Cannibal Capitalism: เราต้องทำอย่างไรในโลกที่ทุนนิยมกลืนกินทุกอย่างแม้แต่ตัวมันเอง

22 กันยายน 2565
แนนซี่ เฟรเซอร์ (Nancy Fraser) เป็นนักปรัชญาชาวอเมริกันสายเฟมินิสต์-มาร์กซิสต์ ปัจจุบันสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัย The New School นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เฟรเซอร์มีผลงานมากมายเกี่ยวกับการวิพากษ์ทุนนิยม เสรีนิยมใหม่ และการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบทุนนิยม ซึ่งเธอถ่ายทอดผ่านมุมมองแบบเฟมินิส์และมาร์กซิสต์ หนึ่งในหนังสืออันโด่งดังที่ เฟรเซอร์ร่วมเขียนคือ “Feminism for the 99%: A Manifesto” 


3 เหตุผลที่ต้องอ่านหนังสือเล่มนี้

ผมอยากเริ่มต้นบทความนี้ด้วยการพยายามจะตอบคำถามว่า ทำไมเราต้องอ่านหนังสือมาร์กซิสต์อีกเล่มเกี่ยวกับวิกฤตทุนนิยม? ที่ต้องเกริ่นแบบนี้ก็เพราะว่า ไม่นานหลังได้ดูหน้าปกและสารบัญ ผู้อ่านก็จะเดาได้ทันทีว่า นี่คือหนังสือแบบมาร์กซิสต์อีกเล่มที่ว่าด้วยวิกฤตในระบบทุนนิยม อย่างที่รู้กันดีว่า วิกฤต คือหัวข้อเจ้าประจำที่บางคนอาจนับว่าเป็น cliche ในกระแสความคิดแบบมากร์กซิสต์เลยทีเดียว คำว่า วิกฤต (crisis) เริ่มมีอิทธิพลในลัทธิมาร์กซ์ โดยงานเขียนของมาร์กซ์ (Marx) และเองเกิล (Engels) ซึ่งทั้งสองเริ่มใช้มันในความหมายเชิงเศรษฐกิจเสียเป็นส่วนมาก ฉะนั้นเวลามาร์กซ์พูดถึงวิกฤต เราจึงเดาได้ไม่ยากว่า มันหมายถึงวิกฤตเศรษฐกิจในระบบทุนนิยม จากนั้นคำว่าวิกฤตในลัทธิมาร์กซ์ก็ค่อยๆ ขยายกว้างขึ้น แผ่อิทธิพลสู่มิติของสังคม การเมือง และประวัติศาสตร์ จนมันได้กลายเป็นคำที่เชื่อมต่อกับเรื่องสำคัญอีกหลายเรื่องในลัทธิมาร์กซ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องลักษณะเฉพาะทางเศรษฐกิจของทุนนิยม เรื่องการทำนายจุดจบของทุนนิยม เรื่องธรรมชาติความขัดแย้งภายในของทุนนิยม และเรื่องการปฏิวัติ เรื่องเหล่านี้เชื่อมต่อกับ วิกฤต อย่างแนบแน่นไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง บ้างเป็นต้นเหตุ บ้างเป็นผลลัพธ์ บ้างเป็นช่วงจังหวะที่นำไปสู่โอกาสการเปลี่ยนแปลง หรือบ้างก็เป็นคุณลักษณะทั่วไป จาก “Outlines of a Critique of Political Economy” (1844), Communist Manifesto (1848) สู่ Capital/Das Kapital (1867) วิกฤตในลัทธิมาร์กซ์เติบโตและทวีคูณความสำคัญของมันไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นสิ่งสำคัญในทฤษฎีว่าด้วยทุนนิยมและทฤษฎีว่าด้วยประวัติศาสตร์ของมาร์กซ์ แต่ไม่ว่าอย่างไร วิกฤตในลัทธิมาร์กซ์ก็ยังคงมีลักษณะสำคัญบางอย่างที่เด่นชัดอย่างเสมอต้นเสมอปลาย นั่นก็คือต้นตอของมันที่มาจากมิติทางเศรษฐกิจ ว่าด้วยความขัดแย้งภายในวิถีการผลิตแบบทุนนิยม

และจุดนี้เองเป็นหนึ่งในเหตุผลว่าทำไมเราควรอ่านหนังสือของเฟรเซอร์เล่มนี้ เพราะว่าวิกฤตที่เฟรเซอร์พูดถึงในหนังสือเล่มนี้นั้นไม่ใช่แค่วิกฤตในมิติทางเศรษฐกิจ มากกว่านั้น หนึ่งในความตั้งใจของเฟรเซอร์ในครั้งนี้คือ การสลัดภาพของทุนนิยมและวิกฤตของมันให้หลุดออกจากแก่นแกนทางเศรษฐกิจ คือการมองทุนนิยมให้ลึกและไกลกว่ามาร์กซ์นั้นเอง นี่ไม่ได้เป็นการพูดว่าทุนนิยมสำหรับมาร์กซ์มีความหายแค่เรื่องทางเศรษฐกิจเท่านั้น เพราะสำหรับมาร์กซ์ มันหมายถึงระบบทางสังคมของการครอบงำทางชนชั้นระหว่างแรงงานและทุนด้วย แต่เราก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า มิติทางเศรษฐกิจคือหัวใจในทฤษฎีของมาร์กซ์ และมันคือกรอบที่มาร์กซ์ใช้ในการพัฒนาคำอธิบายเรื่องอื่นๆ ต่อไป 

แน่นอนว่าการมองทุนนิยมแบบผนวกรวมมิติอื่นๆ นอกจากมิติทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย นักคิดจากสายธารความคิดแบบมาร์กซิสต์มากมายได้พยายามพัฒนาทฤษฎีทางสังคมที่ผนวกรวมหลากหลายมิตินอกเหนือจากเศรษฐกิจมาอย่างยาวนาน หนึ่งในนั้นคือ อันโตนิโอ กรัมชี่ (Antonio Gramsci) ซึ่งก็เป็นอีกคนที่มีอิทธิต่อความคิดของเฟรเซอร์

