คณะก้าวหน้า https://progressivemovement.in.th Thu, 15 Dec 2022 08:57:33 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.8.9 https://progressivemovement.in.th/wp-content/uploads/2020/04/cropped-โลโก้คณะก้าวหน้า-png-01-2-32x32.png คณะก้าวหน้า https://progressivemovement.in.th 32 32 สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้ https://progressivemovement.in.th/article/common-school/8337/?utm_source=rss&utm_medium=rss&utm_campaign=confucianism-and-welfare-state-in-south-korea https://progressivemovement.in.th/article/common-school/8337/#comments Thu, 15 Dec 2022 07:56:00 +0000 https://progressivemovement.in.th/?p=8337 ภาคภูมิ แสงกนกกุล ชวนสำรวจทุนนิยมแบบเกาหลีใต้ ที่วางอยู่บนฐานของปรัชญาขงจื๊อ ตลอดจนปัญหารัฐสวัสดิการที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน

The post สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้ appeared first on คณะก้าวหน้า.

]]>
การเติบโตพัฒนาประเทศอย่างมหัศจรรย์ของเกาหลีใต้
เกาหลีใต้เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ผ่านประวัติศาสตร์บาดแผลความลำบากมาอย่างยาวนาน เคยตกเป็นประเทศอาณานิคม เป็นสมรภูมิรบในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเกิดความสูญเสียมหาศาล เป็นสมรภูมิสงครามตัวแทนระหว่างมหาอำนาจสองค่ายในสงครามเย็น ผ่านสงครามการแบ่งประเทศ อย่างไรก็ตามเกาหลีก็เป็นประเทศที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างน่าอัศจรรย์ เกาหลีใช้เวลา 50 ปีเปลี่ยนผ่านจากประเทศกสิกรรมที่มีความยากจนสูงจากทศวรรษ 1960 กลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมรายได้สูง ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 26 เท่า ด้วยอัตราเฉลี่ยการเติบโตเศรษฐกิจ 7.1% ขนาดเศรษฐกิจในปัจจุบันใหญ่เป็นอันดับ 10 ของโลก

ในด้านสวัสดิการและคุณภาพชีวิตของประชาชน อายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 83 ปี อัตราความยากจนอยู่ที่ 5.2% ประชาชนมีสิทธิได้รับการศึกษาจากรัฐบาล สัดส่วนของประชากรอายุ 25-64 ปีที่ผ่านการศึกษาระดับมัธยมสูงถึง 89%  ค่าใช้จ่ายด้านปกป้องสังคม (Social protection expenditure) มีมูลค่าเกือบ 10% ของ GDP ประชาชนเกาหลีเข้าถึงสวัสดิการหลายรูปแบบทั้งการรักษาพยาบาล การศึกษา บำนาญ และการว่างงาน

เกาหลีใต้จึงเป็นโมเดลการพัฒนาประเทศที่นักวิชาการศึกษาเพื่อนำมาปรับใช้เป็นแบบอย่างพัฒนาให้กับประเทศกำลังพัฒนาหลายๆ ประเทศ อย่างไรก็ตามโลกนี้ไม่มีอะไรฟรี การพัฒนาประเทศของเกาหลีมีปัจจัยหลายๆ อย่างที่ไม่ได้เกิดขึ้นมาเองตามธรรมชาติ แต่มาจากหยาดเหงื่อที่คนในชาติต้องช่วยกันเสียสละทุ่มเทพัฒนาขึ้นมา


การปรับใช้ค่านิยมขงจื๊อในระบบทุนนิยมเกาหลีใต้

รูปแบบรัฐสวัสดิการตะวันตกมีลักษณะที่ให้สวัสดิการประชาชนอย่างครอบคลุมและคุณภาพสูง มีการใช้จ่ายด้านสังคมสูง และมีการเก็บภาษีอัตราสูง อย่างไรก็ตามรัฐสวัสดิการตะวันตกก็มิใช่เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน แต่เป็นกระบวนการที่ค่อยๆ ใช้เวลาเปลี่ยนแปลงหลายศตวรรษ รัฐมิได้กระจายสวัสดิการคุณภาพสูงให้แก่ประชาชนได้ทันที แต่ค่อยๆ เพิ่มสิทธิประโยชน์ และขยายการครอบคลุมเป็นไปตามการเจริญเติบโตของตัวเลข GDP และงบประมาณรัฐที่เพิ่มขึ้น

ด้วยข้อจำกัดทางทรัพยากร เกาหลีใต้ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองจึงไม่สามารถเลียนแบบลักษณะดังกล่าวได้ทันที แต่เกาหลีใต้เลือกที่จะพัฒนาระบบรัฐสวัสดิการที่แตกต่างออกไป เพื่อลดระยะเวลาที่รัฐสวัสดิการตะวันตกใช้เวลาหลายศตวรรษให้เหลือเพียง 50 ปี เพื่อสร้างรูปแบบรัฐสวัสดิการที่สนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กับการสร้างระบบปกป้องสังคม เกาหลีเลือกที่จะใช้สถาบันครอบครัวเป็นสถาบันหลักในการจัดหาสวัสดิการให้ประชาชน โดยรัฐบาลเป็นฝ่ายสนับสนุน

ค่านิยมขงจื้อในสถาบันครอบครัวมีหลายจุดที่สนับสนุนการทำงานของระบบทุนนิยมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และผลักดันให้เศรษฐกิจของเกาหลีเติบโตขึ้นตามมา นักวิชาการเช่นศาสตราจารย์ Tu Wei-Ming อธิบายว่ามันคือ “ทุนนิยมแบบขงจื้อ” ซึ่งมีลักษณะความคิดที่ให้ความสำคัญเรื่องตัวเรากับความสัมพันธ์ต่อผู้อื่น เพื่อสร้างชุมชนที่มีความไว้วางใจระหว่างกันโดยเริ่มตั้งแต่ฐานจากความสัมพันธ์ในครอบครัว การให้ความสำคัญของพิธีการต่างๆ เพื่อฝึกฝนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน การให้ความสำคัญต่อการศึกษาเพื่อสร้างบุคลิกภาพขึ้นมา การให้ความสำคัญของพฤติกรรมที่เป็นแบบอย่างที่ดีของผู้นำทางการเมือง การหลีกเลี่ยงปะทะความขัดแย้งในประชาสังคม แต่มุ่งหาการประนีประนอมฉันทามติ และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง

คุณค่าดังกล่าวช่วยให้แต่ละคนตระหนักว่าตัวเองมีบทบาทหน้าที่อะไร โดยทุกคนมีความสำคัญในระบบใหญ่ทั้งนั้น เพราะระบบในภาพใหญ่เดินหน้าไปได้ ก็ต้องมีการทำงานของฟันเฟืองตัวเล็กๆ ในสังคม และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการแบ่งงานกันทำในระบบทุนนิยม การให้ความสำคัญกับการศึกษาและพัฒนาเรียนรู้อย่างต่อเนื่องไม่สิ้นสุดได้กลายเป็นฐานของการพัฒนาทุนมนุษย์ในเกาหลี สิ่งเหล่านี้ได้นำไปสู่การเปลี่ยนผ่านจากระบบเศรษฐกิจที่ใช้แรงงานเป็นหลักเป็นระบบเศรษฐกิจที่อยู่บนฐานองค์ความรู้ ความมีระเบียบวินัยของประชาชนยังช่วยให้การปกครองเป็นไปอย่างราบรื่น ผู้อยู่ใต้ปกครองปราศจากข้อสงสัยและการต่อต้าน

เส้นสายความสัมพันธ์การช่วยเหลือของครอบครัวช่วยให้การสะสมทุนและการขยายตัวของบรรษัทใหญ่จนกลายเป็นแชโบลที่พัฒนาการผลิตและเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว

บทบาทของรัฐบาลเกาหลีในช่วงทศวรรษ 1950-1980 ต่อสวัสดิการสังคมและครอบครัวจึงมีเพียงเล็กน้อย มีการให้เงินช่วยเหลือเฉพาะครัวเรือนที่ลำบากและไม่มีสมาชิกในครอบครัวช่วยเหลือ เช่น แม่เลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวที่หัวหน้าครัวเรือนไม่มีสถานภาพการจ้างงาน รวมถึงให้สิทธิประโยชน์แก่ครัวเรือนที่สร้างคุณประโยชน์ให้ชาติ เช่น ครัวเรือนที่มีสมาชิกเป็นทหาร ตำรวจ รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงสังคมและครอบครัวในรูปแบบของกฎระเบียบควบคุม มากกว่าที่จะใช้ภาษีจำนวนมหาศาลเพื่อให้สวัสดิการทั้งในรูปแบบของเงินให้เปล่าและบริการสาธารณะ และปล่อยภาระดังกล่าวให้ครัวเรือนตามค่านิยมขงจื๊อที่พ่อแม่มีหน้าที่ให้การศึกษาบุตรธิดา และกตัญญูต่อบิดามารดา กระแสการเข้าถึงสวัสดิการจึงขึ้นอยู่กับความต่อเนื่องของการสืบสายตระกูลและความกตัญญู ชายวัยทำงานจึงทุ่มเททำงานอย่างหนัก เสียสละเวลาส่วนตัว เสียสละความฝันส่วนตัว เพื่อนำมาให้สวัสดิการแก่สมาชิกในบ้าน แม่บ้านทำหน้าที่ในการจัดการภายในบ้าน ดูแลสามี-ลูก พ่อแม่สามี เพื่อให้ครอบครัวดำเนินไปอย่างราบรื่น ลดความห่วงหน้าพะวงหลังของสามีขณะไปทำงาน ลูกมีหน้าที่ในการตั้งใจศึกษาเล่าเรียนอย่างเต็มความสามารถเพื่อโตขึ้นไปประกอบสัมมาอาชีพและรับช่วงความรับผิดชอบต่อจากพ่อ

และถึงแม้จะมีการขยายสวัสดิการสังคมมากขึ้นภายใต้รัฐบาลทหาร แต่การขยายดังกล่าวมุ่งเป้าไปเฉพาะบางกลุ่มประชากรที่เป็นคุณต่อการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศและความสงบเรียบร้อย รัฐบาลอำนาจนิยมใช้กำลังทหารในการปราบปราม พร้อมๆ กับการใช้ไม้อ่อนด้วยรูปแบบสวัสดิการ เพื่อตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น อัตรายากจนที่ลดลง คุณภาพชีวิตโดยเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น สร้างความชอบธรรมของการปกครอง


วิกฤติการเงิน 1997 และการแปลค่านิยมขงจื๊อใหม่

อย่างไรก็ตามการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมหัศจรรย์ก็ถึงจุดเสื่อมถอย วิกฤติการเงินในปี 1997 ส่งผลต่อเนื่องให้เศรษฐกิจเกาหลีพังทลายและจำเป็นต้องปรับโครงสร้างขนานใหญ่ โมเดลพัฒนาประเทศแบบเกาหลีได้สร้างความเหลื่อมล้ำสังคม สังคมมีความเป็นปัจเจกมากขึ้น คุณค่าของการทำงานถูกตีความหมายตามมูลค่าของกลไกตลาด การผูกขาดของแชโบลจากการสนับสนุนของระบบอุปถัมภ์ชะลอการพัฒนาความสามารถการแข่งขันในโลกาภิวัตน์ ปัญหาเศรษฐกิจทุนนิยมแบบขงจื๊อดังกล่าวได้นำมาสู่การตั้งคำถามว่า ค่านิยมแบบขงจื๊อมันล้าสมัยหรือไม่ และจะสามารถปรับตัวเข้ากับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วได้อย่างไร?

Seong Hwan Cha นักวิชาการด้านสังคมวิทยาของเกาหลีได้ให้ทรรศนะอย่างน่าสนใจว่า ระบบทุนนิยมแบบขงจื๊อที่นำมาแปลและปฏิบัติใช้นั้นเป็นการตีความจากมุมมองของคนต่างประเทศและติดกรอบการวิเคราะห์ทุนนิยมแบบเวเบอร์ นักการเมืองและผู้ออกแบบนโยบายพัฒนาประเทศของเกาหลีเลือกที่จะแปลและตัดความหมายของแนวคิดของขงจื๊อที่เป็นคุณต่อระบบทุนนิยม และการปกครองแบบอำนาจนิยม เขามองว่าระบบทุนนิยมแบบตะวันตกเป็นระบบที่เน้นเรื่องการแข่งขันและประสิทธิภาพเป็นหลัก เป็นระบบที่เต็มไปด้วยผู้เชี่ยวชาญแต่ไร้จิตวิญญาณ มีข้อด้อยจากที่ระบบจะสร้างความแปลกแยกความแตกแยกระหว่างผู้คนมากขึ้น ในขณะที่วัฒนธรรมขงจื๊อแบบตะวันออกมุ่งแสวงหาความกลมกลืนกันของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ แต่มีข้อด้อยเรื่องประสิทธิภาพและการแข่งขัน

อย่างไรก็ตามเขาก็มองว่าการรับทุนนิยมตะวันตกไม่ได้หมายความว่าเราต้องปฏิเสธคุณค่าของตะวันออก ซึ่งเป็นคุณค่าพื้นฐานในสถาบันอย่างยาวนานจนยากจะลบเลือน เขากระตุ้นให้เกาหลีหาหนทางเลือกที่สามที่เป็นการผสมผสานของคุณค่าตะวันตกและตะวันออก นำข้อดีของทั้งสองฝ่ายเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพและความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ จิตใจมนุษย์ได้พร้อมๆ กัน

การปกครองแบบอำนาจนิยม และการใช้ระบบอุปถัมภ์ ได้ถูกตีความใหม่ และมองเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข ความสงบสุขของสังคมที่เป็นเป้าหมายของขงจื๊อเพื่อสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาลเผด็จการ ความสงบสุขในสังคมดังกล่าวถูกมองว่าแท้จริงแล้วมาจากการใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานและขบวนการประชาสังคม ซึ่งแนวความคิดของขงจื๊อแท้จริงแล้วไม่ได้สนับสนุนให้ประชาชนเชื่องต่อผู้ปกครอง แต่ประชาชนมีหน้าที่ทัดทานการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ไม่มีคุณธรรมของผู้ปกครอง ผู้ปกครองเองก็ต้องมีพฤติกรรมและคุณธรรมที่เป็นแบบอย่าง ระบบอุปถัมภ์ที่นำไปสู่การสร้างแชโบล การบิดเบือนการแข่งขันที่เป็นธรรม และการผูกขาดตลาด ตรงกันข้าม 

ครอบครัวตามแนวคิดของขงจื๊อมีหน้าที่ช่วยส่งเสริมให้สมาชิกพัฒนาตนเอง แสวงหาความรู้ ส่วนการได้รับผลตอบแทนหรือได้ตำแหน่งการทำงานต่างๆ ก็ต้องขึ้นอยู่กับความสามารถและคุณธรรมของคนๆ นั้น


การปฏิรูปสถาบันครอบครัวและรัฐสวัสดิการเกาหลีใต้

การขยายสิทธิประโยชน์แก่สวัสดิการครอบครัวในเกาหลีเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ภายหลังการฟื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจ ทั้งนี้มาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครอบครัวที่เป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น การเคลื่อนไหวกดดันของภาคประชาสังคม การเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลประชาชน  การเข้าสู่สังคมสูงวัย และรายได้ต่อประชากรที่เพิ่มสูงขึ้น

รัฐบาลเพิ่มบทบาทเชิงรุกมากขึ้นกว่าเดิมแต่ก็มิได้ลดความสำคัญของสถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อ ครอบครัวยังเป็นสถาบันพื้นฐานของสังคม แต่มีรัฐบาลเป็นผู้ช่วยสนับสนุนมากขึ้น สร้างการทำงานร่วมกันของ ครอบครัว-รัฐบาล-ชุมชน-กลไกตลาด ความร่วมมือระหว่างเอกชน-รัฐบาล การตีความครอบครัวในความหมายใหม่ มิใช่ครอบครัวแบบพ่อทำงานหนัก แม่เป็นแม่บ้าน ลูกศึกษาเล่าเรียนเท่านั้น แต่สิทธิประโยชน์ขยายไปยังครอบครัวที่ไม่ได้ผูกพันกันตามสายเลือดด้วย สมาชิกครอบครัวที่มาจากการอุปถัมภ์รับเลี้ยงก็มิสิทธิได้รับสวัสดิการสังคมเช่นเดียวกัน ครอบครัวเดี่ยวที่ไม่มีบุตรหลานก็มีสิทธิได้รับสวัสดิการสังคมเช่นเดียวกันถ้ามีญาติพี่น้องตระกูลเดียวกันทำงานในตลาดแรงงาน การพัฒนาสวัสดิการยังเพิ่มขึ้นในเชิงคุณภาพด้วย รัฐบาลมีการลงทุนสร้างโรงสร้างพื้นฐานและให้เงินสนับสนุนมากขึ้นเพื่อผลิตบริการดูแลเด็กแรกเกิดและดูแลคนชรามากขึ้น ให้เงินสังคมสงเคราะห์ฉุกเฉินแก่ครอบครัวที่ต้องการความช่วยเหลือ นอกจากนี้สนับสนุนให้ประชาชนสร้างสมดุลการทำงานและการใช้ชีวิต (work-life balance) สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศในครัวเรือน และลดความรุนแรงในครอบครัว


ความท้าทายของค่านิยมขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

ถึงแม้ระบบสวัสดิการของเกาหลีใต้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีความเหลื่อมล้ำที่ต้องทำการแก้ไขอีกในอนาคต ร้อยละ 20 ครัวเรือนยากจนที่สุดมีรายได้เพียง 6% ของรายได้ทั้งหมด เงินช่วยเหลือการว่างงานยังคงต่ำและไม่เพียงพอ เงินบำนาญผู้สูงอายุก็ไม่เพียงพอและบังคับให้แรงงานสูงอายุต้องทำงานต่อเนื่องหลังเกษียณ ความเหลื่อมล้ำทางเพศในการจ้างงานและสถานที่ทำงานยังคงเป็นปัญหาของสังคมชายเป็นใหญ่

ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ได้ถูกถ่ายทอดเพื่อให้สังคมตระหนักรู้ผ่านภาพยนตร์และซีรีย์เกาหลีหลายๆเรื่อง เช่น Parasite, Twenty five- twenty one, Little women,  Our Blues, Reply 1988 และนำไปสู่การตั้งคำถามอีกครั้งในการปฏิรูปสถาบันครอบครัวขงจื๊อครั้งใหม่อย่างไร?

ผมขอปิดบทความนี้ด้วยข้อความจากด็อกซอน เรื่อง Reply 1988 ที่กล่าวว่า

“บางครั้ง ครอบครัวอาจเป็นคนที่หลงลืมเรามากที่สุด แต่ถึงอย่างนั้น ในท้ายที่สุด สิ่งที่ช่วยให้คุณเอาชนะอุปสรรค ไม่ใช่สมองที่เต็มไปด้วยความรู้ แต่เป็นบางคนที่ยอมให้คุณจับมือ และจะไม่มีวันจากคุณไป และนั่นก็คือครอบครัว”

The post สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้ appeared first on คณะก้าวหน้า.

]]>
https://progressivemovement.in.th/article/common-school/8337/feed/ 10
FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น https://progressivemovement.in.th/article/common-school/8323/?utm_source=rss&utm_medium=rss&utm_campaign=fifa-world-cup-human-rights-violation https://progressivemovement.in.th/article/common-school/8323/#comments Thu, 08 Dec 2022 10:02:57 +0000 https://progressivemovement.in.th/?p=8323 ก่อนที่ Qatar FIFA World Cup 2022 จะจบลง Common School ขอชวนทุกคนไปส่องเรื่องราวแซ่บๆ คันๆ บนสนามแข่งขันของเหล่าอดีตประเทศเจ้าภาพ รวมถึงวิธีแก้ปัญหาว่าจะชวนเอ๊ะชวนงงแค่ไหน?

The post FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น appeared first on คณะก้าวหน้า.

]]>
อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ

กีฬาฟุตบอลมีประวัติศาสตร์ยาวนานนับพันปีในหลายภูมิภาค และขยายตัวไปทั่วโลกจากเครืออาณานิคมอังกฤษ ปัจจุบันถือกันว่านี่คือกีฬาที่ได้รับความนิยมที่สุดในโลก ทั้งปริมาณผู้ชมและผู้เล่นอาชีพ 

ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ฟุตบอลก็เป็นกีฬาที่มีการจัดแข่งขันทั้งในโอลิมปิกฤดูร้อน และโอลิมปิกซ้อน (1906 Intercalated Games) อยู่ก่อนแล้ว จากความนิยมก่อให้เกิดการก่อตั้งสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ FIFA ในปี 1904 และหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ฟุตบอลได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสานสัมพันธ์นานาชาติมากขึ้น จนเป็นต้นทางที่ทำให้เกิดการจัดการแข่งขัน FIFA World Cup ครั้งแรก ในปี 1930 นั่นเอง

แม้ว่าที่ผ่านมา จะมี FIFA World Cup จะมีการแข่งขันทั้งประเภทผู้ชายและผู้หญิง (FIFA Women’s World Cup เริ่มแข่งมาตั้งแต่ปี 1991)  แต่ World Cup ที่เป็นมหกรรมระดับโลกจริงๆ นั้นจะเป็น World Cup ผู้ชายเป็นหลัก ประกอบกับแฟนคลับส่วนใหญ่ที่มักเป็นเพศชายเช่นกัน ทำให้หลายคนมีภาพจำว่า ฟุตบอลเป็นกีฬาสำหรับผู้ชายตรงเพศ (Straight Men) เท่านั้น และเป็นผลให้นักเตะหลายคนเองที่ไม่ได้มีอัตลักษณ์ตรงเพศ จำเป็นต้องปกปิดตัวตนทางเพศตลอดเวลาที่ยังลงสนาม เพราะมีความกังวลถึงค่านิยมและอคติทางเพศที่ฝังรากลึกอยู่ทั้งในกลุ่มผู้ชมและนักกีฬาด้วยกันก็ตาม คนรักเพศเดียวกัน ยังเป็นเรื่องต้องห้ามในแวดวงนักกีฬาฟุตบอลอาชีพอยู่1 และไม่มีทีท่าว่าอคติเช่นนี้จะหายไปจากวงการในเร็ววัน

ขณะที่ปัจจุบัน การตระหนักรู้เรื่องอัตลักษณ์และความเท่าเทียมทางเพศ ได้กลายเป็นคุณค่าหลักที่ประชาคมโลกต้องยึดถือร่วมกันภายใต้ร่มของสิทธิมนุษยชน (Human Rights) ทางสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้นในแวดวงกีฬาของตนเอง เป็นผลให้เกิดการออกระเบียบมาตรการที่ทีชื่อว่า “FIFA Governance Regulations (FGR)” เพื่อจัดการเลือกปฏิบัติ และการเหยียดทุกรูปแบบในสนาม2 แต่กระนั้นเมื่อกลับมาไล่ดูเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนระหว่างช่วงที่มีการแข่งขัน FIFA World Cup ตั้งแต่ปี 2010เป็นต้นมา กลับพบว่า:

  1. การแข่งขัน FIFA World Cup ครั้งที่ 19 ที่จัด ณ ประเทศแอฟริกาใต้ ในปี 2010 มีรายงานจาก Amnesty International ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจของแอฟริกาใต้ได้ใช้กำลังข่มขู่ และจับกุมพ่อค้าหาบเร่ คนไร้บ้าน รวมถึงสั่งรื้อถอน ทำลายที่อยู่พักพิงชั่วคราวของผู้ลี้ภัย/ผู้อพยพที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงกับสนามฟุตบอลที่ใช้เป็นสนามที่จัดงานทำให้ผู้คนต่างมองว่า กฎหมายที่ออกมาให้สอดคล้องกับระเบียบของ FIFA กำลังถูกใช้โดยตำรวจเพื่อขับไล่คนไร้บ้านและผู้ค้าตามท้องถนนออกจากพื้นที่ใกล้เคียงสถานที่จัดงาน โดยโทษปรับของกฎหมายดังกล่าวอยู่ที่ 1,300 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน3
  2. การแข่งขัน FIFA World Cup ครั้งที่ 20 ที่จัด ณ ประเทศบราซิล เมื่อปี 2014 ก็มีรายงานจาก Amnesty International เช่นกันว่า ประชากรชาวบราซิล 170,000 คนถูกขับไล่ออกจากบ้านของพวกเขาที่ มอรโร ดา โพรวิเดนเซีย (morro da providência) สลัมแห่งแรกของเมืองริโอ เดอ จาเนโร ในช่วงก่อนจัดงาน FIFA 2014 และ Olympic 20164
  3. การแข่งขัน FIFA World Cup ครั้งที่ 21 ที่จัด ณ ประเทศรัสเซีย เมื่อปี 2018ที่ผ่านมา มีรายงานจาก กลุ่ม “ทรีไลออนส์ไพรด” ซึ่งเป็นกลุ่มสนับสนุนแฟนบอลที่เป็นบุคคลหลากหลายทางเพศ (LGBTIQ+) ในอังกฤษ ว่า แฟนบอลที่เป็น LGBTIQ+ หลายคน โดนข่มขู่คุกคามว่าจะถูก “แทง” ถ้าหากเดินทางเข้ารัสเซีย5 รวมถึงกรณีที่แฟนบอลทีมจังโก้ของเม็กซิโก ไปตะโกนใส่มานูเอล นอยเออร์ ผู้รักษาประตูทีมชาติเยอรมนีว่า ‘Puto!’ มีความหมายสแลงว่า โสเภณีชาย แสดงให้เห็นถึงอคติและความเกลียดกลัวคนรักชอบเพศเดียวกันอย่างชัดเจน แม้ทาง FIFA จะสั่งปรับแฟนบอลจำนวน 10,035 เหรียญสหรัฐ หรือราว 330,843 บาท6 จากกรณีการใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม แต่สิ่งที่แฟนบอลหลายคนก็ยังสงสัยว่า เหตุใดสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติถึงอนุมัติให้มีการจัดการแข่งขันฟุตบอลในประเทศที่คนบางกลุ่ม “ไม่ได้ถูกต้อนรับ”
  4. นอกจากนี้ในรอบชิงชนะเลิศของ FIFA World Cup ครั้งที่ 21 ก็มีเหตุการณ์ที่วงดนตรีชื่อ “Pussy Riot” ได้บุกเข้าไปในสนามฟุตบอลเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง เรียกร้องให้ยกเลิกการห้ามเดินขบวนทางการเมือง รวมถึงเรียกร้องให้รัฐหยุดสอดส่องพฤติกรรมประชาชนในโลกออนไลน์อีกด้วย ซึ่งสุดท้าย FIFA ได้จัดการกับเหตุการณ์นี้ด้วยการไม่อนุญาตให้สื่อถ่ายทอดสดภาพกิจกรรมที่เกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองในสนามฟุตบอล เป็นผลให้ภาพของการเรียกร้องปรากฏอยู่แค่ในหนังสือพิมพ์/สื่อออนไลน์เท่านั้น ขณะที่สมาชิก Pussy Riot ต้องถูกตัดสินจำคุก 15 วันจากเหตุการณ์ครั้งนั้น7


เมื่อ FIFA เลือก “กาตาร์” เป็นเจ้าภาพ ความกังวล (ที่มากขึ้น) จึงบังเกิด

สำหรับการแข่งขัน Qatar FIFA World Cup ครั้งที่ 22 ที่จะจัดขึ้นที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ระหว่างวันที่ 20 พฤศจิกายน – 18 ธันวาคม 2022นี้ ก็มีข่าวคราวหลายระลอกที่ชวนให้แฟนบอลหลากหลายประเทศต่างรู้สึกไม่พอใจ เริ่มต้นจากที่ประชุมคณะกรรมการ FIFA มีมติให้กาตาร์เป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขัน FIFA World Cup ครั้งที่ 22 ขณะที่กาตาร์ไม่มีความพร้อมในเรื่องสถานที่จัดการแข่งขัน ด้วยเหตุนี้ กาตาร์จึงต้องเร่งก่อสร้างสนามกีฬาแห่งชาติขึ้นมาในประเทศเพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ และนำมาสู่การจัดทำรายงานเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศกาตาร์ของ Human Rights Watch 

โดยรายงานของ Human Rights Watch ระบุว่า กาตาร์ละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายกรณี ประเด็นแรกคือ การละเมิดสิทธิของแรงงานข้ามชาติ โดยแรงงานข้ามชาติในกาตาร์ต้องประสบกับการจ่ายค่าจ้างที่ล่าช้า การจ่ายค่าจ้างไม่ถูกต้องตามสัญญาหรือไม่จ่าย การทำงานล่วงเวลาโดยไม่ได้รับค่าจ้าง และการหักลดหย่อนตามอำเภอใจจากนายจ้าง และที่แย่ที่สุดคือ ในระหว่างปี 2010-2019 มีแรงงานข้ามชาติเสียชีวิตในประเทศกาตาร์แล้วกว่า 15,021 ราย8

