ภาคภูมิ แสงกนกกุล – คณะก้าวหน้า https://progressivemovement.in.th Thu, 15 Dec 2022 08:57:33 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.8.9 https://progressivemovement.in.th/wp-content/uploads/2020/04/cropped-โลโก้คณะก้าวหน้า-png-01-2-32x32.png ภาคภูมิ แสงกนกกุล – คณะก้าวหน้า https://progressivemovement.in.th 32 32 สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้ https://progressivemovement.in.th/article/common-school/8337/?utm_source=rss&utm_medium=rss&utm_campaign=confucianism-and-welfare-state-in-south-korea https://progressivemovement.in.th/article/common-school/8337/#comments Thu, 15 Dec 2022 07:56:00 +0000 https://progressivemovement.in.th/?p=8337 ภาคภูมิ แสงกนกกุล ชวนสำรวจทุนนิยมแบบเกาหลีใต้ ที่วางอยู่บนฐานของปรัชญาขงจื๊อ ตลอดจนปัญหารัฐสวัสดิการที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน

The post สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้ appeared first on คณะก้าวหน้า.

]]>
การเติบโตพัฒนาประเทศอย่างมหัศจรรย์ของเกาหลีใต้
เกาหลีใต้เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ผ่านประวัติศาสตร์บาดแผลความลำบากมาอย่างยาวนาน เคยตกเป็นประเทศอาณานิคม เป็นสมรภูมิรบในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเกิดความสูญเสียมหาศาล เป็นสมรภูมิสงครามตัวแทนระหว่างมหาอำนาจสองค่ายในสงครามเย็น ผ่านสงครามการแบ่งประเทศ อย่างไรก็ตามเกาหลีก็เป็นประเทศที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างน่าอัศจรรย์ เกาหลีใช้เวลา 50 ปีเปลี่ยนผ่านจากประเทศกสิกรรมที่มีความยากจนสูงจากทศวรรษ 1960 กลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมรายได้สูง ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 26 เท่า ด้วยอัตราเฉลี่ยการเติบโตเศรษฐกิจ 7.1% ขนาดเศรษฐกิจในปัจจุบันใหญ่เป็นอันดับ 10 ของโลก

ในด้านสวัสดิการและคุณภาพชีวิตของประชาชน อายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 83 ปี อัตราความยากจนอยู่ที่ 5.2% ประชาชนมีสิทธิได้รับการศึกษาจากรัฐบาล สัดส่วนของประชากรอายุ 25-64 ปีที่ผ่านการศึกษาระดับมัธยมสูงถึง 89%  ค่าใช้จ่ายด้านปกป้องสังคม (Social protection expenditure) มีมูลค่าเกือบ 10% ของ GDP ประชาชนเกาหลีเข้าถึงสวัสดิการหลายรูปแบบทั้งการรักษาพยาบาล การศึกษา บำนาญ และการว่างงาน

เกาหลีใต้จึงเป็นโมเดลการพัฒนาประเทศที่นักวิชาการศึกษาเพื่อนำมาปรับใช้เป็นแบบอย่างพัฒนาให้กับประเทศกำลังพัฒนาหลายๆ ประเทศ อย่างไรก็ตามโลกนี้ไม่มีอะไรฟรี การพัฒนาประเทศของเกาหลีมีปัจจัยหลายๆ อย่างที่ไม่ได้เกิดขึ้นมาเองตามธรรมชาติ แต่มาจากหยาดเหงื่อที่คนในชาติต้องช่วยกันเสียสละทุ่มเทพัฒนาขึ้นมา


การปรับใช้ค่านิยมขงจื๊อในระบบทุนนิยมเกาหลีใต้

รูปแบบรัฐสวัสดิการตะวันตกมีลักษณะที่ให้สวัสดิการประชาชนอย่างครอบคลุมและคุณภาพสูง มีการใช้จ่ายด้านสังคมสูง และมีการเก็บภาษีอัตราสูง อย่างไรก็ตามรัฐสวัสดิการตะวันตกก็มิใช่เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน แต่เป็นกระบวนการที่ค่อยๆ ใช้เวลาเปลี่ยนแปลงหลายศตวรรษ รัฐมิได้กระจายสวัสดิการคุณภาพสูงให้แก่ประชาชนได้ทันที แต่ค่อยๆ เพิ่มสิทธิประโยชน์ และขยายการครอบคลุมเป็นไปตามการเจริญเติบโตของตัวเลข GDP และงบประมาณรัฐที่เพิ่มขึ้น

ด้วยข้อจำกัดทางทรัพยากร เกาหลีใต้ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองจึงไม่สามารถเลียนแบบลักษณะดังกล่าวได้ทันที แต่เกาหลีใต้เลือกที่จะพัฒนาระบบรัฐสวัสดิการที่แตกต่างออกไป เพื่อลดระยะเวลาที่รัฐสวัสดิการตะวันตกใช้เวลาหลายศตวรรษให้เหลือเพียง 50 ปี เพื่อสร้างรูปแบบรัฐสวัสดิการที่สนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กับการสร้างระบบปกป้องสังคม เกาหลีเลือกที่จะใช้สถาบันครอบครัวเป็นสถาบันหลักในการจัดหาสวัสดิการให้ประชาชน โดยรัฐบาลเป็นฝ่ายสนับสนุน

ค่านิยมขงจื้อในสถาบันครอบครัวมีหลายจุดที่สนับสนุนการทำงานของระบบทุนนิยมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และผลักดันให้เศรษฐกิจของเกาหลีเติบโตขึ้นตามมา นักวิชาการเช่นศาสตราจารย์ Tu Wei-Ming อธิบายว่ามันคือ “ทุนนิยมแบบขงจื้อ” ซึ่งมีลักษณะความคิดที่ให้ความสำคัญเรื่องตัวเรากับความสัมพันธ์ต่อผู้อื่น เพื่อสร้างชุมชนที่มีความไว้วางใจระหว่างกันโดยเริ่มตั้งแต่ฐานจากความสัมพันธ์ในครอบครัว การให้ความสำคัญของพิธีการต่างๆ เพื่อฝึกฝนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน การให้ความสำคัญต่อการศึกษาเพื่อสร้างบุคลิกภาพขึ้นมา การให้ความสำคัญของพฤติกรรมที่เป็นแบบอย่างที่ดีของผู้นำทางการเมือง การหลีกเลี่ยงปะทะความขัดแย้งในประชาสังคม แต่มุ่งหาการประนีประนอมฉันทามติ และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง

คุณค่าดังกล่าวช่วยให้แต่ละคนตระหนักว่าตัวเองมีบทบาทหน้าที่อะไร โดยทุกคนมีความสำคัญในระบบใหญ่ทั้งนั้น เพราะระบบในภาพใหญ่เดินหน้าไปได้ ก็ต้องมีการทำงานของฟันเฟืองตัวเล็กๆ ในสังคม และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการแบ่งงานกันทำในระบบทุนนิยม การให้ความสำคัญกับการศึกษาและพัฒนาเรียนรู้อย่างต่อเนื่องไม่สิ้นสุดได้กลายเป็นฐานของการพัฒนาทุนมนุษย์ในเกาหลี สิ่งเหล่านี้ได้นำไปสู่การเปลี่ยนผ่านจากระบบเศรษฐกิจที่ใช้แรงงานเป็นหลักเป็นระบบเศรษฐกิจที่อยู่บนฐานองค์ความรู้ ความมีระเบียบวินัยของประชาชนยังช่วยให้การปกครองเป็นไปอย่างราบรื่น ผู้อยู่ใต้ปกครองปราศจากข้อสงสัยและการต่อต้าน

เส้นสายความสัมพันธ์การช่วยเหลือของครอบครัวช่วยให้การสะสมทุนและการขยายตัวของบรรษัทใหญ่จนกลายเป็นแชโบลที่พัฒนาการผลิตและเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว

บทบาทของรัฐบาลเกาหลีในช่วงทศวรรษ 1950-1980 ต่อสวัสดิการสังคมและครอบครัวจึงมีเพียงเล็กน้อย มีการให้เงินช่วยเหลือเฉพาะครัวเรือนที่ลำบากและไม่มีสมาชิกในครอบครัวช่วยเหลือ เช่น แม่เลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวที่หัวหน้าครัวเรือนไม่มีสถานภาพการจ้างงาน รวมถึงให้สิทธิประโยชน์แก่ครัวเรือนที่สร้างคุณประโยชน์ให้ชาติ เช่น ครัวเรือนที่มีสมาชิกเป็นทหาร ตำรวจ รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงสังคมและครอบครัวในรูปแบบของกฎระเบียบควบคุม มากกว่าที่จะใช้ภาษีจำนวนมหาศาลเพื่อให้สวัสดิการทั้งในรูปแบบของเงินให้เปล่าและบริการสาธารณะ และปล่อยภาระดังกล่าวให้ครัวเรือนตามค่านิยมขงจื๊อที่พ่อแม่มีหน้าที่ให้การศึกษาบุตรธิดา และกตัญญูต่อบิดามารดา กระแสการเข้าถึงสวัสดิการจึงขึ้นอยู่กับความต่อเนื่องของการสืบสายตระกูลและความกตัญญู ชายวัยทำงานจึงทุ่มเททำงานอย่างหนัก เสียสละเวลาส่วนตัว เสียสละความฝันส่วนตัว เพื่อนำมาให้สวัสดิการแก่สมาชิกในบ้าน แม่บ้านทำหน้าที่ในการจัดการภายในบ้าน ดูแลสามี-ลูก พ่อแม่สามี เพื่อให้ครอบครัวดำเนินไปอย่างราบรื่น ลดความห่วงหน้าพะวงหลังของสามีขณะไปทำงาน ลูกมีหน้าที่ในการตั้งใจศึกษาเล่าเรียนอย่างเต็มความสามารถเพื่อโตขึ้นไปประกอบสัมมาอาชีพและรับช่วงความรับผิดชอบต่อจากพ่อ

และถึงแม้จะมีการขยายสวัสดิการสังคมมากขึ้นภายใต้รัฐบาลทหาร แต่การขยายดังกล่าวมุ่งเป้าไปเฉพาะบางกลุ่มประชากรที่เป็นคุณต่อการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศและความสงบเรียบร้อย รัฐบาลอำนาจนิยมใช้กำลังทหารในการปราบปราม พร้อมๆ กับการใช้ไม้อ่อนด้วยรูปแบบสวัสดิการ เพื่อตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น อัตรายากจนที่ลดลง คุณภาพชีวิตโดยเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น สร้างความชอบธรรมของการปกครอง


วิกฤติการเงิน 1997 และการแปลค่านิยมขงจื๊อใหม่

อย่างไรก็ตามการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมหัศจรรย์ก็ถึงจุดเสื่อมถอย วิกฤติการเงินในปี 1997 ส่งผลต่อเนื่องให้เศรษฐกิจเกาหลีพังทลายและจำเป็นต้องปรับโครงสร้างขนานใหญ่ โมเดลพัฒนาประเทศแบบเกาหลีได้สร้างความเหลื่อมล้ำสังคม สังคมมีความเป็นปัจเจกมากขึ้น คุณค่าของการทำงานถูกตีความหมายตามมูลค่าของกลไกตลาด การผูกขาดของแชโบลจากการสนับสนุนของระบบอุปถัมภ์ชะลอการพัฒนาความสามารถการแข่งขันในโลกาภิวัตน์ ปัญหาเศรษฐกิจทุนนิยมแบบขงจื๊อดังกล่าวได้นำมาสู่การตั้งคำถามว่า ค่านิยมแบบขงจื๊อมันล้าสมัยหรือไม่ และจะสามารถปรับตัวเข้ากับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วได้อย่างไร?

