การปฏิรูปแบบปฏิวัติ หนทางเปลี่ยนโลกในทัศนะของ André Gorz

26 พฤศจิกายน 2564

แปลจาก Andre Gorz’s non-reformist reforms show how we can transform the world today

Mark Engler and Paul Engler

แปลโดย จักรพล ผลละออ

อ่านบทความต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ ที่นี่

ตลอดช่วงเวลานับศตวรรษที่ผ่านมา นักคิดสายวิพากษ์ได้ถกเถียงโต้แย้งกันอย่างยาวนานถึงประเด็นที่ว่าเราจะสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างเป็นระบบได้ด้วยวิธีการไหน ระหว่าง การปฏิรูป กับ การปฏิวัติ นักยุทธศาสตร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักยุทธศาสตร์ในธรรมเนียมแบบนักสังคมนิยม ต่างแสดงจุดยืนต่อต้านทั้งวิธีการเปลี่ยนแปลงสังคมแบบทีละขั้น และทั้งวิธีการที่ต้องแตกหักกับระเบียบทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ดำรงอยู่

ในช่วงระหว่างกระแสฝ่ายซ้ายใหม่ ของทศวรรษที่ 1960 นักทฤษฎีสายออสเตรีย-ฝรั่งเศส นามว่า André Gorz ได้พยายามนำเสนอมุมมองที่ขยับไปไกลกว่าข้อถกเถียงแบบสองขั้วที่เป็นอยู่ และนำเสนอทางเลือกอื่นที่เป็นไปได้ Gorz ได้นำเสนอมโนทัศน์ที่เรียกว่า “การปฏิรูปแบบปฏิวัติ” ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมจำเป็นต้องทำหน้าที่สร้างและเก็บเกี่ยวชัยชนะเฉพาะหน้าไปพร้อมกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ขบวนการเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการต่อสู้ในระดับที่กว้างขวางขึ้น ตลอดจนเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงสังคมผ่านการปฏิวัติ การปฏิรูปแบบปฏิวัตินี้เองคือหนทางที่จะนำการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญให้มาถึง

ต้นกำเนิดของแนวคิดการปฏิรูปแบบปฏิวัติ

André Gorz เกิดในปี ค.ศ. 1923 ในเวียนนา หลังจากนั้นเขาอพยพไปฝรั่งเศสในช่วงท้ายของทศวรรษที่ 1940 และที่นั่นเขาได้ใช้ชีวิตในฐานะปัญญาชนที่เข้าไปมีส่วนร่วมกับขบวนการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งตัวเขาเองได้กลายไปเป็นนักปราศรัยผู้ปลุกเร้ามวลชน และเป็นเป็นผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดในขบวนการเคลื่อนไหวของชนชั้นแรงงาน, ขบวนการสังคมนิยม และนักกิจกรรมสายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ในช่วงทศวรรษที่ 1950 Gorz ได้ทำความรู้จักและกลายไปเป็นเพื่อนคู่สนทนาของ Jean-Paul Sartre ในการร่วมกันผลักดันและนำเสนอความคิดสายอัตถิภาวนิยมมาร์กซิสต์ ผ่านการลงบทความในวารสาร Les Temps Moderners ที่ Gorz ทำงานอยู่ในฐานะกองบรรณาธิการ ก่อนที่ถัดมาในช่วงทศวรรษที่ 1960 Gorz ก็ได้ก่อตั้งวารสารของตัวเองในขื่อ Le Nouvel Observateur โดยที่ในช่วงนี้เขาได้รับอิทธิพลทางความคิดจากนักการศึกษาและนักคิดเชิงวิพากษ์สังคมชื่อ Ivan Illich

ตลอดชีวิตของเขา Gorz เป็นผู้บุกเบิกข้อเขียนเกี่ยวกับการเมืองเชิงนิเวศ แต่ในวัย 80 ปี ข้อเขียนชิ้นสุดท้ายของเขามีชื่อว่า Lettre a D. อันเป็นผลงานที่รวบรวมเอาจดหมายรักที่ Gorz เขียนถึงภรรยาของตัวเองซึ่งป่วยเรื้อรังด้วยโรคความผิดปกติทางระบบประสาท และท้ายที่สุดทั้งคู่ได้ตัดสินใจที่จะจบชีวิตลงพร้อมกันในปี ค.ศ. 2007 ด้วยเหตุผลว่าทั้งคู่ไม่อาจจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้โดยปราศจากใครอีกคน

มโนทัศน์เรื่องการปฏิรูปแบบปฏิวัติของ Gorz ปรากฏขึ้นครั้งแรกในงานเขียนช่วงต้นของเขาเรื่อง A Strategy for Labor ที่ตีพิมพ์ในฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ. 1964 และแปลเป็นภาษาอังกฤษในปี ค.ศ. 1967 และปรากฏขึ้นอีกหลายครั้งในบทความต่างๆ ที่เขาเขียนในห้วงเวลาเดียวกัน ในความเห็นของ Gorz เขายืนกรานความเห็นที่แตกต่างไปจากนักสังคมประชาธิปไตยในการเสนอแผนการสำหรับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ในขณะที่นักสังคมประชาธิปไตยเชื่อว่าเราสามารถแก้ไขและเยียวยาภัยคุกคามจากระบบทุนนิยมได้ผ่านกระบวนการเลือกตั้งตามระบบการเมืองและอาศัยกลไกเจรจาต่อรองของรัฐสภา ซึ่ง Gorz ไม่เชื่อแนวทางเช่นนี้ และพร้อมกันนั้นเขาก็ปฏิเสธแนวทางการวิเคราะห์แบบฝ่ายซ้ายสุดโต่งที่มักจะเอาแต่ทำนายว่าการปฏิวัติจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่ไม่สามารถตอบได้ว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่

