การอ่านเปลี่ยนโลกได้ บริการภาครัฐที่ดีไม่ใช่ความฝัน: ก้าวต่อไปของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ 

28 ตุลาคม 2565

นอกจากจะเป็นช่วงเวลาให้นักอ่านได้จับจ่ายหนังสือในราคาพิเศษ งานมหกรรมหนังสือระดับชาติยังเปิดโอกาสให้บรรดาสำนักพิมพ์ นักอ่าน และนักเขียน สามารถเจอหน้าค่าตาเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้อย่างมีชีวิตชีวา

การพบปะพูดคุยนี้เป็นเครื่องยืนยันว่าเราสามารถมีบทสนทนาและผลัดกันเผยจินตนาการที่เรามีต่อหนังสือได้ ตลอดจนช่วยกันสำรวจอิทธิพลที่หนังสือมีต่อโลกทัศน์ของเราได้ กล่าวอย่างง่าย หนังสือสามารถเปลี่ยนแปลงโลกของเราได้

วันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม 2565 นอกจากจะเป็นวันสุดท้ายของงานมหกรรมหนังสือครั้งที่ 27 ยังมีกิจกรรมสำคัญเกิดขึ้นที่เวทีกลางของงาน นั่นคือ เสวนา “อ่านเปลี่ยนโลกกับธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” งานเสวนาที่อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และประธานคณะก้าวหน้าในปัจจุบัน ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การอ่านตลอดชีวิตของตนเอง ทิ้งรายชื่อหนังสือน่าสนใจเป็นของแถม และบอกใบ้เล็กน้อยว่าหนังสือเล่มหน้าของตน (ถ้ามี) จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร 

“หนังสือมันมีความวิเศษในตัวเอง ผมต้องอ่านหนังสือทุกวัน”



หลังจากพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ธนาธรทำงานอะไร

ก่อนเข้าสู่ประเด็นการอ่าน ทนายแจม-ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. เขตสายไหม พรรคก้าวไกล ซึ่งรับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ เริ่มสอบถามถึงหน้าที่การงานในปัจจุบันของธนาธรก่อน โดยธนาธรเล่าว่า ตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบก็เกิดสององค์กรตามมา คือพรรคก้าวไกลที่ทำงานการเมืองระดับชาติ และมูลนิธิคณะก้าวหน้าที่ทำงานการเมืองระดับท้องถิ่น ในองค์กรหลังนี้เองที่ตนและบรรดาอดีตกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ซึ่งถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองกำลังทำงานอยู่

“อดีตกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ก็จะมาทำงานในคณะก้าวหน้า มีการเมืองท้องถิ่นเป็นงานหลัก ให้คำแนะนำปรึกษาการพัฒนาเมือง เทศบาล อบต. อย่างละประมาณ 30 พื้นที่ รวมเป็น 60 พื้นที่ ก็ทำเรื่องการจัดการขยะ พัฒนาศูนย์เด็กเล็ก พัฒนาสาธารณะพื้นฐาน”

ส่วนอีกงานหนึ่งคือรณรงค์เรื่องที่เป็นวาระสำคัญในประเทศ เช่น การกระจายอำนาจ ปฏิรูประบบราชการรวมศูนย์ ไปจนถึงทำร่างแก้ไขกฎหมายเสนอต่อรัฐสภา ชื่อว่า “ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปลดล็อคท้องถิ่น” ซึ่งจะเข้าพิจารณาในสภาสมัยหน้า”

ธนาธรยังยกตัวอย่างขยายความงานข้างต้นอีก เช่น การพัฒนาน้ำประปาให้สามารถดื่มกินได้เพื่อยืนยันว่า “การมีบริการภาครัฐที่ดีไม่ใช่ความฝัน” หรือในกรณีการทำงานร่วมกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเองก็มีโครงการ ‘อ่านปั้นฝัน’ ที่ริเริมโดยกุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ

“เรามีนิทานให้ศูนย์พัฒนาเด็ก ให้เด็กเข้าถึงนิทานได้ ใช้นิทานเป็นเครื่องมือทำให้เด็กมีความสุขได้ ชื่อโครงการอ่านปั้นฝัน เสียง feedback (ผลตอบรับ) คือ พอเด็กอ่านนิทานเยอะ ก็ก้าวร้าวน้อยลง ใช้เวลากับหน้าจอน้อยลง”


