ถอดบทเรียนการต่อต้านรัฐประหารในเมียนมาร์

2 มีนาคม 2564

การรัฐประหารในพม่าในช่วงที่ผ่านมานำโดย พล.อ. มิน อ่อง ลาย ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างไทยและพม่าในระดับประชาชน ประชาชนของไทยและพม่าอาจเคยมองกันและกันเป็นศัตรู แต่ปัจจุบันพวกเขามีศัตรูร่วมกันคือระบอบเผด็จการทหารที่ปล้นชิงอำนาจรัฐไปจากประชาชน การต่อต้านรัฐประหารในพม่าด้วยปฏิบัติการไร้ความรุนแรงในช่วงที่ผ่านมากำลังเป็นที่จับตามองของนานาชาติ และอาจมอบบทเรียนสำคัญสำหรับการเตรียมความพร้อมเพื่อต่อต้านการรัฐประหารที่อาจเกิดขึ้นในประเทศไทยด้วย

จุดเปลี่ยนความสัมพันธ์ประชาชนไทย-พม่า

การรัฐประหารในพม่าเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 โดย พล.อ. มิน อ่อง ลาย ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างไทยและพม่าในระดับประชาชน

ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ประชาชนชาวไทยมักได้รับการปลูกฝังความเชื่อผ่านครูบาอาจารย์ ตำราเรียน ภาพยนตร์ และละครว่าพม่าเป็นอริราชศัตรูของไทยมาโดยตลอด เรามักถูกสอนว่าในอดีตเราเคยเสียกรุง 2 ครั้ง กษัตริย์ในสมัยอยุธยามักได้รับการเชิดชูว่าเป็นวีรบุรุษที่ต่อสู้เพื่อเอกราชจากการยึดครองของพม่า เช่น สมเด็จพระเนรศวรมหาราช เป็นต้น

ไม่ว่าจะกี่ยุคกี่สมัย เรื่องเล่าที่บอกว่าพม่าเป็นศัตรูก็ยังไม่เคยหายไปจากสังคมไทย แม้เราจะอยู่ในศตวรรษที่ 21 แล้วก็ตาม ตัวอย่างเช่น แรงงานพม่าที่เข้ามาทำงานในไทยมักถูกมองว่าเป็นสาเหตุของคดีอาชญากรรมต่าง ๆ หรือเมื่อพบว่าแรงงานพม่าเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้แพร่เชื้อโควิด-19 ที่จังหวัดสมุทรสาครในช่วงที่ผ่านมา สำนักข่าวต่าง ๆ ก็พาดหัวว่า “พม่าตีเมือง”

อย่างไรก็ตาม การรัฐประหารหลายครั้งในไทยและพม่าได้ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป จากเดิมที่ประชาชนจำนวนมากเคยตกอยู่ใต้มนต์สะกดของอุดมการณ์ราชาชาตินิยมและมองว่าพม่าเป็นศัตรูของราชอาณาจักรไทย ปัจจุบันประชาชนชาวไทยจำนวนมากได้เข้าสู่สภาวะ “ตาสว่าง” และเห็นว่าประชาชนชาวพม่าคือเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่อยู่ภายใต้การยึดครองของทหารมาร่วมกัน

ภาวะ “ตาสว่าง” ไม่ใช่การพูดเกินจริงแม้แต่น้อย ตลอดเวลาที่ผ่านมาประเทศไทยไม่ต่างจากประเทศอื่น ๆ มากนักในแง่การใช้งบประมาณมหาศาลไปกับการซื้อยุทโธปกรณ์เพื่อป้องกันการยึดครองจากต่างชาติ และการปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบภายในประเทศอย่างผิด ๆ แต่กลับไม่มีการลงทุนในการป้องกันประเทศจากการยึดครองโดยกองทัพของตนเองผ่านการรัฐประหารแม้แต่น้อย ทั้งที่เป็นภัยคุกคามที่จับต้องได้กว่ามาก และประเทศไทยก็เคยถูกยึดครองจากทหารของตนเองแล้วกว่า 13 ครั้ง

แม้การต้านรัฐประหารจะเป็นประเด็นที่รัฐบาลไทยไม่ให้ความสนใจในฐานะปัญหาความมั่นคง แต่ประชาชนในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกก็พิสูจน์แล้วว่าพวกเขาสามารถต่อต้านรัฐประหารได้หลายต่อหลายครั้งด้วยปฏิบัติการไร้ความรุนแรง เช่น สหภาพโซเวียต ฝรั่งเศส อาร์เจนตินา โบลิเวีย บูกีร์นาฟาโซ หรือไทยก็เคยต้านรัฐประหารสำเร็จเช่นกันใน พ.ศ. 2535

