“ยุคของสายลมแสงแดดของผมได้หายไปแล้ว”
ต้อย – อุรุพงศ์ รักษาสัตย์ พูดถึงผลงานใหม่ของเขา ‘บูชา (Worship)’ ภาพยนตร์ที่เขาเรียกมันว่า Hybrid Cinema อธิบายอย่างง่ายมันคือ ภาพยนตร์สารคดีผสมเรื่องแต่ง หรือเรื่องแต่งผสมสารคดีก็ได้ไม่ต่างกัน ที่ต้องเป็นแบบนี้ก็เพื่อต้องการเล่าความจริงบางอย่างให้กับผู้ชม โดยใช้ความบันเทิงที่แต่งเติมขึ้นพาผู้ชมไปสู่ความจริงนั้น ยกตัวอย่างเช่น The Act of Killing (2013), Boyhood (2014) หรือหนังไทยอย่าง นครสวรรค์ (2019)
‘บูชา’ เกิดจากความสงสัยถึงการมีอยู่ของพระสงฆ์ จนประเด็นพัฒนาไปสู่การบันทึกพิธีกรรมการบูชาในประเทศไทย ซึ่งประเด็นและมุมมองที่ ต้อย – อุรุพงศ์ เลือกนำเสนอในครั้งนี้ แตกต่างออกไปจากการบันทึกพิธีกรรมในภาพยนตร์เรื่องก่อนหน้าอย่างสิ้นเชิง
หากบอกว่าหนังสารคดีไตรภาคข้าว (เรื่องเล่าจากเมืองเหนือ, สวรรค์บ้านนา และเพลงของข้าว) คือการมองพิธีกรรม วิถีชีวิตของคนรากหญ้าในมุมที่สวยงาม เชิดชูภูมิปัญญาท้องถิ่น ทว่า ‘บูชา’ แทบจะไม่หลงเหลือสายตาเหล่านั้น ‘บูชา’ เต็มไปด้วยสิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจ เต็มไปด้วยคำถาม – ความสงสัยต่อเหตุการณ์ตรงหน้า และท้ายที่สุดมันพาคนดู และตัวผู้สร้างไปพบกับคำตอบปรากฎการณ์ดังกล่าวได้อย่างน่าขนลุก แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของงานเฟสใหม่ เหมือนที่เขาได้บอกไว้ว่า
“ทุกคนที่ได้ดูบอกว่า หนังของผมมันไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว”
หาก ‘บูชา’ คือบทบันทึกประวัติศาสตร์สังคมไทย ณ ช่วงเวลาหนึ่ง บทความนี้ก็เป็นการบันทึกความคิด ณ ช่วงเวลาหนึ่งของ ต้อย – อุรุพงศ์ ผู้สวมหมวกหนึ่งเป็นอาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อีกหมวกหนึ่งเขาคือหนึ่งในผู้สร้างหนังของเมืองไทย เอาไว้เช่นกัน
อยากชวนคุณมองย้อนกลับไปถึงผลงานที่คุณเคยทำว่า ณ เวลานี้คุณรู้สึกกับมันอย่างไร
ผมมองว่าแต่ละงานมันเป็นหมุดหมายในชีวิต ถ้าไล่ดูก็จะเห็นความคิด ความรู้สึกของผมอยู่ในแต่ละช่วง มันเป็นศิลปะที่ตอบสนองเรื่องที่ผมอยากจะเล่า อยากจะถ่ายทอดออกมาผ่านภาพยนตร์ สำหรับคนอื่นอาจจะมีประโยชน์ในฐานะบันทึกประวัติศาสตร์ ดูแล้วเพลิดเพลินใจใดๆ แต่สำหรับผมมันเติมเต็มความรู้สึกที่ผมโหยหา ได้พูด ได้แสดงออกมา ทำให้ตัวผมรู้สึกมีคุณคุณค่าที่ได้สร้างงานออกมา
อย่างน้อยที่สุดถ้าไม่ได้พูดกับผู้ชมในวงกว้างก็คือ พูดกับตัวเอง บันทึกความคิดผมเอาไว้ เพราะฉะนั้นจึงมีส่วนที่เป็นฟิกชั่น เป็นเรื่องแต่งอยู่ ไม่อย่างนั้นมันก็จะเป็นเพียงการบันทึกเฉยๆ ซึ่งผมมองว่ามันอาจจะไม่สามารถทำงานได้มีพลังมากพอ
จะว่าไปแล้วงานผมไม่ได้ตอบโจทย์ตลาด การขายกับกลุ่มผู้ชมใดๆ เลย มันเป็นหนังทางเลือก ที่มีต่อมุมมองของงานภาพยนตร์ ต่องานศิลปะในสไตล์ของผม ผมค่อนข้างซื่อสัตย์ต่องาน และต่อตัวเอง ไม่ได้ทำออกมาเพื่อเอาใจใคร หรือกระทั่งผู้ชม กูอยากจะทำแบบนี้ (หัวเราะ)