การอ่านคือการเปิดและเปลี่ยนโลก

เมื่อเข้าสู่ประเด็นหลักของการเสวนา ธนาธรแลกเปลี่ยนว่าแม้แต่ละคนจะมีการอ่านแตกต่างกัน แต่สิ่งที่อาจมีเหมือนกันคือ ‘การพาตัวเองไปยังดินแดนใหม่ๆ’ โดยมีตัวอักษรเป็นสื่อกลาง ทั้งยังยกตัวอย่างว่า หากอ่านหนังสืออย่าง ‘จินตนาการไม่รู้จบ’ ของมิชาเอ็ล เอ็นเด้ ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่สร้างโลกแฟนตาซีในหัวของตัวเอง หรือหากอ่าน ‘ปีกแดง’ ของวินทร์ เลียววาริณ ก็ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะไม่กระตุ้นให้เราสนใจประวัติศาสตร์

“การอ่านคือการเปิดประตูหน้าต่างใหม่ๆ ให้เราไปยังดินแดนที่กว้างขึ้น เป็นดินแดนในจินตนาการ มันช่วยให้เราพูดคุยกับตัวเองมากขึ้น ตั้งคำถามมากขึ้น อย่างตัวผมเองก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การอ่านสร้างให้ผมเป็นผมวันนี้”


หนังสือในแต่ละวัยของธนาธร

“การเริ่มอ่านของผมมันเป็นอุบัติเหตุ”

ธนาธรเริ่มย้อนรำลึกถึงโลกการอ่านของตัวเอง

“เพราะผมอยู่โรงเรียนชายล้วน แล้วชอบเตะฟุตบอล หลังเลิกเตะ มันมีห้องเดียวที่ติดแอร์คือห้องสมุด แล้วการไปห้องสมุดมันนั่งเฉยๆ ไม่ได้ ต้องไปหยิบหนังสือ พอดี หวยมันไปลงที่อกาธา คริสตี้ พอจบจากซีรีส์ของคริสตี้ ก็ติดใจนิยายสืบสวนสอบสวน ไปอ่านเชอร์ล็อก โฮล์มส์ ของอาเทอร์ โคแนน ดอยล์ แล้วก็ไปอ่านลูแปง ของโมริซ เลอบลอง” 

เมื่อขยับมาช่วงมัธยมปลาย ความสนใจก็เปลี่ยนไปตามวัย ธนาธรเล่าว่าเริ่มการตั้งคำถามในชีวิตมากขึ้น จึงหันไปอ่านหนังสือที่เขาเรียกว่า “แนวแสวงหาหน่อยๆ” เช่น หนุ่มนักโบกกับสาวขี้บ่น เขียนโดย ศุ บุญเลี้ยง 

“อ่านแล้วอยากโบกรถไปท่องเที่ยวเดินตามใจฝัน” เขานิยามความหมายมันเช่นนั้น

พอเข้ามหาวิทยาลัย ร่องรอยของสิ่งที่ทำให้เรารู้จักชื่อเขาก็เริ่มปรากฏ มันเป็นช่วงที่เขาเกิดความสนใจในปัญหาทางสังคม จนจุดประกายให้เริ่มเข้าหาหนังสือประวัติศาสตร์ เช่น ห้วงยามแห่งความพ่ายแพ้ โดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล และลามไปถึงหนังสือฝ่ายซ้าย เช่น ใบไม้ที่หายไป โดย จิระนันท์ พิตรปรีชา ตลอดจนถึงงานของคาร์ล มาร์กซ์ เหมาเจ๋อตุง และวี.ไอ. เลนิน ธนาธรยังเสริมว่าในช่วงเรียนมหาวิทยาลัยนี้ก็เป็นเวลาเดียวกับที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ต้องเห็นเพื่อนลาออกจากการเรียน ทำให้หันไปอ่าน โศกนาฏกรรมสยาม ที่มี วอลเดน เบลโล เป็นหนึ่งในผู้ร่วมเขียน

ทั้งนี้ หลังก้าวเข้าสู่โลกธุรกิจความเข้มข้นในการอ่านงานฝ่ายซ้ายก็ลดลง และเริ่มหยิบจับหนังสือการพัฒนาธุรกิจและเศรษฐศาสตร์การเมืองมากขึ้น อย่างไรก็ดีธนาธรก็ย้ำว่า แม้ประเภทหนังสือที่อ่านจะเปลี่ยนไปตามวัย แต่สิ่งหนึ่งที่อ่านอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดยังคงเป็นหนังสือประเภทวรรณกรรม

“วรรณกรรมมันจรรโลงจิตใจเราได้ ทำให้ผมชอบอ่าน โดยเฉพาะหนังสือที่อ้างอิงสงครามโลกครั้งที่สอง เช่น The Pianist, The Book Thief หรือซีรีส์ของ ฮาเหล็ด โฮเซนี (Khaled Hosseini) ผมชอบทั้งสามเล่มเลย The Kite Runner,  And the Mountains Echoed, A Thousand Splendid Suns”  

