ปฐมนิเทศ ‘เบิกโรง’ ตลาดวิชาอนาคตใหม่ x ธงชัย วินิจจะกูล : ประวัติศาสตร์นอกขนบ

31 พฤษภาคม 2564

บทความนี้เป็นการถอดเสียงจากการปฐมนิเทศ ‘เบิกโรง’ ประวัติศาสตร์นอกขนบ ภายใต้โครงการ ‘ตลาดวิชาอนาคตใหม่’ Common School คณะก้าวหน้า เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2021 โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร. ปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นผู้กล่าวเปิดโครงการศาสตราจารย์ ดร. ธงชัย วินิจจะกูลเป็นผู้บรรยายหลัก โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ลลิตา หาญวงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประเทศเมียนมาร์และอาเซียน และอาจารย์คงสัจจา สุวรรณเพ็ชร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ดำเนินรายการในวันบรรยายจริง เข้าร่วมพูดคุยในกิจกรรมด้วย เนื่องด้วยสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เราจึงจัดกิจกรรมทั้งหมดผ่าน Zoom Video Conference เพื่อหลีกเลี่ยงการพบปะกันในที่สาธารณะ แม้จะเป็นกิจกรรมออนไลน์แต่ก็มีผู้เข้าร่วมฟังการถ่ายทอดสดและตั้งคำถามชวนพูดคุยกับวิทยากรตลอดกิจกรรม

ทำไมจึงต้องมี ‘ตลาดวิชา’ โดย ปิยบุตร แสงกนกกุล

ปิยบุตรเริ่มต้นด้วยการอธิบายหลักการและเหตุผลของการเปิดโครงการนี้ว่า การเปิดตลาดวิชาอนาคตใหม่ในครั้งนี้ เกิดจากพื้นฐานความคิดที่ว่า การเปลี่ยนแปลงอำนาจขนาดใหญ่นั้น ไม่สามารถทำได้อย่างง่ายดายด้วยกำลังอาวุธจากการยึดอำนาจ อาวุธอาจเป็นเครื่องมือในการยึดเพียงสิ่งสร้างทางกายภาพ การโหวตในสภาด้วยเสียงข้างมากอาจสร้างนโยบายใหม่ๆ ขึ้นมาได้ แต่ทั้งหมดล้วนไม่สามารถยึดกุมจิตใจของผู้คนจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับสังคมได้ สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ผู้ยึดอำนาจไม่อาจปกครองประเทศได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด 

ปิยบุตร แสงกนกกุล กล่าวเปิดกิจกรรมปฐมนิเทศผ่านทาง Zoom Video Conference

ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่จะต้องมาจากการเปลี่ยนรากฐานทางความคิดด้วย การทำงานทางความคิด จึงเป็นต้นกำเนิดของการก่อตั้ง ‘Common school’ ขึ้นมา โดยมีปณิธาน 3 ประการหลักคือ 1. เป็นเรื่อง ‘Common’ หรือสามัญทั่วไปที่ทุกคนจะสามารถเข้ามาค้นคว้าหาความรู้ต่างๆ ได้ 2. เป็นพื้นที่สาธารณะ หรือ Common ให้ทุกคนมาใช้ประโยชน์ร่วมกัน 3. สามัญสำนึก หรือ ‘Common sense’  เพื่อการรณรงค์ในทางความคิดเพื่อจะเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกที่ฝังรากลึกอยู่แต่เดิมตามขนบ

ในที่นี้ Common school จึงไม่ใช่โรงเรียนในทางการเมืองที่มีเป้าหมายเพื่อผลิตนักการเมือง แต่เป็นพื้นที่ของการรณรงค์ในทางความคิด โดยมีกิจกรรมต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นโครงการ Reading Revolution หรือ ‘อ่านเปลี่ยนโลก’ ที่มีทั้งการจัดห้องสมุดให้ผู้สนใจได้เข้ามายืมอ่าน โดยมีหนังสือทั้งหมด 21 รายการ เปิดบริการส่งถึงบ้าน กิจกรรม Reading Group เดือนละหนึ่งครั้ง รตั้งวงสนทนากันระหว่างผู้เขียน นักวิชาการหรือผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องในประเด็นนั้นๆ กับผู้อ่าน ส่วนโครงการอื่นๆ ก็ได้แก่ ‘Progressive Fund’ มอบเงิน ทุนกับผู้ที่สนใจไปทำกิจกรรมต่างๆ กิจกรรมค่าย ‘Awaken land’ ให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ ตั้งแต่อายุ 15 – 25 ปีมาพบปะพูดคุยกันและทำกิจกรรมร่วมกัน รวมถึงโครงการอื่นๆ อีกมากมาย และที่สำคัญคือโครงการ ‘ตลาดวิชา อนาคตใหม่’ 

คำว่า ‘ตลาดวิชา’ เริ่มต้นใช้ในประเทศไทยครั้งแรกๆ ในสมัยที่อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ได้ก่อตั้ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้นมาในวันที่ 27 มิถนายน 1934 โดยเอาวิธีคิดในการตั้งมหาวิทยาลัยมาจากประเทศฝรั่งเศส คือ มหาวิทยาลัยที่สอนเรื่องวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง โดยเป็นหนึ่งในนโยบายหลัก 6 ประการของรัฐบาลคณะราษฎร คือ จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร โดยเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้ามาเรียนโดยไม่ต้องมีการสอบเข้า เสียค่าเล่าเรียนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ก็สามารถเข้าเรียนวิชากฎหมาย การเมือง เศรษฐกิจ ปรัชญาต่างๆ เพื่อสร้างพลเมืองของระบอบแบบใหม่นั่นเอง

เช่นเดียวกันกับในประเทศฝรั่งเศส ก็มีวิทยาลัยหนึ่งที่น่าสนใจ คือ Collège de France ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1530 มาจนถึงปัจจุบัน และเป็นสถาบันการศึกษาวิจัยที่สำคัญ ในแต่ละปีจะมีการประกาศบรรยายสาธารณะผ่านเว็บไซต์โดยอาจารย์ที่เชี่ยวชาญ และเปิดให้เข้าเรียนได้ฟรีโดยมีการถ่ายทอดสดออนไลน์ และการอัดคลิปบันทึกสำหรับทบทวนย้อนหลังได้ 

สำหรับอีกข้อคิดหนึ่งนั้น คือหลักคิดที่ว่า การศึกษาคือการเรียนรู้ตลอดชีวิตไม่จำเป็นต้องเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัย ในสถาบันการศึกษาแบบทางการ บางครั้งอาจจะจบสาขาหนึ่งมาแล้ว แต่อยากมีความรู้ในศาสตร์อื่นๆ ก็สามารถไปเรียนได้ เช่นเดียวกัน การศึกษาชั้นสูงจึงไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าไปอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยเท่านั้น ต้องมีการสอบเข้า ลงทะเบียน การสอบออก การรับปริญญา ต้องมีเครื่องแบบนักศึกษาเพียงรูปแบบเดียวเท่านั้น 

ในขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยไทยในปัจจุบันก็กำลังประสบกับอุปสรรคขัดขวางของการศึกษา คือติดกับดักของระบบราชการ (Bureaucracy) และเสรีนิยมใหม่ (Neo liberalism) ซึ่งค่อยๆ กัดเซาะบ่อนทำลายการศึกษามากขึ้น กล่าวคือ มหาวิทยาลัยไทยในปัจจุบันเริ่มคำนึงถึงผลลัพธ์ของการขาดทุน-กำไรมากกว่าการยกระดับทางสติปัญญาและคุณภาพของมนุษย์ ภาครัฐได้นำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบทำให้มหาวิทยาลัยต้องคิดถึงการหารายได้มาเลี้ยงตนเองมากขึ้น การยึดติดกับการจัดอันดับต่างๆ มากกว่าคุณภาพเนื้อหาการศึกษา 

วิธีคิดแบบนี้บีบบังคับให้แต่ละมหาวิทยาลัยต้องพิจารณาเพียงว่า คณะสาขาวิชาไหนที่ตนเองเปิดอยู่สามารถหารายได้ได้ดี หรือสร้างอาชีพตอบโจทย์กับระบบทุนนิยมได้ ในขณะที่วิชาในด้านศาสตร์ยกระดับทางความคิด หรือสังคมศาสตร์ ซึ่งไม่สามารถสร้างอาชีพได้โดยตรง ก็ต้องปิดตัวลง 

“ถ้าหากเดินตามแนวทางเช่นนี้ต่อไป ในอนาคต มหาวิทยาลัยในไทยจะเหลือไม่กี่คณะ นั้นคือคณะที่ทำเงินได้ ส่วนวิชาที่เป็นวิชาเกี่ยวกับความคิดของมนุษย์ กระตุ้นจินตนาการใหม่ๆ ของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็น ประวัติศาสตร์ ปรัชญา วิชาเหล่านี้จะค่อยๆ หายไป นี่คืออุปสรรคที่มหาวิทยาลัยไทยกำลังประสบอยู่ เช่นเดียวกันกับระบบการประเมิน การแข่งขัน ด้วยระบบราชการต่างๆ ทำให้อาจารย์มหาวิทยาลัยต้องไปเสียเวลา อยู่กับเอกสารงานทะเบียน การประเมินผล ต้องกรอกแต้ม ต้องได้กี่คะแนน ปีนี้กรอกเสร็จแล้ว ปีหน้ามาใหม่ ต้องกรอกกันใหม่ การบริหาร การขอตำแหน่งวิชาการ นี่คืออุปสรรคที่เกิดชึ้นกับการศึกษาในระดับสูงของประเทศไทย”

ปิยบุตร แสงกนกกุล กล่าว

การศึกษาจึงไม่ใช่เรื่องของการผลิตบุคลาการให้ตรงสายอาชีพ การทำเงินให้กับมหาวิทยาลัย การศึกษาต้องสร้างความคิดใหม่ๆ หรือ “ความขบถ” ให้กับผู้มาเรียนรู้ ตามคำของหลุยส์ มิเชล (Louise Michel) วีรสตรีนักปฏิวัติคอมมูนปารีส ประเทศฝรั่งเศส ปี 1987 ว่า “ภารกิจของครูอาจารย์ นั่นคือการมอบวิธีการทางปัญญาให้กับประชาชน เพื่อให้เขาเป็นขบถ” เพราะถ้าหากเรียนแล้วคิดแบบเดิม การศึกษาจะต่างอะไรกับการผลิตหุ่นยนตร์ วัตถุประสงค์ของการศึกษานอกขนบคือ ทำให้เห็นว่าสิ่งที่ผ่านมานั้นเป็นเพียงโฆษณาชวนเชื่อ สิ่งที่ผ่านมานั้นเป็นเพียงกระบวนการเพื่อรับใช้อุดมการณ์อีกแบบ และเมื่อเกิดการคิดแบบใหม่มากขึ้น สังคมโดยรวมก็จะเกิดความก้าวหน้า เช่นเดียวกับการพัฒนาสู่ยุคสมัยของโลก สิ่งเหล่านี้จึงเป็นที่มาทั้งหมดของการเปิด Common School คือการเปิดพื้นที่การเรียนรู้ให้กับทุกๆ คนสามารถเข้าถึงได้

Common School ยังยึดหลัก 5 ประการหรือ ‘5 ท.’ ด้วยกัน คือ 1. ทั่วไป โดยทุกคนสามารถเข้ามาเรียนได้ โดยไม่จำเป็นต้องผ่านการศึกษาในด้านนั้นๆ มาก่อน 2. ทั่วถึง ทุกคนสามารถสามารถเข้าถึงความรู้ทั้งแบบบรรยายสดและออนไลน์ รวมถึงสามารถฟังย้อนหลังได้ 3. เท่าเทียม สามารถเข้าฟังการบรรยายได้อย่างเท่าเทียม ไม่มีการคัดกรอง 4. ทันโลก วิชาที่ถูกคัดมา เป็นวิชาที่เรียนรู้อดีต รู้จักปัจจุบัน และพร้อมก้าวหน้าไปสู่อนาคต  5. ทางเลือก วิชาต่างๆ ที่คัดสรรมา เริ่มต้นจากวิชาประวัติศาสตร์นอกขนบ ซึ่งครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร. ธงชัย วินิจจะกูล ในการออกแบบหัวข้อบรรยายต่างๆ ต่อไปก็จะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ ปัรชญาต่างๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ เป็นทางเลือกนอกจากระบบการศึกษา 

‘เบิกโรง’ ประวัติศาสตร์นอกขนบ: ธงชัย วินิจจะกูล

ธงชัยเริ่มต้นด้วยการอธิบายว่า ตนนั้นได้เติบโตมาในรั้วมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ จึงทำให้ทราบว่าตลาดวิชามีความสำคัญอย่างยิ่ง การเปิดตลาดวิชาอนาคตใหม่เป็นแนวคิดที่ดี สำหรับการจัดกิจกรรม Common school ในหัวข้อประวัติศาสตร์นอกขนบครั้งนี้ การเรียนจะแบ่งเป็นการบรรยาย 4 ครั้ง การพูดคุย 4 ครั้ง มีรายละเอียดต่างๆ และมีหนังสือให้อ่านเพิ่มเติม 

จุดประสงค์ของการ ‘เบิกโรง’ เพื่ออธิบายที่มาและหัวข้อการบรรยายโดยจะแบ่งเป็น 2 เรื่อง คือ หลักการและเหตุผลของการศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ ความรู้ประวัติศาสตร์ โดยในที่นี้คืออุดมการณ์ที่รับใช้รัฐ และที่มาของการเลือกหัวข้อย่อยในการบรรยาย รวมถึงหนังสืออ่านเพิ่มเติม และการบ้าน

ศาสตราจารย์ ดร. ธงชัย วินิจจะกูล ผู้บรรยายหลักประวัติศาสตร์นอกขนบ

ประวัติศาสตร์นอกขนบ

เริ่มแรก ในการที่เราจะเข้าใจคำว่า “ประวัติศาสตร์นอกขนบ” ได้นั้น จะต้องเข้าใจคำว่า ประวัติศาสตร์ “ในขนบ” เสียก่อน คือ ประวัติศาสตร์ที่เป็นอุดมการณ์รับใช้รัฐ 

คำว่าประวัติศาสตร์นั้น มี 4 ความหมายใหญ่ คือ

  1. อดีตและความเปลี่ยนแปลง (Change over time) 

นักประวัติศาสตร์ไม่ได้สนใจแค่อดีตแต่สนใจความเปลี่ยนแปลงและความรู้เกี่ยวกับเรื่องอดีต 

