ถ้าต้องพูดถึงศิลปินที่พูดเรื่องการเมืองในผลงานตัวเอง โลกนี้ก็มีเต็มไปหมด แต่ถ้าพูดถึงวงดนตรีที่ยืนหยัดนำเสนอแนวคิดแบบซ้ายๆ พร้อมกันกับประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์ด้วย รายชื่อก็คงเหลือพอใช้นิ้วมือนับได้อยู่ และหนึ่งในวงที่เด่นเป็นสง่าในแนวทางนี้คือวงเมทัล 4 คนจาก เมืองลอสเอนเจิลลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย ที่ชื่อว่า ‘Rage Against The Machine’
Rage Against The Machine (อาจเรียกสั้นๆ ว่า RATM หรือ Rage) คือวงดนตรีอเมริกันที่โด่งดังและทรงอิทธิพลมากที่สุดวงหนึ่งในยุค 90s วงนี้ก่อร่างจากจินตนาการของสมาชิก 4 คน ประกอบด้วย Zack de la Rocha นักร้องนำ Tim Commerford มือเบส Tom Morello มือกีต้าร์ และ Brad Wilk มือกลอง
สำหรับบางคน Rage อาจเป็นมากกว่าวงดนตรีเสียด้วยซ้ำ เพราะด้วยเนื้อหาและทำนองที่วงถ่ายทอดนั้น บรรจุแน่นไปด้วยสารทางการเมือง บางคนถึงกับขนานนามให้ Rage เป็นรูปแบบหนึ่งของการเคลื่อนไหวทางการเมืองเลยทีเดียว
ในทางแนวเพลง Rage เป็นส่วนผสมระหว่าง ฮิปฮอป, พังค์, ฮาร์ดร็อก และฟังค์ โดยสองอย่างแรกเป็นวัตถุดิบที่หลายคนมองว่ามีอิทธิพลต่อแนวทางของ Rage มากที่สุด เพราะวงได้อิทธิพลด้านฮิปฮอปจาก Run-DMC, Public Enemy, Beastie Boys ส่วนความพังค์นั้นก็ได้มาจากวง Sex Pistols และ Fugazi
ด้านเนื้อหาของวงที่ว่าอัดแน่นไปด้วยสารทางการเมืองนั้น ก็แน่นในความหมายที่ว่าทุกเพลงของวงสามารถถูกใช้ในฐานะเครื่องมือทางการเมืองได้หมด และหากกล่าวให้เฉพาะเจาะจง ความเป็นการเมืองของ Rage ก็เป็นการเมืองแบบ ‘ฝ่ายซ้าย’ ที่มุ่งคัดง้างกับทุนนิยมและระบอบอำนาจนิยมของฝ่ายขวา ซึ่งความซ้ายนี้ก็ไม่ได้ลอยมาจากไหน แต่มาจากอุดมการณ์ทางการเมืองของบรรดาสมาชิกวงนั่นเอง อย่าง de la Rocha และ Morello ก็โตมาในฐานะชนผิวสีกลุ่มน้อยในย่านชานเมืองของคนผิวขาว ครอบครัวของทั้งคู่ต่างเคยเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง พ่อของ de la Rocha เองก็เป็นหนึ่งในนักเคลื่อนไหวภายใต้กลุ่มศิลปินชิคาโน่ในยุค 60s ส่วนฝั่งของ Morello พ่อเขาเคยเข้าร่วมสงครามต่อต้านเจ้าอาณานิคมอังกฤษในเคนยา ที่เรารู้จักกันว่า ‘Mau Mau rebellion’ ก่อนที่จะไปพบรักกับแม่ของเขาในม็อบเรียกร้องประชาธิปไตยในกรุงไนโรบี (นั่นจึงไม่แปลกที่ Morello จะประกาศว่าตนเองเป็นพวกอนาธิปไตย)
อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจวิจารณ์ว่า Rage Against The Machine เป็นวงปากว่าตาขยิบ (hypocrisy) เพราะขณะที่ร่ำร้องบทเพลงต่อต้านเครื่องจักรชื่อทุนนิยม พวกเขากลับทำเงินไปได้มากมาย ซึ่งเป็นข้อวิจารณ์ทำนองเดียวกับที่สามารถพบเห็นได้ในคนจำนวนหนึ่งซึ่งตั้งคำถามต่อฝ่ายซ้ายหรือผู้ลุกขึ้นมาเรียกร้องทางการเมืองว่า ถ้าต่อต้านทุนนิยมจริงทำไมถึงใช้ไอโฟน ทำไมถึงต้องทำโน่นทำนี่ขาย หรือถ้าต้านทุนนิยมจริงทำไมถึงยังเล่นเฟซบุ๊ก/ทวิตเตอร์อยู่ วง Infectious Grooves ถึงกับออกเพลงชื่อว่า Do What I Tell Ya! เพื่อล้อกับเนื้อเพลงใน Killing in the Name ซิงเกิ้ลดังของ Rage เลยทีเดียว
Morello ตอบกลับคำวิจารณ์เหล่านี้ว่า “เมื่อคุณต้องใช้ชีวิตอยู่ในสังคมทุนนิยม การหมุนเวียนเผยแพร่ข้อมูลก็ต้องทำผ่านช่องทางของทุนนิยม คุณคิดว่า Noam Chomsky [นักคิดอนาธิปไตยชื่อดัง] จะปฏิเสธไม่ขายหนังสือบนชั้นวางของร้าน Barnes & Noble ไหม? [Barnes & Noble เป็นธุรกิจร้านหนังสือซึ่งมีสาขาเยอะที่สุดในอเมริกา] คำตอบคือไม่ เพราะมันเป็นที่ซึ่งคนเดินเข้าไปเลือกซื้อหนังสือให้ตัวเอง วงเราไม่ได้สนใจที่จะสวดภาวนาเพียงเพื่อเปลี่ยนใจคน การเข้าไปยึดที่รกร้างแบบที่พวกอนาธิปไตยจำนวนหนึ่งทำก็เยี่ยม แต่มันก็เยี่ยมเหมือนกันที่จะสามารถเข้าถึงผู้คนด้วยถ้อยคำการปฏิวัติ ไม่ว่าจะเป็นคนซึ่งอยู่ที่ Granada Hills [ชานเมืองหนึ่งในลอสเอนเจิลลิส] หรือ Stuttgart [เมืองที่ใหญ่ที่สุดของเยอรมนี]”