ความใหม่ หรือไม่ใหม่ของหนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องที่ผู้อ่านสามารถนำไปถกเถียงกันต่อได้ แต่ในที่นี้ มันอาจไม่ใช่เกณฑ์การวัดคุณค่าของข้อเสนอของเฟรเซอร์ทั้งหมด แต่อาจอยู่ที่ความเป็นระบบของทฤษฎีและความสอดคล้องกับความเป็นจริง ณ ปัจจุบันของชุดวิเคราะห์ที่มันผลิตขึ้น 

อีกหนึ่งเหตุผลที่เราควรอ่านหนังสือเล่มนี้คือ เฟรเซอร์ได้เสนอมุมมองแบบองค์รวม (Holistic view) ที่อนุญาตให้เราสามารถพูดถึงเรื่องอื่นๆ เช่นความขัดแย้งทางเชื้อชาติ เพศ สิ่งแวดล้อม หรือประชาธิปไตยด้วยกันกับเรื่องทุนนิยมได้อย่างเป็นระบบ  และไม่ใช่ชนิดที่โยงไปเรื่อยว่าเรื่องนู้นเรื่องนี้ก็เกี่ยวกับทุนนิยมแบบที่ต้องการแค่จะปลุกแรงแค้นเท่านั้น แต่คือการเสนอมุมมองที่ว่าระบบทุนนิยมจำเป็นต้องถูกเข้าใจผ่านมิติอื่นๆ เหล่านี้ ซึ่งเป็นเงื่อนไขในการขับเคลื่อนระบบทุนนิยมเอง ฉะนั้น หากจะพูดให้ถูกคือ เฟรเซอร์ไม่ได้หาช่องให้เราสามารถผนวกเรื่องการต่อสู้และความขัดแย้งจากมิติต่างๆ เข้ามาในบทสนทนาว่าด้วยระบบทุนนิยม 

แต่เฟรเซอร์เสนอวิธีการพูดถึงทุนนิยมในแบบที่จำเป็นต้องดึงการต่อสู้และความขัดแย้งเหล่านั้นเข้ามา  เพราะมิติอื่นๆ เหล่านั้นไม่ใช่ของภายนอก ของแถม หรือผลกระทบของระบบทุนนิยม แต่มันอยู่ใน DNA ของทุนนิยมเองต่างหาก และเช่นเดียวกัน การพูดถึงเรื่องความขัดแย้งเหล่านี้ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์หากละเลยการพูดถึงทุนนิยม

เพราะสำหรับเฟรเซอร์เราหนีไม่ได้ที่จะต้องยอมรับว่า ทุนนิยมคือระเบียบทางสังคม (societal order) ที่เราอาศัยอยู่ในปัจจุบัน ไม่ใช่แค่ระบบเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง ฉะนั้นเฟรเซอร์เองกำลังท้าทายต่อมุมมองของคนอีกมากมายที่มักลดค่าความเชื่อมโยงของทุนนิยมกับวิกฤต ปัญหา และการต่อสู้ในเรื่องต่างๆ 

แม้จะยืนอยู่บนภวทิยา (ontology) ทางสังคมที่แตกต่างกัน เราอาจตีความได้ว่ามุมมองแบบองค์รวมที่เฟรเซอร์ใช้ในการมองสังคมทุนนิยมและความขัดแย้งต่างๆ ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนั้น คืออีกหนึ่งวิธีในการสร้างห่วงโซ่แห่งการเทียบเท่าเชื่อมโยง หรือ Chain of Equivalence ตามแนวคิดของ เออร์เนสโต ลาคลาว  (Ernesto Laclau) สิ่งสำคัญในแนวคิดนี้คือการที่การต่อสู้ชนิดหนึ่งตระหนักได้ถึงสภาวะที่ไม่สมบูรณ์ หรืออุปสรรคเชิงโครงสร้างที่ขวางกั้นไม่ให้การต่อสู้สามารถก่อตัวขึ้นอย่างสากลได้ และเข้าใจว่าการต่อสู้อื่นๆ เองก็อยู่ตกในโครงสร้างแบบเดียวกัน การพูดคุยถึง Chain of Equivalence แบบของลาคลาว อาจกลายเป็นเรื่องที่จับต้องได้ง่ายขึ้นผ่านมุมมองแบบองค์รวมของเฟรเซอร์ก็เป็นได้

เหตุผลที่สามที่เราควรอ่านหนังสือเล่มนี้คือ การมองทุนนิยมแบบเฟรเซอร์บังคับให้เราต้องมองเรื่องประชาธิปไตยเสียใหม่ นั่นรวมถึงทฤษฎีประชาธิปไตย (democratic theory) การต่อสู้เพื่อเสรีภาพและความเสมอภาคของกลุ่มพลังต่างๆ ตลอดจนถึงเรื่องสังคมนิยม เพราะการขยายมุมมองที่เรามีต่อระบบทุนนิยมให้กว้างขึ้นอย่างที่เฟรเซอร์เสนอคือการสร้างบทสนทนากับทุกภาคส่วนที่กำลังต่อสู้เพื่อความเสมอภาคและเสรีภาพ เราจะเห็นได้ตลอดทั้งเล่มว่า ข้อเสนอของเฟรเซอร์กำลังถกเถียงทั้งทางตรงและอ้อมกับความคิดของนักทฤษฎีประชาธิปไตยผู้โด่งดังอย่าง William E. Connolly, Andreas Kalyvas, Chantal Mouffe, หรือ Seyla Benhabib เธอยังมีข้อวิพากษ์วิจารณ์มากมายต่อ กลุ่มเคลื่อนไหวสตรีนิยม กลุ่มต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ กลุ่มความหลากหลายทางเพศ หรือกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยคำวิพากษ์วิจารณ์ของเธอมีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นให้เกิดการคิดหาการเปลี่ยนแปลงที่แหลมคมและท้าทายอำนาจของทุนนิยมและอุดมการณ์ของเสรีนิยมใหม่ได้อย่างแท้จริง มากกว่าการอธิบายปัญหาที่เด่นชัดอยู่แล้ว และกลุ่มสุดท้ายที่เฟรเซอร์ท้าทายมุมมองมากที่สุดคือ กลุ่มฝ่ายซ้าย ที่เธอเคลมว่า หลายคนยังมีมุมมองต่อทุนนิยมและการเมืองที่จำกัด ซึ่งมีผลทำให้ไม่สามารถจินตนาการถึงสังคมนิยมในศตวรรตที่ 21 ได้อย่างแหลมคม 