  1. ความรู้ทางประวัติศาสตร์ 

เพราะความรู้คือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมา มนุษย์สามารถรับรู้เพียงส่วนหนึ่งของอดีตเพียงแค่นั้น ความรู้ทางประวัติศาสตร์ จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงจำนวนหนึ่ง 

  1. อุดมการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่มีผลต่อสังคม

ในที่นี้ ความรู้จะต้องแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ความรู้ที่ส่งผลต่ออุดมการณ์ทางประวัติศาสตร์ และความรู้ที่ไม่ส่งผลต่ออุดมการณ์ทางประวัติศาสตร์ ยกตัวอย่างเช่น ความรู้ทั่วไปที่ว่า พระนเรศวรเกิดวันที่เท่าไหร่ ซึ่งเรารู้ว่า ในอดีตพระนเรศวรมีการเกิดแน่ๆ ตามหลักฐานต่างๆ แต่เรื่องดังกล่าวไม่ได้มีผลต่ออุดมการณ์ทางประวัติศาสตร์

ในขณะที่อีกชุดความรู้หนึ่งอย่าง “ ไทยไม่เคยเสียเอกราช ” ได้กลายเป็นอุดมการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่มีผลต่อสังคมมาก ไม่ว่าชุดความรู้นั้นจะถูกต้องตรงกับอดีตหรือไม่ก็ตาม แต่มันก็ได้กลายเป็นชุดความรู้ทางประวัติศาสตร์ซึ่งส่งผลต่อสังคมไปเรียบร้อยแล้ว 

“ อดีตจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง แต่เรารู้ไม่หมด เรารู้ส่วนหนึ่งของอดีต เรารู้ส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลง แต่ความรู้เหล่านั้นได้กลายเป็นอุดมการณ์ทางประวัติศาสตร์ ซึ่งสังคมนั้นเชื่อ ส่งผลให้เกิดพฤติกรรม การกระทำ กิจกรรม เทศกาล กิจวัตรประจำวันหลายอย่างที่เกี่ยวกับความเชื่อทางประวัติศาสตร์นั้นๆ เราเรียกมันว่า อุดมการณ์ทางประวัติศาสตร์ ”

ธงชัย วินิจจะกูล กล่าว

การกล่าวถึงคำว่า “ ประวัติศาสตร์ ” จึงอยู่ในหลายความหมาย เช่น ความหมายที่ 1 ความหมายที่ 2 หรือ ความหมายที่ 3 โดยเฉพาะในประเทศไทย ยกตัวอย่างเช่น ทุกวันนี้ยังมีคนเชื่อว่าคนไทยเดินทางมาจากเทือกเขาอัลไต ทั้งที่นักประวัติศาสตร์เรียนรู้มาอย่างน้อย 30 ปีว่าไม่ใช่ อดีตไม่เคยมี แต่อย่างน้อยในแบบเรียนก็ยังปรากฏว่าทฤษฎีนี้เป็นส่วนหนึ่งในเรื่องอดีตความเป็นมาของคนไทย จนกลายเป็นอุดมการณ์อย่างหนึ่ง

  1. มโนทัศน์ต่อทิศทางของสังคมในระยะยาว 

เรามักจะคุ้นชินกับคำกล่าวที่ว่า “สักวันหนึ่งประวัติศาสตร์จะตัดสิน” “กงล้อประวัติศาสตร์จะเดินไปข้างหน้าไม่มีทางถอยหลัง” ประโยคทั้งสองนี้ไม่ได้หมายถึง “อดีต” แต่เป็นการใช้ประวัติศาสตร์ในการคาดหมายอนาคต ขณะเดียวกันก็ไม่ได้พูดถึงอุดมการณ์ใดๆ อย่างชัดเจน เป็นเพียงมโนทัศน์หรือคอนเสปที่พูดถึงทิศทางสังคมนับจากอดีตปัจจุบัน และต่อไปยังอนาคตว่าจะมีทิศทางเป็นอย่างไร เช่น ประเทศไทยจะต้องเจริญไปอีกนานแสนนานด้วยบุญญาบารมีขององค์พระมหากษัตริย์สำหรับรอยัลลิสต์ แต่ถ้าหากเป็นมาร์กซิสต์ก็อาจจะบอกว่า สังคมไทยก้าวหน้าเป็นลำดับ จากยุคทาสสู่ทุนนิยมและจะไปสู่สังคมนิยมและลงท้ายด้วยยุคคอมมิวนิสต์ในที่สุด โดยทั้งหมดทั้งมวลไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วจะเป็นอย่างไร เป็นเพียงการมองด้วยความรู้ที่เรามีต่ออดีตแบบหนึ่ง แล้วเชื่อว่ามันมีเส้นทางไปในอนาคต สิ่งเหล่านี้จึงไม่ใช่สิ่งที่เป็นเพียงอดีต เป็นชุดความรู้ หรือทิศทางอุดมการณ์ แต่มันส่งผลถึงการคาดเดาสังคมเป็นต่อไปในอนาคต 

ประวัติศาสตร์ 4 ความหมาย ของธงชัย วินิจจะกูล

กล่าวโดยสรุป เมื่อนำความหมายของประวัติศาสตร์ทั้ง 4 แบบมาพิจารณา จะพบว่ามีความเชื่อมโยงกันอยู่ หมายเลขที่ 1 อดีตหรือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจริง เป็นข้อมูล ผ่านการตีความ ด้วยมุมมองความเชื่อ อุดมการณ์สารพัด แล้วสร้างเป็นประวัติศาสตร์ ที่เป็นหมายเลข 2 ขึ้นมา แล้วทำให้เกิดหมาย 3 ความรู้ทำให้เกิดอุดมการณ์ทำให้เกิดอำนาจสารพัดชนิด ไม่ว่าจะเป็นอำนาจรัฐ อำนาจทางการเมือง อำนาจของครู อำนาจของโรงเรียน อำนาจของสื่อมวลชน อำนาจของหนังสือแบบเรียน จนเกิดการผลิตซ้ำแพร่หลายในชีวิตทางสังคม เช่น ในการจัดการศึกษา กิจกรรม เทศกาล หรือสื่อมวลชนต่างๆ กลายเป็นอำนาจนำ และทำให้สังคมคล้อยตามในที่สุด

อำนาจนำ (Hegemony) ในทางนี้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคุณภาพของความรู้ ไม่เกี่ยวข้องกับความรู้ บางเรื่องที่เป็นเรื่องโกหกเมื่อฟังครั้งแล้วครั้งเล่า ก็กลับเป็นความจริง กลายเป็นว่า หากมีผู้ไม่เชื่อถือก็ต้องกลายเป็นผู้ต้องมานั่งอธิบายว่าทำไมจึงไม่เชื่อเช่นนั้น ในขณะที่ฝ่ายตรงข้ามไม่จำเป็นต้องอธิบายเลยว่า ทำไมความรู้ชุดนั้นมันถูกต้องอย่างไร เพราะมันมีสถานะเป็นอำนาจนำทางปัญญาหรืออำนาจทางวัฒนธรรมไปเรียบร้อยแล้ว 

