การกดขี่ขูดรีด และการต่อต้านอำนาจรัฐของสามัญชนในกระบวนการสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม

10 กันยายน 2564

ประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ถูกครอบงำด้วยอุดมการณ์ทางประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม นอกจากจะอำพรางสภาวะอาณานิคมในไทยแล้ว ยังทำให้มองไม่เห็นการกดขี่ขูดรีดสามัญชนในท้องถิ่นต่างๆ ผู้เป็นกำลังผลิตในการสร้างชาติ สร้างความมั่งคั่งให้แก่เจ้ากรุงเทพฯ ในกระบวนการสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม ประวัติศาสตร์ชาติไทยไม่เคยมีพื้นที่ให้กับสามัญชนผู้ถูกกดขี่เหล่านี้ ซ้ำยังทำให้พวกเขาไร้ตัวตน ไร้เสียง ไร้อำนาจ ประวัติศาสตร์เช่นนี้กลายเป็นเชื้อมูลของความเกลียดชังเพื่อนบ้าน กระทั่งเพื่อนร่วมชาติด้วยกันเองที่มีความคิดไม่ตรงกับอุดมการณ์ของรัฐ การขัดขืนต่อต้านอำนาจรัฐ และโครงสร้างอันกดขี่ที่มักจะจบลงด้วยโศกนาฏกรรม เราจะมาสำรวจประวัติศาสตร์ของการกดขี่ขูดรีด และการต่อต้านอำนาจรัฐของสามัญชนเหล่านี้ในกระบวนการสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามกัน

ในศตวรรษที่ 18 รัฐศักดินาสยาม และอังกฤษลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริงทำให้สยามกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจโลกแบบอาณานิคมที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และการคลังโดยตรงซึ่งจะกลายเป็นฐานของการก่อร่างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในเวลาต่อมา ผลของสนธิสัญญาเบาว์ริงทำให้ราชสำนักกรุงเทพฯ สูญเสียสถานะการผูกขาดการค้า และยิ่งเพิ่มอำนาจของขุนนางที่คุมทรัพยากรที่สำคัญคือ แรงงาน และมีบทบาทสำคัญในการเก็บภาษีอากรซึ่งเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญที่สุดของรัฐ ขุนนางเหล่านี้จึงมีอำนาจในการกำหนดความเป็นไปของราชสำนักได้ และบทบาททางการเมืองที่ค่อนข้างมาก 

ภาพเซอร์ จอห์น บาวริง นำจดหมายและของกำนัลมาถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจากสมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย ค.ศ. 1855 

เศรษฐกิจของสยามต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของพลังจักรวรรดินิยมที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับเศรษฐกิจในประเทศที่เป็นอาณานิคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง พม่า, มาลายา, อินโดนีเซียที่เปลี่ยนไปผลิตเพื่อส่งออก โดยเฉพาะไม้จากทางเหนือ ข้าวจากภาคกลาง และดีบุกจากทางใต้ของสยาม เพื่อป้อนทรัพยากรในฐานะที่สยามเป็นส่วนหนึ่งของ “รัฐทุนนิยมรอบนอก” ของอังกฤษ ลัทธิอาณานิคมทางเศรษฐกิจทำงานอย่างแข็งขันอย่างมากในสยาม แต่ไม่ควรตกหลุมพรางของประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมที่ว่า สยามถูกคุกคามบีบบังคับจากตะวันตกจนไร้ทางสู้เปรียบเสมือนสยามเป็นลูกแกะ และชาติตะวันตกเป็นหมาป่า เพราะเอาเข้าจริงแล้ว ราชสำนัก และเจ้ากรุงเทพฯ เล็งเห็นผลประโยชน์ที่พวกเขาจะได้รับหลังจากการทำสนธิสัญญาเบาว์ริงจึงยินดีรับข้อเสนอของอังกฤษ 