De la Rocha ก็เคยตอบในลักษณะเดียวกันว่า “มันก็เพื่อดึงคนจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะมากได้เข้ามาสังสรรค์ในวงถกเถียงทางการเมือง และยังเพื่อบทสนทนาดำเนินต่อไป วันนี้ผมเพิ่งเกิดความสงสัยขึ้นมาว่า ทำไมคนเราต้องปีนขึ้นไปบนหลังคาของสถานฑูตอเมริกันพร้อมแผ่นป้ายที่เขียนว่า “ให้อิสรภาพแก่ Mumia Abu-Jamal [นักกิจกรรมทางการเมืองอเมริกัน]” ทำไมคุณต้องทำแบบนั้นหล่ะ? ก็เพื่อที่จะได้รับความสนใจจากสื่อระดับนานาชาติไง เครือข่ายระดับนานาชาติที่โซนี่มีอยู่ในมือ สำหรับผมมันเป็นเครื่องมือที่สมบูรณ์แบบเลยนะ มันสามารถดึงคนจำนวนมากให้เข้ามามีสำนึกและต่อสู้แบบการปฏิวัติได้”
Rage & Radical ส่วนผสมของดนตรีที่ชนชั้นนำหวาดกลัว
‘ความโกรธ’ หรือ Rage คือสิ่งที่รวมทุกคนเข้าไว้ด้วยกัน บางคนอาจโกรธระบบเศรษฐกิจ โกรธระบอบการเมือง โกรธครอบครัว ฯลฯ ความนิยมของ Rage เกิดจากความโกรธต่ออะไรบางอย่างที่ถูกแทนสัญลักษณ์ด้วย ‘เครื่องจักร’ (Machine) ซึ่งหากพิจารณาจากเนื้อหาที่ถูกนำเสนอในแต่ละเพลง แต่ละอัลบั้ม ก็จะเข้าใจได้ไม่ยากว่าเครื่องจักรที่ว่านี้คือ รัฐ ชนชั้นนำ พวกเหยียดชาติพันธุ์ และทุนนิยม นั่นทำให้ฝ่ายผู้มีอำนาจและตำรวจพยายามยับยั้งการแสดงสดของวงอย่างแข็งขัน ด้วยเหตุผลว่า ดนตรีของพวกเขามีเนื้อหาสนับสนุนความรุนแรงและต่อต้านการปฏิบัติตามกฎหมาย
ความถึงราก (radical) ที่เป็นอันตรายต่อผู้ถืออำนาจของ Rage ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในระดับดนตรีเท่านั้น ในทางวิถีปฏิบัติพวกเขาก็ถึงรากไม่แพ้กัน เช่น ในปี 1997 ครั้งที่พวกเขาได้เป็นวงเล่นเปิดในทัวร์ของวง U2 พวกเขานำรายได้ทั้งหมดโอนไปสนับสนุนกลุ่มขบวนการฝ่ายซ้ายหลายกลุ่ม หนึ่งในกลุ่มเหล่านั้นคือ กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติซาปาติสตา (Zapatista Army of National Liberation:EZLN) กลุ่มปฏิวัติที่เราจะเห็นสัญลักษณ์ปรากฏอยู่ตามเครื่องแต่งกาย เครื่องดนตรี ตลอดจนถูกกล่าวถึงในเนื้อเพลงและมิวสิควิดีโอของ Rage อยู่เสมอ
“Rage Against the Machine เป็นวงที่ไม่เคยสนับสนุนความรุนแรงสักครั้งเดียว เราสนับสนุนการต่อต้านโดยตรงต่อสงครามที่ไร้ความยุติธรรม สงครามแบบที่ถูกก่อขึ้นโดยคนอย่างจอห์น แมคเคน และพวกรีพับลิกันของบุช (จอร์จ ดับเบิลยู บุช) ต่างหาก นั่นคือเหตุผลที่เรามายืนอย่างสันติตรงนี้ … ความจริงก็คือว่า พวกเราเป็นเพียงนักดนตรี 4 คน จากลอสเอนเจิลลิส ที่ใช้เสียงของพวกเรา พรสวรรค์ของพวกเรา ความเป็นนักดนตรีของพวกเรา และใช้ถ้อยคำ ในการยืนต่อต้านนโยบายที่อยุติธรรม แล้วทำไมไอ้พวกตำรวจฝูงนี้ถึงกลัวเรานักหนา … พวกมันไม่ได้กลัวนักดนตรี 4 คนหรอก พวกมันกลัวพวกคุณต่างหาก”
de la Rocha กล่าวไฮด์ปาร์ค
อย่างไรก็ดี ความโกรธที่กระตุ้นผู้ฟังของวง Rage ก็คล้ายจะกระจัดกระจาย เครื่องจักรที่เป็นเป้าของความโกรธก็มีหน้าตาที่แตกต่างไปตามประสบการณ์และวิธีคิดของแต่ละคน สภาพการณ์เช่นนี้คงไม่ต่างอะไรกับการออกหมัดต่อยไปมั่วๆ จนหมดแรงในที่สุด
อาจด้วยสภาพของความโกรธที่มักมีอายุขัยไม่นาน ในปี 2000 วง Rage ถึงคราวต้องแยกทางกัน (ครั้งที่ 1) หลังจาก Commerford เพิ่งก่อวีรกรรมกระโดดขึ้นเวที MTV Video Music Awards เพราะรางวัลถูกมอบให้ Limp Bizkit แทนที่จะเป็นวงตัวเอง (de la Rocha และ Morello พยายามห้ามเขาแล้ว แต่ Michael Moore ผู้กำกับที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับวงดันไปพูดกับเขาว่า “ทิมมี่ จงทำตามเสียงเรียกของหัวใจเถอะ” ผลลัพธ์ของการแยกทางครั้งนี้คือ de la Rocha เลือกเดินทางต่อในฐานะศิลปินเดียว ส่วนสมาชิกสามคนที่เหลือคล้องแขนกันไปจับมือกับ Chris Cornell และก่อตั้งวง Audioslave ขึ้นมา
de la Rocha กล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า:
“ผมรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องเดินออกจาก Rage เพราะแนวทางการตัดสินใจของพวกเราล้มระเนระนาดโดยสิ้นเชิง แรงบันดาลใจของพวกเราไม่ได้บรรจบกันอย่างเป็นกลุ่มก้อนดังที่วงควรจะเป็น และจากมุมมองของผม มันได้ทำลายอุดมคติทางศิลปะและการเมืองลงไปด้วย”
