Don’t Look Up : อย่าฝากชีวิตไว้ในมือเสรีนิยม

24 มกราคม 2565

(Review: Don’t Look Up – don’t leave it to the liberals to save us)

Luban Badi

แปล จักรพล ผลละออ

อ่านบทความต้นฉบับได้ ที่นี่  

[คำเตือน! เนื้อหาในบทความนี้มีการเปิดเผยข้อมูลและเนื้อหาสำคัญในภาพยนตร์]

ภาพยนตร์เสียดสีสังคมการเมืองฝีมือ Adam Mckay เรื่อง Don’t Look Up ที่ออกฉายอยู่ทาง Netflix ตอนนี้ นอกจากจะกลายเป็นภาพยนตร์ที่จุดประเด็นถกเถียงและกลายเป็นที่พูดถึงกันอย่างกว้างขวางในช่วงที่ผ่านมาแล้ว มันยังเป็นภาพยนตร์ที่ไปกระตุกต่อมให้บรรดาฝ่ายขวาปฏิกิริยาและบรรดาเสรีนิยมหัวก้าวหน้าเกิดอาการหัวร้อนกันขึ้นมาด้วยไปพร้อมๆ กัน

อันที่จริงโครงเรื่องสำคัญของภาพยนตร์เรื่องนี้ควรกล่าวว่าเป็นพล็อตหนังภัยพิบัติธรรมดาทั่วไปมากๆ เราจะพบกับตัวเอกของเรื่องคือ Kate (รับบทโดย Jennifer Lawrence) นักดาราศาสตร์และนักศึกษาปริญญาเอก พร้อมกับ ศาสตราจารย์ Mindy (รับบทโดย Leonardo DiCaprio) อาจารย์ที่ปรึกษาของ Kate ซึ่งทั้งสองคนบังเอิญไปพบว่าดาวหางขนาดมหึมาในอวกาศกำลังมุ่งหน้าตรงมาที่โลก และพวกเขาจำเป็นต้องเตือนทุกคนบนโลกว่าดาวหางดวงนี้มีโอกาสพุ่งชนโลกถึง 99.7%

สำหรับดาวหางที่ว่าในภาพยนตร์นี้ ชัดเจนว่าตัวมันเองสัญญะอุปมาแทนปัญหาเรื่องภาวะโลกร้อน และอัตราเสี่ยง 99.7% นั้นก็สื่อถึงจำนวนของนักวิทยาศาสตร์ที่แสดงความเห็นด้วยและยืนยันว่าปัญหาโลกร้อนเกิดขึ้นจริง และมันเกิดขึ้นจากกน้ำมือมนุษย์

หากทว่าในขณะที่โลกกำลังจะประสบการสิ้นสูญจากมหันตภัยร้ายแรงของดาวหางที่จะพุ่งชนโลก หากแต่บรรดาชนชั้นปกครองในภาพยนตร์กลับไม่มีวิสัยทัศน์หรือความคิดอะไรที่ไกลไปเกินกว่าหัวแม่เท้าตัวเอง บรรดาชนชั้นนำในภาพยนตร์เฉยเมยและแกล้งทำเป็นไม่สนใจปัญหามหึมานี้ เพียงเพื่อจะปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มชนชั้นตัวเอง

จริยศาสตร์แบบไซนิคส์

สิ่งที่ภาพยนตร์เรื่อง Don’t Look Up สื่อสารออกมาอย่างชัดเจนก็คือ บรรดาชนชั้นนายทุนที่เป็นผู้ถือครองทั้งทรัพยากรและเทคโนโลยีที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ แต่ชนชั้นนายทุนมักจะสนใจปกป้องและคิดถึงเฉพาะแต่ผลประโยชน์และกำไรส่วนตัวของตนเองมากกว่าจะแยแสต่อปัญหาที่อาจจะส่งผลกระทบกระเทือนต่อชีวิตของผู้คนธรรมดานับพันล้านชีวิต

สิ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้สื่อสารออกมาในประเด็นนี้แสดงให้เห็นถึงวิธีคิดแบบไซนิคส์ของบรรดากลุ่มผู้ทรงอำนาจได้อย่างดียิ่ง เหมือนเช่นที่ภาพยนตร์เรื่อง Dr. Strangelove (Dr. Strangelove or: How I Learned to Stop Worrying and Love the Bomb ภาพยนตร์ปี 1964 ของ Stanley Kubrick) เคยนำเสนอมาก่อนหน้า

