ขออีกครั้ง! สร้างความเปลี่ยนแปลง “พิษณุโลก” – “ธนาธร” ควง “เอ็กซ์ ณชพล” ลุยฟังความเห็นผลิตนโยบาย – มั่นใจหมดเวลา “การเมืองผูกขาด”

7 ตุลาคม 2563

“เขย่าการเมืองพิษณุโลก” คือสิ่งที่ “พรรคอนาคตใหม่” ทำสำเร็จมาแล้ว เมื่อครั้งการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 24 มีนาคม 2562 โดยผู้สมัครของพรรคในเขตเลือกตั้งที่ 1 คือ ปดิพัทธ์ สันติภาดา หรือ “หมออ๋อง” ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน สามารถชนะคะแนนการเลือกตั้งครั้งนั้น ล้มแชมป์เก่า คือ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรรม ผู้ยึดครองและผูกขาดพื้นที่นี้มาอย่างยาวนาน 

และแน่นอนว่าในการเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งคาดว่าจะมีการเลือกตั้งในระดับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ช่วงไม่เกินสิ้นปี 2563 นี้ แม้จะไม่มีพรรคอนาคตใหม่แล้ว แต่ในนาม “คณะก้าวหน้า” ที่เข้ามาสานต่ออุดมการณ์แบบเดียวกัน ซึ่งนำโดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ก็หวังว่าปรากฏการณ์ “ล้มยักษ์” ที่เคยทำสำเร็จมาแล้วใน จ.พิษณุโลก จะเกิดขึ้นได้อีกครั้ง ด้วยคนรุ่นใหม่ที่พร้อมทำงานให้กับบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเอง ด้วยการชูนโยบายหาเสียงที่ตอบโจทย์คนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง และด้วยการเดินหน้าทำงานอย่างมุ่งมั่นของทุกคน 

ช่วงเช้าของวันหยุดสุดสัปดาห์ ที่ ตลาดใต้ เทศบาลนครพิษณุโลก ธนาธรเริ่มต้นการมาเยือนเมืองสองแควด้วยการเดินพบปะกับพ่อค้าแม้ขาย ตลอดจนประชาชนที่มาจับจ่ายซื้อข้าวของในตลาดสด โดยมี ณชพล พลอาสา หรือ “เอ็กซ์” ว่าที่ผู้สมัครนายยกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) พิษณุโลก พร้อมผู้สมัครสมาชิกสภา อบจ.พิษณุโลก ร่วมทีม ซึ่งตลอดระเวลาการเดินตลาด มีผู้คนเข้ามาขอถ่ายรูปอยู่ไม่ขาดสาย 

“วันนี้ผมมาแนะนำ คุณเอ็กซ์ ณชพล ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.พิษณุโลก ในนามคณะก้าวหน้า ผมอยากขอแรงสนับสนุนจากพี่น้องประชาชนชาวพิษณุโลก ให้โอกาสคนรุ่นใหม่ ได้เข้ามาสร้างเปลี่ยนแปลงให้กับท้องถิ่นพิษณุโลก” เหมือนว่าธนาธรจะพูดประโยคนี้ซ้ำๆ วนไปกับใครต่อใครมากมายที่เข้ามาทักทาย 

ชมโครงการ “จัดการขยะ” – รู้จัก “Young Smart Farmer” เกษตรกรตัวอย่าง

เสร็จจากการเดินตลาด ได้อาหารเช้าเติมพลังเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในช่วงสาย ณชพลได้พาธนาธรและคณะไปดูวิธีการกำจัดขยะที่ เทศบาลตำบลบ้านคลอง อ.เมือง โดยมี ประดิษฐ์ มอพิมพ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลบ้านคลอง นำชมผลงาน ที่ทำให้เทศบาลแห่งนี้ได้รับรางวัลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการบริหารจัดการที่ดี รวมถึงรางวัลประเภทนวัตกรรม “ถังหมักขยะอินทรีย์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปี พ.ศ.2563”

