เราอาจเคยได้ยินมาจนเบื่อแล้ว กับเรื่องทำนอง เด็กหลังห้องแสนเกเรเรียนไม่เก่ง หรือไม่ก็เด็กยากจนต้นทุนชีวิตติดลบ ขยันมุ่งมั่นเอาดีด้านธุรกิจจนกลายเป็นมหาเศรษฐีพันล้านหมื่นล้าน แม้หลายคนอาจจะเริ่มชังการ romanticize เรื่องราวในลักษณะนี้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่า หลายคนรับรู้ชีวิตของเขาเหล่านี้แล้วก็เกิดแรงบันดาลใจ
ข่าวดีคือครั้งนี้เราจะไม่พูดถึงมหาเศรษฐีแต่อย่างใด ข่าวร้ายคือเรายังคงพูดถึงคนที่เคยเป็นเด็กยากจนอยู่ เขาคนนั้นคือ ลูอิซ อินาชิโอ ลูลา ดา ซิลวา (Luiz Inácio Lula da Silva) หรือ “ลูลา” นักการเมืองบราซิลเลียนที่เพิ่งชนะเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 3 (ด้วยคะแนนปริ่มน้ำเหลือเกิน) แห่งประเทศบราซิล
วัยเยาว์ของลูลา จากเด็กบ้านนา มาตรากตรำในมหานคร
ลูลาเป็นลูกคนที่เจ็ดจากทั้งหมดแปดคนของครอบครัวชาวนาไม่รู้หนังสือ เขาเกิดในชนบทแถบตะวันออกเฉียงเหนือของบราซิล ก่อนจะย้ายตามพ่อแม่เข้ามาอยู่ในเมืองใหญ่ที่กำลังมีโรงงานอุตสาหกรรมผุดเป็นดอกเห็ดอย่าง เซาเปาโล (São Paulo) ตอนอายุ 6 ขวบ
วัยเด็กของลูลาไม่ต่างจากเด็กชนชั้นแรงงานคนอื่นๆ เขาไม่เคยได้รับการศึกษาอย่างเป็นทางการเลย กว่าเขาจะอ่านเขียนหนังสือออกได้ก็ต้องรอจนมีอายุ 10 ปีเลยทีเดียว และแม้ว่าเขาจะมีโอกาสได้เข้าเรียนในระดับ Second Grade (ประมาณประถมศึกษาปีที่สอง) แต่สุดท้ายก็ต้องออกจากระบบการศึกษาเพื่อมาทำงานหาเงินช่วยครอบครัว
“เด็กเดินเอกสาร” และ “เด็กขัดรองเท้า” คือสองอาชีพแรกในชีวิตของลูลา
อย่างไรก็ดี ต้องเข้าใจว่าในสมัยที่ลูลาเกิดนั้น บราซิลเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก (ตั้งแต่ปี 1900-1973 บราซิลโตเฉลี่ยปีละ 4.9 เปอร์เซ็นต์) อย่างในเซาเปาโล บริษัทรถยนต์ชั้นนำทั่วโลกก็พากันมาตั้งโรงงานอย่างไม่หวาดไม่ไหว ไล่ตั้งแต่ Ford Motor, Volkswagen, General Motors, Mercedes-Benz และ Toyota ทั้งนี้ ปรากฏการณ์นี้ก็ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะการที่บริษัทเหล่านี้แห่กันมาลงทุนนั้น สามารถสันนิษฐานได้ไม่ยากว่าเป็นเพราะ ‘ค่าจ้าง’ ที่พวกนี้ต้องจ่ายให้แรงงานนั้นอยู่ในระดับต่ำมากพอที่จะคุ้มกับการลงทุนแสวงหากำไรสูงสุด และด้วยการมีค่าแรงที่ต่ำเตี้ยและปริมาณคนงานมหาศาล ก็ย่อมสันนิษฐานได้ไม่ยากอีกเช่นกันว่า แรงงานจะรวมตัวต่อรองกันเกิดเป็นกลุ่มก้อนที่เรียกว่า ‘สหภาพแรงงาน’
กระนั้นก็ใช่ว่าจะเอาใครที่ไหนก็ได้มาทำงานควบคุมเครื่องจักร การทำงานในโรงงานจำเป็นต้องอาศัยแรงงานที่มีความรู้ความสามารถขึ้นมาในระดับหนึ่ง มันเรียกร้องแรงงานที่เรียกว่า ‘skilled worker’ หรือ ‘แรงงานมีฝีมือ’ ไม่ใช่แรงงานที่ถูกตั้งชื่อแบบเหยียดๆ ว่า ‘unskilled worker’ หรือ ‘แรงงานไร้ฝีมือ’ (เหยียดเพราะว่ามันไม่มีแรงงานไหนที่ไม่ต้องอาศัยทักษะฝีมือ)