ในภาพยนตร์เรื่อง Don’t Look Up บทประธานาธิบดีสหรัฐฯ (รับบทโดย Meryl Streep) อันเป็นตัวละครที่ถูกออกแบบมาให้เป็นภาพล้อเลียน Donald Trump อดีตประธานาธิบดี โดยมีส่วนผสมบางประการที่ล้อมาจาก Hillary Clinton ด้วย ในเรื่องเราจะเห็นว่าเมื่อตัวเอกของเราพยายามเตือนประธานาธิบดีเกี่ยวกับภัยร้ายแรงจากดาวหางนอกโลก ตัวประธานาธิบดีตอบสนองคำเตือนนี้ด้วยการประมาณการผลกระทบจากข่าวร้ายนี้ว่าจะมีผลต่อคะแนนนิยมของตัวเองอย่างไรบ้าง และเมื่อได้ข้อสรุปว่าการเผยแพร่ข่าวเรื่องดาวหางพุ่งชนโลกออกไปจะส่งผลเสียต่อคะแนนนิยมของตัวเอง ประธานาธิบดีจึงเลือกที่จะทำให้เรื่องนี้เงียบลง

ในทางเดียวกันภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ได้นำเสนอให้เห็นความกลวงเปล่าไร้ประโยชน์ของสื่อสารมวลชนแบบทุนนิยม ที่เอาแต่หมกมุ่นอยู่กับการพยายามขายหนังสือพิมพ์ และโฆษณา และพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะปกป้องรักษา สภาพที่เป็นอยู่ มากกว่าจะพยายามบอกความจริงแก่สังคม

ในภาพยนตร์ มันแสดงให้เราเห็นประเด็นข้างต้นเมื่อตัวเอกทั้งสองของเราผิดหวังกับการตอบสนองของประธานาธิบดีที่เลือกจะไม่ทำอะไรสักอย่าง พวกเขาจึงพยายามจะสื่อสารเรื่องดาวหางพุ่งชนโลกด้วยตัวเองผ่านสื่อสารมวลชน หากแต่พวกเขาก็ต้องพบว่าในระหว่างการออกรายการเนื้อหาสำคัญของพวกเขาแทบจะไม่ถูกพูดถึงเลย กลับกันพวกเขาถูกผู้บริหารของช่องแจ้งว่า ทางช่องต้องการให้ตัวเอกของเราพูดถึงมหันตภัยดาวหางพุ่งชนโลกด้วยเนื้อหาและท่วงทำนองที่ “ซอฟต์, ใส และสนุกสนาน” และในระหว่างรายการบรรดาพิธีกรก็เอาแต่ถามคำถามงี่เง่าอย่างเช่น ดาวหางมีอยู่จริงหรือเปล่า, นักดาราศาสตร์ (ตัวเอก) ไม่ได้กำลังพูดเรื่องโกหกใช่มั้ย และ โลกของเรากำลังตกอยู่ในอันตรายจริงหรือ

บรรดาหนังสือพิมพ์หัวต่างๆ พากันไม่พูดถึงหรือตีพิมพ์ถึงเรื่องที่เกิดขึ้น เว้นแต่ว่าเมื่อโลกโซเชียลเน็ตเวิร์คจะเริ่มระแคะระคายและขุดคุ้ยเรื่องนี้จนกลายเป็นเรื่องที่ได้รับการพูดถึงมากบนโลกออนไลน์ และมีแนวโน้มว่าจะสามารถนำไปใช้เปิดโอกาสในการดึงดูดเงินจากผู้ซื้อโฆษณาได้นั่นแหละ สื่อเหล่านี้ถึงจะเริ่มสนใจประเด็น

ดังนั้นเอง ไม่ต้องแปลกใจเลยว่าทำไมนักวิจารณ์ภาพยนตร์กระแสหลักจึงพากันวิพากษ์วิจารณ์ภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างรุนแรงในเชิงลบ นั่นก็เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้ตีเข้ากลางกล่องดวงใจของสื่อที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี่เอง

