กางทุกปัญหามาตรา 112 ไม่ใช่แค่กฎหมายแต่สัมพันธ์กับการเมือง

3 พฤศจิกายน 2564

เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า จัดสนทนาบนแอพพลิเคชั่น Clubhouse และช่องทางเพจเฟซบุ๊กคณะก้าวหน้า หัวข้อ “หมดเวลา 112 ถึงเวลาคืนอนาคตสังคมไทย” วิเคราะห์ประเด็นปัญหาของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จุดยืนของคณะก้าวหน้า และแนวทางการเคลื่อนไหวเพื่อนำไปสู่การรณรงค์สนับสนุนกระบวนการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

กางทุกปัญหาตัวบท การบังคับใช้ 112 ชี้เป็นกฎหมายการเมือง ไม่ใช่ความยุติธรรม


ปิยบุตร เริ่มต้นด้วยการทบทวนปัญหาของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยระบุว่าส่วนตัวแล้วตนยืนยันว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ต้องถูกยกเลิกไป เนื่องจากเป็นมาตราที่มีปัญหาทั้งในเรื่องของตัวบท การบังคับใช้ และอุดมการณ์เบื้องหลัง

ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับตัวบท การอยู่ในหมวดของความมั่นคงในราชอาณาจักร ทำให้แนวทางการวินิจฉัยคดีเป็นเรื่องของการควบคุมอาชญากรรมมากกว่าการรักษาสิทธิเสรีภาพของ ประชาชน นำไปสู่ทิศทางที่มักไม่ให้มีการปล่อยตัวชั่วคราว หรือมีการเรียกหลักประกันชนิดที่สูงมาก

ประการถัดไป ในมาตรา 112 เขียนไว้ว่าผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาตร้าย ต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี

ประการต่อมา คือการไม่แยกฐานความผิดอย่างชัดเจน ระหว่างหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาตร้าย ทั้งที่เป็นการกระทำที่ไม่เหมือนกัน แนวทางการใช้จึงปะปนกันไป

นอกจากนี้ มาตรา 112 ไม่มีเหตุยกเว้นความผิดหรือยกเว้นโทษ เช่น การวิพากษ์วิจารณ์ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ เป็นการติชมโดยสุจริต หรือการพิสูจน์ได้ว่าสิ่งที่วิจารณ์นั้นเป็นความจริง

ปัญหาต่อมาคืออัตราโทษที่สูงถึง 3-15 ปี ซึ่งเป็นอัตราโทษที่สูงเกินไป แม้แต่เมื่อเทียบกับสมัยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ลงโทษไม่เกิน 7 ปี และยังเป็นอัตราโทษหมิ่นประมาทที่สูงที่สุดในโลก ไม่มีที่ไหนสูงเท่านี้อีกแล้ว


ที่สำคัญ คือการเปิดโอกาสให้ใครก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษได้ ประกอบกับแนวทางการปฏิบัติที่เจ้าหน้าที่มักไม่ยอมใช้ดุลพินิจ แต่เลือกที่จะสั่งฟ้องไว้ก่อน นำไปสู่การกลั่นแกล้งกันทั้งในทางส่วนตัวและในทางการเมือง รวมถึงยังมีประเด็นเรื่องการปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกด้วย

ปัญหาประกันสุดท้าย คือเรื่องของอุดมการณ์ที่ไม่เป็นประชาธิปไตยกำกับอยู่ ทำให้มีการใช้มาตรา 112 อย่างกว้างขวาง ผิดกับประเทศอื่นที่ไม่ถูกนำมาใช้ หรือหากนำมาใช้ก็มีเพียงโทษปรับเท่านั้น และมาตรา 112 ของประเทศไทยยังเป็นกฎหมายที่มีการตีความอย่างกว้างขวางจนไร้มาตรฐาน ขึ้นกับสถานการณ์ทางการเมืองมากกว่ากระบวนการยุติธรรมด้วย