ก่อนหน้านี้หนังของคุณมักมีความเห็นจากคนดูว่า มองชนบทในมุมที่โรแมนติไซส์อยู่ ในตอนทำคุณได้คิดถึงมุมนี้ไหม
ข้อดีของการทำสารคดีคุณจะต้องเริ่มต้นจากความเป็นจริงก่อนจะดัดแปลงให้มันอยู่ในรูปของเรื่องเล่า ผมจึงชอบที่จะทำงานในรูปแบบนี้ คือ มองความเป็นจริงในสังคมเป็นจุดเริ่มต้นเท่าที่จำเป็น ส่วนไหนที่ขาดผมก็เติมลงไป มันเป็นสารตั้งต้นที่ดีและน่าสนใจอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นไม่ว่าคุณจะโรแมนติไซส์อย่างไร คุณจะไม่หลุดออกจากความจริง ถ้าถามว่าโรแมนติไซส์ไหม มันก็มี แต่ผมก็พยายามจะไม่ให้มันล้นเกิน
แต่ ‘บูชา’ แทบจะไม่เห็นการโรแมนติไซส์ หรือมุมมองด้านบวกต่อพิธีกรรมเลย
อย่างที่บอกไปตอนต้นว่าหนังผมมันก็โตมากับวุฒิภาวะ การรับรู้ของผมในแต่ละช่วงสมัย อย่างเพลงของข้าวช่วงนั้นอาจจะเห็นความสวยงามมากกว่าความลำบาก แต่ครั้งนี้ผมเลือกประเด็นศาสนา ผมกลับเห็นด้านลบ จนบางครั้งผมคิดในใจว่า “โอ้โห นี่มันไม่ธรรมดาวะ” มันมีความเป็นองค์กรและแทรกซึมเข้าไปในสังคมหน่วยที่เล็กที่สุด จนอาจทำให้บางคนถึงขั้นถูกมอมเมาเลยด้วยซ้ำ
ผมก็ได้ยินว่ามันมีพุทธพาณิชย์นะ ผมก็รับรู้กันมา แต่ถ้าผมไม่ออกไปทำหนังเรื่องนี้ ไม่ได้ไปอยู่ตรงนั้น ที่ไม่ใช่เพียงการรับรู้ข้อมูล มันช็อก มันสตั๊นท์ไปเลย ผมตกใจนะที่เจอพระสามารถพูดขายของแบบนี้ แล้วผมเจอแต่ด้านลบตลอดเลย ผมไม่ค่อยเห็นอะไรที่เป็นบวก ผมถึงกับเข้าไปในวัดป่าทั้งหลาย แต่ผมก็ไม่ค่อยเห็นแง่ดี ผมเห็นว่ามันไม่ได้ต่างจากอาชีพหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า พระสงฆ์
ศาสนามันไม่ได้ทำหน้าที่ของมันอย่างแท้จริงในหลายๆ ส่วน ตั้งแต่คุณเป็นพระสงฆ์ อย่างน้อยๆ ‘คุณต้องเผยแพร่ศาสนาใช่ไหม?’ อ้าว! คุณก็ไม่ได้ทำ
กิจกรรมของสงฆ์ทุกวันนี้เป็นในลักษณะของพิธีรีตองต่างๆ มากกว่า มันเหมือนจะเป็นอาชีพไปแล้วหรือเปล่า ต้องออกงานบุญ งานบวช เอื้อให้เกิดเป็นอาชีพขึ้น แต่ว่าผมหาเหตุผลที่มารองรับกิจกรรมที่เกิดขึ้นไม่เจอ
แต่สิ่งที่ผมถ่ายทอดมามันเป็นเรื่องที่มีอยู่ ผมเพียงแค่ไปเก็บภาพมา แต่ก็อาจจะมีการใส่ความคิดลงไป จากการตัดต่อ เทคนิคทางภาพยนตร์
นอกจากนั้นยังมีเรื่องที่ผมสร้างขึ้นด้วย น่าจะเป็นหัวใจหลักของหนัง ไม่ว่าคุณจะเข้าไปดูหนังด้วยสายตาแบบไหน แต่เมื่อหนังเลือกจบด้วยฉากนั้น ก็น่าจะพอเดาได้ว่า สิ่งที่ผมเล่ามาทั้งหมดนั้นเล่าด้วยสายตาแบบไหน
แต่ที่ช็อกยิ่งกว่า คือ ในสังคมที่เป็นอยู่นี้ กลายเป็นว่าคนที่ชอบศาสนาที่มันเป็นอยู่แบบนี้ เขาก็โอเคนะ เขารับได้ เขาก็มองว่าวัดนี้สวยดี อยากจะไปสักการะเขาคิชฌกูฏอีก ทำให้เห็นว่าสภาพสังคมไปไกลกว่าหนังมาก มันล้ำลึกจนผมตามไม่ทัน เขาดูหนังขนาดนี้ แต่สังคมยังไม่ถูกกระแทก ไม่เกิดกระแสตีกลับใดๆ เลย
ในยุคที่คนไม่มั่นใจในอะไรเลย อยู่กับความกลัวเรื่องภูติผีปีศาจต่างๆ มันอาจจะเป็นส่วนที่ทำให้คนได้ยึดหลักทางใจ แต่ในปัจจุบันคนยึดสิ่งนั้นน้อยลง แต่พิธีกรรมดั้งเดิมที่เป็นโครงสร้างใหญ่ มันยังคงอยู่ และไม่มีใครไปเปลี่ยนแปลงมันได้