ประเด็นดังกล่าว ส่งผลให้แฟนบอลเยอรมนีออกมาแสดงเจตจำนงต่อต้านกาตาร์ ผ่านการชูแบนเนอร์หน้าสเตเดียมใหญ่ๆ ในเมืองฮัมบวร์กและเบอร์ลิน เช่น ป้ายที่ระบุว่า “มีคนตาย 15,000 คนเพื่อการแข่งฟุตบอล 5,760 นาทีเนี่ยนะ บ้าไปแล้ว!” 9 และเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา Amnesty International ได้เผยแพร่แบบสำรวจที่ชี้ว่า 75 เปอร์เซ็นต์ของแฟนฟุตบอลทั้งหมด 17,000 คน จาก 15 ประเทศ ได้สนับสนุนให้ FIFA จ่ายค่าชดเชยให้กับครอบครัวของเหล่าแรงงานข้ามชาติที่เสียชีวิตจากการเร่งสร้างสนามกีฬาแห่งชาติของกาตาร์

ประเด็นที่สองคือ การละเมิดสิทธิผู้หญิงและกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ พบว่า จนถึงขณะนี้ผู้หญิงในกาตาร์ยังต้องได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองชายเสียก่อน จึงจะสามารถแต่งงาน เรียนต่างประเทศด้วยทุนรัฐบาล ทำงานราชการหลายอย่าง เดินทางไปต่างประเทศ หรือเข้าถึงสิทธิในการดูแลสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์บางรูปแบบ และในช่วงเดือนกันยายน 2022 ที่ผ่านมา แม้ว่ารัฐบาลกาตาร์จะเตรียมการตรวจตราอย่างเข้มงวดเพื่อการปฏิบัติต่อกลุ่มคนหลากหลายทางเพศอย่างเท่าเทียม แต่กองกำลังของกรมรักษาความปลอดภัย กลับจับกุมกลุ่มคนหลากหลายทางเพศอย่างจงใจ และทำให้พวกเขาถูกกักขังและตกอยู่ในอันตราย10

รวมถึงเมื่อเร็วๆ นี้ สื่อหลายสำนักรายงานว่า สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติจะยังไม่อนุญาตให้ 32 กัปตันทีมที่ผ่านมาเข้าสู่รอบสุดท้าย สวมปลอกแขนหัวใจสีรุ้ง “OneLove” ที่แสดงถึงการสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ และการต่อต้านการเหยียดเพศทุกรูปแบบในสนาม11 แต่เนื่องด้วยการรักเพศเดียวกันเป็นเรื่องต้องห้ามตามกฎหมายของกาตาร์12 ทั้งนี้ ต่อให้ปลอกแขน OneLove จะไม่ถูกสวม แต่ถ้าสื่อมวลชนรายงานข่าวการแข่งขันฟุตบอลออกไปอย่างผิดธรรมเนียม ค่านิยม หรือหลักการทางสังคม ก็อาจถือว่ากระทำผิดกฎหมายอาชญากรรมทางไซเบอร์ปี 2014 ของกาตาร์ ที่ให้โทษจำคุกสูงสุด 3 ปี และปรับ 500,000 ริยัลกาตาร์ (หรือประมาณ 4.9 ล้านบาทไทย)

ประเด็นสุดท้ายคือ เรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ปกติแล้วจะเป็นเครื่องดื่มสามัญคู่กับการชมกีฬา แต่เนื่องจากกาตาร์เป็นรัฐอิสลาม เงื่อนไขในการดื่มแอลกอฮอล์จึงแตกต่างไปจากความเคยชินของแฟนบอลหลายๆ คน โดยก่อนหน้านี้ มีรายงานโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจกาตาร์ว่า มีแฟนบอลเม็กซิโกพยายามตบตาเจ้าหน้าที่กาตาร์ ผ่านการเทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลงไปในกล้องส่องทางไกลปลอม แต่สุดท้ายแล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจกาตาร์ก็จับได้ และริบเครื่องดื่มไป 

ขณะเดียวกัน ก็มีคลิปไวรัลในโลกโซเชียลมีเดีย บันทึกวิดีโอโดยแฟนบอลอังกฤษระหว่างกำลังเดินหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลังชมฟุตบอลเสร็จ จนกระทั่งได้ไปพบกับกลุ่มเศรษฐีชาวกาตาร์ที่อยู่บริเวณนั้น โดยพวกเขาได้พาแฟนบอลคนนั้นไปดื่มแอลกอฮอล์ที่คฤหาสน์ จากคลิปนี้ทำให้หลายคนตั้งคำถามไปตามๆ กันว่า “ทำไมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นของต้องห้ามในประเทศกาตาร์ ถึงได้มีอยู่ในคฤหาสน์ของกลุ่มชนชั้นสูง? หรือว่าจริงๆ แล้ว เจ้าหน้าที่รัฐกาตาร์เลือกปฏิบัติกับพลเมืองประเทศไม่เท่าเทียมกัน?”

หลังจากนี้ แฟนบอลผู้สมาทานประชาธิปไตยและความเท่าเทียมของมนุษย์ คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่า การเดินทางมายังประเทศกาตาร์ของบรรดาเหล่านักเตะ (ที่มีอัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลาย) จากหลายประเทศจะมีปัญหาหรือไม่? และการแข่งขันในอีก 8 แมทช์ที่เหลือ จะมีกรณีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนเพิ่มขึ้นอีกหรือเปล่า?



อ้างอิง

 Matt Williams, Is homophobia in football still a taboo?, BBC News UK. http://news.bbc.co.uk/sport2/hi/football/4426278.stm 

FIFA, FIFA Governance Regulations (FGR) https://www.icsspe.org/system/files/FIFA%20Governance%20Regulations_0.pdf

Amnesty International, Human rights concerns in South Africa during the World Cup https://www.amnesty.org/en/latest/press-release/2010/06/human-rights-concerns-south-africa-during-world-cup/

Amnesty International, Brazil: Human rights under threat ahead of the World Cup https://www.amnesty.org/en/latest/press-release/2014/04/brazil-human-rights-under-threat-ahead-world-cup/ 

ประชาไท, ดูการต่อสู้ของแฟนบอลชาวเกย์ เมื่อบอลโลกจัดในประเทศที่เกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน https://prachatai.com/journal/2018/06/77491

THE STANDARD, FIFA สั่งปรับเม็กซิโก 10,035 เหรียญสหรัฐ ฐานตะโกนเหยียดเพศนอยเออร์ https://thestandard.co/fifa-fines-mexico-as-hernandez-asks-fans-to-stop-homophobic-chant/

The Guardian, Pussy Riot members jailed for World Cup final pitch invasion https://www.theguardian.com/football/2018/jul/17/pussy-riot-members-jailed-for-world-cup-final-pitch-invasion

Human Rights Watch, HUMAN RIGHTS GUIDE FOR REPORTERS 2022 FIFA World Cup in Qatar https://www.hrw.org/sites/default/files/media_2022/11/202211mena_qatar_worldcup_reportersguide_2.pdf

Time. News, World Cup: “15,000 dead for 5,760 minutes of football!”, German supporters call for a boycott https://time.news/world-cup-15000-dead-for-5760-minutes-of-football-german-supporters-call-for-a-boycott/

Human Rights Watch, Human Rights Reporters’ Guide for 2022 FIFA World Cup Qatar https://www.hrw.org/sites/default/files/media_2022/11/202211mena_qatar_worldcup_reportersguide_2.pd

Siamsport, One Love : ปลอกแขนกัปตันทีมที่อาจมาพร้อมใบเหลืองใน ฟุตบอลโลก 202https://www.siamsport.co.th/worldcup2022/7227

PPTVHD36,  จ่อห้ามกัปตันทีมสวมปลอกแขนเท่าเทียมทางเพศ เตะฟุตบอลโลก 2022 https://www.pptvhd36.com/sport/news/181178

The post FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น appeared first on คณะก้าวหน้า.

]]>
https://progressivemovement.in.th/article/common-school/8323/feed/ 7
Brave New World https://progressivemovement.in.th/article/common-school/8298/?utm_source=rss&utm_medium=rss&utm_campaign=brave-new-world-aldous-huxley https://progressivemovement.in.th/article/common-school/8298/#comments Tue, 22 Nov 2022 05:36:25 +0000 https://progressivemovement.in.th/?p=8298 ‘Brave New World’ คือผลงานที่โด่งดังที่สุดของฮักซ์ลีย์ มันเป็นนวนิยายดิสโทเปียที่ฉายภาพโลกอนาคตซึ่งวิทยาการของมนุษย์ก้าวหน้าถึงขั้นสามารถแย่งความเป็นเจ้าโลกจากพระเจ้าและธรรมชาติมาได้ หนำซ้ำ รัฐประชาชาติทั้งหลายยังถูกทลายหายไป เหลือเพียงสถาบันปกครองหนึ่งเดียว คือ ‘รัฐโลก’

The post Brave New World appeared first on คณะก้าวหน้า.

]]>
22 พฤศจิกายน ครบรอบวันเสียชีวิตของ ‘อัลดัส ฮักซ์ลีย์’ (Aldous Huxley) นักเขียนชื่อดังชาวอังกฤษ ผู้จากไปด้วยวัย 69 ปี ในปี 1963 ด้วยโรคมะเร็งกล่องเสียง ภรรยาเขาเล่าว่า เมื่อวาระสุดท้ายใกล้มาถึง ฮักซ์ลีย์ร้องขอให้เธอฉีด LSD ปริมาณ 100 ไมโครกรัม เข้ากล้ามเนื้อ เธอตอบรับคำขอนั้น ก่อนเขาจะหมดลมหายใจในไม่กี่ชั่วโมงต่อมา

ด้านหนึ่ง อิทธิพลที่เกิดจากการใช้สารเหล่านี้ก็เป็นเรื่องน่าสนใจศึกษา แต่อีกด้านหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าพฤติกรรมเหล่านี้จะไม่มีความหมายอะไรเลย หาก ‘ผลงาน’ ของเขาไม่ได้คุณภาพจนเป็นที่ยอมรับ 

‘Brave New World’ คือผลงานที่โด่งดังที่สุดของฮักซ์ลีย์ BBC News จัดให้มันเป็น 1 ใน 100 นวนิยายที่ทรงอิทธิพลต่อมนุษยชาติที่สุด Modern Library จัดให้มันเป็นนวนิยายภาษาอังกฤษในศตวรรษที่ 20 ซึ่งดีที่สุดอันดับ 5 จาก 100 อันดับ มันยังเป็นนวนิยายที่ถูกนำไปดัดแปลงเป็นละครทีวี ภาพยนตร์ และละครทีวี หลายครั้งหลายโอกาสเสมอมา

มันเป็นนวนิยายดิสโทเปียที่ฉายภาพโลกอนาคตซึ่งวิทยาการของมนุษย์ก้าวหน้าถึงขั้นสามารถแย่งความเป็นเจ้าโลกจากพระเจ้าและธรรมชาติมาได้ หนำซ้ำ รัฐประชาชาติทั้งหลายยังถูกทลายหายไป เหลือเพียงสถาบันปกครองหนึ่งเดียว คือ ‘รัฐโลก’


ฟอร์ดและฟรอยด์ พระเจ้าแห่งรัฐโลก

ระเบียบพื้นฐานของโลกนี้ สามารถเข้าใจได้ผ่าน 2 ชื่อสำคัญ 

ชื่อแรก- ‘เฮนรี่ ฟอร์ด’ (Henry Ford) ผู้ระเบิดพลังการผลิตด้วยการปรับใช้ระบบสายพาน ในนวนิยายเรื่องนี้ ฮักซ์ลีย์สถาปนาให้ฟอร์ดกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดแทนที่พระเจ้า อารยธรรมในเรื่องล้วนแต่มีฟอร์ดศูนย์กลาง หอนาฬิกาบิ๊กเบนถูกเปลี่ยนชื่อเป็นบิ๊กฟอร์ด การนับปีศักราชถูกจำกัดให้เหลือเพียงปี ฟ.ศ. (ฟอร์ดศักราช) ไม่มีใครอุทานด้วยคำว่า “โอ้! พระเจ้า” อีกต่อไป จะมีแต่ “โอ้! ฟอร์ด” (น. 87) ทั้งหมดนี้เป็นเพราะรัฐโลกสนใจแต่มูลค่าทางธุรกิจอุตสาหกรรมเท่านั้น 

ชื่อสอง- ‘ซิกมันด์ ฟรอยด์’ (Sigmund Freud) บิดาแห่งวงการจิตวิเคราะห์ ผู้เคยเสนอให้ใช้โคเคนรักษาอาการติดมอร์ฟีนและซึมเศร้า ทั้งยังนิยมสูบซิการ์วันละ 20 มวนต่อวัน ในนวนิยาย ฟรอยด์ไม่ได้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป แต่เป็นสมญานามซึ่งเจ้าของตำแหน่ง ‘ผู้ควบคุมโลก’ ใช้เรียกตัวเอง (น. 49) ชื่อของฟรอยด์มีบทบาทสำคัญ เนื่องจากทุกคนในรัฐโลกจะไม่มีปมเรื่องครอบครัว (พ่อ-แม่-ลูก) หรือ Oedipus complex อีกต่อไป เพราะต่างเกิดมาจากหลอดแก้ววิทยาศาสตร์ และสามารถปลดปล่อยแรงปรารถนาทางเพศได้อย่างไม่มีข้อจำกัดทางศีลธรรม (หากต้องสรุปอย่างหยาบๆ ฟรอยด์เสนอว่า ปัญหาทางจิตล้วนมีต้นตอจากแรงขับทางเพศที่ถูกกดไว้ใต้ศีลธรรมให้เด็กไม่สามารถรักพ่อแม่ตัวเองได้)

เมื่อแรงขับทางเพศไม่ถูกจำกัดด้วยครอบครัวและศีลธรรม ‘การเก็บกด’ (repression) ที่ฟรอยด์บอกว่าจะแสดงตัวผ่านความฝันหรือการพูดผิด (freudian slip) จึงไม่มีอีกต่อไป 

ในแง่หนึ่ง การเป็นสังคมที่ร่วมเพศได้อย่างเสรี (free sex) ที่การครองรักแบบผัวเดียวเมียเดียวกลายเป็นสิ่งสามานย์นี้ ไปด้วยกันอย่างดีกับการเป็นสังคมบริโภคนิยมสุดขั้ว ที่ไปสนับสนุนสังคมแห่งธุรกิจของฟอร์ดอีกทีหนึ่ง (ดังที่โฆษณาสินค้าจำนวนมากในโลกความจริงก็อาศัยข้อเสนอเกี่ยวกับแรงดึงดูดทางเพศของฟรอยด์ในการล่อให้คนบริโภคสินค้าของตน) โลกใน Brave New World จึงไม่มีกรอบคิดเรื่องการซ่อมแซมหรือรีไซเคิล ตัวเลือกเดียวที่เหลืออยู่เวลาเสื้อผ้าชำรุดคือการซื้อใหม่เท่านั้น เพราะ “ยิ่งเย็บก็ยิ่งรวยน้อยลง” 

ในนวนิยายเรื่องนี้ มูลค่าทางธุรกิจ สังคมบริโภคนิยมสุดโต่ง และการเสพสังวาสอย่างเสรี จึงเป็นสิ่งที่สนับสนุนซึ่งกันและกัน

อย่างไรก็ดี ใช่ว่าทุกคนในเรื่องจะสามารถกระทำเช่นนั้นได้ พฤติกรรมและทัศนคติเหล่านี้ต่างถูก ‘ปรับสภาพ’ ให้เป็นไปตามชนชั้นที่ตนเองสังกัดตั้งแต่ยังเป็นตัวอ่อน และยิ่งถูกประกอบสร้างให้แบ่งแยกมากขึ้นเรื่อยๆ ตอนโต มันชัดเจนมากที่สุดในบทที่ 2 “บทเรียนกล่อมสอนเด็กตอนนิทรา” (Hypnopeadia) ที่ฉายภาพห้องเรียนอนุบาลซึ่งปรับใช้ทฤษฎีการเรียนรู้การวางเงื่อนไขแบบคลาสสิก ของ พาฟลอฟ (Ivan Petrovich Pavlov) ที่ถูกค้นพบจากการทดลองในสุนัข ในการทดลองนั้นพาฟลอฟเริ่มด้วยการสั่นกระดิ่งทุกครั้งที่ให้อาหารกับสุนัข และเมื่อถึงจุดหนึ่งสุนัขก็จะน้ำลายไหลทุกครั้งที่ได้ยินเสียงกระดิ่งแม้จะไม่มีอาหารก็ตาม โดยในห้องเรียนนี้ สุนัขถูกเปลี่ยนให้เป็นเด็ก (ชนชั้นสติปัญญาต่ำ) เปลี่ยนจากกระดิ่งเป็นเสียงดังกับกระแสไฟฟ้า และเปลี่ยนจากอาหารเป็นหนังสือกับดอกไม้ 

อะไรคือเหตุผลที่รัฐโลกต้องทำเช่นนี้ คำตอบอยู่ในหน้า 31-32 

“ถ้าหากเด็กๆ พวกนี้ถูกทำให้หวีดร้องเมื่อเห็นดอกกุหลาบ นั่นแสดงว่านโยบายด้านเศรษฐกิจบรรลุถึงเป้าหมายอย่างสูง เมื่อไม่นานมานี้ (หนึ่งศตวรรษหรือประมาณนั้น) พวกแกมมา พวกเดลตาหรือแม้แต่พวกเอ็พซิลอน [ชื่อเรียกวรรณะในเรื่อง เป็นพวกมีสติปัญญาระดับกลางถึงต่ำ] ถูกกำหนดให้ชื่นชอบดอกไม้เป็นพิเศษและให้ชอบธรรมชาติป่าเขาเป็นพื้นฐาน แนวคิดก็เพื่อให้พวกเขาอยากออกไปท่องเที่ยวตามชนบททุกครั้งเมื่อมีโอกาส และนั่นเป็นการบังคับให้พวกเขาต้องบริโภคการขนส่ง

[แต่] ดอกพริมโรสและภูมิประเทศ … มีข้อเสียสำคัญอย่างคือ มันเป็นของได้เปล่า ความรักธรรมชาติไม่ก่อให้เกิดมูลค่าให้เกิดมูลค่าธุรกิจอุตสาหกรรม จึงได้มีการพิจารณายกเลิกความรักธรรมชาติในพวกวรรณะต่ำทุกกลุ่มชั้น ยกเลิกความรักธรรมชาติไปก็จริงแต่ไม่ได้สูญเสียการบริโภคการขนส่งไป เพราะจริงๆ แล้วเป็นเรื่องจำเป็นที่พวกเขาจะต้องออกไปยังชนบทอยู่ถึงแม้จะเกลียดมันก็ตาม ปัญหาก็คือ การหาเหตุผลทางเศรษฐกิจในการบริโภคการขนส่งอย่างคุ้มค่าที่ฟังเข้าท่ามากกว่าแค่ความชื่นชอบดอกพริมโรสกับภูมิประเทศเท่านั้น และเหตุผลที่เหมาะสมนั้นก็ถูกค้นพบแล้ว

“เราสร้างเงื่อนไขให้คนพวกนี้จำนวนมากเกลียดชนบท” ผู้อำนวยการศูนย์สรุป

“แต่ขณะเดียวกันเราก็สร้างเงื่อนไขให้พวกเขาหลงใหลกีฬาชนบททุกชนิด ขณะเดียวกันเราก็คอยตรวจสอบว่ากีฬาชนบททุกชนิดนั้นนำไปสู่การใช้อุปกรณ์อย่างดี ดังนั้นพวกเขาก็จะบริโภคผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรวมทั้งการขนส่งด้วย นี่แหละคือเหตุผลของการช็อตด้วยไฟฟ้า”

ดังนั้น มนุษย์ที่สมบูรณ์ใน Brave New World จึงไม่ใช่คนที่ดำรงตนอย่างเสรีชน หรือรักความยุติธรรม หากเป็นมนุษย์ที่สามารถ “พลเมืองที่ทำงานหนัก บริโภคผลิตภัณฑ์สินค้า และมีความสุขคนหนึ่ง” (น. 244)

แต่แม้ความคิดจิตใจ อคติ และทัศนคติ ที่รัฐปลูกฝังนี้ จะติดตัวเด็กไปจนตาย (น.38-39) แต่มันก็ไม่ต่างจากระบบการผลิตสินค้าทั่วไป ที่ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าระบบจะดีอย่างไร ข้อบกพร่องก็มีโอกาสเกิดได้เสมอ 

ข้อบกพร่องนี้เองที่แสดงให้เห็นอารมณ์ขันในงานของฮักซ์ลีย์อีกครั้ง เพราะเขาตั้งให้ตัวละครที่แปลกแยกไปจากคนอื่นในสังคมมีชื่อว่า ‘เบอร์นาร์ด มาร์กซ์’ ชายผู้มีชื่อมาจาก ‘คาร์ล มาร์กซ์’ (Karl Marx) ปูชนียบุคคลแห่งลัทธิคอมมิวนิสต์


มาร์กซ์ (และผองเพื่อน) ตัวละครแห่งความแปลกแยกในสังคม

ก่อนจะพูดถึง ‘ความแปลกแยก’ (alienation) ที่เกิดขึ้นกับตัวละครชื่อมาร์กซ์ จำเป็นต้องเล่าก่อนว่า ความร้ายกาจที่แสดงผ่านชื่อตัวละคร ยังปรากฏผ่านการทำให้ ‘เลนิน’ (Vladimir Lenin) นักปฏิวัติหัวล้าน ผู้ล้มล้างระบอบกษัตริย์และเปลี่ยนรัสเซียเป็นคอมมิวนิสต์ กลายเป็น ‘เลนิน่า’ ตัวละครหญิงผมน้ำตาลแดงหยิกเป็นลอน (น. 123) ที่พยายามตามตื๊อร่วมรักกับมาร์กซ์ตลอดต้นเรื่อง ทั้งนี้ การเปลี่ยนนักปฏิวัติชายแท้อย่างเลนินกลายเป็นผู้หญิงและมีเส้นผม อาจยังไม่ร้ายกาจเท่าการทำให้เขามีนามสกุลที่อ้างอิงกับระบอบกษัตริย์อย่าง ‘คราวน์’ (Crown) ซ้ำร้าย ฮักซ์ลีย์ยังจัดให้เลนิน่ากลายเป็นเพื่อนสนิทของ ‘แฟนนี่’ ซึ่งมีที่มาจาก ‘แฟนนี่ แคปแลน’ (Fanny Kaplan) หญิงผู้เคยพยายามลอบสังหารเลนินอีกด้วย

กลับมาที่มาร์กซ์ ที่แม้จะเป็นตัวละครสังกัดวรรณะสติปัญญาสูงสุดในสังคม แต่ก็ต้องรู้สึกแปลกแยกจากร่างกายที่เตี้ยกว่าค่าเฉลี่ยของชายในวรรณะตนเองถึง 8 เซนติเมตร ซึ่งก็บังเอิญสอดคล้องกับมาร์กซ์ในโลกความจริงที่ก็มีปัญหาเรื่องรูปลักษณ์ภายนอกจากการมีภาวะต่อมเหงื่ออักเสบ (Hidradenitis Suppurativa) บางคนถึงกับเสนอให้มันเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มาร์กซ์พัฒนาทฤษฎีความแปลกแยกขึ้นมาได้เลยทีเดียว (นับว่าบังเอิญมาก เพราะฮักซ์ลีย์เขียนนวนิยายเรื่องนี้ในปี 1931 แต่ภาวะนี้ถูกบรรจุเข้าตำราแพทย์อังกฤษในปี 1933) 

อีกสิ่งหนึ่งที่ผลักให้มาร์กซ์กลายเป็นคนแปลกแยกในสังคมนี้ ก็มาจากการปฏิเสธที่จะใช้ ‘โซม่า’ ยาสามัญประจำโลกที่จะทำให้ผู้ใช้มองทุกอย่างในแง่บวก ปราศจากอารมณ์ทุกข์เศร้าเหงาซึม และที่สำคัญมันจะทำให้ผู้ใช้ไม่ต้องคิดอะไรมาก และหันไปบริโภคสารเสพติดชั้นต่ำที่สุดในเรื่อง นั่นคือ ‘แอลกอฮอล’ (มาร์กซ์ตัวจริงเองก็ขึ้นชื่อว่าเสพติดแอลกอฮอลอย่างหนัก) 

เพียงแค่การมีสรีระผิดแปลกไปจากมาตรฐานก็หนักหนาแล้ว ยิ่งผสมกับการดื่มของเหลวชั้นต่ำเป็นประจำ ก็ยิ่งทำให้มาร์กซ์กลายเป็นคนนอกมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม กรอบคิดเรื่องความแปลกแยก (แบบที่มาร์กซ์ตัวจริงเสนอ) จะเกิดขึ้นได้ต้องไม่ใช่อะไรที่ปัจเจกเพียงคนเดียวประสบอยู่ลำพัง

แต่เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นในระดับกลุ่ม (collective) 

ในเรื่องนี้เราจะเห็นว่าตัวละครดำเนินเรื่องต่างก็มีปัญหาความแปลกแยกกันทั้งนั้น แต่หากจะต้องยกตัวอย่างก็คงต้องเป็น ‘เฮล์มโฮลทซ์ วัตสัน’ เพื่อนร่วมทุกข์รูปหล่อของมาร์กซ์

“สภาพล้นเกินทางด้านจิตใจได้ก่อผลกระทบหลายอย่างในตัวเฮล์มโฮลทซ์ คล้ายคลึงกับผลกระทบที่ทำให้เกิดความบกพร่องทางร่างกายของเบอร์นาร์ด มาร์กซ์ กระดูกและกล้ามเนื้อที่มีน้อยเกินไปทำให้เบอร์นาร์ดแปลกแยกโดดเดี่ยวจากเพื่อนฝูงคนหนุ่มทั้งหลาย และความรู้สึกแปลกแยกนี้-ซึ่งหากกล่าวตามมาตรฐานทั่วไปแล้วถือว่าเป็นสภาพล้นเกินทางจิตใจอย่างหนึ่ง-ก็ได้ย้อนกลับมาเป็นสาเหตุแห่งการแยกห่างที่ถ่างกว้างมากกว่าเดิมไปอีก ความแปลกแยกที่เคยทำให้เฮล์มโฮลทซ์รู้สึกไม่สบายใจถึงความเป็นตัวของตัวเองและความโดดเดี่ยวนี้แหละถือว่าเป็นความสามารถยิ่งยวด สิ่งที่ชายหนุ่มทั้งสองมีร่วมกันคือความรู้และความเป็นเอกเทศของตน ในขณะที่มีความบกพร่องทางสรีระ เบอร์นาร์ดทุกข์ทรมานอยู่ตลอดชีวิตกับความรู้สึกถึงความอ้างว้างโดดเดี่ยว แต่เฮล์มโฮลทซ์ วัตสันซึ่งตระหนักดีถึงสภาพล้นเกินทางจิตใจของตน ก็รู้สึกว่าตัวเองแตกต่างจากผู้คนรอบๆ ข้างเช่นกัน”

(น. 76)


สลาวอย ชิเช็ค กับ ความจริง-ความสุขในโลกหลังอุดมการณ์ 

“โซม่ามีไว้เสมอเพื่อให้เราหยุดพักผ่อนว่างเว้นจากความจริงทั้งหลาย และมีไว้เสมอเพื่อสะกดรำงับความโกรธของเรา เพื่อสร้างปรองดองระหว่างเรากับศัตรู … ศาสนาคริสต์ที่ปราศจากน้ำตา-นั่นละคือ สิ่งที่โซม่าเป็น” (น.246) คำบรรยายสรรพคุณของโซม่าที่ผู้ควบคุมให้ไว้ในบท 17 “โลกที่ปลอดพระเจ้า” (The World Without God) บอกชัดเจนว่า ‘ความสุข’ คือสิ่งที่รัฐโลกใน Brave New World ใช้กล่อมประสาทประชาชน กล่าวอีกนัยหนึ่ง ความสุขถูกใช้เป็นโฆษณาชวนเชื่อเพื่อกันไม่ให้คนเดินบนถนนแห่งความเจ็บปวดที่ชื่อว่า ‘ความจริง’ 

“เวลานี้ทุกคนมีความสุข” เป็นถ้อยคำซ้ำซากที่ประชากรรัฐโลกถูกเป่าหูกว่าร้อยห้าสิบเที่ยวทุกคืนเป็นเวลาสิบสองปี มันเป็นคาถาที่ย้ำเตือนว่า การสูญเสียความจริงคือราคาที่ต้องจ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งความสุข (น. 237) ในสังคมเช่นนี้

หากว่ากันตามประวัติศาสตร์ ความสุขก็ไม่ใช่เพียงแค่อารมณ์ความรู้สึกแบบวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองที่มีมาแต่ไหนแต่ไร อริสโตเติลก็เคยเชิญชวนให้คนเคลื่อนย้ายมาอาศัยอยู่ในเมือง/รัฐ หรือ ‘Polis’ เพราะนั่นคือวิถีที่จะนำไปสู่ชีวิตที่ดี หรือ ‘Eudaimonia’ (สำหรับผู้สนใจเชิงลึก ขอแนะนำหนังสือ “ว่าด้วยความสุข” ของ ธเนศ วงศ์ยานนาวา)

“อย่าเลื่อนความสุขที่มีในวันนี้ได้ไปพรุ่งนี้” คือคำกล่อมสอนซ้ำซากสองร้อยเที่ยว สองครั้งต่อสัปดาห์ตั้งแต่อายุสิบสี่ถึงสิบหกปีครึ่ง เพื่อจูงใจให้คนกินโซม่าเพื่อเร่งความสุขขับความเศร้าในทุกเวลา