ภาพการทำธุรกิจค้าไม้ในภาคเหนือ

ทางภาคเหนือราชสำนักกรุงเทพฯ ให้สัมปทานป่าไม้แก่อังกฤษ และที่ราบภาคกลางกลายเป็นแหล่งปลูกข้าว เพื่อการส่งออกให้กับอังกฤษโดยที่อังกฤษไม่มีความจำเป็นต้องยึดเอาสยามเป็นอาณานิคมของตนให้สิ้นเปลืองงบประมาณ เพราะอังกฤษได้บรรลุผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในสยาม และมีบทบาททางการเมืองจนสามารถกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างกรุงเทพฯ กับหัวเมืองฝ่ายต่างๆ ให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของตน ในฐานะที่สยามเป็น “รัฐทุนนิยมรอบนอก” ของอังกฤษ  สยามจึงต้องดำเนินการทางการเมืองด้วยการขยายอิทธิพลทางทหาร และระบบราชการสมัยใหม่ดังเช่นที่อังกฤษปกครองอาณานิคมของตน ทำให้โครงสร้างอำนาจท้องถิ่นถูกบั่นทอนลงไป ลดอำนาจ และบทบาทเจ้าท้องถิ่นที่เคยอยู่รับใชโครงสร้างในระบบศักดินาค่อยๆ หายไปพร้อมๆ กับเปลี่ยนรูปแบบการจัดเก็บภาษีอากรใหม่ เพื่อดึงทรัพยากรส่วนเกินที่ได้จากการขูดรีดแรงงานในหัวเมืองต่างๆ เข้าสู่ราชสำนักกรุงเทพฯ เราอาจเรียกมันว่า “อาณานิคมภายใน” (Internal Colonialism) ก็ได้

กระบวนการก่อร่างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้เริ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่โครงสร้างรัฐศักดินาแบบเดิมถูกท้าทายอย่างหนักจากการปฏิรูปการเก็บภาษีแบบใหม่ และการตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ ทำให้ภาษีถูกเก็บเต็มเม็ดเต็มหน่วยทำให้ขุนนางที่เคยมีอำนาจมากค่อยๆ หมดอำนาจลงไป ขณะที่อำนาจของเจ้าท้องถิ่นก็ถูกแทนที่ด้วยข้าราชการจากสยามจึงค่อยๆ หมดบทบาทลงไปในท้ายที่สุดราชสำนักกรุงเทพฯ สามารถกระชับอำนาจทางการเมืองกลับมาที่กษัตริย์ และมีความมั่งคั่งอย่างที่ไม่มีมีมาก่อนในรัฐศักดินา มิหนำซ้ำเจ้าท้องถิ่นหลายแห่งยอมศิโรราบต่อกษัตริย์กรุงเทพฯ อำนาจของกรุงเทพฯ ก็แผ่ไปทั่วสยามรวบอำนาจผนวกหัวเมืองน้อยใหญ่เป็นอาณานิคมของสยามจนสามารถสถาปนารัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นมาสำเร็จ 

ทว่าในกระบวนการสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิด ทั้งกระบวนการรวมศูนย์อำนาจ ผนวกดินแดนของสยามที่ขยายอำนาจให้ครอบคลุมเมืองต่างๆ และระบบการคลัง ด้วยการเก็บภาษีแบบใหม่ ทั้งสองกระบวนการเกิดความขัดแย้งแฝงฝังอยู่ ความพยายามสร้างความเป็นเอกภาพในการรวมศูนย์ทางการปกครองของสยาม ทำให้เกิดการต่อต้านของเจ้าท้องถิ่นที่เคยมีอำนาจมากในท้องถิ่นนั้น สูญเสียสถานะทางการเมืองและเศรษฐกิจในท้องถิ่นของตนไป 

ขณะที่กระบวนการการเก็บภาษีแบบใหม่ได้สร้างความขัดแย้งในหมู่ชนชั้นนำสยามด้วยกันเองอย่างหนัก แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง และมักถูกละเลยไม่พูดถึงคือ สามัญชนที่ถูกบังคับรีดเร้นเอาส่วนเกินจากเจ้าภาษีเป็นทั้งแรงงานในการผลิต พวกเขาเป็นผู้จ่ายภาษีก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะได้รับการตอบแทนใดๆ จากผู้ขูดรีดรายใหม่ภายใต้การปฏิรูปการเก็บภาษีใหม่ในครั้งนี้ ที่มีความต่างจากระบบเดิมที่พวกเขาเคยได้รับการคุ้มครอง และอุปถัมภ์จากนาย ทำให้สามัญชนผู้ถูกกดขี่จากเจ้าภาษีในฐานะกลไกอำนาจรัฐ และตัวแทนของอำนาจรวมศูนย์ เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น ประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมปกปิดอำพรางซ้อนเร้นความโหดร้ายของการล่าอาณานิคมภายในจนสามัญชนตามหัวเมืองต่างๆ ลุกฮือต่อต้านอำนาจรัฐสยามที่ถูกกดขี่รีดเร้นอย่างสาหัสจากกรุงเทพฯ ในกระบวนการสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม และถูกปราบปรามอย่างหนักด้วยความโหดร้ายทารุณ การลุกฮือต่อต้านของสามัญชนตามทัศนะเจ้ากรุงเทพฯถูกเรียกว่า “กบฏ” เพราะต่อต้านอำนาจรัฐสยามไม่สำเร็จ 

