“Jurisprudence” ภาพวาดวิพากษ์ระบบยุติธรรมอัปยศของ Gustav Klimt

1 กันยายน 2565
กุสตาฟ คลิมต์ (Gustav Klimt) เป็นศิลปินชื่อก้องโลก เขาคือตัวตั้งตัวตีแห่งกลุ่มศิลปินหัวขบถอย่าง Vienna Secession หลายคนอาจเคยผ่านตาหนึ่งในภาพโด่งดังที่สุดของเขาอย่าง The Kiss (1907-1908) มาบ้างแล้ว มันเป็นหนึ่งในภาพที่ถูกนำไปต่อยอดและใช้เป็นอ้างอิง (reference) ในผลงานอื่นมากมาย ไม่ว่าทั้งภายในแวดวงศิลปะไปจนถึงแวดวงการตลาด 

The Kiss อาจถูกหยิบไปใช้เนื่องจากความงดงามและเปล่งประกายจากเปลวทองคำ แต่งานชิ้นนี้ก็ไม่ใช่งานเดียวที่คลิมต์ถูกยกย่อง เพราะงานอย่าง ‘Jurisprudence’ (ที่แปลว่า ‘นิติศาสตร์’) ซึ่งเป็น 1 ใน 3 งานที่เขาถูกว่าจ้างโดยมหาวิทยาลัยเวียนนา ก็เป็นงานที่มักถูกกล่าวถึงไม่แพ้กัน

คลิมต์ถูกว่าจ้างด้วยเจตนาให้วาดภาพที่สวยสดงดงามในความหมายของยุคสมัยนั้น เพื่อนำไปใช้เป็นภาพบนเพดานในห้องโถงเอกแห่งมหาวิทยาลัยเวียนนา โดยมีโจทย์คือการวาดภาพเพื่อเป็นตัวแทนของ 3 คณะที่เก่าแก่ที่สุดของมหาวิทยาลัย นั่นคือ คณะแพทยศาสตร์ คณะปรัชญา และคณะนิติศาสตร์ 

แต่ผลลัพธ์ที่ได้ก็ไม่เป็นไปตามที่มหาวิทยาลัยคิด เพราะงาน 2 ชิ้นแรกที่เขาส่งมอบไปก่อนหน้า อย่างงานที่วาดให้คณะแพทยศาสตร์และคณะปรัชญา กลับถูกวิจารณ์อย่างหนัก งานสำหรับคณะปรัชญา (ชื่อว่า “Philosophy”) ถูกโจมตีว่ามีแต่ความคิดที่คลุมเครือซึ่งถูกแสดงผ่านรูปร่างที่ไม่ชัดเจน ส่วนงานสำหรับคณะแพทย์ (ชื่อว่า “Medicine”) ก็ไม่สื่อถึงการเป็นศาสตร์แห่งการรักษาแต่อย่างใด กลับปรากฏแต่ร่างกายที่เจ็บปวดทรมาน การล่องลอยเพ้อฝัน เซ็กส์ และความตาย ไม่เพียงเท่านั้น ด้วยความโจ่งครึ้มของร่างสาวเปลือยกายยังทำให้งานของเขาถูกโจมตีว่าไม่ใช่ศิลปะ หากเป็นเพียงสื่อลามกอนาจารที่ควรถูกเซ็นเซอร์

ด้วยความที่ภาพของคลิมต์ขบถออกไปจากกรอบศิลปะและความคาดหวังของผู้ว่าจ้างเช่นนี้ ส่งผลให้งานของเขามีสถานะล่อแหลมอย่างมาก บรรดาคนในสภาเริ่มร้องให้มีการถอดถอนสัญญาจ้างที่ทำกับเขา ด้านคณบดีแห่งคณะสุนทรียศาสตร์ถึงขนาดแถลงว่า “เราไม่ได้ต่อต้านภาพเปลือย หรือเสรีภาพในศิลปะ แต่เราต่อต้านต่อศิลปะที่อัปลักษณ์” เมื่อกระแสด้านลบคุกรุ่นเช่นนี้ มันจึงชัดเจนว่างานของเขาจะไม่ถูกนำไปแสดงในห้องโถงเอกแห่งมหาวิทยาลัยอย่างแน่นอน

นั่นทำให้ศิลปินขบถตัวพ่อเช่นคลิมต์พยศมากขึ้น เขาตอบโต้คำวิจารณ์ (ที่ฟังไม่ขึ้นสำหรับเขา) ด้วยผลงานชิ้นสุดท้ายในสัญญาที่ต้องวาดให้คณะนิติศาสตร์อย่าง Jurisprudence อันเป็นภาพวาดที่เขาเลือกยืนหยัดถึงเสรีภาพในการแสดงออกของตัวเองผ่านงานศิลปะ และใส่ ‘การวิพากษ์’ เข้าไปอย่างจัดเต็ม (ในทรรศนะของ Desmond Manderson การวิพากษ์นี้เองที่ทำให้ Jurisprudence แตกต่างไปจากงานสองชิ้นก่อนหน้า)


