รัฐราชการรวมศูนย์ ท้องถิ่น และการกดทับประชาธิปไตย : เพจ “พูด” ชวนธนาธรพูดเรื่องการกระจายอำนาจ

3 มีนาคม 2565


รายการ podcast โดยเพจ พูด เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 ได้ชวนธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนในเรื่องของ “ความเจริญในไทยทำไมถึงกระจุกตัวสุด ๆ” หรืออีกนัยหนึ่ง คือเรื่องของการกระจายอำนาจและอุปสรรค ว่าเหตุใดระบบรัฐราชการรวมศูนย์ที่เป็นอยู่ในประเทศไทยขณะนี้ คือสาเหตุสำคัญของการที่ประเทศไทยติดกับเป็นประเทศ “กำลังพัฒนา” โดยไม่พัฒนาเสียทีมานานหลายสิบปี

หลังจากได้ทำงานคลุกคลีกับการเมืองระดับท้องถิ่นมาระยะหนึ่ง ธนาธรมองเห็นอะไร และมีข้อเสนออะไรที่จะนำไปสู่การปลดล็อกพลังของประเทศผ่านการกระจายอำนาจ

ดูวิดีโอ “อำนาจรวมศูนย์สุดขั้วของรัฐไทย” ที่นี่:

Facebook: https://fb.watch/bsq0T-0ZsA/

Youtube: https://bit.ly/3gYBzil

Spotify: https://cutt.ly/jmWOgOk

หรืออ่านการสรุปเนื้อหาสำคัญ ที่เราได้รวบรวมเอามาไว้ ณ ที่แห่งนี้แล้วก็ได้เช่นกัน

(1) เมื่อวิกฤติโควิดเปลือยรากเหง้ารัฐราชการรวมศูนย์

ปัญหาหลักก็คือมันมีกลไกที่ทับซ้อนอยู่กับอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง คือระบบราชการส่วนภูมิภาค นั่นก็คือในต่างจังหวัด อะไรก็ตามที่ลงท้ายด้วย “…อำเภอ” “…จังหวัด” เช่น ป่าไม้จังหวัด สาธารณสุขจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด ฯลฯ แล้วก็ยังมีขาของมหาดไทย ไล่มาตั้งแต่ผู้ว่าฯ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กลไกพวกนี้เองที่มันกดทับพลังของคนในประเทศที่จะพัฒนา แล้วมันยังผลิตซ้ำค่านิยมอนุรักษ์นิยมที่คอยค้ำยันอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งไว้

ผมยกตัวอย่างในต่างประเทศ ไม่มีผู้ว่าฯ ที่ตั้งมาจากส่วนกลาง ไม่มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่อยู่ใต้การปกครอง ทำตามนโยบายของมหาดไทย ในต่างประเทศมันมีอย่างเดียวคืออำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง มันไม่มีอำนาจแฝง แต่ในประเทศไทยปัจจุบันคุณมีนายก อบจ. พร้อมกับมีผู้ว่าราชการจังหวัด คำถามคือใครใหญ่กว่ากัน? คำตอบคือผู้ว่าฯ แต่ผู้ว่าฯมาจากใคร? มาจากส่วนกลางเป็นคนแต่งตั้ง ขณะที่นายก อบจ. คือผู้ที่ประชาชนในจังหวัดเลือกมา

มันเหมือนกับอะไร? มันเหมือนกับการที่กรุงเทพฯ ส่งผู้ปกครองไปปกครองอาณานิคม ส่วนคนที่มาจากการเลือกตั้งไม่มีอำนาจปกครองจริง ยิ่งสถานการณ์โควิดยิ่งเห็นชัด ใครคือผู้ที่มีอำนาจในการสั่งปิดเมือง? ที่ผ่านมาทำไมคุณถึงเห็นผู้ประกอบการพูดเหมือนกันหมดทั่วประเทศ ว่ามาตรการที่ออกมารัดกุมเกินไป ไม่เห็นใจคนทำมาหากินหรือเปล่า

คำถามคือผู้ว่าฯ ต้องรับผิดชอบต่อประชาชนในจังหวัดหรือเปล่า? ผู้ว่าฯ คือคนที่มาปกครองจังหวัดไม่กี่ปีแล้วก็ย้าย ดังนั้นจึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน ผู้ว่าฯ จะไปจังหวัดไหน จะได้เลื่อนขั้นอย่างไร จะเกษียณอายุที่ไหน ส่วนกลางคือคนให้คุณ-ให้โทษเขา