Dorine et Gérard Horst, alias André Gorz.jpg
André Gorz และภรรยา Dorine Kier

Gorz เขียนเอาไว้ในงานของเขาว่า “ในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา ขบวนการคอมมิวนิสต์ได้แพร่ขยายแนวคิดเกี่ยวกับคำทำนายถึงจุดจบของระบบทุนนิยม ว่าตัวระบบทุนนิยมนั้นจะต้องล่มสลายลงอย่างแน่นอน ในประเทศทุนนิยม ความคิดเหล่านี้แพร่ขยายออกไปภายใต้คำอธิบายว่า ความขัดแย้งภายในของระบบทุนนิยมจะพัฒนาแหลมคมมากยิ่งขึ้น และจะทำให้คุณภาพการดำรงชีวิตของมวลชนย่ำแย่ลง และในที่สุดชนชั้นแรงงานจะลุกขึ้นสู้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ชุดความคิดที่ว่านี้นำไปสู่การสร้างนโยบายทางการเมืองให้มวลชน ‘เฝ้ารอคอยการปฏิวัติ’ ที่จะมาถึง”

หากแต่การปฏิวัติในคำทำนายนี้ก็ไม่เคยเกิดขึ้น อย่างน้อยที่สุดปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงก็ไม่เป็นจริงตามคำทำนายสักเท่าไหร่ ในทางกลับกัน ในช่วงทศวรรษที่ 1960 บรรดาประเทศทุนนิยมก้าวหน้าต่างอยู่ในสภาวะเฟื่องฟูและสุขสำราญจากอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ จนมีคำกล่าวในภาษาฝรั่งเศสเรียกยุคสมัยดังกล่าวนี้ว่า Les Trente Glorieuses หรือ ช่วงสามทศวรรษแห่งความรุ่งโรจน์ Gorz อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ว่า “ระบบทุนนิยมไม่ได้แก้ไขปัญหาที่เกิดจาก ‘วิกฤติการณ์และความไร้เหตุผล’ ในตัวระบบเอง หากแต่ระบบทุนนิยมเรียนรู้ที่จะป้องกันการแตกหักหรือการปะทุขึ้นของการปฏิวัติอย่างฉับพลัน”

เขายังเขียนถึงอีกกรณีหนึ่งที่น่าสนใจเอาไว้ดังนี้ “บรรดาชนชั้นกรรมาชีพและชาวนาที่ยากจนไม่ได้ต้องการตัวแบบของสังคมใหม่ที่ชัดเจนในหัวก่อนที่พวกเขาจะลุกขึ้นต่อสู้โค่นล้มระบบที่เป็นอยู่ สิ่งที่เราต้องพูดกันอย่างตรงไปตรงมาก็คือพวกเขาคือกลุ่มที่ไม่มีสิ่งใดจะเสีย หากแต่เงื่อนไขทางสังคมก็ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ทุกวันนี้ ในสังคมและประเทศร่ำรวย มันยังไม่เป็นที่ชัดเจนในสายตาของพวกเขาว่าสภาพสังคมและระบบการเมืองที่เป็นอยู่นี้คือภาพตัวแทนของปิศาจร้ายที่อันตรายที่สุดที่เคยมีมา”

กล่าวคือ Gorz ได้ค้นพบและตระหนักว่าในสังคมปัจจุบัน ความทุกข์ยากและความยากจนอย่างที่สุดนั้นดำรงอยู่ แต่มันดำรงอยู่เฉพาะในกลุ่มคนส่วนน้อยของสังคม อาจจะอยู่ที่ประมาณ ร้อยละ 5 ของประชากร และคนกลุ่มนี้ที่ได้รับความทุกข์ทรมานอย่างที่สุดจากระบบทุนนิยมก็ไม่ใช่กลุ่มกรรมาชีพในโรงงานที่รวมตัวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและพร้อมจะลุกขึ้นสู้โดยพร้อมเพรียงกัน แต่กลับกันเลย คนกลุ่มนี้ถูกแยกสลายและแบ่งแยกออกเป็นคนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยที่กระจัดกระจายอยู่ในสังคม อันประกอบด้วย กลุ่มคนว่างงาน, ชาวนารายย่อย และบรรดาผู้สูงอายุที่กำลังเผชิญหน้ากับความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ

Gorz เชื่อว่าเมื่อเวลาเปลี่ยนไป เงื่อนไขทางสังคมเปลี่ยนแปลงไป ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมจำเป็นต้องรับเอายุทธศาสตร์การต่อสู้ใหม่ๆ เข้ามา โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุทธศาสตร์การต่อสู้ที่มุ่งมั่นในการสร้างชัยชนะที่เป็นรูปธรรมอันจะช่วยสนับสนุนกระบวนการต่อสู้ระยะยาวในช่วงเปลี่ยนผ่านก่อนไปสู่การปฏิวัติ เขาเสนอว่า “ปัจจุบันนี้ลำพังเฉพาะการสร้างความตระหนักรู้และยอมรับอุดมคติของระบอบสังคมนิยมนั้นไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว ทั้งนี้ก็เพราะการยอมรับอุดมคติของระบบสังคมนิยมจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อขบวนการสังคมนิยมได้แสดงให้มวลชนเห็นประจักษ์ชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรมว่าระบบสังคมนิยมจะสร้างและมอบอะไรให้แก่พวกเขาได้บ้าง ดังนั้นปมปัญหาที่เราเผชิญอยู่จึงไม่ใช่เรื่องความเชื่อหรืออุดมการณ์แต่คือการแสดงให้เห็นว่าระบบสังคมนิยมสามารถแก้ไขปัญหาให้แก่มวลชนได้อย่างไร ในแง่นี้เองกล่าวได้ว่าเราอยู่ในห้วงเวลาที่ไม่เพียงจำเป็นต้องแสดงให้เห็นว่าระบบสังคมนิยมคือทางเลือกที่เป็นไปได้ในระยะยาวเท่านั้น แต่ยังต้องแสดงให้เห็น ‘เป้าหมายในระยะเฉพาะหน้า’ ที่จะแก้ไขปัญหาปัจจุบันและนำทางเราไปสู่ระบบสังคมนิยมในระยะยาวด้วย”