แม้ความโกรธจะหายไป แต่มันก็พร้อมปะทุกลับมาใหม่ ดังที่ในปี 2007 วง Rage ปรากฏตัวบนเทศกาลดนตรี Coachella เพื่อจุดยืนต่อต้านรัฐบาลฝ่ายขวาของ Bush (น่าทดไว้เล่นๆ ด้วยว่า ในปี 2001 ซึ่งเกิดเหตุการณ์ 9/11 ภายใต้รัฐบาล Bush เพลงของ Rage บางสถานีมีการแบนไม่ให้เปิดเพลงทุกเพลงของวง เพราะมีเนื้อร้องว่า ‘bomb’)
การกลับมารวมตัว (ที่แม้จะไปๆ มาๆ) ของ Rage เป็นสัญญาณชัดเจนว่า ตราบใดที่ Machine (รัฐ ชนชั้นนำ การเหยียดเชื้อชาติ และทุนนิยม) ยังไม่หายไป ความโกรธก็พร้อมจะปะทุกลับมาเสมอ กระนั้น เพื่อไม่ให้ความโกรธพุ่งเป้าไปอย่างกระจัดกระจาย หรือกระทั่งพุ่งไปผิดเป้าอย่างน่าเสียดาย Common School ขอนำเสนอ “13 เพลงเขย่าขวัญชั้นนำและนายทุน ของ Rage Against the Machine” เพลลิสต์ที่จะจัดตั้งความโกรธให้พุ่งไปยังจุดสำคัญของเครื่องจักรที่กำลังผลิตความอยุติธรรมมากดทับพวกเรา อีกทั้งยังเพื่อให้คนที่เคยฟังและไม่เคยฟังวงนี้ได้ทำความรู้จักท่วงทำนอง ตลอดจนตีความหาความหมายที่อยู่ในเพลงของวงนี้ให้สดใหม่อีกครั้ง
1. Bombtrack
เปิดหัวด้วย “Bombtrack” เพลงแรกใน “Rage Against the Machine” อัลบั้มลำดับที่ 1 ซึ่งมีชื่อเดียวกับชื่อวง เนื้อหาของเพลงมีการพูดถึงคดี Texas v. Johnson คดีที่ศาลสูงสหรัฐฯ พิพากษาเป็นบรรทัดฐานให้ ‘การเผาธงชาติ’ สามารถกระทำได้โดยไม่มีความผิด เพราะเป็นหนึ่งในเสรีภาพในการพูด (ทั้งเชิงสัญลักษณ์และการเมือง) ที่ได้รับคุ้มครองตาม First Amendment แห่งรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ
นั่นคือที่มาของท่อน Chorus ในเพลงนี้
“Burn, burn, yes, you’re gonna burn
Burn, burn, yes, you’re gonna burn
Burn, burn, yes, you’re gonna burn
Burn, burn, yes, you’re gonna burn (Yes, you’re gonna)
Burn, burn, yes, you’re gonna burn
Burn, burn, yes, you’re gonna burn
Burn, burn, yes, you’re gonna burn
Burn, burn, yes, you’re gonna burn”
ว่าแต่ทำไม Rage ต้องแต่งเพลงเกี่ยวกับการเผาธงชาติ?
ต้นเรื่องของคดี Texas v. Johnson เกิดจากนักกิจกรรมนาม Gregory Lee Johnson ได้เข้าร่วมเดินขบวนประท้วงนโยบายฝ่ายขวาของ Ronald Reagan แห่งพรรครีพับลิกัน จากนั้นได้ทำการราดน้ำมันก๊าดลงบนธงชาติอเมริกาเพื่อจุดไฟเผาธงชาติ ทำให้คนจำนวนหนึ่งรู้สึกไม่สบายใจและถูกคุกคาม จนเป็นเรื่องขึ้นโรงขึ้นศาลตามมา ก่อนที่ศาลสูงจะพิพากษาว่าการเผาธงชาติเป็นสิ่งที่สามารถทำได้และถูกปกป้องตามรัฐธรรมนูญดังที่ว่าไปแล้ว
ในแง่นี้ การเผาธงชาติในเพลง Bombtrack จึงสื่อถึงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ และการดื้อแพ่งต่ออำนาจที่ไม่ชอบธรรม ทั้งยังแสดงเจตนารมณ์ในท่อน Pre-Chorus ว่าจะไม่ประนีประนอมโอนอ่อนต่อความอยุติธรรมที่กำลังเกิดขึ้น (“With the thoughts from a militant mind”)
สารที่วงต้องการจะสื่อยิ่งชัดเจนขึ้นไปอีกเมื่อพิจารณาประกอบกับมิวสิควิดิโอซึ่งแสดงจุดยืนสนับสนุนขบวนการคอมมิวนิสต์ในเปรูอย่าง Sandero Luminoso หรือ Shining Path ที่นำโดย Abimael Guzmán กลุ่มปฏิวัติที่ต่อต้านรัฐบาลซึ่งมีรัฐบาลสหรัฐฯ หนุนหลังอยู่
การเผาธงชาติของ Rage ในเพลง Bombtrack จึงเป็นทั้งการประกาศแข็งข้อต่อการกระทำของรัฐบาลสหรัฐฯ และสนับสนุนขบวนการฝ่ายซ้ายในเปรูไปพร้อมๆ กัน มันเป็นแทร็คที่ใช้เป็นระเบิดเปิดทางให้สาธารณชนได้รับรู้ถึงการมาถึงของวงดนตรีฝ่ายซ้ายที่ชื่อว่า Rage Against the Machine
2. Township Rebellion
เมื่อสัญญาณรบดังขึ้นแล้ว การนั่งเงียบสงบก็ไม่ใช่สิ่งพึงประสงค์อีกต่อไป Rage กระตุ้นให้เราทุกคนลุกขึ้นต่อต้านต่อการมีอยู่ของระบบที่พยายามกดปราบและพรากสิ่งพึงมีพึงได้ไปจากพวกเราตั้งแต่ Verse แรก
“Rebel, rebel and yell
‘Cause our people still dwell in hell
Locked in a cell, yes, the structure’s a cell
Mad is the story I tell
How long can we wait?
Come on, seein’ what’s at stake
Action for reaction
If your mind’s in a somewhat complacent state, get a check up
…
On the mic ’cause someone should tell ’em
To kick in the township rebellion”
สารแห่งการอารยขัดขืน (disobedient) ยังถูกย้ำใน Verse 2
“Raise my fist and resist!