รัฐโลกใน Brave New World จึงสะท้อนสังคมหลังสิ้นสุดสงครามเย็นจบที่เราเรียกว่า ‘หลังอุดมการณ์’ (post-ideology) ซึ่งหมายถึงสังคมที่ปราศจากการต่อสู้ทางอุดมการณ์โดยสิ้นเชิง เพราะเสรีประชาธิปไตย/ทุนนิยม ได้เอาชนะเหนือ สังคมนิยม/คอมมิวนิสต์ เรียบร้อยแล้ว ในแง่นี้เอง จึงเป็นอีกหนึ่ง ‘ความล้ำ’ ของนวนิยายเรื่องนี้ เพราะแม้มันจะเขียนในปี 1931 แต่กลับสมจริงมากยิ่งขึ้นในอีกเกือบ 100 ปีให้หลัง

สำหรับ สลาวอย ชิเช็ค (Slavoj Žižek) นักปรัชญาร่วมสมัยชื่อดัง การเข้าใจว่าเรากำลังอยู่ในโลกที่ไร้การแข่งขันหรือความขัดแย้งทางอุดมการณ์ ตลอดจนการกลายเป็นเพียงซับเจคที่ไล่ตามหาความสุขสบายไปเรื่อยๆ หรือ ‘subject of pleasure’ แท้จริงแล้วกลับเป็นการถูกทำให้กำราบอยู่ภายใต้อุดมการณ์ที่สถาปนาตัวเองเป็นพระเจ้าหนึ่งเดียว กล่าวอีกนัยหนึ่ง มันเป็นอุดมการณ์ที่ปรากฏในรูปแบบซึ่งบริสุทธิ์ที่สุด (‘ideology at its purest’) เป็นอุดมการณ์ที่เราไม่จำเป็นต้องรู้ตัวว่ากำลังยึดมั่นถือมั่นในตัวมัน ขอเพียงแค่ปฏิบัติมันอย่างสม่ำเสมอก็เพียงพอ (‘Just Do It!’ เหมือนกับที่ตัวละครในเรื่องต้องกลืนโซม่าในทุกที่ทุกเวลา) 

จึงไม่แปลกที่รัฐโลกจะกลัวพฤติกรรมแหกวิถีปฏิบัติมากเสียกว่าการประกอบอาชญกรรม เหมือนกับที่หนังสือบรรยายไว้ว่า

“ไม่มีความผิดใดจะร้ายกาจยิ่งกว่าพฤติกรรมนอกธรรมเนียมแบบแผน การฆาตกรรมแค่ทำลายชีวิตปัจเจกบุคคล … เราสามารถสร้างคนใหม่ได้อย่างง่ายดายที่สุด-จะเอามากสักเท่าไรก็ได้ พฤติกรรมนอกรีตนอกรอยต่างหากที่เป็นภัยน่ากลัวกว่า แค่ชีวิตของปัจเจกบุคคลเดียว มันโจมตีสังคมโดยตรง”

(น. 153-154)

โลกอารยะในนวนิยายเรื่องนี้ จึงเป็นโลกของเด็กทั้งทางกายและใจ เพราะมันไม่เรียกร้องให้ประชากรมีความคิดเห็นเป็นของตัวเองแต่อย่างใด ขอเพียงแค่ปฏิบัติตัวอยู่ในร่องในรอย ใช้เสรีภาพ (ที่ถูกประทานมา) กับการบริโภคให้เต็มที่ มีชีวิตให้มีความสุขอย่างเต็มเปี่ยม ก็เพียงพอแล้ว

หากเชื่อตามชิเช็ค มันจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างหรือค้นหาภาษา/ไอเดียที่จะทำให้กลุ่มคนที่ถูกครอบงำโดยอุดมการณ์เหล่านี้ตระหนักถึงการไร้เสรีภาพของตัวเอง เป็นการทำให้ตระหนักว่าสิ่งที่ตนเองเข้าใจว่าเป็นเสรีภาพตลอดมานั้น แท้จริงแล้วเป็นการไร้เสรีภาพที่ถูกห่อหุ้มให้สวยงามด้วยวัสดุที่เรียกว่าเสรีภาพแค่นั้นเอง

แต่สุดท้ายแล้ว การออกจากอุดมการณ์ที่ใช้ความสุขเป็นโฆษณาชวนเชื่อก็เป็นเรื่องเจ็บปวด เสรีภาพที่ผูกติดกับความจริงจะทำลายภาพฝันอันรื่นรมย์เหล่านั้นมลายหายไป การที่คนจำนวนมากยังยึดติดอยู่กับอุดมการณ์จึงอาจไม่ใช่เพราะระดับสติปัญญาที่ต่ำเตี้ย แต่เป็นเพราะการไม่รู้และขาดจินตนาการว่า นอกจากความต้องการในความสุขที่รัฐมอมเมาว่าจะมอบให้ แท้จริงแล้วตนต้องการอะไร 

การทำให้ผู้คนเห็นว่าเสรีภาพที่พวกเขาเข้าใจ แท้จริงแล้วเป็นเพียงเสรีภาพปลอมๆ ที่รัฐอนุญาตให้มี หรือการมีความสุขอาจไม่ใช่เรื่องสำคัญหรือน่าปรารถนามากขนาดนั้น อาจเป็นภารกิจที่หนักหนาเหลือทน แต่นวนิยาย Brave New World ของฮักซ์ลีย์ ก็กระชากคอเสื้อเรียกสติเราแรงๆ ว่า การมีความสุขภายใต้ความเป็นทาส และกักเก็บความคิดเสรีไว้ในกรงขังแห่งความแปลกแยก ก็เป็นเรื่องแสนสาหัสมากกว่ากันนัก 


หมายเหตุ: สามารถยืมหนังสือเล่มนี้ได้ฟรีในโครงการอ่านเปลี่ยนโลก https://form.jotform.com/221880458508462   

The post Brave New World appeared first on คณะก้าวหน้า.

]]>
https://progressivemovement.in.th/article/common-school/8298/feed/ 2
สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ https://progressivemovement.in.th/article/common-school/8286/?utm_source=rss&utm_medium=rss&utm_campaign=brave-relation-of-family-and-welfare-state https://progressivemovement.in.th/article/common-school/8286/#comments Sat, 19 Nov 2022 06:22:11 +0000 https://progressivemovement.in.th/?p=8286 ภาคภูมิ แสงกนกกุล ชวนสำรวจประวัติศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันครอบครัวกับรัฐสวัสดิการ

The post สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ appeared first on คณะก้าวหน้า.

]]>
ครอบครัวและหน้าที่

ครอบครัวเป็นสถาบันทางสังคม เป็นหน่วยย่อยพื้นฐานของสังคม หลายๆ ครอบครัวกลายเป็นชุมชน หลายๆ ชุมชนกลายเป็นสังคม บทบาทและความสำคัญของครอบครัวมีมาอย่างยาวนานตั้งแต่ประวัติศาสตร์มนุษยชาติเริ่มก่อร่างสร้างอารายธรรมในพื้นที่ภูมิภาคต่างๆ ครอบครัวเป็นแหล่งที่มาแรกและสำคัญที่สุดของการจัดหาสวัสดิการให้กับปัจเจกชนในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่วินาทีแรกที่กำเนิดจวบจนวินาทีสุดท้ายในเชิงตะกอน

สถาบันครอบครัวก็เช่นเดียวกับสถาบันอื่น กล่าวคือมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและความสัมพันธ์ตามกาลเวลา ตามปฏิสัมพันธ์การเปลี่ยนแปลงของระบบอื่นที่เกี่ยวข้อง ในสังคมเกษตรกรรมที่สัมพันธ์กับการผลิตแบบยังชีพ ครอบครัวจำเป็นต้องเป็นครอบครัวใหญ่ที่มีสาแหรกหลายชั่วรุ่นเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนของความเสี่ยงต่างๆ ปัจจัยการผลิตไม่ว่าจะเป็นที่ดิน แรงงาน ทุน ต่างเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนรวมของครัวเรือนใหญ่ ผลผลิตที่ได้ก็เป็นกรรมสิทธิรวมและจะถูกแจกจ่ายอย่างเหมาะสมภายใต้การตัดสินใจของกลุ่มผู้อาวุโสของตระกูล ยิ่งไปกว่านั้นด้วยข้อจำกัดของความรู้และเทคโนโลยีการผลิตที่ไม่เพียงพอ ทำให้ครัวเรือนต่างๆ ประสบปัญหานานับประการ ไม่ว่าจะเป็นความอดอยากจากการผลิตอาหารไม่เพียงพอ การถูกขูดรีดเก็บภาษีจากเจ้าที่ดิน ความไม่แน่นอนของภัยธรรมชาติ การระบาดโรค ผลที่ตามมาทำให้การตัดสินใจต่างๆ วางอยู่บนฐานผลประโยชน์ส่วนรวมของตระกูลมากกว่าการตัดสินใจอย่างเสรีเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง สายใยความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกครอบครัวนั้นนอกจากเป็นสัญลักษณ์ของการสืบสายเลือดแล้ว มันก็มีโซ่ตรวนของหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติด้วยเช่นกัน คนหนุ่ม-สาวแต่งงานเพื่อความรักและเพื่อหน้าที่ นอกจากต้องทำงานเพื่อเลี้ยงดูพ่อแม่ผู้อาวุโสแล้ว ก็ต้องมีหน้าที่ลูกหลานสืบสกุล และเลี้ยงดูฟูมฟักบุตรหลานเพื่อเป็นแรงงานสืบทอดต่อๆ ไป 


ระบบทุนนิยมและการเปลี่ยนแปลงสถาบันครอบครัว

เมื่อระบบการผลิต ความสัมพันธ์การผลิต และระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนเป็นทุนนิยม มันก็ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของสถาบันครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การทำงานในท้องทุ่งกรรมสิทธิ์ส่วนรวมของตระกูลก็ค่อยๆ ลดน้อยถอยลง แรงงานจากท้องนาก็ค่อยๆ อพยพไปทำงานในโรงงานกับคนที่ไม่รู้จักแทน สวัสดิการที่แต่เดิมได้จากครอบครัวก็ลดน้อยถอยลงไป แรงงานต้องพึ่งพิงสวัสดิการจากค่าจ้างแรงงานและนายจ้างแทน ครอบครัวที่เดิมมีขนาดใหญ่สมาชิกหลายๆ รุ่นก็กลายเป็นครอบครัวขนาดเล็ก สายสัมพันธ์สายใยในครอบครัวก็เริ่มเจือจางลงไป แต่เดิมที่มารดาเมื่อแรกคลอดบุตรมีเวลาเหลือจากการทำงานเพื่อให้นมเลี้ยงดูบุตรตนเอง และมีญาติๆ พี่น้องคอยช่วยเลี้ยงดูอีกแรง ก็กลับกลายเป็นว่าต้องทิ้งลูกแรกเกิดเพื่อไปใช้แรงงานอย่างหนักในโรงงาน

ยิ่งไปกว่านั้นสวัสดิการและเสรีภาพที่เคยวาดฝันไว้ว่าจะได้รับจากระบบทุนนิยม กลับกลายเป็นตรงกันข้าม ค่าตอบแทนแรงงานถูกกดจนไม่เพียงพอจะเลี้ยงแรงงานและครอบครัว สวัสดิการที่ได้จากแรงงานตามกลไกตลาดนั้นไม่เพียงพอที่จะทดแทนสวัสดิการจากครอบครัวที่หดหายไปจากการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบทุนนิยม ความโหดร้ายของทุนนิยมแบบสุดโต่ง (Laissez-faire) ไม่อนุญาตให้มีพื้นที่ของความเอื้ออาทร หรือการพึ่งพาอาศัยอย่างที่นักปรัชญาเคยใฝ่ฝันไว้ แต่กลับไปกระตุ้นความเห็นแก่ตัว และความละโมบไร้ขอบเขตของมนุษย์ เนื่องด้วยความต้องการถ่านหินที่สูงขึ้นเพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานใหม่ การทำเหมืองแร่จึงมีจำนวนมหาศาลและต้องการแรงงานมากขึ้น ซึ่งเทคนิคการขุดเจาะแบบเก่ายังไม่พัฒนาเท่าปัจจุบัน จึงต้องอาศัยการขุดเจาะใต้ดิน และขนาดร่างกายเด็กที่มีขนาดเล็กกว่าผู้ใหญ่ก็ช่วยให้แทรกตัวเข้าไปในพื้นที่คับแคบในเหมืองถ่านหินได้ง่ายกว่า ยุโรปในศตวรรษที่ 19 จึงสามารถพบการใช้แรงงานเด็กอย่างปกติโดยไม่มีกฎหมายแรงงานคุ้มครองใดๆ แรงงานเด็กทั่วโลกมีจำนวนถึง 150 ล้านคน พ่อแม่นำลูกอายุ 6 ขวบของตนเองไปทำงานกับเครื่องจักร ทำงานในเหมืองถลุงแร่ ไม่ต่ำกว่าวันละ 16 ชั่วโมง ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นมิตรต่อสุขภาพ และเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานบ่อยครั้ง เพียงเพื่อแลกกับค่าแรง ขนมปังที่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต1  กล่าวโดยสรุป สภาพของสถาบันครอบครัวและสายใยความสัมพันธ์ครอบครัวได้ถูกทำลายอย่างสิ้นเชิง สังคมกำลังล่มสลายไร้ทิศทาง 


รัฐสวัสดิการและเป้าหมายการทดแทนสถาบันครอบครัว

เมื่อสถาบันครอบครัวล่มสลาย ชุมชนไม่เหลือความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้แก่กัน กลไกตลาดสร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นขึ้นมา ดังนั้นรัฐจึงต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญในการจัดหาสวัสดิการให้ประชาชน รัฐเริ่มสร้างสถานเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดเพื่อให้แรงงานไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลังเมื่อต้องทำงานในโรงงาน รัฐเริ่มออกกฎหมายประกันอุบัติเหตุระหว่างการทำงานเพื่อสร้างความแน่นอนของการผลิต เป็นต้น

อย่างไรก็ตามเป้าหมายของรัฐสวัสดิการหรือการกระจายรัฐสวัดิการแก่ประชาชนนั้นมีหลายเป้าหมาย ได้แก่ สร้างเสถียรภาพของเศรษฐกิจ การผลิต เสถียรภาพของสังคม กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ จัดการความเสี่ยงสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ กระจายสวัสดิการและลดความเลื่อมล้ำสังคม แต่เป้าหมายระยะยาวหรือเป้าหมายสูงสุดของรัฐสวัสดิการ คือ การสร้างความสัมพันธ์ขึ้นมาใหม่ ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันต่างๆ ภายในรัฐ ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนด้วยกัน ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและสังคม/ประชาชน 

สำหรับกรณีรัฐสวัสดิการยุโรปแล้ว การให้สวัสดิการยังช่วยสร้างสถาบันครอบครัวภายใต้คุณค่าสังคมแบบรัฐสมัยใหม่ที่เรียกว่าความสมานฉันท์ระหว่างรุ่น (intergeneration solidarity) ขึ้นมาแทนที่ของเดิมที่ถูกทำลายทิ้งไปแล้ว กล่าวคือ รัฐเปลี่ยนแปลงคุณค่าความกตัญญูของสถาบันครอบครัวแบบเก่าที่แต่เดิมสมาชิกครอบครัวจัดหาสวัสดิการเฉพาะครอบครัวตนเอง ให้กลายเป็นผลประโยชน์ต่างตอบแทนระหว่างเพื่อนร่วมชาติ จากเดิมที่เราเสียสละแรงงาน เวลา ความสุขส่วนตัวเพื่อดูแลเฉพาะลูกหลานพ่อแม่ของเรา ก็กลายเป็นสังคมที่คนทุกรุ่นสามารถอยู่ร่วมกันพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน พร้อมส่งต่อสังคมสมานฉันท์ให้คนรุ่นต่อๆ ไป โดยนำมาเป็นหลักปฏิบัติที่เกิดขึ้นจริงได้แก่ กลุ่มประชากรวัยทำงานก็ต้องทำงานสุดความสามารถ สร้างรายได้ให้กับตนเอง ครอบครัว และจ่ายภาษีให้แก่สังคม เพื่อที่ว่าภาษีดังกล่าวจะถูกไปใช้จ่ายกับนโยบายสาธารณะเพื่อให้แก่คนชรารุ่นพ่อแม่ในรูปแบบรางวัลตอบแทนที่คนรุ่นดังกล่าวได้เสียสละแรงงานร่วมสร้างชาติขึ้นมา อีกส่วนหนึ่งนำมาเป็นสวัสดิการให้เด็กหนุ่มสาวซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในอนาคต และเมื่อเวลาผ่านไปจากคนวัยทำงานก็กลายเป็นคนชราและได้รางวัลตอบแทนจากสวัสดิการที่ผลิตจากภาษีของคนรุ่นเด็กก็เติบโตเข้าสู่วัยทำงาน 

หลักความสมานฉันท์ระหว่างรุ่นดังกล่าวส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในรัฐเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่ความผูกพันระหว่างครอบครัว การให้ความสำคัญแก่ผลประโยชน์ครอบครัวมากเกินไป ก็กลายเป็นสร้างความเข้าอกเข้าใจเพื่อนร่วมชาติ และร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเพื่อนร่วมชาติ 

อีกทั้งความสัมพันธ์แบบใหม่ที่สร้างมาก็ได้ลบล้างข้อด้อยของความสัมพันธ์แบบเก่า ประการแรก หน้าที่ของครอบครัวที่วางอยู่บนความสัมพันธ์ ของสถานะ เพศ อายุ ก็เปลี่ยนเป็นความสัมพันธ์ข้อผูกมัดทางกฎหมาย สวัสดิการที่เราได้รับจะมีความแน่นอนมากขึ้นเนื่องจากเป็นสิทธิตามกฎหมาย ประการสอง ช่วยให้มีการกระจายรายได้เพื่อสร้างความเป็นธรรมมากขึ้น และปกป้องไม่ให้การเสียสละมีมากเกินไปจนเกิดความลำบากแก่ผู้ให้ ป้องกันมิให้คนยากจนที่จิตใจเอื้อเฟื้อเข้าช่วยเหลือคนอื่นจนสิ้นเนื้อประดาตัว ในขณะเดียวกันก็บังคับให้เศรษฐีจิตใจตระหนี่จ่ายเงินเพื่อช่วยเหลือคนในสังคมมากขึ้น ซึ่งวิธีดังกล่าวก็ได้พัฒนาเป็นการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า และภาษีชนิดอื่นเพื่อเกิดการกระจายรายได้


ปัญหาของรัฐเข้ามาทรกแซงสถาบันครอบครัวมากเกินไป

ถึงแม้รัฐสวัสดิการจะมีข้อดี แต่ก็เปรียบเสมือนเป็นดาบสองคมถ้าการแทรกแซงของรัฐเกินขอบเขตมากเกินไป การรักษาสมดุลระหว่างการแทรกแซงของรัฐ-การรักษาเสรีภาพประชาชน จึงเป็นคำถามใจกลางสำคัญมาตลอดว่า ระดับไหนถึงจะเพียงพอและรัฐมีความชอบธรรม 

การที่รัฐเข้ามาทดแทนสถาบันครอบครัวในยุโรปได้เกิดปรากฏการณ์ไม่พึงประสงค์ขึ้นมาที่เรียกว่า Male breadwinner กล่าวคือ สิทธิประโยชน์จากประกันสังคม และสวัสดิการจากรัฐได้ผูกติดสถานการณ์ทำงานของหัวหน้าครัวเรือน ซึ่งก็คือพ่อเป็นหลัก หน้าที่ของภรรยากลับกลายเป็นเรื่องงานบ้านและเลี้ยงดูลูกซึ่งภาระดังกล่าวกลับไม่ถูกเห็นค่าหรือถูกบันทึกใน GDP แต่อย่างใด ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศชายและหญิงตามมา เพศหญิงต้องเสียสละการงานที่เคยทำก่อนแต่งงาน และต้องพึ่งพารายได้และประกันสังคมจากสามีเป็นหลัก ความสัมพันธ์ในครัวเรือยของเพศหญิงจึงตกเป็นเบี้ยล่างของเพศชาย ซึ่งในบางกรณีก็บานปลายกลายเป็นความรุนแรงในครอบครัวตามมา 

ปัญหาดังกล่าวได้ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นสาธารณะในยุโรปเริ่มต้นช่วงทศวรรษ 1950 นอกจากนี้ปัญหาการหย่าร้างที่เพิ่มมากขึ้น ลักษณะครอบครัวที่มีขนาดเล็กลง ระดับการศึกษาของเพศหญิงสูงมากขึ้น ค่านิยมสังคมที่เปลี่ยนไป รวมถึงความต้องการแรงงานที่มากขึ้น เป็นแรงผลักดันให้เกิดการปฏิรูปสวัสดิการจากรัฐตามมาในหลายๆประเทศ สวัสดิการทั้งในรูปแบบเงินโอนและไม่ใช่เงินโอนได้ถูกนำมาใช้เพื่อกระตุ้นให้เพศหญิงเข้าสู่ตลาดแรงงาน และให้สถานะการทำงานของเพศหญิงเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น อาทิเช่น การให้สิทธิการลาคลอดแก่เพศหญิง การแก้กฎหมายการจ้างงาน การขยายสิทธิประกันสังคมแก่แรงงานในภาคบริการซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง การให้เงินช่วยเหลือ และสวัสดิการแก่มารดา เป็นต้น


ทางแยกสถาบันครอบครัวไทย

ประเทศไทยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองมีลักษณะคล้ายกลับประเทศอื่นในโลกตะวันออก กล่าวคือ รัฐมีทรัพยากรที่จำกัดและไม่สามารถจัดหาสวัสดิการคุณภาพดีอย่างทั่วถึงให้กับทุกคน สถาบันครอบครัวจึงเป็นสถาบันหลักในการจัดหาสวัสดิการให้แก่สมาชิก และคุณค่าความสำคัญของสถาบันครอบครัวไม่เคยถูกทำลาย สถาบันครอบครัวเปรียบเสมือนตาข่ายสุดท้ายที่รองรับภัยต่างๆ ไม่ว่าจะความฉิบหายหรือความผันผวนจากเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับสมาชิกครัวเรือน ตัวอย่างประวัติศาสตร์ระยะใกล้ที่ชัดเจนคือ ในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 1997 แรงงานในภาคการเกษตรที่อพยพเข้ามาหางานทำในภาคบริการในกรุงเทพฯ ได้กลายเป็นผู้พ่ายแพ้และย้ายกลับถิ่นฐานภูมิลำเนาเดิม สถาบันครอบครัวในชนบทกลายเป็นตาข่ายรองรับให้พวกเขาผ่านพ้นวิกฤตไปด้วยกันได้

อย่างไรก็ตามปัญหาที่มีมากมายในปัจจุบันก็ได้ท้าทายหน้าที่และความสามารถของสถาบันครอบครัวอีกครั้ง 

1.) ความเหลื่อมล้ำทางรายได้สร้างช่องว่างทางสังคมระหว่างครัวเรือนร่ำรวยและครัวเรือนยากจน ทำให้สวัสดิการขั้นพื้นฐานและทุนมนุษย์ที่เป็นอาวุธติดตัวแก่คนรุ่นใหม่เพื่อใช้เข้าแข่งขันในตลาดแรงงานมีไม่เท่ากันและแทบจะกำหนดชัยชนะของผู้เข้าแข่งขันตั้งแต่จุดสตาร์ท 

2.) คุณค่าปัจเจกชนเสรีนิยมที่เพิ่มมากขึ้นในสถาบันครอบครัว ทำให้จำนวนของครอบครัวเดี่ยวเพิ่มมากขึ้น อัตราการเกิดน้อยลง การช่วยเหลือกันระหว่างพี่น้อง พ่อแม่ลูก ญาติพี่น้อง ถูกลดทอนลง 

3.) สังคมสูงวัย ทำให้คนวัยทำงานต้องเพิ่มผลิตผลการทำงานมากขึ้นเพื่อนำไปใช้กับสวัสดิการแก่คนชรา ปัญหาดังกล่าวยังถูกซ้ำเติมจากประชากรวัยชราส่วนใหญ่มิได้มีการออมเงินเพียงพอต่อการใช้จ่ายหลังปลดเกษียณและต้องพึ่งพาลูกหลานเป็นหลัก 

4.) ความหลากหลายของลักษณะครอบครัวปัจจุบัน เนื่องจากสังคมไทยเป็นพหุสังคม คุณค่าสถาบันครอบครัวเองก็มีความหลากหลายเช่นกัน เช่น คุณค่าของครอบครัวไทยในชนบท คุณค่าของครอบครัวจีน อีกทั้งความหลากหลายทางเพศที่ไม่จำกัดแต่เฉพาะ พ่อ-แม่-ลูก 

5.) ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรุ่น ปัญหาการเมืองไทยกว่า 15 ปี ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในครอบครัวเช่นกัน ความเห็นต่างทางการเมืองภายในครอบครัวอาจสร้างรอยร้าวความสัมพันธ์ในบางครอบครัว และปะทุขึ้นมากลายเป็นปัญหาสงครามระหว่างรุ่น

ปัญหาดังกล่าวจึงตั้งคำถามกับรัฐอีกครั้งว่า รัฐไทยควรจะเข้ามามีบทบาทอย่างไร การผลักภาระให้สถาบันครอบครัวรับผิดชอบด้านสวัสดิการเป็นหลักเหมือนเช่นเคยอาจจะไม่เพียงพออีกต่อไป นโยบายสวัสดิการสังคมใหม่จึงมีความจำเป็นเร่งด่วน เช่น บำนาญถ้วนหน้าขั้นพื้นฐานเพื่อตอบแทนความยากลำบากของคนรุ่นก่อนในการมีส่วนร่วมสร้างชาติสร้างสังคมขึ้นมา เงินอุดหนุนถ้วนหน้าแก่เด็กแรกเกิดเพื่อลงทุนกับทุนมนุษย์ หลีกเลี่ยงการตายที่ไม่จำเป็นของทารกแรกเกิดเพื่อเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการดูแลครอบครัว และแรงงานต่อประเทศชาติในอนาคต การออกกฎหมายสมรสเพศเดียวกันเพื่อให้การทำธุรกรรมต่างๆ และกรรมสิทธิต่างๆ เป็นไปอย่างราบรื่นลดต้นทุนทางธุรกรรมที่ไม่จำเป็น เป็นต้น 

นอกจากนี้รัฐยังสามารถใช้มาตรการอื่นเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐ-เอกชน-ครอบครัว-สังคม เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต และกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กัน เช่น สนับสนุนเศรษฐกิจสีเงิน (Silver economy) ที่กลุ่มลูกค้าเป็นคนเกษียณเป็นหลัก ร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อเพิ่มจำนวนสถานรับเลี้ยงเด็ก และสถานผู้ดูแลคนชราแบบไม่แสวงกำไร สนับสนุนชุมชนในการสร้างงานและความภาคภูมิใจให้คนชรา เช่น ให้คนชรารับหน้าที่ในการช่วยเหลือทำงานในสถานเลี้ยงเด็ก สถานดูแลผู้สูงอายุ เพื่อเก็บเครดิตชั่วโมงทำงานไว้นำไปใช้เมื่อถึงเวลาที่ตนเองต้องเข้ารับการดูแลในสถานพยาบาล เป็นต้น

มันหมายความว่า บทบาทของรัฐในการจัดสรรทรัพยากร และสวัสดิการที่ประชาชน ควรได้เป็นเป้าหมายระยะสั้นและระยะกลางในการเพิ่มคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนแล้ว

สำหรับเป้าหมายระยะยาวของรัฐสวัสดิการคือ การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นของสมาชิกในสถาบันครอบครัว และความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวและรัฐด้วยเช่นกัน เราจำเป็นต้องจินตนาการรัฐสวัสดิการที่ประชาชนใฝ่ฝันร่วมสร้างกันว่า จะสร้างคุณค่าสถาบันสังคม สถาบันครอบครัวแบบไหน จะทำลายคุณค่าสถาบันครอบครัวแบบเก่าแล้วสร้างคุณค่าแบบใหม่ขึ้นมาทดแทน หรือรักษาคุณค่าสถาบันสังคมที่มีแบบเดิมอยู่ไว้ รักษาสายใยของครอบครัวเพื่อเป็นฐานในการถักทอรัฐสวัสดิการที่ประชาชนคนไทยอยู่ร่วมกัน เปลี่ยนแปลงปฏิรูปให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกันของคนระหว่างรุ่น เพื่อสร้างความสมานฉันท์ขึ้นมาใหม่ และส่งต่อสังคมที่ดีให้กับคนรุ่นต่อๆไป




อ้างอิง

Histoire du travail des enfants en France.  สืบค้นจาก https://www.droitsenfant.fr/travail_histoire.htm

The post สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ appeared first on คณะก้าวหน้า.

]]>
https://progressivemovement.in.th/article/common-school/8286/feed/ 17
หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย” https://progressivemovement.in.th/article/common-school/8280/?utm_source=rss&utm_medium=rss&utm_campaign=book-review-useless-knowledge-phony https://progressivemovement.in.th/article/common-school/8280/#comments Sat, 19 Nov 2022 05:58:15 +0000 https://progressivemovement.in.th/?p=8280 หนังสือประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์กับแม่ง โคตรโฟนี่เลย มีเนื้อหามันยังสอดรับขยายความกันและกันอย่างน่าสนใจ เล่มแรกว่าด้วยประโยชน์ของความรู้ เล่มหลังขยายและเน้นหนักไปที่อำนาจที่ครอบงำ

The post หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย” appeared first on คณะก้าวหน้า.