ไม่นานมานี้มีนักศึกษาฆ่าตัวตาย เขาก็ได้เขียนพินัยกรรมไว้เป็นอย่างดีว่า ให้เอาร่างของเขาไปฝังไว้ใต้ต้นไม้ใหญ่ หรือว่าในธรรมชาติ ให้ร่างกายของเขาเป็นประโยชน์ ต้นไม้ได้เติบโตบนร่างของเขา ไม่ต้องจัดพิธี ไม่ต้องมีพวงหรีด หรืออะไรมาให้
ปรากฎว่า มันเปลี่ยนไม่ได้ ทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม พวงหรีดก็ยังมีเหมือนเดิม ก็ยังเผาร่างกายเขาแบบที่ทำกันมา พิธีกรรมเหล่านี้มันฝังแน่นมากๆ จนคนไม่มีแม้แต่อิสระเสรีที่จะเลือกพิธีศพของตัวเองได้
คนที่ยังอยู่ได้ทำลายเจตจำนงของผู้ตายไปอย่างสิ้นเชิงเลย เพราะฉะนั้นแม้วาระสุดท้าย การตายของเขาก็เปลี่ยนไม่ได้
ผมเองกับแฟนกับน้องก็คุยกันว่า ถ้าสามคนนี้เป็นอะไรไป ผมจะทำแบบเบสิกที่สุด อาจจะไม่มีพิธีใดๆ เลย แต่ถ้ามันจำเป็นต้องเผาเพราะว่าเกรงใจชาวบ้าน ผมก็ยืนยันว่าจะทำให้มันน้อยที่สุด ถ้าเป็นไปได้นะ ตายตอนเช้า ตกบ่ายก็เผาเลย
การแตะประเด็นเรื่องศาสนาซึ่งเป็นเรื่องที่อ่อนไหวในสังคมไทย คุณได้เตรียมรับมือ หรือคิดถึงผลกระทบอะไรที่จะตามมาบ้างไหม
เห็นด้วยว่ามันอ่อนไหว เพราะศาสนามันลงไปในระดับชุมชน ผู้คนอยู่กับมันทุกวันๆ ถามว่าได้เตรียมตัวรับผลกระทบไหม อืม…ผมก็มีคิดๆ แต่ไม่ถึงกับวิตกกังวล ไม่งั้นผมคงไม่กล้านำมาฉาย แต่ผมคิดว่าถ้ามันเกิดอะไรขึ้นมันก็น่าจะสนุกนะ
หนังก็ต้องทำหน้าที่กระตุกความคิดคนในสังคมให้เกิดการพูดคุย แลกเปลี่ยน ถ้ามีคนที่จะฟ้อง เขาก็อาจจะคิดว่าได้ไม่คุ้มเสียก็มี เช่น อาจจะมีพระรูปหนึ่งรู้สึกว่าอยากให้เอาเอาภาพเขาออกจากหนัง ซึ่งส่วนใหญ่ผมก็ถ่ายแบบเปิดเผย ไม่ได้ถึงกับแอบถ่าย ถ้าเขาจะฟ้องผม ประเด็นที่อยู่ในหนังมันก็จะแดงขึ้น ผมก็ยังคิดเข้าข้างตัวเองไว้นิดๆ (หัวเราะ)
มันก็สอดคล้องกับช่วงที่กระแสทางการเมืองที่ผ่านมาของกลุ่มราษฎรทั้งหลายนี้แหละ สิ่งที่ต้องพูดเราก็ต้องพูด มันเป็นปัญหา มันก็ต้องหยิบออกมา ถ้าคนทำงานไม่พูดถึงมันอย่างที่ต้องการจะพูด แล้วเราจะเหลือหน้าที่อะไรให้ทำต่อสังคม เราถูกกดมาตลอดชีวิต ถ้าถึงจุดหนึ่งเด็กมันทำให้ตาสว่างขึ้นมา ผมก็อยากเป็นส่วนหนึ่งในกระแสสังคมนั้นด้วยก็คงดี ผมคิดแบบนี้
ถ้าหนังเรื่องนี้ไม่ได้ใช้ชื่อว่า ‘บูชา’ จะใช้ชื่อว่าอะไร
อืม…นึกไม่ออก เพราะมีอยู่ในใจชื่อเดียวเลย ทั้งชื่อไทย ‘บูชา’ และ ชื่ออังกฤษ ‘worship’ ชื่อหนังมันเป็นส่วนหนึ่งของการเล่าพฤติกรรมที่ผมบูชาสิ่งต่างๆ ด้วย ทั้งสิ่งลี้ลับ ทั้งวัตถุสิ่งของต่างๆ และชื่อที่เป็นบวกก็ทำให้การโปรโมทหนังสามารถดึงคนจากอีกฝั่งหนึ่งเข้ามาชมได้เหมือนกัน เช่น ใช้สถานที่อย่าง เขาคิชกุฏ หรือ คำชะโหนด มาเป็นตัวชูโรง
จะว่าไปแล้วความศรัทธา ก็ไม่ได้มีแค่ในประเด็นศาสนา แต่มันอยู่ในประเด็นอื่นๆ ของสังคมด้วย
ความศรัทธาเป็นคำที่คนสามารถเลือกได้ คุณจะศรัทธาในศาสนานี้ คุณจะศรัทธาในลัทธิใดๆ หรือตัวบุคคลใด ผมเลือกที่จะไม่ศรัทธาก็ยังได้ แต่อย่างประเด็นที่เกิดขึ้นอย่างการต่อสู้ของกลุ่มราษฎร ก็เกิดคำถามว่า แล้วคนมีอิสระที่จะศรัทธาไหม?
