A Revolution of the Mind: หนังสือที่บอกเราว่าความคิดก้าวหน้าไม่ได้มีแบบเดียว

22 เมษายน 2565
โครงการ Common School เป็นพื้นที่เผยแพร่ความรู้แบบก้าวหน้า บทความนี้เป็นความคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งอาจไม่ตรงกับโครงการ Common School เสมอไป

การตั้งชื่อยุคว่า ‘ยุคสว่างไสวทางปัญญา’ หรือ Enlightenment era สะท้อนถึงมุมมองต่ออดีตก่อนหน้าว่าเป็นยุคที่ถูกปกคลุมไปด้วยความมืดและติดอยู่ในหล่มของความลุ่มหลงงมงาย (หรือที่มักเรียกกันอย่างหลวมๆ ว่า ยุคมืด หรือ Dark Age) จนเป็นเหตุให้ต้องอาศัยปัญญาเป็นเครื่องมือในการสร้างความสว่างไสว หรือเบิกเนตรให้ผู้คนตาสว่าง และเดินออกจากความป่าเถื่อนล้าหลัง

ความพยายามในการเดินออกจากความล้าหลัง ยังสะท้อนถึงความปรารถนาในการที่จะก้าวไปข้างหน้า ไม่หยุดอยู่กับที่หรือวนเวียนอยู่แต่ในสภาวะเดิมๆ เราอาจเจอความปรารถนาดังว่านี้ได้ ในกรอบคิดที่เรียกว่า ‘ความก้าวหน้า’ (progress)

แต่การพิจารณาจากเพียงแค่ชื่อยุคอาจทำให้เข้าใจว่า การเคลื่อนไหว (movement) ในยุคนี้มีเป้าหมายและลักษณะกลมเกลียวเป็นหนึ่งเดียว จนอาจมองข้ามชิ้นส่วนทางความคิดจำนวนมากที่ผสมผสานหรือปะทะประสานกัน 

ความก้าวหน้าไม่ได้มีแค่ความหมายเดียว และยุคสว่างไสว ก็ไม่ได้เป็นเอกภาพ คือสิ่งที่หนังสือ A Revolutionary of the Mind ของ Jonathan Israel ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์สมัยใหม่ พยายามชี้ให้เห็น

A Revolution of the Mind โดย Jonathan Israel จัดพิมพ์โดย Princeton University Press

Israel เสนอว่า ความสว่างไสวในยุค Enlightenment แบ่งได้เป็น 2 สายหลัก คือ พวกสายสุดโต่ง (Radical Enlightenment) และ พวกสายกลาง (Moderate Enlightenment)

สำหรับสายสุดโต่ง เป็นพวกที่มีฐานปรัชญาแบบ Spinosizm (หลักปรัชญาซึ่งตั้งชื่อตาม Baruch Spinoza นักปรัชญาชาวดัตช์)  มองว่าโลกเป็นเอกสภาวะ (one-substance) ร่างกายและจิตใจไม่ได้มีการดำรงอยู่ที่แยกขาดจากกัน ทุกอย่างสามารถอธิบายได้ด้วย ‘เหตุผล’ นักคิดที่ Israel จัดให้อยู่ในกลุ่มนี้ก็เช่น Denis Diderot, Baron d’Holbach, Claude Adrien Helvétius และ Thomas Paine เป็นต้น

อีกพวกหนึ่ง จะมีกรอบคิดที่ต่างจากพวกสุดโต่งโดยสิ้นเชิง นั่นคือพวกสายกลาง มองว่าโลกเป็นทวิสภาวะ (two-substance) ร่างกายและจิตใจมีการดำรงอยู่ที่แยกขาดกัน และมีอะไรบางอย่างที่อยู่นอกเหนือไปจากเหตุผล อาทิ พระเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งสามารถอธิบายและเป็นสาเหตุได้ในตัวเอง ทั้งยังเป็นสิ่งที่ประทานเหตุผลลงมาให้มนุษย์อีกด้วย นักคิดในพวกนี้ก็เช่น Voltaire, David Hume, Anne Robert Jacques Turgot, Montesquieu และ John Locke เป็นต้น