การแสวงหากำไร

ในภาพยนตร์เรื่องนี้ เมื่อเรื่องดำเนินไปถึงจุดที่ประธานาธิบดีให้ดำเนินการหยั่งเสียงประชาชน และผลการสำรวจความเห็นนั้นแสดงให้เห็นว่าประชาชนต้องการให้ประธานาธิบดีดำเนินการกับดาวหางที่กำลังมุ่งตรงเข้ามา ประธานาธิบดีจึงดำเนินการโดยการตัดสินใจส่งจวรดขึ้นไปเพื่อระเบิดดาวหางในอวกาศก่อนที่มันจะพุ่งชนโลก อย่างไรก็ตามตัวประธานาธิบดีเปลี่ยนความคิดนี้หลังจากถูกเกลี้ยกล่อมโดยอภิมหาเศรษฐีเจ้าของบริษัท BASH บริษัทเจ้าเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ โดยอภิมหาเศรษฐีคนนี้เสนอว่าดาวหางไม่ใช่มหันตภัยแต่มันคือโอกาสในการทำกำไรมหาศาล

ผู้บริหารบริษัท BASH นามว่า Peter Isherwell (รับบทโดย Mark Rylance) คือตัวละครที่เป็นภาพตัวแทนของ Elon Musk, Mark Zuckerberg, Steve Jobs และ Jeff Bezos เขาเสนอความเห็นอันชาญฉลาดว่าเราไม่ควรระเบิดดาวหางทิ้ง แต่ควรจะขุดเจาะเพื่อสกัดเอาแร่ธาตุและทรัพยากรบนดาวหางออกมา ซึ่งนั่นจะทำเงินได้ในปริมาณนับล้านล้านดอลลาห์ อย่างไรก็ตามเมื่อแผนการของเขารั่วไหลออกสู่สาธารณะ บรรดากลุ่มผู้มีอำนาจก็ออกมาตอบโต้และอธิบายว่าการขุดเจาะดาวหางนี้จะช่วยสร้างการจ้างงานได้จำนวนมาก

แผนการขุดเจาะหาแร่ธาตุหายากบนดาวหางแล้วค่อยระเบิดมันออกทีหลังของ Isherwell กลายเป็นแผนที่ประสบความล้มเหลว อย่างไรก็ตามตัวเขาเองและประธานาธิบดี รวมถึงบรรดาอภิมหาเศรษฐีชนชั้นสูงไม่กี่ร้อยคนได้ตระเตรียมแผนสำรองของตัวเองเอาไว้ นั่นคือการนั่งยานอวกาศหนีออกจากโลกเพื่อเดินทางไปตั้งรกรากใหม่ในดาวเคราะห์ที่อยู่ห่างไกล และปล่อยให้คนที่เหลือนั่งรอความตายอยู่บนโลก

ช่างเป็นพล็อตที่คล้ายกับความเป็นจริงในปัจจุบันนี้เสียเหลือเกิน ที่ผู้คนนับพันล้านคนบนโลกต้องเผชิญหน้ากับความยากลำบากและปัญหามากมายจากภาวะโลกร้อน ในขณะเดียวกันเราก็ได้เห็นว่าอภิมหาเศรษฐีอย่าง Elon Musk และ Jeff Bezos ก็พากันเดินทางออกไปทำกิจกรรมไร้สาระในอวกาศ ดังนั้นเอง จงจำไว้ว่าอย่าไว้วางใจหรือคิดจะฝากชีวิตของพวกเรารวมถึงอย่าคิดไปฝากอนาคตของโลกใบนี้เอาไว้ในมือของพวกชนชั้นนายทุน เพราะพวกเขาไม่ได้อาศัยอยู่บนโลกใบเดียวกันกับเรามาเนิ่นนานแล้ว

ความอ่อนแอของลัทธิเสรีนิยม

ภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม มันได้แสดงให้เห็นประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่ง นั่นคือมันแสดงให้เห็นสภาวะถดถอยและความล้มเหลวของนักเสรีนิยมและลัทธิเสรีนิยมอย่างชัดเจน

ในภาพยนตร์ เมื่อดาวหางขยับเข้าใกล้โลกจนสามารถมองเห็นมันบนท้องฟ้าได้ด้วยตาเปล่า ตัวเอกทั้งสองคนของเราได้เริ่มแคมเปญรณรงค์ชื่อ Look Up เพื่อกดดันให้ประธานาธิบดีตัดสินใจทำลายดาวหางดวงนี้ลง

ทว่าแทนที่พวกเขาจะพยายามหาทางเปลี่ยนแปลงสังคมผ่านการต่อสู้ของมวลชน ตัวละครในเรื่องกลับเคลื่อนไหวโดยวางรากฐานอยู่บนวิธีคิดปฏิบัตินิยมแบบเสรีนิยม กล่าวคือพวกเขาพยายาม “ปลุกความตระหนักรู้” ของคนในสังคมผ่านการจัดคอนเสิร์ตเพลงป๊อบ ฯลฯ และด้วยการพยายามกราบกรานขอร้องให้นักการเมืองดำเนินการบางอย่าง โดยปราศจากการมีส่วนร่วมทางการเมืองของมวลชน