ความศรัทธามันเกิดขึ้นได้ เพราะสิ่งนั้นแสดงให้เห็นว่าน่าศรัทธาจริงๆ อาจจะมีการเชิญชวน แต่ไม่ใช่บังคับให้คนต้องศรัทธา สุดท้ายมันจะกลายเป็นการย้อนกลับไปทำลายสิ่งๆ นั้นเสียเอง
ความคิดเห็นจากคนดูเป็นอย่างไรบ้าง
มีทั้งคำชม คำด่าก็มี เป็นธรรมดาสำหรับคนทำงานด้านนี้ที่จะได้รับคำวิจารณ์ที่หลากหลาย แต่ว่าโดยทั่วไปก็ถือว่าโอเค แต่ที่เซอร์ไพร์ส คือ หนังมันไม่ได้สร้างแรงกระเพื่อมทั้งด้านดีหรือแย่ ไปมากกว่านี้ หมายถึง ในทางสังคมนะ หนังก็ดำเนินไปตามทางของมัน ออกฉาย มีคนมาดู คนเขียนคำวิจารณ์ตามปกติ แต่ในทางสังคมกลับไม่มีอะไร กองเซ็นเซอร์ (คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวิดิทัศน์) ให้ผ่าน จริงๆ มันก็ไม่ได้มีอะไร แต่พอผมมองสภาพสังคมในตอนนี้ หนังก็ผ่านนะแล้วไม่มีใครมาฟ้อง อย่างกรมการศาสนา ท้ายที่สุดมันก็ไม่เกิดอะไรรุนแรง
มันเป็นเรื่องผิดปกติไหม ที่คนทำงานต้องระแวงว่าหนังจะได้ฉายหรือไม่ได้ฉาย
สังคมปกติมันก็ไม่ควรต้องมากังวลเรื่องอะไรแบบนี้ คือ ถ้าหนังมันแย่ มันห่วย คนทำก็จะต้องรับผิดชอบเอง แต่ว่าผมไม่ได้ห่วงนะ ถ้าสมมติมันโดนห้ามฉาย ก็คงสนุก จะได้เป็นการโปรโมทไปด้วยเลย ผมก็ค่อยปรับแก้ ต่อสู้กันไป ไม่ต้องเสียเงินในการโปรโมท แต่มันไม่เกิดอะไรขึ้นเลย ฉากพระสูบบุหรี่ยังไม่เป็นไรเลย แปลกไหมละ?
เมื่อก่อนไม่ได้นะอย่างฉากพระเล่นกีต้าร์ (แสงศตวรรษ) หรือ พระร้องไห้ (ผู้บ่าวไทบ้านเดอะซีรีส์ 2.2) มองในแง่ดีมันก็อาจจะเปิดมากขึ้นหรือเปล่า? เพราะในชีวิตจริงพระสูบบุหรี่ก็เยอะแยะไป เป็นเรื่องสามัญมาก ถ้าเทียบกับสิ่งต่างๆ ที่ผมเห็นในปัจจุบัน
ใน ‘บูชา’ จะมีเหตุการณ์หนึ่ง คือ ทางวัดจะซื้อลอตเตอรี่มาขายหลายพันใบ โดยประชาสัมพันธ์ว่าเป็นลอตเตอรี่ที่ผ่านการปลุกเสกน้ำมนต์แล้วมาขายให้ชาวบ้าน จากใบละ 80 บาท วัดขายต่อราคา 150 – 160 บาท ผมเห็นแล้วรู้สึกว่าสูบบุหรี่นี่เป็นเรื่องธรรมดาไปเลย
เป็นไปได้ไหมที่กองเซ็นเซอร์จะเรียนรู้แล้วว่าการปล่อยให้หนังได้ฉาย สร้างผลกระทบน้อยกว่าการห้ามฉายแบบเมื่อก่อน
ก็อาจเป็นไปได้ เพราะเมื่อเทียบกับสถานการณ์สังคมการประท้วง เหตุการณ์ทางการเมือง เรื่องห้ามฉายหนังมันกลายเป็นประเด็นรองไปเลย เมื่อเทียบกับการมีคนถูกคดี 112 เยาวชนถูกจับเข้าคุก มีการประท้วงเกิดขึ้น ภาพในสื่อมันรุนแรงกว่าเยอะเลย แม้แต่สังคมโลกเองก็ตามอย่างสงครามรัสเซีย ยูเครน การประหารชีวิตคนในเมียนมาร์
ผมก็คิดว่าโลกสมัยใหม่จะมีหน้าตาแบบนี้เหรอ มันไม่น่าจะมีสงครามหรือความรุนแรงแบบเมื่อก่อน โลกผมเข้าสู่ความศิวิไลซ์มากขึ้น มีพื้นที่ให้คนแสดงความคิดมากขึ้น มันไม่ได้เป็นแบบที่ผมคิดไว้เลย
การได้ทุนจากองค์กรรัฐ มันทำให้คุณเซ็นเซอร์ตัวเองไหม
ไม่มีครับ อย่างแรก คือ มันเป็นงานเชิงศิลปะ เขาก็รู้จักงานสไตล์ของผมอยู่แล้วด้วย เขาให้ผมก็เขียนโครงการส่งไป แล้วเขามองผมในฐานะศิลปิน ผมก็ต้องวางตัวเองในฐานะนั้นด้วย
