กวีและความเรียง จากนักรบวัฒนธรรมถึงนักรบวัฒนธรรม ในค่ายฝึกเขียน น่านไดอะล็อก

24 กันยายน 2565

พึงบันทึกไว้ว่า วันที่ 15-17 กันยายน 2565 ‘ห้องสมุดบ้านๆ น่านๆ’ แห่งอำเภอเมือง จังหวัดน่าน ห้องสมุดและเกสเฮาส์บรรยากาศอบอุ่นและเต็มไปด้วยหมู่แมว (ที่เยอะจนน่าสงสัยว่าช่วงที่ไม่มีแขกอาศัยมันคงเป็นบ้านแมวขนาดใหญ่ดีๆ นี่เอง) ได้แปลงตนเองเป็นค่ายฝึกเขียน ถ่ายภาพ สัมภาษณ์ และสร้างบทกวี ให้เยาวชนตั้งแต่อายุ 16-25 ปี ภายใต้ชื่อว่า “ค่ายฝึกเขียน น่านไดอะล็อก”

ใบรับสมัครประกาศหลักการและเหตุผลไว้ชัดเจน ค่ายนี้คือการเติมมืออาชีพฝ่ายราษฏรเข้าไปในพื้นที่แนวรบด้านศิลปวัฒนธรรม และบอกอย่างตรงไปตรงมาว่า ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยนี้ การส่งมอบอาวุธให้แก่กลุ่มคนผู้ทำหน้าที่จดบันทึกเพื่อลดความบกพร่องแหว่งวิ่นในสังคมแห่งการพูดแล้วเลือนหาย เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง 

นักรบทางวัฒนธรรม คือคำที่ค่ายเรียกคนเหล่านี้

โดยไม่อ้างอิงพจนานุกรมฉบับทางการ วัฒนธรรมในที่นี้มีอย่างน้อยสองความหมาย หนึ่ง-วัฒนธรรมไม่ใช่แค่เรื่องของคนมียศถาบรรดาศักดิ์ แต่ยังเป็นธุระของคนเดินดินธรรมดา สอง-วัฒนธรรมเป็นสมรภูมิที่ต้องมีนักรบต่อสู้แย่งชิงพื้นที่ให้เป็นไปตามที่ตนเห็นควร

3 วัน 2 คืน เป็นระยะเวลามากเพียงพอให้อะไรหลายอย่างเกิดขึ้นได้ จากการสอบถามและสัมผัสด้วยตัวเอง ผู้เข้าร่วมทุกคนจะได้รับความสัมพันธ์ในชีวิตเพิ่มขึ้นมา 2-3 ความสัมพันธ์เป็นอย่างน้อย หากไม่มีเหตุขัดข้องใด การได้รู้จักและปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์คนอื่นเพิ่มเช่นนี้ย่อมบังคับให้โลกทรรศน์ถ่างขยายออกโดยอัตโนมัติ

โลกทรรศน์ที่ถ่างขยายยังไม่จบเพียงแค่การได้เพื่อนร่วมอากาศหายใจเพิ่มเพียงเท่านั้น ทุกคนยังได้ขยายจักรวาลความรับรู้มากขึ้น จากการถูกพาไปแนะนำตัวกับนักเขียนและกวีผู้ล่วงลับคนสำคัญ 4 คน กล่าวคือ วัฒน์ วรรลยางกูร, เรืองรอง รุ่งรัศมี, วาด รวี และไม้หนึ่ง ก.กุนที ผ่านคำบอกเล่าของวิทยากรเจ้าภาพ 4 คน คือ เมฆ’ ครึ่งฟ้า, อินทรชัย พาณิชกุล, ธิติ มีแต้ม และวรพจน์ พันธุ์พงศ์

หากปราศจากซึ่งการจดบันทึก คงไม่มีใครทราบได้ว่าคืนนั้นวิทยากรทั้ง 4 พูดอะไรทิ้งไว้บ้าง เส้นทางใดที่พวกเขาพาผู้เข้าร่วมเดินไปหาบุคคลสำคัญผู้ล่วงลับ แต่นับเป็นโชคดีที่คืนนั้นนักรบทางวัฒนธรรมไม่ได้อู้หลับเวรยาม หากต่างทำหน้าที่จดบันทึกเหตุการณ์และความรู้สึกไว้ในรูปของความเรียงและกวีได้อย่างสวยงาม



ความเรียงเก็บประเด็นเสวนา: “ความเป็นความตายยอมรับได้ แต่สังคมที่ไม่มีคนเขียนยอมรับไม่ได้” โดย มณีวรรณ พลมณี

เสียงแกร็ก! ของกระป๋องเบียร์ดังขึ้นพร้อมกับเสียงแกร็ก! เปิดไมโครโฟน การดื่มกินกับการดื่มเรื่องราวในวงเป็นของที่เหมาะที่ควรที่สุดแล้วของวงเสวนาถึงมิตรสหาย 