ประดิษฐ์ พาไปดูถังหมักขยะ พร้อมกับเล่าให้ฟังว่า ที่นี่ใช้ถังหมักขยะอินทรีย์ในการกำจัดขยะ สิ่งที่ได้จากการหมักขยะ นอกจากจะเป็นการสลายขยะแล้ว น้ำหมักที่ได้จะนำไปวิจัยเพื่อพัฒนาไปใช้เพื่อการเกษตรต่อไป ทั้งนี้ ได้นำระบบการกำจัดขยะอินทรีย์ เป็นการใช้กระบวนการทางชีวภาพแบบผสมผสาน ใช้หนอนแมลงวันและการหมักแบบกึ่งใช้อากาศ ภายในถังระบบปิดที่สามารถควบคุมกลิ่นเหม็นได้ภายในรัศมี 200 เมตร และสามารถป้องกันปัญหามลพิษจากน้ำเสีย ตลอดจนควบคุมแมลงวันชนิดต่างๆ ได้ภายในรัศมี 

สิ่งที่น่าสนใจมากไปกว่านั้น เมื่อธนาธรถามถึงจุดเริ่มต้นในการริเริ่มโครงการดังกล่าว ประดิษฐ์ เล่าว่า ตอนริเริ่มโครงการ แม้ตนจะเป็นนายกเทศมนตรีก็ตาม แต่ก็ยังต้องใช้เงินส่วนตัว เนื่องจากหากใช้เงินงบประมาณ แล้วโครงการไม่ประสบผลสำเร็จ ก็อาจจะถูกกล่าวหาว่าใช้งบประมาณไปในทางไม่ชอบ จึงได้ใช้เงินทุนส่วนตัวเรื่อยมา เมื่อโครงการพัฒนาเรื่อยๆ จะได้เงินสมทบจากชาวบ้าน จนนำมาสู่โครงการที่ประสบผลสำเร็จอย่างทุกวันนี้

จุดเริ่มต้นที่นายกเทศมนตรีเทศบาลบ้านคลองเล่าให้ฟัง น่าจะเป็นข้อจำกัดที่ทำให้ท้องถิ่นไม่อาจ “ระเบิด” ศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่ จะทำอะไรก็ติดขัดไปหมด 

เสร็จสิ้นจากการศึกษาโครงการกำจัดขยะ ท่ามกลางแดดที่ร้อนจัด ธนาธรและณชพลเดินทางต่อไปยัง ต.บ่อทอง อ.บางระกำ เพื่อไปพูดคุยแลกเปลี่ยนกับกลุ่มเกษตรกร Young Smart Farmer ซึ่งมี วิรัช ทองดอนยอด ประธานกลุ่มรอต้อนรับด้วยรอยยิ้ม

บรรยากาศการพบปะเป็นไปด้วยความเป็นกันเอง บ้านหลังขนาดกระทัดรัดหลังนั้น มีด้านหลังเป็นท้องนาขนาดพื้นที่เกือบ 30 ไร่ ที่ไม่ใช่เรื่องง่ายกวาจะเป็นอย่างที่ตาเห็นในวันนี้  วิรัชเริ่มต้นการสนทนาด้วยการแนะนำตัวเองว่า ก่อนหน้านี้เคยเป็นบุรุษพยาบาลอยู่ที่กรุงเทพฯ หลังจากทำงานได้สักระยะหนึ่ง ก็เริ่มคิดถึงชีวิตปั้นปลาย และเห็นว่าไม่ช้าก็เร็วคงต้องกลับมาใช้ชีวิตที่บ้านอยู่ดี ซึ่งถ้ากลับมาตอนแก่ คงจะเรียนรู้การทำนาไม่ไหว จึงตัดสินใจกลับบ้านและเริ่มเรียนรู้การทำการเกษตร ซึ่งเมื่อเริ่มเรียนรู้การทำเกษตร ตนเสียเวลาไปกว่าสองปีกับการทำนาตามแบบฉบับดั้งเดิมที่พ่อและแม่ได้ทำเรื่อยมา