เมื่อความรู้กลายเป็นความเชื่อ บ่อยครั้งก็ได้สร้างเหตุผลและคำอธิบายต่างๆ มาผลิตซ้ำจนกลายเป็นความรู้ชุดหนึ่ง หรือการใช้อำนาจเหนือเหตุผลหรือการอธิบายแบบอื่น กลายเป็นอุดมการณ์เช่น ความรู้ที่ว่าประเทศไทยไม่เคยเป็นอาณานิคม เพราะชนชั้นเจ้าของไทยมีพระมหากรุณาธิคุณ มีปรีชาความสามารถเป็นพิเศษ ความรู้เหล่านี้ได้กลายเป็นความเชื่อที่ทำให้ความรู้ทางประวัติศาสตร์ของสังคมทั่วไป กลายเป็นอุดมการณ์ไปเรียบร้อย

ไม่ว่ามันจะถูกมาก ถูกน้อย ถูก 30% หรือไม่ถูกเลย มันก็ได้กลายเป็นความเชื่อที่ครอบงำในวงการประวัติศาสตร์ของสังคมทั่วไปเรียบร้อยแล้ว เป็นหมายเลขที่ 3 คือ อุดมการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่มีผลต่อสังคม แล้วย้อนกลับมาทำให้เกิดหมายเลขที่ 2 คือ ความรู้ทางประวัติศาสตร์ 

อย่างไรก็ตาม อุดมการณ์ดังกล่าวนี้ได้กลายเป็นกรอบหรือภาพรวม ถูกกำกับด้วยผลประโยชน์มุมมองต่างๆ ในกรณีนี้ได้กลายเป็น อุดมการณ์ วนเวียนเป็นลูป นานเข้าก็กลายเป็นความรู้ตามขนบ (Conventional knowledge) โดยที่คนทั่วไปในสังคมไม่รู้สึกเลยว่ามันเป็น “อุดมการณ์” ไม่รู้เลยว่าชุดความรู้เหล่านี้ สังกัดพรรคการเมือง สังกัดพรรคฝ่ายซ้าย สังกัดทหาร เพราะรู้สึกว่ามันเป็นความรู้ตามขนบ หรือเป็นเรื่องปกติในสังคมไม่ต้องสงสัยไปเรียบร้อยแล้ว 

ธงชัยกล่าวต่อด้วยการตั้งคำถามว่า คำกล่าวของ ‘ป้าเป้า’ ที่ว่า “คนเราเกิดมาต้องตาย แต่เราตายให้เป็นประวัติศาสตร์” คำถามคือ คำว่า “ประวัติศาสตร์” ของป้าเป้า เข้าข่ายประเภทไหน 1 2 3 4 หรือเอาเข้าจริง ป้าเป้ากำลังพูดความหมายที่ 5?

อดีต ปัจจุบัน กับความรู้ทางประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องกันอย่างไร 

  1. ประวัติศาสตร์สนใจความเปลี่ยนแปลง(Change over time) โดยเฉพาะที่มีความหมายต่อปัจจุบัน

ประเด็นนี้เริ่มต้นด้วยคำถามที่ว่า ประวัติศาสตร์สำคัญอย่างไร ทำไมมนุษย์ต้องสนใจประวัติศาสตร์ คำตอบคือ เพราะประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องกับปัจจุบัน คำถามแม้กระทั่งที่อาจารย์ 2 ท่านถกเถียงกันว่า เศียรพระที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ปัจจุบัน เป็นเศียรพระศรีสรรเพชรญ์จริงหรือไม่?  หากถามคนอื่นคงถามว่าทำไมต้องสนใจ ไม่เห็นเกี่ยวอะไรกับปัจจุบัน แต่อาจารย์ทั้ง 2 ท่านอาจจะตอบว่า มันมีความหมายบางอย่างจึงสนใจ ในส่วนของความหมายหรือคุณค่านี้ คนอื่นเห็นตรงกันหรือไม่ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง 

แต่เพราะประวัติศาสตร์สนใจความเปลี่ยนแปลง ประวัติศาสตร์ไม่สนใจอดีตที่ไม่มีความหมายกับปัจจุบัน อดีตในเชิงประวัติศาสตร์จึงไม่ได้หมายถึง The past แต่หมายถึง Change over time คือ การเปลี่ยนแปลง นักประวัติศาสตร์จึงต้องศึกษาและเข้าใจปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ด้วยคำถามที่ว่า มันได้เคลื่อนจากอีกจุดหนึ่งมาถึงอีกจุดหนึ่งอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากจุดหนึ่งที่ยังมีความหมายต่อปัจจุบัน ซึ่งความหมายนั้นมีหลากหลายแบบด้วยกัน 

ยกตัวอย่างเช่น ในปัจจุบัน ทุกวันนี้ประเทศไทยมีปัญหากับศาลและราชทัณฑ์มาก หากมีผู้สนใจไปศึกษาอาชญวิทยา (Criminology) โดยที่ไม่ศึกษาประวัติศาสตร์ของศาลและราชทัณฑ์ไทยเลย ผู้ศึกษาจะสามารถเข้าใจปัญหาของศาลและราชทัณฑ์ไทยในปัจจุบันได้หรือไม่? เพราะเมื่อมีการนำศาลและราชทัณฑ์ไทยไปเปรียบเทียบกับทฤษฎีศาลและราชทัณฑ์ในต่างประเทศ ก็จะพบเพียงแค่คำกล่าวลอยๆ ที่ว่า ศาลที่ดีเป็นอย่างไร ศาลที่ไม่ดีเป็นอย่างไร ศาลควรประพฤติตนอย่างไร แล้วสรุปว่า ศาลไทยมีปัญหาอย่างไร ซึ่งในทางประวัติศาสตร์มองว่า สิ่งนี้เป็นเพียงวิธีการเข้าถึงปัญหาแบบหนึ่ง แต่ไม่สามารถหาคำตอบได้

ในกรณีเช่นนี้ นักประวัติศาสตร์จะมองภาพของวงการศาลและราชทัณฑ์ของไทยที่มีวิวัฒนาการมาแต่อดีต ซึ่งย่อมมีลักษณะบางอย่างหรือคุณสมบัติบางอย่างยึดติดจากอดีต เช่น ศาลมีคุณสมบัติ A B C D A เป็นมาพักหนึ่งเกิดในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ยุติไปแล้ว แต่เป็นส่วนหนึ่งทำให้เกิด B ในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ B ยังมีผลมาจนถึงปัจจุบัน 

ธงชัยเชื่อว่า เพราะศาลและระบบการยุติธรรมไทยในสมัยโบราณมักให้อภิสิทธิ์แก่รัฐบาลในเรื่องความมั่นคง ให้ถือว่าคนกระทำต่อความมั่นคงเป็นผู้ผิดจนกว่าผู้ต้องหาจะพิสูจน์ว่าตนเองเป็นผู้บริสุทธิ์ ถึงขนาดว่า มีแนวโน้มจะใช้หลักการที่เป็นมาแต่อดีตที่ว่า ผู้กระทำผิดถือว่าผิดไว้ก่อน จนกว่าจะถูกพิสูจน์ว่าบริสุทธิ์ ในขณะที่ระบบกฎหมายอื่นๆ ของไทยในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงค่อนข้างดีพอสมควร คือให้ถือว่า ผู้ต้องหาเป็นผู้บุริสิทธิ์ จนกว่าฝ่ายโจทย์จะพิสูจน์ว่าเขาผิด แต่ในวัฒนธรรมศาลไทยในเรื่องความมั่นคง เช่น หมวดพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ กลับมีรากฐานมีที่มาในประวัติศาสตร์ ไม่ใช่เพราะความดีเลวของผู้พิพากษาเป็นการส่วนตัว