ภายใต้ข้อเสนอข้างต้นนี้ มันคือการอธิบายว่า การเปลี่ยนแปลงสังคมจะเกิดขึ้นก็ด้วยผ่าน “กระบวนการต่อสู้เปลี่ยนแปลงในระยะยาวด้วยรูปแบบการต่อสู้ที่พร้อมด้วยสำนึกทางชนชั้น กระบวนการต่อสู้ระยะยาวนี้จะเริ่มต้นขึ้นด้วยการหยิบใช้ประโยชน์จากรูปแบบการดำเนินการเรียกร้องการปฏิรูปที่สอดคล้องกับการปฏิวัติ” การต่อสู้ภายใต้เสื้อคลุมการปฏิรูปนี้จะเป็นเสมือน ‘สนามฝึกฝนเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่ขบวนการต่อสู้’ ชัยชนะแม้เพียงเล็กน้อยจะช่วยเสริมสร้างพลังอำนาจและขับดันให้ขบวนการเดินหน้าไปสู่ความเติบโตซึ่ง Gorz ชี้ว่า “ในแง่นี้เอง การต่อสู้จะขยับก้าวหน้าขึ้น … ทุกสมรภูมิ ทุกการต่อสู้จะยิ่งเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่ขบวนการ มันจะยิ่งส่งเสริมความแหลมคมให้แก่ขบวนการ และนี่จะเป็นเครื่องสนับสนุนให้ขบวนการแรงงานสามารถยืนหยัดและโต้กลับต่อกรกับการโจมตีของกลุ่มพลังอนุรักษ์นิยมได้”

สิ่งที่ Gorz เสนอมาทั้งหมดนี้ไม่ใช่การปฏิเสธว่ามันไม่มีโอกาสหรือความจำเป็นที่จะเกิดการลุกขึ้นสู้หรือความขัดแย้งระหว่างชนชั้นแรงงานกับทุน หากแต่เขาเสนอมุมมองเหล่านี้เพื่อวิพากษ์บรรดาฝ่ายซ้ายในฝรั่งเศสที่ปฏิเสธการผลักดันการแก้ไขประเด็นปัญหาในระยะสั้นหรือระยะเฉพาะหน้าอันเนื่องมาจากความกลัวว่าการกระทำเช่นว่านั้นจะเป็นการบ่อนทำลายความปรารถนาที่จะปฏิวัติของชนชั้นแรงงานลง Gorz เขียนถึงเรื่องนี้ว่า

“บรรดาผู้นำฝ่ายซ้ายเหล่านี้เกรงกลัวว่าการไขปัญหาในเชิงรูปธรรมที่จับต้องได้ซึ่งช่วยแก้ไขปัญหาด้านเงื่อนไขการดำรงชีวิตของแรงงานในปัจจุบัน หรือการสะสมชัยชนะเล็กๆน้อยๆภายใต้กรอบกติกาของระบบทุนนิยมนั้นจะเป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ระบบทุนนิยมและทำให้ระบบทุนนิยมดำรงอยู่ได้ยาวนานมากขึ้น”

“ความกลัวเหล่านี้ … สะท้อนให้เห็นวิธีคิดอันโบราณคร่ำครึ และสะท้อนความแห้งแล้งทางความคิดเชิงด้านยุทธศาสตร์และด้านทฤษฎี ภานใต้สมมุติฐานที่ว่าการสะสมชัยชนะเล็กๆ น้อยๆ บางส่วนภายใต้กรอบกติกาของระบบทุนนิยมนั้นในท้ายที่สุดจะถูกกลืนกินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กลายเป็นการสร้างกำแพงที่แบ่งแยกระหว่างการต่อสู้ในสถานการณ์เฉพาะหน้าออกจากกระบวนการต่อสู้เพื่อสถาปนาระบอบสังคมนิยมในอนาคต และกลายเป็นการตัดขาดเส้นทางเชื่อมโยงของสองการต่อสู้ออกจากกัน … ความคิดเหล่านี้นำมาสู่การปฏิบัติการทางการเมืองและการเคลื่อนไหวแบบเลื่อนลอยและเอาแต่คิดภายใต้กรอบปัญหาเรื่องอำนาจว่าจะทำอะไรบ้าง “เมื่อเราได้เข้าสู่อำนาจ” หากแต่ปมปัญหาที่แท้จริงที่เราต้องขบคิดก็คือ เราจะต้องทำอย่างไรจึงจะได้เข้าสู่อำนาจ และเราต้องสร้างเครื่องมือและเจตจำนงที่จะเข้าสู่อำนาจอย่างแท้จริงขึ้นมาต่างหาก”

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง

ถึงตอนนี้เราอาจเกิดคำถามกันขึ้นมาบ้างแล้วว่า “การปฏิรูปแบบปฏิวัติ” หรือที่อาจะเรียกว่า “การปฏิรูปโครงสร้าง” นั้นคืออะไร?

Gorz ได้วางกฎเกณฑ์พื้นฐานในการจำแนกและพิจารณาสิ่งที่เข้าข่ายว่าเป็น “การปฏิรูปแบบปฏิวัติ” เอาไว้ โดยเขามองว่าการปฏิรูปแบบปฏิวัติคือการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ใช่เพียงแค่การปรับปรุงเพื่อให้ระบอบปัจจุบันสามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ เขาเขียนอธิบายว่า

“การปฏิรูปแบบปฏิวัติคือการดำเนินการทางการเมืองเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้เริ่มต้นภายใต้กรอบคิดว่ามีความเปลี่ยนแปลงอะไรที่พอจะเป็นไปได้บ้างภายใต้กรอบเพดานกติกาของระบบที่เป็นอยู่ แต่เริ่มต้นการคิดภายใต้มุมมองว่าเราควรผลักดันให้การเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการและตอบสนองความจำเป็นในชีวิตมนุษย์ ดังนั้นเองการปฏิรูปแบบปฏิวัติจึงไม่ได้ถูกกำหนดภายใต้โจทย์ที่ว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้าง แต่มันถูกกำหนดจากโจทย์ที่ว่าเราควรจะทำอะไร และสังคมควรจะเป็นไปแบบไหน”

แม้ว่าบ่อยครั้งที่งานเขียนของ Gorz จะมีลักษณะที่คลุมเครือ และก่อให้เกิดปัญหาในการเสาะหามาตรฐานที่ชัดเจนแน่นอนในงานของเขาเกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลต่อการประกอบสร้างความต้องการในเชิงอุดมคติ แต่ถึงกระนั้นเราก็ยังสามารถสกัดเอาหลักหรือหัวใจบางอย่างว่าด้วยการเปลี่ยนโครงสร้างออกมาได้บ้างดังนี้