หลังผ่านไปสองปี วิรัช เล่าว่า ได้เริ่มคิดรูปแบบการผลิตและแปรรูปใหม่ โดยผสมผสานระหว่างการทำนาแบบเดิมและการแปรรูปสินค้าของตนเอง ซึ่งปัจจุบันนาข้าวครึ่งหนึ่งปลูกข้าวขาวเหมือนเดิม ถึงแม้กำไรไม่มาก แต่ได้เป็นเงินสดมาใช้หมุนเวียนและลงทุนต่อยอด ส่วนนาข้าวอีกครึ่งหนึ่ง ปลูกข้าวสีและข้าวพันธุ์พิเศษ เช่น ข้าวไรซ์เบอร์รี่แะข้าวทับทิมชุมแพ ซึ่งมีสารอาหารและคุณลักษณะต่างจากข้าว กข. อาทิ มีน้ำตาลน้อยกว่า หรือมีแคลเซี่ยมสูงกว่า

และผลผลิตตรงนี้เอง วิรัช นำมาแปรรูปขายและบรรจุเป็นข้าวที่มีตราผลิตภัณฑ์ของตนเอง อีกส่วนนำมาทำเป็นข้าวกล้องกรอบผสมรสชาติ บรรจุเป็นขวดขายในรูปแบบขนมขบเคี้ยว ซึ่งผลผลิตในตราสินค้าตนเองหมุนเงินได้ช้ากว่า แต่มีกำไรเพิ่มสูงกว่าเยอะมาก ข้าวที่ขายโรงสีขายอยู่กิโลกรัมละ 12 บาท ข้าวที่ขายในตราสินค้าตัวเอง กิโลกรัมละ 52 บาท หรือมูลค่าเพิ่มขึ้น 4 เท่า (ทดอัตราสีข้าวเปลือกแล้ว) และข้าวที่ที่แปรรูปเป็นข้าวกล้องในชื่อ “ข้าวกล้องกรอบวิรัชไรซ์” กล่องละ 35 บาท ตกราคาขายต่อกิโลกรัมละ 540 บาท หรือมูลค่าเพิ่มขึ้น 45 เท่า (ทดอัตราสีข้าวเปลือกแล้ว) 

ธนาธร ได้ลองชิมข้าวกล้องของวิรัช พร้อมกับเอ่ยชมว่ารสชาติถูกปาก และอร่อยไม่แพ้ขนมขบเคี้ยวของบริษัทระดับโลก

“การทำงานอย่างหนักทั้งด้านการตลาด, การสร้างเครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ และเน้นคุณภาพของคุณวิรัช ทำให้ความพยายามของเขาประสบความสำเร็จ พ่อและแม่ของเขาภูมิใจมาก เขากลายเป็นผู้นำครอบครัว เป็นผู้วางแผนการลงทุนเพาะปลูกและขายในแต่ละฤดูกาล คนในชุมชนให้การยอมรับนับถือเขา ปัจจุบัน ‘วิรัช ไรซ์ฟาร์ม’ ได้รับการรับรู้อย่างกว้างขวาง ใครที่อยากทดลองหรือสนับสนุนข้าวกล้องกรอบของเขาได้ที่ facebook.com/wiruchrice” ธนาธร กล่าว ช่วยประชาสัมพันธ์

ย้ำต้องปลดล็อก “อำนาจ-งบประมาณ” คืนสู่ท้องถิ่น หมดเวลา “การเมืองผูกขาด”

หนึ่งในภารกิจของธนาธรสำหรับการเดินทางมาเยือน จ.พิษณุโลก คราวนี้ คือการร่วมโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การพัฒนาการเมืองภาคประชาชนในการปกครองส่วนท้องถิ่น”  เพื่อจะพูดถึงเรื่องปัญหาและทางออกของการกระจายอำนาจ เวทีนี้จัดขึ้นโดย คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมี “หมออ๋อง” ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล เป็นประธานคณะกรรมาธิการ 