ตัวอย่างเช่น ในตอนที่ Kate ตัวเอกของเราบอกกับประธานาธิบดีว่า

“ฉันไม่ได้โหวตเลือกคุณ แต่นี่มันชัดเจนว่าเรื่องที่เรากำลังเจออยู่มันเป็นเรื่องใหญ่กว่าที่ฉันไม่ชอบคุณ ดังนั้นฉันจะสนับสนุนภารกิจทำลายดาวหางลูกนี้อย่างเต็มที่ เรื่องนี้สำคัญมากกว่าความไม่ชอบใจที่ฉันมี”

กล่าวได้ว่า ตัวละครเอกของเรากำลังสื่อสารว่า เรื่องทั้งหมดตอนนี้ไม่ใช่ปัญหาเรื่องการเมือง ดังนั้นพวกเขาควรจะวางความแตกต่างหรือความไม่ชอบใจส่วนตัวลง และหันมาร่วมมือกันแก้ไขปัญหา

แนวทางเหล่านี้ฟังดูเป็นเรื่องดีงามอย่างยิ่ง หากทว่าในความเป็นจริงมันกลับกลายไปเป็นสิ่งไร้ค่าและไร้ผล ทั้งนี้ก็เพราะบรรดาชนชั้นปกครองในโลกของเราล้วนแล้วแต่มึนชา และเฉยเมย ตลอดจนมองข้ามเสียงกราบกรานอ้อนวอนของบรรดาเสรีนิยมเหล่านี้ไปจนหมดสิ้น บรรดาชนชั้นปกครองนั้นสนใจเฉพาะแต่ผลประโยชน์ของตนเองไม่ใช่เสียงอ้อนวอนร้องหาความสามัคคีของพวกเสรีนิยม

ชนชั้นแรงงาน

บรรดานักเสรีนิยมไม่สามารถไปไกลกว่าการส่งเสียงร้องกราบกรานร้องขอความเมตตาจากชนชั้นปกครองได้ก็เนื่องมาจากพวกเขาไม่สามารถมองเห็นได้ว่า หนทางในการแก้ไขปัญหาได้วางตัวอยู่ร่วมกับชนชั้นแรงงาน อันที่จริงในภาพยนตร์เรื่อง Don’t Look Up ได้นำเสนอภาพของชนชั้นแรงงานในฐานะของกลุ่มคนที่ซื่อ เชื่อง และโง่เกินไป

ในด้านหนึ่งตัวภาพยนตร์นำเสนอภาพของชนชั้นแรงงานในแง่ของกลุ่มคนที่พร้อมออกมาชุมนุม ก่อการจลาจล และปล้นสะดมภ์ ขณะที่ในอีกด้านหนึ่งก็นำเสนอภาพของชนชั้นแรงงานในฐานะของกลุ่มคนที่เป็นมวลชนสนับสนุนประธานาธิบดีในแคมเปญรณรงค์ “Don’t Look Up” ซึ่งเข้าใจได้ว่ากลุ่มหลังนี้ถูกใส่เข้ามาเพื่อล้อเลียนกลุ่มมวลชนชนชั้นแรงงานผู้สนับสนุน Trump พร้อมกันนั้นภาพยนตร์เองก็ได้ล้อเลียนชนชั้นแรงงานที่เชื่อคำโกหกในเรื่องที่ว่าการขุดเจาะดาวหางจะช่วยสร้างตำแหน่งงานมากขึ้น

นี่คือลักษณะทั่วไปของบรรดาเสรีนิยมที่ไม่อาจจะเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดจาก Trump ได้ ความนิยมชมชอบในตัว Trump ในหมู่ชนชั้นแรงงานสหรัฐฯ นั้นเกิดขึ้นจากคำสัญญาและความพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจสหรัฐ ของ Trump

และต้องไม่ลืมว่าชนชั้นแรงงาน คนธรรมดาสามัญ และคนรุ่นใหม่นับล้านคนในสหรัฐ ถูกตั้งแง่รังเกียจและกีดกันจากกลุ่มเสรีนิยมทางเลือก ที่มีหัวเรือธงใหญ่อย่าง Hillary Clinton