ประการแรก ความต้องการของปัจเจกบุคคลจะต้องถูกนำมาพิจารณาในฐานะจุดเริ่มต้นหรือก้าวแรกในการต่อสู้เพื่อขยับไปสู่ประเด็นที่ใหญ่ขึ้น Gorz เขียนว่า “การปฏิรูปจะต้องถูกใช้ในฐานะของเครื่องมือ ไม่ใช่ถูกใช้ในฐานะเป้าหมายปลายทาง กล่าวคือเราต้องมองการปฏิรูปเป็นเครื่องมือหนึ่งในห้วงเวลาแห่งพลวัตรที่มีการเคลื่อนไหวท่ามกลางกระบวนการต่อสู้ ไม่ใช่มองมันในฐานะของเป้าหมายสุดท้าย” การปฏิรูปและการเรียกร้องการปฏิรูปนั้นจะต้องรับใช้เราในฐานะ “ห้องเรียนทางการเมือง และเครื่องมือสร้างการรวมตัวของมวลชน” ด้วยการชี้นำทิศทางการต่อสู้ไปสู่ “ทิศทางใหม่สำหรับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคม” ดังนั้นการเรียกร้องปฏิรูปใดๆ ก็ตามควรจะต้องเชื่อมร้อยเข้าหากันและเชื่อมโยงไปสู่มุมมองของการสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับที่กว้างขึ้น

ตามคำของ Gorz เขามองว่า ชนชั้นแรงงานคือกลุ่มคนที่ต้องเผชิญหน้ากับการต่อสู้อยู่ในทุกเมื่อเชื่อวัน ทั้งการต่อสู้เพื่อให้ได้มีงานทำ และได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม, อยู่ในการต่อสู้ของการสร้างสมดุลระหว่างทรัพยากรธรรมชาติและจำนวนประชากร, อยู่ในการต่อสู้เพื่อเอาชนะเงื่อนไขในการผลิตซ้ำแรงงาน และการต่อสู้เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยวัฒนธรรมแบบอุตสาหกรรม ซึ่งบรรดาการต่อสู้ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ไม่อาจจะเดินหน้าไปสู่ความสำเร็จได้เว้นเสียแต่ชนชั้นแรงงานจะได้รับการชี้นำทางด้วยตัวแบบทางสังคมที่เป็นทางเลือกอื่น อันเป็นทางเลือกที่จะช่วยให้การต่อสู้เหล่านี้ได้รับมุมมองที่ครอบคลุมและกว้างขวางมากขึ้น ในแง่นี้เองการปฏิรูปแบบปฏิวัติจะเข้ามารับหน้าที่ช่วยเหลือในการเปิดหนทางสู่ทางเลือกใหม่ที่เรากล่าวถึง Gorz กล่าวย้ำว่า “กิจกรรมหรือการเคลื่อนไหวของขบวนการสังคมนิยมจึงไม่ควรปฏิเสธทั้งวิธีการประนีประนอม หรือการยึดชัยชนะระยะเฉพาะหน้า ตราบเท่าที่การเคลื่อนไหวเหล่านี้มุ่งหน้าไปในทิศทางที่จะไปสู่ระบบสังคมนิยม และตราบเท่าที่เป้าหมายของการเคลื่อนไหวยังคงชัดเจนว่าขบวนการกำลังสู้เพื่อระบบสังคมนิยม”

ในทางปฏิบัติ Gorz มองว่านักสังคมนิยมควรจะต้องจับมือเป็นพันธมิตรกับกลุ่มนักประชาธิปไตยสังคมสายประนีประนอมและบรรดานักปฏิรูปเสรีนิยม ที่มีจุดยืนและเป้าหมายต่อสู้เรียกร้องการปฏิรูประดับเฉพาะหน้า-ระยะสั้น อย่างไรก็ตามการจับมือเป็นพันธมิตรกับทั้งสองกลุ่มนี้จะยิ่งตอกย้ำความสำคัญของการสำรวจและแยกแยะตัวเองของนักสังคมนิยมเพื่อแยกตัวเองออกมาจากบรรดานักปฏิรูปที่สนใจแต่การเรียกร้องรายประเด็นในระยะสั้นไปเรื่อยๆ จุดแบ่งแยกที่ชัดเจนที่สุดก็คือนักสังคมนิยมจะเรียกร้องการปฏิรูปโดยไม่หลงลืมเป้าหมายระยะยาว Gorz ย้ำประเด็นนี้ว่า

“ข้อเท็จจริงที่ว่าบรรดานักปฏิรูปและผู้นำสายประชาธิปไตยสังคมพึงพออยู่ที่จะยินยอมรับข้อตกลงของการปฏิรูปในแต่ละกรณีนั้น จะต้องไม่ถูกนำมาปะปนหรือเข้ามาบิดเบือนกับจุดยืนของของกลุ่มพลังสังคมนิยม และสำหรับยุทธศาสตร์ของนักสังคมนิยมนั้น หากเราคิดถึงเรื่อปฏิรูปภายใต้กรอบการมองหาเอาแต่การปฏิรูปที่สามารถเป็นไปได้ภายใต้กติกาของระบบ เมื่อนั้นความแตกต่างระหว่างเรากับนักปฏิรูปอื่นๆก็จะสลายหายไป”

ประการที่สอง Gorz ยืนยันว่าการค้นหาวิถีทางเพื่อจะให้ข้อเรียกร้องของเราได้รับชัยชนะ มีความสำคัญเท่าๆ กันกับความเข้มข้นหรือเนื้อหาของตัวข้อเรียกร้องเอง ข้อเรียกร้องจะจะต้องเป็น “ข้อวิพากษ์ที่มีชีวิต” ของความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดำรงอยู่ ไม่เพียงแต่ในเชิงเนื้อเท่านั้น “แต่รวมถึงในเชิงวิธีการผลักดัน” ด้วย ตัวอย่างเช่น  การกำหนดปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในอัตรา 1 เหรียญ/ชั่วโมง ที่เกิดจากการนัดหยุดงานและชุมนุมประท้วงของแรงงานอย่างยาวนาน ก็แตกต่างอย่างมากกับการปรับขึ้นโดยฉับพลันทันทีอันเนื่องมาจากการตัดสินใจของนายจ้างหรือโดยมาตรการของรัฐบาล Gorz เขียนถึงประเด็นนี้ว่า “การปฏิรูปใดๆ ก็ตาม ในด้านหนึ่งมันอาจจะกลายเป็นสิ่งที่ไม่ได้ก่อให้เกิดนัยสำคัญในการผลักดันการปฏิวัติ และยังทำให้พลังของการปฏิวัติถูกดูดซับไปโดยระบบทุนนิยม หากว่าการปฏิรูปเช่นว่านั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นการตัดสินเองโดยรัฐบาลและการบริหารจัดการโดยบรรดาข้ารัฐการ/เทคโนแครต”