“จะไม่ให้ดื่มได้อย่างไร ก็สังคมมันมอมเมาเรามานานแล้ว สิ่งที่ควรทำคือต้องมอมเมาตัวเองให้เมากว่ามันมอม เอาซี” ใครสักคนบอก

วงเสวนาถึงมิตรสหาย ทั้งที่เคยดื่มกินด้วยกันตัวเป็นๆ  หรือแม้แต่ดื่มกินด้วยกันผ่านสายธารแห่งอุดมการณ์​ ที่กอปรจากความไม่ปกติของสังคม เศรษฐกิจ การรวมศูนย์อำนาจ และรัฐประหาร มีคนคิดคนเขียนแหวกว่ายอยู่ในนั้น บางคนทำตัวเป็นปลากระดี่กระโดดหนีจากเพื่อนไปแล้ว เพราะทางน้ำอีกเส้นนั้นง่ายกว่ามาก เพียงตามน้ำไป ไม่ต้องตั้งคำถามอันใด

แต่ไม่ใช่กับเรืองรอง รุ่งรัศมี 

แต่ไม่ใช่กับไม้หนึ่ง ก.กุนที 

แต่ไม่ใช่กับวัฒน์ วรรณยางกูล 

แต่ไม่ใช่กับวาด รวี 

นักเขียนสี่คนนี้สันหลังตรงอย่างคนแท้ 

วงเสวนาถึงมิตรสหายผู้ตายจาก มันเริ่มต้นที่ร้านอาหารครกไม้ไทยลาวปีห้าเจ็ด ที่เสียงปังตอหนักแปดขีดทุบตีซ้ำไปซ้ำมาบนเขียง คลอไปกับบทกวีที่ไม่เป็นกลางต่อความไม่เป็นธรรม ภาพสลับไปมาระหว่างตัวเป็ดและตัวเหี้ยที่ทำรัฐประหาร ‘ไม้หนึ่ง ก.กุนที’ สับโขลกบทกวี และพวกตัวเหี้ยทำรัฐประหาร 

เขายกจีนมาไว้ที่ไทย ‘เรืองรอง รุ่งรัศมี’

เขาแปลวรรณกรรมจีน ที่อานนท์ นำภา ใช้เป็นเพื่อนตอนอยู่ในคุกยามค่ำคืนที่นอนไม่หลับเพราะในนั้นมันสว่างเกินไป 

อานนท์มีหนังสือของเขาเป็นเพื่อน—เดียวดายใต้เงาจันทร์ 

“ความอ่อนโยนคือดาบเล่มหนึ่ง” 

อานนท์อ้างถึงสำนวนนี้อยู่เสมอ 

ฉากทุ่งนาที่จังหวัดปทุมธานี เสียงเพลงลูกทุ่ง เสียงจ่อมจมของปลาในคลอง ‘วัฒน์ วรรณยางกูล’ บรรยายทุกกริยาจนเห็นภาพ ลมเย็นพัดหน้าจนรู้สึก ป่าข้าวหอมจนได้กลิ่น เขาเขียนจนวันสุดท้าย วันสุดท้ายที่ไกลแสนไกลจากบ้าน 

มิตรสหายหยิบหนังสือของ ‘วาด รวี’ ทีละเล่ม เล่มที่เขาเขียน เล่มที่เขาบรรณาธิการ ในวงบอกว่าใครอีกจะเขียนเรื่องสถาบันกษัตริย์ได้คมเท่าเขา เรื่องที่ไม่ได้ใช้แค่ความรู้ แต่ต้องกล้าหาญ บางคนมีแต่ความรู้แต่ไม่กล้าหาญ ‘วาด รวี’ มีทั้งสอง

เรื่องราวของนักเขียนที่ตายแล้วสี่คน 

ถูกพูดถึงโดยนักเขียนที่ยังอยู่สี่คน

ในบ้านๆ น่านๆ ที่เปิดไฟอุ่นสลัว หากแต่ชัดในคำนึงถึง

นักเขียนสี่คนที่ยังอยู่ ยกเรื่องของคนที่ตายแล้วมาเล่า

เพื่อบอกว่าความเป็นความตายนั้นยอมรับได้ 

แต่สังคมใหม่ที่จะเหลือคนเขียนน้อยลงนั้นยอมรับไม่ได้

“จำเป็นต้องสร้างมืออาชีพฝ่ายราษฎร เพราะมีอยู่น้อยเกินไปและจะน้อยลงอีก 

สื่อกระแสหลักมักขาดความกล้าหาญ ไม่นำเสนอเนื้อหาที่แหลมคม

นี่เป็นเวลาที่จะผัดวันประกันพรุ่งไม่ได้

นี่เป็นยุคสมัยที่ต้องเปิดพื้นที่ ส่งมอบอาวุธ ให้กับนักรบทางวัฒนธรรม”

ข้อความจากเจตจำนงค์ของที่นี่

เราต้องการนักรบทางวัฒนธรรม!