เพราะฉะนั้น เมื่อผู้ว่าฯได้รับอำนาจในการเปิด/ปิดเมืองจากโควิดมา เขาก็ต้องปิดเข้มไว้ก่อน ผู้ประกอบการ ร้านอาหาร ธุรกิจบันเทิงจะตายหรือไม่ตายเขาต้องแคร์ไหม? คำตอบคือไม่ เพราะเขาไม่ต้องฟังคนเหล่านั้น คนที่เขาต้องฟังคนเดียวคือส่วนกลาง

แต่กลับกัน ถ้าคุณลองให้อำนาจนายก อบจ.สิ ผมเชื่อว่านายก อบจ.จะออกนโยบาย ที่มันมีสมดุลระหว่างการแพร่ระบาดกับปัญหาทางเศรษฐกิจ นายก อบจ. จะชั่วดีก็ยังต้องมีความรับผิดชอบต่อประชาชนผ่านการหย่อนบัตรเลือกตั้ง แต่เมื่อคุณให้อำนาจกับผู้ว่าฯ ในการจัดการโควิด คุณก็จะได้เห็นอะไรแบบนี้ ผู้ประกอบการสิ้นเนื้อประดาตัวไปกี่คนแล้วจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา

(2) การกระจายอำนาจ ในฐานะภารกิจทางการเมืองและการปลดล็อกเศรษฐกิจของประเทศ

ประเทศนี้คือประเทศที่ผูกขาดทั้งทางอำนาจและทางเศรษฐกิจสูงสุด

คุณไปญี่ปุ่น คุณจะเจอโตเกียวเมืองหลวง แล้วคุณก็จะเจอโอซากาซึ่งเจริญไม่ต่างกันเลย แล้วคุณก็จะเจอนาโกยาซึ่งก็เจริญมากเช่นกัน แล้วคุณก็จะถามว่าทำไมประเทศนี้มันมีเมืองที่เจริญทัดเทียมกันเยอะขนาดนี้?

แล้วคุณลองดูบริษัทที่สร้างรายได้ จ้างงานให้กับคนญี่ปุ่นเยอะที่สุดในประเทศ ซึ่งก็คือโตโยต้า มอเตอร์ อยู่ที่ไหน? ไม่ใช่เมืองหลวงนะ แต่อยู่นาโกย่า

ในทางกลับกัน คุณนึกชื่อบริษัทชั้นนำของประเทศไทยออกสักชื่อไหมที่ไม่ได้มีสำนักงานใหญ่อยู่กรุงเทพฯ? คำตอบคือไม่มี แล้วถามว่าทำไมมันเกิดไม่ได้ล่ะ? คำตอบก็คือเพราะมันไม่มีระบบรองรับเพื่อที่จะส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจที่มาจากในพื้นที่

ผมยกตัวอย่างการคมนาคมสาธารณะ ขณะที่กรุงเทพฯ มีรถเมล์หลายสายมาก ในต่างจังหวัดมีที่ไหนที่มีรถเมล์แบบเดียวกันบ้าง? เอาจังหวัดใหญ่อันดับสองเลย อย่างโคราช มีรถเมล์แบบนี้ที่มีเส้นทางวิ่งชัดเจนแบบนี้ไหม? ไม่มีนะ เชียงใหม่มีไหม? อุบลราชธานีมีไหม? ไม่มี มีแต่สองแถว กับรถวิ่งระหว่างอำเภอที่นานๆ มาที

คุณรู้ไหมว่าถ้าจังหวัดไหนอยากจะทำรถบริการสาธารณะแบบที่มีวิ่งที่กรุงเทพฯ ได้ต้องทำอย่างไร? คุณต้องขออนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกที่กรุงเทพฯ คำถามคือทำไม?