Israel เล่าต่อว่า พื้นฐานทางปรัชญาที่ต่างกันคนละขั้วนี้เอง จะเป็นตัวกำหนดวาระทางการเมืองและทางศีลธรรมของแต่ละฝ่าย กล่าวคือ 

ฝ่ายสุดโต่งต้องการทำลายระเบียบและสถาบันที่ดำรงอยู่อย่างถึงราก ด้วยเพราะมองว่าระเบียบและสถาบันเหล่านี้ มีความเลวร้ายเป็นส่วนผสมสำคัญอยู่ในตัวของมัน ขณะที่ฝ่ายสายกลาง แม้จะเห็นว่าความเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องเกิด แต่ถึงอย่างไรก็ยังต้องการคงสถาบันและระเบียบเหล่านี้ไว้อยู่

ทั้งนี้ พึงระลึกว่า การแบ่งการเคลื่อนไหวในยุค Enlightenment ออกเป็น 2 สายนี้ Israel ใช้ปรัชญาของ Spinoza เป็นเกณฑ์ มิใช่การเอาหรือไม่เอาศาสนา เพราะคนที่ไม่เชื่อในพระเจ้าหรือไม่เอาศาสนา (atheist) จำนวนมากก็ไม่ได้มีความสุดโต่ง เพราะ “พวกเขาไม่ได้วางพื้นฐานทางศีลธรรมอยู่บนเหตุผลเพียงอย่างเดียว หรือไม่ก็ไม่ได้ยืนอยู่บนหลักการแห่งความเท่าเทียม กระทั่งไม่ได้เชื่อมโยงกรอบคิดเรื่องความก้าวหน้าเข้ากับความเสมอภาคและประชาธิปไตย”


สงครามและสันติภาพ กับการตื่นรู้ของผู้คน 

ฐานคิดของแต่ละฝ่ายยังสัมพันธ์โดยตรงกับมุมมองเรื่อง ‘ความชอบธรรม’ ของระเบียบและสถาบันเหล่านี้ เช่น ในประเด็นเรื่องสงคราม เมื่อฝ่ายสายกลางมองว่าสถาบันกษัตริย์และชนชั้นนำมีความชอบธรรมในการดำรงอยู่ นั่นหมายความว่า ความรุนแรงอย่างการทำสงครามที่มีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องสถาบันเหล่านี้ ย่อมเป็นสิ่งที่ชอบธรรมตามไปด้วย 

ขณะที่พวกสุดโต่งกลับมองว่า สงครามเป็นเพียงเรื่องผลประโยชน์ของชนชั้นนำเท่านั้น บรรดาพลทหารหรือสามัญชนต่างเข้าไปทำสงครามที่ตนไม่ได้มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องใดๆ เลย อันที่จริง คำอธิบายเช่นนี้จะชัดเจนขึ้นหากเปรียบเทียบกับกรอบคิดเรื่อง ‘เอกราช’ หรือการมีราชาที่เป็นเอกเพียงหนึ่งเดียว ซึ่งสะท้อนชัดว่า 

แท้จริงแล้วเอกราชเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับคนธรรมดาเท่าไรนัก เพราะมันเป็นเรื่องของราชาเสียมากกว่า ตามนัยนี้ การทำสงครามเพื่อรักษาเอกราชจึงเป็นเพียงกิจการหรือผลประโยชน์ของพระราชาและชนชั้นปกครองที่ให้คนธรรมดาไปสังเวยชีวิตแทนเพียงเท่านั้น

ทั้งนี้ พวกสุดโต่งเสนอว่า เหตุที่คนธรรมดายังคงเข้าร่วมสงครามทั้งๆ ที่หากพิจารณาแล้วอาจไม่ใช่สงครามของพวกเขาเลยนั้น เป็นผลโดยตรงจากการครอบงำของระบบอำนาจของชนชั้นปกครอง ในแง่นี้ Israel อ้างอิงข้อเสนอของ Joel Barlow บุคคลสำคัญในการปฏิวัติฝรั่งเศส ว่าสถาบันพวกนี้เป็นความงมงายทางการเมือง (political superstition) ไม่ต่างอะไรกับความงมงายทางศาสนา (religion superstition) และพูดต่อไปว่า ความงมงายทางการเมืองแบบนี้เอง เป็นสิ่งที่ทรราชนำมาใช้เป็นเครื่องมือกันจนแทบจะเป็นสากล