Jurisprudence (1900-1907), Gustav Klimt

ข้อวิพากษ์ต่อ ‘นิติศาสตร์’ ที่ปรากฏบนภาพของคลิมต์คือการเปิดเปลือยให้เห็นอำนาจที่วิ่งอยู่บนเส้นความสัมพันธ์ของกฎหมาย เขาแหกขนบการวาดถึงกฎหมายที่มักใช้ความยุติธรรมให้เป็นตัวละครหลัก ด้วยการสร้างงานซึ่งมองลอดผ่านสายตาของ ‘เหยื่อ’ ผู้ตกเป็นเป้าของความยุติธรรมซึ่งอ้างว่ากระทำการในนามกฎหมาย

ภาพนี้แสดงชายชราผู้สิ้นหวัง ยืนคอตกอยู่เบื้องล่างสุด มือไม้ทั้งสองข้างถูกพันธนาการไขว้หลังด้วยหนวดของ ‘คราเคน’ (Kraken) หมึกปิศาจในตำนาน เบื้องหน้าเขาคือเหล่าเทพีมอยเร (Moira) เทพีแห่งโชคชะตาผู้กำหนดและควบคุมความเป็นไปของมนุษย์ ประกอบด้วย โคลโธ (Clotho) เทพีผู้ปั่นเส้นดายแห่งชีวิตหรือนัยคือการทำให้เกิดชีวิตขึ้น แลกคีซิศ (Lachesis) เทพีผู้ทอดเส้นดายหรือนัยคือการต่ออายุขัย และอโทรพอส (Atropos) เทพีผู้ตัดเส้นด้ายหรือนัยคือการปลิดชีพจรให้หมดอายุขัย

เมื่อมองเหนือขึ้นไปอีกก็จะพบกับผู้หญิงอีกสามคน คนกลางคือ ‘ความยุติธรรม’ (Justice) ด้านขวาขนาบข้างด้วย ‘กฎหมาย’ (Lex) ส่วนด้านซ้ายเป็น ‘ความจริง’ (Veritas) 

เราจะเห็นการขบถขนบของคลิมต์ผ่านการให้ความยุติธรรมถือเพียงดาบสำหรับลงทัณฑ์เพียงอย่างเดียว ขัดกับภาพลักษณ์ทั่วไปที่มักให้มืออีกข้างหนึ่งของเทพีแห่งความยุติธรรม (เทพีเธมิส) ถือตราชูไว้ชั่งตวงเหตุผลประกอบการพิพากษาด้วย มันคือการส่งสารว่า สำหรับคลิมต์ สิ่งที่กระทำไปในนามความยุติธรรมแยกไม่ออกจากความรุนแรง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คลิมต์กำลังเสนอว่า วัตถุประสงค์ของระบบกฎหมาย (ในยุคสมัยนั้น?) มิได้สนใจเหตุผลหรือมนุษยธรรมอะไร หากแต่มีการลงทัณฑ์แก้แค้นเป็นสาระสำคัญ ราวกับเขากำลังบอกว่า อำนาจต่างหากคือสิ่งที่บอกว่าอะไรชอบธรรม อะไรคือเหตุผล อะไรคือกฎหมายและความยุติธรรม มันคือการแสดงตัวว่าตนมีอำนาจเหนือมากพอที่จะลดสถานะของมนุษย์คนหนึ่งให้เป็นเพียงสัตว์ที่ปราศจากซึ่งสถานะทางการเมือง และไร้ซึ่งตัวตนและสิทธิพื้นฐานทางกฎหมาย (เราอาจนึกถึงกรณีที่ศาลไม่ให้สิทธิประกันตัวแก่นักโทษทางการเมือง เป็นต้น) จนผู้ถืออำนาจจะกระทำต่ำช้าเพียงใดกับเขาก็ได้โดยปราศจากความรับผิด (เขาอาจไม่ยอมสั่งให้ประกันตัวนักโทษทางการเมือง เพราะไม่มีเหตุผลหรืออารมณ์ให้เปลี่ยนแปลงคำสั่ง) Giorgio Agamben นักปรัชญาชาวอิตาเลียน เรียกผู้ที่ถูกขับออกนอกแดนกฎหมายนี้ว่า ‘Homo sacer’ 

เมื่อสิทธิทุกอย่างถูกริบไป การเผชิญหน้าต่อระบบความยุติธรรมจึงไม่ต่างอะไรกับการทอยเต๋าเสี่ยงโชคในเกมการพนัน เมื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ถูกเพิกเฉย การอยู่ในระบบพิจารณาคดีจึงไม่ต่างอะไรกับการยืนเปลือยเปล่าต่อหน้าโชคชะตา

คำถามสำคัญคือ ใครเป็นคนแสดงตัวข่มว่าตนมีอำนาจเหนือนี้ ?