]]>
ผมอ่าน “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” (The Usefulness of Useless Knowledge) ของ Abraham Flexner จบภายในเวลาไม่นาน เอาเป็นว่า ระยะเวลาการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะหนึ่งเที่ยว ในความหมายที่รวมเวลารอด้วย ไม่ว่าจะรถเมล์หรือรถไฟฟ้า ก็สามารถพลิกอ่านได้ครบทุกหน้าได้แล้ว

หนังสือเล่มนี้พยายามเป็นคูคลองที่ล้อมรอบอาณาจักรของความรู้และการวิจัย มันยกคำพูดและตัวอย่างจำนวนมากเพื่อแสดงให้เห็นว่า ความรู้ที่ไม่มีประโยชน์ในตอนแรก อาจเป็นอะไรที่ก่อตัวเป็นประโยชน์ได้เมื่อผ่านกาลเวลา มันยังชี้ให้เห็นชัดๆ ว่า ความรู้ใหม่ไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลยหากปราศจากซึ่งความรู้เก่าๆ (ที่ไร้ประโยชน์)

การคัดง้างกับวิธีคิดแบบอรรถประโยชน์คือหัวใจของหนังสือเล่มนี้ เพราะภายใต้เงื่อนไขปัจจุบัน ผู้ที่ประกอบอาชีพในฐานะผู้รักใน (การสร้าง/ค้นพบ) ความรู้ จะต้องต่อสู้กับ ‘ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ’ จากแหล่งทุนวิจัยทั้งหลาย ทั้งๆ ที่พูดถึงที่สุดแล้ว เราจะบอกได้อย่างไรว่ามีอะไรที่อยู่หลังเนินเขาข้างหน้าบ้าง หรือเราจะบอกได้อย่างไรว่าจักรวาล (ที่ขยายตลอดเวลา) มีขนาดเท่าไหร่ มีความเป็นไปได้ใดที่อยู่พ้นไปจาก ‘องค์’ ความรู้ปัจจุบัน

บทความของ Flexner และอีก 2 คนที่บรรจุในหนังสือเล่มนี้ คือ Robert Dijkgraaf กับนำชัย ชีววิวรรธน์ มีน้ำเสียงไปในทางเดียวกัน คือภายใต้โลกที่ใช้ประโยชน์/กำไรขาดทุน/ความคุ้มค่า เป็นศูนย์กลาง โดยเฉพาะเหล่าสถาบันการศึกษาและวิจัย กำลังส่งผลให้ความรู้ตาย กำลังทำให้เสรีภาพเป็นเพียงแค่ตัวอักษรทางกฎหมาย และที่ร้ายแรงที่สุด มันกำลังทำให้จิตวิญญาณที่เต็มไปด้วย ‘ความอยากรู้อยากเห็น’ ของมนุษย์ล่มสลายลง

หนังสือเล่มนี้จัดวางให้ความอยากรู้อยากเห็นเป็นขั้วตรงข้ามกับอรรถประโยชน์ แต่เอาเข้าจริงแล้วผมกลับเห็นว่า ข้อเสนอของมันก็ยังยืนอยู่บนอรรถประโยชน์อยู่ดี เพราะมันกำลังพยายามปกป้อง ‘ประโยชน์ของความรู้ (ที่ยัง) ไร้ประโยชน์’ ว่าอาจมีประโยชน์ในอนาคตในแบบที่คาดไม่ถึง

แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ผมให้น้ำหนักนัก สิ่งที่ผมให้น้ำหนักคือ เวลาใครพูดว่าอะไรหรือความรู้ใดมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ มันไม่ใช่การตัดสินใจจากสุญญากาศ มันต้องกระทำผ่านจุดยืนบางอย่างเสมอ เอาแค่ทัศนคติที่มีต่อความอยากรู้อยากเห็นก็ได้ ถ้าเราเทียบตำนานปกรณัมอย่าง Pandora’s Box หรือการกินผลแห่งความรู้ของอาดัมกับเอวาในไบเบิลปฐมภูมิ จะเห็นได้ไม่ยากว่าความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ถูกตัดสินว่าเป็นโทษ เป็นสิ่งที่นำไปสู่ความตายและหายนะ และที่สำคัญที่สุด มันเป็นสิ่งที่ขัดขืนต่อระเบียบ/คำสั่งของผู้มีอำนาจ ของผู้กุมทรัพยากร ของพระผู้เป็นเจ้า 

ในแง่นี้ ‘การวัดประเมินผลงาน’ จึงเป็นสิ่งที่ทำโดยมีฐานจากระบอบความรู้เดิม ที่ไม่ยอมเสี่ยงให้เกิดความรู้ใหม่มาปั่นป่วนมัน การจำกัดอยู่ภายใต้เงื่อนไขของระบอบความรู้นี้จึงตัดความรู้และความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น เพราะความรู้ (ใหม่) พวกนี้ไม่สามารถประเมินได้ด้วยความรู้เก่า พูดอีกอย่างคือ ความรู้ใหม่ที่จะเกิดขึ้นนั้นไม่ได้มีค่าอะไรเลย เนื่องจากมันอยู่นอกปริมณฑลของระบอบความรู้ที่เป็นอยู่นั่นเอง

ตรงนี้เองที่ “แม่ง โคตรโฟนี่เลย” หนังสือรวมปาฐกถาและคำอภิปรายของ ไอดา อรุณวงศ์ เข้ามาเป็นบทสนทนาต่อยอด 

“แต่สุดท้ายแล้ว คุณก็จะต้องมาถูกประเมินผลอยู่ภายใต้ระบบเก่าที่ปฏิเสธการใช้ปัญญา อันมาพร้อมกับระบบประเมินคุณค่าแบบปัญญาอ่อนอย่างใหม่ … พวกเขาจะไม่มาถกเถียงกับคุณเรื่องข้อเสนอ แต่เขาจะพูดเรื่อง “ประเภท” ว่าอะไรคือบทความวิชาการ อะไรคือตำรา อะไรคือบทความวิจัย ซึ่ง For Chirst’s sake! ก็จะมีพวกเขาอีกเช่นกันที่ไม่รู้จักหัดแยกแยะเสียทีว่า ของบางอย่างยิ่งพยายามแยกแยะ ยิ่งสะท้อนความไม่เอาไหนของความสามารถในการแยกแยะของวงวิชาการไทย” (น. 49-50)

“อาจารย์วรรณคดีรุ่นใหม่จะรู้แกวว่า ถ้าหากอยากได้งานที่เข้าข่ายนิยามว่า “งานวิจัย” ก็แค่ไปขอทุนจากหน่วยงานโคตรพ่อโคตรแม่อย่าง สกอ. และ สกว. ให้มีเอกสารประทับตราโลโก้รับรองจากหน่วยงานที่มีคำว่า “วิจัย” อยู่ในชื่อ มันก็จะเข้าข่ายงานวิจัยได้ ต่อให้มันเป็นเพียงคลิปปิ้งข่าวตัดหรือเป็นการประมวลเรียบเรียงไปโง่ๆ ทื่อๆ ตามๆ กันมา

แต่ถ้าเป็นบทความที่ทั้งขุดคุ้ยเอกสารเก่า คันคว้าทฤษฎีใหม่ ทดลองการใช้ใหม่ ๆ แทบตาย แต่ไม่ได้เขียนไปแบมือขอเงินหน่วยงานวิจัยหน้าไหนมาปะหน้า คุณก็จะได้รับบรรดาศักดิ์ว่าเป็นแค่ “บทความวิชาการ” ไม่ใช่งาน “วิจัย” (น. 57)

ไม่มากก็น้อย ส่วนที่สกัดมาข้างต้น (และส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะบท “ไมใช่กล้วย”) ขยายความข้อเสนอในหนังสือของ Flexner อย่างแน่นอน แต่ถ้าจะมีความแตกต่างอะไร ก็คือบริบทของ Flexner เขากำลังพูดถึงความเป็นสากล แต่ในกรณีของไอดา มันคือความเฉพาะเจาะจงแบบพิกลพิการ ที่ทำให้เห็นว่าในประเทศที่มี ‘องค์’ หนึ่งครอบหัวแทบจะเบ็ดเสร็จ สภาพขององค์ ‘กร’ หนึ่งภายใต้การครอบงำนั้น ก็เป็นเพียงภาพสะท้อนขององค์กรอื่นๆ ไม่ต่างกัน เพราะอย่างน้อยที่สุดในบริบทของไอดามันก็คือ ‘วงวิชาการไทย’ ในความหมายที่ ‘ความเป็นไทย’ ครอบงำ ‘วิชาการ’ 

ในที่นี้ จึงขอเน้นไปที่ความเป็นไทยที่แทรกซึมครอบงำในสถาบันต่างๆ อันเป็นสิ่งซึ่งไอดาตีแผ่ในหลาย ‘วรรค’ ของหนังสือ ยกตัวอย่างเช่น วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด (impunity) ในบท “ภาพลักษณ์  จิตร ภูมิศักดิ์ ในยุคปัจจุบัน”

“ดังที่บอกตั้งแต่ต้นว่าจุฬาฯ คือจุลจักรวาลของอำนาจทางวัฒนธรรมในสังคมไทย การที่จุฬาฯ ไม่อาจแสดงความสำนึกผิดต่อจิตร ภูมิศักดิ์ ได้ ก็คือภาพสะท้อนของสังคมไทยที่ไม่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมการแสดงความสำนึกผิด หรือ remorse ที่ชนศิวิไลซ์ชาติอื่นเขามีกัน อันที่จริง remorse นี่ยังดูสง่ากว่า guilt ที่พวกเขาไม่มีทางยอมรับอยู่แล้วด้วยซ้ำ remorse หรือการสำนึกเสียใจต่อความผิดที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะกระทำด้วยตัวเอง หรือกระทำในนามของเรา หรือกระทั่งของชนชาติเรา เป็นสมบัติที่ผู้ดีแถวนี้ไม่มี

ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่มีคำถามจาก อบจ. ว่า ถ้าคุณปู่ของเราทำผิดไปชกหน้าคนอื่น เราต้องขอโทษหรือ? ซึ่งมันก็ชวนให้นึกถึงอีกคำถามที่สะท้อนกันว่า ถ้าขี้ข้าของเราไปฆ่าคนอื่นในนามของความรักเทิดทูนเรา เราต้องขอโทษหรือ? ดังนั้นเอง การจับกุมคุมขัง กระทำทารุณฆ่าล้างในนามความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ จึงยังดำเนินต่อไป โดยไม่เพียงไม่มีการสืบหาผู้กระทำผิด แต่ผู้ที่ปล่อยให้ความทารุณนี้ดำเนินต่อไปก็ไร้ซึ่งสปิริตของการ remorse ฉะนั้นแล้วจะแปลกอะไรที่ จิตร ภูมิศักดิ์ จะถูกโยนบกเพราะถูกหาว่าไม่เคารพต่อกษัตริย์ผู้เป็นปู และถูกฆ่าตายเพราะเป็นคอมมิวนิสต์ที่ถูกมองว่าเป็นพิษภัยต่อกษัตริย์ผู้เป็นหลาน” (น. 203)

การไม่มีวัฒนธรรม remorse จึงเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย วัฒนธรรมที่ “รองรับและให้ความชอบธรรมต่อชายเลวมากกว่าหญิงร้าย” (น.141) เป็นวัฒนธรรมที่มาพร้อมอาการประสาท

“คือไม่ว่าใครจะเขียนอะไรพูดอะไรในบริบทหนึ่ง ก็ถูกอาการโรคจิตหวาดระแวงที่กำลังเป็นกันทั้งสังคม อันเป็นผลจากการโหมประโคมความรักที่อ้างว่ายิ่งใหญ่ แต่แท้จริงแล้วดูจะใจเสาะและขาดความมั่นคงทางจิตใจถึงขนาดหวาดระแวงไปทั่วว่าใครไม่รักจะประหารเสียให้สิ้น มาตีความให้กลายเป็นความอัปลักษณ์ ทั้งที่ถ้าหากมันจะอัปลักษณ์ มันก็อัปลักษณ์เพราะมันเป็นภาพสะท้อนอย่างซื่อๆ ของความเป็นจริงอันอัปลักษณ์ที่คนสติดีที่ไหนก็ควรจะมองเห็นได้ตำตาอยู่แล้ว … แต่สัจธรรมมีอยู่ว่า คนที่มีอำนาจบาตรใหญ่มักจะเป็นคนขวัญอ่อนและเสียสติได้ง่ายกว่า และก็พาสังคมตกอยู่ในบรรยากาศของความกลัวถึงขั้นเสียสตินั้นไปด้วย” (น. 82-83)

ความเฉพาะเจาะจงแบบพิกลพิการยังถูกนำมาประจานต่อในอีกหลายท่อน เช่นว่า การมองเห็นประชาชนที่มีเลือดเนื้อต้องถูกสังหาร “มีความหมายสมบูรณ์น้อยกว่าถ้อยคำว่า “ประชาชน” ที่พวกเขาจำกัดเชิดชูไว้ในบทกวี หรือเรื่องสั้นและนวนิยาย สำหรับพวกเขา … ประชาชนที่ถูกทหารยิงตายอยู่บนถนน ไม่ใช่อย่างเดียวกับ “ประชาชน” ในวรรณกรรม” (น. 216)

ข้อสังเกตของไอดานี้กระมังคือความเป็นไทยเป็นไทยที่อ้างถึงกัน คือความเป็นเอกลักษณ์ที่ไปด้วยกันไม่ได้กับความสากล เพราะเมื่อปะทะเข้ากับความเป็นสากล/ความเป็นอื่นแล้ว ก็เห็นถึงความเน่าเฟะภายใน และฟ้องชัดว่าอย่างไหนคือความจริง อย่างไหนคือสิ่งสมมติ ชัดถึงขนาดต้องย้ำอยู่เสมอว่า ปากกาอยู่ที่กู (ไม่ใช่คนอื่น) และมันเป็นของกูตราบเท่าที่ยังไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่ง

หนังสือของไอดาเล่มนี้ เป็นการชี้หน้าต่อองค์ทุกองค์  ไม่ว่ามันเป็นองค์รวม องค์ความรู้ องค์กร องคชาติ หรือองค์ … ใดๆ ว่าบรรดาองค์เหล่านี้ แม่ง โคตรโฟนี่เลย

The post หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย” appeared first on คณะก้าวหน้า.

]]>
https://progressivemovement.in.th/article/common-school/8280/feed/ 7
“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล https://progressivemovement.in.th/article/common-school/8270/?utm_source=rss&utm_medium=rss&utm_campaign=a-simple-story-leonardo-sciascia https://progressivemovement.in.th/article/common-school/8270/#comments Mon, 14 Nov 2022 06:59:53 +0000 https://progressivemovement.in.th/?p=8270 เรื่องง่ายๆ เป็นนวนิยายสืบสวนสอบสวนขนาดสั้น ของ Leonardo Sciascia ที่แสดงปัญหาของระบบราชการไว้หนักแน่น

The post “เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล appeared first on คณะก้าวหน้า.

]]>
ด้วยประสบการณ์และความสนใจส่วนตัว ผมไม่เคยคิดอยากทำงานราชการเลย ในฐานะที่เคยเข้าไปข้องเกี่ยวกับมันมาบ้าง ผมวินิจฉัยว่า โดยทั่วไปแล้วงานราชการเป็นงานที่ไม่ได้ใช้ความคิดอะไรมาก หลายงานหลายตำแหน่งเป็น bullshit jobs ที่สร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาการว่างงาน ข้อสนับสนุนหนึ่งของผมมาจากประสบการณ์ส่วนตัวสมัยสอบภาค ก. หลังเรียนจบใหม่ๆ เป็นรุ่นที่มีข่าวจากวิษณุ เครืองามว่า ใครสอบภาค ก. ผ่านจะได้รับการบรรจุทันที

ควรทดไว้สักนิดว่า การแก้ปัญหาการว่างงานไม่ได้มีเพียงแค่เหตุผลทางเศรษฐกิจอย่างเดียว ในอีกด้านหนึ่งมันยังเป็นกลยุทธ์ที่ใช้ลดแรงต้านจากความขัดแย้ง (ทางชนชั้น) ในสังคมด้วย

แต่นั่นก็เรื่องหนึ่ง อีกเรื่องหนึ่งที่ผมให้ความสำคัญไม่แพ้กันคือการได้ใช้ความคิดความอ่าน ได้ใช้สมอง ผมพูดแบบนี้ไม่ใช่เพื่อดูถูกด้อยค่าคนทำงานราชการ (ใครอยากเป็นผมเชียร์ด้วยซ้ำ เพราะด้วยกระแสโลกที่โน้มไปในรูปแบบสัญญาจ้างระยะสั้น การมีงานที่มีสวัสดิการรองรับแบบนั้นเป็นจะเรื่องมหัศจรรย์มากๆ ในอนาคต) แต่สำหรับผม งานราชการหลายตำแหน่งเป็นงานที่ไม่ได้ใช้ความรู้มากมายอะไรเลย หลายงานขอเพียงแค่เรารู้ขั้นตอน 1 2 3 4 ก็สามารถทำได้แล้ว พูดง่ายๆ คือมันไม่ได้มอบอำนาจในการใช้เหตุผลตัดสินใจอะไรให้เรานัก (ลองนึกถึงงานที่ต้องรออนุมัติ รอนายผู้บังคับบัญชาลงมาเซ็นต์ให้ ทั้งๆ ที่ปัญหามันเรียกร้องการจัดการโดยเร็วสิ) ด้วยระบบแบบนี้ ผู้ปฏิบัติงานจึงไม่สามารถริเริ่มสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ได้ หรือหากคิดจะมีก็ต้องเผชิญกับระเบียบที่เน้นไปที่การเพ่งโทษและจ้องจับผิด

นี่ยังไม่นับว่า ความก้าวหน้าในหน้าที่การงานจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยอื่นยั้วเยี้ยไปหมด “คนเก่ง” และ “คนดี” ในระบบราชการจึงมีองค์ประกอบมากกว่าเรื่องความสามารถ


“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายสืบสวนสอบสวนขนาดสั้น ของ Leonardo Sciascia บรรจุปัญหาของระบบราชการ (ซึ่งสัมพันธ์กับสังคมอย่างแน่นอน) ไว้เกินกว่าที่ผมบรรยายมาเสียอีก

เรื่องเริ่มต้นด้วยการที่ชายผู้มากทรัพย์สินคนหนึ่งโทรแจ้งให้ตำรวจมาที่บ้าน เพราะพบทรัพย์สินมีค่าบางอย่างเข้า แต่ตำรวจเข้าใจและปฏิบัติต่อสายนี้เป็นแค่การล้อเล่น จนกระทั่งเช้าวันถัดมาพบศพชายคนนี้ถูกยิงตายในบ้านของตัวเอง บ้านหลังที่เขาโทรให้ตำรวจไปพบ

ด้วยความยาวไม่ถึง 100 หน้าของนวนิยาย (งานไม่ใหญ่แน่นอนครับวิ) ผมขอสงวนไม่เล่าอะไรไปมากกว่านี้ แต่ขอดึงฉากประทับใจที่ทำให้ผมย้อนกลับไปคิดถึงก้อนความคิดเรื่องระบบราชการมาแลกเปลี่ยนสักหน่อย

มันเป็นฉากที่อาจารย์ซึ่งเป็นเพื่อนของผู้ตายไปเข้าพบกับอัยการผู้เป็นอดีตลูกศิษย์ของตนเอง ทั้งสองทักทายกันก่อนจะพบว่าต่างฝ่ายต่างจำกันได้ ฝ่ายศิษย์บอกว่ารูปร่างอาจารย์ไม่เปลี่ยนไปเลย แต่ฝ่ายอาจารย์โต้กลับไปว่า “แต่คุณเปลี่ยนไปนะ” ฝ่ายศิษย์เลยชี้แจง “ก็งานบ้านี่…” รูปประโยคยังไม่ทันจบดีเขาเปลี่ยนเรื่อง ราวกับไม่อยากสาธยายต่อ

“ผมขอถามอาจารย์ข้อหนึ่งก่อนได้ไหมครับ…แล้วเดี๋ยวจะถามอีกหลายๆ ข้อในเรื่องอื่นๆ… คือตอนเขียนเรียงความ อาจารย์ให้ผม 3 คะแนนทุกครั้ง เพราะผมลอกคนอื่น แต่ครั้งหนึ่งอาจารย์ให้ผม 5 เพราะอะไรหรือครับ”

“ก็เพราะว่าคุณลอกของนักเขียนที่ฉลาดกว่าคนก่อนๆ น่ะสิ”

พนักงานอัยการหัวเราะ “การใช้ภาษา ผมค่อนข้างอ่อนวิชาการใช้ภาษา แต่ก็อย่างที่อาจารย์เห็น มันไม่ใช่ปัญหาใหญ่โตอะไร ผมอยู่ที่นี่ ในตำแหน่งอัยการ…”

“การใช้ภาษาไม่ใช่การใช้ภาษา แต่มันคือการใช้เหตุผล” อาจารย์พูด “ถ้าอ่อนเรื่องการใช้ภาษามากกว่านี้คุณคงยิ่งมีตำแหน่งสูงขึ้น”

บทสนทนาข้างต้นนี่แหละ รวบยอดสิ่งที่ผมเล่ามาทั้งหมด


หมายเหตุ: สามารถยืมหนังสือเล่มนี้ได้ฟรีในโครงการอ่านเปลี่ยนโลก https://form.jotform.com/221880458508462 

The post “เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล appeared first on คณะก้าวหน้า.

]]>
https://progressivemovement.in.th/article/common-school/8270/feed/ 7
จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย https://progressivemovement.in.th/article/8264/?utm_source=rss&utm_medium=rss&utm_campaign=thanathorn-letter-on-decentralisation-bill https://progressivemovement.in.th/article/8264/#comments Sun, 13 Nov 2022 09:21:42 +0000 https://progressivemovement.in.th/?p=8264 ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ: "พวกเราเชื่อว่าหากประเทศไทยไม่จัดการเรื่องปัญหาการกระจายอำนาจ ไม่ให้อิสระกับท้องถิ่น เราจะไม่มีวันไปไกลกว่านี้ได้"

The post จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย appeared first on คณะก้าวหน้า.

]]>


เมื่อไหร่ประเทศไทยจะพ้นจากการเป็นประเทศ “กำลังพัฒนา”?

ตลอดเวลากว่า 4 ปีที่ผมและชาวอนาคตใหม่ เริ่มทำงานการเมืองมา ทุกจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ที่เราเดินทางไป เราได้เห็นคนเก่ง เห็นสถานที่ที่สวยงามตระการตา เห็นศักยภาพของผู้คน เห็นโอกาสทางเศรษฐกิจมากมายที่ทำให้เราตั้งคำถามว่า เหตุใดประเทศไทยจึงไม่สามารถไปได้ไกลกว่านี้ ทำไมเราจึงเป็นประเทศกำลังพัฒนา รายได้ปานกลาง มาตลอดหลายสิบปี

คำตอบที่ผมได้รับจากประสบการณ์ของผมเอง และจากการพูดคุยกับประชาชนหลากหลายกลุ่ม ก็คือ ระบบราชการ การบริหารแบบรัฐรวมศูนย์ของไทยนั่นเอง ที่ล่ามโซ่ตรวนประเทศไทยเอาไว้ ไม่ว่าเราจะมีของดีเท่าไหร่ แต่ขาดคนบริหารที่มองเห็นและเข้าใจของดีเหล่านั้น การแก้ปัญหาที่ล่าช้า นโยบายที่ไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชน คนรู้วิธีแก้ปัญหากลับไม่มีงบประมาณและอำนาจในการแก้ปัญหา ต้องรอคำสั่งจากส่วนกลางที่นั่งในห้องแอร์

พวกเราเชื่อว่าหากประเทศไทยไม่จัดการเรื่องปัญหาการกระจายอำนาจ ไม่ให้อิสระกับท้องถิ่น เราจะไม่มีวันไปไกลกว่านี้ได้

พวกเราคณะก้าวหน้าจึงได้รณรงค์ #ขอคนละชื่อปลดล็อกท้องถิ่น ซึ่งเป็นกิจกรรมเชิญชวนบุคคลผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เพื่อขจัดอุปสรรคในการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญปัจจุบัน

การกระจายอำนาจเพื่อคืนอำนาจให้ท้องถิ่นและยุติรัฐราชการรวมศูนย์ เป็นกุญแจดอกเดียวที่จะปลดล็อกปัญหา ไม่ใช่แค่รับประกันว่าผู้บริหารท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง แต่ยังทำให้ท้องถิ่นมีอำนาจเต็มในการจัดทำบริการสาธารณะในพื้นที่ทุกเรื่อง ยกเว้นแค่เรื่องกองทัพ และเงินตรา รวมถึงยังได้เสนอให้มีการแก้ไขปัญหาอำนาจที่ทับซ้อนกันระหว่างราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น โดยให้ภารกิจการจัดทำบริการสาธารณะในพื้นที่เป็นภารกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก่อน และเพิ่มอำนาจการตรวจสอบและการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ นอกจากนี้ยังเสนอให้เพิ่มรายได้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้มีงบประมาณและมีอิสระมากขึ้นในการจัดทำบริการสาธารณะ ตอบสนองความต้องการของประชาชน

เมื่อเป็นเช่นนั้น สามารถ #ปลดล็อกท้องถิ่น ได้ ศักยภาพที่ถูกกดทับอยู่ในพื้นที่ต่างๆ จะถูกระเบิดพลังออกมา เปรียบเหมือนการยกก้อนหินที่กดทับ 77 จังหวัดออกไป ปลดปล่อยประเทศไทยให้พุ่งทะยานไปข้างหน้า

ตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่พวกเรารณรงค์รับรายชื่อจากประชาชนทั่วประเทศ จัดเวทีรณรงค์ใน 30 จังหวัด มีประชาชนทุกพื้นที่ทั่วประเทศร่วมลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญกับพวกเราทั้งสิ้น 80,772 รายชื่อ และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบรายชื่อ มีเอกสารครบถ้วน จำนวน 76,591 รายชื่อ

ทั้งหมดนี้พิสูจน์ให้เห็นว่า มีประชาชนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารราชการของประเทศ อยากเห็นการกระจายอำนาจที่สมบูรณ์เกิดขึ้นในประเทศไทย ยิ่งไปกว่านั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะเป็นการหาข้อตกลงร่วมกันจากประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่าย เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แต่เป็นเรื่องประโยชน์ของการบริหารราชการแผ่นดิน เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และต่อประเทศไทย

ขณะนี้ ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นประชาชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 เรียบร้อยแล้วและกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในวันที่ 29-30 พฤศจิกายน 2565 ผมจึงขอให้พี่น้องประชาชน รวมถึงนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาฯ และข้าราชการท้องถิ่นทุกท่าน ช่วยกันรณรงค์ และส่งเสียงเรียกร้องไปยังสมาชิกรัฐสภา ให้ลงคะแนนรับหลักการร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้

หากการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้สำเร็จ คนที่ได้ประโยชน์ไม่ใช่นายกฯท้องถิ่น ไม่ใช่ข้าราชการท้องถิ่น แต่คือประชาชนคนไทยทั้ง 77 จังหวัด ที่จะได้ปลดปล่อยศักยภาพของท้องถิ่นตัวเอง พาประเทศไทยไปให้ไกลกว่านี้ ก้าวหน้า และก้าวไกลกว่านี้


ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
13 พฤศจิกายน 2565

The post จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย appeared first on คณะก้าวหน้า.

]]>
https://progressivemovement.in.th/article/8264/feed/ 4
เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง” https://progressivemovement.in.th/article/common-school/8228/?utm_source=rss&utm_medium=rss&utm_campaign=royal-army-connection https://progressivemovement.in.th/article/common-school/8228/#comments Wed, 09 Nov 2022 01:30:15 +0000 https://progressivemovement.in.th/?p=8228 "ทหารสายวัง" เป็นชื่อเล่นของเครือข่ายทหารที่ใกล้ชิดกับสถาบันกษัตริย์ และบังเอิญดันมีบทบาททางการเมืองสูงในรอบ 30 ปีที่ผ่านมาด้วย ชื่อของทหารเสือราชินี ในสมัยรัชกาลที่ 9 และทหารคอแดงในสมัยรัชกาลที่ 10 มีบทบาทและผลกระทบต่อการเมืองสังคมไทยอย่างไร

The post เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง” appeared first on คณะก้าวหน้า.