เป็นโชคดีของลูลาที่แม่เขาเข้าใจกติกาข้อนี้ดี และกัดฟันส่งเขาเข้าไปเรียนในสถาบันวิชาชีพที่ใหญ่ที่สุดในลาตินอเมริกา ชื่อ the National Service for Industrial Training หรือ ‘SENAI’
SENAI คือสถานที่ซึ่งยกระดับชีวิตของลูลา มันส่งเสริมให้เขาสามารถเข้าไปหาเงินด้วยการควบคุมเครื่องจักรในโรงงานได้ เป็นสถานที่ซึ่งเปิดโอกาสให้เขากลายเป็น ปัญญาชน-ชนชั้นแรงงาน (working-class intelligentsia) เพราะหากเชื่อตามคำอธิบายของ จอห์น เฟรนช์ (John D. French) นักประวัติศาสตร์ผู้เขียนหนังสือชีวประวัติของลูลา การได้รับการศึกษาจนเลื่อนขั้นเป็นแรงงานมีฝีมือในบราซิลนั้น นอกจากจะเพิ่มโอกาสทางหน้าที่การงานแล้ว มันยังเปิดช่องให้ต้องเข้าไปข้องเกี่ยวกับสหภาพแรงงาน และกระบวนการทางการเมือง ของบรรดาพรรคคอมมิวนิสต์หรือองค์กรฝ่ายซ้ายทั้งหลายด้วย
แต่สหภาพแรงงานและพรรคการเมืองกลับไม่ใช่สิ่งที่ดึงดูดความสนใจของลูลาในตอนแรก ตรงกันข้าม เขามองว่าองค์กรอย่างสหภาพแรงงานนั้น นอกจากไม่ได้สร้างประโยชน์อะไร ซ้ำร้ายยังมีความอนุรักษ์นิยมเป็นแก่นแท้ด้วย อันที่จริงทัศนคติแบบนี้ไม่ได้แปลกประหลาดอะไรนัก หากเป็นมุมมองทั่วไปของวัยรุ่นยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่จะปฏิเสธการมีผู้แทนทางการเมืองโดยสิ้นเชิง
อนิจจัง ความเชื่อของเขาก็ต้องเปลี่ยนไปในที่สุด หลังต้องสังเวยนิ้วก้อยบนมือข้างซ้ายให้แก่เครื่องจักรที่เขาต้องทำงานร่วมกับมัน ครั้งนั้น เขาต้องหอบสังขารไปโรงพยาบาลหลายแห่งกว่าจะได้รับการรักษา อุบัติเหตุนี้เองที่ปลุกให้เขาเห็นคุณค่าของการเข้าร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองและสหภาพแรงงาน ที่ชื่อ “Metalworkers Union of São Bernardo do Campo”
การไร้สวัสดิการสุขภาพ ความยากจน ความอดอยาก ที่สัมพันธ์กับการไร้การศึกษา (เพราะเด็กต้องออกมาค้าแรงงานช่วยครอบครัว) คือประเด็นปัญหาที่เราเห็นได้ชัดเจนในวัยเด็กของลูลา มันคือโจทย์สำคัญที่จะกลับมาปรากฏตัวในนโยบายของเขาเมื่อเข้าสู่สนามการเมือง และด้วยความจริงจังในการที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้เองเป็นสิ่งที่ผลักดันให้เขาขึ้นเป็นประธานาธิบดีผู้เปลี่ยนแปลงสังคมบราซิลในท้ายที่สุด
ทั้งนี้ แม้ภายหลังจะขึ้นมามีอำนาจทางการเมือง ลูลาก็ยังยืนยันว่าตนเป็นชนชั้นแรงงานอยู่ดังเดิม และยังแสดงตัวต่อว่า เขาไม่ได้มีอะไรดีไปกว่าแรงงานคนอื่นๆ ที่เขามีสถานะอย่างทุกวันนี้ได้ เป็นเพียงเพราะเขาโชคดีกว่าเท่านั้น
แน่นอน หนึ่งในความโชคดีที่ลูลาหมายถึง คือการที่ (แม่กัดฟันให้เขา) ได้รับการศึกษา โดยเฉพาะการได้โอกาสเข้าไปในสถาบันอย่าง SENAI