การต่อต้านรัฐประหารในพม่าขณะนี้ก็จะสำเร็จเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในประเทศอื่น ๆ หรือไม่ นับเป็นประเด็นที่น่าติดตามและจับตามอง

เรียนรู้จากเมียนมาร์: การต้านรัฐประหารทำอย่างไร

การรัฐประหารและการต่อต้านของประชาชนในพม่ากำลังเป็นประเด็นที่ไทยให้ความสนใจในฐานะประเทศเพื่อนบ้าน หากมองจากมุมของฝ่ายรัฐและชนชั้นนำ เราคงพอคาดการณ์ได้ว่าพวกเขาน่าจะกำลังมองจุดแข็งและจุดอ่อนในการรัฐประหารของมิน อ่อง ลาย เพื่อเป็นบทเรียนหากพวกเขาตัดสินใจก่อการรัฐประหารในวันข้างหน้า หลังจากการซ้อมต้านรัฐประหารครั้งใหญ่เมื่อปีที่แล้ว ประชาชนก็คงจับตาดูการต่อต้านรัฐประหารในพม่าเพื่อเป็นกำลังใจและถอดบทเรียนเพื่อเตรียมโค่นล้มการรัฐประหารในครั้งหน้าเช่นกัน

การต้านรัฐประหารในเมียนมาร์โดยหลักใหญ่ไม่ต่างจากกรณีการต่อต้านรัฐประหารในประเทศอื่น ๆ ในสถานการณ์รัฐประหารที่โจรปล้นอำนาจบุกยึดอาคารทำการของรัฐบาล ประกาศตนเป็นรัฎฐาธิปัตย์ ออกคำสั่งปิดสื่อ ห้ามชุมนุม ประกาศเคอร์ฟิว และจับกุมนักการเมืองพลเรือนอย่างรวดเร็ว ขบวนการภาคประชาชนจะต้องเรียกระดมมวลชนอย่างรวดเร็วเพื่อปฏิเสธความชอบธรรมของการรัฐประหาร และขัดขวางป้องกันไม่ให้โจรปล้นอำนาจสามารถควบคุมกลไกรัฐได้ โดยกระทำการต่าง ๆ ดังนี้

1.ประท้วง

เพื่อส่งสัญญาณถึงโจรปล้นอำนาจว่าประชาชนไม่เห็นด้วยกับการขึ้นสู่อำนาจของพวกเขา และปลุกขวัญกำลังใจของประชาชนให้มาเข้าร่วมกับการต่อต้านรัฐประหาร การประท้วงในเมียนมาร์ทำให้เห็นว่าประชาชนพลเมืองสามารถเข้าร่วมการประท้วงได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการตีหม้อตีกระทะ การออกแถลงการณ์ การแสดงสัญลักษณ์สามนิ้วของดารานักแสดง การแต่งตัวด้วยชุดสีฉูดฉาด การหาข้ออ้างผูกเชือกรองเท้าบนท้องถนน การหาของอ้างเก็บข้าวสารบนถนน และการออกมารวมตัวบนท้องถนนเพื่อแสดงการต่อต้านอย่างเต็มขั้น

2.นัดหยุดงาน

โดยกลุ่มวิชาชีพต่าง ๆ เช่น หมอ ครู พยาบาล ข้าราชการ และพนักงานออฟฟิศ เพื่อทำให้รัฐบาล หน่วยงานภาครัฐ ประชาคมธุรกิจและวิสาหกิจไม่สามารถดำเนินงานของตนเองได้ ในกรณีที่เป้าหมายของการหยุดงานคือรัฐบาลหรือหน่วยงานภาครัฐ การนัดหยุดงานจะทำให้กลไกรัฐไม่สามารถทำงานได้ เมื่อกลไกรัฐไม่สามารถทำงานได้ โจรปล้นอำนาจไม่สามารถปกครองประเทศได้ ในกรณีที่เป้าหมายเป็นภาคธุรกิจ การนัดหยุดงานจะทำให้ภาคธุรกิจออกมาร่วมกดดันโจรปล้นอำนาจให้ออกไปด้วยเนื่องจากเป็นผู้เสียประโยชน์ หรืออาจทำให้บริษัทไม่สามารถดำเนินกิจการของตนเองได้หากมีใจเอนเอียงไปทางสนับสนุนเผด็จการ