ดวงตาปลาหมึก ใน Jurisprudence

หากพิจารณาจากภาพของคลิมต์ คำตอบอยู่ที่ ‘ดวงตา’ ซึ่งอยู่บนแผ่นผิวของหมึกที่กำลังตรึงร่างชายชราอยู่ ในทางศิลปะ ดวงตาเป็นสัญลักษณ์ของ ‘อำนาจรัฐ’ ที่จับจ้องไปยังพลเมืองใต้บัญชาการ มันเคยปรากฏในภาพ “The Rainbow Portrait of Queen Elizabeth I” ที่ผ้าคลุมของเอลิซาเบธที่ 1 ถูกวาดให้เต็มไปด้วยใบหูและดวงตา เพื่อย้ำเตือนศัตรูของเธอว่า ทุกย่างก้าวของพวกเขาจะถูกจับตาและสอดแนมจากเธอผู้เป็นองค์อธิปัตย์


The Rainbow Portrait of Queen Elizabeth I (1600), Issac Oliver

ไม่เพียงเท่านั้น ภาพนี้ยังเล่นกับคำว่า Kraken ด้วย เพราะก่อนที่ชาติซึ่งใช้ภาษาเยอรมันจะเรียกหมึกว่า ‘Krake’ พวกเขาเคยใช้คำว่า ‘polyp’ มาก่อน ซึ่งคำนี้ยังเป็นคำที่มักใช้เพื่ออุปมาถึง ‘รัฐ’ และคนที่ทำงานให้รัฐนั่นเอง หรือหากขยับมาในสังคมเวียนนายุคที่คลิมต์มีชีวิตอยู่ มันก็เป็นคำแสลงที่มีไว้สื่อถึง ‘ตำรวจ’ (คำว่า polyp ออกเสียงใกล้เคียงกับคำว่า ‘polizei’ ที่แปลว่าตำรวจ) ดังนั้นการที่คลิมต์เลือกใส่หมึกเข้าไปในรูปจึงเป็นการแปลงคำให้เป็นรูปภาพเพื่อสื่อนัยถึงการใช้อำนาจเซ็นเซอร์และกำลังตำรวจของรัฐ

กล่าวได้ว่า ภาพนี้ของคลิมต์เสียดสีถึงความความสิ้นหวังของระบบกฎหมาย (ในขณะนั้น?) มันเป็นการวิพากษ์กฎหมายสมัยใหม่ว่าไม่ได้คงเส้นคงวาหรือมีความชอบธรรมอย่างที่มันโฆษณา หากแต่พร้อมจะกลายเป็นสิ่งที่ไร้ซึ่งความแน่นอนและเต็มไปด้วยการใช้อำนาจตามอำเภอใจ ผู้ตกเป็นเป้าของมันก็ไม่ต่างอะไรกับคนที่ต้องคอยทอยเต๋าเสี่ยงโชคในเกมการพนัน การเสียดสีเช่นนี้ก็ย่อมเท่ากับการโจมตีหลักนิติรัฐ/นิติธรรมที่เชิดกฎหมายและความยุติธรรมขึ้นเหนือหัว แต่กลับยังต้องมี (และจำเป็นต้องมี?) เท้าของใครสักคน/สักกลุ่มค้ำอยู่ด้านบน

ทั้งนี้ ควรทดไว้ด้วยว่า ภาพขาวดำที่เราเห็นทุกวันนี้เป็นเพียงตัวทำซ้ำ (reproduction) ผ่านภาพถ่ายเท่านั้น ส่วนงานตัวจริงที่เต็มไปด้วยสีดำ แดง และทอง ถูกทหารนาซีเผาทำลายไปพร้อมกับอีก 70 กว่างานของเขาตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เราไม่อาจรู้ได้เลยว่า ตามจริงแล้วต้นฉบับมันสวยหรืออัปลักษณ์ (อย่างที่คณบดีผู้นั้นเคยกล่าวหาไว้) แต่ถึงอย่างนั้น คำถามและประเด็นที่ภาพนี้ทิ้งไว้ก็อาจพาเรากลับมาหาคำตอบได้ว่า ระบบกฎหมายในทุกวันนี้สวยงามสูงส่งหรืออัปลักษณ์น่าขยาดแขยงเพียงใด



อ้างอิง

  • Sionaidh Douglas-Scott. 2013. Law after Modernity (Legal Theory Today). Hart Publishing. ในเชิงอรรถที่ 2 ยังบอกด้วยว่า หลังจากรับมอบภาพชุดนี้ของคลิมต์ไปแล้ว ทางการออสเตรียกลับปฏิเสธที่จะขายกลับคืนให้คลิมต์ อ้างว่าเป็นสมบัติของรัฐ แต่สุดท้ายคลิมต์ก็หาทางเอามันกลับคืนได้ ด้วยการ ‘ถือปืนลูกซอง’ ไปทวงคืนถึงที่ 
  • Desmond Manderson. Klimt’s Jurisprudence—Sovereign Violence and the Rule of Law. Oxford Journal of Legal Studies. Vol. 35, No. 3 (Autumn 2015). P. 515-542.

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า