“เราเห็นตัวอย่างกันอยู่บ่อยครั้ง การแสดงออกซึ่งไม่เข้ากรอบความผิดเลย แต่ศาลก็ตีความว่าเป็นความผิด ถ้าอุดมการณ์ที่ฝังรากลึกอยู่ในประเทศนี้เป็นประชาธิปไตยจริง มาตรา 112 จะมีไว้แต่อาจจะไม่ใช้ก็ได้ มันอาจจะกลายเป็นกฎหมายที่นอนหลับอยู่เฉย ๆ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เป็นคนพูดออกมาในที่สาธารณะเอง ว่าที่ผ่านมาไม่ใช้ 112 เพราะอะไร เรามองเป็นอื่นไปไม่ได้เลยว่าสุดท้ายแล้ว 112 จะถูกใช้หรือไม่ถูกใช้ขึ้นอยู่กับบริบททางการเมือง อย่างทุกวันนี้ สถิติการดำเนินคดี 112 เกิดขึ้นกว่า 150 กว่าคดีแล้ว นี่แสดงให้เห็นว่า 112 มันไม่ใช่ตัวบทกฎหมายแบบธรรมดา แต่มันจะถูกฟื้นชีวิตขึ้นมาเมื่อไหร่ขึ้นอยู่กับบริบททางการเมืองด้วย”


เทรนด์โลกปลดล็อกหมิ่นประมาทออกจากโทษอาญา ไม่มีใครควรติดคุก เพราะการพูด

ปิยบุตร ยังกล่าวต่อไปถึงเหตุผลที่ต้องมีการยกเลิกมาตรา 112 โดยระบุว่าในโลกสากลทุกวันนี้ ความผิดที่เกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออกเริ่มถูกถอดออกจากความผิดทางอาญาแล้ว เหลือเพียงการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในทางแพ่ง หรือเป็นเพียงโทษปรับทางอาญาเท่านั้น

ตามหลักปรัชญากฎหมาย การกำหนดโทษในทางอาญาล้วนต้องมีเหตุผลกำกับ และการลงโทษก็ต้องได้สัดส่วน เหตุผลของกฎหมายอาญาคือการรักษาความสงบเรียบร้อยและระเบียบของสังคม เช่น ต้องมีบทลงโทษทางอาญาในเรื่องของการฆ่า ขโมย ล่วงละเมิดทางเพศ เพราะเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อสังคมโดยตรง

แต่สำหรับการหมิ่นประมาทนั้น ยกตัวอย่างตนที่ถูกหมิ่นประมาทเป็นประจำแต่ไม่ติดใจเอาความ รัฐย่อมไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่ควรมายุ่งเกี่ยวอะไรด้วย เพราะไม่ได้มีความกระทบกระเทือนต่อสังคม ผู้ถูกดูหมิ่น ควรเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าเสียหายหรือไม่และเป็นเพียงเรื่องทางแพ่งระหว่างบุคคลกับบุคคลไป

บุคคลที่ดำรงตำแหน่งสำคัญของประเทศก็เช่นกัน กระบวนการยุติธรรมบนโลกสมัยใหม่มีแนวโน้มไปในทิศทาง ว่ายิ่งดำรงตำแหน่งสำคัญ โดยเฉพาะที่ใช้อำนาจรัฐ ยิ่งต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์และหมิ่นประมาทได้มากกว่าผู้อื่น

ปิยบุตร ระบุว่าดังนั้นเหตุผลที่ต้องคุ้มครองตำแหน่งสำคัญของประเทศจึงยิ่งลดน้อยถอยลงไป เรากำลังมาถึงยุคสมัยที่การหมิ่นประมาทไม่ได้ถูกนับเป็นโทษทางอาญาแล้ว แต่เป็นเรื่องที่ผู้เสียหายต้องไปเรียกร้องเป็นค่าสินไหมทดแทนกันในทางแพ่งเอง

“การเอาคนไปขังคุกไม่ควรเกิดจากเพียงการแสดงออก การพูด การเขียน เขาไม่ได้ฆ่าใครตาย เขาไม่ได้เอาเงินใครไป เขาไม่ได้ขโมยของใคร เขาไม่ได้ทำให้สังคมเดือดร้อน เต็มที่ไม่พอใจก็ไปเรียกค่าเสียหายเขา

การแสดงออกซึ่งความคิดเห็นของคนไม่ควรจะนำไปสู่การเข้าคุก เรายืนยันใช่ไหมว่าประเทศนี้เป็นประชาธิปไตย? สาระสำคัญของที่สุดของประชาธิปไตยคือเสรีภาพในการแสดงออก” ปิยบุตรกล่าว