Amna Akbar นักวิชาการผู้ศึกษางานเขียนของ Gorz ได้อธิบายถึงมโนทัศน์เรื่องการปฏิรูปแบบปฏิวัติเอาไว้ว่า “การปฏิรูปแบบปฏิวัติโดยตัวมันเองไม่ใช่การพยายามค้นหาคำตอบในทางนโยบายทางการเมือง แต่มันมีศูนย์กลางอยู่ที่การพยายามสร้างและสนับสนุนให้เกิดการใช้อำนาจโดยประชาชนเพื่อเอาชนะเงื่อนไขการดำรงชีวิตของพวกเขาเอง นี่คือสิ่งที่ Gorz เรียกว่าเป็นการแสวงหาความเป็นไปได้ในการปลดปล่อยตนเองของมวลชน”

นักคิดบางคนได้โต้แย้งความคิดของ Gorz โดยการเสนอว่า ข้อเสนอของ Gorz นั้นคือการเพ่งความสนใจไปที่เนื้อหาของข้อเรียกร้องระยะสั้นเป็นหลักและนั่นจะทำให้เราหลงลืมเป้าหมายที่แท้จริง นักคิดกลุ่มนี้มองว่าในขณะที่การปฏิรูปดำเนินไปซึ่งอาจจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวก็ได้ มันจะเกิดมุมมองหรือทางเลือกที่เป็น “การปฏิรูปที่ดีที่สุดที่เป็นไปได้” ที่จะทำให้เป้าหมายของการต่อสู้บิดเบี้ยวไปในที่สุด ท้ายที่สุดนักคิดกลุ่มนี้ยืนยันว่า การปฏิรูปนั้นไม่ใช่หนทางในการเปลี่ยนแปลงสังคม มีแต่การต่อสู้เท่านั้นที่เป็นการเปลี่ยนแปลงสังคม

ในการโต้แย้งข้อวิพากษ์วิจารณ์ข้างต้น เราจำเป็นต้องพูดถึงคุณลักษณะประการที่สามของการปฏิรูปแบบปฏิวัติ Gorz ยืนยันว่าการปฏิรูปแบบปฏิวัติคือการสร้างความเปลี่ยนแปลง โดยการดำเนินการและสนับสนุนให้เกิดการขยายตัวทางอำนาจของมวลชนพร้อมกับการลิดรอนอำนาจของบรรดาชนชั้นปกครองผ่านการปฏิรูป การปฏิรูปแบบปฏิวัตินี้คือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางอำนาจ สะสมความเข้มแข็งให้แก่ชนชั้นแรงงานเพื่อจะเดินหน้าไปสู่การยึดครองอำนาจรัฐ … รวมทั้งทำให้ขบวนการสังคมนิยมมีความแข็งแกร่งเพียงพอต่อการสถาปนา การประคับประคอง และการขยายพละกำลังของขบวนการท่ามกลางระบบเดิมที่เป็นอยู่ ในแง่นี้เองการปฏิรูปแบบปฏิวัติจึงทำหน้าที่รับใช้ในฐานะเครื่องมือบ่อนทำลายความแข้มแข็งของระบบทุนนิยม และสั่นคลอนข้อต่อ จุดอ่อนต่างๆของระบบ”

สำหรับ Gorz แล้ว แก่นสารสำคัญประการหนึ่งของการปฏิรูปแบบปฏิวัติคือการเพิ่มขยายอำนาจให้แก่ชนชั้นแรงงานในการเข้าควบคุมกระบวนการผลิตทั้งในโรงงานอุตสาหกรรมและในสถานที่ทำงาน ในปัจจุบันนักกิจกรรมทางการเมืองหลายคนได้ชี้ชวนให้ร่วมกันผลักดันสนับสนุนการแก้ไขกฎหมายแรงงาน โดยเฉพาะการแก้ไขเพื่อยกเลิกบทบัญญัติตามกฎหมายที่มีเนื้อหาต่อต้านสหภาพแรงงาน ซึ่งนี่ถือเป็นการคเลื่อนไหวแบบปฏิรูปที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสมดุลของอำนาจทางการเมืองด้วย ขณะที่อีกหัวข้อการเคลื่อนไหวหนึ่งคือการเคลื่อนไหวที่พุ่งเป้าไปที่การเรียกร้องระบบประกันสุขภาพในแง่ของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง

Meagan Day นักข่าวและนักเขียนได้กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า “ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่เพียงแต่จะเป็นข้อเรียกร้องที่ช่วยเหลือและยกระดับคุณภาพชีวิตของชนชั้นแรงงานเท่านั้น แต่มันยังช่วยเพิ่มขยายความสามารถของพวกเราในการโต้กลับการรุกคืบของชนชั้นปกครองอีกด้วย และหากสหภาพแรงงานไม่ยอมลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อปกป้องระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้แก่แรงงาน มันก็น่าตั้งคำถามว่าองค์กรเช่นนี้จะต่อสู้หรือมีอยู่ไปเพื่ออะไร? ลองจินตนาการดูว่าหากเรามีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ช่วยปลดแอกแรงงานไม่ให้ต้องกลัวว่าเมื่อตกงานแล้วจะไม่มีเงินไว้รักษาตัวเองยามเจ็บป่วยแล้ว แรงงานในปัจจุบันจะมีความอาจหาญมากขึ้นในการต่อรองเรียกร้องสิทธิของตนเองกับนายจ้างเพียงใด และหากเป็นเช่นนั้นเมื่อเราแยกความมั่นคงด้านสุขภาพออกจากการจ้างงานแล้วลองคิดดูสิว่าบรรดานายจ้างหรือชนชั้นนายทุนจะสูญเสียอำนาจเหนือแรงงานไปขนาดไหนทั้งในทางเศรษฐกิจและในทางการเมือง”