ธนาธร กล่าวในช่วงเสวนาว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้ง 103 แห่งใน จ.พิษณุโลก หากเอารายได้มารวมกัน จะมีงบประมาณ 7,600 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยเลยถ้านำเงินตรงนี้มาพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน ซึ่งอำนาจที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งก็คือเรื่องของงบประมาณ ทุกคนตื่นมาก็ต้องจ่ายค่าภาษี ได้เงินเดือนมาก็เสียรายได้บุคคลธรรมดา ซึ่งในชีวิตประจำวัน เราล้วนมีค่าภาษีทั้งสิ้น แต่ภาษีทั้งหมดถูกบริหารโดยรัฐส่วนกลาง ซึ่งโครงสร้างที่ผ่านมา ส.ส. ต่างก็เข้าไปของบประมาณเพื่อมาพัฒนาในพื้นที่ของตน ต่อรองเอางบประมาณมาสร้างผลงานให้ประชาชนในพื้นที่ได้เห็น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นโครงสร้างที่บิดเบี้ยว 

“ส.ส. มีหน้าที่ในการตรวจสอบฝ่ายบริหาร มีหน้าที่ทางฝ่ายนิติบัญญัติในการร่วมออกกฏหมายขึ้นมา ซึ่งไม่มีอำนาจหรือกฎหมายข้อไหนที่ ส.ส.จะมีอำนาจในการจัดการงบประมาณ แต่หน่วยงานที่เป็นฝ่ายบริหารท้องถิ่นในจังหวัดนั้นๆ ที่เป็นผู้ใช้งบประมาณ ติดแต่ว่าที่ผ่านมา ผู้บริหารท้องถิ่นกลับไม่มีอำนาจและไม่มีงบประมาณ ที่แท้จริง นี่เป็นเหตุผลที่ตั้งแต่ครั้งเป็นพรรคอนาคตใหม่ ที่มีการชูนโยบาย ยุติรัฐราชการรวมศูนย์ กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น” 

ธนาธร บอกว่า การกระจายอำนาจต้องทำจากบนลงล่างและล่างขึ้นบนไปพร้อมๆ กัน ซึ่งความหมายจากบนลงล่างนั้น จำเป็นที่จะต้องปลดล็อค เอาอำนาจ งบประมาณ และความเป็นอิสระคืนสู่ท้องถิ่น ซึ่งตรงนี้ท้องถิ่นทำเองไม่ได้ ต้องอาศัยสภาผู้แทนราษฎรและคนที่หนักแน่นที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงท้องถิ่นจริงๆ ต้องแก้ไขกฎหมายตามกระทรวง กรมต่างๆ ต้องแก้การเมืองระดับชาติรวมถึงต้องแก้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันด้วย ซึ่งเป็นอุปสรรคหลักของการกระจายอำนาจ แต่ในขณะเดียวกันต้องเริ่มที่ท้องถิ่นด้วย เราต้องสร้างการเมืองท้องถิ่นที่ดี การเมืองท้องถิ่นหลายที่ถูกครอบงำด้วยบ้านใหญ่ และทำให้ทุกท่านอาจเคยได้ยินวลีที่ว่าการเมืองเป็นเรื่องสกปรก