Seong Hwan Cha นักวิชาการด้านสังคมวิทยาของเกาหลีได้ให้ทรรศนะอย่างน่าสนใจว่า ระบบทุนนิยมแบบขงจื๊อที่นำมาแปลและปฏิบัติใช้นั้นเป็นการตีความจากมุมมองของคนต่างประเทศและติดกรอบการวิเคราะห์ทุนนิยมแบบเวเบอร์ นักการเมืองและผู้ออกแบบนโยบายพัฒนาประเทศของเกาหลีเลือกที่จะแปลและตัดความหมายของแนวคิดของขงจื๊อที่เป็นคุณต่อระบบทุนนิยม และการปกครองแบบอำนาจนิยม เขามองว่าระบบทุนนิยมแบบตะวันตกเป็นระบบที่เน้นเรื่องการแข่งขันและประสิทธิภาพเป็นหลัก เป็นระบบที่เต็มไปด้วยผู้เชี่ยวชาญแต่ไร้จิตวิญญาณ มีข้อด้อยจากที่ระบบจะสร้างความแปลกแยกความแตกแยกระหว่างผู้คนมากขึ้น ในขณะที่วัฒนธรรมขงจื๊อแบบตะวันออกมุ่งแสวงหาความกลมกลืนกันของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ แต่มีข้อด้อยเรื่องประสิทธิภาพและการแข่งขัน

อย่างไรก็ตามเขาก็มองว่าการรับทุนนิยมตะวันตกไม่ได้หมายความว่าเราต้องปฏิเสธคุณค่าของตะวันออก ซึ่งเป็นคุณค่าพื้นฐานในสถาบันอย่างยาวนานจนยากจะลบเลือน เขากระตุ้นให้เกาหลีหาหนทางเลือกที่สามที่เป็นการผสมผสานของคุณค่าตะวันตกและตะวันออก นำข้อดีของทั้งสองฝ่ายเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพและความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ จิตใจมนุษย์ได้พร้อมๆ กัน

การปกครองแบบอำนาจนิยม และการใช้ระบบอุปถัมภ์ ได้ถูกตีความใหม่ และมองเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข ความสงบสุขของสังคมที่เป็นเป้าหมายของขงจื๊อเพื่อสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาลเผด็จการ ความสงบสุขในสังคมดังกล่าวถูกมองว่าแท้จริงแล้วมาจากการใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานและขบวนการประชาสังคม ซึ่งแนวความคิดของขงจื๊อแท้จริงแล้วไม่ได้สนับสนุนให้ประชาชนเชื่องต่อผู้ปกครอง แต่ประชาชนมีหน้าที่ทัดทานการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ไม่มีคุณธรรมของผู้ปกครอง ผู้ปกครองเองก็ต้องมีพฤติกรรมและคุณธรรมที่เป็นแบบอย่าง ระบบอุปถัมภ์ที่นำไปสู่การสร้างแชโบล การบิดเบือนการแข่งขันที่เป็นธรรม และการผูกขาดตลาด ตรงกันข้าม 

ครอบครัวตามแนวคิดของขงจื๊อมีหน้าที่ช่วยส่งเสริมให้สมาชิกพัฒนาตนเอง แสวงหาความรู้ ส่วนการได้รับผลตอบแทนหรือได้ตำแหน่งการทำงานต่างๆ ก็ต้องขึ้นอยู่กับความสามารถและคุณธรรมของคนๆ นั้น


การปฏิรูปสถาบันครอบครัวและรัฐสวัสดิการเกาหลีใต้

การขยายสิทธิประโยชน์แก่สวัสดิการครอบครัวในเกาหลีเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ภายหลังการฟื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจ ทั้งนี้มาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครอบครัวที่เป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น การเคลื่อนไหวกดดันของภาคประชาสังคม การเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลประชาชน  การเข้าสู่สังคมสูงวัย และรายได้ต่อประชากรที่เพิ่มสูงขึ้น

รัฐบาลเพิ่มบทบาทเชิงรุกมากขึ้นกว่าเดิมแต่ก็มิได้ลดความสำคัญของสถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อ ครอบครัวยังเป็นสถาบันพื้นฐานของสังคม แต่มีรัฐบาลเป็นผู้ช่วยสนับสนุนมากขึ้น สร้างการทำงานร่วมกันของ ครอบครัว-รัฐบาล-ชุมชน-กลไกตลาด ความร่วมมือระหว่างเอกชน-รัฐบาล การตีความครอบครัวในความหมายใหม่ มิใช่ครอบครัวแบบพ่อทำงานหนัก แม่เป็นแม่บ้าน ลูกศึกษาเล่าเรียนเท่านั้น แต่สิทธิประโยชน์ขยายไปยังครอบครัวที่ไม่ได้ผูกพันกันตามสายเลือดด้วย สมาชิกครอบครัวที่มาจากการอุปถัมภ์รับเลี้ยงก็มิสิทธิได้รับสวัสดิการสังคมเช่นเดียวกัน ครอบครัวเดี่ยวที่ไม่มีบุตรหลานก็มีสิทธิได้รับสวัสดิการสังคมเช่นเดียวกันถ้ามีญาติพี่น้องตระกูลเดียวกันทำงานในตลาดแรงงาน การพัฒนาสวัสดิการยังเพิ่มขึ้นในเชิงคุณภาพด้วย รัฐบาลมีการลงทุนสร้างโรงสร้างพื้นฐานและให้เงินสนับสนุนมากขึ้นเพื่อผลิตบริการดูแลเด็กแรกเกิดและดูแลคนชรามากขึ้น ให้เงินสังคมสงเคราะห์ฉุกเฉินแก่ครอบครัวที่ต้องการความช่วยเหลือ นอกจากนี้สนับสนุนให้ประชาชนสร้างสมดุลการทำงานและการใช้ชีวิต (work-life balance) สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศในครัวเรือน และลดความรุนแรงในครอบครัว


ความท้าทายของค่านิยมขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

ถึงแม้ระบบสวัสดิการของเกาหลีใต้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีความเหลื่อมล้ำที่ต้องทำการแก้ไขอีกในอนาคต ร้อยละ 20 ครัวเรือนยากจนที่สุดมีรายได้เพียง 6% ของรายได้ทั้งหมด เงินช่วยเหลือการว่างงานยังคงต่ำและไม่เพียงพอ เงินบำนาญผู้สูงอายุก็ไม่เพียงพอและบังคับให้แรงงานสูงอายุต้องทำงานต่อเนื่องหลังเกษียณ ความเหลื่อมล้ำทางเพศในการจ้างงานและสถานที่ทำงานยังคงเป็นปัญหาของสังคมชายเป็นใหญ่

ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ได้ถูกถ่ายทอดเพื่อให้สังคมตระหนักรู้ผ่านภาพยนตร์และซีรีย์เกาหลีหลายๆเรื่อง เช่น Parasite, Twenty five- twenty one, Little women,  Our Blues, Reply 1988 และนำไปสู่การตั้งคำถามอีกครั้งในการปฏิรูปสถาบันครอบครัวขงจื๊อครั้งใหม่อย่างไร?

ผมขอปิดบทความนี้ด้วยข้อความจากด็อกซอน เรื่อง Reply 1988 ที่กล่าวว่า

“บางครั้ง ครอบครัวอาจเป็นคนที่หลงลืมเรามากที่สุด แต่ถึงอย่างนั้น ในท้ายที่สุด สิ่งที่ช่วยให้คุณเอาชนะอุปสรรค ไม่ใช่สมองที่เต็มไปด้วยความรู้ แต่เป็นบางคนที่ยอมให้คุณจับมือ และจะไม่มีวันจากคุณไป และนั่นก็คือครอบครัว”

The post สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้ appeared first on คณะก้าวหน้า.

]]>
https://progressivemovement.in.th/article/common-school/8337/feed/ 10
สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ https://progressivemovement.in.th/article/common-school/8286/?utm_source=rss&utm_medium=rss&utm_campaign=brave-relation-of-family-and-welfare-state https://progressivemovement.in.th/article/common-school/8286/#comments Sat, 19 Nov 2022 06:22:11 +0000 https://progressivemovement.in.th/?p=8286 ภาคภูมิ แสงกนกกุล ชวนสำรวจประวัติศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันครอบครัวกับรัฐสวัสดิการ

The post สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ appeared first on คณะก้าวหน้า.

]]>
ครอบครัวและหน้าที่

ครอบครัวเป็นสถาบันทางสังคม เป็นหน่วยย่อยพื้นฐานของสังคม หลายๆ ครอบครัวกลายเป็นชุมชน หลายๆ ชุมชนกลายเป็นสังคม บทบาทและความสำคัญของครอบครัวมีมาอย่างยาวนานตั้งแต่ประวัติศาสตร์มนุษยชาติเริ่มก่อร่างสร้างอารายธรรมในพื้นที่ภูมิภาคต่างๆ ครอบครัวเป็นแหล่งที่มาแรกและสำคัญที่สุดของการจัดหาสวัสดิการให้กับปัจเจกชนในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่วินาทีแรกที่กำเนิดจวบจนวินาทีสุดท้ายในเชิงตะกอน

สถาบันครอบครัวก็เช่นเดียวกับสถาบันอื่น กล่าวคือมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและความสัมพันธ์ตามกาลเวลา ตามปฏิสัมพันธ์การเปลี่ยนแปลงของระบบอื่นที่เกี่ยวข้อง ในสังคมเกษตรกรรมที่สัมพันธ์กับการผลิตแบบยังชีพ ครอบครัวจำเป็นต้องเป็นครอบครัวใหญ่ที่มีสาแหรกหลายชั่วรุ่นเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนของความเสี่ยงต่างๆ ปัจจัยการผลิตไม่ว่าจะเป็นที่ดิน แรงงาน ทุน ต่างเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนรวมของครัวเรือนใหญ่ ผลผลิตที่ได้ก็เป็นกรรมสิทธิรวมและจะถูกแจกจ่ายอย่างเหมาะสมภายใต้การตัดสินใจของกลุ่มผู้อาวุโสของตระกูล ยิ่งไปกว่านั้นด้วยข้อจำกัดของความรู้และเทคโนโลยีการผลิตที่ไม่เพียงพอ ทำให้ครัวเรือนต่างๆ ประสบปัญหานานับประการ ไม่ว่าจะเป็นความอดอยากจากการผลิตอาหารไม่เพียงพอ การถูกขูดรีดเก็บภาษีจากเจ้าที่ดิน ความไม่แน่นอนของภัยธรรมชาติ การระบาดโรค ผลที่ตามมาทำให้การตัดสินใจต่างๆ วางอยู่บนฐานผลประโยชน์ส่วนรวมของตระกูลมากกว่าการตัดสินใจอย่างเสรีเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง สายใยความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกครอบครัวนั้นนอกจากเป็นสัญลักษณ์ของการสืบสายเลือดแล้ว มันก็มีโซ่ตรวนของหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติด้วยเช่นกัน คนหนุ่ม-สาวแต่งงานเพื่อความรักและเพื่อหน้าที่ นอกจากต้องทำงานเพื่อเลี้ยงดูพ่อแม่ผู้อาวุโสแล้ว ก็ต้องมีหน้าที่ลูกหลานสืบสกุล และเลี้ยงดูฟูมฟักบุตรหลานเพื่อเป็นแรงงานสืบทอดต่อๆ ไป 