หากเจาะจงไปที่กรณีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์หรือประมุขของรัฐ ก็จะพบว่าหลายประเทศที่มีกษัตริย์มีความผิดฐานนี้แต่แทบไม่ได้เอามาใช้แล้ว หรือที่เอามาใช้ก็ลงโทษแค่ปรับเท่านั้น มีอยู่ประเทศเดียวที่มีปัญหามากหน่อยคือกรณีของสเปน แต่ก็ถูกศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปลงโทษหลายครั้ง ว่าละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ละเมิดอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนของยุโรป

“ดังนั้น ทิศทางของโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นประมุขของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์หรือประธานาธิบดี มีแต่แนวโน้มที่จะยกเลิกกฎหมายหมิ่นประมาท ถ้าไม่ยกเลิกก็ไม่ใช้ หรือถ้าใช้ก็แค่ปรับ เหลืออยู่ไม่กี่ประเทศ ที่เป็นปัญหา เช่น กรณีของสเปน โมร็อกโก และประเทศไทย แต่ผมยืนยันว่าไม่ว่าจะเป็นสเปน หรือโมร็อกโก เขาไม่ใช้การลงโทษแบบเดียวกับเรา ไม่ใช้การดำเนินคดีร้อยกว่าคดีอย่างประเทศไทยแน่นอน” ปิยบุตรกล่าว


ย้ำต้องขับเคลื่อนร่วมใน-นอกสภา ดันให้ถึงล้านชื่อเท่านั้นยกเลิก 112 ได้


ปิยบุตรยังกล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันนี้จากการสำรวจข้อเสนอต่างๆ และร่าง พ.ร.บ. ที่เกี่ยวกับมาตรา 112 ณ เวลานี้ มีอยู่ 3 รูปแบบ คือ


1) การแก้ไขในตัวบท เช่น การแก้ไขให้ลดโทษ แก้ไขเพื่อแยกฐานความผิด แก้เพื่อเพิ่มเหตุยกเว้นความผิด เพิ่มเหตุยกเว้นโทษ เป็นต้น กรณีนี้ ได้แก่ ข้อเสนอของ คอป. และความเห็นของ พล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย

2) กึ่งแก้กึ่งเลิก คือการไปเลิก 112 ทั้งมาตราก่อน แล้วจึงร่างกฎหมายความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ขึ้นมาใหม่ อยู่หมวดใหม่ มีเนื้อความใหม่ กรณีนี้ ได้แก่ ร่างที่คณะนิติราษฎร์ร่างขึ้นและ ครก 112 รณรงค์เมื่อสิบปีก่อน และร่าง พรบ ที่ สส พรรคก้าวไกลเสนอ

3) การยกเลิกไปเลย ได้แก่ การรณรงค์ของคณะราษฎรยกเลิก 112 ที่เปิดตัวเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม

“ในส่วนของผม ผมสนับสนุนให้ยกเลิก 112 พร้อมกับยกเลิกความผิดอาญาฐานหมิ่นประมาททั้งระบบให้ผู้เสียหายไปเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนทางแพ่ง โดยกำหนดว่ากรณีที่ติชมโดยสุจริตหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ เรียกค่าสินไหมทดแทนไม่ได้” ปิยบุตรบอก

เหตุการณ์เมื่อวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่กลุ่มราษฎรลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง เพื่อรณรงค์ยกเลิกมาตรา 112 ได้รับการตอบรับทั้งในด้านสนับสนุนและคัดค้าน ซึ่งต้องยอมรับว่าการผลักดันเรื่องที่ทั้งยากและใหญ่ขนาดนี้ ต้องใช้พลังของทุกส่วนในการเข้ามาผลักดันร่วมกันทั้งในและนอกสภา

จริงอยู่แม้กฎหมายให้ใช้เพียง 10,000 ชื่อก็สามารถเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภาได้แล้ว แต่นั่นย่อมไม่เพียงพอ สิ่งที่ผู้รณรงค์ต้องการคือหลักแสนหรือหลักล้านเท่านั้น ที่จะพอมีแรงกดดันให้สภาต้องยอมรับได้