ปัญหาของราชทัณฑ์ในหลายๆ ประเทศทั่วโลกรวมถึงราชทัณฑ์ไทยยังมีปัญหาการลดทอนความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขังอยู่พอสมควร แต่อย่างน้อยในต่างประเทศ ก็มีการให้ประกันตัว และมีพยายามเร่งรัดจัดการแก้ปัญหาที่ว่า คนจนไม่มีเงินมาประกันให้ตกไป คือ ไม่ควรมีใครติดคุกเพราะไม่มีเงินประกัน ในขณะที่ประเทศไทยนอกจากคนจนจะติดคุก เพราะไม่มีเงินประกันแล้ว ในคดีความมั่นคงทางการเมือง ยังมีการไม่ให้ประกันตัวด้วย

“ทุกประเทศในโลกมีมรดกเกี่ยวข้องกับอดีต เราต้องเข้าใจความเป็นมาราชทัณฑ์ของไทยในอดีต จนระบบราชทัณฑ์ไทยก็บอกว่า ตนเองเลิกใช้ระบบโบราณมานานแล้ว เป็น Collectional facility เหมือนต่างประเทศที่มีการเปลี่ยนชื่อคำศัพท์จากคุกเป็น สถานที่ฟื้นฟูประชากรที่มีคุณภาพ (Inhabilitate)”

ธงชัย วินิจจะกูล กล่าว

เช่นเดียวกันสถาบันอื่นๆ ในประเทศไทย นับแต่ระดับเล็กจนถึงระดับรัฐธรรมนูญ มักถูกทำให้มีความสวยหรูเมื่ออยู่บนแผ่นกระดาษ แต่ความเป็นจริงกลับไม่ตรงกับในกระดาษแทบทั้งสิ้น การที่จะทำความเข้าใจความเป็นจริง จึงต้องเข้าใจความเป็นมาทางวัฒนธรรมทางประวัติศาสตร์ของประเทศนั้นๆ ก่อน

  1. อดีตมีหลายด้าน ความเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ ออกผลช้าเร็วต่างกัน

อดีตมีหลายด้านเสมอ หลายสิ่งที่ประวัติศาสตร์โดยภาครัฐบอกก็ไม่ได้ผิด แต่ถ้าจะผิดก็ในความหมายที่ว่า ประวัติศาสตร์มีหลายด้าน โดยที่รัฐพูดด้านเดียวหรือขยายบางส่วนจาก 30 ให้เป็น 80 และลดบางส่วนแทนที่จะเป็น 50 ก็เหลือเพียง 20  หรือบางครั้งก็ทำให้มันไม่เคยมีอยู่เลย 

ปัญหาในสังคมไทยและสังคมอื่นๆ หลายสิ่งเกิดขึ้นและดำเนินอยู่มานานแล้ว แต่ความเปลี่ยนแปลงและการตระหนักรู้ช้าเร็วต่างกัน เช่น เรื่องราชทัณฑ์ไทย เป็นปัญหาเกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน แต่สังคมทั่วไปไม่เข้าใจจนกระทั่งพึ่งเกิดความตระหนักเมื่อไม่นานมานี้ หรือเรื่อง “ราชาชาตินิยม” ก็เป็นสิ่งนักวิชาการกล่าวถึงมาอย่างน้อย 20 ปีแล้ว แต่พึ่งจะเป็นที่สนใจในสังคมไทยหลักวิกฤตการณ์ทางการเมือง 

  1.  ประวัติศาสตร์ไม่ใช่ปริศนาตัดต่อ (Jigsaw puzzle)

ความรู้ประวัติศาสตร์ที่ผิด หรือมีอยู่ด้านเดียวก็มีผลถึงปัจจุบัน อดีตเป็นเชื้อมูลของชุดความรู้ซึ่งมีผลต่อสังคม ชุดความรู้ที่ผิดก็มีผลต่อปัจจุบันเช่นกัน ในขณะเดียวกัน มนุษย์นับแต่โบราณกาลก็มีชุดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ที่ผิดพลาด หลายสิ่งมีค้นพบในภายหลังและเปลี่ยนชุดความรู้ใหม่ แต่สังคมมนุษย์ก็ยังเดินก้าวหน้ามาได้เป็นปกติ ประวัติศาสตร์จึงไม่ได้มีสถานะเป็นปริศนาตัดต่อ เพราะหลายครั้งชุดความรู้เดิมก็อาจผิดพลาดทั้งหมด และไม่มีวันที่มนุษย์จะสามารถเติมเต็มปริศนาที่หายไปทางประวัติศาสตร์ได้ทั้งหมด

  1. ความรู้ประวัติศาสตร์เพื่อหา “บทเรียน” หรือความรู้ประวัติศาสตร์เพื่ออธิบายว่าเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร 

หลายคนมักกล่าวว่า ความรู้ประวัติศาสตร์มีไว้เพื่อหาบทเรียน เช่น ประวัติศาสตร์สอนว่า “ต้องสามัคคีกันไว้ ไม่งั้นประเทศจะล่มจม” เป็นคติสอนใจ แต่สำหรับนักประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์มีหน้าที่เพื่อช่วยให้อธิบายว่า มนุษย์มาถึงจุดนี้ หรือจุดหนึ่งๆ ได้อย่างไร อย่างเรื่องศาลหรือราชทัณฑ์ ซึ่งไม่ได้ให้บทเรียน แต่อธิบายถึงความเป็นมาในอดีตได้มีผลเป็นส่วนหนึ่งของปัจจุบัน และเปลี่ยนไปข้างหน้ามากน้อยอย่างไร เฉกเช่นกับการที่การกล่าวว่า ประเทศที่มีพรรคการเมือง 2 พรรคแล้วเจริญก้าวหน้าแบบประเทศอื่นๆ เช่นนั้นเราสมควรทำให้ประเทศไทยมีพรรคการเมือง 2 พรรค เพื่อจะได้ประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ แต่ความจริงก็ไม่สามารถทำให้บรรลุผลได้แบบนั้นด้วยการเอาทฤษฎีมาทาบลงไป โดยไร้ซึ่งเหตุผลทางประวัติศาสตร์ประกอบ

  1. ปะวัติศาสตร์ที่พึงปรารถนา จึงควรมีอำนาจจำกัด เรียนรู้เพื่อยกระดับศักยภาพความคิดอย่างน้อยในสองมิติควบคู่กัน คือ

5.1 ความสัมพันธ์ของหลักฐานและข้อเท็จจริงต่างๆ เพื่ออธิบายการเปลี่ยนทางสังคม

5.2 เห็นข้อเท็จจริงและปัจจัยต่างๆ เหล่านั้นในบริบทที่เปลี่ยนแปลง

ประวัติศาสตร์ที่เป็นอุดมการณ์ของรัฐไทย 

ประวัติศาสตร์ตามขนบที่เป็นอุดมการณ์ของไทย ก่อรูปก่อร่างโดยชนชั้นนำกรุงเทพ เมื่อปลายศตวรรษที่ 19 (1890-1920)  เป็นต้นมา จนกระทั่งกลั่นกรองออกมาเป็นงานเขียนอย่างลงตัวในช่วงรัชกาลที่ 6 เป็นต้นมา อุดมการณ์แบบราชาชาตินิยมจึงเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้