]]>
ทหาร มีผลกระทบสำคัญต่อสังคมและการเมืองไทยตลอดมาในหลากหลายมิติ ยิ่งเมื่อถึงวงล้อช่วงสิ้นปีงบประมาณเก่า ก้าวขึ้นสู่ปีงบประมาณใหม่ กองทัพมักจะได้รับความสนใจจากสังคมในวงกว้างอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายแม่ทัพนายกอง หรือ ประเด็นเรื่องงบประมาณที่กองทัพได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลสูงเป็นหน่วยงานต้นๆ ของประเทศ 

แต่นั่นไม่ได้เป็นเพราะประเทศไทยมีศึกสงครามหรือศัตรูจากภายนอกอยู่ตลอดเวลา หากเป็นเพราะทหารเข้ามาอยู่ในปริมณฑลทางการเมือง และมีศักยภาพที่จะล้มรัฐบาลพลเรือนที่ได้รับเลือกมาจากเสียงของประชาชน

ตลอดการเดินทางของประชาธิปไตยไทย ทหารเป็นผู้เล่นสำคัญที่คอยตัดตอนการเมืองผ่านการรัฐประหารอยู่เสมอ แต่ไหนแต่ไรเราก็มักจะเห็นภาพการสัมภาษณ์ทหารยศใหญ่เกี่ยวกับความเห็นทางการเมือง ทั้งๆ ที่สถาบันทหาร หรือทหารอาชีพไม่ควรจะมีบทบาทอะไรในงานบริหารของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเลย

ชื่อของกลุ่มทหารอย่างวงศ์เทวัญ บูรพาพยัคฆ์ หรือแม้แต่กลุ่มอดีตนักเรียน จปร. รุ่นต่างๆ ที่ผนึกรวมพลังกัน แม้จะมีบทบาทมากน้อยแตกต่างกันไป แต่กลุ่มทหารเหล่านี้ก็มักจะถูกพูดถึงในฐานะตัวแปรทางการเมืองเสมอ แต่ต้องยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า ปัจจัยเกื้อหนุนที่ทำให้นายทหารสักคน หรือ กลุ่มทหารกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดดเด่นในบทบาททางการเมืองขึ้นมา รักษาอำนาจ หรือยืนระยะอยู่ได้ในอำนาจ มักเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการมีพลังสนับสนุน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งพลังสนับสนุนที่สำคัญมาเสมอในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ของขุนศึก หรือเหล่าทหารหาญก็คือ ศักดินา 

บางช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ขุนศึกก็คือผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดันศักดินาให้ก้าวขึ้นมามีบทบาท บางช่วงเวลาศักดินาก็ช่วยสนับสนุนขุนศึกให้สามารถดำรงฐานะต่อไปได้ แน่นอนว่าความสัมพันธ์ระหว่าง ขุนศึก และศักดินา มีพลวัตไม่หยุดนิ่ง ตามแต่บริบททางการเมือง สังคม เศรษฐกิจของสังคมไทย รวมถึงบริบทของสังคมโลกด้วย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้งสองฝ่ายเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญต่อกัน

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ได้มีงานศึกษาบทบาทและการที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ขึ้นมาเป็นศูนย์กลางของชนชั้นนำไทย ขึ้นมามีอำนาจนำ เช่น หนังสือ ‘กว่าจะครองอำนาจนำ’ ของอาสา คำภา โดยการศึกษาข้อมูลทำนองนี้ก็พบว่า เครือข่ายแวดล้อมของในหลวงรัชกาลที่ 9 มีส่วนสำคัญต่อการขึ้นมามีอำนาจนำ ของพระองค์ เป็นเครือข่ายซับซ้อนและขยายกว้างใหญ่ ครอบคลุมไปถึงคนจำนวนมาก เกษียร เตชะพีระ เรียกกลุ่มก้อนเหล่านี้ว่า  “เครือข่ายในหลวง” ซึ่งภายในเครือข่ายประกอบไปด้วย ข้าราชการสายวัง ตำรวจสายวัง ทหารสายวัง ฯลฯ

ด้วยเหตุนี้ จึงมีความจำเป็นที่เราต้องทำความเข้าใจและศึกษา “ทหารสายวัง” ในฐานะองค์ประกอบที่สำคัญและมีบทบาทสูงกลุ่มหนึ่งของ “เครือข่ายในหลวง” เพื่อทำความเข้าใจชนชั้นนำไทย ที่มีส่วนกำหนดความเป็นไปของสังคมการเมืองไทยมาเสมอ

แม้ว่าจะเปลี่ยนรัชสมัยแล้ว แต่ทหารสายวังก็ยังเป็นกลุ่มที่มีบทบาทและมีพลังในรัชสมัยใหม่ ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง และดูจะยิ่งเป็นกลุ่มก้อนที่มีบทบาทเด่นชัดมากขึ้นด้วยซ้ำ เพราะบุคคลที่ใกล้ชิดแวดล้อมพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ล้วนแล้วแต่เป็นนายทหารหรืออดีตนายทหารแทบทั้งหมด

ยิ่งไปกว่านั้น บทบาทของกองทัพในฐานะที่ควรจะดำเนินไป ในโลกสมัยใหม่บนหลักการประชาธิปไตยคือเป็น ‘กองทัพของประชาชน’ แต่กลับกลายเป็นว่ากองทัพไทยมักถูกประชาชนตั้งคำถามมาโดยตลอดเพราะกองทัพไทยก็ยังไม่เคยเป็น ‘กองทัพของประชาชน’ ได้เสียที กลายเป็นข้อถกเถียงสาธารณะ ตั้งแต่คำถามที่ว่า กองทัพมีไว้ทำไม เหตุใดการแต่งตั้งแม่ทัพนายกองถึงได้รับความสนใจอยู่เสมอ งบประมาณที่สูงลิ่วเกินกว่าหน่วยงานอื่นๆ ในประเทศ ไปจนถึงการล้มรัฐบาลพลเรือนผ่านรัฐประหาร ทั้งๆ ที่ผ่านมาจนศตวรรษที่ 21 แล้ว เหตุใดจึงยังเป็นเช่นนั้นอยู่ คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่ควรค่าแก่การหาคำตอบอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม เครือข่ายทหารสายวังที่มีบทบาทสูงในช่วงหลังและมีแนวโน้มจะมีบทบาทสูงในการเมืองไทยปัจจุบันและในอนาคตด้วยนั้น พบว่า ประกอบไปด้วย 2 เครือข่ายในสองรัชสมัย ประกอบด้วย ทหารเสือพระราชินี ในรัชสมัยรัชกาลที่ 9 และทหารคอแดง ในรัชสมัยรัชกาลที่ 10 


ก่อกำเนิด “ทหารเสือราชินี” 

หลักสูตรทหารเสือของกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (พระราชินีในสมัยในหลวงรัชกาลที่ 9) เป็นหลักสูตรทางทหารพิเศษ ใช้ครูฝึกของหน่วยทำการฝึกเป็นหลัก โดยกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ได้รับอนุมัติจากกองทัพบก ให้ดำเนินการฝึกหลักสูตรทหารเสือ เพื่อเป็นการสนองในพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง องค์ผู้บังคับการพิเศษของกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ฯ พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ให้กำลังพลของหน่วยได้รับการฝึกพิเศษเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ทุกรูปแบบทุกสภาพ ภูมิประเทศ มีจิตใจกล้าหาญ ซื่อสัตย์ และมีความจงรักภักดี ซึ่งได้ดำเนินการฝึกมาตั้งแต่ปี 2524 นายทหารที่เป็นผู้ก่อตั้งหลักสูตรทหารเสือ คือ พันโทณรงค์เดช นันทโพธิ์เดช อดีตผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ โดยเป็นผู้อำนวยการฝึกคนแรกด้วย

แต่เดิม หลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้เข้าฝึกคือ ต้องเป็นกำลังพลนายทหารสัญญาบัตรและนายทหารประทวน ที่รับราชการ อยู่ในหน่วย ของกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ โดยผ่านการทดสอบร่างกาย การสัมภาษณ์ และตรวจโรค สำหรับการจัดกำลังเข้ารับการฝึก ภายหลังเปิดให้หน่วยขึ้นตรงของกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ เข้ามาฝึก ได้แก่ กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่ 12 รักษาพระองค์ รวมถึงนายทหาร นายตำรวจ และกำลังพลจากหน่วยอื่นเข้ามาฝึกแต่ต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยต้นสังกัด หลักสูตรทหารเสือดำเนินการฝึก 2 ปี ต่อ 1 รุ่น ระยะเวลาในการฝึกทั้งสิ้น 16 สัปดาห์1

ในหนังสือ เส้นทางพยัคฆ์ ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากทหารเสือ สู่หลังเสือ ของวาสนา นาน่วม นักข่าวสายทหาร ได้เขียนเล่าการก่อกำเนิดทหารเสือราชินีไว้ว่า ช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงเมื่อครั้นทรงดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงรับสั่งให้ พันโทณรงค์เดช นันทโพธิ์เดช และ พลเอกอาชวินทร์ เศวตรเศรณี ไปหากำลังทหารมาอารักขา เพราะในเวลานั้นหวั่นเกรงกันเรื่องภัยคอมมิวนิสต์ พันโทณรงค์เดชทำหน้าที่ไปพูดคุยกับนักเรียนโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) ไม่นานนัก นักเรียนนายร้อยนับร้อยๆ คนก็ยินดีอาสาถวายอารักขา เล่ากันว่าในจำนวนนี้มีนักเรียนนายร้อย ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมอยู่ด้วย หลังวิกฤติคลี่คลาย สมเด็จพระนางเจ้าฯ จึงทรงมีรับสั่งให้ พันโทณรงค์เดช จัดตั้งทหารเสือราชินีขึ้นมา ซึ่งพันโทณรงค์เดช ยังได้ดึง ประวิตร วงษ์สุวรรณ ขณะนั้นเป็น รอง ผบ.21 พัน 2 รอ. และอนุพงษ์ เผ่าจินดา ตอนนั้นดำรงตำแหน่งเป็นฝ่ายอำนวยการ 2 (ฝอ.2) และประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นรองผู้บังคับกองร้อยอาวุธเบาที่ 3 ร.21 พัน 1 รอ. มาช่วยกันตั้งทหารเสือราชินี โดยช่วยกันเป็นครูฝึกทหารเสือราชินีรุ่นแรก โดยที่ พันโทณรงค์เดช เป็นผู้ร่างหลักสูตรการฝึกทหารเสือราชินี 

นอกจากจะเป็นหน่วยในสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่พระองค์ทรงก่อตั้งขึ้นแล้วนั้น พระองค์ยังทรงดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกรมพิเศษ และทรงทูลขอพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (ในหลวงรัชกาลที่ 9) ในการเปลี่ยนชุดทหารรักษาพระองค์ประจำหน่วยนี้ จากสีแดงเป็นสีม่วง ซึ่งเป็นสีประจำพระองค์

อีกทั้งกรมยังได้รับพระราชทานสมญานามจากสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงว่าคือหน่วย “ทหารเสือนวมินทราชินี” หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “ทหารเสือราชินี” นั่นเอง



“ทหารเสือราชินี” มรดกต่างหน้าจากพันโทผู้ล่วงลับ

อย่างไรก็ตามในวันที่ 22 พฤษภาคม 2528 พันโทณรงค์เดช นันทโพธิ์เดช ได้เสียชีวิตลงที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ภายหลังจากที่เดินทางไปเรียนหลักสูตรเสนาธิการทหารบก สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงรับศพไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์โดยตลอด ทั้งยังเสด็จพระราชดำเนิน พระราชทานเพลิงศพด้วยพระองค์เอง อีกทั้งพระองค์ยังได้ทรงถ่ายทอดคำอาลัยไว้ในหนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ พ.ท. ณรงค์เดช นันทโพธิ์เดช ความว่า 

“ณรงค์เดช…ขอบใจสำหรับทุกๆ สิ่งที่ณรงค์เดชเคยปฏิบัติมาเพื่อชาติและราชบัลลังก์ เราผ่านทุกสิ่งทุกอย่างมาด้วยกัน ทั้งทุกข์และสุขเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน เธอได้ทำทุกอย่างครบถ้วนแล้วตามคำสัตย์ปฏิญาณ ขาดเพียงข้อเดียวเท่านั้น ณรงค์เดชจำได้ไหม ที่ฉันเคยบอกเธอว่า เมื่อฉันหมดภารกิจ ฉันจะไปปฏิบัติธรรมที่วัด เธอยังสัญญาว่าจะไปเยี่ยมและจะได้ไปฟังธรรมด้วย ณรงค์เดช ข้อนี้ข้อเดียวที่เธอ ผิดสัญญา”

นอกจากนี้ ยังมีข้อความจากพันโทณรงค์เดช ที่เขียนกลอนในบัตรรูปดอกกุหลาบส่งมาถวาย ขณะที่เรียนเสนาธิการทหารบก เขาเขียนกลอนบทนี้ โดยแปลงถ้อยคำของเพลง จากยอดดอย ที่เขาแต่งขึ้นเอง

“คิดถึงยอดหฤทัยใจจะขาด แต่ไม่อาจไปตามความเป็นห่วง โพ้นขอบฟ้ามีศรัทธากล้าทั้งดวง ถึงแดนสรวงด้วยภักดีชีวีวาย” 

โดยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระอักษรไว้ในหนังสือพระราชทานเพลิงศพพันโทณรงค์เดช นันทโพธิ์เดช ไว้ด้วยว่า “ณรงค์เดช เราภาคภูมิใจที่เขาเป็นทั้งกวี และนักรบที่สามารถ”2

นอกจากนี้ บรรดาทหารเสือราชินีต่างก็ล้วนให้ความเคารพรักแก่ พันโทณรงค์เดช ในฐานะผู้ก่อตั้งหลักสูตรทหารเสือราชินี และเป็นนายทหารที่ทำให้ หน่วยทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยอย่างมากจากสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง3

อีกทั้งยังมีผู้ที่เคยกล่าวเปรียบเปรยความสัมพันธ์ระหว่างหลักสูตรทหารเสือราชินี และพันโทณรงค์เดชเอาไว้ว่า หลักสูตรทหารเสือราชินี นี้คือ การสร้างให้นายทหารเป็นเสมือนผู้พันณรงค์เดช ผู้ล่วงลับ4

นับตั้งแต่สมัย พันโทณรงค์เดชยังอยู่และภายหลังเสียชีวิต หน่วยทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์มีความใกล้ชิดพระบรมวงศานุวงศ์โดยเฉพาะสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงเป็นอย่างมาก และยังมีบทบาทสำคัญในการอารักขาสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง  และพระบรมวงศานุวงศ์ในรัชสมัยในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วย และทหารเสือราชินียังมีหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือหน่วยงานของพระองค์ในกรณีที่เวลาน้อย หรือมีราษฎรมาเข้าเฝ้าฯ เป็นจำนวนมาก เช่น การตรวจสอบประวัติ จัดระเบียบ เพื่อให้มีความคุ้นเคยกับราษฎร หรืองานอื่นที่ต้องการความช่วยเหลือ ก็จะจัดส่วนหนึ่งไปปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชประสงค์5


“3 ป.” รุ่นน้องของณรงค์เดช และดุลอำนาจสำคัญของกองทัพ

นายทหารที่เติบโตมาในหน่วยทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ จึงมีความใกล้ชิดและ ถวายงานรับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทเป็นอย่างมาก ไม่เว้นแม้แต่ ประยุทธ์ จันทร์โอชา อนุพงษ์ เผ่าจินดา ซึ่งสองนายทหารผู้นี้เติบโตบนเส้นทางทหารเสือราชินีมาโดยตลอด หรือแม้แต่ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ก็ได้เติบโตอยู่ในหน่วยทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ในช่วงแรกๆ เช่นเดียวกัน แต่ภายหลังพอขึ้นยศที่สูงขึ้นในการดำรงตำแหน่งเป็นผู้บังคับกองพัน ประวิตรได้ย้ายไปขึ้นตำแหน่งที่กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ก็ตาม

ต่อมานายทหารเหล่านี้ก็สามารถเติบโตในหน้าที่ราชการตามลำดับ จนสามารถขึ้นสู่ตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 หรือกระทั่งไปสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกได้ แม้ว่าก่อนหน้านี้ตำแหน่งเหล่านี้จะถูกผูกไว้กับ นายทหารสาย วงศ์เทวัญ ก็ตาม ดุลอำนาจของกองทัพเปลี่ยนมาอยู่ที่กลุ่มนายทหารภาคตะวันออก กลุ่มทหารเสือราชินี ที่มีหัวหอกคือ ประวิตร อนุพงษ์ และประยุทธ์ หรือที่เรียกกันว่า กลุ่ม 3 ป. และในระยะหลังไม่ได้มีแค่ทหารเสือราชินีเท่านั้น แต่นับรวมไปถึงสายบูรพาพยัคฆ์ ด้วย เพราะคำว่า ทหารสายบูรพาพยัคฆ์ คือทหารที่รับราชการและเติบโตอยู่ในกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ แถบภาคตะวันออก ทั้งนี้แม้ว่ากรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์จะอยู่เป็นกรมภายใต้การบังคับบัญชาของกองพลทหารราบที่ 2 ก็ตาม แต่โดยมากเฉพาะทหารจากกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ จะมักอยากเรียกตัวเองว่า ทหารเสือราชินี มากกว่าให้เรียกว่าเป็น บูรพาพยัคฆ์6


ทหารเสือราชินี กับ บทบาทการรัฐประหาร 

วาสนา นาน่วม สรุปเทียบ ระหว่างการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549  และ รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ไว้ว่าเป็นการแก้มือ แก้ตัว จากความผิดพลาดในการรัฐประหารเมื่อครั้งแรกก็ไม่ผิดนัก เพราะผู้อยู่เบื้องหลังการรัฐประหารครั้งนั้นและครั้งนี้ ล้วนเป็นตัวละครเดิมๆ หากแต่เปลี่ยนตัวละครนำ ให้เป็นไปตามห้วงเวลาที่เหมาะสม7

การพูดเช่นนี้ของนักข่าวสายทหารที่ใกล้ชิดกับนายทหารของกองทัพก็พอจะสะท้อนให้เห็นบทบาทของกองทัพต่อการเมืองไทย กลุ่มก้อนและเป้าหมายของพวกเขาที่ล้วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ฟังดูคล้ายทฤษฎีสมคบคิดที่ดูห่างไกลจากความจริง แต่ก็น่าคิดว่าหรือนี่อาจไม่ใช่ทฤษฎีสมคบคิด? แต่คือสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น  ยิ่งไปกว่านั้นบทบาทของตัวละครบางตัว กลุ่มก้อนบางกลุ่ม ที่อยู่ภายใต้ร่มใหญ่อีกชั้นหนึ่ง ที่ค่อยๆ ก่อตัวและสะสมอำนาจขึ้นมาอย่างมีพลวัต การเข้ามามีบทบาทในกองทัพของพวกเขา ไม่ใช่การปรากฎตัวในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น ไม่ได้เป็นเพียงอุบัติเหตุทางการเมือง หรือเป็นการตัดสินใจอย่างฉุกละหุก และปฏิเสธไม่ได้ว่าการรัฐประหารแต่ละครั้ง หากทำสำเร็จ ล้วนเป็น“รางวัล” ให้พวกเขาและบริวารรอบๆ ขึ้นมามีบทบาทสำคัญมากขึ้น รวมถึงการันตีการเข้าสู่เส้นทางอำนาจทั้งในฐานะผู้นำเหล่าทัพ หรือแม้แต่การเข้าสู่อำนาจทางการเมืองเหนือคู่แข่งกลุ่มอื่นๆ ด้วยก็ได้ แต่มากกว่านั้น พวกเขาก็อาจเป็นหมากตัวหนึ่ง (ที่สมประโยชน์) โดยมีผู้อำนวยการให้เกิดขึ้นเพื่อเป้าหมายในการจัดการพลังอำนาจกลุ่มใหม่ที่ขึ้นมาท้าทายอำนาจตามประเพณี

นอกจากนี้ ความน่าสนใจต่อมาคือ การรัฐประหารครั้งสุดท้ายในรัชสมัยในหลวงรัชกาลที่ 9 นั้น มีหัวหน้าคณะรัฐประหารคือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ได้เลือกวันรัฐประหารคือวันที่ 22 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันเสียชีวิตของพันโทณรงค์เดช นันทโพธิ์เดช นายทหารเสือราชินีผู้ล่วงลับอีกด้วย



ทหารเป็นทหารของใคร? 

คำถามที่ว่าทหารเป็นทหารของใคร อาจพบคำตอบได้จากปากคำของบุคคลสำคัญในกองทัพตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ว่าทหารระดับนำเอง พวกเขามีทัศคติและมีมุมมองเช่นใดต่อประเด็นนี้

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตผู้บัญชาการทหารบก อดีตประธานองคมนตรีสองรัชสมัย เคยพูดกับนักเรียนโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) เอาไว้เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2549 หรือก่อนเกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เพียงแค่ 2 เดือนเท่านั้น โดยเปรียบเทียบว่ารัฐบาลเหมือน Jockey ไม่ใช่เจ้าของทหาร เจ้าของทหารคือชาติและพระมหากษัตริย์

และล่าสุด เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2565 พล.อ. ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการหน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 (ฉก.ทม.รอ.904) นำนายทหารชั้นนายพลจำนวน 179 นาย ถวายสัตย์ปฏิญาณตนต่อหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 ความว่า

“ข้าพระพุทธเจ้าจะรักษามรดกของท่านไว้ด้วยชีวิต”


“ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม ตามที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ปวงข้าพระพุทธเจ้าที่มารวมตัวกัน ณ ที่นี้ ดำรงตำแหน่งที่สำคัญและพระราชทานยศชั้นนายพลของกองทัพบกนั้น นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ และเป็นเกียรติยศอันสูงยิ่งของการรับราชการ ตลอดห้วงระยะเวลาที่ผ่านมา ปวงข้าพระพุทธเจ้าต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระราชทานกำเนิดโรงเรียนนายร้อยฯ แห่งนี้ขึ้น ทั้งยังทรงมีพระเมตตาให้ทรงรับและเปิดโอกาสให้ลูกหลานของประชาชนชาวไทยทั่วไปได้เข้าไปศึกษาเล่าเรียนโดยไม่แบ่งชั้นวรรณะ เพื่อให้ได้เข้ารับราชการสนองพระเดชพระคุณ ช่วยกันปกปักรักษาเอกราชอธิปไตยของประเทศชาติและราชอาณาจักรไทย ให้อยู่จนมาทุกวันนี้ นอกจากนั้น ปวงข้าพระพุทธเจ้ายังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ที่ได้พระราชทานกระบี่และพระราชทานยศนายทหารสัญญาบัตรมาตลอดห้วงเวลารับราชการที่ผ่านมา พระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่องค์พระมหากษัตริย์ องค์จอมทัพไทยแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์มีต่อปวงข้าพระพุทธเจ้านั้น ปวงข้าพระพุทธเจ้าจักสำนึกจะเทิดทูนไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อม พร้อมทั้งขอถวายสัตย์ปฏิญาณที่จะจงรักภักดี จะยอมอุทิศตนพร้อมเสียสละเลือดเนื้อและชีวิตเพื่อปกป้องและรักษาไว้ซึ่งอธิปไตยของประเทศชาติ ราชอาณาจักรแห่งนี้ และจักเทิดทูนและรักษาไว้ซึ่งพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์เจ้าแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ จนกว่าชีวิตจะหาไม่”8

คำพูดของอดีตประธานองคมนตรีสองแผ่นดินและการปฏิญาณตนของนายพลเหล่านี้ที่นำโดยผู้บัญชาการทหารบกคนปัจจุบัน สะท้อนเบื้องหลังวิธีคิดและสำนึกต่อการเป็นทหารว่าพวกเขาเป็นทหารของใครและต้องการรักษาอะไร และอะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดในการทำหน้าที่ของพวกเขา คำถามที่น่าถามกลับไปคือหากเป็นเช่นนั้น มีประชาชนอยู่ในสมการด้วยหรือไม่

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี เคยเขียนไว้ว่า สถาบันกษัตริย์และกองทัพเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันชนิดแยกไม่ออกมาแต่ไหนแต่ไร หน้าที่สำคัญที่สุดของกองทัพคือ การปกป้องสถาบันกษัตริย์และถวายความปลอดภัยให้กับตัวกษัตริย์ ราชินีและพระบรมวงศานุวงศ์ ในปัจจุบันซึ่งปลอดจากสงครามจึงอาจจะถือได้ว่า กองทัพมีเพียงภารกิจนี้เท่านั้นอยู่สูงสุด กองทัพจะทำทุกอย่างเพื่อปกป้องกษัตริย์ตั้งแต่การรัฐประหารไปจนถึงข่มขู่ คุกคาม จับกุมคุมขัง และอาจแม้กระทั่งสังหารประชาชนที่เชื่อว่าเป็นภัยคุกคามต่อสถาบัน9

สุภลักษณ์ยังได้อธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์และกองทัพใน 2 ส่วนคือ ส่วนแรกคือหน่วยงานราชการในพระองค์ ซึ่งอยู่ภายใต้พระราชอำนาจโดยตรง10  และ สอง ส่วนของราชการกองทัพ ซึ่งกษัตริย์ได้สร้างความสัมพันธ์ผ่านเครือข่ายที่สร้างขึ้นมาใหม่11


หน่วยงานราชการในพระองค์ อยู่ใต้พระราชอำนาจโดยตรง

แต่เดิม กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ เป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักผู้บัญชาการทหารสูงสุด กองบัญชาการกองทัพไทย จนกระทั่งในปี 2556 สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ได้ยกฐานะหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ เป็นนิติบุคคล ระดับกรม สังกัดกระทรวงกลาโหม โดยในหลวงรัชกาลที่ 10 ขณะยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการ และเมื่อมาถึงในช่วงปี พ.ศ. 2562 ก็ได้มีการโอนกรมทหารทั้งสองไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ ในสมัยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ถูกแต่งตั้งโดย คสช. รวมถึงได้มีการออก พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 ให้มีการจัดระเบียบบริหารราชการในพระองค์และการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ กำหนดให้มี หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ เป็นหน่วยราชการในพระองค์12 ซึ่งในปัจจุบันมีผู้บัญชาการคือในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงดำรงตำแหน่งด้วยพระองค์เอง และมีรองผู้บัญชาการคือ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พระบรมราชินี ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พระบรมราชินี ทรงเคยทำหน้าที่ก่อนหน้านี้คือเป็นผู้บังคับกองผสมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ถวายการแสดงทหาร ในปี 2559 โดยมียศในขณะนั้นคือ พลโทหญิง สุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา

รวมถึงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี ก็ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้โอนย้ายจากตำแหน่งอัยการผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานอัยการสูงสุด มาทรงดำรงตำแหน่ง เสนาธิการกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ในปี 2564  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ด้วย

ทั้งนี้ มีนายทหารและนายตำรวจที่ทำงานรับใช้ใกล้ชิดได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในหน่วยงานนี้ด้วย อาทิ พลเอกจักรภพ ภูริเดช พลตำรวจเอกอรรถกร ทิพยโสธร พลอากาศเอกชาญชาย เกิดผล พลเรือเอกปวิตร รุจิเทศ ซึ่งทั้งหมดมีตำแหน่งเป็นรองผู้บัญชาการ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ และเป็นที่น่าสังเกตว่านายทหาร นายตำรวจที่ใกล้ชิดเหล่านี้ นอกจากได้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวแล้ว จะได้ดำรงตำแหน่งรักษาการหรือดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการสำนักงานที่แบ่งแยกย่อยลงมาภายในจำนวน 5 สำนักงาน เพิ่มอีกหนึ่งตำแหน่งด้วย

นอกจากนี้ยังเคยมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดพระมหากษัตริย์จึงทรงดำรงตำแหน่งผู้บังคับบัญชาด้วยพระองค์เอง มีความเป็นไปได้ในทางหนึ่งว่า หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์เมื่อสมัยสังกัดกองบัญชาการกองทัพไทย ซึ่งอยู่ในรัชสมัยในหลวงรัชกาลที่ 9 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (พระราชอิสริยยศในขณะนั้น) ได้ทรงรับราชการ เติบโตเลื่อนขั้นจนกระทั่งได้ทรงดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการในที่สุด ส่งผลให้อาจมีความผูกพันและทรงเล็งเห็นว่าเป็นหน่วยงานที่สำคัญก็เป็นได้


5 สำนักงานย่อยของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์

ทั้งนี้โครงสร้างของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ภายในยังได้มีการแบ่งเป็นสำนักงานจำนวน 5 สำนักงาน13 โดยแต่ละสำนักงานภายในก็จะมีการแบ่งแยกย่อยเป็นกรม เป็นแผนกย่อยลงไปด้วย มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าการแบ่งหน่วยเช่นนี้ มีลักษณะคล้ายเป็นกองทัพอีกเหล่าทัพหนึ่งเลยหรือไม่?