“SENAI มอบความเป็นพลเมืองให้ผม จากพี่น้องทั้งหมด 8 คน ผมเป็นคนแรกที่ได้เข้าเรียนวิธีทำมาค้าขาย ได้เป็นคนแรกที่ครอบครองบ้าน และรถยนต์ ผมเป็นคนแรกที่ได้ทำงานในโรงงาน เป็นคนแรกที่ได้มีส่วนร่วมในสหภาพ และจากสหภาพ ผมได้ก่อตั้งพรรคการเมือง และด้วยพรรคการเมืองนี้ ผมก็ได้กลายเป็นประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐ”
เส้นทางการเมืองของหนุ่มโรงงาน
การเข้าสู่สนามการเมืองของลูลาไม่ได้มีเพียงปัจจัยจากการสูญเสียนิ้วไปเพียงเท่านั้น อีกปัจจัยสำคัญหนึ่งคือการขึ้นมามีอำนาจและใช้กำลังปราบปรามประชาชนของรัฐบาลทหาร ในช่วงทศวรรษ 1960 ประกอบกับการที่พี่ชายของเขาถูกจับกุมและซ้อมทรมานโดยตำรวจการเมือง และยังไม่นับว่าเขาต้องสูญเสียภรรยาคนแรกพร้อมกับลูกในท้องไปด้วยโรคไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งเป็นการตอกย้ำปัญหาระบบสุขภาพอีกครั้งในชีวิตของเขา
ลูลาเปลี่ยนทัศนคติที่เคยมีต่อสหภาพแรงงาน และมองว่าสหภาพสามารถเป็นเครื่องมือที่จะเติมเต็มความทะเยอทะยานส่วนตัวและปกป้องผลประโยชน์ของแรงงานทั่วไปได้ ความมุ่งมั่นและเสน่ห์ (charisma) ของเขา ส่งผลให้เขาได้รับเลือกเป็นประธานสหภาพแรงงานถึงสองสมัย (ปี 1975 และ 1978) ทั้งยังเป็นกำลังหลักในการประท้วงหยุดงานและต่อต้านเผด็จการครั้งใหญ่ ในปี 1978
การประท้วงต่อสู้ที่มีลูลาเป็นผู้นำในช่วงเวลานั้นก่อตัวขึ้นเป็นกระแสที่เชี่ยวกราก จนก่อตัวขึ้นกลายเป็นพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายชื่อ Partido dos Trabalhadores หรือ ‘PT’ พรรคที่จะส่งให้ลูลาขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี 3 สมัยแห่งสาธารณรัฐบราซิล
พรรค PT ก่อตั้งในปี 1980 ยุคที่รัฐบาลทหารยังมีอำนาจอยู่ มันเป็นพรรคแรงงานฝ่ายซ้ายที่นำเสนอความคิดก้าวหน้าให้แก่ประชาชน หนึ่งในนโยบายสำคัญในช่วงแรกคือการผลักดันให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับหลังรัฐบาลทหาร และเสนอให้รัฐธรรมนูญรับรองสิทธิแรงงานต่างๆ เข้าไปด้วย
แม้จะแพ้การเลือกตั้งในหลายสนาม ลูลาก็ยังสามารถไต่เต้าทางการเมืองขึ้นมาเรื่อยๆ เขาสะสมชื่อเสียงและเครือข่ายทางการเมืองไว้ตลอดเส้นทางการต่อสู้ จนเกิดผลสูงสุดในการชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยแรก
Fome Zero + Bolsa Família นโยบายพลิกวิกฤตยากจน
ก่อนได้เป็นประธานาธิบดี ลูลาและพรรคก็แพ้การเลือกตั้งในหลายสมัย แต่ระหว่างทางนั้นก็ได้ปรับตัวปรับยุทธศาสตร์มาโดยตลอด ปิยบุตร แสงกนกกุล ตั้งข้อสังเกตในรายการ “กินเล่ากะป๊อกไปป์ : เมนูประจำชาติกับประวัติศาสตร์อันขมขื่น นายก็รู้…ที่นี่บราซิล” ว่า เขาและพรรคยังคงความเป็นซ้ายอยู่ เพียงแค่ค่อยๆ ปรับนโยบายให้ซ้ายน้อยลง และ “ปรับวิธีคิดอะไรบางอย่างเพื่อที่จะทำให้คนกลางๆ เอาด้วย” ซึ่งลักษณะของความเป็นกลางซ้าย (center-left) เช่นนี้ สามารถถูกยืนยันได้จาก สุนทรพจน์หลังรู้ผลชนะเลือกตั้งครั้งล่าสุดของเขาที่บอกว่าพร้อมเป็นประธานาธิบดีของทุกขั้วการเมือง ประกอบกับการดึงคู่แข่งเก่าที่ฝ่ายซ้ายบราซิลไม่ชอบหน้าอย่าง เจอราลโด อัลก์มิน (Geraldo Alckmin) มาเป็นรองประธานาธิบดี (จึงไม่แปลกที่หลายคนตั้งชื่อแนวการเล่นการเมืองของลูลาว่า ‘ปฏิบัตินิยม’)