…
Keepin’ the mic warm against the norm”
ในเพลงนี้เป็นการเล่นกับคำว่า ‘Township’ คำที่มีไว้เรียกโซนที่อยู่อาศัยของคนผิวสีในแอฟริกาใต้ โดยผู้ที่อาศัยอยู่โซนนี้จะถูกปฏิเสธบริการสาธารณะและสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ อย่างน่ารังเกียจ เช่น พวกเขาจะไม่มีน้ำสะอาดสำหรับดื่มกิน กระแสไฟฟ้าสำหรับใช้สอย เป็นต้น Rage กำลังบอกว่า สำหรับมนุษย์คนหนึ่งสภาพความเป็นอยู่เช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ ทางเลือกที่ถูกต้องสำหรับสถานการณ์นี้คือการปลุกให้คนที่นิ่งเงียบใน township ลุกขึ้นมาขบถต่อต้าน
“Why stand on a silent platform?
Fight the war, fuck the norm
Why stand on a silent platform?
Fight the war, fuck the norm”
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งในเพลงนี้ อยู่ในท่อน Bridge ท้ายเพลง ที่มีเนื้อหาประมาณว่า ศัตรูตัวฉกาจที่จะทำให้ชีวิตไม่ใช่ชีวิต คือการปล่อยให้ความเพิกเฉยปกคลุมไปทั่วทั้งสังคม
“Shackle their minds when they’re bent on the cross
When ignorance reigns, life is lost
Lost!!!”
อาจพูดอีกอย่างได้ว่า เมื่อความไม่เป็นธรรมปกครองสังคม สิ่งที่พึงกระทำไม่ใช่การนั่งเฉยแล้วภาวนา แต่คือการลุกขึ้นประกาศสงครามและท้าทายเปลี่ยนแปลงมัน (“Fight the war, fuck the norm”)
ว่าแต่ปทัสถาน (norm) หรืออุดมการณ์ที่ว่านี้คืออะไร? คำตอบอยู่ที่เพลงถัดไป
3. Know Your Enemy
เพลงนี้คือระเบิดที่ตามมาในจังหวะสอง (“another bombtrack”) เป็นระเบิดที่มีเป้าหมายไปยังปทัสถานและอุดมการณ์ความคิดที่มีชื่อเรียกว่า ‘ความฝันแบบอเมริกัน’ (American Dream) สิ่งซึ่งโฆษณาชวนเชื่อว่าเราอยู่ในดินแดนแห่งเสรีภาพ อยู่ในดินแดนที่ทุกความฝันจะถูกเติมเต็ม ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว โฆษณาที่ว่าเป็นประโยชน์แก่เพียงชนชั้นนำกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น
Know Your Enemy จึงเป็นเพลงที่ชี้เป้าให้เราเห็นว่า ความเศร้า ความผิดหวัง กระทั่งความโกรธ ที่เราได้ประสบ ควรจะถูกปล่อยระบายไปที่ใคร
Verse 2
“The finger to the land of the chains
What? The “land of the free”?
Whoever told you that is your enemy”
Outro
“Come on
Yes, I know my enemies
They’re the teachers who taught me to fight me
Compromise, conformity
Assimilation, submission
Ignorance, hypocrisy
Brutality, the elite”
เพลงนี้กระชากคอเสื้อเรียกสติให้เราหันกลับไปตรวจสอบปทัสถาน อุดมการณ์ และความฝัน ที่เรากำลังต้องมนต์มัน ว่าแท้จริงแล้วผลลัพธ์ของการมีความเชื่อตามที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กอาจไม่ใช่ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับพวกเราเลยก็ได้ เพราะหากกล่าวให้เฉพาะเจาะจงขึ้น คนที่เกิดและโตในอเมริกาอาจไม่ถูกนับว่าเป็นคนอเมริกันเลยก็ได้ เพราะสำหรับพวก White supremacy คนที่จะเป็นอเมริกันและมีความฝันแบบอเมริกันได้ ก็มีแต่พวกผิวขาวเท่านั้น
Rage จึงบอกเราตั้งแต่ Verse 2 ว่า จงต่อต้านความอยุติธรรมเหล่านี้
“Word is born
Fight the war, fuck the norm
Now I got no patience
So sick of complacence
With the D, the E, the F, the I, the A, the N, the C, the E”
และแน่นอน การต่อต้านจะเป็นการต่อต้านได้ มันต้องละเมิดเส้นที่ผู้ปกครองขีดกรอบไว้ให้ ดังที่นักปรัชญาการเมืองหลายคนเสนอว่า การอารยขัดขืนมีค่าเท่ากับการละเมิดกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ฉะนั้น เราก็ไม่จำเป็นต้องขออนุญาต หรือใช้ ‘กุญแจ’ ในการฝ่าวงล้อมนี้ (“Action must be taken, We don’t need the key, we’ll break in”)
4. Testify
หากต้องเลือกสักเพลงให้ต่อจาก Know Your Enemy เพลงยอดฮิตจากอัลบั้มลำดับที่ 3 (The Battle of Los Angeles) อย่าง ‘Testify’ ก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่เหมาะสม
เพลงนี้ได้รับคำอธิบายว่าเป็นเพลงปลุกระดมคนสามัญธรรมดาให้ลุกขึ้นมาพูดถึงความอยุติธรรมที่กำลังเกิดขึ้นที่ “หน้าประตูบ้านของพวกคุณ” (“It’s right outside your door”) มันเชิญชวนให้เราออกมาเป็นประจักษ์พยานของความเลวร้ายที่กำลังเกิดขึ้นในสังคม มากกว่าจะเชื่อคำแถลงรัฐบาล หรือสื่อธุรกิจเอกชน ที่รังแต่จะยัดข้อมูลไร้แก่นสารเพื่อควบคุมให้เราสงบเสงี่ยม ดังที่เพลงประกาศตั้งแต่ Verse แรก
“The movie ran through me
The glamour subdue me
The tabloid untied me
I’m empty. please fill me”
และในท่อน Bridge
“Who controls the past now controls the future
Who controls the present now controls the past
Who controls the past now controls the future
Who controls the present now?”
