ขนส่งสาธารณะ “รถ – ราง – เรือ” เชื่อมประสานเปลี่ยน “อยุธยา” – “ธนาธร” ควง “วัสพงศ์” ลุยสำรวจ – ฟังปัญหาประชาชน ใช้ออกแบบนโยบาย

8 ตุลาคม 2563

เอ่ยชื่อ “อยุธยา” คนส่วนใหญ่คิดถึงเมืองโบราณ ราชธานีเก่า และแหล่งประวัติศาสตร์สำคัญของบรรพชนคนไทย ที่ภายหลังได้รับยกย่องจากยูเนสโกให้เป็น “มรดกโลก”

สมกับคำขวัญของจังหวัดที่ว่า “ราชธานีเก่า อู่ข้าวอู่น้ำ เลิศล้ำกานท์กวี คนดีศรีอยุธยา เลอคุณค่ามรดกโลก”

แต่ถ้าลองเรียกเต็มๆ ว่า จ.พระนครศรีอยุธยา ความรู้สึกเริ่มเปลี่ยนไปทันที การรับรู้ขยายวงกว้างออกไปสู่พื้นที่อื่นๆ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ในเกาะเท่านั้น แต่ยังมีพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่อุตสาหกรรม ถนนหนทาง แม่น้ำลำคลอง และที่สำคัญก็คือเริ่มเห็นภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า สุรชัย ศรีสารคาม กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า มาเยือน จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อสำรวจและทำความรู้จักเรื่องราวเหล่านี้ สำหรับนำไปใช้ออกแบบนโยบายในการพัฒนาท้องถิ่น โดย วัสพงศ์ วิทูรเมธา ว่าที่ผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) พระนครศรีอยุธยา และทีมสภา อบจ. พระนครศรีอยุธยา ร่วมทีม ซึ่งจุดแรกที่ไปคือ อ.ลาดบัวหลวง เป็นวงพูดคุยรับฟังปัญหาเรื่องพื้นที่การเกษตร และปัญหามลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมในเขตชุมชน

ชุมชนกับโรงงานอุตสาหกรรม ปัญหาและข้อเสนอ

บรรยากาศการพูดคุยนั่งล้อมวงกันอย่างเรียบง่าย  ตัวแทนเกษตรกรหลายคน ได้สะท้อนปัญหาในพื้นที่ อ.ลาดบัวหลวง ซึ่งพอจะสรุปเป็น 3 เรื่องหลัก อันได้แก่ 

1.เรื่องที่ดินทำกิน เกษตรกรไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง ปัจจุบันยังต้องเช่า เครื่องมือต่างๆ ต้องกู้ยืมกับธนาคารซื้อ ส่งผลให้เกษตรกรเป็นหนี้สิน

2.ปัญหาด้านมลพิษ จากโรงงานอุตสาหกรรม การเผาเส้นเหล็ก หลอมโลหะ ฯลฯ ส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศ

3. การบริหารทรัพยากรน้ำของจังหวัด ส่งผลให้พื้นที่การเกษตรใน อ.ลาดบัวหลวง ขาดความสมดุล เกษตรกรประสบปัญหาน้ำแล้ง เช่น คลองพระยาบรรลือ ที่แล้งมานานติดต่อกันหลายปี อนุบาลลูกพันธุ์ปลาไม่ได้ ไม่มีน้ำใช้ทางการเกษตร

คนในพื้นที่ส่ายหน้า เป็นโรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่กลางเขตชุมชน แต่ไม่ได้สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน ไม่มีการจัดจ้างงานให้กับคนในชุมชน แต่ยังมาปล่อยมลพิษให้กับประชาชนอีก

แต่อย่างไรก็ตาม 1 ใน 3 ปัญหานี้ ที่หนักสุดซึ่งกระทบและสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่อำเภอลาดบัวหลวง ทุกเพศ ทุกวัย นั่นก็คือ ปัญหามลพิษทางอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรมหลอมโลหะ ซึ่งมลพิษดังกล่าวได้ส่งผลต่อสุขภาพระบบทางเดินหายใจ และส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของพืชผล 

วัสพงศ์ ในฐานะว่าที่ผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ปัญหาเรื่องมลพิษ และการต่อสู้ของคนในชุมชน ได้ยืดเยื้อมานานกว่า 7 ปี มีการร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ปัญหาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งเทศบาลตำบล มีอำนาจในการจัดการ ส่งเรื่องร้องเรียน และทวงถามความคืบหน้าจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ ที่ผ่านมาต้องไปสอบถามว่าดำเนินการถึงขั้นตอนไหนอย่างไรบ้าง