ตลอดภาพยนตร์ทั้งเรื่อง บรรดานักเสรีนิยมล้มเหลวที่จะยึดกุมพลังปฏิวัติที่ชนชั้นแรงงานฟูมฟักขึ้นมาหลายต่อหลายครั้ง อันที่จริงความคิดเรื่องการปฏิวัติถูกเยาะเย้ยเสียด้วยซ้ำ เมื่อตอนที่ศาสตราจารย์ Mindy ถาม Kate ตัวเอกของเรื่องว่า “เธอคิดจะทำอะไร? คิดจะโค่นล้มรัฐบาลรึไง?” แม้ว่าประโยคนี้คือถามในเชิงถากถาง หากแต่เนื้อหาของมันนั่นแหละคือสิ่งที่ควรทำที่สุด

หากว่าโลกใบนี้ อันเป็นที่อาศัยของผู้คนแปดพันล้านคนกำลังเผชิญหน้ากับความเสี่ยงจะล่มสลาย เพียงเพื่อจะเปิดโอกาสให้ บรรดาคนร่ำรวยได้ร่ำรวยมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ภายใต้สภาวการณ์เช่นนี้ การยึดเอาทุกสิ่งกลับมาไว้ในมือของคนส่วนใหญ่หรือชนชั้นแรงงาน ไม่ใช่ในมือของคนส่วนน้อยอย่างชนชั้นนายทุน เพื่อป้องกันความล่มสลายของโลก ย่อมเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลอย่างยิ่ง

ทุทรรศน์นิยม – ลัทธิมองโลกในแง่ร้าย

ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอมุมมองแบบทุทรรศน์นิยมและโชคชะตานิยมอย่างที่สุด ซึ่งมุมมองเหล่านี้คือภาพสะท้อนโลกทัศน์ของบรรดาเสรีนิยมที่มองเห็นเฉพาะแต่หายนะและความมืดมนที่เพิ่มมากขึ้น หากว่าระบบทุนนิยมถดถอยลง แต่ขณะเดียวกับที่บรรดาเสรีนิยมเป็นกังวลเกี่ยวกับความถดถอยของระบบทุนนิยม พวกเขากลับไม่มีข้อเสนออะไรเลยเกี่ยวกับปัญหาเรื่องภาวะโลกร้อน, โรคระบาด หรือปัญหาการเลือกปฏิบัติทางเพศและเชื้อชาติ

แน่นอนว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ใช่ภาพยนตร์แนวภัยพิบัติเรื่องแรกที่นำเสนอพล็อตเกี่ยวกับภัยพิบัติจากดาวหางพุ่งชนโลก หากแต่ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ตั้งคำถามต่อรัฐบาลและนำเสนอแง่มุมมที่ต่างออกไป ทั้งนี้ก็เพราะในภาพยนตร์แนวเดียวกันเรื่องก่อนหน้านี้ ภัยพิบัติจากดาวหางมักจะถูกกำจัดลงและรัฐบาลคือกลุ่มคนที่ได้รับความไว้วางใจอย่างมากจากประชาชน รวมถึงรัฐบาลเองและกลุ่มผู้มีอำนาจเป็นเสมือนฮีโร่ที่จะต้องปกป้องมนุษยชาติ นี่คือมุมมองและแง่มุมที่แตกต่างอย่างยิ่งจากสิ่งที่ Don’t Look Up นำเสนอต่อเราในปัจจุบัน

สิ่งที่ Don’t Look Up แสดงให้เห็น คือข้อเท็จจริงในปัจจุบันที่ภาพจำจากภาพยนตร์เก่าๆ ถูกทำลายลง ภาพของชนชั้นปกครอง นายทุน รัฐบาลที่เป็นเสมือนฮีโร่ผู้พิทักษ์ถูกฉีกกระชากทำลายลงด้วยน้ำมือของชนชั้นปกครองเอง จากการกระทำอันไม่ทุกข์ร้อน และไม่แยแสต่อวิกฤติของระบบทุนนิยม ปัญหาภาวะโลกร้อน และการแพร่ระบาดของโรคติดต่อร้ายแรง และเป็นที่แน่นอนว่าในห้วงสมัยของเรานี้ หากเรายินยอมฝากชีวิตและอนาคตเอาไว้ในมือของบรรดาชนชั้นนายทุนและชนชั้นปกครองเหล่านี้ ผลลัพธ์ของมันย่อมไม่มีสิ่งอื่นใดนอกจากการสังเวยชีวิตคนธรรมดาสามัญนับล้านคน