ทุนนิยมงูกินหาง 

ในตอนต้นของหนังสือ เฟรเซอร์ยอมรับว่าพวกเราได้เลยจุดที่ต้องถามกันแล้วว่าตอนนี้เราเข้าขั้นวิกฤตแล้วหรือยัง สิ่งที่เราต้องการตอนนี้คือชุดวิเคราะห์ที่สามารถช่วยเราอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มการต่อสู้ต่างๆ และถึงแม้จะช่วยให้เรารวมพลังกันไม่ได้ ช่วยสร้างการร่วมมือก็ยังดี 

ดังนั้น Cannibal Capitalism ของเฟรเซอร์คือบทวิเคราะห์ที่เธอพยามสร้างให้เราสำหรับช่วงเวลาอันยากลำบากนี้ 

สิ่งที่จะช่วยให้อ่านหนังสือเล่มได้ง่ายขึ้นคือ การเข้าใจกรอบคิดและความหมายของระบบทุนนิยมยุคปัจจุบันที่เฟรเซอร์เรียกว่า cannibal capitalism ก่อน ซึ่งผมขอเรียกว่า “ทุนนิยมงูกินหาง” ไปก่อนแล้วกัน หากพูดอย่างง่าย กรอบคิดของเฟรเซอร์ต่อทุนนิยมงูกินหางก็คือ การเข้าใจว่า แม้ทุนนิยมจะถูกเข้าใจอย่างแพร่หลายผ่านแก่นแกนทางเศรษฐกิจของมัน ที่มีลักษณะสำคัญตามที่มากร์กซ์อธิบายคือ 1. ทรัพย์สินส่วนบุคคล  2. ตลาดแรงงานเสรี 3. การสะสมทุน และ 4. บทบาทของตลาดในการจัดสรรปัจจัยการผลิตและกำหนดว่ามูลค่าพลังแรงงานส่วนเกินของสังคม (society’s surplus) จะถูกใช้อย่างไร แต่แท้จริงแล้วมันคือระเบียบทางสังคมที่พึ่งพาอาศัย “เงื่อนไขเบื้องหลังของความเป็นไปได้ที่ไม่ใช่เศรษฐกิจ” (non-economic background condition of possibility) ในการสร้างและหล่อเลี้ยงแก่นแกนทางเศรษฐกิจของมัน 

และที่สำคัญมากกว่านั้น คือความสัมพันธ์ระหว่างแก่นแกนทางเศรษฐกิจของทุนนิยมและเงื่อนไขเบื้องหลังของความเป็นไปได้ที่ไม่ใช่เศรษฐกิจนี้ คือความสัมพันธ์ที่เฟรเซอร์เน้นย้ำว่า ไม่ใช่แบบอยู่ร่วมกัน (coexist) และก็ไม่ใช่แค่พึ่งพาอาศัยหรือทับซ้อนกันเท่านั้น แต่เป็นแบบที่ “งูกินหาง” (cannibalization)  

ถึงตอนนี้เฟรเซอร์ได้วาดภาพทุนนิยมให้เราเห็นถึงระเบียบทางสังคมที่มีฉากหน้าและฉากหลัง โดยฉากหน้าคือ ลักษณะสำคัญ กลไก และกิจกรรมทางเศรษฐกิจของทุนนิยม ส่วนฉากหลังคือเงื่อนไขที่ไม่ใช่เศรษฐกิจที่สร้างและหล่อเลี้ยงฉากหน้าเอาไว้นั้นเอง 

ฉากหลังที่ว่านี้ได้แก่ 

1. การผลิตซ้ำทางสังคม (social reproduction)  ซึ่งสำหรับเฟรเซอร์หมายถึงกิจกรรมเกี่ยวกับการดูแล (care) ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงดูแลเด็กและคนที่เรารักทางร่างกายและจิตใจ การสั่งสอน งานในครอบครัว หรืออื่นๆ ที่เตรียมพร้อมและดูแลเด็กและแรงงานจากบ้านสู่สังคมภายนอก 

2. การกัดกินธรรมชาติ (cannibalization of nature) ทั้งผ่านการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการผลิตแบบไม่ชดใช้คืน และใช้ธรรมชาติเป็นถังขยะทิ้งของเสียจากการผลิต 

3. อำนาจทางการเมือง และ 

4. การยึดแย่ง (expropriation) จากเงื่อนไขฉากหลังทั้งสี่หมวดหมู่นี้ เฟรเซอร์จะได้นำเราไปสู่มวลสารของวิกฤตในสังคมทุนนิยมอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้ของผู้หญิง สิ่งแวดล้อม เชื้อชาติ แรงงานนอกตลาด และอำนาจทางการเมืองของประชาชน 

และสิ่งที่เฟรเซอร์จะเน้นย้ำตลอดทั้งเล่มคือ รอยกั้นระหว่างฉากหน้ากับฉากหลังแต่ละฉากนี้คือ การแบ่งแยกเชิงโครงสร้าง (structural divisions) และ ณ รอยกั้นของการแบ่งแยกคือ พื้นที่ของวิกฤตและการต่อสู้ในสังคมทุนนิยม 

ฉะนั้น การต่อสู้เหล่านี้จึงมีความหมายไปไกลกว่าการต่อสู้ทางชนชั้น ในแบบคลาสสิคมาร์กซิสต์ ที่มีหัวใจอยู่ที่แรงงาน ทุน และการผลิตในระบบเศรษฐกิจทุนนิยม แต่มันมีความหมายในแบบที่เฟรเซอร์เรียกว่า การต่อสู้แบบเขตแดน (boundary struggles) โดยจะรวมทั้งปัญหามากมายไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ ธรรมชาติ เชื้อชาติ ประชาธิปไตย และการกดขี่อื่นๆ โดยจุดโฟกัสของการต่อสู่เหล่านี้จะอยู่ที่สภาวะที่ทุนนิยมนั้นกำลังกัดกินเงื่อนไขที่ไม่ใช่เศรษฐกิจที่คอยหล่อเลี้ยงตัวมันเอง 

สำหรับเฟรเซอร์ วิกฤตและการต่อสู้เหล่านี้ต้องถูกอธิบายผ่านความขัดแย้งระหว่างฉากหน้าและฉากหลังของระบบทุนนิยม เพราะฉากหน้าไม่ใช่เพียงแค่ปฏิเสธ (disavow) บทบาทและความสำคัญของฉากหลังเหล่านี้ แต่ยังกัดกินฉากหลังที่เป็นเงื่อนไขในการสร้างและหล่อเลี้ยงตัวมันเองอีกด้วย 

พูดอีกแบบคือ

“ทุนกัดกินสิ่งที่หล่อเลี้ยงตัวมันอย่างไม่หยุดยั้ง เหมือนงูที่กินหางของตัวเอง มันทำลายเงื่อนไขของความเป็นไปได้ของตัวมันเอง” (“capital persistently devours the very supports on which it relies. Like a serpent that eats its own tail, it cannibalizes its own conditions of possibility.”)