เราไม่อาจละเลยข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นได้ว่า ในกระบวนการสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม คือการกดขี่ขูดรีดทรัพยากรจากหัวเมืองเข้าสู่ศูนย์กลางที่แลกมาด้วยหยาดเหงื่อแรงกาย และกลิ่นคาวเลือดของสามัญชน ชนชั้นล่างที่ไร้สิทธิ ไร้เสียง ไร้อำนาจ และต้องการปลดแอกให้ตัวเองหลุดจากโครงสร้างอันกดขี่ของสยาม เพื่อหวังว่าจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้ 

การลุกฮือของสามัญชนในภาคเหนือ เริ่มจากชาวไร่ ชาวนาที่อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่นำโดยพญาผาบ และชาวบ้าน พร้อมด้วยการสนับสนุนของพระสงฆ์ร่วมมากกว่า 2,000 คนลุกฮือขึ้นต่อต้านโครงสร้างอำนาจอันกดขี่จากการเก็บภาษีรูปแบบใหม่ เจ้าภาษีนายอากรเก็บภาษีหมาก พลู มะพร้าวในเชียงใหม่อย่างเข้มงวด ทำให้ชาวบ้านหาเงินมาเสียภาษีไม่ทัน และไม่พอใจที่รายได้ถูกเก็บเข้าสู่ส่วนกลางที่กรุงเทพฯ ทำให้ชาวบ้านที่ไม่มีเงินจ่ายภาษีถูกจับประนามจนเกิดเป็นความขัดแย้งระหว่างชาวบ้าน และผู้นำท้องถิ่นกับเจ้าภาษีนายอากร รวมถึงเจ้าเชียงใหม่ด้วย  พวกเขาทำลายข้าวของ โรงเรือน และระดมพลเข้าโจมตีเมืองเชียงใหม่อันเป็นที่ทำการของสยาม เจ้าเชียงใหม่จึงได้นำทัพออกไปปราบปราม และจับกลุ่มผู้ก่อการทำให้ผู้ก่อการบางคนต้องลี้ภัยไปอยู่เชียงตุง จำนวนหนึ่งถูกประหารชีวิต ส่วนผู้ที่เข้าร่วมถูกเฆี่ยน บ้างก็ถูกริบทรัพย์ และจำคุกตลอดชีวิต

ชิเงะฮารุ ทานาเบะ นักมานุษยวิทยาชาวญี่ปุ่น ที่ศึกษากบฏชาวนาในไทยถึงกับกล่าวว่า นี่เป็นความพยายามครั้งแรกๆ ที่เป็นการต่อสู้ของคนข้างล่างกับชนชั้นปกครองอย่างสุดกำลังในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ ผ่านไปเกือบ 10 ปีเกิดการลุกฮือของสามัญชนที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ปล้นสะดมห้างร้านของบริษัทไม้สักของชาวยุโรป และชาวจีน เช่นเดียวกันกับคลังท้องถิ่นของสยามที่เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจรัฐสยาม 

ไม่นานชาวเงี้ยว (ไทใหญ่) ซึ่งมีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจในภาคเหนือที่จังหวัดแพร่ต้องเผชิญกับภัยแล้งทำให้ไม่สามารถทำการเกษตรที่เป็นแหล่งรายได้ เป็นที่มาของส่วยสาอากร และเป็นหลักประกันความสมบูรณ์พูนสุขของประชาชน เศรษฐกิจท้องถิ่นตกต่ำอย่างหนัก ข้าวยากหมากแพง ทำให้คนอพยพออกจากแพร่ เพื่อหาที่ดินทำกินใหม่ ในแง่นี้ทำให้แพร่สูญเสียทรัพยากรหลักในการผลิตส่งผลต่อการเก็บส่วยได้น้อยลง ประกอบกับชาวเมืองแพร่ถูกเรียกเกณฑ์แรงงาน ช้าง/ม้า และถูกกดขี่ในการเก็บส่วยจากสยามในสงครามปราบฮ่อ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ราษฎรเกิดความทุกข์ยากสั่งสมความเจ็บปวดจากการกดขี่การเก็บส่วย และแรงงาน พร้อมๆ กับการแผ่ขยายอำนาจของสยามจนชาวเงี้ยวลุกฮือต่อต้านอำนาจรัฐ เพื่อความอยู่รอดของตนในที่สุด หลังจากสยามควบคุมเหตุการณ์ได้ ทำให้ผู้ก่อการถูกจำกุม และประหารชีวิตในเวลาต่อมา

ภาพการถูกจับกุมของชาวเงี้ยวในเหตุการณ์ “กบฏเงี้ยวเมืองแพร่”