“นั่นเพราะเราไม่เข้าไปยุ่งกับการเมือง ถึงทำให้อำนาจทางการเมืองถูกผูกขาด การเมืองคือเรื่องของ 7,600 ล้านบาท ที่เป็นงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จ.พิษณุโลก ถ้าคุณไม่ยุ่งกับการเมือง ก็คือการอนุญาตให้คนต่างๆ เหล่านั้นเอาเงินซึ่งเป็นภาษีของเราไปใช้ตามใจชอบ ไม่ต้องถามว่าทำไมถนนหน้าบ้านไม่ดีขึ้น ไม่ต้องถามว่าทำไมโรงเรียนของลูกเราไม่ดีขึ้น ไม่ต้องทำว่าทำไมเราไม่มีสิ่งแวดล้อมที่ดี เพราะคุณไม่สนใจการเมือง การเมืองเป็นเรื่องสร้างสรรค์ที่จะทำให้คนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี นี่คือผลของประชาชนไม่ตระหนักถึงศักดิ์และสิทธิ์ของตัวเอง ไม่ตระหนักถึงอำนาจของตัวเอง 

“ผมคิดว่าถึงเวลาแล้ว ที่เราจะมาเปลี่ยนแปลงการเมืองท้องถิ่น ทำจากบนลงล่าง คือแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการกระจายอำนาจ และล่างขึ้นบนคือประชาชนต้องสนใจการเมืองท้องถิ่น กลับมาเชื่อมั่นว่าการเมืองคือเรื่องสร้างสรรค์การเมืองคือเรื่องของอนาคตของลูกหลานของเรา”

เปิดตัวทีม “คณะก้าวหน้า” –  “เอ็กซ์ ณชพล”  ยืนหยัดอุดมการณ์แบบ “อนาคตใหม่”  

การเดินทางมาเยือน จ.พิษณุโลก ของประธานคณะก้าวหน้าและทีมงาน จบลงที่ตลาดวังทอง อ.วังทอง จ.พิษณุโลก เป็นการปราศรัยบนเวทีขนาดย่อม เปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร นายก อบจ.พิษณุโลก พร้อมด้วยทีมผู้สมัคร ส.อบจ. ทั้งหมด โดยมีประชาชนที่มารอต้อนรับแน่นขนัด 

ธนาธร กล่าวในการปราศรัยช่วงต้นว่า นี่เป็นโอกาสดีที่สุดที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง อย่ารอให้สังคมล่มสลายไปมากกว่านี้ เราต้องส่งเสียงของพวกเราให้ดังออกไป ว่าเราต้องการอนาคตของเราคืนมา และตนเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย เริ่มต้นได้ที่บ้านเกิดของเราเอง และนี่คือเหตุผลที่คณะก้าวหน้าส่งตัวแทนลงแข่งขันการเมืองท้องถิ่นทั่วประเทศ

“นี่คือช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ นี่คือช่วงเวลาที่ถ้าเราไม่ร่วมกันตื่นตัวทางการเมือง สังคมจะก้าวไปสู่จุดที่ย้อนกลับไม่ได้ การเมืองในยุคนี้ถ้าจะบริหารบ้านเมืองให้ดี จำเป็นที่จะต้องเป็นคนใหม่ ที่ปลอดจากระบบอุปถัมภ์เดิมๆ ต้องเป็นคนใหม่ที่ไม่มีบุญคุณทางการเมืองที่ต้องทดแทนให้กับใคร ดังนั้น ผมเชื่อว่าจะมีแต่การเมืองแบบนี้เท่านั้น ที่จะพาท้องถิ่นของเราไปข้างหน้าได้”

ธนาธร กล่าวอีกว่า เราอยากทำการเมืองโดยการแข่งขันกันที่นโยบาย เราอยากสร้างนโยบายที่ดี ที่ตอบสนองปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน เราอยากจะสร้างนโยบายที่ดี ที่สามารถทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของทุกท่านดีขึ้นได้ นี่คือการเมืองที่เราอยากสร้างสรรค์ เราอยากจะสร้างการเมืองแบบนั้นและอยากจะเชิญชวนทุกคนให้มาสร้างร่วมกับพวกเรา และตนหวังว่า การเมืองที่แข่งกันด้วยนโยบาย จะสร้างพื้นที่และได้การยอมรับจากคนพิษณุโลก