แม้หนังสือที่ธนาธรยกมานี้ จำนวนมากจะถูกนำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์แล้ว แต่เขาก็เห็นว่าการทำความรู้จักมันผ่านโลกตัวอักษรเป็นสิ่งที่น่าปรารถนากว่า

“ตัวอักษรมันเปิดโอกาสให้เราจินตนาการมากกว่าหนัง เพราะหนังมันมี visual (ภาพ) แต่หนังสือมันไม่มี มันต้องใช้จินตนาการ มันเลยเปิดโอกาสจินตนาการมากกว่า”


แนะนำหนังสือ 3 เล่ม 3 แนว โดยธนาธร

เล่มแรก ‘ต้นส้มแสนรัก’ เขียนโดย โจเซ่ วาสคอนเซลอส (José Vasconcelos) เป็นวรรณกรรมที่ธนาธรอ่านครั้งแรก 20 กว่าปีก่อน และได้มีโอกาสกลับมาอ่านอีกครั้งเมื่อตอนต้นปีที่ผ่านมา 

“กลับมาอ่านอีกครั้งก็ยังร้องไห้เหมือนเดิม ถ้าใครอ่านเล่มนี้ต้องรักเซเซ่กับหลุยส์ ผมไม่ได้อ่านมา 20 ปี พอกลับมาอ่านอีกทีก็ยังรู้สึกว่ามันเป็นหนังสือที่มีคุณค่าเหมือนเดิมเลย มันเป็นหนังสือคลาสสิค เพราะมันชนะกาลเวลา มันมีคุณค่าเพียงพอที่ไม่ว่าเวลาผ่านไปนานแค่ไหน ก็อ่านได้ ถ้าเด็กคนไหนได้อ่านก็จะมีจิตใจอ่อนโยนขึ้นเยอะ”

เล่มสอง ‘Influence Empire: Inside the Story of Tencent and China’s Tech Ambition’ ของ Lulu Chen หนังสือที่ Financial Times จัดให้อยู่ใน Business book of the year 2022 พูดถึงบริษัท Tencent มหาอำนาจทางเทคโนโลยีในทุกวันนี้ มีสินทรัพย์รวมกว่า 10 ล้านล้านบาท เป็นเจ้าของแอพลิเคชันชื่อดังอย่าง WeChat ทั้งยังมีการขยายกิจไปหลายภาคส่วน เช่น บริษัท JD.com (JD China) ที่ทำธุรกิจ E-Commerce ของจีน หรือเป็นเจ้าของกิจการเกม Fortnite และ Blizzard (ทำเกม World of Warcraft) ตลอดจนพูดถึงวัยเด็กของ โพนี่ หม่า (Pony Ma) ผู้ก่อตั้งบริษัท และการแข่งขันในช่วงแรกกับ MSN จนสามารถแย่งส่วนแบ่งการตลาดมาครองเหนือกว่าได้

“ณ วันนี้หลายคนอาจจะรู้จักแค่อาลีบาบา แต่ในเชิงตลาดหลายคนอาจไม่รู้ว่า Tencent  มีขนาดใหญ่กว่าอีก … คือเรารู้ว่า กูเกิ้ล เฟซบุ๊ค หรือบริษัทเทคโนโลยีตะวันตกมันโตมาได้อย่างไร แต่เราไม่รู้เลยว่าเทคโนโลยีในจีนโตได้อย่างไร … อ่านเล่มนี้แล้วจะเห็นว่าการที่กลุ่มเทคโนโลยีในจีนใหญ่ขึ้นมา ไม่ว่าด้านไหน มันโตมาได้อย่างไร หรือมีอิทธิพลอย่างไรบ้าง”

เล่มที่สาม ‘พระพรหมช่วยอำนวยให้ชื่นฉ่ำ เศรษฐกิจการเมืองว่าด้วยทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์หลัง 2475’ โดยเฉพาะส่วนบทความของ พอพันธ์ อุยยานนท์ ชื่อ ‘สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กับบทบาทการลงทุนทางธุรกิจ’ ที่ธนาธรเน้นว่างานชิ้นนี้มี ‘ความ original’ และ ‘อิมแพค’ สูงมาก 

“คือ CPB [Crown Property Bureau; สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์] มันใหญ่มาก แต่ไม่มีใครมองเห็นบทบาทของมันเลย ย้อนหลังไป 10-15 ปี มีคนพูดถึงแค่สองคน คือสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ซึ่งพูดในด้านสถานะทางกฎหมาย แต่งานที่จุดประกายให้นักวิชาการรุ่นหลังหันมาสนใจ CPB คืองานของอาจารย์พอพันธ์”