บทกวี: “ดอกไม้อะไรงอกงามจากความตาย” โดย กฤษณา หรนจันทร์

(1) กรอบไม้กลางเฟรมผ้าใบ

แผ่นเสียงกลางความเงียบ

หนังสือเก่ากลางตะกอนฝุ่น

ผู้ดำรงอยู่กลางเจ็บปวด

ดอกไม้อะไรงอกงามจากความตาย?*


(2) ดอกจำปีขาวหม่น

นางฟ้าจากไปในคืนพระจันทร์ร้องไห้

บัดนั้นเก้าอี้สีชมพูริมชานระเบียงก็เปลี่ยวเหงา

เงาของผู้จากไปทาบทับในดวงตา

เขาตาย-

แต่เรายังอยู่

เขาตาย-

แต่เพื่อนของเขายังอยู่

เขาตาย-

แต่ลูกของเขายังอยู่**

เผด็จการเทวราช

ผลักเขาออกจากอ้อมอกไออุ่นของชีวิต

เมื่อถึงเวลานี้-

ดอกไม้อะไรงอกงามจากความตาย?


(3) เหล่าผู้ยกย่องวรรณกรรม

แต่กลับชิงชังความจริง-

เมื่อข้าพเจ้าเชื่อในข้อเท็จจริง

แล้วจะมีประโยชน์อันใดที่จะไปแข่งขันอย่างโง่เง่า

เมื่อรางวัลนั้นก็โง่เง่าเท่ากัน

ใช่! เราโศกเศร้า  -แต่ไม่นิยมคร่ำครวญ

ดอกไม้อะไรงอกงามจากความตาย?


(4) แตกสลายแต่ดำรงอยู่

ทุกความผิดพลาดมิอาจเยียวยาบางสิ่ง

ด้วยว่าสิ่งที่หล่นหายไประหว่างทาง

มากมายยาวนาน

เกินกว่าจะเดินตามไปกอบเก็บ

-ประกอบให้เป็นดังเดิม

แตกสลายแต่ดำรงอยู่

โดนกระแทกบอบช้ำ

การรอความตายขณะมีชีวิตนั้นเจ็บปวด

ดอกไม้อะไรงอกงามจากความตาย?


(5) แล้วข้าพเจ้าก็โศกร่ำอยู่คนเดียวในเวลาตีห้าครึ่ง

ขณะชุดนอนเปื้อนเลอะคราบน้ำมูกน้ำตา

ด้วยความหวังลมๆ แล้งๆ ว่าเขาอาจมาหา

เพราะอีกไม่นานก็เช้า…

ข้าพเจ้าคร่ำครวญอย่างไม่รู้เลยว่าเขาจะรับรู้ 

-ว่าข้าพเจ้าแสนรักเขา

เยี่ยงที่เพื่อนผู้ถูกเขาโอบรับคนหนึ่งพึงเป็น


[หมายเหตุ]

*ดอกไม้อะไรงอกงามจากความตาย ? – ประโยคจากบทกวี “แจกันปากบิ่น” โดย ปรัชวิชญ์ บุญยะวันตัง

** “และเมื่อเขาตาย เพื่อนของเขายังอยู่ ลูกของเขายังสู้” – วนะ วรรลยางกูร


เกี่ยวกับผู้เขียน

มณีวรรณ พลมณี ตอนอายุ 16 ปี เธอช่วงชิงเวลาชีวิตกลับมาจากระบบโรงเรียนไทย และนำมันไปใช้ตามเสียงเรียกของหัวใจ อย่างการออกเดินทางเรียนรู้ประเด็นสังคมต่างๆ โดยมีอาวุธที่ยัดไว้ในกระเป๋าเป้ใบใหญ่อยู่สามชนิดด้วยกัน คือ หนังสือ คุยกับคน และเดินเท้า ปัจจุบันเธออายุ 18 ปี เข้าร่วมค่ายฝึกเขียน น่านไดอะล็อก ด้วยเจตนาฝึกเล่าเรื่องที่ตัวเองเห็นว่าไม่ควรเก็บไว้เพียงคนเดียว

กฤษณา หรนจันทร์ อายุ 17 ปี กำลังเรียนอยู่ชั้น ม.5 มาจาก จ.พัทลุง เดินทางมาน่านคนเดียวโดยเครื่องบิน ตัดสินใจมาเข้าร่วมค่ายฝึกเขียน น่านไดอะล็อก เพราะอยากพัฒนาทักษะด้านการเขียนให้มากขึ้น โดยเฉพาะด้านบทกวี

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า