ฉะนั้น ตรรกะเกี่ยวกับความขัดแย้งภายในของทุนนิยมยังคงมีอยู่อย่างเด่นชัดในงานชิ้นนี้ของเฟรเซอร์ เพียงแค่มันได้รับการปะติดปะต่อให้ใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับวิกฤตที่ซับซ้อนกว่านั่นเอง 

นี่คือธีมของ Cannibal Capitalism รายละเอียดทั้งหมดในหนังสือเล่มนี้จะถูกจัดวางตามกรอบคิดข้างต้นทั้งหมด โดยรวมผมคิดว่าหนังสือเล่มสามารถแบ่งออกได้เป็นสองส่วนคือ ส่วนบทวิเคราะห์ และส่วนข้อเสนอการปฏิบัติเพื่อเปลี่ยนแปลง ซึ่งมีเนื้อหาน้อยกว่า เนื่องด้วยเหตุผลของพื้นที่อันจำกัด ผมจึงเลือกโฟกัสที่ส่วนแรก และเนื้อหาต่อไปนี้ได้ถูกแบ่งตามข้อความสำคัญ ที่ผมคิดว่าเฟรเซอร์พยายามจะบอกเราในหนังสือเล่มนี้ 


เพื่อมองวิกฤตและการต่อสู้ได้ดีขึ้น เราต้องมองทุนนิยมให้กว้างขึ้นเช่นกัน

ในหนังสือเล่มนี้เฟรเซอร์เลือกอธิบายความขัดแย้งภายในของทุนนิยมผ่านเงื่อนไขเบื้องหลังที่หล่อเลี้ยงแก่นแกนเศรษฐกิจของทุนนิยม ได้แก่ 1. การผลิตซ้ำทางสังคม 2. อำนาจการปกครอง 3. ธรรมชาติ  4. การยึดแย่งทรัพยากรและแรงงาน (expropriation) และความสันธ์ระหว่างเงื่อนไขเหล่านี้กับฉากหน้าของทุนนิยมที่เป็นไปแบบงูกินหาง ซึ่งมีชีวิตของพวกเรา 99% เป็นเดิมพัน ในที่นี้ผมเน้นไปที่เรื่องที่ 4 การยึดแย่งทรัพยากรและแรงงาน เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจมุมมองของเฟรเซอร์ในการอธิบายเรื่องอื่นๆ 


การยึดแย่งทรัพย์สินของคนชายขอบเพื่อเป็นเงื่อนไขการขูดรีดแรงงานคือโครงสร้างพื้นฐานของการกดขี่ทางเชื้อชาติในสังคมทุนนิยม

การที่เฟรเซอร์ตั้งโจทย์ว่า อะไรคือเงื่อนไขที่ทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจทุนนิยมมันเกิดขึ้นได้? ไม่ใช่เรื่องใหม่แน่นอน เพราะมาร์กซ์เองก็ตั้งคำถามเดียวกัน คำถามอย่างเช่น การสะสมทุนเกิดขึ้นได้อย่างไร ซึ่งตั้งแต่ตอนต้นของหนังสือทุน Capital (Das Kapital) เล่มแรก มาร์กซ์ก็ได้ค้นพบไว้แล้วว่า ความลับเบื้องหลังการขยายตัวของทุนนั้นคือการขูดรีดแรงงาน (exploitation) และมาร์กซ์ยังพาเราไปไกลกว่านั้นอีก ในบท “การสะสมทุนแบบบุพกาล” (Primitive Accumulation) เพื่ออธิบายว่าในอดีตนั้น ความลับเบื้องหลังอีกชั้นนึงของการสะสมทุนคือการยึดแย่ง ซึ่งหมายถึงการยึดเอาพื้นที่ทำการผลิตของเกษตรกรผ่านการบีบบังคับด้วยวิธีต่างๆ ซึ่งต่อมานักทฤษฎีเช่น โรซา ลุคเซิมบวร์ค (Rosa Luxemburg) และ เดวิด ฮาร์วีย์ (David Harvey) ก็ได้เสนอต่อยอดว่า การยึดแย่งที่มาร์กซ์ค้นพบนั่น ไม่ได้มีสถานะอยู่แค่ในประวัติศาสตร์หรือจุดเริ่มต้นของทุน แต่เป็นกลไกลที่มีอยู่ควบคู่ไปกับกลไกลการขูดรีดแรงงานเสมอมา พูดอีกแบบคือ นี้คือเงื่อนไขเบื้องหลังอย่างหนึ่งที่หล่อเลี้ยงกลไกเศรษฐกิจของทุนนิยมไว้

เฟรเซอร์เสนอว่า เราต้องมองการยึดแย่ง ซึ่งเธอหมายถึง กระบวนการการบีบยึดเอาทรัพยากรหรือทรัพย์สมบัติของคนที่ถูกรังแกหรือคนชายขอบ และการยึดแย่งในความหมายของเฟรเซอร์นั้นไม่ได้หมายถึงแค่การยึดเอาทรัพยากรธรรมชาติและที่ดิน แต่รวมถึงการยึดแย่งแรงงานด้วย เช่นแรงงานทาส แรงงานที่ไม่ได้รับค่าแรง หรือจ่ายน้อยกว่าที่ควรได้ หรือถูกบีบบังคบให้ใช้แรงงานภายใต้เงื่อนไขอื่นๆ นอกกลไกลตลาด และยังรวมถึงการที่ใช้คำสั่งของรัฐหรืออำนาจทางการเมืองที่ทำให้คนบางกลุ่มมีสถานะที่ต่ำกว่าแรงงานทั่วไป เช่น เป็นพลเมืองชั้นต่ำ ทาส แรงงานผิดกฏหมาย อดีตอาชญากร หรือต่างด้าว