อย่างไรก็ดี จอห์น เฟรนช์ ก็วิเคราะห์ไว้ว่า การเมืองในแบบลูลานี่เองที่เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางสังคมในบราซิลไปอย่างมาก พูดให้เห็นภาพ ลูลาได้เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูก สามีภรรยา แรงงานกับทุน และปัญญาชนกับบรรดาแรงงาน ที่เคยเป็นอยู่ในสังคมนั่นเอง
Fome Zero และ Bolsa Família คือสองนโยบายที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นนั้น มันเป็นทั้งนโยบายที่สร้างชื่อให้ลูลา และยกระดับคุณภาพชีวิต (คนจน/ชนชั้นแรงงาน) ชาวบราซิลอย่างใหญ่หลวง
Fome Zero เป็นนโยบายที่พุ่งเป้าไปยังการกำจัดความอดอยากและความยากจนในบราซิล ผ่านการรับรองสิทธิในการเข้าถึงอาหารขั้นพื้นฐานให้แก่ (คนจน) ทุกคน เช่น การสร้างแหล่งกักน้ำฝนสะอาดเพื่อใช้ในการบริโภค การสร้างร้านอาหารราคาประหยัด การให้ความรู้เรื่องสุขอนามัย สนับสนุนปัจจัยการเกษตรในครัวเรือนที่ทำการเกษตร (family farm) การเปิดช่องให้เข้าถึงสินเชื่อขนาดเล็กได้ง่ายขึ้น ตลอดจนถึงการสนับสนุนทางการเงินแก่ครอบครัวกลุ่มที่จนที่สุด
Bolsa Família เป็นนโยบายที่อยู่ภายในกรอบของ Fome Zero โดยเน้นให้สวัสดิการรัฐเพื่อช่วยเหลือครอบครัวยากจน ผ่านการอัดฉีดเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข (Conditional Cash Transfer: CCT) เช่น หากในครอบครัวมีเด็กอายุ 6-15 ปี เงินจะถูกมอบให้กับผู้เป็นแม่เพื่อให้เด็กได้รับการศึกษาในโรงเรียน ประกอบกับให้เด็กได้รับการฉีดวัคซีนต่างๆ หากต้องสรุป นโยบายนี้สนับสนุนให้คนมีปัจจัยขั้นพื้นฐานในชีวิต ไล่ตั้งแต่การมีอาหารให้กิน สนับสนุนให้คนมีการศึกษา มีเสื้อผ้าไว้ห่มกาย และมีรองเท้าให้สวมใส่
เป้าหมายระยะสั้นของ Bolsa Família คือการลดความยากจนโดยการให้เงินสวัสดิการโดยตรง ส่วนระยะยาวคือการเพิ่มทุนมนุษย์ (human captial) ให้ทุกคนสามารถต่อยอดทักษะในการประกอบอาชีพด้วยตัวเองได้ (จุดนี้เองที่ฝ่ายซ้ายหลายคนวิจารณ์ลูลา ตลอดยังเป็นหลักฐานว่านโยบายของลูลาไม่ได้ซ้ายขนาดนั้น เพราะหากตัดสินจากการเมืองฝ่ายซ้ายกรอบคิดเรื่องทุนมนุษย์นี้ค่อนข้างโอนเอียงไปในขั้วตรงข้ามเลยทีเดียว)
นโยบาย Bolsa Família ประสบความสำเร็จอย่างมาก มันสามารถทำให้อัตราความเหลื่อมล้ำลดลงไปถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ตลอดจนช่วยลดการใช้แรงงานเด็กได้อย่างมีนัยสำคัญ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) ยังประเมินว่า งบประมาณกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของโครงการนี้ได้ถูกส่งมอบให้ครอบครัวที่ยากจนอย่างแท้จริง ซึ่งเราอาจวิเคราะห์ได้ว่า เป็นเพราะ Bolsa Família เป็นการมอบเงินให้แก่ครอบครัวยากจนโดยตรง ไม่ได้ผ่านตัวกลางอย่างส่วนราชการท้องถิ่น ส่งผลให้มีการคอร์รัปชันและต้นทุนการดำเนินการลดลง