“ใครที่อยากสร้างความเปลี่ยนแปลง ใครที่อยากให้บ้านเมืองของตัวเองดีขึ้น อย่ารอคนอื่นมาทำให้ นี่เป็นโอกาสที่ดีที่จะทำการเมืองของคนธรรมดาให้เป็นจริงได้ ขอเพียงแต่อย่าพึ่งหมดหวัง ผมเชื่อว่าประเทศไทยไปไกลกว่านี้ได้ ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะก้าวหน้าไปมากกว่านี้ได้ จงใช้เสียงของท่านให้เป็นประโยชน์ เพราะการเลือกตั้งคือการลงทุนสำหรับอนาคตที่ต่ำที่สุดที่ท่านจะทำได้ การเลือกตั้งไม่เสียเงินนอกจากค่าเดินทาง ท่านเลือกใครก็จะได้อนาคตแบบนั้น ใช้คูหาเลือกตั้งในรอบของการเมืองท้องถิ่นครั้งนี้ เพื่อส่งเสียงดังๆว่า ท่านต้องการความเปลี่ยนแปลง และให้โอกาสสำหรับคนรุ่นใหม่ได้เข้าไปพัฒนาบ้านเมือง” ธนาธร กล่าว 

ขณะที่ ณชพล เริ่มต้นด้วยการกล่าวต่อหน้าประชาชนที่มารับฟังการปราศรัยว่า ตนเองมีชื่อเล่นว่า เอ็กซ์ เกิดและเติบโตขึ้น่ที่ อ.พรหมพิราม แต่วันนี้ตนในฐานะประชาชนคนธรรมดา เงินก็ไม่ได้มี อำนาจก็ไม่ได้มี ชื่อเสียงก็ไม่มี แต่สิ่งที่มีคือทีมงานที่พวกเรารวมตัวกันได้ภายใต้อุดมการณ์แบบพรรคอนาคตใหม่ เราจึงร้อยรัดเป็นทีมงาน ที่จะอาสาเข้ามามำการเมืองท้องถิ่น ให้บ้านเมืองของเราเจริญและน่าอยุ่มากยิ่งขึ้น นี่คือสิ่งที่พวกเราตั้งใจจะทำ

“ที่ผ่านมา ผมทำงานการเมืองระดับชาติร่วมกับ คุณปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล และเมื่อยิ่งทำก็ยิ่งรู้ว่า ปัญหาหรือสิ่งที่พ่อแม่พี่น้องต้องการผลักดันนั้นเป็นปัญหาในระดับท้องถิ่น เพราะฉะนั้น เราไม่สามารถทำการเมืองระดับชาติอย่างโดดเดี่ยวได้ เราจำเป็นจะต้องผลักดันนโยบายจากฐานรากไปด้วย เพื่อที่เราจะสร้างฝันของคนพิษณุโลกให้เป็นจริงได้ในการทำการเมืองรูปแบบใหม่ และสิ่งหนึ่งที่ทำให้พวกเรายึดโยงกันได้ นั่นคืออุดมการณ์ประชาธิปไตย ที่ต้องการทำทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของพี่น้องประชาชน ผมยืนยันที่จะไม่ซื้อสิทธิ์ขายเสียง จะไม่ทำการเมืองเพื่อความมั่งคั่งของพวกพ้อง ถ้าวันใดวันหนึ่งผมทุจริต คดโกง ให้เรียกผมไอ้เหี้- เอ็กซ์ ได้เลยครับ” ณชพล กล่าว

ส่งท้ายการมาเยือน จ.พิษณุโลก ของ ธนาธรและทีมงานคณะก้าวหน้าด้วยความคึกคักเป็นอย่างยิ่ง ! 

________

หมายเหตุ : ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และทีมงาน เดินทางไปในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก ร่วมกับ ณชพล พลอาสา ว่าที่ผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) พิษณุโลก และทีมผู้สมัครสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก (ส.อบจ.พิษณุโลก) เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2563

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า