เมื่อพูดถึงสงครามก็ย่อมมาคู่กับประเด็นเรื่อง ‘สันติภาพ’

สำหรับพวกสายกลาง การมีสันติภาพอันถาวร (perpetual peace) เป็นได้เพียงความฝันแบบยูโทเปียที่ปรุงแต่งขึ้นจากพวกฝันเฟื่องซึ่งไม่รู้จักโลกความเป็นจริง Voltaire ถึงขนาดบอกว่า มนุษยชาติจะเข้าใกล้สันติภาพอันถาวรได้ก็ด้วยความคิดแบบลัทธิคลั่ง (Fanaticism) เท่านั้น กระทั่ง Adam Ferguson นักปรัชญาชาวสก็อตแลนด์ยังมีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า ความสงบสุขจะเกิดขึ้นไม่ได้หากขาดการรักษาสมดุลจากกองกำลังทหาร การทำสงครามแม้ไม่ใช่เรื่องพึงปรารถนา ทั้งยังควรหลีกเลี่ยง แต่หากมีความจำเป็นก็ต้องทำ

แน่นอน พวกสุดโต่งเห็นค้านกับคำอธิบายดังกล่าวอย่างสุดขั้ว พวกเขาไม่เห็นด้วยกับการมีกองกำลังทหารและการก่อสงคราม เป้าหมายของพวกเขาคือการทำลายสถาบันที่สร้างความงมงายทั้งทางการเมืองและศาสนาเหล่านี้ให้สิ้นซาก นักคิดสายสุดโต่ง อย่าง Diderot และ d’Holbach ถึงกับพัฒนากรอบคิดเรื่อง ‘ความเท่าเทียม’ เพื่อต่อสู้กับการครอบงำของสถาบันเหล่านี้ เนื่องจากมองว่าการเกิดขึ้นของสงครามมีเหตุจากการขาดสำนึกเรื่องความเท่าเทียม (ที่เหมาะสม) กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ สงครามเกิดจากการที่ผู้คนขาดการตื่นรู้ (enlightend) และขาดคุณค่าทางศีลธรรมที่แท้จริง (true moral values)  

สำหรับการทำให้ผู้คนตื่นรู้ พวกสุดโต่ง เสนอว่า สามารถทำได้ผ่านการให้การศึกษาแก่มนุษย์ทุกคนอย่างเท่าเทียม เพราะเมื่อได้รับการศึกษาแล้ว มนุษย์ก็จะมีการใช้เหตุผลสำหรับพิจารณาถึงผลประโยชน์ที่แท้จริงของตนเองได้ และเสนอต่อไปว่า ผลประโยชน์ที่แท้จริงของแต่ละคนนี้ ยังเป็นสิ่งที่สัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกกับผู้อื่น ขณะที่นักคิดสายกลางมองว่าการศึกษาไม่ใช่เรื่องที่เหมาะกับทุกคน หรืออย่าง Voltaire ก็มองว่า คนส่วนใหญ่ไม่ควรเกิดการตื่นรู้

หากถามว่า ศีลธรรมของพวกสุดโต่งคืออะไร คำตอบคือ ศีลธรรมที่แยกออกจากเทววิทยา เป็นเรื่องทางโลกโดยแท้ และมีฐานอยู่บนเหตุผลเพียงอย่างเดียว Diderot ถึงกับกล่าวว่า ศีลธรรม (แห่งเหตุผล) นี้ เป็นเรื่องระหว่างมนุษย์ด้วยกันเองเท่านั้น มิใช่ความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อสิ่งเหนือมนุษย์