แต่แม้นโยบายของลูลาจะมีผลลัพธ์น่าพึงพอใจแค่ไหนก็ตาม คำวิจารณ์ก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ นโยบายนี้ถูกโจมตีว่าจะส่งเสริมพฤติกรรมเหลวแหลกของคนจน เช่น ได้เงินมาก็ไปกินเหล้าเมายา เอาเงินไปใช้โดยไม่คิด หรือไม่ก็ส่งเสริมให้คนจนติดนิสัยขี้เกียจสันหลังยาวไม่หางานทำ ไปจนถึงขั้นวิจารณ์ว่า นโยบายนี้คือการซื้อเสียงคนจน
นโยบายนี้จะดีร้ายอย่างไรคงเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้ แต่สิ่งหนึ่งที่สะท้อนชัดผ่านนโยบายเหล่านี้ คือตัวตนของลูลาในฐานะชนชั้นแรงงาน ในฐานะเด็กที่เกิดในครอบครัวยากไร้ เพราะหากพิจารณาแต่ละปัญหาที่นโยบายเหล่านี้ให้ความสำคัญ เราจะเห็นสิ่งที่ลูลาวัยเด็กขาดหายไปเต็มไปหมด
เขาเกิดในครอบครัวยากจนทำให้ต้องออกจากโรงเรียนมาหางานทำ จึงไม่แปลกที่นโยบายของเขาจะรับรองว่าเด็กๆ จะมีโรงเรียนไว้เล่าเรียน แทนที่จะออกไปเร่ขายแรงงาน
เขาต้องสูญเสียนิ้วก้อยข้างซ้ายให้แก่เครื่องจักร และต้องดิ้นรนไปหลายโรงพยาบาลกว่าจะได้รับการรักษา พอโตขึ้นอีกหน่อยก็ต้องสูญเสียภรรยาไปพร้อมกับลูกที่อยู่ในท้องจากโรคร้าย จึงไม่แปลกที่นโยบายของเขาจะส่งเสริมให้คนสามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้
กระทั่งการมีเครื่องแต่งกายไว้สวมใส่ก็มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเขาเช่นกัน เพราะครั้งหนึ่งที่เขาเกิดแต่งกายด้วยชุดสูทสามส่วน (แม้ในยุคหลังเขาใส่เสื้อยืดหาเสียงเป็นหลัก) จนถูกวิจารณ์ทำนองว่าลืมกำพืดความเป็นชนชั้นแรงงานไปเสียแล้ว ลูลาก็พูดตอบโต้ไปว่า
“ถ้าผมเลือกได้ ผมจะแต่งตัวดูดีในแบบที่ผมอยากแต่งตลอดเวลา แรงงานทุกคนควรจะได้ค่าจ้างที่มากพอสำหรับซื้อสูทดีๆ ใส่ มีรถสักคัน โทรทัศน์จอสีสักเครื่อง เพื่อให้พวกเขาได้เป็นเจ้าของสิ่งที่พวกเขาผลิตสักที”
และไม่ว่านโยบายนี้จะยกระดับชีวิตหรือดีต่อคนจนมากแค่ไหนก็ตาม สุดท้ายมันก็ถูกยกเลิกไปในยุคสมัยของ ‘ชาอีร์ โบลโซนาโร’ (Jair Bolsonaro) อดีตประธานาธิบดีและชายผู้ที่เพิ่งปราชัยให้แก่ลูลาในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด
Operation Car Wash
เล่าอย่างเร็วๆ ในปี 2014 หลังจากลูลาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสองสมัยติด ก็ต้องยอมลงจากตำแหน่งก่อน เพราะรัฐธรรมนูญไม่อนุญาตให้ดำรงตำแหน่งเกินสองสมัยซ้อนได้ เขาจึงส่งทายาททางการเมืองลงแข่งขันแทน แต่พอถึงปี 2018 ที่เขาจะลงสมัครเลือกตั้ง บรรดาฝ่ายขวากลับหาทางกำจัดลูลาออกจากเกมการเมือง ด้วยการใช้นิติสงครามในคดีคอร์รัปชัน ในเหตุการณ์ที่เราเรียกว่า ‘Operation Car Wash’ (ชื่อนี้ได้มาเพราะปฏิบัติการเริ่มต้นจากคดีที่เกี่ยวข้องกับโรงล้างรถ)