อีกหนึ่งข้อสังเกตคือ กำลังพลภายในหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยในปัจจุบันมีทั้งที่ครองยศแบบทหารบก ทหารอากาศ ตำรวจ หรือทหารเรือ แต่กำลังพลเหล่านี้จะอยู่ในสำนักงานเดียวกันโดยไม่แยกว่าครองยศของเหล่าไหน อีกทั้งไม่ทราบแน่ชัดว่าแต่ละส่วนมีกำลังพลจำนวนเท่าใด 

  1. สำนักงานผู้บังคับบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ มีรักษาการผู้บัญชาการคือ พลอากาศเอกชาญชาย เกิดผล ซึ่งยังทำหน้าที่เป็นพระอภิบาลประจำพระองค์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ อีกหน้าที่หนึ่งด้วย
  2. สำนักงานฝ่ายเสนาธิการในพระองค์ เคยมีผู้บัญชาการคือ พลอากาศเอกอำนาจ จีระมณีมัย แต่ภายหลังได้ถูกโอนย้ายไปเป็นรองเลขาธิการพระราชวังฝ่ายปฏิบัติการ ระดับ 11 และย้ายให้พลเรือเอกปวิตร รุจิเทศ ดำรงตำแหน่งแทน ซึ่งพลเรือเอกปวิตร รุจิเทศ ยังทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทานอีกหน้าที่หนึ่งด้วย
  3. สำนักงานนายทหารปฏิบัติการพิเศษในพระองค์ ก่อนหน้านี้มี พลเรือเอกปวิตร รุจิเทศ ดำรงตำแหน่งรักษาการผู้บัญชาการสำนักงาน มีความเข้าใจว่าหน่วยงานย่อยนี้ใช้ทรัพยากรบุคคลมาจากกรมราชองครักษ์เดิม โดยผู้บริหารจากกรมราชองครักษ์เดิมก็ได้รับการโปรดเกล้าให้มาอยู่ที่หน่วยนี้ อาทิ พลเอกพงษ์เทพ กนิษฐานนท์ รองสมุหราชองครักษ์ ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการสำนักงานฯ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2560 พร้อมกับนายทหารในกรมราชองครักษ์อีก 43 นาย14
  4. กองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ นั้นมีผู้บัญชาการคือ พลเอกจักรภพ ภูริเดช
  5. กองบัญชาการนายตำรวจราชองครักษ์ในพระองค์ นั้นมีรักษาการผู้บัญชาการคือ พลตำรวจเอกอรรถกร ทิพยโสธร

นอกจากนี้ การเป็นข้าราชการในพระองค์และการเป็นข้าราชการในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือกองทัพเอง มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน บางช่วงเวลาข้าราชการเหล่านี้เติบโตในหน่วยงานราชการหลักมาก่อน แต่เมื่อถึงช่วงเวลาหนึ่งอาจจะได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นข้าราชการ สังกัดหน่วยงานในพระองค์ เช่น อรรถกร ทิพยโสธร15 เคยเป็นนายตํารวจราชสํานักประจําและได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้เป็นผู้บัญชาการนายตํารวจราชสํานักประจํา สํานักงานตํารวจแห่งชาติ หลังจากนั้นอีก 1 ปี ก็ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นรองผู้บัญชาการ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ และได้รับพระราชทานยศพลตำรวจเอก (อัตราพลตำรวจเอกพิเศษ)

หรืออย่างกรณี ธรรมนูญ วิถี16 ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก หนึ่งใน 5 เสือ ทบ. ได้รับการโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 ได้เป็นข้าราชการในพระองค์ฝ่ายทหารในตำแหน่ง นายทหารปฏิบัติการประจำสำนักงานผู้บัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ กองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ (อัตรา พลเอก) หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2564 ได้เป็นรองผู้บัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (1) กองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ (อัตรา พลเอก) ซึ่งมีผู้บังคับบัญชาคือ จักรภพ ภูริเดช


ส่วนราชการกองทัพ ซึ่งกษัตริย์ได้สร้างความสัมพันธ์ผ่านเครือข่ายที่สร้างขึ้นใหม่17

เมื่อเปลี่ยนรัชสมัยใหม่ๆ ได้มีคู่มือ ‘กองทัพบกตามพระราโชบาย’ ถูกเผยแพร่ภายในกองทัพช่วงที่ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท เป็นผู้บัญชาการทหารบก (ปัจจุบัน พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท เป็นองคมนตรี) และคาบเกี่ยวมาสู่ยุคที่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เป็นผู้บัญชาการทหารบกและมีอีกตำแหน่งหนึ่งด้วยคือเป็นผู้บัญชาการหน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 (ผบ.ฉก.ทม.รอ. 904) (ปัจจุบันเป็นรองเลขาธิการสำนักพระราชวัง ระดับ11สังกัดหน่วยราชการในพระองค์) ในคู่มือกองทัพบกตามพระราโชบาย มีการระบุกฎเกณฑ์ของผู้เข้ารับราชการด้วยรายละเอียดยิบย่อยมากมาย อาทิ ต้องเคร่งครัดในระเบียบวินัย ผมสั้นข้างขาวตลอด การแต่งกายท่าทางการแสดงออกต้องเป๊ะ สมรรถภาพร่างกายต้องพร้อม ต้องไม่ทำให้ภาพพจน์กองทัพบกเสื่อมเสีย ถูกร้องเรียนหรือถูกถวายฎีกา ไม่แต่งกายครึ่งท่อนไปรับประทานอาหาร ไม่ไปอยู่ตามที่ไม่เหมาะสมในห้วงเวลาราชการ เช่น ร้านกาแฟ ต้องไม่เสพสุราจนเสียอาการ ผิดวินัยในเรื่องชู้สาว ต้องไม่มีเรื่องเสื่อมเสียลงสื่อโซเชี่ยล ทำผิดกฎจราจร ประพฤติตนไม่เหมาะสมโดนถ่ายประจาน ไม่มีพฤติกรรมกร่าง ต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับสิ่งผิดกฎหมาย ควรเสริมสร้างสมรรถภาพร่างกายและจิตใจให้พร้อม ประพฤติตนให้อยู่ในระเบียบวินัย  จะต้องยกระดับมาตรฐานเวรรักษาการณ์ ผู้ที่ที่กระทำผิดจะต้องได้รับโทษอย่างรุนแรง หนึ่งในข้อแนะนำในคู่มือแผนผังคือ หากกำลังพลถ้าไม่พร้อมควรรีบลาออกโดยเร็ว18

นอกจากนี้ ภายในกองทัพเองก็ได้มีเครือข่ายภายในเหล่าทัพด้วย และน่าจะกล่าวได้ว่าขณะนี้ได้เกิดเป็น “เครือข่ายเชิงสถาบัน” เกิดขึ้นแล้ว  ยิ่งไปกว่านั้นเครือข่ายเชิงสถาบันที่เกิดขึ้น กำลังจะกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในการพิจารณาเลื่อนตำแหน่งสำคัญภายในกองทัพเองด้วย 


ก่อกำเนิด ทหารคอแดง

มีการคัดเลือกนายทหารในเหล่าทัพต่างๆ เข้ามาอบรมหลักสูตรนายทหารสัญญาบัตรหน่วยทหารรักษาพระองค์ หรือที่เรียกกันว่า หลักสูตร  “ทหารคอแดง” สาเหตุที่เรียกว่านายทหารคอแดงเพราะทหารกลุ่มนี้จะใส่เสื้อยืดชุดฝึกสีขาวขลิบแดงที่คอและแขนเสื้อ ซึ่งจะต้องใส่ไว้ด้านในก่อนสวมทับด้วยเครื่องแบบทหาร และติดเครื่องหมายแสดงตนอย่างละเอียดตามระเบียบ และเมื่อจบหลักสูตร ทหารทุกคนต้องติดเครื่องหมายบอกเลขรุ่นและปีที่จบบนเครื่องแบบที่หน้าอก โดยใช้สีแสดงสัญลักษณ์ของกลุ่มที่ฝึก แรกเริ่มเดิมทีหลักสูตรทหารคอแดงเริ่มต้นกันในกองทัพบก จะมีการคัดเลือกนายทหารที่ “หน่วยก้านดี” เคยมีการรายงานข่าวว่า ผู้ที่เข้ารับการฝึกหลักสูตรนายทหารสัญญาบัตรหน่วยทหารรักษาพระองค์ได้นั้น จะคัดตัวจากหน่วยรักษาพระองค์ทั่วประเทศ ประมาณ 30 กองพัน โดยคัดจากนายทหารหลักที่จบจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (รร.จปร.) และทหารที่เลื่อนฐานะส่วนหนึ่ง กองพันละ 20 นาย ทหารเหล่านี้จะต้องเข้ารับการฝึกพื้นฐาน 2 เดือน และฝึกปฏิบัติ 1 เดือน ที่โรงเรียนทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ วังทวีวัฒนา นอกจากนั้นยังคัดจากนายสิบกองพันละ 50 นาย พลทหารกองพันละ 50 นาย เริ่มฝึกครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2560 จบรุ่นแรกจำนวน 150 นาย19 เข้าใจว่าทหารที่จบหลักสูตรรุ่นแรกนั้นมาจากกองทัพบกเหล่าเดียว แต่ในปัจจุบันได้ขยายไปคัดสรรทหารรักษาพระองค์จากเหล่าทัพอื่นๆ ด้วย ทั้งนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบการฝึกคือ โรงเรียนทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์20 วังทวีวัฒนา (รร.ทม.รอ.) อยู่ในสังกัด กองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งมี จักรภพ ภูริเดช หรือ call sign ว่า “นายค็อกเคทอง” เป็นผู้บัญชาการอยู่


ปรัชญา ‘ตุ๋นไข่พะโล้’ และ Siku รากฐานการฝึกทหารของ ทม.รอ.904

หลักสูตรการฝึกทหารคอแดง ได้รับพระราชทานปรัชญาแก่นกลางที่สำคัญในการฝึกของหลักสูตร มาจากแนวคิดของในหลวงรัชกาลที่ 10 คือปรัชญาการ Simmer หรือการตุ๋นไข่พะโล้ ทรงเปรียบเทียบการฝึกทหารเหมือนการตุ๋นไข่พะโล้ ให้มีรสชาติอร่อย แม่ครัวจะต้องนำไข่ต้มมาแกะปลอกเปลือก แล้วนำไปตุ๋นในน้ำพะโล้ โดยใช้ความร้อนและเวลาที่เหมาะสม น้ำพะโล้จึงจะค่อยๆ แทรกซึมเข้าไปยังเนื้อไข่ หากเร่งรีบเกินไป ผ่าไข่ออกมาก็จะเห็นเพียงภายนอกสีน้ำตาลและภายในสีขาว ก็เปรียบเสมือนการฝึกทหาร 

หรืออีกหนึ่งปรัชญาคือ ปรัชญารถ SIKU (ซิกู้เป็นชื่อยี่ห้อรถของเล่นจำลองขนาดเล็ก) เป็นรถที่ในหลวงรัชกาลที่ 10 พระองค์ทรงโปรดเมื่อครั้งทรงพระเยาว์ โดยพระองค์จะทรงเลือกรถซิกู้ชนิดเดียวกันหลายๆ คัน และจะทดสอบทุกคันด้วยพระองค์เอง หากคันใดไม่ได้มาตรฐาน ก็จะทรงถอดชิ้นส่วนมาปรับแต่ง ทดสอบจนกว่าจะได้มาตรฐาน เปรียบเสมือนครูฝึกต้องหมั่นสังเกต เคี่ยวเข็นผู้ได้รับการฝึกให้เรียนรู้และปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง21

หลักสูตรนี้ นอกจากการฝึกภาคสนามแล้ว ยังต้องมีการเรียนในชั้นเรียนด้วย จุดประสงค์เพื่อให้รู้ถึงประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของสถาบันหลักของชาติ โดยเฉพาะสถาบันกษัตริย์ เพื่อให้รับทราบแนวทางการประพฤติปฏิบัติตนของทหารรักษาพระองค์ การถวายความปลอดภัย ถวายพระเกียรติ การฝึกอบรมให้รู้ในหน้าที่ การวางตัว กริยา มารยาท ท่าทำความเคารพ เครื่องแต่งกาย ต้องมีความถูกต้องทุกกระเบียดนิ้ว นอกจากนั้นยังต้องท่องบทราชสวัสดิ์ในสมัยรัชกาลที่ 6  และคาถาธรรมเนียมต่างๆ ให้ขึ้นใจ เพื่อปลูกฝังจิตสำนึก เตือนใจและสติในการทำหน้าที่ของทหารรักษาพระองค์ให้ครบถ้วนสมบูรณ์22


หลักสูตรทหารคอแดง: ลดอีโก้นายทหารดาวรุ่งในศูนย์ฝึกวังทวีวัฒนา

ความน่าสนใจคือ การฝึกทหารคอแดงทั้งหมดจะใช้พลอาสาสมัครเป็นผู้ฝึกและไปฝึกกันที่วังทวีวัฒนา พลอาสาเหล่านี้มีที่มาจากการเปิดรับสมัครจากทหารกองหนุนทุกเหล่าทัพ และบุคคลพลเรือนชายอายุตั้งแต่ 20 – 28 ปี เข้ารับราชการเป็นทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ฯ (อัตราพลอาสาสมัคร) หลักสูตรฝึกระยะ 26 สัปดาห์ หลังจากนั้นจะได้เป็นพลอาสาสมัคร23

เป็นที่น่าสังเกตว่า การฝึกนายทหารคอแดงนั้น ได้เลือกใช้พลอาสาเป็นผู้ฝึก ซึ่งพลอาสาเหล่านี้ไม่ใช่บุคคลที่จบโรงเรียนเตรียมทหาร หรือโรงเรียนเหล่าทัพมา ส่วนนายทหารที่มาฝึกหลักสูตรเพื่อเป็นทหารคอแดง โดยมากเป็นนายทหารผู้ “มีอนาคต” เป็น “ดาวรุ่ง” หรือกระทั่งเป็นผู้มีตำแหน่งสูงในกองทัพ (มีผู้เคยตั้งข้อสังเกตว่าเลยมาพร้อมกับอีโก้ด้วย) การให้ พลอาสามาเป็นครูฝึกนายทหารทั้งรุ่นเล็กไปจนถึงรุ่นใหญ่เหล่านี้ โดยที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์เป็นรุ่นพี่รุ่นน้องในโรงเรียนเตรียมทหารหรือโรงเรียนเหล่าทัพด้วยกันมา หรือแม้กระทั่งการมีความสัมพันธ์เป็น เจ้านายลูกน้องกันมาก่อน จึงสร้างความขุ่นข้องหมองใจให้ไม่น้อยในหมู่ทหาร เพราะการให้ “คนอื่น” ที่ไม่ได้มีอะไรยึดโยงกัน นอกจากการเป็นคนของศูนย์ฝึกวังทวีวัฒนา มาสั่งฝึก สั่งลงโทษ ก่อให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกคับข้องหมองใจกันภายในไม่น้อย

ทั้งนี้มีทหารจำนวนไม่น้อยในหมู่ทหารที่เข้ารับการฝึก ได้แสดงความไม่พอใจต่อการฝึก แต่พวกเขาก็ทำอะไรไม่ได้นอกจากยอมรับสภาพและพาตัวเองผ่านพ้นมาให้ได้ ไม่หือ ไม่อือ เก็บงำความไม่พอใจเอาไว้ เพราะเส้นทางนี้คือหนทางก้าวหน้าในกองทัพ ในอาชีพการงาน รวมถึงยังได้รับสิทธิประโยชน์จากค่าอาร์มรายเดือน ซึ่งในกรณีเป็นนายทหารสัญญาบัตรจะได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 7,500 บาท ยังไม่นับว่าการได้เป็นทหารคอแดงยังสร้างความยำเกรงให้กับทหารคนอื่นๆ ในกองทัพที่ไม่ได้เป็นทหารคอแดงอีกด้วย 

แต่อีกด้านหนึ่งการเกิดขึ้นของทหารคอแดงก็ได้สร้างความแตกแยกภายในกองทัพไม่น้อย เพราะเป็นที่รู้กันว่าหากไม่ได้เป็นทหารคอแดง โอกาสจะขึ้นตำแหน่งสำคัญสายหลักๆ ในกองทัพแทบจะไม่มีเลยโดยเฉพาะในกองทัพบกปัจจุบัน จนต้องเปลี่ยนเส้นทางรับราชการ เช่น กรณีการขึ้นสู่ตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 และตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในปัจจุบัน ล้วนต้องเป็น “ทหารคอแดง” ซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้แล้วที่นายทหารทั่วไป หรือที่ถูกเรียกว่า “ทหารคอเขียว” ในปัจจุบัน จะมีโอกาสขึ้นสู่ตำแหน่งเป็นผู้นำกองทัพบก

 หรือในกรณีตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดเองด้วยที่ก็อาจต้องมาจากนายทหารคอแดงเช่นเดียวกันหรือไม่ แม้ว่าที่ผ่านมาจะเพิ่งมีทหารคอแดงเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดเพียงแค่คนเดียวเท่านั้น แต่มีการคาดหมายกันว่าตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดคนถัดไปก็มีแนวโน้มความเป็นไปได้สูง ที่อาจจะมาจากนายทหารคอแดงด้วยเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ ภายหลังจากที่จบหลักสูตรทหารคอแดงแล้ว ทหารในหลักสูตร รวมไปถึงทหารทุกหน่วยที่เป็นหน่วยทหารรักษาพระองค์สังกัดเหล่าทัพ จะอยู่ในสังกัดหน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 (ฉก.ทม.รอ. 904) ด้วย ภารกิจของหน่วยเฉพาะกิจนี้คือ การรักษาความมั่นคงปลอดภัย และพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์ รวมทั้งเป็นทหารของชาติ24 ซึ่งมีข้อสังเกตว่าไม่แน่ชัดว่าหน่วยเฉพาะกิจนี้มีภารกิจแตกต่างอย่างไรกับกองทัพปกติ 

อีกทั้งทหารที่สังกัดหน่วยเฉพาะกิจนี้จะกระจายอยู่ตามหน่วยต่างๆ ที่อยู่ภายใต้กองทัพอีกทีหนึ่ง นัยยะหนึ่งคือการกระจายไปเติบโตและคุมหน่วยทหารต่างๆ และมีเส้นทางเติบโตในตำแหน่งหลักของกองทัพด้วย ปัจจุบันผู้บัญชาการหน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 คือ พลเอกณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ซึ่งก็คือผู้บัญชาการทหารบกคนปัจจุบันนั่นเอง และก่อนหน้านี้มีผู้บัญชาการคนแรกของหน่วยเฉพาะกิจนี้ก็คือ พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ 


เข็มกลัดเจ้าฟ้าทีปังกรฯ สัญลักษณ์แสดงสถานะพิเศษ

อีกประเด็นหนึ่งที่สร้างความสงสัยให้กับสาธารณชนไม่น้อยคือเหตุใดนายทหารบางนายถึงมีการติดเข็มกลัดทรงกลมที่เป็นพระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ ไว้ที่กระเป๋าเสื้อข้างซ้าย โดยบทความที่เผยแพร่ทาง Nikkei ที่ออกมาเมื่อปี 2562 ชื่อว่า All the king’s men: Thai military power shifts away from Prayuth ได้เปิดเผยว่านักการทูตต่างประเทศได้ถามถึงข้อสังสัยดังกล่าวต่อ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ซึ่ง พล.อ.อภิรัชต์ ได้ตอบว่า “มีเพียงเครือข่ายเล็กๆ ที่ได้รับอนุญาตให้ติด แสดงถึงความจงรักภักดีที่มีต่อพระมหากษัตริย์” คำตอบของ พล.อ.อภิรัชต์ แสดงให้เห็นว่ามีคนติดเข็มกลัดเป็นคนจำนวนน้อยและที่สำคัญจำเป็นต้องได้รับการอนุญาตให้ติดด้วย ถึงจะติดได้ แต่ก็ไม่ได้ขยายความว่าผู้ที่จะได้รับอนุญาตให้ติดต้องมีคุณสมบัติอย่างไร เลยมีการตั้งข้อสังเกตกันว่า ต้องเป็นนายทหารคอแดงหรือไม่ถึงจะได้รับอนุญาตให้ติด แต่เมื่อไปดูนายทหารคอแดงที่เป็นนายทหารระดับผู้นำเหล่าทัพคนอื่นๆ อย่าง พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ก็ไม่ได้ติดเข็มกลัดดังกล่าว 

แต่พบว่านายทหารชั้นสัญญาบัตร หรือชั้นประทวน ที่สังกัดหน่วยราชการในพระองค์ทุกคนจะได้รับอนุญาตให้ติด รวมถึงกรณีขององคมนตรีด้วย 

ความน่าสนใจต่อมา คือมีความเป็นไปได้ว่ากรณีของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ และ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ที่ได้รับอนุญาตให้ติดเข็มกลัด น่าจะมีสาเหตุมาจากการที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายทหารพิเศษ ประจำกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ กองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ สังกัดหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ เป็นข้าราชการในพระองค์ อีกหน้าที่หนึ่ง โดยที่ไม่ขาดจากตำแหน่งเดิมในกองทัพ นัยยะคือไม่ได้โอนย้ายมาสังกัดหน่วยงานในพระองค์เต็มตัว แต่ควบสองหน้าที่คือมีตำแหน่งอยู่ในกองทัพด้วย 

ทั้งนี้ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ได้รับการโปรดเกล้าฯ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ตอนปี พ.ศ. 2561 ส่วน พล.อ. ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ได้รับการโปรดเกล้าฯ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 ในช่วงปี พ.ศ. 2561 ซึ่งได้รับการโปรดเกล้าฯ ทีหลัง พล.อ.อภิรัชต์ ประมาณ 4 เดือน

ยังมีผู้ตังข้อสังเกตว่าผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ติดเข็มกลัดนี้ โดยมากจะเป็นผู้ถวายงานใกล้ชิดมาก หรือมีการเรียกกันติดปากในหมู่ทหารว่าเป็น “ไข่แดง” คือเมื่อใกล้ชิดมากขนาดนี้  นี่จึงอาจเป็นกุศโลบายว่าถ้าจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบันแล้ว ต้องจงรักภักดีต่อพระราชโอรสด้วย หากต้องเปลี่ยนผ่านรัชสมัย 


เหลียวหลังแลหน้า เครือข่ายนายทหารกลุ่มใหม่: บทบาทในกองทัพและการเมืองในปัจจุบันและอนาคต ?

การแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารล่าสุด บ่งชี้ชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่านายทหารที่จะได้รับการแต่งตั้งคุมกำลังสำคัญและมีโอกาสเติบโตไปในระดับผู้นำเหล่าทัพ กำลังมีม่านประเพณีใหม่คือต้องมาจาก “ทหารคอแดง” และยังต้องได้รับการไฟเขียวจาก ฐานบัญชาการพระราม 5 หรือวอร์รูม ฉก.ทม.รอ 904 ด้วยหรือไม่ การแต่งตั้งครั้งล่าสุดนี้ ตำแหน่งที่สร้างความแปลกใจและเป็นที่กล่าวขานคือ ตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 คนใหม่ ที่จะมาแทน สุขสรรค์ หนองบัวล่าง นายทหารคอแดงที่ได้รับการเลื่อนขั้นขึ้นเป็น ห้าเสือ ทบ. ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก โดยนายทหารที่ได้รับเลือกให้มาเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 คนใหม่คือ พนา แคล้วปลอดทุกข์25 จากรองแม่ทัพภาคที่ 1 เป็น แม่ทัพภาคที่ 1 เลย ความน่าสนใจคือ พนา แคล้วปลอดทุกข์ เพิ่งจบหลักสูตรนายทหารคอแดงมาได้ไม่นาน และว่ากันว่าเบียดแซงตัวเต็งอย่าง ธราพงษ์ มะละคำ26 แม่ทัพน้อยที่ 1 ที่คาดว่าจะขึ้นมาตามเส้นทางการเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 เพราะก่อนหน้านี้แม่ทัพภาคที่ 1 จะมาจากการเป็นแม่ทัพน้อยที่ 1 กันมาก่อน แต่ปรากฏว่าครั้งนี้รองแม่ทัพภาคได้ขึ้นเป็นแม่ทัพเลย กลายเป็นว่าเส้นทางของ ธราพงษ์ มะละคำ แม่ทัพน้อยที่ 1 ถูกเก็บเข้ากรุเป็นที่ปรึกษาพิเศษ ทบ. (อัตราพลเอก) แม้จะได้ติดยศพลเอกก็ตาม แต่มีการคาดหมายกันว่าเป็นการดีดออกนอกเส้นทางในการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก หรือแม้แต่ตำแหน่งใน  5 เสือ ทบ.ด้วยในทันที และกลายเป็นว่าหมากเกมนี้ ว่ากันว่า ว่าที่ผู้บัญชาการทหารบกถัดไปอีก 2 คน จึง ได้รับการคาดหมายว่าคนที่น่าจะได้เป็นคือ พนา แคล้วปลอดทุกข์ 

เมื่อไปดูรายชื่อทหารคอแดงที่มียศเป็นระดับนายพลในรุ่นแรกๆ ที่ผ่านการฝึกมาแล้วนั้น พบว่าทหารเหล่านี้ ที่ผ่านมาเป็นดาวรุ่งในกองทัพที่จะได้มีโอกาสก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งในตำแหน่งที่สูงขึ้นหรือเป็นผู้นำเหล่าทัพ หรือแม้แต่การได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้โอนย้ายไปสังกัดหน่วยงานในพระองค์ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น27

  • อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีตผู้บัญชาการทหารบก และปัจจุบันเป็นข้าราชการในพระองค์ ตำแหน่งรองเลขาธิการพระราชวัง ระดับ 11
  • ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการหน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 
  • ธรรมนูญ วิถี จากตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก มารับราชการ เป็นข้าราชการในพระองค์ฝ่ายทหารในตำแหน่ง นายทหารปฏิบัติการประจำสำนักงานผู้บัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ กองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์
  • เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด
  • เจริญชัย หินเธาว์ ปัจจุบันในโผการแต่งตั้งล่าสุดได้ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารบก และถูกคาดหมายว่าจะได้เป็นผู้บัญชาการทหารบกคนถัดไป
  • ทรงวิทย์ หนุนภักดี ถูกคาดหมายว่าจะได้เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดคนถัดไป ซึ่งปัจจุบันในการแต่งตั้งล่าสุดได้ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด
  • สุขสรรค์ หนองบัวล่าง การแต่งตั้งล่าสุดได้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก หนึ่งในตำแหน่งของ 5 เสือ ทบ.
  • สุวิทย์ เกตุศรี ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กองบัญชาการกองทัพไทย
  • ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (โรงเรียน จปร.)
  • เอกรัตน์ ช้างแก้ว รองผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (โรงเรียน จปร.)
  • ทรงพล สาดเสาเงิน ได้รับการคัดตัว และได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้โอนย้ายจาก ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ไปเป็นนายทหารปฏิบัติการประจำสำนักงานรองผู้บัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระอง
  • กันตพจน์ เศรษฐารัศมี รองแม่ทัพภาคที่ 1
  • ธวัชชัย ตั้งพิทักษ์กุล จากตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 11  ในการแต่งตั้งล่าสุดได้ดำรงตำแหน่ง รองแม่ทัพน้อยที่ 1
  • วรยศ เหลืองสุวรรณ จากตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ในการแต่งตั้งล่าสุดได้ดำรงตำแหน่ง รองแม่ทัพภาคที่ 1



เส้นทางสร้างทหารอาชีพ กองทัพภายใต้รัฐบาลพลเรือน ยุติการรัฐประหารในประเทศไทย

จากที่ไล่เรียงกันมา เราจะพบว่า หากภายในกองทัพยังมีโครงสร้างเครือข่าย ครอบกองทัพไว้อีกทีอย่างผนึกกำลัง เหนียวแน่น และเป็นระบบราวกับมีกองทัพซ้อนกองทัพชั้นหนึ่งแล้ว และกองทัพก็เป็นรัฐซ้อนรัฐอีกชั้นหนึ่งด้วย จะเป็นการยากที่หลักการรัฐบาลพลเรือนอยู่เหนือกองทัพจะเกิดขึ้นจริงได้ในสังคมไทย เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่ควรหลีกหนีที่จะพูดถึงปัญหานี้อย่างตรงไปตรงมา แม้ว่าเรื่องนี้จะเกี่ยวข้องกับปมปัญหาบางอย่างที่หลายคนเลือกที่จะไม่พูด  ตรงกันข้ามยิ่งเป็นความจำเป็นที่ต้องดำเนินการในทันที เพราะหลักการรัฐบาลพลเรือนอยู่เหนือกองทัพเป็นสิ่งจำเป็นในระบอบประชาธิปไตย จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้กองทัพถูกขับเคลื่อนในทิศทางที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อความปลอดภัยของประชาชน เสถียรภาพทางการเมืองและระบอบประชาธิปไตย 

การปฏิรูปกองทัพจะสำเร็จได้หรือไม่ เพื่อให้กองทัพสอดคล้องกับการเป็นกองทัพสมัยใหม่ เป็นทหารอาชีพ ที่ปลอดอำนาจทางการเมือง เป็นกองทัพของประชาชน อยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน อีกหนึ่งการปฏิรูปที่ต้องเกิดขึ้นด้วย คงปฏิเสธไม่ได้ว่าถึงเวลาที่ต้องพูดเรื่องการปฏิรูปในเรื่องที่นักการเมืองในระบบและใครหลายๆ คนพยายามเลี่ยงพูดอยู่ตลอดเวลา คือ การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

ดังนั้น อย่างน้อยในเบื้องต้นต้อง ยกเลิกพระราชบัญญัติจัดระเบียบบริหารราชการในพระองค์               พ.ศ.2560  ยกเลิกพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ.2562 แล้วย้อนกลับไปใช้รูปแบบเดิมที่มีสำนักพระราชวังและสำนักราชเลขานุการในพระองค์ มีสถานะเป็นกรม อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ต้องทำให้กองทัพอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือนอย่างแท้จริง เพื่อให้ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีอำนาจจริงๆ

การเกิดขึ้นของกลุ่มเครือข่ายนายทหารสายวัง หรืออีกนัยหนึ่งคือทหารที่ใกล้ชิดสถาบันกษัตริย์ ดูเหมือนจะสร้างความั่นคงให้กับสถาบันกษัตริย์ แต่แท้จริงแล้ว กลับสร้าง “ความไม่มั่งคง” อย่างน่าจับตา

ที่บอกว่าเป็น”ความไม่มั่นคง”  นั้น หมายความว่าทหารส่วนใหญ่ที่มีความตั้งใจและมีความคาดหวังในการเติบโตทางราชการ เพื่อขึ้นตำแหน่งที่สูงขึ้น แต่อาจไปต่อไม่ได้ ไปได้ไม่สุด หากไม่ได้เข้าไปใกล้ชิด ไม่มี”ตั๋ว” ไม่ได้รับการคัดเลือกเข้าไปฝึกบางหลักสูตร ซึ่งทหารที่รู้สึกแบบนี้อาจเป็นทหารส่วนใหญ่ของกองทัพด้วยซ้ำ สิ่งที่เกิดขึ้นกำลังทำให้เกิดสภาวะแปลกแยก (Alienation) ในหมู่ทหารด้วยกันเอง แปลกแยกทั้งต่อตนเอง กองทัพ และต่อระบบระบบแบบนี้กำลังกันให้ทหารบางส่วนรู้สึกเป็น “คนนอก” ของกองทัพ ซึ่งเป็นอันตราย เพราะหากเกิดในพื้นที่อื่นก็มีความอันตรายในตัวมันเองอยู่แล้ว แต่เมื่อเกิดสภาวะคนนอก ในกลุ่มผู้ที่สามารถเข้าถึงอาวุธสงครามได้อย่างอาชีพทหาร จึงยิ่งสร้างความอันตรายมากขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย ไม่นับว่าพอนำกำลังที่อยู่ในเมืองหลวงถูกโอนย้ายเข้าไปเป็นหน่วยราชการในพระองค์ทั้งหมด หากต่อไปมีนายทหารคิดกำเริบเสิบสาน ทำการรัฐประหารขึ้นมาอีก แม้ว่าพระมหากษัตริย์จะเซ็นรับรองการรัฐประหารหรือไม่ก็ตาม ประชาชนก็อาจคิดเชื่อมโยง ตั้งข้อสงสัยว่า เช่นนั้นแล้ว การรัฐประหารเกิดขึ้นได้อย่างไร ทั้งๆ ที่กองกำลังในพื้นที่เมืองหลวงแทบไม่เหลืออยู่ภายใต้อำนาจของผู้บัญชาการเหล่าทัพแล้ว หรือแม้กระทั่ง การที่ผู้นำเหล่าทัพ ที่จะขึ้นสู่ตำแหน่งได้ ล้วนมาจาก “นายทหารคอแดง” ที่ผ่านการฝึกและใกล้ชิดกับศูนย์ฝึกวังทวีวัฒนาทั้งสิ้น เช่นนั้นแล้วประชาชนจะคิดอ่านกันอย่างไร?