เรื่องราวของชนชั้นนำที่มีปรีชาสามารถรักษาเอกราช อารยธรรมไทยให้เจริญรุงเรืองและดีที่สุดจนเป็นแดนสวรรค์ มันเกิดจากบริบท หรือสภาพแวดล้อม 3 ประการด้วยกัน

  1. การก่อตัวของรัฐสมัยใหม่ที่เป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์
  2. การต่อสู้แข่งขันกันระหว่างชาติมหาอำนาจและลัทธิอาณานิคมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  3. การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคสมัยใหม่ ไม่เพียงแต่ทางเทคโนโลยีแต่รวมถึงการเปลี่ยนผันทางภูมิปัญญา

เมื่อช่วงประมาณปี 1920 – 30 ซึ่งเริ่มมีงานเขียนเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบจนลงตัว ทศวรรษสุดท้ายของรัชกาลที่ 5 และตลอดรัชกาลที่ 6 ความรู้ชุดนี้ หรือ “ราชาชาตินิยม” ได้กลายเป็นกระดูกสันหลัง เป็นอุดมการณ์แห่งรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นลัทธิราชาชาตินิยม เป็นความรู้แบบขนบ

ความรู้ประวัติศาสตร์กับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม

“ การรับรู้ประวัติศาสตร์หลายด้านหลายกระแส รู้เท่าทันความรู้ที่เกื้อหนุนอำนาจ เสนอทางเลือกที่ต่างออกไป ในกรณีนี้ เราจึงควรจะเรียนรู้ประวัตศาสตร์กระแสอย่างเท่าทัน เราควรจะรู้ประวัติศาสตร์หลายกระแสเพื่อเสนอความรู้ประวัติศาสตร์ที่แตกต่างออกไป นั่นหมายถึงว่า การนำเสนอหรือผลักดันความรู้ประวัตศาสตร์แบบใดแบบหนึ่ง รวมถึงแบบที่ผมเชื่ออยู่ ไม่ควรกลายเป็นอำนาจนิยมชนิดใหม่ ผมเชื่อว่าเราควรรับรู้หลายๆ ด้าน หลายๆ แบบ แล้วคิดเอง ”

ธงชัย วินิจจะกูลกล่าว

การผลักดันประวัติศาสตร์ในแบบใดแบบหนึ่ง ไม่ควรกลายเป็นอำนาจนิยมชนิดใหม่ในนามของสัจจะ

และไม่มีประวัติศาสตร์แบบใดก็ตามถูกที่สุด ภารกิจอย่างหนึ่งของมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษา หรือตลาดวิชา คือ ทำให้คนรู้จักคิดและเป็นตัวของตัวเอง แม้จะไม่ง่ายก็ตาม แต่ภาคการศึกษาก็จำเป็นต้องทำให้ความรู้หลายชนิดแพร่หลายโดยไม่ผูกขาด เพื่อให้ปัจเจกชนสามารถค้นคว้าและใช้หลักวิจารญาณของตนเอง หน้าที่ของคนปัจจุบันจึงเป็นการต่อสู้กับสิ่งที่ครอบงำและเปิดความรู้จำนวนมากแล้วทำให้ประชาชนเป็นตัวของตัวเอง

ประวัติศาสตร์นอกขนบ มาออกนอกขนบกันเถอะ เฉลิมฉลองประวัติศาสตร์ที่ไม่มีประโยชน์ใช้สอย ที่ไม่รับใช้อำนาจใด

“ ด้วยเหตุนี้ ผมจึงอยากเชิญชวนคนมาเรียนประวัติศาสตร์นอกขนบ ในปัจจุบันเราเห็นประวัติศาสตร์ทางเลือกมากมายที่ออกมาทางโซเชียล มีเดีย และหลายชิ้นมีทำได้ดี แต่ผมอยากจะฝากนิดเดียวคือ ประวัติศาสตร์หลายอย่างคือประวัติศาสตร์ในขนบ แต่แค่ไม่ได้อยู่ในตำรา แต่ผมจะไม่พยายามทำเพียงนอกตำรา แต่ทำสิ่งที่นอกขนบ คือ โต้แย้ง ท้าทาย ทำเป็นทางเลือก ที่จะไม่เหมือนกับประวัติศาสตรืที่รัฐใช้ เพื่อค้ำจุนอุดมการณ์ของรัฐไทย ”

ธงชัย วินิจจะกูลกล่าว

วัตถุประสงค์ของประวัติศาสตร์นอกขนบ

  1. ความรู้ประวัติศาสตร์เป็นเสาหลักหนึ่งของอุดมการณ์ราชาชาตินิยม จึงควรส่งเสริมให้สาธารณะชนตระหนักว่าประวัติศาสตร์แบบนี้เป็นอย่างไร
  2. ความสามารถตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ความรู้ความเชื่อที่รัฐพยายามกล่อมเกลาเป็นคุณสมบัติของประชากรที่มีคุณภาพ
  3. ขณะนี้ ประชาชนมีความตื่นตัว ต้องการตรวจสอบความสงสัย ความรู้ทางประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสตรืนอกขนบช่วยให้ประชาชนขี้สงสัย และสามารถตั้งคำถามกบัความรู้ทางประวัติศาสตร์ เพื่อตระหนักถึงทางเลือกที่เป็นไปได้
  4. วิชาย่อย (Minicourse) น่าจะเป็นช่องทางหนึ่ง เพื่อให้ทั้งข้อมูลสาระความรู้ และให้ทักษะหรือเครื่องมือ สำหรับข้อ 1 – 3

ในส่วนของการเสนอหนังสืออ่านประกอบ ท่านสามารถเข้ามาฟังเฉยๆ ก็ได้ แต่ธงชัยต้องการท้าทายและเรียกร้อง ถึงท่านที่ยินดีและรับคำท้า เพื่ออ่านอย่างมีเป้าหมาย อ่านเพื่อมาเตรียมถาม เตรียมซัก เตรียมโต้แย้ง เตรียมเถียงกับผู้บรรยาย 

“เพื่อจะมามีส่วนร่วมในตลาดวิชา ประวัติศาสตร์นอกขนบ ผมเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีความสามารถ เมื่อเราต้องอ่านอย่างอยากรู้อยากเห็ย อย่างมีเป้าหมาย เราจะอ่านอีกแอย่างหนัึ่ง เราจะอย่างตั้งใจ ผลมันจะเกิดขึ้น”

ธงชัยกล่าว

การบ้าน 

สำหรับการบ้าน เฉพาะผู้ลงทะเบียน 30 ท่าน จะมีการเขียนเรียงความหลังการบรรยายจบ 4 ครั้ง ครึ่งหนึ่งของเรียงความ กรุณาสรุปสิ่งที่คุณอ่านสักหนึ่งเรื่องหรือ 1 บท ที่ระบุไว้ให้ หรือหนังสือที่เกี่ยวข้อง แล้วกรุณาตอบคำถามต่อไปนี้ คือ

1. ผู้อ่านชอบไม่ชอบ หนังสือเล่มนี้ 

2. ผู้อ่านโต้แย้งหนังสือที่อ่านอย่างไร 

ส่วนคำท้าทายต่อไป คือ ร่วมถกเถียง เมื่อมีการลงทะเบียนแล้ว การอ่าน การเขียน และการตั้งคำถาม การกระทำทั้ง 3 อย่างนี้เป็นกระบวนการที่ส่งผลต่อการคิดอย่างมาก เฉกเช่นนักวิชาการที่ต้องการคิด ต้องถูกฝึกมาทั้ง 3 อย่าง 

“ผมเชื่อว่าประชาชนที่มีดีกรีการศึกษาหรือไม่มี สามารถเติบโตไปได้ด้วยกันทุกคน ผมไม่มีคะแนนให้ อยู่ที่ความมุ่งมั่นตั้งใจของทุกคน ผมขอท้า มาให้ครบ ฟังให้จบ อ่านตามที่ต้องการ เขียนและเข้าร่วมการถกเถียง เราไม่มีการลงโทษ แต่เราอาจจะมีรางวัล ให้คนที่รับคำท้า คนที่ทำงาน อ่านและเขียน “ 

ธงชัย วินิจจะกูล กล่าว

ช่วงถาม – ตอบส่งท้ายการเบิกโรง

ลลิตา: เรื่องของข่าวลือ ในสังคมไทยเป็นประวัติศาสตร์หรือไม่ อย่างไร?