ผมอยากทำอะไร ผมก็ทำแต่ถ้าผมทำมาแล้วไม่ดี เขาก็อาจจะไม่ให้อีกก็ได้ เป็นเรื่องของเขา สิ่งหนึ่งที่ผมถือเป็นหลักในการทำงานอยู่เสมอ คือ ถ้าอยากทำอะไร ก็ทำให้ถึงที่สุด อย่าไปกลัว อย่าพยายามคิดแทนเจ้าของทุน เขาเองก็ไม่ได้เข้ามามีส่วนในงานผม ที่สำคัญ เงินพวกนี้ คือภาษีของประชาชนที่ย้อนกลับมาพัฒนาคนทำงาน ให้เล่าในสิ่งที่อยากจะเล่า แล้วถ้าสิ่งที่ผมเล่ามันได้ให้อะไรกับสังคมบ้าง ผมก็ทำ
อยากรู้ว่าทำไม ‘บูชา’ ถึงมีมุมมองแบบคนนอกมองเข้าไปยังปรากฎการณ์ทางสังคม ต่างจากเรื่องก่อนๆ ของคุณที่รู้สึกว่าเป็นเรื่องเล่าของคนในมากๆ
มันอยู่ที่เรื่องจะเล่าด้วยส่วนหนึ่ง ประเด็นที่ทำมันบังคับให้ทำแบบนี้ ผมกำหนดเวลาออกไปตามเก็บพิธีกรรมบูชาในแต่ละงานไปเรื่อยๆ ผมอยากได้หลายๆ ภาพ มันก็จะไม่ได้ลงรายละเอียดลึกมากนัก แต่พอหลายฉากมันมารวมกัน มันก็ทำให้คนได้เห็นภาพใหญ่ และดำดิ่งเข้าไปมากขึ้น เพราะฉะนั้นภาพที่ออกมาจากหนังเรื่องนี้มันเลยต่างออกไป
ส่วนวิธีการทำงานด้วยความที่ผมทำหลายอย่างทั้งสอนด้วย มันยากที่จะลงไปคลุกคลีให้ได้ภาพที่ลึกแบบงานเก่าๆ ได้ ช่วงไหนที่มีการจัดงาน แล้วผมว่าง ผมก็ไป ไม่ว่างก็ไม่ได้ไป
แม้แต่ส่วนที่เป็นเรื่องแต่ง ผมก็ไม่ได้พยายามลงรายละเอียด ผมต้องการแค่เปรียบเทียบกับส่วนอื่นๆ ของหนัง นำเสนอความคิดเห็นของผมลงไป พอนำมาเชื่อมเข้าด้วยกันมันตั้งคำถามขึ้นกับคนดู เท่ากับว่าหนังได้ทำหน้าที่ของมันแล้ว
ในเรื่องนี้มีหลายฉาก หลายตอนที่เห็นหน้าคนที่มาเข้าร่วมพิธีกรรม และหลายๆ ช่วงค่อนข้างมีภาพที่ตีความไปได้หลายทาง คุณคิดว่าถ้าคนที่ถูกถ่ายได้ดู เขาจะรู้สึกต่อหนังอย่างไร
ถ้าเป็นกลุ่มคนอย่างชาวบ้านมาดู เขาก็อาจจะไม่ได้คิดอะไร เพราะหนังไม่ได้ชี้นิ้วบอกว่าพวกเขาผิด มันจึงไม่แรงพอจะเป็นประเด็น เพราะเป็นเพียงภาพของคนที่ปรากฎตัวอยู่ในงานเพียงเท่านั้น
ส่วนประเด็นที่น่าจะเดือดร้อน ผมกลับนึกถึงพระสงฆ์ที่อาจจะถูกนำเสนอว่าพวกเขานั้นผิดในสายตาคนทั่วไป แต่ว่าตรงนั้นมันก็จะทำให้เขายอมรับกลายๆ แล้วจะต้องมาคิดว่าจะแก้ตัวยังไง ก็อาจจะไม่คุ้มที่จะฟ้องร้อง แล้วเรื่องที่ผมเอามาเสนอ ก็เป็นเรื่องจริง ผู้คนมากมายก็อยู่ตรงนั้น ทุกคนก็เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นตรงนั้น
ถ้าคิดเข้าข้างตัวเอง งานมันก็มีลักษณะเหมือนข่าว เป็นสารคดีความจริงในชีวิตก็ได้ แล้วผมชอบความเห็นหนึ่ง เขาบอกว่า ‘คุณค่าของสื่อสารมวลชน งานข่าว งานสารคดี งานศิลปะ คุณค่าของมันจริงๆ ถ้าผมไปลบ หรือไปเซ็นเซอร์ เพราะผมกลัว แล้วงานที่ออกมาจะเป็นแบบนี้ไหม’ มันก็คงจะหายไปกว่าครึ่ง เพราะสิ่งที่ผมนำเสนอคือความจริงที่เกิดขึ้นในสังคม ผมเลือกแบบนี้ ไม่มีใครที่จะได้ทั้งหมด แต่ตัวผมเองพร้อมเสี่ยง เพราะผมเชื่อว่ามันจะมีประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมมากกว่า