ระบบทุนนิยมและการเปลี่ยนแปลงสถาบันครอบครัว

เมื่อระบบการผลิต ความสัมพันธ์การผลิต และระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนเป็นทุนนิยม มันก็ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของสถาบันครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การทำงานในท้องทุ่งกรรมสิทธิ์ส่วนรวมของตระกูลก็ค่อยๆ ลดน้อยถอยลง แรงงานจากท้องนาก็ค่อยๆ อพยพไปทำงานในโรงงานกับคนที่ไม่รู้จักแทน สวัสดิการที่แต่เดิมได้จากครอบครัวก็ลดน้อยถอยลงไป แรงงานต้องพึ่งพิงสวัสดิการจากค่าจ้างแรงงานและนายจ้างแทน ครอบครัวที่เดิมมีขนาดใหญ่สมาชิกหลายๆ รุ่นก็กลายเป็นครอบครัวขนาดเล็ก สายสัมพันธ์สายใยในครอบครัวก็เริ่มเจือจางลงไป แต่เดิมที่มารดาเมื่อแรกคลอดบุตรมีเวลาเหลือจากการทำงานเพื่อให้นมเลี้ยงดูบุตรตนเอง และมีญาติๆ พี่น้องคอยช่วยเลี้ยงดูอีกแรง ก็กลับกลายเป็นว่าต้องทิ้งลูกแรกเกิดเพื่อไปใช้แรงงานอย่างหนักในโรงงาน

ยิ่งไปกว่านั้นสวัสดิการและเสรีภาพที่เคยวาดฝันไว้ว่าจะได้รับจากระบบทุนนิยม กลับกลายเป็นตรงกันข้าม ค่าตอบแทนแรงงานถูกกดจนไม่เพียงพอจะเลี้ยงแรงงานและครอบครัว สวัสดิการที่ได้จากแรงงานตามกลไกตลาดนั้นไม่เพียงพอที่จะทดแทนสวัสดิการจากครอบครัวที่หดหายไปจากการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบทุนนิยม ความโหดร้ายของทุนนิยมแบบสุดโต่ง (Laissez-faire) ไม่อนุญาตให้มีพื้นที่ของความเอื้ออาทร หรือการพึ่งพาอาศัยอย่างที่นักปรัชญาเคยใฝ่ฝันไว้ แต่กลับไปกระตุ้นความเห็นแก่ตัว และความละโมบไร้ขอบเขตของมนุษย์ เนื่องด้วยความต้องการถ่านหินที่สูงขึ้นเพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานใหม่ การทำเหมืองแร่จึงมีจำนวนมหาศาลและต้องการแรงงานมากขึ้น ซึ่งเทคนิคการขุดเจาะแบบเก่ายังไม่พัฒนาเท่าปัจจุบัน จึงต้องอาศัยการขุดเจาะใต้ดิน และขนาดร่างกายเด็กที่มีขนาดเล็กกว่าผู้ใหญ่ก็ช่วยให้แทรกตัวเข้าไปในพื้นที่คับแคบในเหมืองถ่านหินได้ง่ายกว่า ยุโรปในศตวรรษที่ 19 จึงสามารถพบการใช้แรงงานเด็กอย่างปกติโดยไม่มีกฎหมายแรงงานคุ้มครองใดๆ แรงงานเด็กทั่วโลกมีจำนวนถึง 150 ล้านคน พ่อแม่นำลูกอายุ 6 ขวบของตนเองไปทำงานกับเครื่องจักร ทำงานในเหมืองถลุงแร่ ไม่ต่ำกว่าวันละ 16 ชั่วโมง ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นมิตรต่อสุขภาพ และเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานบ่อยครั้ง เพียงเพื่อแลกกับค่าแรง ขนมปังที่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต1  กล่าวโดยสรุป สภาพของสถาบันครอบครัวและสายใยความสัมพันธ์ครอบครัวได้ถูกทำลายอย่างสิ้นเชิง สังคมกำลังล่มสลายไร้ทิศทาง 


รัฐสวัสดิการและเป้าหมายการทดแทนสถาบันครอบครัว

เมื่อสถาบันครอบครัวล่มสลาย ชุมชนไม่เหลือความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้แก่กัน กลไกตลาดสร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นขึ้นมา ดังนั้นรัฐจึงต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญในการจัดหาสวัสดิการให้ประชาชน รัฐเริ่มสร้างสถานเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดเพื่อให้แรงงานไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลังเมื่อต้องทำงานในโรงงาน รัฐเริ่มออกกฎหมายประกันอุบัติเหตุระหว่างการทำงานเพื่อสร้างความแน่นอนของการผลิต เป็นต้น

อย่างไรก็ตามเป้าหมายของรัฐสวัสดิการหรือการกระจายรัฐสวัดิการแก่ประชาชนนั้นมีหลายเป้าหมาย ได้แก่ สร้างเสถียรภาพของเศรษฐกิจ การผลิต เสถียรภาพของสังคม กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ จัดการความเสี่ยงสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ กระจายสวัสดิการและลดความเลื่อมล้ำสังคม แต่เป้าหมายระยะยาวหรือเป้าหมายสูงสุดของรัฐสวัสดิการ คือ การสร้างความสัมพันธ์ขึ้นมาใหม่ ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันต่างๆ ภายในรัฐ ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนด้วยกัน ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและสังคม/ประชาชน 

สำหรับกรณีรัฐสวัสดิการยุโรปแล้ว การให้สวัสดิการยังช่วยสร้างสถาบันครอบครัวภายใต้คุณค่าสังคมแบบรัฐสมัยใหม่ที่เรียกว่าความสมานฉันท์ระหว่างรุ่น (intergeneration solidarity) ขึ้นมาแทนที่ของเดิมที่ถูกทำลายทิ้งไปแล้ว กล่าวคือ รัฐเปลี่ยนแปลงคุณค่าความกตัญญูของสถาบันครอบครัวแบบเก่าที่แต่เดิมสมาชิกครอบครัวจัดหาสวัสดิการเฉพาะครอบครัวตนเอง ให้กลายเป็นผลประโยชน์ต่างตอบแทนระหว่างเพื่อนร่วมชาติ จากเดิมที่เราเสียสละแรงงาน เวลา ความสุขส่วนตัวเพื่อดูแลเฉพาะลูกหลานพ่อแม่ของเรา ก็กลายเป็นสังคมที่คนทุกรุ่นสามารถอยู่ร่วมกันพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน พร้อมส่งต่อสังคมสมานฉันท์ให้คนรุ่นต่อๆ ไป โดยนำมาเป็นหลักปฏิบัติที่เกิดขึ้นจริงได้แก่ กลุ่มประชากรวัยทำงานก็ต้องทำงานสุดความสามารถ สร้างรายได้ให้กับตนเอง ครอบครัว และจ่ายภาษีให้แก่สังคม เพื่อที่ว่าภาษีดังกล่าวจะถูกไปใช้จ่ายกับนโยบายสาธารณะเพื่อให้แก่คนชรารุ่นพ่อแม่ในรูปแบบรางวัลตอบแทนที่คนรุ่นดังกล่าวได้เสียสละแรงงานร่วมสร้างชาติขึ้นมา อีกส่วนหนึ่งนำมาเป็นสวัสดิการให้เด็กหนุ่มสาวซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในอนาคต และเมื่อเวลาผ่านไปจากคนวัยทำงานก็กลายเป็นคนชราและได้รางวัลตอบแทนจากสวัสดิการที่ผลิตจากภาษีของคนรุ่นเด็กก็เติบโตเข้าสู่วัยทำงาน 

หลักความสมานฉันท์ระหว่างรุ่นดังกล่าวส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในรัฐเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่ความผูกพันระหว่างครอบครัว การให้ความสำคัญแก่ผลประโยชน์ครอบครัวมากเกินไป ก็กลายเป็นสร้างความเข้าอกเข้าใจเพื่อนร่วมชาติ และร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเพื่อนร่วมชาติ 

อีกทั้งความสัมพันธ์แบบใหม่ที่สร้างมาก็ได้ลบล้างข้อด้อยของความสัมพันธ์แบบเก่า ประการแรก หน้าที่ของครอบครัวที่วางอยู่บนความสัมพันธ์ ของสถานะ เพศ อายุ ก็เปลี่ยนเป็นความสัมพันธ์ข้อผูกมัดทางกฎหมาย สวัสดิการที่เราได้รับจะมีความแน่นอนมากขึ้นเนื่องจากเป็นสิทธิตามกฎหมาย ประการสอง ช่วยให้มีการกระจายรายได้เพื่อสร้างความเป็นธรรมมากขึ้น และปกป้องไม่ให้การเสียสละมีมากเกินไปจนเกิดความลำบากแก่ผู้ให้ ป้องกันมิให้คนยากจนที่จิตใจเอื้อเฟื้อเข้าช่วยเหลือคนอื่นจนสิ้นเนื้อประดาตัว ในขณะเดียวกันก็บังคับให้เศรษฐีจิตใจตระหนี่จ่ายเงินเพื่อช่วยเหลือคนในสังคมมากขึ้น ซึ่งวิธีดังกล่าวก็ได้พัฒนาเป็นการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า และภาษีชนิดอื่นเพื่อเกิดการกระจายรายได้


ปัญหาของรัฐเข้ามาทรกแซงสถาบันครอบครัวมากเกินไป

ถึงแม้รัฐสวัสดิการจะมีข้อดี แต่ก็เปรียบเสมือนเป็นดาบสองคมถ้าการแทรกแซงของรัฐเกินขอบเขตมากเกินไป การรักษาสมดุลระหว่างการแทรกแซงของรัฐ-การรักษาเสรีภาพประชาชน จึงเป็นคำถามใจกลางสำคัญมาตลอดว่า ระดับไหนถึงจะเพียงพอและรัฐมีความชอบธรรม 

การที่รัฐเข้ามาทดแทนสถาบันครอบครัวในยุโรปได้เกิดปรากฏการณ์ไม่พึงประสงค์ขึ้นมาที่เรียกว่า Male breadwinner กล่าวคือ สิทธิประโยชน์จากประกันสังคม และสวัสดิการจากรัฐได้ผูกติดสถานการณ์ทำงานของหัวหน้าครัวเรือน ซึ่งก็คือพ่อเป็นหลัก หน้าที่ของภรรยากลับกลายเป็นเรื่องงานบ้านและเลี้ยงดูลูกซึ่งภาระดังกล่าวกลับไม่ถูกเห็นค่าหรือถูกบันทึกใน GDP แต่อย่างใด ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศชายและหญิงตามมา เพศหญิงต้องเสียสละการงานที่เคยทำก่อนแต่งงาน และต้องพึ่งพารายได้และประกันสังคมจากสามีเป็นหลัก ความสัมพันธ์ในครัวเรือยของเพศหญิงจึงตกเป็นเบี้ยล่างของเพศชาย ซึ่งในบางกรณีก็บานปลายกลายเป็นความรุนแรงในครอบครัวตามมา 

ปัญหาดังกล่าวได้ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นสาธารณะในยุโรปเริ่มต้นช่วงทศวรรษ 1950 นอกจากนี้ปัญหาการหย่าร้างที่เพิ่มมากขึ้น ลักษณะครอบครัวที่มีขนาดเล็กลง ระดับการศึกษาของเพศหญิงสูงมากขึ้น ค่านิยมสังคมที่เปลี่ยนไป รวมถึงความต้องการแรงงานที่มากขึ้น เป็นแรงผลักดันให้เกิดการปฏิรูปสวัสดิการจากรัฐตามมาในหลายๆประเทศ สวัสดิการทั้งในรูปแบบเงินโอนและไม่ใช่เงินโอนได้ถูกนำมาใช้เพื่อกระตุ้นให้เพศหญิงเข้าสู่ตลาดแรงงาน และให้สถานะการทำงานของเพศหญิงเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น อาทิเช่น การให้สิทธิการลาคลอดแก่เพศหญิง การแก้กฎหมายการจ้างงาน การขยายสิทธิประกันสังคมแก่แรงงานในภาคบริการซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง การให้เงินช่วยเหลือ และสวัสดิการแก่มารดา เป็นต้น