ธงชัย: ได้แน่นอนครับ ความรู้ประวัติศาสตรืที่มันผิดๆ ไม่มีพื้นฐานอยู่ในที่เป็นจริงเลย มันกลายเป็น Material คือเป็นความเป็นจริง ที่มีผลกับปัจจุบันยังได้เลย ถ้าเทียเคียงกัน ถึงแม้ความรู้ประวัติศาสตร์แบบนั้นเราไม่เรียกว่าข่าวลือ แต่มันก็ใกล้เคียงกับข่าวลือใช่ไหมฮะ? ก็เหมือนกันในแง่ที่ว่า ข่าวลือนี้จะมีพื้นมาจากอดีต มาจากข้อมูลความรู้ หรือจะเป็นเรื่องผิดทั้งหมด เป็นเรื่องโกหกทั้งหมด แต่ถ้ามันได้กลายเป็น Material ได้กลายเป็นสิ่งที่มีตัวตนขจริงๆ ที่มีผลจริงๆ แล้วมันสร้างประวัติศาสตรืมาแล้วไม่รู้กี่ครั้งกี่รอบ ข่าวลือว่าจะเกิดรัฐประหารก็เกิดมาแล้วไม่รู้กี่ครั้ง แล้วก็ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่จริง 6 ตุลา ก็มีข่าวลือมาก่อน ก็นึกว่าไม่จริง แต่จริงๆ แล้วก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่มันจะเกิด เกิดรัฐประหาร พลเอกประยุทธ์ก็บอกว่าไม่จริง สุดท้ายก็เป็นข่าวจริงขึ้นมา และอีกหลายครั้ง บอกได้ตามตรง พูดอย่างนี้ไม่มีทางผิดกฎหมาย ข่าวลือเรื่องเจ้าในสังคมไทยมีอยู่เยอะแยะ ใครจะมาบอกว่าไม่จริง นี่เป็นการปฏิเสธความเป็นจริง แต่ในข่าวลือนั้นมีความจริงความไม่จริงอยู่ปนเปเต็มไปหมด แต่ไม่มีความตรวจสอบได้

 เราท่านก็รู้กันอยู่ทุกวันนี้ว่า มันมีผลไปเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่นักประวัติศาสตร์สนใจถ้าหากจะตั้งคำถาม ก็คงจะเป็น “เพราะอะไร ในเงื่อนไขอย่างไร ข่าวลือมันจริงกลายเป็น Material ทางวัตถุที่มีผลได้” ในเงื่อนไขสภาพสังคมอย่างไรข่าวลือจึงไม่ค่อยมีผล สภาพสังคมอย่างไร ข่าวลือจึงจะมีผล เช่น ยกตัวอย่างบ้าๆ ไปเลย ข่าวลือว่า หมาออกลูกมามี 2 หัว ทำไมบางสังคมมีผล แต่บางสังคมไม่มีผล ฉะนั้น ปัจจัยในการทำให้สังคมมีผลไม่มีผล มันขึ้นอยู่กับอย่างอื่นไม่ใช่ตัวข่าวนั่นเอง คือ ประวัติศาสตร์ของสภาพสังคมที่ข่าวลือนั้นเผยแพร่ เช่น ข่าวลือเรื่องเจ้าที่มีอยู่ในสังคมไทยไม่กี่วันที่ผ่านมา (ถ่ายทอดสดเมื่อ 15 พฤษภาคม 2564) นอกจากตัวข่าว ถ้าถามนักประวัติศาสตร์ มันจะทำให้เราเรียนรู้จากสังคมได้มากขึ้นว่า สังคมไทยอยู่ในสภาวะอย่างไร ถึงทำให้ข่าวลือบางเรื่อง ไม่ฟังก็ไม่ได้ ไม่ว่าจะจริงหรือไม่จริงก็ตาม

ท่ามกลางข่าวลือ การโฆษณาชวนเชื่อเรื่องโควิด จนกระทั่งแต่ละคนเติบโตขึ้นมาจนไม่เชื่อแล้ว นี่คือการพัฒนาทางความคิดอย่างหนึ่ง ข่าวลือที่ลือกันอย่างถูกๆ ผิดๆ มันได้กลายเป็นความจริงไปแล้ว เพราะมันเป็นการปิดบังความจริง ปิดบังข้อมูล คนปฏิเสธไม่ได้ว่า เพราะความจริงมันไม่เคยถูกเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมา

สังคมที่ข่าวลือจะมีอิทธิพลน้อยมาก คือสังคมที่เปิดเผยโปร่งใส คนเรามีวิธีการบอกคนที่จะให้คนเข้าใจและรับฟัง และยินดีจะรับฟังอย่างมีเหตุมีผล ถ้าประเทศไทยตั้งแต่ยามคนเฝ้าคุกจนถึงเจ้านายใหญ่โตในสังคมไทย ไม่มีความสามารถจะสื่อสารข่าวที่มันเป็นความจริงให้คนรับรู้เข้าใจอย่างไม่ตื่นตระหนก ก็หมดหวังกันแล้ว ทำไมถึงใช้วิธีปิดข่าว ยิ่งปิดข่าว คนก็ต้องฟังข่าวลือ ถ้าเปิดเผยความจริง ซื่อสัตย์ ซื่อตรงต่อตนเอง ไม่ต้องโฆษณาชวนเชื่อ ประชาชนเขาก็จะเติบโตรับฟังได้อย่างมีเหตุมีผล

แล้วถ้าพวกคุณไม่มีความสามารถจะสื่อสารได้อย่างมีความซื่อตรง อันนั้นประเทศไทย Hopeless ผมเชื่อว่า ประเทศไทยมีคนดีๆ ที่จะสื่อสารได้อย่างซื่อตรง เมื่อนั้นข่าวลือและความเชื่อผิดๆ ก็จะลดความหมายลง คนอื่นๆ ก็จะร่วมและช่วยเถียงแทนด้วยซ้ำไป

ธงชัย วินิจจะกูล ผู้บรรยายหลักของประวัติศาสตร์นอกขนบ กับ ลลิตา หาญวงษ์ (กรอบเล็ก ช่องที่สอง) และคงสัจจา สุวรรณเพ็ชร (กรอบเล็ก ช่องที่สาม) ผู้ที่จะร่วมดำเนินรายการในวันบรรยายจริง

คงสัจจา: ทิศทาง นโยบายของรัฐ หรือความคิดของรัฐมันเกิดจากความเชื่อแบบนั้นจริงๆ? หรือผู้มีอำนาจรัฐเลือกใช้ความจริงด้านเดียวเพื่อใช้ครอบงำความรู้หรืออำนาจ? จริงๆ แล้วโฆษณาชวนเชื่อมันมีรากฐานมาจากความคิดอะไร?