เพลงได้พยายามพูดวิพากษ์สงครามที่เต็มไปด้วยผลประโยชน์ของพวกชนชั้นสูงอย่างสงครามก่อการร้ายหรือ ‘War on Terror’ ที่เริ่มต้นโดยรัฐบาลฝ่ายขวาของอเมริกา เพลงพยายามสื่อสารว่า ราคาที่แท้จริงซึ่งมนุษยชาติต้องจ่ายในการทำสงครามนี้ไม่ใช่ตัวเลขกำไรขาดทุน หากเป็นร่างมนุษย์นับพันที่ต้องถูกฝังกลบอยู่ใต้ดิน (“Mass graves for the pump when the price is set”)
นอกจากเนื้อเพลงแล้ว มิวสิควิดิโอเพลงนี้ก็เป็นอีกสิ่งน่าสนใจ เพราะมันถูกกำกับโดย Michael Moore ผู้กำกับที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับวงดังที่ได้ว่าไปแล้ว
ในมิวสิควิดีโอนั้น Moore เริ่มเรื่องด้วยแผนการยึดครองโลกของเหล่าเอเลี่ยน ผ่านการส่งสิ่งมีชีวิตกลายพันธ์ุ (mutant) ลงมาบนโลก ซึ่งฉากต่อมาสิ่งมีชีวิตกลายพันธุ์นั้นได้แตกหน่อออกเป็นมนุษย์สองคน นั่นคือ George W. Bush และ Al Gore สองผู้สมัครแคนดิเดทประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2000
มิวสิควิดีโอฉายให้เห็นว่า แม้ทั้ง Bush และ Al Gore จะเป็นคู่แข่งกัน แต่มันก็ไม่มีความแตกต่างกันแต่อย่างใด ทั้งคู่ต่างมีนโยบายแบบเดียวกัน คำพูดแบบเดียวกัน การกระทำแบบเดียวกัน ทั้งคู่ต่างเป็นสิ่งมีชีวิตตัวเดียวกันที่แตกหน่อแยกออกมาเท่านั้น ราวกับ Moore และ Rage กำลังสื่อสารว่า อเมริกากำลังประสบวิกฤตทางตัวเลือกอย่างหนัก เหมือนกับที่ครั้งหนึ่ง Julian Assange ศัตรูหมายเลขหนึ่งของอเมริกาในปัจจุบัน เคยแสดงทรรศนะในการแข่งขันการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระหว่างทรัมป์และฮิลลารีว่า “เป็นเหมือนการให้เลือกระหว่างโรคห่ากับโรคหนองใน ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว ผมไม่อยากจะได้มันสักโรค”
มิวสิควิดีโอจบด้วยฉากที่ล้อไปกับเนื้อหาของเพลง นั่นคือการนำคำพูดของ Ralph Nader มาใช้ “ถ้าคุณไม่หันหน้าเข้าหาการเมือง การเมืองจะหันหน้าเข้าหาคุณอยู่ดี” พร้อมจบด้วยข้อความว่า “ในเดือนพฤจิกายน มีการประเมินว่า คนอเมริกันส่วนใหญ่ คิดเป็นจำนวนเกือบ 100 ล้านคน จะไม่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง”
5. Wake Up
เพลงนี้เป็นอีกเพลงหนึ่งที่ Rage เล่นกับอำนาจที่ควบคุมจิตใจของผู้คน เนื้อหาของเพลงชี้เป้าไปที่องค์กรอย่าง FBI ที่มีการใช้ปฏิบัติการที่เรียกว่า ‘COINTELPRO’ ในช่วงปี 1956–1971 เพื่อ neutralize หรือก็คือทำให้การเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ ไร้พิษสง ด้วยการปลิดชีพบรรดาแกนนำทิ้ง ไม่ว่าจะเป็น Malcolm X, Martin Luther King Jr. หรือ Fred Hampton ดังที่ปรากฏใน Verse 1
“Leaders speak, movements cease when their heads are flown
‘Cause all these punks got bullets in their heads
Departments of police, (What!) the judges (What!), the feds
Networks at work, keeping people calm
You know they went after King when he spoke out on Vietnam
He turned the power to the have-nots
And then came the shot”
และ Interlude 2
“Black Nationalism
[He] may be a brave contender for this position
But should he abandon his supposed ‘obedience’
To the ‘White liberal doctrine’ of non-violence
And embrace Black Nationalism
Through counter-intelligence, it should be possible
To pinpoint potential troublemakers and neutralize them”
ชีวิตของคนเหล่านี้ต้องตกเป็นเครื่องเซ่นสังเวยเพียงแค่คนบางกลุ่มไม่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง คนกลุ่มนั้นฆ่าผู้ที่ประสงค์ดีต่อสังคมได้ด้วยเหตุผลเพียงแค่ต้องการแช่แข็งให้ประเทศเป็น ‘Evil Empire’ อยู่ดังเดิม
แต่ Rage ก็ไม่ใช่วงที่จะบอกให้เรายอมศิโรราบ เพราะหากดูที่ Verse 2 มันก็แสดงยุทธศาสตร์ในสงครามครั้งนี้ไว้แล้ว นั่นคือขยับโยกแล้วโยนระเบิดด้วย ‘มือซ้าย’ หรือหากคิดให้ไกลกว่านั้น Rage กำลังบอกเราว่า เราต้องสู้พวกฟาสซิสต์กลับด้วยความเป็นฝ่ายซ้ายนั่นเอง (Rep the “Stutter Step” then bomb a left upon the fascists)
6. Bulls on Parade
Bulls on Parade เป็นเพลงสำคัญในอัลบั้ม Evil Empire อัลบั้มชุดที่สองของ Rage ในด้านแรกมันเผยให้เห็นสิ่งที่จักรวรรดิปิศาจให้ความสำคัญผ่าน Verse 2 กล่าวคือ จักรวรรดิปิศาจ ให้ความสำคัญกับอาวุธ มากกว่าอาหาร ที่พักอาศัย ห้องสมุด การศึกษา หรือของใช้จำเป็นของผู้คน
“Weapons, not food, not homes, not shoes
Not need, just feed the war, cannibal animal
I walk the corner to the rubble, that used to be a library
Line up to the mind cemetery now
What we don’t know keeps the contracts alive and movin’
They don’t gotta burn the books, they just remove ’em
While arms warehouses fill as quick as the cells
Rally ’round the family, pockets full of shells”
บางคนยังตีความว่า Bulls on parade สามารถตีความได้ถึง Donald Regan อดีตผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ Merrill Lynch ผู้เป็นต้นแบบของประธานาธิบดีฝ่ายขวา Ronald Reagan ประธานาธิบดีผู้ใช้คำว่า Evil Empire เพื่อโจมตีสหภาพโซเวียต
ในแง่นี้ การตีความข้างต้นก็เป็นการเปิดหน้าวิพากษ์พวกฝ่ายขวาว่าเป็นพวกปากว่าตาขยิบ เพราะขณะที่มันไล่ป้ายสีขั้วอำนาจอื่นว่าปกครองด้วยความเลวร้าย บรรดาฝ่ายขวาเหล่านี้ก็ใช้อำนาจปกครองที่เลวทรามไม่ต่างกัน
เกร็ด: ครั้งหนึ่ง de la Rocha เคยให้สัมภาษณ์ถึงหน้าปกอัลบั้มนี้ไว้ว่า แม้เด็กบนหน้าปกจะกำลังยิ้มอยู่ก็ตาม แต่หากเรามองลึกลงไปในตาบนใบหน้านั้นเราจะสัมผัสได้ถึงความกังวล เพราะเด็กซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของจักรวรรดิปิศาจนี้รู้อยู่แก่ใจว่า วันหนึ่งผู้ที่ถูกกดขี่จะไม่ยอมให้ถูกกดหัวอีกต่อไป
7. Killing In The Name
Killing In The Name น่าจะเป็นเพลง (ประท้วง) ที่ดังที่สุดของ Rage มันเป็นเพลงที่ปลุกเร้าอารมณ์ผู้ฟังมากที่สุดเพลงหนึ่ง แต่ขณะเดียวกัน ด้วยเนื้อเพลงที่ตรงไปตรงมา หรือพูดให้ถูกคือ เนื้อเพลงที่ค่อนข้างหยาบและห่าม ทำให้มันเป็นเพลงที่ถูกเซนเซอร์มากที่สุดเพลงหนึ่งเช่นกัน โดยเฉพาะท่อน Outro ของเพลง ที่ตะโกนชัดเจนว่า “Fuck you, I won’t do what you tell me” ก่อนจะสบถจบด้วย “Motherfucker!”