ทางแยกสถาบันครอบครัวไทย

ประเทศไทยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองมีลักษณะคล้ายกลับประเทศอื่นในโลกตะวันออก กล่าวคือ รัฐมีทรัพยากรที่จำกัดและไม่สามารถจัดหาสวัสดิการคุณภาพดีอย่างทั่วถึงให้กับทุกคน สถาบันครอบครัวจึงเป็นสถาบันหลักในการจัดหาสวัสดิการให้แก่สมาชิก และคุณค่าความสำคัญของสถาบันครอบครัวไม่เคยถูกทำลาย สถาบันครอบครัวเปรียบเสมือนตาข่ายสุดท้ายที่รองรับภัยต่างๆ ไม่ว่าจะความฉิบหายหรือความผันผวนจากเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับสมาชิกครัวเรือน ตัวอย่างประวัติศาสตร์ระยะใกล้ที่ชัดเจนคือ ในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 1997 แรงงานในภาคการเกษตรที่อพยพเข้ามาหางานทำในภาคบริการในกรุงเทพฯ ได้กลายเป็นผู้พ่ายแพ้และย้ายกลับถิ่นฐานภูมิลำเนาเดิม สถาบันครอบครัวในชนบทกลายเป็นตาข่ายรองรับให้พวกเขาผ่านพ้นวิกฤตไปด้วยกันได้

อย่างไรก็ตามปัญหาที่มีมากมายในปัจจุบันก็ได้ท้าทายหน้าที่และความสามารถของสถาบันครอบครัวอีกครั้ง 

1.) ความเหลื่อมล้ำทางรายได้สร้างช่องว่างทางสังคมระหว่างครัวเรือนร่ำรวยและครัวเรือนยากจน ทำให้สวัสดิการขั้นพื้นฐานและทุนมนุษย์ที่เป็นอาวุธติดตัวแก่คนรุ่นใหม่เพื่อใช้เข้าแข่งขันในตลาดแรงงานมีไม่เท่ากันและแทบจะกำหนดชัยชนะของผู้เข้าแข่งขันตั้งแต่จุดสตาร์ท 

2.) คุณค่าปัจเจกชนเสรีนิยมที่เพิ่มมากขึ้นในสถาบันครอบครัว ทำให้จำนวนของครอบครัวเดี่ยวเพิ่มมากขึ้น อัตราการเกิดน้อยลง การช่วยเหลือกันระหว่างพี่น้อง พ่อแม่ลูก ญาติพี่น้อง ถูกลดทอนลง 

3.) สังคมสูงวัย ทำให้คนวัยทำงานต้องเพิ่มผลิตผลการทำงานมากขึ้นเพื่อนำไปใช้กับสวัสดิการแก่คนชรา ปัญหาดังกล่าวยังถูกซ้ำเติมจากประชากรวัยชราส่วนใหญ่มิได้มีการออมเงินเพียงพอต่อการใช้จ่ายหลังปลดเกษียณและต้องพึ่งพาลูกหลานเป็นหลัก 

4.) ความหลากหลายของลักษณะครอบครัวปัจจุบัน เนื่องจากสังคมไทยเป็นพหุสังคม คุณค่าสถาบันครอบครัวเองก็มีความหลากหลายเช่นกัน เช่น คุณค่าของครอบครัวไทยในชนบท คุณค่าของครอบครัวจีน อีกทั้งความหลากหลายทางเพศที่ไม่จำกัดแต่เฉพาะ พ่อ-แม่-ลูก 

5.) ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรุ่น ปัญหาการเมืองไทยกว่า 15 ปี ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในครอบครัวเช่นกัน ความเห็นต่างทางการเมืองภายในครอบครัวอาจสร้างรอยร้าวความสัมพันธ์ในบางครอบครัว และปะทุขึ้นมากลายเป็นปัญหาสงครามระหว่างรุ่น

ปัญหาดังกล่าวจึงตั้งคำถามกับรัฐอีกครั้งว่า รัฐไทยควรจะเข้ามามีบทบาทอย่างไร การผลักภาระให้สถาบันครอบครัวรับผิดชอบด้านสวัสดิการเป็นหลักเหมือนเช่นเคยอาจจะไม่เพียงพออีกต่อไป นโยบายสวัสดิการสังคมใหม่จึงมีความจำเป็นเร่งด่วน เช่น บำนาญถ้วนหน้าขั้นพื้นฐานเพื่อตอบแทนความยากลำบากของคนรุ่นก่อนในการมีส่วนร่วมสร้างชาติสร้างสังคมขึ้นมา เงินอุดหนุนถ้วนหน้าแก่เด็กแรกเกิดเพื่อลงทุนกับทุนมนุษย์ หลีกเลี่ยงการตายที่ไม่จำเป็นของทารกแรกเกิดเพื่อเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการดูแลครอบครัว และแรงงานต่อประเทศชาติในอนาคต การออกกฎหมายสมรสเพศเดียวกันเพื่อให้การทำธุรกรรมต่างๆ และกรรมสิทธิต่างๆ เป็นไปอย่างราบรื่นลดต้นทุนทางธุรกรรมที่ไม่จำเป็น เป็นต้น 

นอกจากนี้รัฐยังสามารถใช้มาตรการอื่นเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐ-เอกชน-ครอบครัว-สังคม เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต และกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กัน เช่น สนับสนุนเศรษฐกิจสีเงิน (Silver economy) ที่กลุ่มลูกค้าเป็นคนเกษียณเป็นหลัก ร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อเพิ่มจำนวนสถานรับเลี้ยงเด็ก และสถานผู้ดูแลคนชราแบบไม่แสวงกำไร สนับสนุนชุมชนในการสร้างงานและความภาคภูมิใจให้คนชรา เช่น ให้คนชรารับหน้าที่ในการช่วยเหลือทำงานในสถานเลี้ยงเด็ก สถานดูแลผู้สูงอายุ เพื่อเก็บเครดิตชั่วโมงทำงานไว้นำไปใช้เมื่อถึงเวลาที่ตนเองต้องเข้ารับการดูแลในสถานพยาบาล เป็นต้น

มันหมายความว่า บทบาทของรัฐในการจัดสรรทรัพยากร และสวัสดิการที่ประชาชน ควรได้เป็นเป้าหมายระยะสั้นและระยะกลางในการเพิ่มคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนแล้ว

สำหรับเป้าหมายระยะยาวของรัฐสวัสดิการคือ การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นของสมาชิกในสถาบันครอบครัว และความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวและรัฐด้วยเช่นกัน เราจำเป็นต้องจินตนาการรัฐสวัสดิการที่ประชาชนใฝ่ฝันร่วมสร้างกันว่า จะสร้างคุณค่าสถาบันสังคม สถาบันครอบครัวแบบไหน จะทำลายคุณค่าสถาบันครอบครัวแบบเก่าแล้วสร้างคุณค่าแบบใหม่ขึ้นมาทดแทน หรือรักษาคุณค่าสถาบันสังคมที่มีแบบเดิมอยู่ไว้ รักษาสายใยของครอบครัวเพื่อเป็นฐานในการถักทอรัฐสวัสดิการที่ประชาชนคนไทยอยู่ร่วมกัน เปลี่ยนแปลงปฏิรูปให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกันของคนระหว่างรุ่น เพื่อสร้างความสมานฉันท์ขึ้นมาใหม่ และส่งต่อสังคมที่ดีให้กับคนรุ่นต่อๆไป




อ้างอิง

Histoire du travail des enfants en France.  สืบค้นจาก https://www.droitsenfant.fr/travail_histoire.htm

The post สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ appeared first on คณะก้าวหน้า.

]]>
https://progressivemovement.in.th/article/common-school/8286/feed/ 20
ความยุติธรรม รัฐสวัสดิการ Squid Game https://progressivemovement.in.th/article/common-school/6074/?utm_source=rss&utm_medium=rss&utm_campaign=%25e0%25b8%2584%25e0%25b8%25a7%25e0%25b8%25b2%25e0%25b8%25a1%25e0%25b8%25a2%25e0%25b8%25b8%25e0%25b8%2595%25e0%25b8%25b4%25e0%25b8%2598%25e0%25b8%25a3%25e0%25b8%25a3%25e0%25b8%25a1-%25e0%25b8%25a3%25e0%25b8%25b1%25e0%25b8%2590%25e0%25b8%25aa%25e0%25b8%25a7%25e0%25b8%25b1%25e0%25b8%25aa%25e0%25b8%2594%25e0%25b8%25b4%25e0%25b8%2581 https://progressivemovement.in.th/article/common-school/6074/#respond Wed, 01 Dec 2021 05:04:40 +0000 https://progressivemovement.in.th/?p=6074 เกาหลีใต้และหนังสร้างชาติ ถ้าจะกล่าวว่าหนังเกาหลีใต้เป็ […]

The post ความยุติธรรม รัฐสวัสดิการ Squid Game appeared first on คณะก้าวหน้า.

]]>
เกาหลีใต้และหนังสร้างชาติ

ถ้าจะกล่าวว่าหนังเกาหลีใต้เป็นหนังสร้างชาติก็เป็นการกล่าวที่ไม่เกินจริงไปนัก อุตสาหกรรมหนังเกาหลีใต้ได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องจนขยายความนิยมได้ทั่วโลก ด้วยพล็อตเรื่องที่เป็นเฉพาะตัวและเปลี่ยนแปลงไปตามภัยคุกคามชาติในแต่ละยุคสมัย สำหรับ 30 ปีที่แล้วภัยคุกคามแห่งชาติของเกาหลีใต้คือ สายลับเกาหลีเหนือ การแทรกแซงจากมหาอำนาจสหรัฐฯ และรัฐบาลเผด็จการทหาร จึงไม่แปลกใจนักที่หนังอย่าง The Quiet Family (1998) Taegukgi (2004) และ The Host (2006) เป็นหนังที่ออกมาให้ประชาชนได้ชม

อย่างไรก็ตามทิศทางของหนังเกาหลีใต้ในช่วง 10 ปีให้หลังก็เปลี่ยนไปตามภัยความมั่นคงแห่งชาติ ความเหลื่อมล้ำจากทุนนิยม สถาบันครอบครัวแบบขงจื่อที่เสื่อมลง และความล้มเหลวของรัฐสวัสดิการกลายเป็นปัญหาของชาติแทน และปรากฏเป็นสัญญาณเตือนในหนังต่าง ๆ เช่น Along with the Gods (2017) The Forgotten (2017) และ The Parasite (2019)

สร้างหนังเกี่ยวกับความชั่วร้ายของทุนนิยมแบบไม่น่าเบื่อ

       ทุกคนรู้และสัมผัสได้ถึงความเลวร้ายของทุนนิยมและความเหลื่อมล้ำแก่สังคมที่นับวันก็จะถ่างออกมาเรื่อย ๆ มีหนังหลายเรื่องที่สร้างเกี่ยวกับความชั่วร้ายของทุนนิยม ความชั่วร้ายของนายทุน และการกดขี่ขูดรีด แต่การสร้างหนังในสตอรี่ดังกล่าวแล้วสนุกได้อย่างไร ไม่เป็นการเทศนาสั่งสอนมากเกินไปได้อย่างไร คือความสามารถและศิลปะของผู้เขียนเนื้อเรื่องและผู้กำกับหนัง

        The Parasite กลายเป็นตัวอย่างมาสเตอร์พีซของการทำหนังด่าทุนนิยมที่ไม่น่าเบื่อ เป็นหนังที่ไม่ต้องปีนบันได ผู้ชมก็สามารถรู้ได้ว่าผู้กำกับต้องการสื่อถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำ แต่เทคนิคการซ่อนสัญลักษณ์ความเหลื่อมล้ำในแต่ละเฟรมนั่นแหละที่เป็นศิลปะให้ผู้ชมไม่รู้สึกถูกยัดเยียดมากเกินไป ในขณะที่ผู้ชมดูหนังอยู่ก็ยังคงมีชีวิตอาศัยในระบบทุนนิยมอยู่ และเอาเปรียบขูดรีดผู้อื่นอยู่ ทั้งในแบบที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ

        อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จอย่างสูงของ The Parasite ก็กลายเป็นมาตรฐานที่หนักอึ้งของผู้สร้างหนังเกาหลีใต้ในเวลาต่อมา ว่าจะสร้างเรื่องราวด่าทุนนิยมอย่างไรให้พล็อตเรื่องไม่ซ้ำกัน ตัวผมเองก็เคยเชื่อว่าน่าจะใช้เวลาอีกนานที่เกาหลีใต้จะสร้างหนังด่าทุนนิยมได้ในมาตรฐานเดียวกันได้อีก แต่ทว่าแค่เพียง 2 ปีให้หลัง เขาก็สร้าง Squid Game (2021) ขึ้นมา

ตั้งคำถามความยุติธรรมใน Squid Game

       พล็อตเรื่องลักษณะคนรวยว่างงานไม่มีอะไรทำเลยสร้างเกมส์เอาคนมาจนมาฆ่ากันด้วยการใช้อำนาจเงินทำลายความเป็นมนุษย์ของคนจน เป็นพล็อตที่พบได้ในหนังหลาย ๆ เรื่อง เช่น 13 เกมสยอง (2549) และBattle Royale (2000) และก็เป็นเนื้อเรื่องหลักของ Squid Gameเช่นเดียวกัน แต่สิ่งที่ทำให้หนังสนุกจนผมดูต่อเนื่องไม่กินข้าวกินปลาคือ รายละเอียดของหนังที่แฝงเรื่องคำถามยุติธรรมเศรษฐกิจสังคมเกาหลีใต้

ม่านแห่งความไม่รู้

        A Theory of Justice ของจอห์น รอวลส์ (John Rawls)[1] เป็นผลงานที่สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อสังคมและตั้งคำถามเกี่ยวกับความยุติธรรมมากที่สุดงานหนึ่ง ข้อเสนอหลักของเขาคือ การพยายามหาจุดประนีประนอมระหว่างแนวคิดความเท่าเทียมและอรรถประโยชน์นิยม ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วสองแนวทางนี้ขัดกันตลอดเวลา เพราะแนวคิดเท่าเทียมนิยมมองว่าความยุติธรรมต้องเกิดจากการมีผลลัพธ์ที่เท่ากัน แต่อรรถประโยชน์กลับมองว่าความยุติธรรมไม่จำเป็นต้องเท่ากันก็ได้ แต่ต้องมีการกระจายทรัพยากรแล้วก่อให้เกิดอรรถประโยชน์สังคมสูงสุด ซึ่งรอวลส์ก็หาทางออกของคู่ขัดแย้งว่า ถ้าสมมติให้ทุกคนต้องเข้าสู่สังคม เข้าสู่สนามแข่งขันโดยที่ก่อนการแข่งจะมีการกระจายสิ่งของจำเป็นพื้นฐาน ทุกคนก็จะเลือกการกระจายที่ตนเองได้เปรียบที่สุด แต่ถ้าทุกคนอยู่ในม่านแห่งความไม่รู้ กล่าวคือ ต้องละทิ้งตำแหน่งในสังคมและตัวตนทุกอย่าง เหลือเพียงแต่การตัดสินใจล้วน ๆ โดยปราศจากอคติแล้ว ทุกคนก็จะเลือกหนทางการกระจายที่คนที่เสียเปรียบที่สุดได้ประโยชน์ที่สุด เพราะเนื่องจากเราทุกคนไม่รู้ว่าเมื่อถอดม่านความไม่รู้ออกแล้ว เราอาจเป็นคนที่เสียเปรียบที่สุดในสังคมก็ได้ ดังนั้นทางออกดังกล่าวจึงเป็นการรับประกันขั้นต่ำสุดให้กับทุกคน สรุปแล้วการเลือกปฏิบัติให้แต้มต่อแก่ผู้ที่ลำบากที่สุดจึงเป็นความยุติธรรมสังคม

        “การแข่งขันอย่างเสรีโดยมีกฎกติกาที่บังคับใช้ทุกคนเหมือนกันหมดและทุกคนมีจุดสตาร์ทที่เดียวกัน คือลักษณะการแข่งขันอย่างเป็นธรรมที่ระบอบทุนนิยมที่มีหัวใจถวิลหา เมื่อมีการแข่งขันที่เป็นธรรมแล้วไม่ว่าผลการแข่งออกมาเป็นอย่างไรล้วนยุติธรรม”

ดังนั้นการอยู่ในม่านแห่งความไม่รู้คือหัวใจหลักของเกมส์ต่าง ๆ ที่ปรากฎในSquid Game ทุกคนเข้ามาแข่งขันโดยการตัดสินใจเอง ไม่ทราบข้อมูลเกมส์ที่จะเล่นในแต่ละรอบ ไม่มีการใช้เครื่องมือใด ๆ การแข่งขันแพ้ชนะขึ้นอยู่กับความสามารถและโชคล้วน ๆ โดยมีกรรมการที่เป็นกลางสวมใส่หน้ากากแห่งความไม่รู้คอยรักษาความสงบเรียบร้อย

ม่านแห่งความไม่รู้ไม่มีอยู่จริง

       ม่านแห่งความไม่รู้กลายเป็นแนวคิดที่ได้รับความนิยมพอ ๆ กับที่ถูกวิพากษณ์อย่างกว้างขวาง จุดที่นักคิดคนอื่น ๆ ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้คือ มันออกจะเป็นการเพ้อฝันและนำไปปฏิบัติได้ยากในความเป็นจริง การที่จะให้คนไม่มีอคติจากตำแหน่งแห่งที่ทางสังคม คงเป็นไปได้แค่วิญญาณบริสุทธิ์เท่านั้น รวมถึงการเลือกปฏิบัติที่เป็นคุณแก่ผู้ที่ยากลำบากที่สุดก็ไม่เกิดขึ้นอย่างอัตโนมัติ

        เช่นเดียวกับที่ปรากฏในซีรีส์ ถึงแม้ความมั่งคั่งไม่ได้เป็นปัจจัยแต้มต่อในการชนะเกมส์ แต่ตำแหน่งในสังคมกลับไม่สามารถสละหลุดไปง่าย ๆ มันติดตัวไปตลอดและก็กลายเป็นอภิสิทธิ์ที่เอาเปรียบผู้อื่นโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ การจบมหาวิทยาลัยโซลของซังอูช่วยให้เขากลายเป็นคนที่น่าเชื่อถือในทันที การเป็นหัวหน้าแก๊งอันธพาลของด็อกซูก็ทำให้เขาเป็นหัวหน้ากลุ่มกักขฬะและได้เปรียบเสมอเมื่อมีการเล่นเกมส์โดยใช้พละกำลัง การใช้ชีวิตมิจฉาชีพของแซบอคและมินโยก็ช่วยให้พวกเธอลักลอบนำมีดและไฟแช็กเข้ามาแข่งขันจนได้เปรียบคนอื่น การที่บยองกีจบหมอก็กลายเป็นแต้มต่อให้เขาได้ข้อมูลล่วงหน้าของเกมส์แต่ละรอบ การที่ซังฮีทำงานโรงงานกระจก 30 ปีก็ทำให้เขามีโอกาสรอดชีวิตมากกว่าคนอื่น และเมื่อมีอคติบังตาทุกคนก็ล้วนตัดสินใจว่าการกระจายทรัพยากรต้องให้ตัวเองก่อนเพราะตัวเองลำบากที่สุด

“นอกจากนี้สังคมปิตาธิปไตยของเกาหลีใต้ที่ฝังรากลึกแม้กระทั่งการละเล่นของเด็ก ก็ทำให้กลุ่มคนที่ลำบากอย่างเพศหญิงและคนแก่ถูกคัดออกเป็นตัวเลือกแรกจากการคัดหาสมาชิกเสมอ”

ตั้งคำถามเจตจำนงเสรี

        ทฤษฎีความยุติธรรมแนวเสรีนิยม เชื่อว่าการกระจายที่ยุติธรรมที่สุดคือ การกระจายตามกลไกตลาดและการแลกเปลี่ยนโดยเจตจำนงเสรี ถ้าเชื่อแบบสุดโต่งแล้วละก็ แม้แต่การนำอวัยวะของตนเองไปขาย ก็ถือว่าเป็นเรื่องถูกต้องทางศีลธรรมและยุติธรรมดีแล้ว อย่างไรก็ตาม ในซีรีส์ก็ได้ตั้งคำถามว่าจะแน่ใจอย่างไรว่าการที่แต่ละคนตัดสินใจแลกเปลี่ยนในตลาดเพราะเจตจำนงเสรีจริง ๆ เขาอาจตัดสินใจเพราะถูกบังคับด้วยอำนาจทางกายภาพก็ได้ เช่น การที่เจ้าหนี้นอกระบบไปบังคับกีฮุนให้เซ็นมอบอวัยวะเพื่อชดใช้หนี้ หรือแม้แต่การที่ผู้เล่นแต่ละคนมาเซ็นสัญญาก่อนเข้าเล่น Squid Game” โดยสมัครใจ มันมาจากเจตจำนงเสรีของเขาร้อยเปอร์เซ็นต์โดยปราศจากแรงกดดันทางเศรษฐกิจจริงหรือ?

โชคและความสามารถ

        แนวความคิดความเท่าเทียมด้านโอกาสเชื่อว่า ถ้าทุกคนเข้าถึงโอกาสได้เหมือนกันก่อนที่จะมีการแข่งขันเกิดขึ้นแล้ว ถึงแม้ผลลัพธ์การแข่งแตกต่างกันก็ยุติธรรมเสมอ ทุกคนมีความฝันแต่ไม่จำเป็นที่ว่าทุกคนต้องสำเร็จตามความฝันเสมอไป เพราะการจะไปถึงฝันได้ก็ต้องใช้ความขยัน พรสวรรค์ และโชคด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกินขอบเขตอำนาจของสถาบันสังคมที่จะกระจายให้เท่าเทียมกันได้ ดังนั้นในโลกทุนนิยมที่มีหัวใจจึงอนุญาตให้ดารา นักร้อง และผู้มีพรสวรรค์ มีรายได้ตอบแทนสูงกว่าคนสามัญธรรมดาทั่วไป ตรงกันข้าม ผู้ที่โชคร้ายแทงม้าแพ้อย่างกีฮุนในตอนต้นเรื่องก็ถือว่าเป็นเรื่องยุติธรรมดีแล้วและต้องแบกรับหนี้สินที่ก่อขึ้นเอง

        อย่างไรก็ตาม ซีรีส์ก็ตั้งคำถามถึงแนวคิดความยุติธรรมดังกล่าวโดยฉายภาพให้ผู้ชมเห็นชัดเจนมากขึ้นในรูปผู้แพ้ต้องถึงแก่ความตาย ไม่ว่าจะเป็นโชคที่คาดเดาความน่าจะเป็นได้ อย่างการเลือกระหว่างแผ่นกระจกนิรภัยกับไม่ใช่นิรภัย หรือโชคที่คาดเดาความน่าจะเป็นไม่ได้ อย่างจาฮยองแพ้เกมส์ดีดลูกแก้วเพราะบังเอิญมีก้อนหินไปเบี่ยงเส้นทาง ซ้ำร้ายการพนันระหว่างคนจนและคนรวยกลับไม่เท่าเทียมกันอีก สำหรับคนจนการพนันมันคือหนทางการรอดชีวิต แต่สำหรับมหาเศรษฐีมันคือความสำราญชนิดหนึ่ง ดังเห็นได้ว่าบรรดาแขกวีไอพีเลือกแทงพนันว่าผู้เล่นเบอร์ใดจะรอดชีวิตอย่างสนุกสนาน เพราะเงินที่แพ้จากการพนันก็ไม่ทำให้ขนหน้าแข้งร่วงได้