การมีนายทหารในสังกัดที่สั่งได้ อยู่ภายใต้การบังคับบัญชา เป็นทหารที่คัดมาแล้วว่ามี “ความจงรักภักดี” ดูเหมือนจะสร้างความมั่นคงให้แก่สถาบันกษัตริย์ได้ แต่ประวัติศาสตร์จากต่างประเทศมากมายก็พิสูจน์ว่า กลุ่มคนที่ทำอันตรายหรือสร้างความสั่นคลอนให้กับสถาบันกษัตริย์จริงๆ ก็ล้วนมาจากคนใกล้ชิด กลุ่มทหารที่มีอาวุธด้วยกันทั้งนั้น สิ่งที่คิดว่ามั่นคง จริงๆ แล้วอาจไม่ได้มีความมั่นคงเลยก็ได้ 

ทางออกในหลายๆ ประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น โดยมากจะไปในทิศทางที่ทำให้สถาบันกษัตริย์ปลอดอำนาจโดยแท้ ต้องมีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ รวมถึงต้องเป็นกลางทางการเมือง และเป็นสัญลักษณ์ของประเทศเท่านั้น เมื่อเป็นดังนั้นก็ไม่มีความกังวลใดต้องกลัวเกรงเรื่องความไม่มั่นคงของสถาบันกษัตริย์อีกต่อไป เนื่องจากหากมีเงื่อนไขข้างต้น การวิพากษ์วิจารณ์ของสาธารณชนก็จะมุ่งไปที่รัฐบาลเพราะรัฐบาลเป็นผู้มีอำนาจที่แท้จริง กษัตริย์เพียงแต่ทรงลงพระปรมาภิไธยในเรื่องต่างๆ ตามที่ผู้เสนอและผู้สนองถวายคำแนะนำมาเท่านั้น คนที่รับสนองพระบรมราชโองการต้องเป็นคนรับผิดชอบเอง นอกจากนี้ บุคลากรคนทำงานของกษัตริย์ก็ต้องแต่งตั้งแค่บุคลากรในงานที่เกี่ยวข้องเท่านั้นและขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ที่เป็นหัวหน้ารัฐบาลพลเรือนทั้งหมด อีกทั้งการดูแลกองทัพ การถวายความปลอดภัยก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องดำเนินการ จำเป็นต้องดูแลประมุขของรัฐอย่างสมพระเกียรติ ซึ่งหน้าที่เหล่านี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลพลเรือนโดยแท้



อ้างอิง

1. ปิยะภพ มะหะมัด. 2559. ความเป็นมาของหลักสูตรการฝึกเพิ่มเติมทางทหาร : หลักสูตรทหารเสือและทหารมหาดเล็ก. มติชนสุดสัปดาห์. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มติชน

2. หนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ พันโท ณรงค์เดช นันทโพธิ์เดช.2528.

3. วาสนา นาน่วม. 2557. เส้นทางพยัคฆ์ ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากทหารเสือสู่หลังสือ. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มติชน

4. อ้างแล้ว

5. ทีมข่าวการเมือง. 2564. ทหารเสือราชินี ในสายเลือดต้นกำเนิดประยุทธ์. (ออนไลน์). แหล่งที่มา: “ทหารเสือราชินี” ในสายเลือด ต้นกำเนิด “ประยุทธ์” (bangkokbiznews.com)

6. วาสนา นาน่วม. 2560. ทหารสายวงศ์เทวัญ บูรพาพยัคฆ์คืออะไร.ออนไลน์.แหล่งที่มา ทหารสายวงศ์เทวัญ บูรพาพยัคฆ์คืออะไร ? – YouTube.

7. อ้างแล้ว

8. สำนักข่าวเดอะแสตนดาร์ต. 2565. ผบ.ทบ. นำ 179 นายพล ถวายสัตย์ต่อหน้าอนุสาวรีย์ ร.5 ปกป้องสถาบันฯ-ดำรงเกียรติทหาร.

9. สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี. 2563. ทหารคอแดง: การก่อกำเนิดของเครือข่ายกษัตริย์ใหม่. ออนไลน์. แหล่งที่มา ทหารคอแดง: การก่อกำเนิดของเครือข่ายกษัตริย์ใหม่ | ประชาไท Prachatai.com

10. อ้างแล้ว

11. อ้างแล้ว

12.สำนักข่าวบีบีซีไทย.2562. โปรดเกล้าฯ พ.ร.ก. โอนกำลังพล-งบประมาณบางส่วนของกรมทหารราบที่ 1-ราบ 11 ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์.ออนไลน์. แหล่งที่มา โปรดเกล้าฯ พ.ร.ก. โอนกำลังพล-งบประมาณบางส่วนของกรมทหารราบที่ 1-ราบ 11 ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ – BBC News ไทย.

13. ส่วนราชการในพระองค์. ออนไลน์. แหล่งที่มา โครงสร้างหน่วยงาน – หน่วยราชการในพระองค์ (royaloffice.th)

14. สำนักข่าวไทยโพสต์. 2560. โปรดเกล้าฯแต่งตั้งข้าราชการในพระองค์ให้ดํารงตําแหน่งจํานวน 44 ราย.

15. สำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ. 2560. ออนไลน์. แหล่งที่มา โปรดเกล้าฯ ‘พล.ต.ท.อรรถกร’ เป็นรองผบฯ (พล.ต.อ.พิเศษ) (bangkokbiznews.com)

16. สำนักข่าวไทยรัฐ. 2564. ออนไลน์. แหล่งที่มาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง “พลเอกธรรมนูญ” เป็นข้าราชการในพระองค์ฝ่ายทหาร (thairath.co.th)

17. อ้างแล้ว

18. กองทัพบกตามพระราโชบาย. 2560

19. สำนักข่าวไทยโพสต์. 2562. เส้นทางดาวจรัสแส “ฉก.คอแดง” มารู้จัก “ขุนพลรักษาพระองค์” สุดเป๊ะ!. ออนไลน์. แหล่งที่มา เส้นทางดาวจรัสแสง “ฉก.คอแดง” มารู้จัก “ขุนพลรักษาพระองค์” สุดเป๊ะ! (thaipost.net)

20. ฐานเศรษฐกิจ. 2563. หลักสูตร “ฉก.คอแดง” ตีปีกพึ่บพั่บขึ้นคุมกองทัพ. ออนไลน์. แหล่งที่มา หลักสูตร “ฉก.คอแดง” ตีปีกพึ่บพั่บขึ้นคุมกองทัพ (thansettakij.com)

21. โรงเรียนทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์. 2560. คู่มือการฝึกว่าด้วยแบบฝึกบุคคลท่าอาวุธปืนเล็กสั้นไมโครทาเวอร์และอาวุธปืนเล็กสั้น เอ็ม 4 เอ 1

22. อ้างแล้ว

23. หน่วยราชการในพระองค์ 904. 2560. หนังสือราชการถึงปลัดกระทรวงมหาดไทยเพื่อขอความอนุเคราะห์ออกประกาศรับสมัครทหารกองหนุนและพลเรือน(ชาย)เข้ารับราชการ.

24. กองบัญชาการกองทัพไทย. 2565. 50 หน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 (ฉก.ทม.รอ. 904)

25. กรุงเทพธุรกิจ. 2565. นับถอยหลัง สิ้นอำนาจ “3 ป.” “กองทัพ”เปลี่ยนขั้ว รับการเมืองใหม่. ออนไลน์. แหล่งที่มา นับถอยหลัง สิ้นอำนาจ “3 ป.” “กองทัพ”เปลี่ยนขั้ว รับการเมืองใหม่ (bangkokbiznews.com)

26. ราชกิจจานุเบกษา. 2565. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องให้นายทหารรับราชการ

27. อ้างแล้ว

The post เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง” appeared first on คณะก้าวหน้า.

]]>
https://progressivemovement.in.th/article/common-school/8228/feed/ 3
เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?) https://progressivemovement.in.th/article/common-school/8211/?utm_source=rss&utm_medium=rss&utm_campaign=the-story-of-a-new-name-elena-ferrante https://progressivemovement.in.th/article/common-school/8211/#comments Mon, 07 Nov 2022 11:17:11 +0000 https://progressivemovement.in.th/?p=8211 เมื่อนามสกุลเปลี่ยน สถานะของลิลาก็เปลี่ยนตามไป เธอไม่ใช่ทรัพย์สินที่พ่อและพี่ชายของเธอจะดุด่าตบตีอย่างไรก็ได้อีกต่อไป สเตฟาโนสามีผู้ร่ำรวยของเธอต่างหากที่มีสิทธิ์ทำเช่นนั้น ‘ความรัก’ และ ‘ความปราถรถนาดี’ คือคำสวยหรูที่มีไว้อธิบายพฤติกรรมเหล่านั้น

The post เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?) appeared first on คณะก้าวหน้า.

]]>
(1)

สำหรับ Ferdinand de Saussure การแปลและโยกย้ายคำในระบบภาษาหนึ่ง ไปยังอีกระบบภาษาหนึ่ง อาจคงความหมายเหมือนเดิมไว้ได้บ้าง แต่ด้วยความที่คำนั้นต้องไปอยู่ใน ‘ความสัมพันธ์’ แบบใหม่ ระหว่างตัวมันเองกับคำอื่นในอีกระบบภาษา ย่อมทำให้ความหมายและคุณค่าของมันเปลี่ยนแปลงไปโดยปริยาย

ในงานชิ้นหนึ่งของ Kojin Karatani นักปรัชญาและนักวรรณกรรมวิจารณ์ ปรับใช้ข้อเสนอดังกล่าวเพื่ออธิบาย ‘ทฤษฎีว่าด้วยมูลค่า’ (theory of value) ของ Marx ว่า สาเหตุที่สินค้าซึ่งมีคุณค่าหรือราคาถูกในที่หนึ่ง สามารถมีราคาแพงในอีกที่หนึ่งได้ ก็เกิดจากการที่ความสัมพันธ์ของสินค้าในแต่ละที่มีความแตกต่างกัน (ตรงจุดที่แตกต่างกันนี้เองที่ ‘ทุนการค้า’ หรือ ‘marchant capital’ จะเข้ามามีบทบาท)


(2)

‘เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่’ นวนิยายลำดับที่ 2 ในซีรีส์ Neapolitan ของ Elena Ferrante เป็นรูปธรรมชัดเจนของคำอธิบายข้างต้น มันทำให้เห็นว่าความสามารถที่ดีเลิศในสถานที่หนึ่ง ไม่มีค่าอะไรเลยหากมันอยู่ในที่ๆ ไม่ได้ให้ค่ามัน เหมือนกับที่ความสามารถในทางวิชาการอันดีเลิศของ ‘เลนู’ ตัวละครหลักของเรื่อง เป็นเพียงสิ่งเหลวไหลไร้สาระใน ‘เนเปิลส์’ เมืองบ้านเกิดของเธอ อันเป็นสถานที่ซึ่งเงิน คำหยาบโลนและการใช้กำลังเท่านั้นที่ถูกให้ความหมาย

สติปัญญาและความเป็นปัญญาชนไม่ใช่สิ่งที่ชุมชนบ้านเกิดเธอให้คุณค่า หลายช่วงตอนในนวนิยายแสดงให้เห็นว่าเลนูตระหนักถึงข้อเท็จจริงนี้ดี หนึ่งในตอนที่ชัดที่สุดคือเมื่อครั้งเธอกลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิดหลังเรียนจบสูงถึงระดับมหาวิทยาลัยจากเมืองปิซา

“ศิลปะแห่งความมุ่งร้ายที่ฉันได้รับการฝึกฝนมาที่เนเปิลส์มีประโยชน์ต่อฉันมากเมื่ออยู่ปิซา แต่ปิซาไม่มีประโยชน์เลยเมื่อฉันอยู่เนเปิลส์ มันเป็นอุปสรรค กิริยามารยาท น้ำเสียงและรูปร่างหน้าตาที่เรียบร้อย สิ่งที่ร่ำเรียนมาจากตำราซึ่งอัดแน่นอยู่ในหัวและบนลิ้น ล้วนเป็นเครื่องหมายของความอ่อนแอซึ่งทำให้ฉันกลายเป็นเหยื่อที่ถูกล่าโดยง่าย ประเภทที่ถูกจับแล้วไม่ดิ้น” (น.479)


(3)

นวนิยายเล่มนี้ยังฉายภาพ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ หรือ ‘patriarchy’ ชัดเจนมากยิ่งกว่าเล่ม 1 เสียอีก เพราะความโกลาหลทั้งหมดในเรื่องล้วนมีสาเหตุจากการมี ‘นามสกุล’ ใหม่ของลิลา เพื่อนรักของเลนูที่ไม่ได้โอกาสเรียนต่อและจำต้องแต่งงานกับสเตฟาโน คาร์รัชชี เพื่อดึงทรัพย์สินที่เขามีมายกระดับชีวิตและฐานะของตนเองกับครอบครัว

เมื่อนามสกุลเปลี่ยน สถานะของลิลาก็เปลี่ยนตามไป เธอไม่ใช่ทรัพย์สินที่พ่อและพี่ชายของเธอจะดุด่าตบตีอย่างไรก็ได้อีกต่อไป สเตฟาโนสามีผู้ร่ำรวยของเธอต่างหากที่มีสิทธิ์ทำเช่นนั้น

‘ความรัก’ และ ‘ความปรารถนาดี’ คือคำสวยหรูที่มีไว้อธิบายพฤติกรรมเหล่านั้น

“…กับสเตฟาโนในตอนนี้ เธอไม่แสดงความก้าวร้าวใดๆ ออกมาให้เห็นเลย แน่ละ เรื่องนี้อธิบายได้ง่าย เราเห็นพ่อของเราตบตีแม่ตั้งแต่เรายังเด็กๆ เราเติบโตขึ้นมากับความคิดที่ว่า คนแปลกหน้าไม่ควรมาถูกเนื้อต้องตัวเราแม้เพียงแผ่วเบา แต่หากเป็นพ่อ แฟน หรือสามีแล้ว จะตบเราเมื่อไรก็ได้ เพราะพวกเขาทำไปด้วยความรัก และต้องการอบรมสั่งสอนและดัดนิสัยเรา” (น.54)

“สถานภาพภรรยาเป็นประหนึ่งแก้วครอบเธอไว้ เธอเป็นดั่งเรือกางใบล่องอยู่ในอาณาบริเวณที่คนเข้าไม่ถึง ซ้ำร้ายยังปราศจากทะเล” (น.59) สาเหตุสำคัญที่ทำให้เธอต้องตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น เพราะนั่นคือค่านิยมที่ภรรยาที่ดีพึงประพฤติ ซึ่งในที่นี้หมายถึงการปรนนิบัติ เชื่อฟังสามี และที่สำคัญที่สุด คือการมีลูก (ให้ฝ่ายชาย)

ทรัพย์สิน คุณภาพชีวิต และฐานะ คือคำสำคัญในการทำความเข้าใจสังคมชายเป็นใหญ่ ซึ่งสัมพันธ์กับนามสกุลและการมีลูก เพราะเมื่อกฎเกณฑ์ทางสังคมถูกกำหนดให้ต้องนับสายเครือญาติของฝ่ายชายเป็นหลัก (patrilineal) การมีลูก (ชาย) ก็จะทำให้เกิดการสืบเชื้อสายสกุลของผู้ชายต่อไปได้ การนับญาติแบบนี้จึงสัมพันธ์กับความต่อเนื่องและความมั่นคงในยศถาบรรดาศักดิ์และทรัพย์สินของตระกูลฝ่ายชาย

ดังนั้น การมีลูกคือสาระสำคัญของการแต่งงานเป็นภรรยา หากหญิงใดไม่สามารถมีลูกให้แก่ตระกูลฝ่ายชายได้ ก็ต้องถูกประณามสาปส่ง (ไม่ว่านั่นจะเป็นความบกพร่องฝ่ายหญิงหรือชายก็ตาม) การแต่งงานจึงเป็นกรงขัง เป็นสิ่งที่ Marx และ Engels เสนอไว้ใน Communist Manifesto ว่าคือการค้าบริการ (อย่างเป็นทางการ) ที่จำเป็นต้องถูกทำลาย (รักแท้จึงเกิดขึ้นได้ยากในสังคมแบบนี้ เพราะความรัก/ร่างกายพร้อมที่จะถูกเปลี่ยนเป็นสินค้า เป็นทุน เป็นทรัพย์สินชนิดหนึ่งเสมอ)

นวนิยายเล่มนี้ย้ำประเด็นดังกล่าวอยู่หลายจุด เช่นในตอนหนึ่งซึ่งบรรยายถึงลิลาว่า “ไม่ว่าเธอจะดิ้นรนกระเสือกกระสนเพียงใด ทำอะไรมากเพียงใด ป่าวร้องเพียงใด เธอก็หลุดออกมาไม่ได้ ความทุกข์ที่หนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ ควบคุมยากขึ้นเรื่อยๆ คอยไล่ตามเธอมาตั้งแต่วันแต่งงาน” (น. 149)

อย่างไรก็ดี ในหลายท่อนตอนของนวนิยายเล่มนี้ ยังแสดงให้เห็นว่า สังคมชายเป็นใหญ่ ไม่ได้เป็นโทษแก่เฉพาะเพศหญิงเพียงเท่านั้น ตัวละครเพศชายจำนวนมากก็มีชีวิตรันทดไม่แพ้กัน ตัวละครชายบางตัวต้องใช้ชีวิตอย่างอัตคัด บางตัวก็ต้องถูกเกณฑ์ทหารเนื่องจากไม่มีเส้นสายและเงินไปติดสินบน อย่างที่ตัวละครชายฐานะร่ำรวยในเรื่องกระทำ

ชนชั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่แยกไม่ออกจากเรื่องเพศ สังคมชายเป็นใหญ่แยกไม่ออกจากทุนนิยม (ในหนังสือ Feminisms: A Global History ของ Lucy Delap ก็บรรยายไว้ชัดเจนว่า กรอบคิดสังคมนิยม/คอมมิวนิสต์เป็นสาแหรกหนึ่งของเฟมินิสต์)


(4)

กระนั้น ประเด็นเรื่องชนชั้น ก็ไม่ใช่แรงขับเคลื่อนเดียวของเรื่อง การวิ่งไล่ล่ารักแท้ต่างหากคือสิ่งที่ทำให้เกิดสถานการณ์น่าตื่นเต้นและน่าติดตาม ความรักที่สวนทางย้อนเกร็ดโครงสร้างอำนาจต่างหากที่ทำให้ค่านิยมหลักของสังคมกระทบกระเทือน การพยายามมีความรักที่ฝ่าวงล้อมศีลธรรมและข้อจำกัดของเมืองที่ปราศจากความรักต่างหาก คือสิ่งที่ทำให้ผู้อ่านสามารถอ่านนวนิยายเล่มนี้ได้ โดยไม่อาจวางลง

และเมื่ออ่านพ้นบรรทัดสุดท้าย ผู้อ่านจะพูดกับตัวเองอย่างคับข้องใจทันทีว่า “เล่ม 3 อยู่ไหน!?”



หมายเหตุ: สามารถยืมหนังสือเล่มนี้ได้ฟรีในโครงการอ่านเปลี่ยนโลก https://form.jotform.com/221880458508462 

The post เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?) appeared first on คณะก้าวหน้า.

]]>
https://progressivemovement.in.th/article/common-school/8211/feed/ 4
จากเด็กขัดรองเท้าสู่ประธานาธิบดี 3 สมัย: “ลูลา” ผู้เป็นที่รักของชนชั้นแรงงาน https://progressivemovement.in.th/article/common-school/8198/?utm_source=rss&utm_medium=rss&utm_campaign=luiz-inacio-lula-da-silva-bio-and-politics https://progressivemovement.in.th/article/common-school/8198/#comments Sun, 06 Nov 2022 15:51:26 +0000 https://progressivemovement.in.th/?p=8198 ลูอิซ อินาชิโอ ลูลา ดา ซิลวา (Luiz Inácio Lula da Silva) หรือ “ลูลา” นักการเมืองบราซิลเลี่ยนที่เพิ่งชนะเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 3 (ด้วยคะแนนปริ่มน้ำเหลือเกิน) แห่งประเทศบราซิล ภูมิหลังเขาเป็นเด็กยากจนที่ต้องฟันฝ่าอุปสรรคในชีวิต การสูญเสียนิ้วตอนอายุ 19 ทำให้เขาหันมาทำงานการเมืองผ่านสหภาพ และกลายเป็นประธานาธิบดีขวัญใจคนจนในที่สุด

The post จากเด็กขัดรองเท้าสู่ประธานาธิบดี 3 สมัย: “ลูลา” ผู้เป็นที่รักของชนชั้นแรงงาน appeared first on คณะก้าวหน้า.

]]>
เราอาจเคยได้ยินมาจนเบื่อแล้ว กับเรื่องทำนอง เด็กหลังห้องแสนเกเรเรียนไม่เก่ง หรือไม่ก็เด็กยากจนต้นทุนชีวิตติดลบ ขยันมุ่งมั่นเอาดีด้านธุรกิจจนกลายเป็นมหาเศรษฐีพันล้านหมื่นล้าน แม้หลายคนอาจจะเริ่มชังการ romanticize เรื่องราวในลักษณะนี้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่า หลายคนรับรู้ชีวิตของเขาเหล่านี้แล้วก็เกิดแรงบันดาลใจ 

ข่าวดีคือครั้งนี้เราจะไม่พูดถึงมหาเศรษฐีแต่อย่างใด ข่าวร้ายคือเรายังคงพูดถึงคนที่เคยเป็นเด็กยากจนอยู่ เขาคนนั้นคือ ลูอิซ อินาชิโอ ลูลา ดา ซิลวา (Luiz Inácio Lula da Silva) หรือ “ลูลา” นักการเมืองบราซิลเลียนที่เพิ่งชนะเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 3 (ด้วยคะแนนปริ่มน้ำเหลือเกิน) แห่งประเทศบราซิล


วัยเยาว์ของลูลา จากเด็กบ้านนา มาตรากตรำในมหานคร

ลูลาเป็นลูกคนที่เจ็ดจากทั้งหมดแปดคนของครอบครัวชาวนาไม่รู้หนังสือ เขาเกิดในชนบทแถบตะวันออกเฉียงเหนือของบราซิล ก่อนจะย้ายตามพ่อแม่เข้ามาอยู่ในเมืองใหญ่ที่กำลังมีโรงงานอุตสาหกรรมผุดเป็นดอกเห็ดอย่าง เซาเปาโล (São Paulo) ตอนอายุ 6 ขวบ

วัยเด็กของลูลาไม่ต่างจากเด็กชนชั้นแรงงานคนอื่นๆ เขาไม่เคยได้รับการศึกษาอย่างเป็นทางการเลย กว่าเขาจะอ่านเขียนหนังสือออกได้ก็ต้องรอจนมีอายุ 10 ปีเลยทีเดียว และแม้ว่าเขาจะมีโอกาสได้เข้าเรียนในระดับ Second Grade (ประมาณประถมศึกษาปีที่สอง) แต่สุดท้ายก็ต้องออกจากระบบการศึกษาเพื่อมาทำงานหาเงินช่วยครอบครัว

“เด็กเดินเอกสาร” และ “เด็กขัดรองเท้า” คือสองอาชีพแรกในชีวิตของลูลา

อย่างไรก็ดี ต้องเข้าใจว่าในสมัยที่ลูลาเกิดนั้น บราซิลเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก (ตั้งแต่ปี 1900-1973 บราซิลโตเฉลี่ยปีละ 4.9 เปอร์เซ็นต์) อย่างในเซาเปาโล บริษัทรถยนต์ชั้นนำทั่วโลกก็พากันมาตั้งโรงงานอย่างไม่หวาดไม่ไหว ไล่ตั้งแต่ Ford Motor, Volkswagen, General Motors, Mercedes-Benz และ Toyota ทั้งนี้ ปรากฏการณ์นี้ก็ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะการที่บริษัทเหล่านี้แห่กันมาลงทุนนั้น สามารถสันนิษฐานได้ไม่ยากว่าเป็นเพราะ ‘ค่าจ้าง’ ที่พวกนี้ต้องจ่ายให้แรงงานนั้นอยู่ในระดับต่ำมากพอที่จะคุ้มกับการลงทุนแสวงหากำไรสูงสุด และด้วยการมีค่าแรงที่ต่ำเตี้ยและปริมาณคนงานมหาศาล ก็ย่อมสันนิษฐานได้ไม่ยากอีกเช่นกันว่า แรงงานจะรวมตัวต่อรองกันเกิดเป็นกลุ่มก้อนที่เรียกว่า ‘สหภาพแรงงาน’

กระนั้นก็ใช่ว่าจะเอาใครที่ไหนก็ได้มาทำงานควบคุมเครื่องจักร การทำงานในโรงงานจำเป็นต้องอาศัยแรงงานที่มีความรู้ความสามารถขึ้นมาในระดับหนึ่ง มันเรียกร้องแรงงานที่เรียกว่า ‘skilled worker’ หรือ ‘แรงงานมีฝีมือ’ ไม่ใช่แรงงานที่ถูกตั้งชื่อแบบเหยียดๆ ว่า ‘unskilled worker’ หรือ ‘แรงงานไร้ฝีมือ’ (เหยียดเพราะว่ามันไม่มีแรงงานไหนที่ไม่ต้องอาศัยทักษะฝีมือ)

เป็นโชคดีของลูลาที่แม่เขาเข้าใจกติกาข้อนี้ดี และกัดฟันส่งเขาเข้าไปเรียนในสถาบันวิชาชีพที่ใหญ่ที่สุดในลาตินอเมริกา ชื่อ the National Service for Industrial Training หรือ ‘SENAI’

SENAI คือสถานที่ซึ่งยกระดับชีวิตของลูลา มันส่งเสริมให้เขาสามารถเข้าไปหาเงินด้วยการควบคุมเครื่องจักรในโรงงานได้ เป็นสถานที่ซึ่งเปิดโอกาสให้เขากลายเป็น ปัญญาชน-ชนชั้นแรงงาน (working-class intelligentsia) เพราะหากเชื่อตามคำอธิบายของ จอห์น เฟรนช์ (John D. French) นักประวัติศาสตร์ผู้เขียนหนังสือชีวประวัติของลูลา การได้รับการศึกษาจนเลื่อนขั้นเป็นแรงงานมีฝีมือในบราซิลนั้น นอกจากจะเพิ่มโอกาสทางหน้าที่การงานแล้ว มันยังเปิดช่องให้ต้องเข้าไปข้องเกี่ยวกับสหภาพแรงงาน และกระบวนการทางการเมือง ของบรรดาพรรคคอมมิวนิสต์หรือองค์กรฝ่ายซ้ายทั้งหลายด้วย