แล้วระบบแบบนี้ มันก็ทำให้เกิดเรื่องที่ตลกขึ้นมาอีกหนึ่งอย่าง คือการทำให้คนจำนวนมากรู้สึกว่า ส.ส.ที่เก่ง คือ ส.ส.ที่ดึงงบมาจากส่วนกลางได้เยอะ ๆ ทั้งที่ ส.ส.จริง ๆ แล้วมีหน้าที่ไปบัญญัติกฎหมาย ไม่ได้มีหน้าที่ไปบริหารพื้นที่ อย่างสมมติ ส.ส.เขตยานนาวา ที่ที่เราคุยกันอยู่ตรงนี้ มีหน้าที่บริหารยานนาวาหรือ? ไม่ใช่นะ โดยกลไกจริง ๆ แล้ว เขาคือตัวแทนของคนยานนาวา ไปอธิบายความเดือดร้อนของคนยานนาวา ไปตัดสินใจในนามของคนยานนาวา ว่าจะผ่านหรือไม่ผ่านกฎหมายอะไร

แต่ทุกวันนี้กลายเป็นว่า ส.ส.ทุกคนต้องหางบเข้าพื้นที่ ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งมันถูกเอารัดเอาเปรียบ งบประมาณมันถูกจัดสรรอย่างไม่เป็นธรรม มันถูกเอาไปกองไว้ที่ส่วนกลาง ขณะที่ส่วนท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งไม่มีงบประมาณในการทำงาน

แล้วเวลาอยากได้งบประมาณ นายกท้องถิ่นก็ต้องวิ่งไปขอจากส่วนกลาง จากรัฐมนตรีมหาดไทยบ้าง จากกระทรวงนั้นบ้างกระทรวงนี้บ้างเวลาอยากพัฒนาอะไร นี่คือที่มาเรื่องของการเปรียบเทียบงบประมาณกับ “ไอติม” ว่าเวลามามันเหมือนไอติมเต็มแท่ง แต่กว่าจะลงไปถึงชาวบ้านเหลือแต่ไม้ เพราะโดนเลียไปทีละนิด ๆ

นี่คือระบบอุปถัมภ์ เพราะอำนาจในการจัดสรรงบประมาณอยู่ที่รัฐมนตรี เวลามีปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เช่น อยากต่อไฟฟ้าเข้าที่ดินการเกษตร ลงทุนในโรงเรียน ปรับปรุงการจัดการขยะ ฯลฯ แต่ท้องถิ่นไม่มีงบประมาณ นายก อบต.ก็ต้องขอไปที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นในจังหวัด ไปถึงอธิบดี ไปถึงปลัด ไปถึงรัฐมนตรี กว่าจะผ่านทีละชั้น กว่าจะหักค่าบริหารจัดการมาทีละชั้น กว่าจะถึงพื้นที่งบประมาณก็หมดพอดี

การกระจายอำนาจที่เราพูดถึง ก็คือการเอางบประมาณมาอยู่ที่นี่เลย ถ้าภาษีถูกจัดสรรอย่างเป็นธรรม กระบวนการที่จะต้องวิ่งเขียนโครงการ วิ่งเต้นของบประมาณแบบนี้จะไม่เกิดขึ้น

ตลอดเวลาที่ผ่านมานักการเมืองท้องถิ่นทั้งหมดล้วนต้องเสียเวลาไปกับเรื่องของการเขียนโครงการของบประมาณมากที่สุด มัน nonsense ที่สุด ทั้งที่ถ้าคุณจัดสรรภาษีอย่างเป็นธรรมให้เขา ให้เขามีงบประมาณเพียงพอที่จะบริหาร ประเทศมันจะพัฒนาไปได้ไกลขึ้นและเร็วขึ้นกว่านี้อีกมาก

ดังนั้น สำหรับผม การปฏิรูประบบรัฐราชการ ทลายการรวมศูนย์ที่กรุงเทพฯ จึงเป็นทั้งภารกิจทางการเมือง และเป็นการระเบิดพลังทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญของประเทศ

คุณไม่ต้องไปนั่งถามนักการเมืองระดับชาติหรอกว่าจะพัฒนาเศรษฐกิจอย่างไร คุณคิดว่ามันมีนโยบายอะไรหนึ่งเดียวหรือ ที่พอทำแล้วแก้ปัญหาเศรษฐกิจระดับชาติได้ในครั้งเดียว? อาจจะมีก็ได้นะ แต่สำหรับผมเราไม่ได้ต้องการอะไรใหญ่ ๆ เราต้องการให้ดอกไม้มันบานทั่วประเทศ เราไม่ได้ต้องการนโยบายเดียว อย่างการบอกให้ทุกคนปลูกเห็ดเหมือนกันหมด ปลูกมะนาวเหมือนกันหมดทั่วประเทศ สิ่งที่เราต้องการก็คือให้อำนาจและงบประมาณกับเขา แล้วให้เขาตัดสินอนาคตตัวเอง ว่าจังหวัดนี้จะเน้นท่องเที่ยว จังหวัดนี้จะเน้นเกษตรปลอดสารเคมี จังหวัดนี้เราจะทำเหล้าสาโทที่อร่อยที่สุดในโลก ฯลฯ จะทำอะไรให้เขาเลือกเองแล้วตัดสินผ่านบัตรเลือกตั้ง คุณไม่ต้องมาตัดสินใจแทนเขาว่าควรมีนโยบายเศรษฐกิจแบบไหน อย่างการให้ทุกคนปลูกมะนาวทั้งประเทศ ซึ่งสำหรับผมมันไร้สาระมาก