ในแต่ละกรณีที่ยกมา เราย่อมเห็นว่านี่ไม่ใช่เพียงการต่อสู้ที่มีเป้าหมายระยะสั้นเท่านั้น แต่มันยังเป็นการต่อสู้ที่ส่งผลเสริมสร้างความเข้มแข็งและความสามารถในการต่อสู้และสะสมชัยชนะได้มากยิ่งขึ้นในอนาคตให้แก่ขบวนการด้วย สำหรับ Gorz การปฏิรูปแบบปฏิวัติคือการดำเนินการเพื่อบ่อนทำลายระเบียบรากฐานของระบบเก่า ตามที่เขาเขียนอธิบายไว้ดังนี้ “การปฏิรูปเชิงโครงสร้างไม่ควรเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการที่รัฐของบรรดาชนชั้นปกครอง หรือรัฐของบรรดากระฎุมพียินยอมให้ทำ หรือเกิดจากการพยายามประนีประนอมโอนอ่อนอย่างที่สุด และปล่อยให้อำนาจอันมหาศาลของบรรดาชนชั้นปกครองดำรงอยู่ต่อไปโดยไม่ถูกแตะต้อง แต่การปฏิรูปแบบปฏิวัติควรจะต้องเริ่มต้นด้วยการพยายามเสาะหาจุดอ่อนของระบบและพุ่งเป้าเข้าไปเพื่อบดขยี้จุดอ่อนของระบบ”

ดังนั้น ยุทธศาสตร์ของการปฏิรูปแบบปฏิวัติย่อมเป็น “การมุ่งหมายที่จะสร้างชัยชนะในระยะเฉพาะหน้าเพื่อสั่งสมชัยชนะที่จะสั่นคลอนความมั่นคงของระบบ และพัฒนาความขัดแย้งภายในระบบให้แหลมคมยิ่งขึ้น เพื่อขยับเร่งความเข้มข้นของความขัดแย้ง และภายใต้การดำเนินการต่อสู้เพื่อเอาชนะและโต้กลับชนชั้นปกครองในระยะสั้นก็เพื่อสถาปนาและจุดประกายการต่อสู้ทางชนชั้นให้ขยายตัวมากขึ้น และทำให้ความขัดแย้งทางชนชั้นยกระดับสูงขึ้นและสูงขึ้น”

ศิลปะของการประนีประนอมแบบนักคิดสายวิพากษ์

หัวใจสำคัญของการนำเอามโนทัศน์เรื่องการปฏิรูปแบบปฏิวัติมาใช้ในทางปฏิบัตินั้นคือการสร้างสมดุลระหว่างปฏิบัติการทางการเมืองสองรูปแบบที่แตกต่างกันคือ หนึ่ง การเจรจาต่อรองประนีประนอมทางการเมืองที่อาจจะแทรกมาด้วยหลุมพรางทางการเมืองที่จะทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวเกิดการเพลี่ยงพล้ำได้ และ สอง การปฏิเสธการสะสมชัยชนะในระยะสั้นที่อาจจะนำปัญหาตามมาด้วยตัวมันเองและท้ายที่สุดอาจจะนำขบวนการไปสู่ทางตัน การดำเนินการปฏิรูปเชิงโครงสร้างนั้นจะต้องเดินไต่เส้นระหว่างหุบเหวสองประการที่กล่าวมาอย่างระมัดระวัง

เมื่อขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง เดินหน้าไปสู่การตั้งโต๊ะเจรจาต่อรองกับรัฐหรือผู้มีอำนาจเพื่อประนีประนอม กลุ่มนักคิดสายวิพากษ์มักจะเป็นผู้เอ่ยปากเตือนและเสนอให้ขบวนการเคลื่อนไหวปฏิเสธการเจรจาต่อรองด้วยการชี้ให้เห็นอันตรายอันเนื่องมาจากการเข้าไปร่วมมือกับรัฐและอันตรายจากการยอมรับให้ความชอบธรรมแก่ระบบ กระนั้นก็คือบางครั้งคำเตือนเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นเรื่องเลื่อนลอยและคำเตือนเหล่านี้มักจะถูกมองข้าม

หากแต่ประวัติศาสตร์และประสบการณ์ที่ผ่านมาของขบวนการเคลื่อนไหวก็ได้ยืนยันว่าการประนีประนอมแบบนักปฏิรูปแม้ว่ามันอาจจะนำมาซึ่งผลประโยชน์ที่เป็นจริงได้ แต่พร้อมกันนั้นมันก็แลกมาด้วยราคาที่ต้องจ่ายก็คือการสูญเสียผู้สนับสนุนขบวนการเคลื่อนไหวส่วนหนึ่งออกไป และบ่อยครั้งมันตามมาด้วยการทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวหมดพลังที่จะเคลื่อนไหวและไม่อาจจะฟื้นฟูขบวนการขึ้นมาได้อีก

การได้มาซึ่งชัยชนะโดยร่วมมือกับบรรดานักเลือกตั้ง ผู้มีพฤติกรรมยิ้มหน้าบานตลอดเวลาประกอบการทำกิจกรรมตัดริบบิ้นเปิดงานและในพิธีลงนามเอกสารสำคัญ เป็นการตอกย้ำความคิดหรือแนวโน้มความเชื่อเดิมของสังคมว่ามีแต่บรรดานักเลือกตั้งหรือนักการเมืองที่อยู่ในอำนาจเท่านั้นที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ก้าวหน้าขึ้นได้ ในแง่นี้เองมันส่งผลให้ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมกลายสถานะไปเป็นเพียง “แขกที่ได้รับเชิญเข้ามา” ประกอบฉากการเรียกร้องผลักดันการปฏิรูป ที่ไม่ได้มีความจำเป็นอีกต่อไปภายในกระบวนการปฏิรูปที่ต้องอาศัยเฉพาะแต่ความสามารถของนักการเมืองหรือความสามารถของข้ารัฐการ