แน่นอนว่ารูปแบบและวิธีการการยึดแย่งในสังคมทุนนิยมนั้นแตกต่างกันไปตามช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ จากแรงงานทาสที่มาจากเชลยสงคราม ที่ดินที่ยึดได้ผ่านอาณานิคม การลักพาตัวเด็กและผู้หญิง มาสู่แรงงานในเรือนจำ การบังคับขายที่ดิน การยึดทรัพย์ เป็นต้น

สำคัญกว่านั้นคือ แม้การยึดแย่งจะถูกเสนอภาพผ่านหลากหลายวิธีอันสวยงามของทุนนิยมให้อยู่นอกกรอบของกลไกตลาดแรงงานเสรีที่ถูกต้อง แต่แท้จริงแล้วมันคือเงื่อนไขเบื้องหลังของการขูดรีดแรงงานในตลาดเสรีนั่นเอง เพราะมันคือปัจจัยการผลิตราคาถูกที่ช่วยให้นายทุนสามารถสร้างกำไรได้มากขึ้น และเพิ่มความสามารถในการจ้างงานแรงเสรีให้นายทุน ซึ่งแรงงาน ทรัพยากร หรือทรัพย์สินต่างๆ ที่ถูกยึดแย่งมาได้ล้วนถูกนำไปสู่กระบวนการสะสมทุนทั้งสิ้น 

ความสัมพันธ์ระหว่างการขูดรีดแรงงาน “อย่างถูกต้องตามกลไกตลาด” และการยึดแย่งแรงงานนั้นไม่ใช่ความสัมพันธ์ที่ตรงไปตรงมา แต่เป็นความซับซ้อนที่กระอักกระอ่วน เฟรเซอร์เน้นย้ำกับเราว่าทุนนิยมมักปฏิเสธ (disavow) บทบาทและความสำคัญของเงื่อนไขเบื้องหลังที่สร้างและหล่อเลี้ยงตัวมัน คำว่า “disavow” ในที่นี้ไม่ใช่แก่การปฏิเสธทั่วไป แต่คือการที่ระบบทุนนิยมนั้นพยายามอย่างมากในป่าวประกาศว่าตัวเองไม่ได้สนับสนุนวิธีการแบบหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันก็กำลังกระทำวิธีนั้นอยู่อย่างไม่หยุดยั้ง เสมือนว่าไม่รู้ตัวเอง จากตรงนี้ การยึดแย่ง คือสิ่งที่นักคิดสายจิตวิเคราะห์แบบลากองครึ่งมาร์กซิสต์ สลาวอย ชิเชก (Slavoj Zizek) อาจเรียกว่า “fetishictic disavowal” และเมื่อมันไม่รู้ตัวเอง หรือหยุดตัวเองไม่ได้ ก็ไม่แปลกอะไรที่ที่เฟรเซอร์จะเสนอว่า การเติบโตของทุนดำเนินอยู่บนการทวีคูณทุกข์ยากของแรงงานที่มาจากการยึดแย่งและการแบ่งแยกทางสังคมที่ถูกทำให้เป็นเรื่องเชื้อชาติ นี่เองคือความสัมพันธ์แบบทุนนิยมงูกินหาง 

สิ่งที่เฟรเซอร์พยายามทำจากมุมมองข้างต้นคือ การเชื่อมโยงการกดขี่ทางเชื้อชาติเข้ากับการสะสมทุน สำหรับเธอการอธิบายว่า ทุนขยายตัวจาก การ “ทำนาบนหลังคน” ผ่านกดขี่แรงงานเสรี นั้นไม่สามารถช่วยอธิบายเรื่องการกดขี่ทางเชื้อชาติได้เลย แต่จำเป็นต้องมองผ่านการยึดแย่งควบคู่ไปด้วยเท่านั้น 

เฟรเซอร์เคลมว่า การที่ของที่ถูกยึดแย่งมามักเป็นของของกลุ่มคนชายขอบ หรือคนเชื้อชาติหนึ่ง ตัวอย่างเช่นคนผิวดำ ไม่ใช่แค่เรื่องมรดกทางประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่เป็นเรื่องของโครงสร้างทุนนิยมเองด้วย สำหรับเฟรเซอร์ เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจการกดขี่ทางเชื้อชาติ ซึ่งไม่ว่าจะมีผลกระทบเป็นอคติหรือความขัดแย้งรูปแบบต่างๆ ควบคู่ไปกับการแบ่งแยกระหว่าง “แรงงานเสรี” และ “แรงงานจากการยึดแย่ง” ด้วย นี่คือการแบ่งแยกทางสังคม (social division) ที่มีสถานะเป็นโครงสร้างของสังคมทุนนิยมและอยู่ในโครงสร้างการสะสมทุน หรือจะพูดให้ถูกคือ การแบ่งแยกไม่เคยเป็นแค่ระหว่าง นายทุน-แรงงาน เลย แต่มีกลุ่มคนที่สามมาด้วยเสมอ นั่นก็คือกลุ่ม “แรงงานจากการยึดแย่ง” 

เมื่อแรงงานและทรัพยากรจากการยึดแย่งคือหัวใจสำคัญของการกดขี่แรงงานในตลาดเสรีและการสะสมทุน คำถามคือสังคมทุนนิยมใช้เครื่องมืออะไรในการแบ่งว่า ตรงไหนคือแรงงานเสรี และตรงไหนคือแรงงานที่ยึดแย่งได้ (expropritable) รวมถึงกระบวนในการทำให้แรงงานที่ว่านั้นมีสถานะที่ยึดแย่งได้ต่อไปด้วย 