“ผมได้ตระหนักถึงปัญหาในพื้นที่นี้เป็นอย่างดี และจะนำข้อมูลที่ได้รับฟังครั้งนี้ กลับไปศึกษาและพัฒนาออกแบบนโยบายต่อไป” วัสพงศ์ กล่าว

ด้าน ธนาธร กล่าวว่าการที่ตนเดินทางมารับฟังปัญหาครั้งนี้ ด้วยมีความตั้งใจ และอยากเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมแก้ไขปัญหากับคนในชุมชน ทั้งนี้ ต้องกล่าวขอบคุณและขอโทษประชาชนไปพร้อมกันด้วย ที่คณะก้าวหน้าไม่ได้มีอำนาจเพียงพอในการแก้ไขปัญหา แต่คณะก้าวหน้าและทีมผู้สมัคร อบจ. และท้องถิ่นทุกระดับ เราตระหนักถึงความทุกข์และความเดือดร้อน พร้อมจะอยู่เคียงข้างประชาชน และจะใช้กลไกที่มีอยู่อย่างสุดความสามารถ ทั้งนี้จะนำเรื่องทุกข์ร้อนของประชาชนไปศึกษา เพื่อนำไปผลิตเป็นนโยบายต่อไป

ฟื้น “คลองรางจระเข้” ส่งเสริมท่องวิถีชุมชน

จากวงรับฟังปัญหา สู่การล่องเรือสำรวจเส้นทาง “คลองรางจระเข้” ที่ อ.เสนา  โดยลำคลองเล็กแห่งๆ นี้ มีศักยภาพ สามารถพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยว และฟื้นวิถีชุมชนริมคลองได้ ด้วยความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติตลอดสองฝั่งคลอง มีโฮมสเตย์รองรับนักท่องเที่ยว 6 หลัง ที่แม้ว่าอาจเป็นจำนวนไม่มาก ไม่พอเป็นแหล่งเศรษฐกิจที่เฟื่องฟู แต่โฮมสเตย์แห่งนี้กลับให้ความหมายของ “การพักผ่อน” และ “เรียนรู้วิถีชีวิต” ของคนที่นี่อย่างแท้จริง

คนในชุมชนคาดหวังว่า หากได้รับการผลักดันจากภาครัฐในด้านประชาสัมพันธ์ และจัดการปัญหาผักตบชวาที่กรีดขวางการสัญจรทางน้ำ มีการระบายน้ำผันน้ำตามฤดูกาล คลองรางจระเข้จะกลับมาฟื้นคืนวิถีชีวิตชุมชนริมคลองอย่างแน่นอน

ธนาธร และทีมผู้สมัคร อบจ.พระนครศรีอยุธยา รับฟังข้อเสนอ ขณะเดียวกันก็เล็งเห็นศักยภาพของชุมชน และคนในชุมชุม หากมีการออกแบบนโยบายที่ดี มีโครงการที่ตอบโจทย์ดังกล่าว ก็อาจปรับเส้นทางสัญจรทางน้ำ เพื่อฟื้นการท่องเที่ยวให้คลองรางจระเข้ได้

ระหว่างการล่องเรือชมตลอดสองฝั่งคลอง ธนาธรได้พบกับเรือกำจัดผัดตบชวาที่จอดอยู่ริมท่า ขณะที่ตัวแทนชุมชนเล่าให้ฟังว่า เรือเก็บผักตบชวาจอดเสียอยู่นานแล้ว ไม่มีใครประสานซ่อม เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาน้ำในคลองแห้งขอด เรือสัญจรไม่ได้ แต่ไม่กี่วันมานี้มีฝนตก และมีการปล่อยน้ำ จึงทำให้น้ำในลำคลองกลับมาและผักตบชวาก็กลับมาด้วย

ขณะที่ วัสพงศ์ กล่าวเสริมว่า เรื่องการซ่อมเรือสามารถดำเนินการได้เลย โดยตนจะรับหน้าที่ติดต่อประสานซ่อมเรือ หากเป็นเรือของหน่วยงานรัฐ ตนก็จะประสานตามเรื่องให้ เพื่อแบ่งเบาความเดือดร้อนที่เร่งด่วนตรงนี้ ทั้งนี้คณะและทีมงานยังมองว่า เรือกำจัดผักตบชวาที่จะนำมาใช้งาน จะต้องศึกษาถึงโครงสร้างเรือด้วย เพื่อใช้งานให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ ซึ่งทีมงานจะนำเรื่องเรือกำจัดผักตบชวา ไปคิดออกแบบเป็นนโยบายต่อไป