ทำนองเดียวกันกับพื้นที่อีสานที่มีกำลังอ่อนแอทางเศรษฐกิจ และสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศไม่สู้ดีนักที่จะทำให้การเกษตรของอีสานมีรายได้อย่างเพียงพอ สยามกดขี่ขูดรีดประชาชนในภาคอีสานด้วยเก็บภาษีส่วยคือ เงินที่ข้าราชการเรียกเก็บจากชายฉกรรจ์ หากไม่มีเงินจ่ายภาษีก็ต้องเกณฑ์แรงงานอย่างหนักติดต่อเป็นเวลาหลายวัน มีการเรียกเก็บส่วยซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้ประชาชนเดือดร้อน และเกิดความไม่พอใจ ขณะเดียวกันขบวนการผู้มีบุญที่กำลังแผ่หลายในหลายจังหวัดเป็นเสมือนโอเอซิสท่ามกลางทะเลทรายอันแห้งแล้ง เพื่อสังคมใหม่ที่อุดมสมบูรณ์ ประชาชนจำนวนมากได้เข้าร่วมกับขบวนการผู้มีบุญจึงลุกฮือต่อต้านอำนาจรัฐสยามในหลายพื้นที่ทั่วอีสานโดยหวังว่าจะหลุดพ้นจากอำนาจของสยามได้  ท้ายที่สุดถูกกองทัพสยามล้อมสังหาร ชาวอีสานถูกบดขยี้บ้างก็ถูกตัดศรีษะเอามาประจาน เพื่อกำราบให้คนกลัว มีผู้มีเสียชีวิต และบาดเจ็บหลายร้อยราย

ภาพหมอลำโสภา พลตรีในกบฏผู้มีบุญ บ้านสาวะถี

การลุกฮือต่อต้านโครงสร้างอันกดขี่ขูดรีดของสามัญชนในภาคเหนือ และอีสานเป็นปฏิกิริยาตอบโต้กระบวนการสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามที่รวบอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจการคลังไว้ที่กรุงเทพฯ พร้อมๆ กับการฝังระบบการบริหารแบบอาณานิคมในหัวเมืองต่างๆ เพื่อความอยู่รอด และความเป็นอยู่ที่ดีกว่า

เราจะเห็นได้ว่าในกระบวนการสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามไม่ได้ราบรื่น สวยหรูอย่างที่ประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมได้ปกปิดอำพรางข้อเท็จจริงเหล่านี้เอาไว้ในประวัติศาสตร์ชาติไทย แต่กลับแลกมาด้วยหยาดเหงื่อแรงกาย และกลิ่นคาวเลือดของสามัญชนเหล่านี้ที่พลีกายถูกกดขี่ในการเกณฑ์แรงงาน และขูดรีดจากการเก็บภาษีแบบใหม่ เพื่อสร้างความมั่นคั่งให้แก่เจ้ากรุงเทพฯ ที่มีผลประโยชน์สอดคล้องกับมหาอำนาจตะวันตก และสร้างความเป็นเอกภาพในการรวมศูนย์อำนาจของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม ทำให้พวกเขา “ผู้ไม่จงรักภักดี” “กระด้างกระเดื่อง” ต่อสยามกลับพบจุดจบแบบโศกนาฏกรรม ถูกปราบปรามบดขยี้ด้วยกำลังทหารของสยามอย่างไม่มีชิ้นดี มีประชาชนล้มตายจำนวนมากที่ถูกกระทำอย่างโหดร้ายทารุณถูกเหยียดหยาม และไร้ตัวตนในประวัติศาสตร์ชาติไทย

กระบวนการสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามที่กดขี่ขูดรีดทรัพยากรจากหัวเมืองเข้าสู่ศูนย์กลางที่แลกมาด้วยหยาดเหงื่อแรงกาย และกลิ่นคาวเลือดของสามัญชน ชนชั้นล่างด้วยระบบภาษีแบบใหม่ และทำลายอำนาจท้องถิ่นด้วยระบบบริหารแบบอาณานิคม เพื่อสร้างเอกภาพในการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่กรุงเทพฯ ยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งทั้งในทางการเมือง และเศรษฐกิจที่กดปราบ กำราบผู้คนเข้าไว้ด้วยความกลัว รวมถึงยังทำลายอัตลักษณ์ กลืนกิน และกดทับวัฒนธรรมท้องถิ่นไว้ภายใต้ “ความเป็นไทย” ที่มีกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางอำนาจ แม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับคนในสังกัดของรัฐจะเปลี่ยนไปก็ไม่ได้เป็นไปอย่างถอดรากถอนโคน ไชยันต์ รัชชกูลให้คำเปรียบเปรยได้อย่างแสบทรวงว่า “หากสถานะของบุคคลภายในรัฐแบบกระฎุมพีคือ ความเป็นพลเมืองแล้วไซร้ แอดของความเป็นไพร่แบบในระบบศักดินาก็ไม่ถูกปลดเปลื้องออกไปจนกระทั่งหลังการปฏิวัติ 2475”