บางครั้ง การนัดหยุดงานอย่างเต็มรูปแบบอาจทำได้ยากเนื่องจากประชาชนยังไม่มีความเป็นกลุ่มก้อนเข้มแข็งเพียงพอ บทลงโทษรุนแรง หรือไม่สามารถทำได้เนื่องจากงานดังกล่าวเป็นบริการขั้นพื้นฐานในชีวิตประจำวันสำหรับประชาชนผู้ต่อต้านด้วย ในกรณีเหล่านี้ ประชาชนผู้ต่อต้านการรัฐประหารอาจเตรียมการกักตุนสินค้าบางอย่างล่วงหน้า หรือหาวิธีการอย่างอื่นเพื่อขัดขวางการยึดอำนาจของผู้ก่อการรัฐประหารก็ได้ เช่น

การถ่วงงานให้ช้าลงด้วยข้ออ้างต่าง ๆ หรือการไม่ให้บริการหรือปฏิบัติตามคำสั่งเฉพาะส่วนของโจรปล้นอำนาจหรือผู้สนับสนุนโจรปล้นอำนาจ เป็นต้น โดยทั้งหมดนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ภาพใหญ่ที่เรียกว่า “การไม่ให้ความร่วมมือ

3.การปิดถนน

บางครั้งอาจใช้ยานพาหนะ ฝูงชน หรือสิ่งกีดขวางอื่น ๆ เพื่อขัดขวางไม่ให้เจ้าหน้าที่สามารถเช้าปราบปรามประชาชน หรือยึดสถานที่สำคัญของรัฐบาลพลเรือนได้โดยง่าย นอกจากนี้ยังเป็นการแสดงออกเพื่อต่อต้านรัฐประหารในเชิงสัญลักษณ์ และทำให้ประชาชนรู้สึกถึงความไม่ปกติของสังคมที่กำลังถูกยึดอำนาจโดยทหาร ซึ่งลักษณะของการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เหล่านี้มีอยู่ในการประท้วงและการนัดหยุดงานเช่นกัน    

หลาย ๆ ครั้งการปิดถนนอาจมาพร้อมกับกลยุทธ์การขัดขวางรูปแบบอื่น ๆ เช่น การแย่งชิงสถานที่สำคัญคืนจากโจรปล้นอำนาจ การซ่อนเอกสารข้อมูลสำคัญของรัฐบาลโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่ต่อต้านการรัฐประหาร หรือการแฮคเว็บไซต์ของรัฐบาลไม่ให้โจรปล้นอำนาจเข้าถึงได้ วิธีการเหล่านี้สามารถถูกนำมาปรับใช้เพื่อขัดขวางไม่ให้โจรปล้นอำนาจสามารถยึดครองประเทศได้เช่นกัน

4.รักษาช่องทางการสื่อสารของประชาชน

เนื่องจากโจรปล้นอำนาจมักจะตัดการถ่ายทอดโทรทัศน์ วิทยุ อินเตอร์เน็ต หรือสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อเอาไว้ประกาศอ้างความชอบธรรม ปิดกั้นการแสดงออกของประชาชน และออกคำสั่งต่าง ๆ ของคณะรัฐประหาร การรักษาช่องทางการสื่อสารของประชาชนเอาไว้จึงมีความสำคัญ ทั้งนี้ก็เพื่อรักษาช่องทางการนัดหมาย ประสานงาน เตรียมความพร้อม รักษาขวัญกำลังใจ และเรียกระดมประชาชนให้ออกมาต่อต้านขัดขืนการรัฐประหารด้วยกลยุทธ์ต่าง ๆ ตามเวลาและสถานที่ที่กำหนด

การรักษาช่องทางการสื่อสารอาจทำได้ด้วยการทำให้ประชาชนมีช่องทางการสื่อสารที่หลากหลาย หรือเตรียมวางแผนการสื่อสารในสถานการณ์รัฐประหารไว้ล่วงหน้า เช่น แอพลิเคชั่นใหม่หรือวิทยุพกพา