ปรากฏว่า ศาลพิพากษาให้ลูลามีความผิด มีโทษจำคุก 9 ปีครึ่ง ลูลาจึงไม่สามารถลงเลือกตั้งได้ ทำให้โบลโซนาโรชนะเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดี และตั้งรัฐบาลขวาจัดขึ้นมา
การจองจำลูลาเป็นเรื่องใหญ่ถึงขนาดทำให้ปัญญาชนสาธารณะจำนวนมากออกมาเรียกร้องให้คืนอิสรภาพแก่เขา อาทิ Tariq Ali, Robert Brenner, Wendy Brown, Noam Chomsky, Angela Davis, Axel Honneth, Fredric R. Jameson, Leonardo Padura, Carole Pateman, Thomas Piketty, Boaventura de Sousa Santos และ Slavoj Žižek
ต่อมา ลูลาได้รับการปล่อยตัวจากการถูกจองจำไปทั้งสิ้น 580 วัน เพราะศาลสูงสุดบราซิลวินิจฉัยว่า คดีของลูลาไม่อยู่ในเขตอำนาจศาล ประกอบกับ เซอจิโอ โมโร (Sergio Moro) ผู้พิพากษาที่ตัดสินจองจำลูลา ส่อแววว่ามีอคติและมีผลประโยชน์ทางการเมืองมาข้องเกี่ยวสูง เพราะหลังจากเขาเล่นงานลูลาได้ไม่นาน โมโรก็เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรียุติธรรมและความมั่นคงสาธารณะ ในรัฐบาลของโบลโซนาโร
อนาคตของลูลากับประชาธิปไตยบราซิล
เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า ลูลาได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2022 โดยมีคะแนนเหนือโบลโซนาโร นักการเมืองและอดีตประธานาธิบดีขวาจัด ด้วยคะแนน 50.9 ต่อ 49.1 เปอร์เซ็นต์ (ห่างกันประมาณ 2 ล้านกว่าเสียง)
ผลการเลือกตั้งเช่นนี้ เป็นหลักฐานชัดว่าบราซิลกำลังมีการแบ่งขั้วอย่างรุนแรง ส่วนการที่คนเลือกลูลานั้นอาจจะไม่ซับซ้อนเท่าคนที่เลือกโบลโซนาโร อดีตประธานาธิบดีผู้เคยพูดว่า ใครเห็นต่างก็เอาปืนไปยิงทิ้งได้เลย
ดังที่ให้ข้อมูลไปแล้วว่า นโยบาย Bolsa Família ของลูลาถูกยกเลิกไปในสมัยที่โบลโซนาโรขึ้นมามีอำนาจ และถูกแทนที่ด้วย Auxílio Brasil นโยบายที่มีเป้าหมายเพื่อแย่งความนิยมในกลุ่มคนจนชนชั้นแรงงานมาจากลูลา (ผู้เป็นที่รักใคร่ของคนกลุ่มนี้มาก) และกลุ่มที่เป็นจุดอ่อนของโบลโซนาโร สิ่งหนึ่งที่ฟ้องว่าเจตนาของโบลโซนาโรเป็นเช่นนั้น คือการที่โครงสร้างเศรษฐกิจในระดับใหญ่ถูกวางภายใต้กรอบของเสรีนิยมใหม่ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทุนเงินหนามากกว่าคนชนชั้นล่างไร้สตางค์ (ยังไม่นับว่าโบลโซนาโรเปิดให้ธุรกิจเอกชนเข้าไปแผ้วถางทำลายป่าอะเมซอน ป่าซึ่งเป็นปอดของโลกไปจำนวนมหาศาล)
การมีเสถียรภาพและเสรีภาพทางเศรษฐกิจ คือสิ่งที่โบลโซนาโรพยายามทำให้เป็นภาพลักษณ์ของตนเอง โดยเฉพาะในกลุ่มที่เป็นธุรกิจการเกษตร (agribusiness) เขายังทำถึงขนาดแต่งตัวเป็นคาวบอยเพื่อหากินกับค่านิยมลูกผู้ชาย (machismo) เกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน (homophobia) ฟังเพลงคันทรีบราซิลที่เรียกว่า Sertanejo และพยายามซื้อใจชาวชนบทด้วยการโปรโมทวัฒนธรรมท้องถิ่น เท่านั้นยังไม่พอ เขายังเข้าหาศาสนิกนิกาย Evangelical Christianity กลุ่มความเชื่อที่ประชากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในบราซิล ซึ่งสารคดีของ Financial Times บอกว่า โบลโซนาโรเป็นนักการเมืองบราซิลคนแรกที่เล่นการเมืองผ่านพื้นที่ศาสนาอย่างเข้มข้นเช่นนี้