การกระจายอำนาจจึงเป็นทั้งภารกิจทางด้านการเมือง และเป็นภารกิจในการปลดปล่อยพลังการผลิตของประเทศ ปลดปล่อยโซ่ตรวนที่กักขังพลังการพัฒนาประเทศไปพร้อม ๆ กัน

(3) เสียสละกันไปเท่าไหร่แล้ว เพื่อแลกกับ “การพัฒนา”?

ท้ายที่สุด จะโครงการพัฒนาอะไรก็แล้วแต่มันไม่สำคัญเท่ากับว่ามันมาจากการตัดสินใจร่วมกันของประชาชนหรือเปล่า สำหรับผมมันสำคัญมาก ว่าการจะทำอะไรในพื้นที่ไหนก็ตาม เสียงของคนในท้องถิ่นมันต้องใหญ่กว่าเสียงส่วนกลาง

แน่นอนว่ามันต้องมีความร่วมมือกันในระดับหนึ่งระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่น อย่างการกำหนดมาตรฐาน เช่น มาตรฐานน้ำดีน้ำเสียอะไรแบบนี้ แต่ว่าการบริหารจัดการว่าจะไปในทิศทางไหนอย่างไร เสียงของคนในพื้นที่มันต้องเป็นตัวกำหนดอนาคต การให้ส่วนกลางมากำหนดอะไรทุกอย่างมันทำให้ประชาชนไม่ได้รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของทรัพยากรของประเทศ

ในต่างประเทศ อะไรก็ตามที่อยู่ในดินบ้านผมถือเป็นทรัพย์สินของผม ไม่ใช่ทรัพย์สินของรัฐบาล ส่วนกลาง จะขุดอะไรออกไปก็แล้วแต่ จะแร่ธาตุหรือจะน้ำมัน คุณต้องแบ่งกำไรให้ประชาชนในท้องถิ่นเป็นส่วนใหญ่ ให้ส่วนกลางเป็นรอง เพราะนี่คือทรัพยากรของผม นี่คือบ้านผม แต่ที่ประเทศไทยไม่ใช่ ที่นี่ ใบประทานบัตรออกที่กระทรวงอุตสากรรม ส่วนกลางเอาทุกอย่างไปหมดเลย

ประชาชนในพื้นที่จึงเป็นผู้รับกรรม ก็คือผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ทางสุขภาพทั้งหมด ถามจริง ๆ มีใครอยากให้เหมืองมาตั้งอยู่หลังบ้านคุณบ้าง? สำหรับประเทศไทย ไม่ว่าอะไรจะมาตั้งอยู่หลังบ้านคุณในนามของการพัฒนา คนจนนี่ล่ะคือผู้ที่เสียสละที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเขื่อน ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าที่ป้อนไฟให้คนกรุงเทพใช้ ทำไมเขาต้องเสียสละอะไรมากขนาดนี้โดยที่ไม่ได้อะไรกลับมาเลย? ถ้าเป็นต่างประเทศโดยส่วนใหญ่แร่ธาตุที่อยู่ในดิน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนต้องเป็นของคนที่นั่น คุณเจอทองตรงนั้น เจอโปแตสตรงนี้ จะเอาไปใช้คุณต้องคุยกับองค์กรปกครองท้องถิ่น ไม่ใช่ไปขอสัมปทานที่ส่วนกลาง ต้องคุยว่าถ้าคุณจะเอาไปคุณจะแบ่งให้ชุมชนอย่างไร เพราะมันคือบ้านของเขาที่จะต้องรับมลพิษ และผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมทั้งหมด คุณจะชดเชยอย่างไร จะแบ่งกำไรกันเท่าไหร่ การแบ่งกำไรต้องเข้าไปที่องค์กรปกครองท้องถิ่นโดยตรง ไม่ใช่เอาไปให้ส่วนกลาง