เพลงนี้มีที่มาจากการใช้ความรุนแรงของตำรวจต่อ Rodney King จนทำให้เขาถึงแก่ความตาย และบานปลายกลายเป็นการประท้วงครั้งใหญ่ที่เรียกว่า 1992 Los Angeles riots ในที่สุด และนี่เองคือที่มาของท่อน Chorus
“Those who died are justified
For wearing the badge, they’re the chosen whites”
‘ความขาว’ (whitness) และทัศนคติเหยียดชาติพันธุ์ (racism) คือสิ่งที่แฝงอยู่ใน DNA ของสถาบันตำรวจอเมริกา Rage ความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่ม Ku Klux Klan กับสถาบันตำรวจถูกนำเสนอชัดเจนผ่านท่อน Verse
“Some of those that work forces
Are the same that burn crosses”
อย่างไรก็ดี ความน่าสนใจก็อยู่ที่ท่อน “Killing in the name of” ที่ปล่อยปลายเปิดว่าการฆ่าที่เกิดขึ้นถูกอ้างความชอบธรรมและกระทำไปในนามของบางอย่าง ซึ่งหากอ้างตามแกนหลักของวง มันก็ย่อมหมายถึง รัฐ ชนชั้นนำ ทุนนิยม ศาสนา และพวกเหยียดผิว แต่ก็ดังที่บอกไปแล้วว่าความโกรธที่กระตุ้นผู้ฟังของวง Rage ก็คล้ายจะกระจัดกระจาย เป้าโจมตีของความโกรธก็มีหน้าตาที่แตกต่างไปตามประสบการณ์และวิธีคิดของแต่ละคน
นั่นจึงไม่แปลกที่ Killing in the name พร้อมเสมอที่จะกลายเป็นเครื่องมือของฝั่งที่ตัวมันเองเจตนาจู่โจม ตามที่ปรากฏว่า เพลงนี้ถูกเปิดหาเสียงโดยพรรคฝ่ายขวาในอังกฤษในปี 2012 กระทั่งถูกฝ่ายขวาที่นิยมทรัมป์นำไปเปิดเต้นประกอบการหาเสียงในปี 2020 และที่ร้ายแรงกว่านั้น เพลงนี้ยังถูกนำไปเปิดระหว่างการทรมานนักโทษในคุกกวนตานาโมอีกด้วย (บางทีนี่อาจเป็นเหตุผลให้พวกเขากลับมารวมตัวกันอีกครั้งในปี 2019 ก็เป็นได้)
ทั้งนี้ เมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา ทางวงมีการปล่อยสารคดีขนาดสั้นเกี่ยวกับเพลง Killing in the name (https://youtu.be/5lnTvwdoQFw) โดยมี Tim Wise นักกิจกรรมต้านฟาสซิสต์ มาพูดประกอบ (ให้เด็กๆ ฟัง) ถึงอุดมการณ์ White supremacy ที่ Rage พยายามต่อสู้ด้วย
8. Maria
Maria เป็นคนที่ไม่เข้าข่ายนิยาม ‘อเมริกัน’ แบบที่ถูกพูดถึงใน Know Your Enemy เธอคือผู้ที่ทำงานหนักเยี่ยงทาส (“No minutes to rest, No moment to pray”) แต่ไม่มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จหรือมีตัวตนดังที่ดินแดนแห่งเสรีให้สัญญาไว้ เพราะเธอคือแรงงานเม็กซิกันอพยพผิดกฎหมาย กลุ่มคนที่อยู่ ณ จุด ต่ำสุดของห่วงโซ่อาหาร
ถ้าเพลง Know Your Enemy ที่เราได้ฟังไปในตอนต้น คือการชี้เป้าศัตรูจากจุดยุทธศาสตร์ที่สามารถขยับเขยื้อนสู้กลับได้ Maria ก็คล้ายจะเป็นเพลงที่เล่าจากมุมมองของเหยื่อ เหยื่อผู้ได้รับความเสียหายและรอวันที่จะลุกโชติช่วงเพื่อเอาคืน
“These are her mountains and skies and she radiates
Through history’s rivers of blood, she regenerates
And like the sun disappears only to reappear (Maria)
She’s eternally here
Her time is near
Never conquered but here”
ในแง่นี้ Maria จึงเป็นฝูงชน หรือ ‘demos’ ในความหมายของ Jacques Rancière นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ซึ่งเสนอว่า demos คือคนหรือกลุ่มคนที่ไม่ถูกให้ค่าในระบบปกครอง เป็นพวกที่ไม่ถูกนับว่าเป็นส่วนหนึ่ง (the part that have no part) ซึ่งประชาธิปไตย หรือ democracy (เกิดจากคำว่า demos+kratia) สำหรับ Rancière ก็จะเกิดจากการลุกขึ้นมาเตือนสติว่า คนเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งและส่วนสำคัญของการปกครองนั่นเอง
แต่ก่อนจะถึงจุดนั้น คนเหล่านี้ก็ต้องทนกับการกดขี่ขูดรีดจากเจ้านายผู้ได้ประโยชน์จากระบบแสนอยุติธรรมที่กำลังดำรงอยู่นี้เสียก่อน คนแบบ Maria ต้องได้รับการจ่ายยาในรูปแบบการเฆี่ยนตีเพื่อย้ำเตือนไม่ให้ลุกขึ้นมาเปลี่ยนโลกแห่งความจริง
“And with a whisper he whips her, her soul chained to his will
My job is to kill if you forget to take your pill”
9. Sleep Now In The Fire
ภายใต้ระเบียบโลกที่เป็นอยู่ มันไม่มียาตัวใดที่จะมาแก้อาการความโลภของคนให้หยุดพองตัวได้ จะมีแต่ยาที่มาในรูปของการกดขี่ผู้อื่นเพื่อให้ตนได้ประโยชน์สูงสุด เพลง Sleep Now In The Fire เล่นกับการไม่เหลือตัวเลือกใดๆ ไว้ให้ผู้คนแบบที่เพลง Testify ได้นำเสนอไว้ เพลงนี้ยังเล่นกับข้อเสนอของนักคิดชื่อดังอย่าง Francis Fukuyama ผู้เสนอว่า หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991 ประวัติศาสตร์ก็ได้ดำเนินมาถึงจุดจบแล้ว โดยมีระเบียบแบบเสรีประชาธิปไตยเป็นผู้พิชิตและตัวเลือกเพียงหนึ่งเดียว
“For it’s the end of history
It’s caged and frozen still
There is no other pill to take
So swallow the one that makes you ill”