หลายครั้งช่องทางการสื่อสารเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีล้ำสมัยเสมอไป แต่อาจอยู่ในรูปของการเตรียมใบปลิว รถเวียน ผู้ส่งสาร หรือเตรียมจุดนัดพบกันไว้ล่วงหน้าแต่เนิ่น ๆ ก็สามารถทำได้เช่นกัน ในกรณีของเมียนมาร์ ประชาชนจำนวนมากได้ย้ายจากเฟสบุ๊คไปใช้ทวิตเตอร์แทน หลังหัวหน้าคณะรัฐประหารสั่งผู้บริการสัญญาณอินเตอร์เน็ตให้ปิดกั้นการเข้าถึงเฟสบุ๊คในเมียนมาร์

อีกประเด็นหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการรักษาช่องทางการสื่อสารคือความสำคัญอย่างยิ่งของการปกป้องสังคมไม่ให้ถูกยึดครอง การปกป้องสังคมไม่ใช่การปกป้องสถานที่ใดที่หนึ่งในเชิงกายภาพ แต่เป็นการปกป้องช่องทางการสื่อสารและองค์กรทางสังคมของฝ่ายต่อต้านไม่ให้ถูกปราบปราม อาคารสถานที่ต่าง ๆ ของรัฐบาลอาจถูกยึดโดยคณะรัฐประหาร แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าโจรปล้นอำนาจสามารถยึดครองสังคมได้แต่อย่างใด ตราบที่ประชาชนยังคงติดต่อสื่อสารกันเพื่อรักษารูปขบวนและยังคงการต่อต้านขัดขืนเอาไว้อย่างต่อเนื่อง โจรปล้นอำนาจก็ไม่สามารถปกครองได้

ปัจจัยความสำเร็จของการต้านรัฐประหารในเมียนมาร์

ประชาชนพม่าที่ออกมาต่อต้านรัฐประหารเริ่มเสียชีวิตจากถูกทหารยิงด้วยกระสุนจริงบ้างแล้ว แต่การต่อต้านก็ยังคงดำเนินต่อไป สำหรับทิศทางหลังจากนี้ นักวิชาการไทยหลายคนตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลทหารอาจจะอยู่ยาวในรอบนี้ และพูดอย่างมีความหวังอยู่บ้างว่าการรัฐประหารจะเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ออกมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยต่อไปในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม บทบาทของภาคประชาชนในการต่อต้านรัฐประหารไม่ใช่ปัจจัยที่ควรมองข้าม และการต่อต้านรัฐประหารของภาคประชาชนในเมียนมาร์ไม่จำเป็นต้องล้มเหลวเสมอไป หากการต่อต้านขัดขืนของประชาชนยังคงดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ โอกาสความสำเร็จของการต่อสู้จะเพิ่มขึ้นผ่านปัจจัย 3 อย่างด้วยกัน ได้แก่

  1. ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการต่อต้านมากขึ้น ส่งผลให้โจรปล้นอำนาจปกครองยากขึ้น
  2. ผู้สนับสนุนการรัฐประหาร เช่น ข้าราชการ ตำรวจ ทหาร และภาควิสาหกิจต่าง ๆ ย้ายข้างมาเข้าร่วมกับการต่อต้านรัฐประหารเพิ่มขึ้น
  3. การปราบปรามไม่เป็นผล เนื่องจากการปราบปรามทำให้กลุ่มต่าง ๆ เห็นอกเห็นใจและเข้าร่วมกับกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐประหารเพิ่มขึ้น และทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารเข้าร่วมการต่อต้านขัดขืนโดยปฏิเสธการปฏิบัติตามคำสั่งที่โหดร้ายและไม่ชอบธรรม

อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วในตอนต้น การต่อต้านรัฐประหารของภาคประชาชนในอดีตเคยประสบความสำเร็จมาแล้วในหลายประเทศ หากประชาชนยังคงรักษารูปขบวนของการต่อต้านขัดขืนไว้ต่อไป โดยปฏิบัติการต่าง ๆ อย่างเป็นเอกภาพ มีการวางแผนอย่างเป็นระบบ และรักษาวินัยในการไม่ใช้ความรุนแรงอย่างเคร่งครัด การต่อต้านขัดขืนของประชาชนก็จะมีความชอบธรรม และอาจนำไปสู่ปัจจัยความสำเร็จ 3 ข้อดังกล่าวได้ในที่สุด