“การเข้าชื่อเป็นล้านจะช่วยทำให้เสียงของมหาชนถูกทำให้เป็นทางการ ทำให้มีพลังขึ้นมา ไม่ใช่กระจัดกระจายอยู่บนท้องถนน การรณรงค์รอบนี้จึงมีนัยยะสำคัญอย่างยิ่ง ยิ่งมีมากเท่าไหร่เรายิ่งมีโอกาสชนะ ยิ่งน้อยโอกาสสำเร็จก็มีน้อย พยายามทำให้ฝ่ายที่ไม่อยากแตะต้อง 112 กลายเป็นคนส่วนน้อยของสังคมให้ได้ นี่คือการสร้างฉันทามติในสังคม” ปิยบุตรกล่าว


ชี้ฝ่ายสนับสนุนต้องขยายแนวร่วม-ลดขัดแย้ง วอนฝ่ายเห็นต่างทบทวนความคิด


ปิยบุตรยังได้สื่อสารไปถึงทุกฝ่ายในสังคมไทย ให้ร่วมกันมองเห็นความสำคัญของการยกเลิกมาตรา 112 โดยสำหรับผู้สนับสนุน ต้องรณรงค์อย่างต่อเนื่อง หาพวกให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ผู้ที่ไม่เห็นด้วยก็ต้องไปคุยเพื่อให้เปลี่ยนใจ

ดังนั้น ท่าทีของการสื่อสารต้องมีความหลากหลาย ระดมคนเข้ามาให้มากที่สุด นักวิชาการปัญญาชนที่สนับสนุนต้องมาช่วยกันสื่อสาร และที่สำคัญ ผู้ที่สนับสนุนพรรคการเมืองต่างพรรค ควรหยุดถากถางกันเอง โดยเฉพาะในฝ่ายพรรคก้าวไกลที่รณรงค์เรื่องนี้มาก่อน ควรแสดงความยินดีหากมีพรรคการเมืองอื่นมาร่วมผลักดันวาระสำคัญนี้ด้วยกัน

ขอส่งสารสุดท้ายไปถึงผู้ที่ยังไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกมาตรา 112 โดยระบุว่าผู้ที่จงรักภักดีอย่างจริงใจหลายคน หากไม่หลอกตัวเองจนเกิดไปควรจะต้องเห็นปัญหาของการใช้มาตรา 112 และควรต้องเข้าใจว่าการรักษาสถาบันกษัตริย์ที่ดีที่สุดย่อมไม่ใช่การไล่ฟ้องไล่ขังคน เพราะมีแต่จะทำให้ฝ่ายปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ยิ่งแรงขึ้น

“ดูประเทศอื่นเขาใช้วิธีอะไร ที่ประเทศอังกฤษมีกลุ่มอยากยกเลิกสถาบันกษัตริย์อยู่เต็มไปหมด แต่สำรวจกี่ทีก็เป็นส่วนน้อย สถาบันกษัตริย์อังกฤษก็ยังอยู่ มีคนเอาควีนอลิซาเบธไปล้อเลียนเต็มไปหมดทำไมเขาอยู่ได้? นั่นแสดงให้เห็นว่าเขาเปิดให้พูด เปิดให้คุย เปิดให้ล้อเลียน แล้วทำให้คนเหล่านี้กลายเป็นคนกลุ่มน้อยของสังคม วิธีนี้ต่างหากที่จะรักษาสถาบันกษัตริย์เอาไว้ได้ เราเดินทางมาไกลจนย้อนกลับไม่ได้แล้ว ผมอยากจะชวนฝ่ายอนุรักษ์นิยมฝ่ายที่ประกาศตัวว่าเป็นเป็นผู้จงรักภักดี ลองคิดเรื่องนี้ใหม่อีกครั้ง” ปิยบุตรกล่าว

มาตรา 112 คือเรื่องปากท้อง ถามทิ้งท้าย ตกลงไทยเป็นประชาธิปไตยหรือสมบูรณาญาสิทธิ์?