หรือหากเรานำคำอธิบายของปรากฏการณ์ขวาหันในหลายประเทศทั่วโลก การที่นักการเมืองขวาจัดโผล่ขึ้นมามีอำนาจได้ ก็เป็นเพราะกลุ่มคนเหล่านี้หากินกับขนบประเพณีดั้งเดิม ศีลธรรมทางศาสนาที่คนจำนวนมากยึดถือ เช่น การต่อต่านการทำแท้ง หรือการไม่ยอมให้ยาเสพติดถูกกฎหมาย ซึ่งในกรณีของบราซิล ประชากรกว่าครึ่งหนึ่งเป็นเช่นนั้น
ยุทธศาสตร์ของโบลโซนาโรนับเป็นเรื่องตลกร้าย เพราะในขณะที่เขาเข้าหาศาสนา รัฐบาลของเขากลับฆ่าคนจนเป็นผักปลา ขณะเดียวกัน แม้จะมีนโยบายช่วยเหลือคนจน แต่สถิติล่าสุดก็ฟ้องว่า ภายใต้สมัยของเขา (ประกอบกับวิกฤตโควิด-19) คนจำนวนกว่า 30 ล้านคน หรือ 15 เปอร์เซ็นต์ของประชากร ไม่มีแม้กระทั่งอาหารขั้นพื้นฐานให้ประทังชีวิต
จุดนี้เองที่ทำให้คนทั่วโลกจับตาการเลือกตั้งประธานาธิบดี 2022 ของบราซิล หลายคนตั้งให้นี่คือสนามประลองระหว่างประชาธิปไตยกับอำนาจนิยม แม้แต่ลูลาเองก็ปราศัยในช่วงหาเสียงว่า มันเป็นการต่อสู้ระหว่างประชาธิปไตยกับฟาสซิสต์ ระหว่างประชาธิปไตยกับพวกป่าเถื่อน (barbarism)
“พวกมันพยายามจะฝังกลบผม แต่ผมก็ยังยืนอยู่ที่นี่” คือคำประกาศที่แสดงถึงความเป็นนักสู้ของลูลาในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด
ความอดอยากและความยากจนยังคงเป็นปัญหาที่ลูลาให้ความสำคัญ เขาเคยกล่าวอย่างหนักแน่นว่า
“ผมยอมรับไม่ได้ที่ประเทศซึ่งผลิตอาหารได้มากที่สุดอันดับ 3 ของโลก กลับมีคน 33 ล้านคนต้องอดตาย ผมยอมให้มันเกิดขึ้นไม่ได้ ผมยอมไม่ได้ที่ประเทศนี้ซึ่งผลิตเนื้อสัตว์ได้มากที่สุดในโลก ต้องมีผู้หญิงเดินไปร้านขายเนื้อเพียงเพื่อจะได้โครงกระดูกแสนอนาถกลับมาประกอบอาหาร ใส่มันลงไปในซุป มันจะเกิดขึ้นไม่ได้”
การเป็นตัวแทนฝ่ายประชาธิปไตยเข้าต่อสู้กับอำนาจนิยม/ฟาสซิสต์ของลูลานี้เอง ที่ทำให้นักการเมืองและปัญญาชนทั่วโลกสนับสนุนเขา นอม ชอมสกี (Noam Chomsky) นักอนาธิปไตยชื่อดัง ออกมาพูดว่า หากลูลาชนะเราจะสามารถช่วยสิ่งแวดล้อมของโลกไว้ได้ เจเรมี คอร์บิน (Jeremy Corbyn) อดีตผู้นำพรรคแรงงานอังกฤษ ก็ออกมาพูดว่า ชัยชนะของลูลาจะเป็นตัวอย่างให้ฝ่ายประชาธิปไตยได้ถอดบทเรียน แม้แต่อดีตคู่แข่งตำแหน่งประธานาธิบดีของเขาอย่าง เฟอร์นานโด เฮนริเก้ (Fernando Henrique) ยังออกมาแสดงความยินดีและชี้ว่านี่คือชัยชนะของประชาธิปไตย
ลูลาเองก็ออกมาพูดถึงชัยชนะของตัวเองว่า