ความล้มเหลวรัฐสวัสดิการตะวันตกในสังคมเอเชียตะวันออก

       เกาหลีใต้ดำเนินนโยบายด้านสวัสดิการสังคมจำนวนมากภายหลังการปฏิวัติประชาธิปไตย

“อย่างไรก็ตาม การเดินรอยตามสวัสดิการสังคมแบบยุโรปก็ไม่ได้สร้างให้กาหลีเป็นรัฐสวัสดิการแบบยุโรปได้อยู่ดี ยิ่งไปกว่านั้น การพยายามเดินรอยตามตะวันตกกลับกลายเป็นว่าล้มเหลวไม่เป็นท่าเมื่ออยู่ในบริบทที่แตกต่างกันอย่างสังคมเอเชียตะวันออก”

การลดความสำคัญของสถาบันครอบครัว (Defamilialization)

       ในสังคมการผลิตก่อนทุนนิยมนั้น ครอบครัวและชุมชนมีบทบาทหน้าที่หลักในการสร้างและกระจายสวัสดิการให้แก่สมาชิกของตน โดยรัฐมีเพียงหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย อย่างไรก็ตามเมื่อสังคมเข้าสู่ทุนนิยมและต่อมามีการสร้างรัฐสวัสดิการขึ้นในประเทศตะวันตก หน้าที่ในการกระจายรัฐสวัสดิการที่เคยเป็นของครอบครัวก็ถูกถ่ายโอนไปเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของรัฐแทน ยิ่งรัฐมีหน้าที่ในการกระจายสวัสดิการมากขึ้นเท่าไหร่ ความสำคัญของครอบครัวก็ถูกลดทอนมากไปเท่านั้น ไม่เว้นแม้แต่สังคมแบบเอเชียตะวันออกที่ให้ความสำคัญของครอบครัวตามคติของขงจื่อ

        อย่างไรก็ตาม ลักษณะสำคัญประการหนึ่งของรัฐสวัสดิการตะวันตกที่มักจะถูกวิพากษ์วิจารณ์เสมอคือ “Breadwinner” หรือคนที่หาเลี้ยงครอบครัวเป็นหลัก กล่าวคือ สวัสดิการต่าง ๆ ล้วนติดอยู่กับสิทธิของเพศชายในฐานะหัวหน้าครอบครัวเป็นหลัก โดยไม่ให้ความสำคัญของเพศหญิง งานบ้านของเพศหญิงไม่เคยถูกนับรวมใน GDP ของชาติ ซึ่งเป็นฐานสำคัญต่อการหาเงินไปใช้จ่ายในโครงการสวัสดิการสังคมต่าง ๆ ระบบรัฐสวัสดิการตะวันตกจึงต้องอาศัยอำนาจรัฐที่เข้มแข็ง การจ้างงานเต็มของแรงงานเพศชาย และสร้างภาวะพึ่งพาให้เพศหญิง

        ดังนั้น ความฉิบหายของรัฐสวัสดิการตะวันตกจะเกิดขึ้นเป็นลูกโซ่ทันที เพียงแค่หัวหน้าครอบครัวตกงาน กีฮุนที่เคยมีสถานะมั่นคงจากการเป็นลูกจ้างบริษัทกลับมีชีวิตล้มลกจนกลับมายืนใหม่ไม่ได้เมื่อเขาตกงาน จากเดิมที่เขาเป็นเสาหลักในการหาเงินเข้าบ้านให้แม่ เมีย และลูก ก็กลายเป็นคนขี้แพ้ ไม่เอาถ่าน อกตัญญูในทันที เพียงเพราะเขาไม่มีสิทธิประโยชน์จากการจ้างงาน เมียเขาขอหย่า ส่วนเขาก็ต้องเกาะมารดาด้วยเงินบำนาญของแม่ ยิ่งไปกว่านั้น เมียเขาก็ยังไม่สามารถหลุดกับดักภาวะพึ่งพิงได้อยู่ดี เพราะต้องหาสามีใหม่ที่มีฐานะการงานมั่นคงกว่า เพื่อเขาจะได้ให้สิทธิประโยชน์เผื่อแผ่มาถึงเธอกับลูกสาวติดของสามีคนเก่า

สมรรถนะของรัฐที่จำกัดในสังคมที่ซับซ้อน

รัฐสวัสดิการตะวันตกเป็นรัฐที่ต้องอาศัยรัฐราชการเป็นกลไกในการขับเคลื่อนนโยบายสังคม สมรรถนะของรัฐที่เข้มแข็งจึงสำคัญมาก รัฐต้องเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนแต่ลละคน เพื่อจะได้ทราบถึงปัญหาต่าง ๆ แล้วนำมาวางแผนนโยบาย อย่างไรก็ตาม เมื่อสังคมซับซ้อนมากขึ้นและจำนวนคนมากขึ้นด้วยความเร็วที่มากกว่ารัฐราชการจะปรับตัวเสริมสมรรถนะได้ทัน การกระจายสวัสดิการสังคมก็เกิดความล่าช้าและไม่เพียงพอตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน

        การให้บริการของตำรวจในซีรีส์ก็เป็นภาพสะท้อนให้ได้ชมกัน ตำรวจไม่สามารถเข้าช่วยเหลือเหตุการณ์เล็ก ๆ หรือเหตุการณ์ที่ดูเหมือนเพ้อเจ้ออย่างSquid Game”นายตำรวจจึงปฏิเสธการรับคำร้องของกีฮุนและไล่เขาไป เมื่อรัฐราชการตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนไม่ทัน มันก็ต้องอาศัยประชาชนและประชาสังคมด้วยกันเองที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แต่ทว่าจะทำอย่างไรเล่า เมื่อหน้าที่การกระจายสวัสดิการมันถูกโอนย้ายไปที่รัฐแล้วและด้อยค่าของการบริจาคและช่วยเหลือกันเองของประชาชน อีกทั้งข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนจะถูกเก็บรักษาไว้ได้อย่างไร เมื่อผู้ก่อตั้ง Squid Game” สามารถทะลวงหาข้อมูลหนี้สินของผู้เล่นแต่ละคนไอย่างไม่ยากลำบาก

 ความซับซ้อนของความเหลื่อมล้ำเกินกว่าแก้ด้วยยารัฐสวัสดิการ

       ความเหลื่อมล้ำและรัฐสวัสดิการไม่ใช่เรื่องเดียวกัน ความเหลื่อมล้ำและความยุติธรรมเป็นปัญหาที่ซับซ้อนฝังรากลึกและมีประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกันในแต่ละสังคม การมีรัฐสวัสดิการจึงไม่ใช่สูตรสำเร็จหรือยาวิเศษรักษาทุกโรคในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ รัฐสวัสดิการที่ใจดีที่สุดที่เสนอสิทธิประโยชน์ที่ดีที่สุดให้กับพลเมืองตนเองในฉากหน้า มันก็มีฉากหลังอยู่เสมอที่ต้องพบบุคคลที่ต้องถูกขูดรีดแรงงาน รัฐสวัสดิการแบบสวีเดนจะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าไม่มีการรับแรงงานต่างด้าวไร้ทักษะเพื่อมาทำงานหนักที่พลเมืองตนเองไม่ยอมทำ และเช่นเดียวกันกับในเกาหลีใต้ที่ระบบเศรษฐกิจและรัฐสวัสดิการดำเนินไปได้ เนื่องจากส่วนหนึ่งมันได้ขูดรีดเอาเปรียบแรงงานต่างด้าวอย่างอาลี ขูดรีดคนเกาหลีเหนือที่หนีมาเกาหลีใต้อย่างแซบอค

        นอกจากนี้ ถึงแม้รัฐสวัสดิการเสนอสิทธิประโยชน์ที่เหมือนกันที่ดีที่สุด มันก็ไม่ได้หมายความว่าจะสร้างความเท่าเทียมกันได้เสมอไป เพราะแต่ละคนมีความจำเป็น มีรสนิยมที่แตกต่างกันในพหุสังคมที่หลากหลาย ในมื้ออาหารชั้นเลิศเสิร์ฟในคืนก่อนเล่นเกมส์รอบสุดท้าย ซังอูที่เป็นคนในสังคมชั้นสูงตามมาตรฐานเกาหลีใต้สามารถกินเนื้อริบอายราคาแพงและดื่มไวน์แดงชั้นดีอย่างไม่เคอะเขิน เมื่อเปรียบเทียบกับกีฮุนหนุ่มขับรถบรรทุกวัยกลางคนที่ต้องคอยชำเลืองและลอกเลียนพฤติกรรมของซังอู ส่วนแซบอคก็ทิ้งอาหารไว้กว่าครึ่งลงถังขยะเพราะไม่คุ้นชินกับอาหารชั้นเลิศแบบนั้น

รัฐสวัสดิการใหม่ที่เกาหลีใต้กำลังสร้าง

       เมื่อรัฐสวัสดิการแบบตะวันตกกำลังถึงทางตันในสังคมเกาหลีใต้ แล้วรัฐสวัสดิการแบบใหม่ที่ใฝ่ฝันกันจะเป็นลักณะอย่างไร ? อันที่จริงแล้วมันก็ปรากฎอยู่ในหนังเกาหลีใต้หลาย ๆ เรื่องไม่ใช่เฉพาะแค่Squid Game

สถาบันครอบครัวคือหน่วยสังคมที่สำคัญที่สุด

       จริงหรือที่รัฐสวัสดิการต้องทำลายคุณค่าสถาบันครอบครัว ? มันจะมีทางเลือกที่สามหรือไม่ที่การเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนเป็นสิทธิพื้นฐานพร้อม ๆ กับรักษาคุณค่าของสังคมตะวันออกอย่างสถาบันครอบครัวแบบขงจื่อ ? ผมเองก็รู้สึกเช่นเดียวกันว่าคุณค่าบางอย่างเงินไม่สามารถทดแทนได้ อาหารฝีมือแม่ที่ทำต้อนรับลูกเสมอยามเหนื่อยล้ากลับมาบ้าน ข้าวกล่องที่ภรรยาทำให้สามีทุกเช้าก่อนไปทำงาน มันคงหมดความหมายไปทันทีเมื่อมันกลายเป็นสินค้าในระบบทุนนิยม ที่เราต้องจ่ายให้แม่ หรือให้ภรรยาทุกครั้งเมื่อทานอาหาร เราจะสามารถตอบแทนแม่ ตอบแทนภรรยาจากการเหนื่อยล้าทำงานบ้านได้อย่างไร โดยที่ไม่สร้างภาวะพึ่งพิงให้พวกท่าน

        ในซีรีส์เรื่องนี้เราจึงมักเห็นการเตือนสติผู้ชมเกาหลีใต้ว่ากลับมาให้ความสำคัญสถาบันครอบครัวอีกครั้ง สร้างสังคมที่ให้ความสำคัญกับคนรุ่นเก่าที่เสียสละตนเองสร้างชาติขึ้นมา สร้างความสมานฉันท์ร่วมกันระหว่างรุ่น สร้างรัฐสวัสดิการใหม่ที่ไม่เอา

“Breadwinner” อีกแล้ว แต่ต้องรักษาครอบครัวไปให้ได้พร้อมกัน“นโยบายสวัสดิการสังคมแบบใหม่ของเกาหลีใต้จึงไม่ผูกติดเฉพาะหัวหน้าครอบครัวเพศชายอีกต่อไป แต่ขอให้เป็นครอบครัวญาติพี่น้อง ญาติห่าง ๆ ที่ทำงานอยู่ก็ได้ ก็เพียงพอต่อการขอสิทธิประโยชน์สวัสดิการจากรัฐได้”

เงิน

       เงินเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการทำนโยบายสวัสดิการสังคม การจะสร้างสังคมอุดมคติขึ้นมาได้มันก็ต้องมีค่าใช้จ่ายเสมอ ความเชื่อเรื่องที่จะสร้างรัฐสวัสดิการเพื่อชนชั้นกรรมาชีพ ทำสงครามกับชนชั้นนายทุน จะนำไปสู่ความล้มเหลว ตรงกันข้ามการสร้างรัฐสวัสดิการสำเร็จได้ ต้องมีการดึงคนทุกกลุ่มมาเข้าร่วมให้มากที่สุด”