ในช่วงครึ่งหลังของรายการ ปิยบุตรได้พูดคุยแลกเปลี่ยน และตอบคำถามที่เข้ามาจากผู้ฟังทางบ้านหลายราย ซึ่งหนึ่งในคำถามนั้น เป็นข้อสงสัยที่ประชาชนจำนวนหนึ่งมี ว่าเหตุใดจึงไม่เรียกร้องในเรื่องของปากท้องให้ประชาชนก่อน

การรณรงค์นั้นสามารถทำได้หลายเรื่องพร้อม ๆ กัน ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น และที่สำคัญ เรื่องของมาตรา 112 ยังเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปากท้องของประชาชนโดยตรงด้วย

ทั้งนี้ เพราะรายจ่ายทั้งทางตรงและทางอ้อมที่ประเทศไทยตั้งไว้เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งในส่วนราชการในพระองค์และในส่วนราชการอื่น รวมกันแล้วมีมากถึง 3-4 หมื่นล้านบาทต่อปี ที่สามารถเอามาทำสวัสดิการ แก้ไขปัญหาปากท้อง อัดฉีดเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจได้

แต่ปัจุบันมาตรา 112 ทำให้เกิดข้อจำกัดในการอภิปรายพูดถึงอย่างตรงไปตรงมา ไม่สามารถตัดทอนปรับเปลี่ยนงบประมาณส่วนนี้ให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจและความต้องการของ ประชาชนได้ ซึ่งย่อมเป็นเรื่องของปากท้องประชาชนโดยตรง


“เยาวชนที่พูดถึงเรื่องนี้ต้องถูกดำเนินคดีมาตรา 112 หรือไม่ต้องอื่นไกล เพื่อนผม (ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า) พูดเรื่องวัคซีนและเป็นประโยชน์ต่อประเทศจริง แล้วก็ถูกด้วยที่พูดอะ กลับโดนดำเนินคดีมาตรา 112 สิ่งที่ธนาธรพูดเกี่ยวกับชีวิตของผู้คน ชีวิตของพี่น้องประชาชนทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นถามว่าเรื่องของมาตรา 112 มันโยงกับปากท้องได้ไหม มันย่อมเกี่ยวข้องแน่นอน บทบาทของสถาบันกษัตริย์ในประเทศไทยแทรกซึมอยู่ในทุกอณูแล้ว ถ้าเราเปิดให้มีการวิจารณ์พูดถึง ให้สามารถติชมอย่างสุจริตใจเพื่อประโยชน์สาธารณะและเพื่อประโยชน์ของสถาบันกษัตริย์ได้ ผมว่ามันเป็นประโยชน์กว่าแน่นอน ดีกว่าเอา 112 มาปิดปากกันแบบนี้” ปิยบุตรกล่าว

นอกเหนือจากตัวบทและการบังคับใช้แล้ว มาตรา 112 ยังมีปัญหาในเชิงอุดมการณ์อีกด้วยนั่นคือการที่มีคนบางกลุ่มยังมีวิธีคิดว่าประเทศไทยเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่ ทั้งๆ ที่ปัจจุบันประเทศไทยกำหนดว่าปกครองในระบอบประชาธิปไตยแล้ว

ปิยบุตรตั้งคำถามว่าเป็นไปได้อย่างไรที่ความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์เท่ากับความมั่นคง? หากประเทศนี้เป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์การหมิ่นประมาทกษัตริย์อาจจะเข้าข่ายเรื่องความมั่นคงในราชอาณาจักรได้ แต่ทุกวันนี้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยแล้ว การที่มาตรา 112 อยู่ในหมวดความมั่นคงจึงเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลอีกต่อไป

“ใครที่ยืนยันว่า 112 ถูกต้องแล้ว ช่วยตอบผมดังๆ หน่อย ว่าประเทศนี้ยังเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่หรือ? ถ้าไม่เป็นแล้วจะไปอยู่ในหมวดความมั่นคงทำไม? ประวัติศาสตร์ของ 112 หลัง 2475 ไม่ได้อยู่ในหมวดความมั่นคง ซึ่งถูกย้ายไปอยู่ในหมวดความมั่นคงหลังรัฐประหาร 2490 แล้วโทษมันเพิ่มขนาดนี้หลังรัฐประหาร 6 ตุลา 2519 เพราะฉะนั้นมาตรา 112 มันจึงไม่ใช่ตัวบทกฎหมายธรรมดา แต่มันสัมพันธ์กับบริบททางการเมืองตลอดเวลา” ปิยบุตรกล่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า