เมื่อพูดถึงประเด็นนี้ ขอถามถึงกฎหมาย PDPA คุณคิดเห็นอย่างไร และวิธีการทำงานจะเปลี่ยนไปไหม
การทำงานคงยากขึ้น อาจต้องหาวิธีการอื่น แต่ ‘บูชา’ โชคดีที่มันได้เรท 15 เพราะฉะนั้นผู้ชมที่ยังเด็กมากๆ ก็อาจจะเข้าถึงไม่ได้ มันก็ช่วยกรองให้ประมาณหนึ่ง ถ้ามันจะเข้าฉายในวงกว้าง ผมก็อาจจะต้องคิดใหม่ ระมัดระวังมากขึ้น
ส่วนเรื่อง PDPA อาจถึงขั้นยอมเบลอเพื่อความเหมาะสม แต่ผมมาสายภาพยนตร์ ฉบับที่ผมอยากให้มันปรากฎ มันก็เป็นภาพยนตร์เต็มหน้าที่ของมันแล้ว ถ้าต้องไปในช่องทางอื่น เช่น ทีวี ก็คงต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของช่องนั้นๆ พิจารณา ถึงข้อกังวลต่างต่อความมั่นคงของช่อง ก็อาจจะไม่ฉาย
ส่วนคนทำจะต้องปรับเปลี่ยน ระมัดระวังมากขึ้นไหม ก็แน่นอนที่สุดมันได้ถูกพูดถึงในสังคมวงกว้าง ยิ่งในวงการสื่อ ผมหนีไม่พ้นที่ต้องมีส่วนเกี่ยวข้องต่อการทำงานในเรื่องต่อๆ ไป ก็ยังคงคิดอยู่ผมจะทำอย่างไร
ปรากฎการณ์ทางการเมืองที่ร้อนแรง ส่งผลต่องานคุณไหม อย่างที่คุณบอกว่า มันไม่สายลมแสงแดดแล้ว
มีส่วนบ้างไม่มากก็น้อยเพราะช่วงที่ผมทำหนังมันอยู่ในกระแสสังคมช่วงนั้น แต่ที่พูดมาหลายคนก็เห็นว่าหนังผมมันแรงขึ้น มันไม่ใช่เป็นสายลมแสงแดดเหมือนเดิม ดูแล้วร้อนขึ้น แรงขึ้น มันดุเดือดขึ้น
ความเชื่อคือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงยากมากๆ แต่ในช่วงที่เราเห็นคน ‘ตาสว่าง’ มากขึ้น คิดว่าอะไรที่เปลี่ยนความเชื่อของพวกเขา
การที่คนจะเปลี่ยนแปลง บางครั้งเขาต้องได้เจอกับตัวเอง การได้เห็นว่าสังคมมันไปต่อไม่ได้จริงๆ อาจจะเป็นแรงผลักที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จนถึงระดับถอนรากถอนโคน แต่ผมก็ไม่คิดให้มันไปถึงจุดนั้น มันอาจจะสูญเสียมากเกินไป แล้วใครละ ที่จะเป็นคนเสียสละ ผมก็ตั้งคำถามมาตลอด ก็ยังเชื่อ และหวังให้มีการเปลี่ยนแปลงโดยที่ไม่มีการสูญเสีย
ผมเชื่อในประชาธิปไตย สิ่งที่ผมทำได้คือ เล่าสภาพความเป็นจริงผ่านงานบ้าง อธิบายให้ฟังด้วยเหตุและผล แต่ก็ทำได้เท่านี้ แต่ผมก็ยืนยันว่าจะทำต่อไปเรื่อยๆ ผมเชื่อว่าวันหนึ่งมันจะทำให้คนเข้าใจ จนเกิดการเปลี่ยนแปลงในที่สุด เราไม่สามารถค้านความเป็นจริงไปได้หรอก ผมก็เคารพนะ ถ้าคุณจะเชื่อแบบนั้น ผมเองก็จะยืนยันในความเชื่อของผมเหมือนกัน และจะไม่ไปบังคับ
ประเด็นคือเขาบังคับให้เราเชื่ออยู่หรือเปล่า? คนก็คงเห็นๆ กันอยู่ๆ เราสู้ แต่เราไม่ได้บังคับ เขาก็ควรทำเช่นเดียวกัน
แล้วคุณคิดเห็นอย่างไรกับการที่คนรุ่นใหม่หันมาให้ความสนใจเรื่องมูเตลูจนกลายเป็นที่นิยมขึ้นมา
ผมไม่ได้มองว่ามันเป็นที่นิยมขึ้นมาในเชิงเดียวกันกับศาสนาเสียทีเดียว ถ้ามองในมุมของการต่อสู้ทางการเมือง นอกจากมันเป็นการเยียวยาจิตใจของนักเคลื่อนไหว นักกิจกรรมต่างๆ มันยังเป็นการล้อเลียน เหยียดยาม ถากถาง ความเชื่อของอีกฝั่งด้วย นัยหนึ่งมันก็เป็นทั้งการต่อสู้และหาทางรอดทางจิตใจ เพราะคนรู้สึกหดหู่ จนไม่รู้จะสู้ยังไง เราวิ่งไปให้เขาเอาค้อนมาไล่ตี โดนแก๊สน้ำตาทุกวัน ร่างกายจิตใจคุณก็จะพัง