สำหรับเฟรเซอร์นี่จุดเชื่อมที่สำคัญอย่างมากระหว่างมิติทางเศรษฐกิจและมิติทางการเมืองของทุนนิยม เพราะกระบวนแบ่งแยก การสร้างให้เป็นอื่น และการครอบงำเหล่านี้ล้วนพึ่งพาอำนาจและกลไกทางการเมือง มันคืออำนาจทางเมืองที่เป็นตัวชี้ว่า ใครมีสิทธิ์หรือไม่มี ใครมีสถานะเป็นอะไรในสังคม และที่ผ่านมาสิ่งที่เป็นตัวแทนการแบ่งแยกนี้ได้ชัดเจนที่สุดก็คือ ‘สีผิว’ 

อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่การเสนอว่า การแบ่งแยกที่ว่านี้แรกเริ่มมาจากการแบ่งแยกระหว่างแรงงานสองประเภทที่มีจุดประสงค์เพื่อการสะสมทุน จึงถูกประกอบสร้างให้มีความหมายและผลกระทบทางสังคมในรูปแบบความขัดแย้งทางเชื้อชาติผ่านอำนาจทางเมืองเพื่อพยุงการแบ่งแยกนั้นไว้ แต่คือการเสนอว่า การแบ่งแยกระหว่างแรงงานสองประเภท ซึ่งมีรูปธรรมคือความขัดแย้งทางเชื้อชาตินั้น เป็นทั้งกลไกของการสะสมทุนและกลไกการครอบงำทางการเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ขาด และไม่ควรมองแบบความสัมพันธ์เชิงสาเหตุ (causal relation) เพราะมันเป็นเรื่องทางเศรษฐกิจและการเมืองในเวลาเดียวกัน 

อำนาจทางการเมืองที่ว่านี้ไม่ใช่แค่ของรัฐใดรัฐใดหนึ่ง แต่เฟรเซอร์เน้นย้ำไปที่ระเบียบทางการเมืองโลกสมัยใหม่แบบเว็สท์ฟาเลิน (Wesphalian) ที่ยอมรับอำนาจการดูแลดินแดนของรัฐสมัยใหม่ทั้งหมด นี่คือตัวอย่างผลกระทบของการนำกรอบคิดองค์รวมของเฟรเซอร์มาใช้ มันทำเราหลีกไม่ได้ที่จะมองเรื่องจากต่างมิติร่วมกันและกว้างขึ้นมาก และทำให้เราไม่สามารถตั้งต้นการคิดหาทางออกได้โดยปราศจากการนำองค์ประกอบเหล่านี้มาประกอบเป็นโครงสร้างเดียวกัน 

และแน่นอนว่าสีผิวอาจไม่ใช่สัญลักษณ์การการแบ่งแยกระหว่างแรงงานเสรีและแรงงานยึดแย่งอีกต่อไป เพราะทุนนิยมเสรีนิยมใหม่นั้นได้ทำการยึดแย่งแรงงานทุกคนเท่าที่มันทำได้ และสร้างให้เกิดแรงงานที่ยึดแย่งได้ประเภทใหม่ๆ ทุกวัน เฟรเซอร์เสนอว่าเราควรหันมามองเรื่องแรงงานข้ามชาติในกรอบคิดแบบนี้มากขึ้น และการหายไปของสีผิวในฐานะสัญลักษณ์การแบ่งแยกที่ชัดเจนนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าปัญหาที่เรื่องการเหยียดเชื้อชาติจะหายไป อย่างที่เราเห็นได้ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเฟรเซอร์ก็เสนอว่า การจะก้าวผ่าน racism ไปได้นั้นจะต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของคนต่างเชื้อชาติ 

แน่นอนว่านี้ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้เพียงด้วยการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยภายใต้เสรีนิยมใหม่ เมื่อเราตระหนักถึงการแบ่งแยก และรายละเอียดทางวัฒนธรรมที่ดำรงมาก่อนหน้านับพันร้อยๆ ปีของมัน เฟรเซอร์เสนอว่า วันนี้เราอาจพูดได้ว่า เราผู้ถูกกดขี่ (exploited) ก็คือผู้ถูกยึดแย่ง (expropriated) ด้วยเช่นกัน 

นี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นจริงในระดับวัตถุ (objective) แต่การที่ผู้คนจะมองเห็นมันได้ในระดับความคิด (subjective) ไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องอาศัยการท้าทายอำนาจของทุนนิยมจากทุกมิติที่สัมพันธ์กัน 


การเมืองไม่ใช่แค่เรื่องการเมือง วิกฤตประชาธิปไตยไม่สามารถแก้ด้วยการเมืองอย่างเดียว 

เฟรเซอร์เริ่มอธิบายถึงวิกฤตประชาธิปไตยในปัจจุบัน ด้วยการเสนอว่า ไม่ใช่แค่เสรีนิยมใหม่และองคาพยพของมันเท่านั้นที่ก่อให้เกิดวิกฤตทางการเมือง แต่ทุกรูปแบบของระบบทุนนิยมล้วนมีโครงสร้างที่ก่อให้เกิดวิกฤตทางการเมือง นี่คือธรรมชาติของทุนนิยม 

สำหรับเฟรเซอร์การทำความเข้าใจวิกฤตประชาธิปไตยที่เรากำลังเผชิญไม่สามารถทำผ่านการมองเพียงมิติทางการเมือง เหมือนที่นักทฤษฎีประชาธิปไตยหลายคนที่เฟรเซอร์เรียกว่าเป็นพวก “การเมืองนิยม” (politicism) ทำได้ และก็ไม่สามารถมองเพียงมิติทางเศรษฐกิจเหมือนนักคิดฝ่ายซ้ายหลายคนได้

ฉะนั้น สำหรับเฟรเซอร์ วิกฤตประชาธิปไตย ไม่สามารถแก้ได้โดยเพียงแค่การสร้างการมีส่วนร่วม ฟื้นฟูความเป็นพลเมือง ต่อต้านการเมืองอุปถัมภ์หรือสร้างวาทกรรมที่อยู่บนข้อเท็จจริง และวิกฤตนี้ก็ไม่สามารถถูกมองว่าเป็นแค่ผลกระทบหนึ่งของความล้มเหลวทางเศรษฐกิจของทุนนิยมได้เช่นกัน