ยกตัวอย่างอุทยานที่เป็นหมู่เกาะในจังหวัดภาคใต้ นักท่องเที่ยวมานี่เอาขยะมาทิ้งนะครับ แต่ถามว่าค่าเข้าอุทยานไปตกอยู่ที่ใคร? นู่นครับกรมอุทยานฯ นักท่องเที่ยวเอาขยะมาทิ้งใครเป็นคนที่จัดการขยะ? กรมอุทยานฯหรือเปล่า? คำตอบคือ อบต.เป็นคนจัดการ นักท่องเที่ยวมาเศรษฐกิจดีก็จริง แต่ภาษีเกือบทั้งหมดที่จ่ายไปตกอยู่ที่ส่วนกลาง เรื่องนี้ชัดเจนมากว่านักท่องเที่ยวเอาขยะเข้าไป จ่ายค่าเข้าให้กับกรมอุทยานฯ แต่ท้ายที่สุด บริการสาธารณะทั้งหมด อบต.ต้องเป็นคนรับผิดชอบ โดยแทบจะไม่ได้ส่วนแบ่งจากการท่องเที่ยวเลย

คุณลืมคิดไปว่าถ้าคุณอยากจะใช้ทรัพยากรอะไร คนที่เสียทรัพยากรควรจะต้องได้รับการชดเชย มันไม่ควรจะมีการเสียสละเพื่อการพัฒนาแต่มันควรจะเป็นแฟร์เพลย์ ว่าคุณจะต้องเสียอะไรไปบ้างและคุณจะต้องได้รับกลับคืนเท่าไหร่

(4) อนาคตและความหวัง การกระจายอำนาจในประเทศไทย

ถามว่าเรื่องแบบนี้จะแก้อย่างไร? ตอบให้แบบง่ายและสั้นที่สุด “เลือกพรรคก้าวไกล”

นี่คือเรื่องของเจตจำนงและความมุ่งมั่นทางการเมือง ผมเชื่อว่าถ้ามีอำนาจภายใน 10 ปีทำได้ค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป

คือมันต้องแรดิคัลในเนื้อหาแต่ผ่อนปรนในระยะเวลา จะทำแบบบิ๊กแบงในคืนเดียวเหมือนการปฏิวัติวัฒนธรรมที่เหมาเจ๋อตงทำก็ไม่ได้ มันก็จะเละในแบบเดียวกัน

radical problem requires radical solution ปัญหาที่หยั่งรากลึกมันต้องการการแก้ปัญหาที่ถอนรากถอนโคน เรื่องนี้ก็เช่นกัน แต่ไม่จำเป็นต้องเร่งทำ ผมคิดว่า 5-10 ปี ค่อย ๆ ทำ ค่อย ๆ ให้อำนาจ ค่อย ๆ คืนงบประมาณ ผ่านระยะเวลาสัก 5-10 ปี มันจะเกิดขึ้นได้

จริง ๆ แล้วเราสามารถเริ่มได้เลยตอนนี้ อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล กำลังจะเริ่มแคมเปญในวันที่ 1 เมษายนนี้ คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปฏิรูประบบราชการ ลดอำนาจของส่วนกลางและให้อำนาจของส่วนท้องถิ่นมากขึ้น

รัฐธรรมนูญปี 2560 มีเรื่องที่เกี่ยวกับการกระจายอำนาจอยู่ ก็คือหมวด 14 ซึ่งข้อเสนอของอาจารย์ปิยบุตร ก็คือการเอาหมวด 14 ของรัฐธรรมนูญออกไป แล้วเอาเรื่องการกระจายอำนาจของรัฐธรรมนูญปี 2540 เข้ามาใส่แทน แล้วเพิ่มเติมด้วยสองอย่าง อย่างแรกก็คือการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคภายใน 8 ปี อย่างที่สองก็คือการเปลี่ยนเรื่องอำนาจของท้องถิ่น จากปัจจุบันที่เขียนว่าท้องถิ่นมีอำนาจทำอะไรได้บ้าง เปลี่ยนเป็นการเขียนว่าไม่ให้ท้องถิ่นทำอะไรบ้าง