        ความมั่งคั่งจากคนร่ำรวยเป็นแหล่งเงินสำคัญของรัฐสวัสดิการ และแน่นอนว่าจู่ ๆ ไปบังคับเก็บจากคนรวยมหาศาลก็เป็นเรื่องยากลำบาก พวกเขามีอำนาจและทางเลือกมากพอที่จะหลบเลี่ยงภาษีได้เสมอ ดังนั้นการจะเอาเงินจากคนร่ำรวยได้มันต้องมาจากความเต็มใจ เหมือนที่ปรากฏในแขกวีไอพีที่จ่ายเงินแทงพนันจำนวนมหาศาลเพื่อได้รับความบันเทิงกลับคืนมา ในขณะเดียวกันเงินก้อนนั้นก็นำไปจ่ายให้รางวัลแก่ผู้ชนะนำไปสร้างโอกาสตนเองได้ไหม หรือถ้าเกมส์เลิกกลางคันเงินก้อนนั้นก็จะนำไปแจกจ่ายให้ครอบครัวผู้เสียชีวิตทดแทน

เศรษฐกิจแบ่งปันและกรรมสิทธิ์ส่วนรวม

       เกมส์ลูกแก้วเป็นเกมส์สร้างความสะเทือนใจให้ผู้ชมมากที่สุด เมื่อคู่หูที่เราไว้ใจที่สุดกลับกลายเป็นศัตรูในที่สุด อย่างไรก็ตามถ้าผู้ชมตั้งใจฟังดี ๆ ผู้สร้างเกมส์ก็ไม่เคยสร้างกฎกติกาการเล่นใด ๆ เลย พวกผู้เล่นต่างหากที่สร้างกฎการแข่งขันขึ้นมาและล้วนจินตนาการว่าต้องเป็นกฎการแข่งขันแบบทุนนิยมที่ต้องมีคนแพ้เสมอ อันที่จริงแล้วกฎแค่บอกว่าให้เอาลูกแก้ว 10 ลูกจากคู่ของท่านมาให้ได้ ซึ่งงทางออกที่ทุกคนจะรอดได้ก็คือ “กันบู” ตามที่คุณตาพยายาบอกใบ้ให้กีฮุนฟังหลาย ๆ ครั้ง กันบูก็คือลูกแก้วไม่เป็นของใครเลยแต่เป็นของส่วนรวม คุณกับคู่หูสามารถรอดไปพร้อมกันได้เพียงแค่นำลูกแก้วสิบลูกของตนเองแลกกับคู่หู อย่างไรก็ตามทุกคนต่างก็ตกหลุมการแข่งขันทุนนิยมไปหมดและต้องสูญเสียคนที่คุณรักไป ไม่ว่าภรรยา เพื่อน พ่อ และลูกน้อง สิ่งที่คนชนะพอจะทำได้เมื่อมันสายไปก็คือ อย่าลืมว่ามีคนที่เสียสละไปในทุนนิยมเพื่อให้เราอยู่รอดได้

       ความไม่เห็นแก่ตัวและความเข้าใจจิตใจผู้อื่น

       คนลักษณะนิสัยอย่างกีฮุนคือคนที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมาก่อนประโยชน์ส่วนตน (altruism) การเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมอุดมคติเกาหลีใต้จะแทบเป็นไปไม่ได้เลยถ้าผู้ชนะไม่ใช่กีฮุนแต่เป็นซังอู แต่ขณะเดียวกันความใจดีของกีฮุนก็สร้างสังคมอุดมคติไม่ได้เลยถ้าไม่มีพวกนักปฏิบัตินิยมอย่างซังอู

        กีฮุนพร้อมยกเลิกเกมส์เสมอเพื่อรักษาชีวิตคนที่กำลังตายต่อหน้า แต่การตัดสินใจดังกล่าวในอดีตก็เกือบทำให้ภรรยาเขาต้องตายทั้งกลม และเช่นเดียวกัน เขาเกือบทำให้ชีวิตของผู้เล่นที่ตายไปสูญเปล่าทันทีเมื่อตัดสินใจจะเลิกเกมส์กลางคัน ในขณะเดียวกันถ้าคนเห็นแก่ตัวอย่างซังอูชนะ แทบเป็นไปไม่ได้เลยว่าเขาจะนำเงินไปช่วยเหลือพวกญาติ ๆ ของผู้เล่นที่เสียชีวิต แต่เขาเองก็มั่นใจความไม่เห็นแก่ตัวของพี่คนละสายเลือดอย่างกีฮุน และยอมให้กีฮุนเป็นผู้ชนะเพื่อนำเงินรางวัลไป

        “ในเรื่องกีฮุนหลั่งน้ำตานับครั้งไม่ถ้วน น้ำตาไม่ได้แสดงความอ่อนแอหรือขี้แพ้แต่อย่างใด แต่มันสะท้อนว่าเรายังเหลือความเป็นมนุษย์อยู่ รู้และสัมผัสความยากลำบากของเพื่อนมนุษย์ได้และอยากที่จะช่วยเหลือ”

      

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมเป็นสิ่งสำคัญยิ่งยวด

แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่ารากฐานระดับบุคคลแบบความไม่เห็นแก่ตัวและการเข้าใจจิตใจผู้อื่นมันก็ขาดไม่ได้เช่นเดียวกัน

แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่ารากฐานระดับบุคคลแบบความไม่เห็นแก่ตัวและการเข้าใจจิตใจผู้อื่นมันก็ขาดไม่ได้เช่นเดียวกัน


[1]   โปรดดู Rawls, John. 2005. (1971). A Theory of Justice: Original Edition. Cambridge, Mass: Harvard University Press.

The post ความยุติธรรม รัฐสวัสดิการ Squid Game appeared first on คณะก้าวหน้า.

]]>
https://progressivemovement.in.th/article/common-school/6074/feed/ 0
แนะนำหนังสือ : A Brief History of Equality โดยโทมัส ปิเกตตี้ https://progressivemovement.in.th/article/common-school/reading-revolution/book-review/5951/?utm_source=rss&utm_medium=rss&utm_campaign=thomas-piketty-a-brief-history-of-equality https://progressivemovement.in.th/article/common-school/reading-revolution/book-review/5951/#comments Mon, 22 Nov 2021 09:20:09 +0000 https://progressivemovement.in.th/?p=5951 โทมัส ปิเกตตี้ (Thomas Piketty, ศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์, […]

The post แนะนำหนังสือ : A Brief History of Equality โดยโทมัส ปิเกตตี้ appeared first on คณะก้าวหน้า.

]]>

โทมัส ปิเกตตี้ (Thomas Piketty, ศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์, ผู้อำนวยการศูนย์ School of Advanced Studies in the Social Sciences และผู้อำนวยการร่วมห้องปฏิบัติการ World Inequality Lab) เคยสร้างงานสั่นสะเทือนสังคมอย่าง Capital in the Twenty-First Century (2013) ที่อธิบายกลไกการสะสมและการเปลี่ยนแปลงของทุน และ Capital and Ideology (2019) อธิบายบทบาทของอุดมการณ์ที่ผลิตจากสังคมที่แตกต่างจะส่งผลต่อการก่อร่างสร้างการสะสมทุนและความเหลื่อมล้ำในสังคมอย่างไร อย่างไรก็ตามงานดังกล่าวก็มีข้อเสนอเกริ่นนำเพียงเล็กน้อยในการหาทางออกของความเหลื่อมล้ำของทุนนิยมในศตวรรษที่ 21

Une brève histoire de l’égalité หรือ A Brief History of Equality (2021) คือผลงานล่าสุดของปิเกตตี้ที่เปรียบดังส่วนต่อขยายเพิ่มเติมจากงานเก่า รวมถึงการเสนอทางออกอันแสนทะเยอทะยานของเขาจากความเหลื่อมล้ำของระบอบทุนนิยม ปิเกตตี้ได้เคยให้สัมภาษณ์ว่า Capital in the Twenty-First Century (2013) จะเป็นหนังสือเล่มสุดท้ายที่เขาจะใช้กรอบของตะวันตกเป็นศูนย์กลางในการเขียนที่ใช้กระบวนการวิจัย ทฤษฎี รวมถึงข้อมูลจากมุมมองของการสะสมองค์ความรู้แบบตะวันตก ดังนั้นในผลงานล่าสุดที่เขาได้ทลายกรอบมุมมองดังกล่าวแล้ว การเล่าประวัติศาสตร์ของความ (ไม่) เท่าเทียมจึงเป็นรูปแบบการนำเสนอที่มีเสน่ห์ น่าติดตาม และทลายมายาคติที่ว่า “ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาทางด้านเศรษฐศาสตร์” อีกต่อไป สำหรับเขาแล้วความเหลื่อมล้ำเป็น “ผลผลิตร่วมของ ประวัติศาสตร์ การเมือง และสังคม” ที่ทุกคนในสังคมต้องมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา

ความเหลื่อมล้ำคือ ผลผลิตร่วมของประวัติศาสตร์ สังคม และการเมือง

ทฤษฎีรวมถึงข้อมูลในการวิเคราะห์ที่ใช้ในผลงานเล่มนี้จึงเป็นสหสาขาวิชาที่รวมทั้งหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ข้อมูลในรูปสถิติและข้อมูลคุณภาพ ข้อมูลทางด้านสังคม การเมือง รวมถึงใช้ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์สถาบัน เพื่อฉายภาพวิวัฒนาการของความเท่าเทียมกันในสังคมแต่ละสังคมโดยข้อมูลที่เก็บมาจะเริ่มที่ศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากระบอบเก่าไปสู่ระบอบทุนนิยมจนถึงข้อมูลในช่วงปัจจุบัน

เขาตั้งใจตั้งชื่อหนังสือเล่มนี้ว่า “ประวัติศาสตร์ย่อของความเท่าเทียมกัน” เพื่อบ่งบอกว่าเมื่อย้อนดูประวัติศาสตร์แล้วแนวโน้มของความเหลื่อมล้ำตั้งแต่ศตวรรษที่18 มีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก ถึงแม้ปัจจุบันที่ผู้คนได้สัมผัสถึงความเหลื่อมล้ำจากทุนนิยมที่นับวันรุนแรงมากขึ้น แต่การหมุนเข็มนาฬิกาย้อนกลับไปสู่ระบอบศักดินาก็หาใช่ทางออกไม่ เพื่อยืนยันข้อเสนอดังกล่าวแล้ว การใช้ข้อมูลสถิติและตัวชี้วัดจึงเป็นสิ่งจำเป็นและขาดไม่ได้โดยตัวชี้วัดที่เขาใช้เป็นหลักได้แก่ สัดส่วนการครอบครองสินทรัพย์ (หรือรายได้) ของชนชั้นร่ำรวย (ชนชั้นนำ) เปรียบเทียบกับชนชั้นกลางและชนชั้นยากจน (ชนชั้นประชาชนส่วนใหญ่) ซึ่งตามข้อมูลสถิติแล้วระบอบทุนนิยมก็ช่วยให้ลดความเหลื่อมล้ำได้ดีกว่าระบอบศักดินา หรือระบอบทาสอย่างมหาศาล เพียงแต่ว่าในช่วงตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมาที่ระบอบทุนนิยมเริ่มถึงทางตันและส่งสัญญาณความเหลื่อมล้ำที่สูงมากขึ้น