แต่สหภาพแรงงานและพรรคการเมืองกลับไม่ใช่สิ่งที่ดึงดูดความสนใจของลูลาในตอนแรก ตรงกันข้าม เขามองว่าองค์กรอย่างสหภาพแรงงานนั้น นอกจากไม่ได้สร้างประโยชน์อะไร ซ้ำร้ายยังมีความอนุรักษ์นิยมเป็นแก่นแท้ด้วย อันที่จริงทัศนคติแบบนี้ไม่ได้แปลกประหลาดอะไรนัก หากเป็นมุมมองทั่วไปของวัยรุ่นยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่จะปฏิเสธการมีผู้แทนทางการเมืองโดยสิ้นเชิง

อนิจจัง ความเชื่อของเขาก็ต้องเปลี่ยนไปในที่สุด หลังต้องสังเวยนิ้วก้อยบนมือข้างซ้ายให้แก่เครื่องจักรที่เขาต้องทำงานร่วมกับมัน ครั้งนั้น เขาต้องหอบสังขารไปโรงพยาบาลหลายแห่งกว่าจะได้รับการรักษา อุบัติเหตุนี้เองที่ปลุกให้เขาเห็นคุณค่าของการเข้าร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองและสหภาพแรงงาน ที่ชื่อ “Metalworkers Union of São Bernardo do Campo”

การไร้สวัสดิการสุขภาพ ความยากจน ความอดอยาก ที่สัมพันธ์กับการไร้การศึกษา (เพราะเด็กต้องออกมาค้าแรงงานช่วยครอบครัว) คือประเด็นปัญหาที่เราเห็นได้ชัดเจนในวัยเด็กของลูลา มันคือโจทย์สำคัญที่จะกลับมาปรากฏตัวในนโยบายของเขาเมื่อเข้าสู่สนามการเมือง และด้วยความจริงจังในการที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้เองเป็นสิ่งที่ผลักดันให้เขาขึ้นเป็นประธานาธิบดีผู้เปลี่ยนแปลงสังคมบราซิลในท้ายที่สุด  

ทั้งนี้ แม้ภายหลังจะขึ้นมามีอำนาจทางการเมือง ลูลาก็ยังยืนยันว่าตนเป็นชนชั้นแรงงานอยู่ดังเดิม และยังแสดงตัวต่อว่า เขาไม่ได้มีอะไรดีไปกว่าแรงงานคนอื่นๆ ที่เขามีสถานะอย่างทุกวันนี้ได้ เป็นเพียงเพราะเขาโชคดีกว่าเท่านั้น

แน่นอน หนึ่งในความโชคดีที่ลูลาหมายถึง คือการที่ (แม่กัดฟันให้เขา) ได้รับการศึกษา โดยเฉพาะการได้โอกาสเข้าไปในสถาบันอย่าง SENAI 

“SENAI มอบความเป็นพลเมืองให้ผม จากพี่น้องทั้งหมด 8 คน ผมเป็นคนแรกที่ได้เข้าเรียนวิธีทำมาค้าขาย ได้เป็นคนแรกที่ครอบครองบ้าน และรถยนต์ ผมเป็นคนแรกที่ได้ทำงานในโรงงาน เป็นคนแรกที่ได้มีส่วนร่วมในสหภาพ และจากสหภาพ ผมได้ก่อตั้งพรรคการเมือง และด้วยพรรคการเมืองนี้ ผมก็ได้กลายเป็นประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐ”


เส้นทางการเมืองของหนุ่มโรงงาน

การเข้าสู่สนามการเมืองของลูลาไม่ได้มีเพียงปัจจัยจากการสูญเสียนิ้วไปเพียงเท่านั้น อีกปัจจัยสำคัญหนึ่งคือการขึ้นมามีอำนาจและใช้กำลังปราบปรามประชาชนของรัฐบาลทหาร ในช่วงทศวรรษ 1960 ประกอบกับการที่พี่ชายของเขาถูกจับกุมและซ้อมทรมานโดยตำรวจการเมือง และยังไม่นับว่าเขาต้องสูญเสียภรรยาคนแรกพร้อมกับลูกในท้องไปด้วยโรคไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งเป็นการตอกย้ำปัญหาระบบสุขภาพอีกครั้งในชีวิตของเขา

ลูลาเปลี่ยนทัศนคติที่เคยมีต่อสหภาพแรงงาน และมองว่าสหภาพสามารถเป็นเครื่องมือที่จะเติมเต็มความทะเยอทะยานส่วนตัวและปกป้องผลประโยชน์ของแรงงานทั่วไปได้ ความมุ่งมั่นและเสน่ห์ (charisma) ของเขา ส่งผลให้เขาได้รับเลือกเป็นประธานสหภาพแรงงานถึงสองสมัย (ปี 1975 และ 1978)  ทั้งยังเป็นกำลังหลักในการประท้วงหยุดงานและต่อต้านเผด็จการครั้งใหญ่ ในปี 1978 

การประท้วงต่อสู้ที่มีลูลาเป็นผู้นำในช่วงเวลานั้นก่อตัวขึ้นเป็นกระแสที่เชี่ยวกราก จนก่อตัวขึ้นกลายเป็นพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายชื่อ  Partido dos Trabalhadores หรือ ‘PT’ พรรคที่จะส่งให้ลูลาขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี 3 สมัยแห่งสาธารณรัฐบราซิล

พรรค PT ก่อตั้งในปี 1980 ยุคที่รัฐบาลทหารยังมีอำนาจอยู่ มันเป็นพรรคแรงงานฝ่ายซ้ายที่นำเสนอความคิดก้าวหน้าให้แก่ประชาชน หนึ่งในนโยบายสำคัญในช่วงแรกคือการผลักดันให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับหลังรัฐบาลทหาร และเสนอให้รัฐธรรมนูญรับรองสิทธิแรงงานต่างๆ เข้าไปด้วย

แม้จะแพ้การเลือกตั้งในหลายสนาม ลูลาก็ยังสามารถไต่เต้าทางการเมืองขึ้นมาเรื่อยๆ เขาสะสมชื่อเสียงและเครือข่ายทางการเมืองไว้ตลอดเส้นทางการต่อสู้ จนเกิดผลสูงสุดในการชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยแรก


Fome Zero + Bolsa Família นโยบายพลิกวิกฤตยากจน 

ก่อนได้เป็นประธานาธิบดี ลูลาและพรรคก็แพ้การเลือกตั้งในหลายสมัย แต่ระหว่างทางนั้นก็ได้ปรับตัวปรับยุทธศาสตร์มาโดยตลอด ปิยบุตร แสงกนกกุล ตั้งข้อสังเกตในรายการ “กินเล่ากะป๊อกไปป์ : เมนูประจำชาติกับประวัติศาสตร์อันขมขื่น นายก็รู้…ที่นี่บราซิล” ว่า เขาและพรรคยังคงความเป็นซ้ายอยู่ เพียงแค่ค่อยๆ ปรับนโยบายให้ซ้ายน้อยลง และ “ปรับวิธีคิดอะไรบางอย่างเพื่อที่จะทำให้คนกลางๆ เอาด้วย” ซึ่งลักษณะของความเป็นกลางซ้าย (center-left) เช่นนี้ สามารถถูกยืนยันได้จาก สุนทรพจน์หลังรู้ผลชนะเลือกตั้งครั้งล่าสุดของเขาที่บอกว่าพร้อมเป็นประธานาธิบดีของทุกขั้วการเมือง ประกอบกับการดึงคู่แข่งเก่าที่ฝ่ายซ้ายบราซิลไม่ชอบหน้าอย่าง เจอราลโด อัลก์มิน (Geraldo Alckmin) มาเป็นรองประธานาธิบดี (จึงไม่แปลกที่หลายคนตั้งชื่อแนวการเล่นการเมืองของลูลาว่า ‘ปฏิบัตินิยม’) 

อย่างไรก็ดี จอห์น เฟรนช์ ก็วิเคราะห์ไว้ว่า การเมืองในแบบลูลานี่เองที่เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางสังคมในบราซิลไปอย่างมาก พูดให้เห็นภาพ ลูลาได้เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูก สามีภรรยา แรงงานกับทุน และปัญญาชนกับบรรดาแรงงาน ที่เคยเป็นอยู่ในสังคมนั่นเอง

Fome Zero และ Bolsa Família คือสองนโยบายที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นนั้น มันเป็นทั้งนโยบายที่สร้างชื่อให้ลูลา และยกระดับคุณภาพชีวิต (คนจน/ชนชั้นแรงงาน) ชาวบราซิลอย่างใหญ่หลวง

Fome Zero เป็นนโยบายที่พุ่งเป้าไปยังการกำจัดความอดอยากและความยากจนในบราซิล ผ่านการรับรองสิทธิในการเข้าถึงอาหารขั้นพื้นฐานให้แก่ (คนจน) ทุกคน เช่น การสร้างแหล่งกักน้ำฝนสะอาดเพื่อใช้ในการบริโภค การสร้างร้านอาหารราคาประหยัด การให้ความรู้เรื่องสุขอนามัย สนับสนุนปัจจัยการเกษตรในครัวเรือนที่ทำการเกษตร (family farm) การเปิดช่องให้เข้าถึงสินเชื่อขนาดเล็กได้ง่ายขึ้น ตลอดจนถึงการสนับสนุนทางการเงินแก่ครอบครัวกลุ่มที่จนที่สุด 

Bolsa Família เป็นนโยบายที่อยู่ภายในกรอบของ Fome Zero โดยเน้นให้สวัสดิการรัฐเพื่อช่วยเหลือครอบครัวยากจน ผ่านการอัดฉีดเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข (Conditional Cash Transfer: CCT) เช่น หากในครอบครัวมีเด็กอายุ 6-15 ปี เงินจะถูกมอบให้กับผู้เป็นแม่เพื่อให้เด็กได้รับการศึกษาในโรงเรียน ประกอบกับให้เด็กได้รับการฉีดวัคซีนต่างๆ หากต้องสรุป นโยบายนี้สนับสนุนให้คนมีปัจจัยขั้นพื้นฐานในชีวิต ไล่ตั้งแต่การมีอาหารให้กิน สนับสนุนให้คนมีการศึกษา มีเสื้อผ้าไว้ห่มกาย และมีรองเท้าให้สวมใส่

เป้าหมายระยะสั้นของ Bolsa Família คือการลดความยากจนโดยการให้เงินสวัสดิการโดยตรง ส่วนระยะยาวคือการเพิ่มทุนมนุษย์ (human captial) ให้ทุกคนสามารถต่อยอดทักษะในการประกอบอาชีพด้วยตัวเองได้ (จุดนี้เองที่ฝ่ายซ้ายหลายคนวิจารณ์ลูลา ตลอดยังเป็นหลักฐานว่านโยบายของลูลาไม่ได้ซ้ายขนาดนั้น เพราะหากตัดสินจากการเมืองฝ่ายซ้ายกรอบคิดเรื่องทุนมนุษย์นี้ค่อนข้างโอนเอียงไปในขั้วตรงข้ามเลยทีเดียว) 

นโยบาย Bolsa Família ประสบความสำเร็จอย่างมาก มันสามารถทำให้อัตราความเหลื่อมล้ำลดลงไปถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ตลอดจนช่วยลดการใช้แรงงานเด็กได้อย่างมีนัยสำคัญ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) ยังประเมินว่า งบประมาณกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของโครงการนี้ได้ถูกส่งมอบให้ครอบครัวที่ยากจนอย่างแท้จริง ซึ่งเราอาจวิเคราะห์ได้ว่า เป็นเพราะ Bolsa Família เป็นการมอบเงินให้แก่ครอบครัวยากจนโดยตรง ไม่ได้ผ่านตัวกลางอย่างส่วนราชการท้องถิ่น ส่งผลให้มีการคอร์รัปชันและต้นทุนการดำเนินการลดลง

แต่แม้นโยบายของลูลาจะมีผลลัพธ์น่าพึงพอใจแค่ไหนก็ตาม คำวิจารณ์ก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ นโยบายนี้ถูกโจมตีว่าจะส่งเสริมพฤติกรรมเหลวแหลกของคนจน เช่น ได้เงินมาก็ไปกินเหล้าเมายา เอาเงินไปใช้โดยไม่คิด หรือไม่ก็ส่งเสริมให้คนจนติดนิสัยขี้เกียจสันหลังยาวไม่หางานทำ ไปจนถึงขั้นวิจารณ์ว่า นโยบายนี้คือการซื้อเสียงคนจน

นโยบายนี้จะดีร้ายอย่างไรคงเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้ แต่สิ่งหนึ่งที่สะท้อนชัดผ่านนโยบายเหล่านี้ คือตัวตนของลูลาในฐานะชนชั้นแรงงาน ในฐานะเด็กที่เกิดในครอบครัวยากไร้ เพราะหากพิจารณาแต่ละปัญหาที่นโยบายเหล่านี้ให้ความสำคัญ เราจะเห็นสิ่งที่ลูลาวัยเด็กขาดหายไปเต็มไปหมด

เขาเกิดในครอบครัวยากจนทำให้ต้องออกจากโรงเรียนมาหางานทำ จึงไม่แปลกที่นโยบายของเขาจะรับรองว่าเด็กๆ จะมีโรงเรียนไว้เล่าเรียน แทนที่จะออกไปเร่ขายแรงงาน 

เขาต้องสูญเสียนิ้วก้อยข้างซ้ายให้แก่เครื่องจักร และต้องดิ้นรนไปหลายโรงพยาบาลกว่าจะได้รับการรักษา พอโตขึ้นอีกหน่อยก็ต้องสูญเสียภรรยาไปพร้อมกับลูกที่อยู่ในท้องจากโรคร้าย จึงไม่แปลกที่นโยบายของเขาจะส่งเสริมให้คนสามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้

กระทั่งการมีเครื่องแต่งกายไว้สวมใส่ก็มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเขาเช่นกัน เพราะครั้งหนึ่งที่เขาเกิดแต่งกายด้วยชุดสูทสามส่วน (แม้ในยุคหลังเขาใส่เสื้อยืดหาเสียงเป็นหลัก) จนถูกวิจารณ์ทำนองว่าลืมกำพืดความเป็นชนชั้นแรงงานไปเสียแล้ว ลูลาก็พูดตอบโต้ไปว่า 

“ถ้าผมเลือกได้ ผมจะแต่งตัวดูดีในแบบที่ผมอยากแต่งตลอดเวลา แรงงานทุกคนควรจะได้ค่าจ้างที่มากพอสำหรับซื้อสูทดีๆ ใส่ มีรถสักคัน โทรทัศน์จอสีสักเครื่อง เพื่อให้พวกเขาได้เป็นเจ้าของสิ่งที่พวกเขาผลิตสักที”

และไม่ว่านโยบายนี้จะยกระดับชีวิตหรือดีต่อคนจนมากแค่ไหนก็ตาม สุดท้ายมันก็ถูกยกเลิกไปในยุคสมัยของ ‘ชาอีร์ โบลโซนาโร’ (Jair Bolsonaro) อดีตประธานาธิบดีและชายผู้ที่เพิ่งปราชัยให้แก่ลูลาในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด


Operation Car Wash

เล่าอย่างเร็วๆ ในปี 2014 หลังจากลูลาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสองสมัยติด ก็ต้องยอมลงจากตำแหน่งก่อน เพราะรัฐธรรมนูญไม่อนุญาตให้ดำรงตำแหน่งเกินสองสมัยซ้อนได้ เขาจึงส่งทายาททางการเมืองลงแข่งขันแทน แต่พอถึงปี 2018 ที่เขาจะลงสมัครเลือกตั้ง บรรดาฝ่ายขวากลับหาทางกำจัดลูลาออกจากเกมการเมือง ด้วยการใช้นิติสงครามในคดีคอร์รัปชัน ในเหตุการณ์ที่เราเรียกว่า ‘Operation Car Wash’ (ชื่อนี้ได้มาเพราะปฏิบัติการเริ่มต้นจากคดีที่เกี่ยวข้องกับโรงล้างรถ)

ปรากฏว่า ศาลพิพากษาให้ลูลามีความผิด มีโทษจำคุก 9 ปีครึ่ง ลูลาจึงไม่สามารถลงเลือกตั้งได้ ทำให้โบลโซนาโรชนะเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดี และตั้งรัฐบาลขวาจัดขึ้นมา 

การจองจำลูลาเป็นเรื่องใหญ่ถึงขนาดทำให้ปัญญาชนสาธารณะจำนวนมากออกมาเรียกร้องให้คืนอิสรภาพแก่เขา อาทิ Tariq Ali, Robert Brenner, Wendy Brown, Noam Chomsky, Angela Davis, Axel Honneth, Fredric R. Jameson, Leonardo Padura, Carole Pateman, Thomas Piketty, Boaventura de Sousa Santos และ Slavoj Žižek

ต่อมา ลูลาได้รับการปล่อยตัวจากการถูกจองจำไปทั้งสิ้น 580 วัน เพราะศาลสูงสุดบราซิลวินิจฉัยว่า คดีของลูลาไม่อยู่ในเขตอำนาจศาล ประกอบกับ เซอจิโอ โมโร (Sergio Moro) ผู้พิพากษาที่ตัดสินจองจำลูลา ส่อแววว่ามีอคติและมีผลประโยชน์ทางการเมืองมาข้องเกี่ยวสูง เพราะหลังจากเขาเล่นงานลูลาได้ไม่นาน โมโรก็เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรียุติธรรมและความมั่นคงสาธารณะ ในรัฐบาลของโบลโซนาโร 


อนาคตของลูลากับประชาธิปไตยบราซิล

เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า ลูลาได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2022 โดยมีคะแนนเหนือโบลโซนาโร นักการเมืองและอดีตประธานาธิบดีขวาจัด ด้วยคะแนน 50.9 ต่อ 49.1 เปอร์เซ็นต์ (ห่างกันประมาณ 2 ล้านกว่าเสียง)

ผลการเลือกตั้งเช่นนี้ เป็นหลักฐานชัดว่าบราซิลกำลังมีการแบ่งขั้วอย่างรุนแรง ส่วนการที่คนเลือกลูลานั้นอาจจะไม่ซับซ้อนเท่าคนที่เลือกโบลโซนาโร อดีตประธานาธิบดีผู้เคยพูดว่า ใครเห็นต่างก็เอาปืนไปยิงทิ้งได้เลย 

ดังที่ให้ข้อมูลไปแล้วว่า นโยบาย Bolsa Família ของลูลาถูกยกเลิกไปในสมัยที่โบลโซนาโรขึ้นมามีอำนาจ และถูกแทนที่ด้วย Auxílio Brasil นโยบายที่มีเป้าหมายเพื่อแย่งความนิยมในกลุ่มคนจนชนชั้นแรงงานมาจากลูลา (ผู้เป็นที่รักใคร่ของคนกลุ่มนี้มาก) และกลุ่มที่เป็นจุดอ่อนของโบลโซนาโร สิ่งหนึ่งที่ฟ้องว่าเจตนาของโบลโซนาโรเป็นเช่นนั้น คือการที่โครงสร้างเศรษฐกิจในระดับใหญ่ถูกวางภายใต้กรอบของเสรีนิยมใหม่ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทุนเงินหนามากกว่าคนชนชั้นล่างไร้สตางค์ (ยังไม่นับว่าโบลโซนาโรเปิดให้ธุรกิจเอกชนเข้าไปแผ้วถางทำลายป่าอะเมซอน ป่าซึ่งเป็นปอดของโลกไปจำนวนมหาศาล)


ชาอีร์ โบลโซนาโร (Jair Bolsonaro)


การมีเสถียรภาพและเสรีภาพทางเศรษฐกิจ คือสิ่งที่โบลโซนาโรพยายามทำให้เป็นภาพลักษณ์ของตนเอง โดยเฉพาะในกลุ่มที่เป็นธุรกิจการเกษตร (agribusiness) เขายังทำถึงขนาดแต่งตัวเป็นคาวบอยเพื่อหากินกับค่านิยมลูกผู้ชาย (machismo) เกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน (homophobia) ฟังเพลงคันทรีบราซิลที่เรียกว่า Sertanejo และพยายามซื้อใจชาวชนบทด้วยการโปรโมทวัฒนธรรมท้องถิ่น เท่านั้นยังไม่พอ เขายังเข้าหาศาสนิกนิกาย Evangelical Christianity กลุ่มความเชื่อที่ประชากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในบราซิล ซึ่งสารคดีของ Financial Times บอกว่า โบลโซนาโรเป็นนักการเมืองบราซิลคนแรกที่เล่นการเมืองผ่านพื้นที่ศาสนาอย่างเข้มข้นเช่นนี้ 

หรือหากเรานำคำอธิบายของปรากฏการณ์ขวาหันในหลายประเทศทั่วโลก การที่นักการเมืองขวาจัดโผล่ขึ้นมามีอำนาจได้ ก็เป็นเพราะกลุ่มคนเหล่านี้หากินกับขนบประเพณีดั้งเดิม ศีลธรรมทางศาสนาที่คนจำนวนมากยึดถือ เช่น การต่อต่านการทำแท้ง หรือการไม่ยอมให้ยาเสพติดถูกกฎหมาย ซึ่งในกรณีของบราซิล ประชากรกว่าครึ่งหนึ่งเป็นเช่นนั้น 

ยุทธศาสตร์ของโบลโซนาโรนับเป็นเรื่องตลกร้าย เพราะในขณะที่เขาเข้าหาศาสนา รัฐบาลของเขากลับฆ่าคนจนเป็นผักปลา ขณะเดียวกัน แม้จะมีนโยบายช่วยเหลือคนจน แต่สถิติล่าสุดก็ฟ้องว่า ภายใต้สมัยของเขา (ประกอบกับวิกฤตโควิด-19) คนจำนวนกว่า 30 ล้านคน หรือ 15 เปอร์เซ็นต์ของประชากร ไม่มีแม้กระทั่งอาหารขั้นพื้นฐานให้ประทังชีวิต

จุดนี้เองที่ทำให้คนทั่วโลกจับตาการเลือกตั้งประธานาธิบดี 2022 ของบราซิล หลายคนตั้งให้นี่คือสนามประลองระหว่างประชาธิปไตยกับอำนาจนิยม แม้แต่ลูลาเองก็ปราศัยในช่วงหาเสียงว่า มันเป็นการต่อสู้ระหว่างประชาธิปไตยกับฟาสซิสต์ ระหว่างประชาธิปไตยกับพวกป่าเถื่อน (barbarism)

“พวกมันพยายามจะฝังกลบผม แต่ผมก็ยังยืนอยู่ที่นี่” คือคำประกาศที่แสดงถึงความเป็นนักสู้ของลูลาในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด

ความอดอยากและความยากจนยังคงเป็นปัญหาที่ลูลาให้ความสำคัญ เขาเคยกล่าวอย่างหนักแน่นว่า 

“ผมยอมรับไม่ได้ที่ประเทศซึ่งผลิตอาหารได้มากที่สุดอันดับ 3 ของโลก กลับมีคน 33 ล้านคนต้องอดตาย ผมยอมให้มันเกิดขึ้นไม่ได้ ผมยอมไม่ได้ที่ประเทศนี้ซึ่งผลิตเนื้อสัตว์ได้มากที่สุดในโลก ต้องมีผู้หญิงเดินไปร้านขายเนื้อเพียงเพื่อจะได้โครงกระดูกแสนอนาถกลับมาประกอบอาหาร ใส่มันลงไปในซุป มันจะเกิดขึ้นไม่ได้”

การเป็นตัวแทนฝ่ายประชาธิปไตยเข้าต่อสู้กับอำนาจนิยม/ฟาสซิสต์ของลูลานี้เอง ที่ทำให้นักการเมืองและปัญญาชนทั่วโลกสนับสนุนเขา นอม ชอมสกี (Noam Chomsky) นักอนาธิปไตยชื่อดัง ออกมาพูดว่า หากลูลาชนะเราจะสามารถช่วยสิ่งแวดล้อมของโลกไว้ได้ เจเรมี คอร์บิน (Jeremy Corbyn) อดีตผู้นำพรรคแรงงานอังกฤษ ก็ออกมาพูดว่า ชัยชนะของลูลาจะเป็นตัวอย่างให้ฝ่ายประชาธิปไตยได้ถอดบทเรียน แม้แต่อดีตคู่แข่งตำแหน่งประธานาธิบดีของเขาอย่าง เฟอร์นานโด เฮนริเก้ (Fernando Henrique) ยังออกมาแสดงความยินดีและชี้ว่านี่คือชัยชนะของประชาธิปไตย

ลูลาเองก็ออกมาพูดถึงชัยชนะของตัวเองว่า

 “นี่ไม่ใช่ชัยชนะของพรรคแรงงาน (PT) ไม่ใช่ชัยชนะของพรรคการเมืองหน้าไหน แต่เป็นชัยชนะของการเคลื่อนไหวทางประชาธิปไตย [เป็นชัยชนะ] สำหรับประชาชนชาวบราซิลที่ปรารถนาจะได้มากกว่าสิ่งที่พวกเขาได้รับตลอดมา ประชาธิปไตยเป็นมากกว่าแค่คำสวยหรูที่ให้พ่นระบายไปทั่ว — มันเป็นอะไรบางอย่างที่เราต้องรู้สึกได้ในเนื้อหนังของตัวเอง”

อย่างไรก็ดี เวลาเฉลิมฉลองชัยชนะของลูลาคงมีได้ไม่นานนัก เพราะเครือข่ายการเมือง (ที่สนับสนุนโดยคนรวย) ของโบลโซนาโรยังคงครองเสียงจำนวนมากอยู่ในสภา ลูกชายของเขาที่ชื่อ คาร์ลอส โบลโซนาโร (Carlos Bolsonaro) ยังคงเคลื่อนไหวปฏิบัติการปล่อยข่าวปลอมและข้อมูลลวงบนโลกโซเชียลมีเดียต่อไป ซึ่งตรงนี้เองที่เป็นจุดอ่อนของลูลา ชายแก่ low-tech ผู้ไม่หาเสียงบนโลกออนไลน์เลย เขาไม่มีแม้แต่โทรศัพท์มือถือสักเครื่อง!

ไม่ว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร ลูลาก็เป็นตัวอย่างของเด็กยากจนที่ไม่ทนต่อความอยุติธรรมอย่างหนักแน่น จนพี่น้องชนชั้นแรงงานสนับสนุนไว้วางใจให้เป็นผู้นำของพวกเขา แต่การขึ้นเป็นผู้นำของเขาก็ไม่ได้ทำให้เขาเปลี่ยนไป (อย่างน้อยก็ในมุมมองของเขาเอง) ดังที่ครั้งหนึ่งที่เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาเป็นเพียงชนชั้นแรงงานที่ได้พูดสิ่งที่ชนชั้นแรงงานจะต้องพูดเมื่อได้อยู่ต่อหน้าไมโครโฟนเท่านั้นเอง 



อ้างอิง

Olavo Passos de Souza. 2022. Lula’s Victory Over Bolsonaro Has Restored Hope for Brazilian Democracy. Jacobin. https://jacobin.com/2022/10/lula-president-election-victory-bolsonaro-democracy

Andre Pagliarini. 2021.  Why Brazilian Workers Love Lula. Jacobin. https://jacobin.com/2021/07/lula-da-silva-trade-unions-brazil-poltitics-review-john-french 

Jeremy Corbyn. 2022. Lula’s Victory Is a Testament to Solidarity. Tribune. https://tribunemag.co.uk/2022/11/lula-election-victory-brazil-workers-party-solidarity 

Jen Kirby. 2022. Bolsonaro finally speaks — but doesn’t concede the election. vox https://www.vox.com/world/2022/10/31/23432788/brazil-election-lula-wins-bolsonaro-shuts-up 

คณะก้าวหน้า. 2022. เมนูประจำชาติกับประวัติศาสตร์อันขมขื่น นายก็รู้…ที่นี่บราซิล : กินเล่ากะป๊อกไปป์ EP.3 [Video]. Youtube. https://www.youtube.com/watch?v=HpbSpE6u02k 

Financial Times. 2022. Brazil: a nation divided | FT Film [Video]. Youtube. https://www.youtube.com/watch?v=cg-4K8ddmbE&ab

Democracy Now!. 2022. Noam Chomsky & Vijay Prashad: A Lula Victory in Brazil Could Help Save the Planet [Video]. Youtube. https://www.youtube.com/watch?v=Ydw8lJ5z85k&ab

Zoe Pepper. 2019. The struggle for Lula’s freedom will continue. Brasil de Fato. https://www.brasildefato.com.br/2019/01/02/article-or-the-struggle-for-lulas-freedom-will-continue

The post จากเด็กขัดรองเท้าสู่ประธานาธิบดี 3 สมัย: “ลูลา” ผู้เป็นที่รักของชนชั้นแรงงาน appeared first on คณะก้าวหน้า.

]]>
https://progressivemovement.in.th/article/common-school/8198/feed/ 6