ผลของการกระทำดังกล่าวนั้นย่อมส่งผลเป็นการทำลายพลังอำนาจของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมหรือขบวนการเคลื่อนไหวนอกสภาในการสร้างอำนาจกดดัน และทำให้บรรดาผู้เชี่ยวชาญเริ่มต้นการเข้ามาแทรกแซงและช่วงชิงกระบวนการปฏิรูปไปจากมวลชน และเบียดขับให้ขบวนการเคลื่อนไหวหมดบทบาทลงไปในที่สุด

จุดแข็งประการหนึ่งของข้อวิเคราะห์แบบ Gorz คือข้อวิเคราะห์นี้ไม่ได้ปฏิเสธความยากลำบากข้างต้น แต่กลับกันเขายืนยันว่าขบวนการเคลื่อนไหวต้องเผชิญหน้ากับความยากลำบากนี้ร่วมกัน ทั้งนี้ก็เพราะในความจริง ระบบที่เป็นอยู่นั้นมีอำนาจมหาศาลที่จะบ่อนทำลายพันธมิตรที่เรียกร้องการปฏิรูปได้ รวมทั้งป้องปรามแนวโน้มของการลื่นไถลไปสู่การเกิดการปฏิวัติอีกด้วย

ภายใต้สถานการณ์แบบที่โอกาสของการสร้างความร่วมมือเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ และผลลัพธ์ของมันก็ไม่ใช่เรื่องที่แน่นอนตายตัว Gorz จึงยืนยันว่า “เราอาจจะต้องยอมเสี่ยงบ้าง ในเมื่อมันไม่มีทางเลือกอื่น”

Gorz ยืนยันจุดยืนนี้ของตัวเองก็เพราะเขายืนยันอย่างชัดเจนว่าการพยายามปฏิเสธการเรียกร้องปฏิรูปออกไปนั้นคือการโดดเดี่ยวตัวเองในทางการเมือง เขาวิพากษ์วิจารณ์นักคิดอุดมคติสุดโต่ง และ กลุ่มนักคิดยึดติดตำราที่เสนอให้เราต้องแยกเอาการปฏรูปออกจากการต่อสู้ และทำให้การต่อสู้เป็นไปโดยบริสุทธิ์ผุดผ่อง ทั้งนี้ก็เพราะมีแต่การนำเอาการต่อสู้เพื่อเป้าหมายระยะสั้นเข้ามาประกอบร่วมเท่านั้นที่จะให้ข้อเรียกร้องแบบสุดโต่งในอนาคตมีโอกาสเป็นไปได้

บรรดาผู้ที่ผลักดันและต่อสู้เพื่อการปฏิรูปเชิงโครงสร้างจะต้อง “ไม่มุ่งหมายที่จะพยายามฟลักดันให้เกิดการปฏิรูปแบบต่อต้านนายทุนที่ไม่อาจจะเข้ากันได้กับระบบที่เป็นอยู่โดยฉับพลันทันที ตัวอย่างเช่น การเรียกร้องให้ยึดเอากิจการอุตสาหกรรมสำคัญๆ กลับมาเป็นของรัฐให้หมดในทันที” Gorz เสนอว่าการปฏิรูปที่มุ่งหมายจะทำลายล้างระบบทุนนิยมให้สลายหายไปในทันทีนั้นดูเป็นหนทางที่เย้ายวนและเป็นเป้าหมายของพวกเรา หากแต่ประเด็นสำคัญก็คือตอนนี้ชนชั้นแรงงานยังไม่มีอำนาจดำเนินการสร้างความเปลี่ยนแปลงแบบที่ว่า “หากการปฏิวัติสังคมนิยมยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในตอนนี้ ในทางเดียวกันการสร้างการปฏิรูปที่ทำลายระบบทุนนิยมในฉับพลันทันทีก็ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน”

แน่นอนว่ากลุ่มนักคิดนักคิดสายวิพากษ์ย่อมตั้งคำถามว่า แล้วการก้าวเดินแบบไหนที่พวกเขาต้องยอมรับ ภายใต้เงื่อนไขที่พวกเขาทราบดีว่าการต่อสู้นี้อาจจะไม่ได้เติมเต็มความต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมของพวกเขาได้ในทันที Gorz ตอบคำถามนี้โดยการยกตัวอย่างการต่อสู้ระหว่างสหภาพแรงงานกับนายจ้างโดยชี้ว่าชัยชนะที่สหภาพแรงงานได้รับนั้น “ไม่ใช่ชัยชนะในรูปแบบของการทำลายล้างระบบทุนนิยม ชัยชนะในการต่อสู้เหล่านี้ (ประเด็นเฉพาะหน้า) เพียงแต่จะช่วยเปิดประตูให้เราขยับไปสู่สมรภูมิการต่อสู้ใหม่ และเดินหน้าไปสู่โอกาสในการได้รับชัยชนะใหม่เพื่อสะสมชัยชนะ

อย่างไรก็ตามในทุกๆ ก้าวย่างของเส้นทางการต่อสู้นี้ การต่อสู้ในบางห้วงอาจจะจบลงที่การเจรจาประนีประนอม บนเส้นทางที่เต็มไปด้วยการถูกล้อมกรอบและการวางหลุมพรางบ่อนทำลายขบวน ภายใต้กระบวนการต่อสู้นี้เอง สหภาพแรงงานหรือขบวนการเคลื่อนไหวอาจจะต้องยอมกลืนเลือดรับบาดแผลบางประการรวมถึงเดินหน้ารับความเสี่ยงที่จะกลายไปเป็นส่วนหนึ่งของการรับรองความชอบธรรมในอำนาจของนายจ้างด้วย”