คือปัจจุบันมันมีลิสต์อยู่ 10-20 อย่าง ว่าท้องถิ่นสามารถทำอะไรได้บ้าง แต่การเขียนแบบนี้ทำให้เกิดความก้ำกึ่งว่าท้องถิ่นทำอะไรได้บ้าง ข้อเสนอก็คือเขียนเพียงว่าห้ามอะไรบ้าง ส่วนอะไรที่ไม่ได้ห้ามต้องทำได้หมด

นี่คือโมเดล “40 พลัส” คือพลัสเรื่องของราชการส่วนภูมิภาค กับเรื่องอำนาจของท้องถิ่น ซึ่งถึงเวลานั้นเมื่อไหร่ ผมก็อยากจะชวนทุกท่านมารณรงค์ร่วมกัน ผมเข้าใจว่าการจะทำให้คนทุกคนมาเข้าใจในสถาปัตยกรรมของรัฐที่มันไม่เท่าเทียมแบบรัฐราชการรวมศูนย์ คงต้องใช้เวลาอธิบาย แต่ก็อยากให้มาผลักดันร่วมกัน

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้มันมีความเป็นการเมืองน้อยกว่าการยกเลิกมาตรา 272 หรือการยกเลิก ส.ว.แบบที่เราเคยรณรงค์กันมาและถูกปิดประตูทุกบาน เพราะมันมีความเป็นการเมืองสูงมาก

แต่เรื่องของการปฏิรูประบบราชการ คือเรื่องที่เรามีความหวังกับมันได้มากกว่า เพราะทุกพรรคการเมืองพูดเหมือนกันหมด ว่าต้องมีการปฏิรูประบบราชการ ต้องมีการกระจายอำนาจ มันมีสิทธิ์ที่จะผ่านสูงกว่า ถ้าประชาชนทุกคนร่วมกันรณรงค์

ก็เหมือน พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ผมก็อยากรู้ว่าพอมันคืนจากคณะรัฐมนตรีในประมาณอีกสองเดือนข้างหน้า จะมีพรรคไหนกล้าโหวตไม่รับ พ.ร.บ.นี้บ้างไหม? ในเมื่อมันเป็น พ.ร.บ.ที่ให้ประโยชน์แก่ประชาชน เรื่องการกระจายอำนาจก็เช่นกัน มันเป็นเรื่องที่ทุกคนพูดเหมือนกันหมด แม้แต่ ส.ว.ก็พูด กปปส. ตอนชุมนุมก็พูด

เพราะฉะนั้น ในทางรูปธรรมไม่ต้องรอถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า มาร่วมกันรณรงค์ตั้งแต่ครั้งนี้ได้เลย จะผ่านหรือไม่ผ่านก็ค่อยว่ากัน

ที่เหลือก็คือเรื่องของอนาคต เช่น เรื่องของงบประมาณ ซึ่งต้องใช้อำนาจฝ่ายบริหาร ใช้เสียงข้างมากในสภา เรื่องนี้ทำได้เลยถ้าเราได้เป็นรัฐบาล ค่อย ๆ ทยอยเปลี่ยนจากการจัดสรรภาษีที่ปัจจุบันส่วนกลางได้ 70% ส่วนท้องถิ่นได้ 30% ค่อยๆให้มันไหลไปจาก 30 เป็น 35 เป็น 40 เป็น 45 ในช่วงหนึ่งวาระที่เป็นรัฐบาล ขยายให้สักปีละ 5% จะกลายเป็น 50-50 ซึ่งผมคิดว่าเป็นสัดส่วนที่เหมาะสม

ทีนี้เมื่อเอางบประมาณไปแล้ว ก็ต้องเอาคนและภารกิจไปด้วย ก็จะต้องมีการค่อย ๆ ถ่ายโอนคนจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาคไปเป็นของส่วนท้องถิ่น ซึ่งนี่คือเรื่องที่ต้องทำงานทางความคิดไปพร้อมกันด้วย เพราะข้าราชการหลายคนยังคงมีความคิดว่าการเป็นข้าราชการในส่วนท้องถิ่นมันต่ำต้อยกว่า มีโอกาสก้าวหน้าน้อยกว่าการเป็นข้าราชการของส่วนกลาง ดังนั้น เราจึงต้องค่อย ๆ ทำ จะทำให้เสร็จหมดภายในทีเดียวไม่ได้

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า