การปฏิวัติคือทางออก

Don’t Look Up คือภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จในการฉายภาพให้เราเห็นธรรมชาติและความเป็นจริงของชนชั้นปกครองเมื่อพวกเขาเผชิญหน้ากับภัยพิบัติ แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ยังคงมีข้อผิดพลาดและล้มเหลวในแง่ที่ตัวมันเองขาดการนำเสนอทางเลือกอื่นในการแก้ไขปัญหาและจบวิกฤติที่กำลังคุกคามมนุษยชาติ และนี่คือผลลัพธ์สำคัญที่ชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงที่ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกสร้างขึ้นผ่านมุมมองแบบเสรีนิยม มากกว่ามุมมองแบบสังคมนิยม

ในตอนจบของเรื่อง เมื่อตัวเอกของเราพบว่าพวกเขาล้มเหลวและไม่มีใครหยุดยั้งการพุ่งชนโลกของดาวหางได้ Kate พูดขึ้นมาว่า “ฉันรู้สึกขอบคุณ ที่อย่างน้อยพวกเราก็ได้พยายามต่อสู้หยุดยั้งมัน” หากแต่คำถามก็คือ พวกเขาได้พยายามต่อสู้อย่างจริงจังหรือยัง?

การพยายามร้องขอบรรดากลุ่มผู้ทรงอำนาจให้ยุติการแสวงหากำไรผ่านการรณรงค์ที่ปราศจากเขี้ยวเล็บใดๆ แบบในภาพยนตร์นั้นไม่ใช่การเคลื่อนไหวที่จะช่วยพาสังคมขยับไปไหนเลย และเมื่อพวกเขาเห็นว่าการรณรงค์ของตนเองทำท่าจะล้มเหลว พวกเขาก็ถอนตัวยุติการเคลื่อนไหวแล้วมานั่งรอรับชะตากรรม พวกเขาพากันกลับไปหาครอบครัวของตัวเอง และพยายามสวดมนต์อ้อนวอนพระเจ้า

ต้องไม่ลืมว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เริ่มฉายในห้วงเวลาที่ผู้คนนับล้านคนทั่วโลกก้าวเดินลงสู่ถนนเพื่อเดินขบวนเรียกร้องรณรงค์ปัญหาเรื่องภาวะโลกร้อน หรือร่วมในขบวนการ Black Lives Matter รวมถึงเดินขบวนต่อต้านนโยบายรัดเข็มขัด นี่แปลว่าภาพยนตร์เรื่องนี้หลงลืมหรือพยายามละเลยพลังทางสังคมที่เกิดขึ้นจริงของชนชั้นแรงงานทั่วโลกที่กำลังพัฒนาและขับเคลื่อนจนอาจนำไปสู่การยึดอำนาจจากชนชั้นนายทุนเพื่อนำอำนาจนี้ไปใช้แก้ไขปัญหาและวิกฤติที่เกิดขึ้น

บรรดานักเสรีนิยมและนักปฏิรูปทุทรรศน์นิยมเหล่านี้ต่างพากันหลงลืมข้อเท็จจริงที่ว่า ทุกวินาทีและทุกย่างก้าวที่ระบบทุนนิยมถดถอยลง ก็หมายความว่าระบบสังคมใหม่กำลังต่อสู้เพื่อจะถือกำเนิดมีความคืบหน้ามากขึ้นด้วย

ในทางกลับกัน นักมาร์กซิสต์คือกลุ่มคนที่เต็มไปด้วยอุดมการณ์ปฏิวัติแบบสุทรรศน์นิยม ด้วยความมั่นใจและเชื่อมั่นในพลังของชนชั้นแรงงานและคนรุ่นใหม่ว่าพวกเขาจะสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นกว่านี้ได้ และด้วยความเชื่อมั่นว่าพวกเขาสามารถกำหนดและเลือกเส้นทางชีวิตของตัวเองได้

เราจำเป็นต้องเลือกเส้นทางชีวิตของพวกเรา และแย่งเอาอนาคตของพวกเราคืนมา ในขณะที่พวกเสรีนิยมเอาแต่นั่งลงร่ำไห้ พวกเราต้องลุกขึ้นสู้เพื่อระบบสังคมนิยมที่วางรากฐานบนการตอบสนองและเติมเต็มความต้องการของชนชั้นแรงงานทั่วโลก

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า