บทเรียนสำหรับประเทศไทย: ความสำคัญของการเตรียมพร้อมล่วงหน้า  

นอกจากวิธีการต่าง ๆ ข้างต้นที่ไทยสามารถเรียนรู้ได้จากการต่อต้านรัฐประหารในพม่า อีกบทเรียนที่สำคัญคือการเตรียมพร้อมล่วงหน้าสำหรับการรัฐประหารที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

การเมืองไทยในปัจจุบันยังคงอยู่ในสภาวะไม่แน่นอน และเสี่ยงต่อการรัฐประหารอยู่เสมอ เนื่องจากกองทัพยังไม่ผ่านการปฏิรูปอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งยังมีอำนาจอิสระในการดำเนินกิจการต่าง ๆ ตามอำเภอใจโดยไม่ต้องขึ้นต่อรัฐบาลพลเรือน ด้วยเหตุนี้ ข่าวลือว่าอาจมีการรัฐประหารจึงเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง

เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว ประชาชนชาวไทยมากมายจึงร่วมกันซ้อมต้านรัฐประหาร โดยรวมตัวกันเพื่ออ่านแถลงการณ์และปฏิญาณตนต่อต้านรัฐประหารในการชุมนุมครั้งใหญ่เมื่อปลายปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายที่ดีอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ยังมีภารกิจอีกมากในการเตรียมความพร้อมเพื่อต่อต้านการรัฐประหารที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

หนึ่งในภารกิจสำคัญสำหรับการเตรียมความพร้อมเพื่อต่อต้านรัฐประหารที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากประเทศเมียนมาร์ในช่วงที่ผ่านมา คือ การสร้างฐานที่มั่นทางประชาธิปไตยให้มั่นคงแข็งแรง

ฐานที่มั่นของประชาธิปไตยในที่นี้หมายถึงการรวมตัวของประชาชนอย่างเป็นระเบียบและแบบแผน เช่น กลุ่มอุดมการณ์ทางการเมือง กลุ่มการศึกษา กลุ่มแรงงาน กลุ่มวิชาชีพ กลุ่มชมรม องค์กรชุมชน และประชาคมต่าง ๆ ที่ทำงานบนหลักการของประชาธิปไตย สมาชิกพลเมืองมีปากมีเสียงในการกำหนดทิศทางอย่างเต็มที่

ในยามปกติ ฐานที่มั่นของประชาธิปไตยเหล่านี้จะคอยทำหน้าที่บริการดูแลประชาชนทั่วไปในเรื่องต่าง ๆ แต่เมื่อมีการรัฐประหารเกิดขึ้น กลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้จะถูกปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์ให้เป็นฐานที่มั่นในการต่อต้านรัฐประหารที่สำคัญ โดยเป็นตัวกลางของการประสานงานเพื่อจัดกิจกรรมในการต่อต้านรัฐประหาร เช่น การออกแถลงการณ์ การนัดประท้วง การนัดหยุดงานต่าง ๆ

ในกรณีของเมียนมาร์ กลุ่มวิชาชีพมีความสำคัญอย่างมากต่อการนัดหยุดงาน และกลุ่มประชาคมและชุมชนท้องถิ่นก็มีบทบาทสำคัญในการนัดทำกิจกรรมเพื่อต่อต้านรัฐประหารเช่นกัน เมื่อมองย้อนกลับมาในกรณีของไทยอาจพบว่ากลุ่มองค์กรที่เป็นฐานที่มั่นของประชาธิปไตยยังไม่มีความเข้มแข็งมากนัก

หากมองในภาพใหญ่ การซ้อมรวมตัวของปัจเจกบุคคลและมวลชนในรูปของการประท้วงใหญ่บนท้องถนนเป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้สำหรับการต้านรัฐประหารอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม หากต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการต่อต้านรับประหารด้วยวิธีอื่น ๆ นอกเหนือจากการประท้วง เช่น การนัดหยุดงาน การถ่วงงาน และการรักษาช่องทางการสื่อสาร การรวมกลุ่มกันให้แนบแน่น เป็นเอกภาพ และมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบมากขึ้นก็นับว่ามีความสำคัญไม่แพ้กัน

ด้วยเหตุนี้ การสร้างฐานที่มั่นของประชาธิปไตยให้แข็งแรงจึงเป็นสิ่งที่ประชาชนชาวไทยสามารถเรียนรู้จากเมียนมาร์และนำมาปรับใช้ได้ เพื่อให้อำนาจอธิปไตยของไทยเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า