“เราจะต้องไม่พยายามหลบเลี่ยงหรือปิดบังความเป็นจริงเหล่านี้ กระนั้นก็ดีอีกเรื่องที่เราต้องยอมรับก็คือในกระบวนการต่อสู้เหล่านี้มันได้สร้างคุณประโยชน์ให้แก่ขบวนการด้วย ภายใต้การต่อสู้อย่างต่อเนื่อง สำนึกทางชนชั้นของแรงงานจะถูกยกระดับขึ้น พวกเขาจะตระหนักได้เองว่าข้อเรียกร้องของพวกเขายังไม่ได้รับการตอบสนอง และพวกเขาย่อมเตรียมพร้อมสำหรับการต่อสู้เรียกร้องให้สมรภูมิใหม่ พร้อมกันนั้นการต่อสู้นี้ก็ช่วยสอนให้มวลชนรับรู้ถึงการมีอยู่ในพลังอำนาจของตัวเอง ซึ่งเครื่องชี้วัดก็คือการที่มวลชนช่วยกันกำหนดทิศทางของการเคลื่อนไหวให้มุ่งตรงไปในทิศทางที่จะตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของพวกเขาอย่างที่สุด (แม้ว่าข้อเรียกร้องเหล่านั้นอาจจะไม่ได้รับการตอบสนองก็ตาม) ในแง่นี้เองการเจรจาต่อรองประนีประนอมนั้นไม่ได้ทำให้เป้าหมายของมวลชนลดระดับลง แต่กลับกันมันทำให้ขบวนการขยับเข้าใกล้เป้าหมายสูงสุดมากขึ้นเรื่อยๆ”

คำถามประการถัดมาก็คือ แล้วสถานการณ์ ณ จุดไหนที่เหมาะสมหรือคุ้มค่าแก่การประนีประนอม ต่อประเด็นนี้ต้องยอมรับกันตามตรงว่ามันไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจน Gorz เสนอว่าการปฏิรูปที่เกิดขึ้นอยู่จะเป็นการการปฏิรูปโดยทั่วไป หรือเป็นการปฏิรูปแบบปฏิวัติ บ่อยครั้งสิ่งที่จะแยกแยะมันออกจากกันก็ขึ้นอยู่กับบริบทในตอนนั้น ตัวอย่างเช่น การเรียกร้องให้รัฐดำเนินการสนับสนุนด้านการจัดหาที่อยู่อาศัยที่เข้าถึงได้ ข้อเรียกร้องเหล่านี้ดูจะเป็นเรื่องที่ก้าวหน้าอย่างมาก แต่เราก็มักจะเห็นว่าเมื่อมีการตอบสนองข้อเรียกร้องเหล่านี้การดำเนินการกลับกลายไปเป็นการจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อสนับสนุนให้คนซื้อบ้าน ซึ่งท้ายที่สุดแล้วคนที่ได้รับประโยชน์ที่สุดก็คือบรรดาเจ้าของกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งปัดคำว่า “สนับสนุนการจัดหาที่อยู่อาศัยที่เข้าถึงได้” ทิ้งลงถังขยะไป

ท่ามกลางปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นในกรณีข้างต้น Gorz ให้เหตุผลในเรื่องนี้ว่า

“การดำเนินนโยบายจัดหาที่อยู่อาศัยแบบที่ว่า ในขั้นต้นอาจจะต้องมีการเริ่มต้นตัดสินใจเลือกว่าจะดำเนินการอย่างไร หนทางหนึ่งอาจจะเป็นการเวนคืนที่ดินจากผู้ถือครองที่ดินขนาดใหญ่เพื่อนำที่ดินนั้นมาสร้างที่พักอาศัย หรือการนำเอาที่พักอาศัยที่มีอยู่แล้วเวนคืนมาเป็นที่พักอาศัยของรัฐ โดยมีเป้าหมายเพื่อทำลายศูนย์กลางของการกระจุกตัวของทุน … ในทั้งสองกรณีผลลัพธ์ของมันจะออกมาเหมือนกันคือมีที่พักอาศัย 500,000 ยูนิตสำหรับประชาชน แต่ความต่างก็คือมันดำเนินการในรูปแบบ สนับสนุนทุนนิยม หรือ ต่อต้านระบบทุนนิยม”

ความคลุมเครือที่ว่านี้ได้สร้างสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกให้แก่ขบวนการเคลื่อนไหว มันทำให้ขบวนการต้องเผชิญหน้ากับปมปัญหาที่ไม่อาจจะตอบได้เกี่ยวกับการต้องเลือกระหว่างการต่อสู้ในเชิงอุดมการณ์ หรือการแก้ไขปัญหาเงื่อนไขการดำรงชีวิตที่เป็นจริง ในแง่นี้เองความเข้มแข็งของข้อเสนอของ Gorz จึงไม่ใช่เพียงแค่การเสนอคำตอบต่อคำถามข้างต้นในรูปแบบที่ง่ายที่สุด แต่พร้อมกันนั้นข้อเสนอของเขายังมาพร้อมกับกรอบความคิดที่ว่าเราสามารถตัดสินใจ ประเมินและเลือกสนับสนุนได้ว่าในแต่ละห้วงเวลาขบวนการต่อสู้ควรเดินหน้ายืนยันข้อเรียกร้องต่อไป หรือจะเข้าสู่การเจรจาต่อรอง ข้อเสนอของเขาได้สร้างรูปแบบการปรับตัวให้แก่ขบวนการในการปรับกลยุทธ์การเคลื่อนไหวต่อสู้ โดยมุ่งหมายให้เราสร้างสมดุลระหว่างเป้าหมายในการผลักดันการปฏิวัติ (เป้าหมายระยะยาว) กับ การต่อสู้เพื่อช่วงชิงและแก้ไขเงื่อนไขการดำรงชีพของมวลชนในปัจจุบัน (เป้าหมายระยะสั้น)

กล่าวโดยสรุปได้ว่า การรับเอามโนทัศน์เรื่องการปฏิรูปแบบปฏิวัตินั้นไม่ใช่การทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวหลุดออกจากการถกเถียงเรื่องยุทธศาสตร์การต่อสู้เพื่อการปฏิวัติ และผลลัพธ์ของการต่อสู้ในกรอบปฏิรูปแบบปฏิวัติไม่ว่ามันจะออกมาในรูปแบบที่ประสบความสำเร็จตามข้อเรียกร้อง หรือได้รับการสนองในระดับที่น่าพอใจ (แต่ไม่ที่สุด) ก็ตาม สิ่งที่เรามั่นใจได้ก็คือผลลัพธ์ของกระบวนการต่อสู้นี้ก็สร้างคุณูปการให้แก่ขบวนการต่อสู้ได้เช่นกัน.

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า