แต่เฟรเซอร์เสนอว่าเราต้องมององค์รวมทางสังคม (social totality) ทั้งหมด กล่าวคือ มองถึงความขัดแย้งภายในสังคมทุนนิยมระหว่างแก่นแกนทางเศรษฐกิจของทุนนิยมและเงื่อนไขเบื้องหลังที่พยุงตัวมัน นั่นก็คือมนุษย์ ธรรมชาติ และอำนาจการปกครอง 

สำหรับเฟรเซอร์ เราสามารถพูดได้ว่าวิกฤตทางการเมืองและวิกฤตประชาธิปไตยมีต้นตออยู่ในความขัดแย้งระหว่างอำนาจการปกครองที่ทุนนิยมเองอาศัยในการรับรองและคุ้มครองการดำเนินการของมัน และการสะสมทุนอย่างไม่มีที่สิ้นสุดที่กำลังทำให้อำนาจการปกครองที่มันพึ่งพาอ่อนแอลงเรื่อยๆ และวิกฤตนี้ก็ยังพัวพันกับวิกฤตอื่นๆ ทั้งหมดในทุนนิยมเองอย่างแยกไม่ขาด

นี่คือการแบ่งแยกเชิงโครงสร้างของสังคมทุนนิยมระหว่างเศรษฐกิจและการเมือง หรือพูดอีกอย่างว่า การปฏิเสธ (disavow) ของทุนนิยมต่อมิติทางการเมืองที่พยุงตัวมันเอง 

แตกต่างจากสังคมยุคก่อน เช่นสังคมศักดินาที่อำนาจการควบคุมที่ดิน แรงงาน และกำลังทหารนั้นอยู่ในที่ที่เดียว แต่ในสังคมทุนนิยม การเมืองและเศรษฐกิจถูกทำให้ต้องแยกจากกันอย่างฝืนความเป็นจริง โดยอำนาจทางเศรษฐกิจรับบทดูแลการกิจการทางตลาดและแก่นแกนทางเศษฐกิจของทุนนิยม ในระหว่างที่อำนาจการเมืองต้องปกครองเพื่อสร้างให้เกิดเงื่อนไขที่ไปหล่อเลี้ยงส่วนของเศรษฐกิจ 

การไม่ยอมรับอำนาจการเมืองให้เข้ามาก้าวก่ายในขณะที่ต้องพึ่งพาอำนาจทางการเมืองในการหล่อเลี้ยงตัวเองทำให้เส้นแบ่งระหว่างเศรษฐกิจและการเมืองในสังคมทุนนิยมเกิดสภาวะที่กระอักระอ่วนและทำลายตัวมันเอง 

อย่างไรก็ตาม การทำลายตัวมันเองของทุนนิยมงูกินหางไม่ใช่ชัยชนะของฝ่ายซ้ายหรือสังคมนิยม เพราะนั่นเท่ากับว่าเรากำลังมองโลกอย่างผู้ตื่นรู้จากภายนอก แต่นี่คือโลกที่พวกเรากำลังอาศัยอยู่และคนที่จะตายก่อนจากวิกฤตนี้คือพวกเราคนส่วนใหญ่ พูดอีกนัยหนึ่งคือ วิกฤตคือโอกาสในการแย่งชิงอำนาจนำ 

แต่ก่อนหน้าจะพูดถึงการท้าทายอำนาจนำ เฟรเซอร์เสนอว่าวิกฤตทางการเมืองปัจจุบันนั่นเป็นแบบ “governance without goverment” ซึ่งเธอหมายถึงการครอบงำที่ปราศจากความยินยอม โดยไม่ได้หมายถึงการครอบงำจากรัฐบนร่างกายของผู้คนเท่านั้น แต่หมายถึงการที่รัฐต่างๆ ในปัจจุบันต้องตกอยู่ภายใต้โครงสร้างการปกครองขององค์กรอย่าง European Union, World Trade Organization, NAFTA, และ TRIPS ที่เป็นตัวกำหนดระเบียบการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมเศรษฐกิจทั่วโลก องค์กรเหล่านี้ไม่ขึ้นต่อใคร และขับเคลื่อนด้วยการสะสมทุนอย่างไม่มีที่สิ้นสุด อำนาจของพวกมันได้สร้างให้หลักการการค้าและเศรษฐกิจของเสรีนิยมให้กลายเป็นรัฐธรรมนูญโลก 

โครงสร้างนี้ใช้วีธีมากมายในการยึดเอาอำนาจจากรัฐไว้ในภายใต้อำนาจของกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ และยังกักขังไม่ให้รัฐทำอะไรได้แม้กระทั่งการแก้วิกฤตภายในของตัวเอง สิ่งที่เคยเป็นไปได้ผ่านการเมืองแบบประชาธิปไตยถูกยัดลงไปในกลไกของตลาด การเลือกเส้นทางทางการเมืองที่อาจขัดขวางระบอบนี้ล้วนถูกเพ่งเล็งและโจมตี เช่นในกรณีของประเทศกรีซ ปี 2015 ที่มีการลงประชามติไม่รับเงื่อนไขของเจ้าหนี้ IMF หรือแม้กระทั่งการยับยั้งการขึ้นมาของแคนดิเดตที่อาจมีแนวทางคล้ายกันในบราซิล ปี 2017-2018 ในตลอดทั้งยุคสมัยของระบอบปัจจุบัน กลุ่มทุนไม่ว่าจะเป็นพวก Big Fruit, Big Pharma, Big Energy, Big Arms, Big Data ล้วนมีส่วนอย่างมากในการส่งเสริมระบอบอำนาจนิยมและสงครามทั่วโลก วิกฤตประชาธิปไตยที่ประชาชน 99% ไร้อำนาจ สำหรับเฟรเซอร์เกี่ยวพันโดยตรงกับทุนเหล่านี้แหละระบอบการสะสมทุนในปัจจุบันที่รุดหน้ากินหางเงื่อนไขที่หล่อเลี้ยงตัวมันเอง ทิ้งให้คนและธรรมชาติต้องตกเป็นเหยื่อ