คนมันขาดที่พึ่งจริงๆ ตำรวจ ทหารเขาก็เอาไป ครูบาอาจารย์ในสถาบัน ระบบระเบียบเขาก็เอาไปหมด แล้วเราจะเหลืออะไรให้พึ่ง ก็ต้องสร้างสายมูขึ้นมาเป็นแนวทางในการต่อสู้อย่างการเผาพริก เผาเกลือ คือ ปกติคนรุ่นใหม่ก็ไม่ได้สนใจเรื่องพวกนี้หรอก แต่ว่าคุณจะรักษาจิตใจตัวเองอย่างไร ให้คุณยังสู้อยู่ อะไรที่เป็นความหวังเล็กๆ น้อยๆ แล้วก็เป็นเครือข่ายคนที่เห็นร่วมกัน มาอยู่ด้วยกัน ก็เกิดพลังหล่อเลี้ยงจิตใจกันไปก่อน รักษาใจ รักษากายไว้ก่อน
สิ่งนี้จะนำไปสู่ความเชื่อในศาสนาที่มีลักษณะมอมเมามากขึ้นหรือเปล่า
ผมมองว่าไม่ มันเป็นแค่ปรากฎการณ์หนึ่ง ผมไม่เชื่อว่าเขาจะมองเป็นความงมงาย แต่เขาสาปแช่ง จากความอาฆาต แค้น มันต้องปลดปล่อยออกมา ถ้าคุณเก็บความโกรธแค้นไว้อย่างเดียว แล้วไม่ปลดปล่อยมันออกมา มันจะทำลายจิตใจร่างกายเขาเสียก่อน มันเลยแสดงออกมาในทางใดทางหนึ่งสายมูเตลูเลยเป็นอีกหนึ่งทางเลือก
อย่างตอนนี้อีกฝ่ายก็เอาประเด็นนี้มาเป็นข้อหาจับได้ อย่าง ไบร์ท – ชินวัตร ที่เผาพริกเผาเกลือหน้าศาลอาญาก็โดนจับ มันเลยไม่รู้ว่าจะไปอย่างไรกันต่อ เข้าใจว่ามันนำมาใช้เป็นเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ มีคนมาร่วมเยอะ มองว่าเป็นกิจกรรมที่มีพลังนะ
แล้วในฐานะที่คุณเป็นอาจารย์ด้านสื่อมวลชน คุณสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง
ผมมองในระดับปัจเจกก่อนนะว่าตัวตนผมชัดเจน ส่วนงานที่ออกมามันก็จะชัดเจนตามมาด้วย แล้วถ้ามันมีปริมาณที่มากพอ มันก็จะไปทำให้อีกฝั่งหนึ่งได้เห็นข้อมูลอื่นๆ บ้าง ผมยืนยันในสิ่งที่ผมเป็น แล้วทำให้คนอื่นได้เห็นเสียงต่างๆ ในสังคมชัดเจนมากขึ้นว่าคนส่วนใหญ่คิดเห็นอย่างไร เพียงแต่เราอาจจะเสียเปรียบทางอำนาจ ด้วยวิธีการที่ไม่เป็นธรรม เราก็คงต้องต่อสู้กันต่อไป
ในวิชาที่ผมสอน ผมก็จะเปิดหนังการเมืองหรือภาพที่เกี่ยวกับการเมือง บางครั้งก็เปิดภาพไว้ระหว่างรอนักศึกษาเลย ก็มีนักศึกษาที่เขาอาจจะรู้สึกว่าสิ่งนี้ไม่จำเป็นต้องมีในชั้นเรียนก็ได้ เขาก็ไปแจ้งกับทางคณะ ผมก็โดนฟีดแบคมาบ้างว่า ให้เบาๆ ลงหน่อย แต่ผมก็พยายามแทรกสิ่งเหล่านี้ลงไปในวิชาที่ผมสอนนะ
ส่วนตัวผมไม่ได้คิดหรือวิตกอะไร อย่างในเฟซบุ๊กผมก็ใช้สัญลักษณ์ของมวลชน แสดงตัวตน จุดยืนชัดเจนว่ามีความเห็นอย่างไร ผมออกไปม็อบ เป็นหนึ่งเสียงของสังคมที่มีความคิดเห็นเป็นแบบนี้
แต่ก็มีที่ผมพูดสิ่งที่ผมคิดออกไปแล้วทำให้วงแตกมาแล้วก็หลายครั้ง (หัวเราะ) เพื่อนบางคนเลิกคบกันไปก็มี ถ้าไม่ได้เชื่ออยู่บนหลักการประชาธิปไตยแบบเดียวกันก่อน มันก็ยากที่จะปรองดองกันได้
เวลาทำงานออกมา คุณมักจะมี Test Screening ให้นักศึกษาในชั้นเรียนได้ดูก่อน คุณได้เรียนรู้อะไรจากนักศึกษาบ้าง