อย่างไรก็ดี ข้อเสนอที่ให้เหตุผลเป็นแกนนี้ ส่งผลให้นักปรัชญาอย่าง Jean-Jacques Rousseau วิจารณ์ว่า ศีลธรรมของพวกสุดโต่ง เป็นศีลธรรมที่ไม่มีหัวใจ กระทั่งกลุ่มคนที่ Israel เรียกว่าพวกต่อต้านนักปรัชญา (Anti-Philosophers) ถึงขนาดโจมตีปรัชญาของพวกสุดโต่งว่า เป็นปรัชญาแห่งความป่วยไข้และสิ้นหวัง ทั้งยังสนับสนุนให้คนฆ่าตัวตาย แต่ฝ่ายหลังก็มีคำตอบโต้ข้อวิจารณ์นี้ว่า ความรู้สึกของมนุษย์มีสถานะเป็นกลางทางศีลธรรม (morally neutral) ดังนั้นการกระทำทั้งหลายจึงเป็นสิ่งที่ได้รับอนุญาตให้ทำได้ และจะไม่ผิดศีลธรรมตราบใดที่การกระทำนั้นไม่ได้สร้างอันตรายต่อผู้อื่น 


จะปฏิวัติโลกข้อเท็จจริงได้ ต้องปฏิวัติทางจิตใจก่อน

ตลอดหนังสือเล่มนี้ Israel ย้ำเสมอว่า ไม่ว่าในทางปรัชญาและการปฏิบัติ มันไม่มีตรงกลางที่เชื่อมหรือจุดประนีประนอม 2 ฟากความคิดนี้ได้อย่างสมบูรณ์ เพราะขั้วความคิดคู่นี้ไม่มีจุดใดร่วมกันเลย ทั้งยังแสดงให้เห็นว่า การสลัดความคิดหรือปรัชญาใดให้หลุดพ้นจากอุดมการณ์อย่างสมบูรณ์เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากมาก เพราะแม้กระทั่งทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ของ Issac Newton หรือทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ของ Adam Smith และ Anne Robert Jacques ก็ยังแยกไม่ออกจากมุมมองทางการเมืองและศีลธรรมของพวกเขา

Israel ยังย้ำว่า การแบ่ง Enlightenment เป็นสองสายมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นเรื่องความถูกต้องทางประวัติศาสตร์ปัญญาชน ประวัติศาสตร์ความคิด และพัฒนาการของการต่อสู้ถกเถียง ทั้งยังทำให้เห็นว่า ข้อเสนอที่ปวกเปียกแบบที่พวกสายกลางมี มักไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเปลี่ยนแปลงในจิตใจและความคิด ซึ่ง Isarael บอกชัดเจนในบทสุดท้ายว่า 

การปฏิวัติทางจิตใจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนการปฏิวัติทางข้อเท็จจริง (the revolution of mind before the revolution of fact) และการปฏิวัติในปลายศตวรรษที่ 18 อย่าง การปฏิวัติปี 1789 จะไม่สามารถทำความเข้าใจได้ครบถ้วนหากไม่พิจารณาปรัชญาที่ทำให้เกิดปฏิวัติทางจิตใจก่อน 

การละเลยการปฏิวัติทางจิตใจหรือสำนึกคิดนี้เอง คือสิ่งที่ Israel วิจารณ์ว่าเป็นข้อบกพร่องของผู้ศึกษาประวัติศาสตร์สมัยใหม่ เพราะอย่างน้อยที่สุด กรอบคิด (ที่ปฏิวัติจิตใจ) อย่างเรื่อง ประชาธิปไตย เสรีภาพทางความคิด หรือเสรีภาพในการตีพิมพ์เผยแพร่ ก็เป็นเงื่อนไขที่มีอยู่ก่อน (precondition) ซึ่งทำให้เกิดการปฏิวัติทั้งทางสังคม ศีลธรรม และการเมืองตามมา 

แม้ในหนังสือเล่มนี้ Israel จะไม่ได้พูดถึงอย่างเจาะจง แต่ผลกระทบของการเผยแพร่จุลสารอย่าง Common Sense ของ Thomas Paine และ What Is the Third Estate? ของ Emmanuel Joseph Sieyès น่าจะเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด



หนังสือ

Jonathan Israel. 2009. A Revolution of the Mind: Radical Enlightenment and the Intellectual Origins of Modern Democracy. Princeton University Press.

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า