ธงชัย: เป็นคำถามที่ดี และเป็นคำถามที่ตอบยากในความหมายว่า เป็นคำถามซึ่งผมเองก็คิดมานาน ตอบง่ายๆ แบบที่ 1 คือ ผมก็ไม่รู้สิ ผมจะไปรู้เรื่องในหัวเขาได้ยังไงเล่า นักประวัติศาสตร์อย่าง โรบิน จอร์จ คอลลิงวูด (Robin George Collingwood) ก็เคยตั้งคำเช่นนี้ แล้วก็ตอบ

คำตอบที่ 2 ผมมีความเห็นว่าเขาเชื่ออย่างนั้นจริงๆ มาจากความรับรู้ประวัติศาสตร์มันสอดคล้องกับผลประโยชน์และอุดมการณ์ของเขา เขาจึงเชื่ออย่างนั้นและปฏิบัติอย่างนั้น การที่คนมีความเชื่อหนึ่งๆ ไม่ใช่ความผิด ใครจะราชาชาตินิยมนั้นไม่ใช่ความผิด ใครจะรักเจ้านั้นไม่ใช่ความผิด โดยส่วนตัวผมเห็นว่า สิ่งที่มันเกิดขึ้น ความโกลาหลวุ่นวายมันมาจาก คุณจะรักเจ้าก็รักไปสิ ทำไมคุณต้องลงโทษคนที่ไม่รัก ทำไมคุณต้องฆ่าคนเมื่อ 6 ตุลา ความผิดอยู่ตรงนั้น ความพิกลพิการอยู่ตรงนั้น สังคมหนึ่งมีคนคิดหลากหลายรูปแบบ ในช่วงที่ผมไปเรียน ออสเตรเลียยังมีการโหวตว่า ยังจะเอาควีนอลิซาเบธอยู่หรือไม่ สุดท้ายออสเตรเลีย ประเทศที่ก้าวหน้าด้านการศึกษายังโหวตเอาควีนเป็นประมุขอย่างเดิม ไม่เห็นจะต้องเปลี่ยน แล้วคนที่โหวตไม่เห็นด้วยก็ไม่ได้ถูกลงโทษ สังคมของเขาสามารถอยู่กันได้อย่างอารยะ ไม่เห็นเกิดเป็นภัยต่อความมั่นคง ผมกลับคิดว่ามันมั่นคงกว่าสังคมไทยตั้งเยอะ นี่เป็นตัวอย่าง

สมมติในระบอบประชาธิปไตย พรรคเชียร์เจ้าได้รับเลือก คนที่ไม่เชียร์เจ้าก็ต้องยอมรับความพ่ายแพ้ไป พรรคเชียเจ้าก็มีนโยบายอย่างนั้นอย่างนี้  4 ปีถัดมาเราก็สู้กันใหม่ เลือกกันใหม่ อย่างมากเวลาเขาออกนโยบายต่างๆ มาเราก็ประท้วง อย่าไปทำให้เขาคิดไม่เหมือนกับพรรคเชียเจ้ามีความผิดทางอาญา อย่าไปทำให้เขาเป็นครึ่งมนุษย์ถึงขนาดไม่ให้ประกันตัว ถึงขนาดจับเขาติดคุกขัง ถึงขนาดมีโควิดระบาดแล้ว ยังทำให้เขาติดโรคซ้ำอีก อันนี้ผิด ถึงใครจะบอกกฎหมายไม่ผิด แต่ในแง่ศีลธรรมเราดูก็ออก ต่อให้กฎหมายบอกว่าไม่ผิด แต่เราก็ยังจะบอกว่ามันผิด ความเชื่อทั้งหลายต้องไม่เป็นเหตุให้มีการลงโทษกัน อาจจะเเป็นเหตุให้ผลักนโยบายไปอย่างหนึ่ง อย่างแย่ที่สุดก็เพียงประท้วงกัน ประท้วงกันมา ทุกประเทศก็เพียงเท่านั้น สิ่งที่แย่ที่สุดในสังคมไทยคือ การอนุญาตให้คนเชื่อเพียงแบบหนึ่ง ไปในแนวหนึ่ง และอนุญาตให้ใช้อำนาจอย่างเกินเลย ใครไม่เชื่อกำจัดออกไป

ปี 2475 คณะราษฎรก็ไม่เคยประกาศว่า ใครเชียร์เจ้าต้องออกไปนอกประเทศ ไม่เคยมีใครพูด เพราะเขาไม่มีสิทธิ์ไล่ใครออกนอกประเทศ ไม่มีใครไปฟ้องกฎหมายอาญาคนเชียร์เจ้าถือว่าหมิ่นประมาทประชาชนต้องลงโทษ เพราะเป็นเรื่องความคิด ตราบใดที่ยังไม่ได้ใช้อาวุธตีหัวทำร้ายคนอื่น ย่อมไม่ผิด ใครบอกว่า กฎหมายปัจจุบันยังเป็นแบบนั้นอยู่ ก็แก้กฎหมายสิ กฎหมายเป็นของมนุษย์ไม่ใช่หรือ กฎหมาย 112 ไม่ได้เขียนบนกำแพงจักรวาล พระมนูธรรมศาสตร์ไม่ได้จารึกลงในพระธรรมศาสตร์ ไม่ได้มีอยู่ในพระธรรมศาสตร์ตั้งแต่สมัยฮินดู เมื่อประมาณ 2,000 กว่าปีก่อน 

ย้ำอีกครั้งนะครับ พระมนูธรรมศาสตร์ไม่เคยมีอยู่บนกำแพงจักรวาล ไม่ได้บันทึกลงในพระธรรมศาสตร์ ไม่ได้อยู่ในกฎหมายตราสามดวงและกฎหมายสมัยอยุธยา เป็นกฎหมายที่มนุษย์สมัยใหม่บังคับใช้ โดยเฉพาะมนุษย์สมัยใหม่ ครั้งล่าสุดคือขยายการลงโทษให้รุนแรงขึ้น เมื่อปี 2519 หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาพระมนูธรรมศาสตร์มาเห็นก็คงร้องไห้ เพราะมันผิดหลักกฎหมาย กลับไปที่คำตอบ ผมเชื่อว่าเขาเชื่อจริงๆ ชนชั้นปกครองใช้ศาสนา ใช้ประวัติศาสตรืมาครอบงำประชาชน ราวกับว่าเขาไม่ได้เชื่ออย่างนั้น หากพูดแบบนี้ ผมคิดว่าชนชั้นปกครองคงเป็นคนเก่งมาก เอาตัวออกห่างจากศาสนาได้ เอาตัวออกห่างจากประวัติศาสตร์ ซึ่งเขาใช้กับประชาชนได้ กลายเป็นผู้รู้แจ้งว่าจะหยิบฉวยใช้อะไรเพื่อบังคับประชาน อันนี้ให้เครดิตเขามากไปหน่อย เขาก็โง่บางเรื่อง ฉลาดบางเรื่อง พอๆ กับเราทุกคน ถึงที่สุดก็คือ เราคิดต่างกันแค่นั้น 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า