ไม่เฉพาะแค่นักศึกษาหรอก ทั้งอาจารย์ เพื่อนร่วมงานใดๆ มันเป็นกระบวนการที่สนุกนะ การ Test Screening มันเกิดการพูดคุยกัน เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อให้วงการศิลปะได้เติบโต บางครั้งผมก็ได้รู้จักตัวตนของคนอื่นๆ ด้วยจากงานของผมเอง ผมอยากเรียกว่า ‘การแลกเปลี่ยน’ มากกว่าเรียกว่าการสอน อย่างนักศึกษาบางคนเขาก็จะมีคำถาม “ทำไมอาจารย์ทำแบบนี้ เพราะอะไร?” “ทำแบบนี้มันเชยนะ อาจารย์ไม่ลองทำแบบนี้เหรอ” ผมก็ได้มุมมองใหม่ๆ แล้วงานของเด็กทุกวันนี้ไปไกลกว่าที่ผมคิดไว้ อย่างงาน ‘Core หนัง’ (งานแสดงผลงานของนักศึกษา กลุ่มวิชาภาพยนตร์และภาพถ่าย คณะวารสารฯ มธ.) ที่ผ่านมา งานมันมีประเด็นลึกซึ้ง เด็กมันสู้กันยิบตา ถวายชีวิตเลยในการทำงานออกมา
บางคนทำหนังสองชั่วโมง ไปหานักแสดงเป็นคนเกาหลีจากเอเจนซี่มาเล่น ใช้ทั้งเงิน ทั้งสปอนเซอร์ ดิ้นรนที่จะทำงาน มันคือแพชชั่น ผมเห็นแรงตรงนี้ ผมก็ต้องช่วยผลักให้เขาไปตามทางที่เขาชอบ ให้งอกเงยต่อไป
ถ้าเปรียบพื้นที่มหาวิทยาลัยเป็นเซฟโซนให้นักศึกษาได้ลองค้นหาตัวเอง แล้วคุณได้เตรียมพร้อมให้เขารับมือกับพื้นที่นอกรั้วมหาลัย ที่มีความเป็นธุรกิจมากขึ้นอย่างไร
เรื่องนี้พูดยากมาก มันคือความพอดี ซึ่งความพอดีมันระดับไหน ผมจะเรียกร้องจากนายทุนที่ทำธุรกิจได้ไหม ถ้ามองสื่ออย่างโทรทัศน์ Thai PBS ผมอาจจะเรียกร้องเขาได้ เพราะเขาใช้เงินจากภาษี ทุกคนก็ต้องมีจุดกึ่งกลางของตัวเอง แม้แต่ Voice เอง ผมก็เห็นว่าช่องก็ต้องขายของเพื่อความอยู่รอดในโลกธุรกิจ
การต่อสู้ การนำเสนอข่าวของแต่ละช่องก็จะต่างกันออกไป บางช่องก็เอาช่วงที่คนในฝั่งรัฐบาลพูดแย่ๆ มาฉายวนซ้ำๆ บางที่เขาก็เลยจำเป็นต้องสวมหมวกสองใบ ถ้านำเสนอที่แหลมขึ้นมา เขาก็อาจจะถูกปิดได้ นักข่าวบางช่องก็โดนห้ามนำเสนอข่าวแบบสดๆ ในทันทีทันใด อย่างนี้ก็มี
ผมก็คงต้องบอกกับนักศึกษาว่า ต่างที่ต่างก็มีข้อจำกัดของตัวเอง แต่ถ้าเราเข้าใจจุดยืนและยังยึดในอุดมการณ์เดียวกัน ก็ไม่เป็นไร อย่างกรณีกลางแปลงที่ฉาย มนต์รักทรานซิสเตอร์ แล้วมีประเด็นกับ กลุ่มนักกิจกรรมยกเลิก 112 ถ้าเราได้รับข้อมูลจากทั้งสองฝั่ง เราก็อาจจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนขึ้นว่าเป็นอย่างไร
แล้วตัวคุณมองว่า โครงการหนังกลางแปลง เป็นอย่างไร
ส่วนตัวผมคิดว่าดีทีเดียว หากมองว่าเป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้ คนมีชีวิตที่ดีกว่านี้ได้ ถ้าคุณเปลี่ยนผู้นำ ผมจะสังเกตเห็นเลยว่าคนศรัทธาให้ใจไปกับใคร ต่อให้ฝนตกคนก็ยังอยากออกมาดูหนัง ทั้งๆ ที่ดูที่บ้าน หรือดูที่ไหนก็ได้ แต่ส่วนหนึ่งมันคือการต่อสู้ทางการเมือง คุณลองเปลี่ยนให้อีกฝั่งมาจัดสิ ต่อให้จัดในโรงหนัง อย่างก่อนหน้านี้ก็มีหนังที่รวมเอา 10 ผู้กำกับมาทำ ยังไม่เป็นข่าวเท่านี้เลย