“นี่ไม่ใช่ชัยชนะของพรรคแรงงาน (PT) ไม่ใช่ชัยชนะของพรรคการเมืองหน้าไหน แต่เป็นชัยชนะของการเคลื่อนไหวทางประชาธิปไตย [เป็นชัยชนะ] สำหรับประชาชนชาวบราซิลที่ปรารถนาจะได้มากกว่าสิ่งที่พวกเขาได้รับตลอดมา ประชาธิปไตยเป็นมากกว่าแค่คำสวยหรูที่ให้พ่นระบายไปทั่ว — มันเป็นอะไรบางอย่างที่เราต้องรู้สึกได้ในเนื้อหนังของตัวเอง”
อย่างไรก็ดี เวลาเฉลิมฉลองชัยชนะของลูลาคงมีได้ไม่นานนัก เพราะเครือข่ายการเมือง (ที่สนับสนุนโดยคนรวย) ของโบลโซนาโรยังคงครองเสียงจำนวนมากอยู่ในสภา ลูกชายของเขาที่ชื่อ คาร์ลอส โบลโซนาโร (Carlos Bolsonaro) ยังคงเคลื่อนไหวปฏิบัติการปล่อยข่าวปลอมและข้อมูลลวงบนโลกโซเชียลมีเดียต่อไป ซึ่งตรงนี้เองที่เป็นจุดอ่อนของลูลา ชายแก่ low-tech ผู้ไม่หาเสียงบนโลกออนไลน์เลย เขาไม่มีแม้แต่โทรศัพท์มือถือสักเครื่อง!
ไม่ว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร ลูลาก็เป็นตัวอย่างของเด็กยากจนที่ไม่ทนต่อความอยุติธรรมอย่างหนักแน่น จนพี่น้องชนชั้นแรงงานสนับสนุนไว้วางใจให้เป็นผู้นำของพวกเขา แต่การขึ้นเป็นผู้นำของเขาก็ไม่ได้ทำให้เขาเปลี่ยนไป (อย่างน้อยก็ในมุมมองของเขาเอง) ดังที่ครั้งหนึ่งที่เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาเป็นเพียงชนชั้นแรงงานที่ได้พูดสิ่งที่ชนชั้นแรงงานจะต้องพูดเมื่อได้อยู่ต่อหน้าไมโครโฟนเท่านั้นเอง
อ้างอิง
Olavo Passos de Souza. 2022. Lula’s Victory Over Bolsonaro Has Restored Hope for Brazilian Democracy. Jacobin. https://jacobin.com/2022/10/lula-president-election-victory-bolsonaro-democracy
Andre Pagliarini. 2021. Why Brazilian Workers Love Lula. Jacobin. https://jacobin.com/2021/07/lula-da-silva-trade-unions-brazil-poltitics-review-john-french
Jeremy Corbyn. 2022. Lula’s Victory Is a Testament to Solidarity. Tribune. https://tribunemag.co.uk/2022/11/lula-election-victory-brazil-workers-party-solidarity
Jen Kirby. 2022. Bolsonaro finally speaks — but doesn’t concede the election. vox https://www.vox.com/world/2022/10/31/23432788/brazil-election-lula-wins-bolsonaro-shuts-up
คณะก้าวหน้า. 2022. เมนูประจำชาติกับประวัติศาสตร์อันขมขื่น นายก็รู้…ที่นี่บราซิล : กินเล่ากะป๊อกไปป์ EP.3 [Video]. Youtube. https://www.youtube.com/watch?v=HpbSpE6u02k
Financial Times. 2022. Brazil: a nation divided | FT Film [Video]. Youtube. https://www.youtube.com/watch?v=cg-4K8ddmbE&ab
Democracy Now!. 2022. Noam Chomsky & Vijay Prashad: A Lula Victory in Brazil Could Help Save the Planet [Video]. Youtube. https://www.youtube.com/watch?v=Ydw8lJ5z85k&ab
Zoe Pepper. 2019. The struggle for Lula’s freedom will continue. Brasil de Fato. https://www.brasildefato.com.br/2019/01/02/article-or-the-struggle-for-lulas-freedom-will-continue