“หนังสือเล่มนี้เปลี่ยนความคิดเราได้ ผมเองก็ไม่เคยมองบทบาทของ CPB พออ่านงานชิ้นนี้จึงเริ่มเห็นความสำคัญของมัน”


โครงการเกี่ยวกับการอ่านของคณะก้าวหน้า

ธนาธรเล่าว่า นอกจากโครงการอ่านปั้นฝันที่ได้พูดถึงไปแล้วในตอนต้น คณะก้าวหน้ายังมีอีกโครงการหนึ่งที่เกี่ยวกับการอ่าน ซึ่งเป็นโครงการที่ริเริ่มโดย ปิยบุตร แสงกนกกุล ชื่อโครงการว่า “อ่านเปลี่ยนโลก” เป็นโครงการที่รวบรวมหนังสือหลากหลายแนวไว้กว่า 140 ปก และเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามายืมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่ว่าค่าไปรษณีย์ตอนส่งยืมหรือตอนส่งคืนหลังอ่านเสร็จแล้ว

“ในสังคมไทยค่าแรงขั้นต่ำมันไม่พอซื้อหนังสือ ดังนั้นหนังสือมันจึงเป็นความหรูหราสำหรับหลายคน ไม่ใช่ทุกคนจะเข้าถึงหนังสือได้ เพราะไม่ว่าจะรักการอ่านเท่าไหร่ แต่มันก็ไม่มีเงิน”

ธนาธรสรุปหลักการง่ายๆ ของโครงการนี้ว่า “หนังสือที่ดีมันไม่ควรอยู่บนชั้น มันควรอยู่ในมือของผู้อ่าน”


หนังสือเล่มถัดไปของธนาธร

ช่วงท้ายที่เปิดโอกาสให้มีการถามตอบกับธนาธร มีผู้เข้าร่วมโยนคำถามว่า นอกจากหนังสือ “คิดไปข้างหน้า” แล้ว เขามีโครงการจะเขียนหนังสืออะไรอีกไหม ธนาธรตอบว่า ถ้าต้องเขียนก็อยากเขียนหนังสือเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองและท้องถิ่น ก่อนจะย้อนว่าตนเป็นคนเมืองที่เกิดและโตในกรุงเทพมหานครมาโดยตลอด ชีวิตจึงโคจรอยู่เพียงตามแนวรถไฟฟ้า และไม่เข้าใจความลำบากของคนชนบท กว่าจะเข้าใจก็ต้องรอถึงตอนทำงานพรรคอนาคตใหม่ แล้วเข้าใจมากขึ้นตอนมาทำการเมืองท้องถิ่นกับคณะก้าวหน้า

“ยกตัวอย่างเรื่อง ‘น้ำประปา’ นี่เราอยู่ในศตวรรษที่ 21 กันแล้ว แต่ในต่างจังหวัดการจะมีน้ำที่ดีใสสะอาดเพียงพอใช้ตลอดวัน 365 วันต่อปี กลับพบเห็นน้อยมาก ขณะที่ผมซึ่งเป็นคนกรุงเทพฯ มีใช้ทุกปี เวลาผมไปเจอคนต่างจังหวัด ผมชอบถามคำถามง่ายๆ กับคนที่มาเจอผมว่า “มีกี่คนที่น้ำประปาใสสะอาดทุกวัน” ผลคือไม่มีจังหวัดไหนยกมือเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ เผลอๆ 30 เปอร์เซ็นต์ ยังไม่ถึง”

การได้เจอกับสภาพปัญหาในแต่ละท้องถิ่นนี้เอง กระตุ้นให้ธนาธรอยากเขียนถึงประเด็นนี้ ทั้งยังเล่าว่าในเรื่องนี้มีโจทย์ง่ายๆ เพียงว่า ในทุกพื้นที่ควรต้องมีบริการภาครัฐที่ดี ไล่ตั้งแต่ศูนย์เด็กเล็ก สวนสาธารณะ โรงพยาบาล น้ำประปา และขนส่งสาธารณะ เพราะที่ผ่านมาในหลายพื้นที่ แม้จะมีประชากรหลายพันคน การมีบริการภาครัฐที่ดีก็ยังไม่เคยเกิดขึ้น

“อยากเขียนเรื่องที่ไปพบเจอตอนไปทำงานต่างจังหวัดและการพัฒนาสังคมไทยไปข้างหน้า”

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า