ทุกวิกฤตสำหรับเฟรเซอร์ไม่ได้มีแค่มิติทางวัตถุแต่ยังมีมิติทางความคิดด้วยเสมอ ฉะนั้นวิกฤตที่เรากำลังเผชิญจึงเป็นวิกฤตทางอำนาจนำด้วย (crisis of hegemony) รูปธรรมของวิกฤตนี้สำหรับเฟรเซอร์มองเห็นได้ผ่านสภาวะที่ผู้คนไม่เพียงแต่รับรู้ถึงความล้มเหลวของเศรษฐกิจและการเมือง แต่ยังถกเถียงถึงทางออกและตัวเลือกอื่นอย่างที่หาฉันทามติไม่ได้ ผู้คนกำลังจินตนาการถึงการจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองและเศรษฐกิจใหม่ 

เฟรเซอร์เสนอว่าเราต้องสู้กับอำนาจนำของทุนปัจุบันโดยการถลกม่านแฟนตาซีของเสรีนิยมใหม่ให้เห็นว่าอำนาจที่แท้จริงของทุนนิยมอยู่ที่บริษัทยักษ์ใหญ่ นักลงทุนรายใหญ่ ธนาคาร และสถาบันการเงิน ที่กระหายหาผลกำไรอย่างไม่หยุดยั้ง ซึ่งในความเป็นจริงกลุ่มการเคลื่อนไหวมากมาย ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มสตรีนิยม กลุ่มต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ กลุ่มสิ่งแวดล้อม ยังไม่สามารถโจมตีศัตรูที่แท้จริงได้ แต่กลับพัวพันกับอำนาจนำของเสรีนิยมที่มอบพื้นที่ให้กับความคิดก้าวหน้าได้เฉิดฉายผ่านการสนับสนุนของกลุ่มระดับโลกมากมาย ฉะนั้น สิ่งที่เรากำลังเห็นคือการต่อสู้หน้าม่านของฝ่ายหัวก้าวหน้าและฝ่ายขวาที่ไม่มีใครสามารถโจมตีอำนาจที่แท้จริงได้ 

ในสังคมทุนนิยมที่โครงสร้างสำคัญวางอยู่บนการแบ่งอันกระอักกระอ่วนและไร้เหตุผลระหว่างแก่นแกนทางเศรษฐกิจและเงื่อนไขเบื้อหลัง มันจึงเป็นเรื่องที่ง่ายสำหรับกลุ่มการเคลื่อนไหวที่อาจเลือกเข้าข้างกลุ่มคนหรือประเด็นปัญหาเพียงเพราะว่ามันดูเหมือนจะอยู่ตรงข้ามหรือถูกกระทำโดยอำนาจครอบงำของทุนนิยม เช่น ผู้หญิง คนชายขอบ ชุมชน ธรรมชาติ

สิ่งที่เฟรเซอร์เน้นยำคือ การเลือกอยู่ข้างสิ่งที่เราอาจมองเห็นว่าเป็นอื่นจากทุนนิยม ยังไม่ใช่การท้าทายอำนาจ แต่เป็นแค่การสะท้อนลักษณะของระเบียบสังคมที่เป็นอยู่เท่านั้น สำหรับเฟรเซอร์ การท้าทายจำเป็นต้องเข้าใจความสัมพันธ์ขององค์รวมและจินตนาการระเบียบสังคมใหม่ 

เรากำลังอยู่ในสภาวะที่ไม่สามารถมองหาตัวผู้ปกครองอำนาจได้ชัดเจนและก็ยังไม่มีผู้ที่สามารถท้าทายอำนาจนั้นได้อย่างแท้จริง แน่นอนว่านี้คือสภาวะที่กรัมชี่เรียกว่า interregnum หรือ “ห้วงเวลาที่ของเก่ากำลังตายลงและของใหม่ไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้” 

ห่วงเวลาแห่ง interregnum จะยาวนานแค่ไหนไม่มีใครรู้ แต่เรารู้คือสภาวะนี้ไม่ใช่เวลาของการเฉลิมฉลองของฝ่ายต่อต้านทุนนิยมที่กำลังเห็น “ของเก่ากำลังตาย” เพราะไม่ว่าช้าหรือเร็วโอกาสนี้จะผ่านไป และถ้าเราแย่งชิงการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ มั่นใจได้เลยว่าทุนนิยมจะทำสำเร็จเหมือนอย่างที่มันเคยทำมาครั้งแล้วครั้งเล่า นี่เป็นจังหวะที่เปิดรับการแย่งชิง และไม่มีอะไรการันตีชัยชนะของฝั่งเราได้ทั้งสิ้น แม้แต่เวลา 

เฟรเซอร์เน้นย้ำว่า สิ่งที่เราต้องเข้าใจคือการคิดหาทางออกที่จำกัดอย่างที่เราเคยทำมาจะไม่สามารถพาไปเราไปไหนได้ โจทย์ที่แท้จริงคือการสร้างจินตนาการใหม่ที่สามารถเปลี่ยนแปลงการแบ่งแยกเชิงโครงสร้างต่างๆ ที่กำลังพยุงสังคมทุนนิยมอยู่ นี่คือโจทย์ของนักต่อสู้และทฤษฎีสายวิพากษณ์ที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงในศตวรรษที่ 21 


สำหรับเฟรเซอร์ สิ่งที่สังคมนิยมต้องทำคือ เยียวยาความอยุติธรรมที่เกิดจากความสัมพันธ์แบบงูกินหางของแก่นแกนทางเศรษฐกิจของทุนนิยมและเงื่อนเบื้องหลังที่หล่อเลี้ยงตัวมันเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเชื้อชาติ เพศ ธรรมชาติ คนชายขอบ หรืออำนาจการปกครอง การจะทำสิ่งนี้ได้ โปรเจกต์สังคมนิยมจะต้องมุ่งเปลี่ยนระเบียบของสังคมทุนนิยมที่ทำงานอย่างเป็นสถาบันทั้งหมด  หาใช่หยุดแค่การเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเท่านั้น 



อ้างอิง 

  • Nancy Fraser. 2022. Cannibal Capitalism: How Our System is Devouring Democracy, Care, and the Planet and What We Can Do about it. Verso.
  • Reinhart Koselleck and Michaela W. Richter. Crisis. Journal of the History of Ideas, Vol. 67, No. 2 (Apr., 2006), pp. 357-400 Published by: University of Pennsylvania Press.


ขอบคุณอาจารย์เก่งกิจ กิติเรียงลาภ สำหรับคำปรึกษาด้านการแปล

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า