครในแบบใหม่
  2. ถ้าได้ทีมบริหารที่จะมาทำการเมืองแบบใหม่ให้สกลนคร จะส่งผลต่อการกระจายอำนาจในระดับประเทศ เพราะที่ผ่านมาการกระจายอำนาจถูกโยงไปกับการทุจริต แต่ถ้าเราชนะแล้วเข้าไปทำการเมืองแบบใหม่ได้ ทำการเมืองแบบใสสะอาด ทำเพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชน พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนได้ เราจะยุติข้ออ้างในการหวงอำนาจไว้ที่ส่วนกลางได้
  3. การเลือกตั้งท้องถิ่นแม้จะเลือกกันในจังหวัด แต่ก็สะท้อนถึงการเมืองระดับชาติด้วย การเลือกตั้งทุกระดับคือสามารถเป็นพลังในการแสดงออก ว่าเราพอใจหรือไม่พอใจกับการบริหารประเทศในปัจจุบัน คณะก้าวหน้ามีจุดยืนชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลชุดนี้ เราสนับสนุนข้อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องลาออก คืนอำนาจสู่ประชาชน ทวงคืนประชาธิปไตย ยุติระบอบ คสช. ที่สืบทอดอำนาจผ่านกลไกรัฐธรรมนูญมา

“ขณะนี้มีการชุมนุมเกิดขึ้นทั่วทุกจังหวัดในประเทศไทย แสดงออกถึงความไม่พอใจ และถ้าวันที่ 20 ธันวาคมนี้ ประชาชนออกมาเลือกผู้สมัคร นายกอบจ. – ส.อบจ. ของคณะก้าวหน้าให้ถล่มทลาย นั่นจะเป็นสัญญาณส่งไปที่รัฐบาลว่า คนสกลนครสนับสนุนคณะก้าวหน้า ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ และ ไม่สนับสุนน คสช.ด้วยเช่นกัน

“ถ้าอยากเปลี่ยนแปลงประเทศไทย เริ่มต้นเปลี่ยนแปลงที่สกลนคร เริ่มต้นเปลี่ยนแปลงที่บ้านของท่าน เปลี่ยนการเมืองไทยไปด้วยกัน เปลี่ยนท้องถิ่นไทยไปด้วยกัน เปลี่ยนสกลนครไปด้วยกัน เราเขย่าการเมืองระดับชาติมาเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว ธันวาคมปีนี้ขออีกรอบ เขย่าท้องถิ่นไทย เขย่าสกลนคร เปลี่ยนสกลนครไปด้วยกัน” ปิยบุตร กล่าวทิ้งท้าย

เสียงปรบมือดังกระหึ่ม ยาวนานต่อเนื่อง จนกระทั่งทั่งทั้งหมดลงจากเวที การถ่ายรูปกับผู้สมัคร นายกอบจ. ผู้สมัคร ส.อบจ. ก็เป็นไปอย่างต่อเนื่องยาวนาน ในบรรยากาศที่ชื่นมื่นเป็นกันเอง

คณะก้าวหน้า สกลนคร ขยับแบบเบิ้มๆ ให้เห็นเป็นที่แรกแล้ว เชื่อว่าบรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ. ต่อไปนี้จะเข้มข้นขึ้นอีกอย่างแน่นอน

_______
ผลิตโดย คณะก้าวหน้า โดย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ 1768 อาคารไทยซัมมิททาวเวอร์ ช้ัน 5 ถนนเพชรบุรตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10310 ผลิตเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ.2563 จำนวน 1 ชิ้น

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า