สิ่งหนึ่งที่เป็นเรื่องโจษจันเกี่ยวกับเพลงนี้คือ มิวสิควิดีโอที่ถูกกำกับโดย Michael Moore เจ้าเก่าเจ้าเดิม ในมิวสิควิดีโอนี้อาจแบ่งได้เป็นสองฉากหลัก ฉากแรกเกิดขึ้นที่รายการเกมส์โชว์ตอบคำถามลุ้นเงินล้าน ซึ่งคำถามที่ผู้เข้าแข่งขันต้องตอบเต็มไปด้วยข้อมูลที่แสดงถึงความเหลื่อมล้ำอย่างไม่น่าเชื่อ จนท้ายที่สุดผู้ชนะการแข่งขันไม่ยอมรับเงินรางวัล ส่วนผู้ชมในสตูดิโอก็ลุกขึ้นมายึดเวทีโชว์
การยึดเวทีตัดสลับไปกับ ฉากที่วง Rage ไปยืนเล่นเพลงนี้ที่ย่านสำคัญของพวกชนชั้นนายทุนอย่าง ‘วอลสตรีท’ ก่อนจะดึงดูดคนได้นับร้อย และเดินหน้าเตรียมยึดตลาดหุ้นนิวยอร์ค (ตอนเดิน Moore ถูกตำรวจจับไปแล้ว) จนเป็นเหตุประตูที่ทำการตลาดหุ้นถูกปิดไป 20 กว่านาที แต่คำบรรยายตอนท้ายก็บอกชัดเจนว่าสุดท้ายแล้ว “ไม่มีเงินก้อนไหนได้รับอันตราย”
จากคำบอกเล่าของ Morello เหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายใต้คำกำกับเดียวของ Moore นั่นคือ “ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ห้ามหยุดเล่นเด็ดขาด”
10. Calm Like a Bomb
มาถึงเพลงลำดับที่ 10 ในเพลย์ลิสต์ของเรา ‘Calm Like a Bomb’ เพลงนี้เป็นเหมือนการรวบยอดเพลงก่อนหน้าเข้ามารวมกัน มันเริ่มต้น Verse แรก ด้วยการพูดถึง Emiliano Zapata นักปฏิวัติเม็กซิกัน ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติซาปาติสตา เพื่อย้ำว่าการนำเสนอของวง Rage นั้นทำไปโดยปราศจากความกลัว (“my narrative, fearless”)
เพลงนี้ยังปรากฏการใช้ปฏิพจน์ (oxymoron) อยู่หลายจุดด้วยกัน เอาตั้งแต่ Calm Like a Bomb หรือที่อาจแปลว่า นิ่งสงบราวกับระเบิด ซึ่งเป็นคำที่แสดงให้เห็นว่า แท้จริงแล้วอาการนิ่งเงียบ (calm) นั้นเป็นเพียงสิ่งที่ฉาบเคลือบการระเบิดตัวไว้เพียงเท่านั้น เหมือนกับที่ท่อน Verse 1 และ Verse 2 ย้ำให้เราเห็นว่า การจลาจลเป็นท่วงทำนองของเสียงผู้คนที่ไม่ถูกได้ยิน (“the riot be the rhyme of the unheard”)
สถาบันตำรวจ สถาบันศาล และสถาบันต่างๆ อีกมากมายซึ่งเต็มไปด้วยอคติทางชาติพันธ์ ซึ่งเป็นกลไกในการประหัตย์ผู้ไร้เสียง คือ ‘เครื่องจักร’ ที่เพลงนี้พูดถึง การที่เพลงนี้ และวง Rage สนับสนุนซาปาติสตา ก็เพื่อยกย่องการต่อสู้ของคนพื้นเมืองและผู้ถูกกดขี่
Rage ยังนำภาพของสังคมเก่ากับสังคมใหม่มาวางเทียบกัน เพื่อแสดงให้เห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นต่อผู้ซึ่งอยู่เบื้องล่างไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปนัก เพลงนำเสนอว่าสถาบันการเงิน เช่น ธนาคาร มีสถานะเป็นสถาบันศาสนาแบบใหม่ซึ่งเปลี่ยนเงินเป็นพระเจ้า (Pick a point on the globe, yes, the picture’s the same. There’s a bank, there’s a church, a myth and a hearse)
ท่อน “A mall and a loan, a child dead at birth” บอกชัดเจนว่า ภายใต้สถาบันใหม่นี้ วิถีชีวิตถูกครอบงำด้วยการใช้จ่าย (ในห้างสรรพสินค้าที่ยึดกุมพื้นที่สาธารณะไปหมดแล้ว) แม้แต่สิ่งจำเป็นที่สุดสำหรับโลกสมัยใหม่อย่างการศึกษา ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากปราศจากเงิน นั่นทำให้ เด็กที่เกิดมาในครอบครัวซึ่งขาดแคลนทุนทรัพย์เหมือนกับตายไปแล้วตั้งแต่แรก กระทั่งการที่เขาต้องติดหนี้จากกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาก็ค่อนข้างการีนตีว่าพวกเขาจะมีพันธะในแบบเดียวกับทาสติดที่ดิน
“These vultures rob everything, leave nothing but chains
Pick a point here at home, yes, the picture’s the same
There’s a field full of slaves, some corn and some debt
There’s a ditch full of bodies, the check for the rent
There’s a tap, the phone, the silence of stone
The numb black screen that be feelin’ like home”
11. Renegades of Funk
Renegades เป็นอัลบั้มที่ถูกปล่อยออกมาหลังจากสมาชิกวงแยกทางกัน มันบรรจุเพลงที่ Rage ร้องคัฟเวอร์เพลงศิลปินรุ่นใหญ่ที่มีอิทธิพลต่อพวกเขา ไล่ตั้งแต่ Bruce Springsteen, Bob Dylan, Minor Threat, Eric B. & Rakim, The Stooges, MC5, The Rolling Stones, Cypress Hill, Devo และในกรณีของ Renegades of Funk ก็เป็นเพลงชอง Afrika Bambaataa & the Soulsonic Force
Renegades of Funk เป็นเพลงสำคัญในอัลบั้มนี้ เนื้อหาของเพลงหลักๆ คือการเรียกให้คนทรยศความปกติสามัญที่ประสบในชีวิตประจำวัน เพราะหากเราไม่ทรยศสิ่งเหล่านั้นแล้ว การเปลี่ยนแปลงก็จะไม่เกิดขึ้น การทรยศคือการขับเคลื่อนให้โลกก้าวไปข้างหน้า เป็นการผลักให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
“Since the Prehistoric ages and the days of ancient Greece
Right down through the Middle Ages
Planet Earth kept going through changes
And then no renaissance came (Came)
And times continued to change (Change)
Nothing stayed the same, but there were always renegades
Like Chief Sitting Bull, Tom Paine
Dr. Martin Luther King, Malcolm X
They were renegades of their time and age
So many renegades!”