ผู้เขียนเชื่อเหลือเกินว่า การกดขี่ขูดรีดในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ต่อสามัญชนเกิดขึ้นทั่วทุกย่อมหญ้าในผืนแผ่นดินด้ามขวานเป็นแน่ที่หยาดเหงื่อแรงกายของพวกเขาสร้างความมั่งคั่งให้แก่รัฐ นี่เป็นเพียงไม่กี่กรณีเท่านั้นที่มีหลักฐาน เอกสารทางประวัติศาสตร์ที่บ่งชี้ให้เห็นว่า มีการกดขี่ขูดรีดสามัญชนในกระบวนการสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามในภาคเหนือ และอีสาน คำกล่าวของบัลซัลดูจะไม่เกินความเป็นจริงไปนักหากจะกล่าวว่า “เบื้องหลังของความมั่งมีทั้งปวงคือ อาชญากรรม” 

แม้ว่ารัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์จะสิ้นสุดไปแล้วหลังการปฏิวัติสยาม 2475 แต่มรดกของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามกลายเป็นโครงสร้างของระบบราชการที่ใหญ่เทอะทะไม่สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงในยุคสมัยใหม่ได้ และเป็นโครงสร้างที่กดทับท้องถิ่นเอาไว้จนท้องถิ่นไม่สามารถปลดปล่อยศักยภาพที่ตัวเองมีไม่ให้เติบโตไปได้มากกว่านี้ได้ มรดกของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่เพียงแต่ให้ความสำคัญกับการรวมศูนย์อำนาจการปกครอง และการบริหารไว้ที่กรุงเทพฯ ในฐานะศูนย์กลางอำนาจ แต่ยังหมายรวมถึงไปอำนาจของสถาบันกษัตริย์ในทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมในสังคมไทยด้วย 

มรดกอย่างหลังนี้ช่วงชิงอำนาจกลับคืนมาในทศวรรษ 2490  และไปได้ดีกับระบอบประชาธิปไตย และทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ยังคงสามารถสร้างความมั่งคั่งบนความทุกข์ยาก และกดขี่ประชาชนดังเดิมเพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบ และแยบยลเป็นมิตรกับกระฎุมพีมากขึ้น แต่ประชาชนยังเป็นผู้ถูกกดขี่อยู่วันยันค่ำ การลุกฮือขึ้นมาต่อต้าน “อำนาจรัฐ” ของสามัญชนผู้ถูกกดขี่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ต้องเผชิญชะตากรรมเดียวกันกับการต่อต้านโครงสร้างอันกดขี่ในกระบวนการสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามเมื่อ 200 กว่าปีที่แล้ว และยังคงถูกกดขี่ ปราบปรามอย่างหนักด้วยกลไกรัฐสมัยใหม่อย่างต่อเนื่องตลอดประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ไม่ยอมให้ประชาชนที่ไม่ยอมจำนนต่อการกดขี่ยืนหลังตรงในระนาบเดียวกันกับพวกเขาได้ นี่คือ มรดกของกระบวนการสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม หรือเป็นมรดกที่ยังอยู่กับเราจนถึงปัจจุบันที่ควรถูกตั้งคำถาม และท้าทายให้มากขึ้น เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐสมัยใหม่ที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง 

เอกสารอ้างอิง 

  • ธงชัย วินิจจะกูล, โฉมหน้าราชาชาตินิยม : ว่าด้วยประวัติศาสตร์ไทย, นนทบุรี : ฟ้าเดียวกัน, 2559 
  • ไชยันต์ รัชชกูล, อาณานิคมสมบูรณาญาสิทธิราชย์ : การก่อรูปรัฐไทยสมัยใหม่จากศักดินานิยมสู่ทุนนิยมรอบนอก, กรุงเทพฯ : อ่าน, 2560 
  • กุลดา เกษบุญชู มี้ด, ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ : วิวัฒนาการรัฐไทย, นนทบุรี : ฟ้าเดียวกัน, 2562 
  • ชัยพงษ์ สำเนียง, กบฏเงี้ยวการเมืองของความทรงจำ : ประวัติศาสตร์ขบวนการเคลื่อนไหวของ “คนล้านนา“, กรุงเทพฯ : ศุนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน), 2564

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า