สัญจรสาธารณะเชื่อมประสาน “รถ – ราง – เรือ”   

ทีมงานคณะก้าวหน้าขยับเข้าสู่เกาะเมืองเก่าอยุธยาด้วยการลงเรือเช่าเหมาลำ เพื่อชมทัศนียภาพและระบบการบายน้ำรอบเกาะ โดยมีจุดลงเรืออยู่ที่บริเวณตลาดหัวรอ ตลาดเก่าแก่ของคนอยุธยา ซึ่งน่าแปลกใจอยู่ไม่น้อยว่า อยุธยาเป็นเมืองที่มีแม่น้ำล้อมรอบหลายสาย ไม่ว่าจะเป็น เจ้าพระยา ป่าสัก ลพบุรี แต่กลับไม่มีเรือขนส่งสาธารณะระหว่างเกาะเมืองไปยังเขตรอบนอก ส่วนที่มีเพียงน้อยนิดแบบตามมีตามเกิดก็ไม่เพียงพอ และจุดขึ้นลงก็ไม่สัมพันธ์กับระบบขนส่งสาธารณะทางบก

นักออกแบบผังเมืองที่ร่วมเดินทางสำรวจครั้งนี้กับคณะก้าวหน้าให้ความเห็นว่า อยุธยาเป็นจังหวัดที่ศักยภาพด้านเศรษฐกิจ เป็นแหล่งมรดกโลก มีนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติหมุนเวียนตลอดปี อยู่ใกล้กับกรุงเทพมหานครเพียง 75 กิโลเมตร และเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่อยู่ใน “แผนพัฒนาเส้นทางรถไฟความเร็วของไทย” ด้วย

เขาเสนอความเห็นว่า นโยบายเปลี่ยนแปลงอยุธยา ต้องเริ่มต้นพัฒนาเมืองเสียก่อน เริ่มพัฒนาศักยภาพโครงข่ายการขนส่ง รถ ราง เรือ ส่งเสริมพื้นที่นันทการเมือง เพิ่มศักยภาพให้ชุมชนมีส่วนร่วม และส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ต้องออกแบบให้พื้นที่มีปฏิสัมพันธ์กับคนทุกกลุ่ม

ขณะที่ ธนาธร กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่ได้เห็นจากการมาเยือนอยุธยาครั้งนี้คือ เรามองเห็นศักยภาพในด้านการเปลี่ยนถ่ายระบบขนส่งทางเรือ จุดขึ้นฝั่งหลายจุดที่สามารถยึดโยงกับระบบขนส่งทางบก และหลายจุดขึ้นท่าเป็นพื้นที่ของภาครัฐ หากมีสนับสนุนและเปิดพื้นที่ให้ประชาชนใช้ จะมีประโยชน์มาก ซึ่งท้องถิ่นต้องมาผลักดันเรื่องนี้อย่างเอาจริงเอาจัง จัดสรรงบประมาณให้เพียงพอ ออกแบบรับฟังความคิดเห็นร่วมกับคนในชุมชน ทุกพื้นที่ต้องสอดคล้องกับบริบทเมือง และการใช้ชีวิตของคนทุกกลุ่ม

“จังหวัดที่มีเส้นทางประวัติศาสตร์ที่เลอค่าแห่งนี้ หากได้รับการผลักดันจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับคนในจังหวัดและในระดับประเทศได้ด้วย”
ธนาธร กล่าว

ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวทิ้งท้ายในเวทีพบปะสมาชิกและคณะทำงานจังหวัดว่า การผลิตนโยบายจะต้องตรงกับความต้องการของคนในจังหวัด จะต้องทำให้คนเกิดอาชีพ สามารถเลี้ยงดูตนและครอบครัวได้  พร้อมกันนี้ ธนาธรฝากนายวัสพงศ์ ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.อยุธยา

“ให้คอยติดตามรับฟังความคิดเห็นของประชาชนของในจังหวัดอย่างรอบด้าน เพื่อนำข้อมูลมาศึกษาและออกนโยบายต่อไป”

สุรชัย ศรีสารคาม กรรการบริหารคณะก้าวหน้า ร่วมพบปะสมาชิกและคณะทำงาน จ.พระนครศรีอยุธยา

_____

หมายเหตุ : ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และทีมงาน เดินทางไปในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร่วมกับ วัสพงศ์ วิทูรเมธา ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ. พระนครศรีอยุธยา และทีมผู้สมัคร ส.อบจ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2563

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า