สิ่งที่น่าสนใจพิจารณาต่อคือ เมื่อเรามองไปที่หน้าปกอัลบั้มซึ่งเป็นการแปลงงานศิลปะอันโด่งดังของ Robert Indiana ที่แสดงตัวอักษร ‘LOVE’ เป็น ‘RAGE’ ก็อาจทำให้เห็นได้ว่า ความรักในฐานะสิ่งที่เคยเป็นเครื่องมือทางการเมืองของโลกตะวันตกภายใต้อิทธิพลของคริสต์ศาสนา อาจไม่ใช่สิ่งที่มีค่าเหนือไปกว่าความโกรธเกรี้ยวต่อชาติที่กัดกินชีวิตมนุษย์ (“Destroy all nations”) โดยหากฟัง Verse 3 องค์ประธานหรือตัวแสดงที่จะกลายเป็นแนวหน้าในสร้างการเปลี่ยนแปลงในเพลงนี้ ก็คือคนธรรมดาเดินดินอย่างเราๆ นี่เอง (ในแง่นี้ มันจึงอาจเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจให้เกิดเพลง Testify ขึ้นตามมา)
“We’re the renegades, we’re the people with our own philosophies
We change the course of history
Everyday people like you and me”
12. Guerrilla Radio
Guerrilla Radio เป็นเพลงฮิตประจำอัลบั้ม The Battle of Los Angeles ทั้งยังเป็นเพลงที่ส่งให้ Rage ได้รางวัล Grammy Award อีกด้วย (บางคนอาจเคยได้ยินมันผ่านเกม Tony Hawk’s Pro Skater 2)
สำหรับคำว่า Guerrilla Radio หรือวิทยุกองโจร เป็นการอ้างอิงถึงสถานีคลื่นวิทยุใต้ดินที่เคยทำหน้าที่ส่งต่อข้อมูลไปยังบรรดากองโจรปฏิวัติ (guerrilla) ในพื้นที่ขัดแย้งต่างๆ โดยเฉพาะในแถบละตินอเมริกา เช่น คลื่นวิทยุ Radio Venceremos ซึ่งเป็นทางสื่อสารสำคัญในช่วงสงครามการเมืองในเอลซัลวาดอร์ของพรรคฝ่ายซ้ายอย่าง Farabundo Martí National Liberation Front (FMLN)
เพลงนี้มีหลายท่อนที่มีเนื้อหาคล้ายเป็นการส่งสัญญาณให้ทุกคน ลุกขึ้นมาต่อสู้ (“Lights out, guerrilla radio. Turn that shit up”) เพราะหากฟังท่อน Bridge เพลงก็บอกชัดเจนว่า มันไม่มีเวลาไหนที่เหมาะสมไปกว่า ‘ตอนนี้’ อีกแล้ว
“It has to start somewhere
It has to start sometime
What better place than here?
What better time than now?”
ท่อน Outro ยังบอกอีกว่า เมื่อผู้ถูกกดขี่ทั้งหลายลุกขึ้นมาทวงเสรีภาพของตน มันก็ไม่มีอะไรที่จะหยุดยั้งการเคลื่อนไหวนี้ได้
“All hell can’t stop us now”
13. Freedom
เดินทางมาถึงเพลงสุดท้ายในเพลลิสต์ของเรา ‘Freedom’ บทเพลงเกี่ยวกับเสรีภาพซึ่งได้แรงบันดาลใจมากจาก Leonard Peltier นักกิจกรรมแห่งกลุ่ม American Indian Movement (AIM) ผู้ถูกตัดสินให้มีความผิดฐานฆ่าเจ้าหน้าที่ FBI 2 คน ภายใต้กระบวนการที่คนตั้งคำถามว่ามีการใช้หลักฐานและคำให้การปลอมเพื่อกล่าวหาเอาผิดเขา
การต่อสู้กับความอยุติธรรมคือเหตุแห่งความโกรธของ Rage การโกรธต่อความอยุติธรรมคือสิ่งที่เราไม่ควรลืม เพราะแม้ความโกรธจะเป็นของขวัญแบบที่ในเพลงนี้ว่าไว้ (“Anger is a gift”) แต่ความโกรธที่กระจัดกระจายก็ไม่ต่างอะไรกับการออกหมัดต่อยไปมั่วๆ จนหมดแรงในที่สุด
เพลงนี้จะย้ำเตือนเราว่าอะไรคือเครื่องจักรที่เราโกรธเกรี้ยวใส่ มันย้ำไม่ให้เรารากเหง้าและจุดยืนของการต่อสู้ (“Brotha, did ya forget ya name?”) มันเตือนไม่ให้เราหลงระเริงไปกับคำเชิญชวนอันร้ายกาจของระบบอยุติธรรม (“Come and play, come and play, Forget about the movement”) มันเตือนว่าสิ่งที่เราต้องการคือเสรีภาพที่เป็นของคนทุกคน (“Freedom, yeah, right”)