ระบอบทุนนิยมช่วยให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจและลดความเหลื่อมล้ำแก่ยุโรปและอเมริกาซึ่งเป็นแต้มต่อสำคัญให้ประเทศเหล่านี้พัฒนาประเทศได้ไกลกว่ากลุ่มประเทศอื่น อย่างไรก็ตามถ้ามองแต่ตัวชี้วัดระดับมหภาคเพียงอย่างเดียวโดยไม่ลงรายละเอียดทางประวัติศาสตร์เชิงลึก ก็ย่อมสร้างความเข้าใจผิดได้ว่าระบอบทุนนิยมจะสร้างความเท่าเทียมกันได้โดยธรรมชาติ มิใช่เลย มิใช่เลย ระบอบทุนนิยมเป็นเพียงปัจจัยเดียวเท่านั้น แต่ยังต้องประกอบไปด้วยการเคลื่อนไหวทางสังคม อุดมการณ์ทางสังคม การต่อสู้ทางการเมือง เพื่อนำไปสู่เป้าหมายสังคมที่เท่าเทียมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมใดๆ ที่มีสถาบันทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองแบบเก่าที่แข็งแกร่งฝังรากลึกเท่าไหร่แล้ว ยิ่งต้องใช้เวลา ความอดทน จากหินก้อนแรกสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในท้ายสุด และมันอาจจะกินเวลามากกว่าศตวรรษก็เป็นได้อย่างที่เกิดขึ้นในยุโรป

ข้อดีของระบบทุนนิยม

ระบอบทุนนิยมช่วยลดความเหลื่อมล้ำเนื่องจาก ประการแรก มันเกิดการสร้างกรรมสิทธิ์ที่ชัดเจนมากขึ้น และค่อยๆ ย้ายการครอบครองทรัพย์สินและปัจจัยการผลิตจากเดิมที่เป็นชนชั้นขุนนางและชนชั้นพระเป็นผู้ครอบครอง ไปสู่ชนชั้นประชาชนธรรมดา ทำให้คนธรรมดาหวงแหนและพัฒนาการใช้ทุนเพื่อผลประโยชน์ตนเองมากขึ้นโดยไม่ต้องถูกจัดเก็บส่วยให้กับชนชั้นนำ

ประการที่สอง ระบอบทุนนิยมได้ล้มล้างระบบอภิสิทธิ์จากชาติกำเนิด เกิดการเปลี่ยนสถานะจากไพร่ในระบอบศักดินาเป็นพลเมืองซึ่งค่อยๆ มีการพัฒนาสิทธิต่างๆ ทั้งสิทธิทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

ประการที่สาม ทุนนิยมช่วยขยายการศึกษาและบริการรักษาพยาบาลให้ทั่วถึงแก่ประชาชนซึ่งทั้งสองสิ่งนี้เป็นทุนมนุษย์ที่สำคัญที่สุดที่ให้ประโยชน์ทั้งแก่ตัวปัจเจกเอง และส่งผลกระทบภายนอกแก่ระบบเศรษฐกิจทั้งระบบอีกด้วย

ประการที่สี่ เศรษฐกิจทุนนิยมที่ขยายตัวมากขึ้นก็ช่วยให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น และมีสถานะทางการคลังที่ดีมากพอจะพัฒนาและขยายนโยบายสวัสดิการสังคมให้ดีขึ้นตามมา

ประการที่ห้า รัฐทุนนิยมเป็นฐานให้มีการพัฒนาเป็นรัฐสังคม (Social State) ที่รัฐสามารถใช้นโยบายการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า ใช้นโยบายการกระจายทรัพยากร  (distribution) และนโยบายการจัดการทรัพยากรใหม่ (redistribution) ในการลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มบทบาทของรัฐในสัดส่วนการถือครองกรรมสิทธิ์สินค้าสาธารณะ และการควบคุมกลไกตลาด

สาเหตุทั้งห้าประการดังกล่าวเป็นลักษณะสากลที่พบได้ในทุกประเทศที่เปลี่ยนผ่านสู่ระบอบทุนนิยมและมีความเหลื่อมล้ำลดลง  อย่างไรก็ตามเมื่อศึกษาข้อมูลประวัติศาสตร์เชิงลึกอีกขั้นก็ปรากฏว่า วิธีดังกล่าวมันก็ไม่ได้เป็นสูตรสำเร็จที่ใช้ได้และให้ผลเหมือนกันในทุกๆ ประเทศ สถาบันทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองในแต่ละประเทศสามารถส่งผลลดทอน หรือส่งเสริมให้การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อย่างล่าช้า หรือรวดเร็วก็ได้ อีกทั้งกระบวนการเปลี่ยนผ่านก็มิใช่เป็นเส้นตรงเสมอไป แต่สามารถประสบกับปัญหาการโต้อภิวัฒน์ และส่งผลให้การเปลี่ยนแปลงเป็นลักษณะลุ่มๆ ดอนๆ ยกตัวอย่างเช่น การปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 ถึงแม้ประสบความสำเร็จในการล้มระบอบเก่าลง สร้างรัฐธรรมนูญและสิทธิของประชาชน แต่ก็เป็นภารกิจที่มิแล้วเสร็จในรูปของการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคม หนำซ้ำยังถูกการโต้อภิวัฒน์จากสถาบันเก่าที่ยังหลงเหลืออยู่ นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางสังคมก็หวนกลับคืนมาอีกครั้ง

อุดมการณ์และความเหลื่อมล้ำ

ในหนังสือเล่มนี้ ปิเกตตี้ได้มีการอธิบายเพิ่มเติมจาก Capital and Ideology (2019) เพื่อให้ฉายภาพชัดเจนอีกครั้งถึงความสำคัญของแนวคิดอุดมการณ์เกี่ยวข้องอย่างไรกับความเหลื่อมล้ำ อุดมการณ์ในแต่ละสังคมมีความแตกต่างกันตามค่านิยมสังคม ประวัติศาสตร์สังคม ซึ่งอุดมการณ์จะเป็นตัวครอบงำความคิดและพฤติกรรมของสมาชิกในสังคมว่า ลักษณะแบบใดเป็นเรื่องยุติธรรมหรือไม่ยุติธรรม อุดมการณ์เป็นสิ่งที่แปรผันไปตามสภาพแวดล้อมและกาลเวลา และสร้างมายาคติว่าความเหลื่อมล้ำเป็นสิ่งธรรมชาติและถูกต้องแล้ว ยกตัวอย่างเช่น การปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 มีวัตถุประสงค์ในการทำลายฐานันดรและสร้างสถานะคนเท่ากัน แต่ทว่าค่านิยมในยุคดังกล่าวกับมองว่า คนคือเพศชายเท่านั้น เพศหญิงจึงมิได้มีสิทธิในการเลือกตั้งเหมือนบุรุษ หรือการยกเลิกระบบทาสและศักดินาที่เกิดขึ้นในผืนแผ่นดินฝรั่งเศสนั้นก็มิได้หมายรวมถึงผืนแผ่นดินอาณานิคมของฝรั่งเศส ดังนั้นจึงมีการใช้ทาสและการขูดรีดแรงงานทาสอยู่เสมอในอาณานิคมฝรั่งเศสในแคริเบียน (ปัจจุบันคือ ไฮติ) และอาณานิคมในอินโดจีน ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญให้กับประเทศแม่จนกระทั่งศตวรรษที่ 20 โดยความล่าช้าในการปลดแอกดังกล่าวยังส่งผลถึงความเหลื่อมล้ำในปัจจุบันที่ระบบปิตาธิปไตยกดทับเพศหญิงให้มีสถานะ และการเข้าถึงทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียมกับเพศชาย หรือถึงแม้ระบอบอาณานิคมของประเทศยุโรปได้ถูกล้มล้างไปแล้วก็ตาม แต่ปรากฏว่าประเทศที่ได้รับอิสรภาพทีหลังก็มีการเจริญเติบโตที่ต้องไล่ตามหลังประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศอดีตอาณานิคมต้องพึ่งพิงประเทศอดีตเจ้าอาณานิคมเสมอมา เสมือนเป็นระบบอาณานิคมใหม่

การกลับมาของความเหลื่อมล้ำ

อัตราภาษีก้าวหน้าและมาตรการการคลังเพื่อสังคมเป็นเครื่องมือสำคัญช่วยลดความเหลื่อมล้ำ อย่างไรก็ตามตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมาความเหลื่อมล้ำทางวัตถุกลับเพิ่มขึ้นมาอีกครั้งในทุกๆ ประเทศ ถึงแม้ความเหลื่อมล้ำรายได้จากแรงงานมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่มีการกระจุกตัวของทรัพย์สินและกรรมสิทธิ์ของชนชั้นนำ (ชนชั้นมั่งคั่งที่สุดร้อยละ 1 ของประเทศ) ซึ่งทุนที่ชนชั้นนำสะสมมามีความหลากหลายมากขึ้น เช่น ที่ดิน หุ้นการเงิน เป็นต้น และทุนเหล่านี้สามารถสร้างผลตอบแทน เงินต่อเงินได้อย่างมหาศาลกว่าค่าตอบแทนจากแรงงาน ดังนั้นกลุ่มชนชั้นนำจึงมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นห่างจากชนชั้นอื่นอย่างรวดเร็ว เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวปิเกตตี้มีข้อเสนอที่ทะเยอทะยาน คือ การเก็บภาษีสินทรัพย์และการกระจายสินทรัพย์ถ้วนหน้า โดยแต่ละคนจะได้สินทรัพย์ถ้วนหน้าเป็นมูลค่าร้อยละ 60 ของสินทรัพย์เฉลี่ยต่อประชากรผู้ใหญ่ เช่น ฝรั่งเศสมีมูลค่าสินทรัพย์เฉลี่ย 200,000 ยูโรต่อคน ดังนั้นสินทรัพย์ถ้วนหน้าจึงควรมีมูลค่า 120,000 ยูโร และเมื่อประชาชนคนใดอายุครบ 25 ปีก็จะได้รับเงินก้อนนี้มาครั้งเดียวเป็นทุนเริ่มต้น ซึ่งแหล่งเงินที่นำมาใช้ก็ได้มาจากการผสมผสานทั้งจากภาษีอัตราก้าวหน้าจากมรดก และจากสินทรัพย์ โดยชนชั้นที่ครอบครองสินทรัพย์สูงจะถูกเก็บถึงร้อยละ 90 ของมูลค่าสินทรัพย์ที่ครอบครอง เพื่อผลสุดท้ายให้ชนชั้นประชาชน (ชนชั้นร้อยละ 50 ที่รายได้น้อยสุด) จะกลายเป็นชนชั้นผู้ครอบครองสินทรัพย์ร้อยละ 40 ของสินทรัพย์ทั้งประเทศ ส่วนชนชั้นกลางก็จะได้ครอบครองทรัพย์สินร้อยละ 45 และชนชั้นร่ำรวยร้อยละ 10 ก็จะได้ครอบครองสินทรัพย์ลดลงเหลือร้อยละ 20 ของสินทรัพย์ทั้งประเทศ นอกจากนี้เพื่อให้ความเหลื่อมล้ำจากรายได้ลดลง จึงควรมีการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้ารายได้ เบี้ยสังคม และภาษีคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อนำเงินส่วนนี้ไปสร้างรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า การประกันการจ้างงาน และใช้จ่ายด้านนโยบายสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้ที่มีรายได้สูงก็จะมีโอกาสถูกเก็บภาษีตัวนี้ถึงร้อยละ 90 ของรายได้   

ทุนในทัศนคติของปิเกตตี้จึงมิควรถูกครอบครองโดยเอกชนมากเกินไป แต่ควรจะมีสัดส่วนทุนสาธารณะมากขึ้น โดยกระบวนการตัดสินใจใช้ทุนสาธารณะก็ต้องเป็นระบบประชาธิปไตยที่มีการกระจายอำนาจ โดยลดบทบาทรวมอำนาจตัดสินใจจากรัฐส่วนกลาง เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดความล่าช้า คอร์รัปชันจากระบบราชการ รวมถึงความเสี่ยงจากรัฐอำนาจนิยมศูนย์กลาง  

ยิ่งไปกว่านั้นเขายังมองว่าระบบกรรมสิทธิ์ไม่ใช่ระบบธรรมชาติตามสำนักคลาสสิคเชื่อ กรรมสิทธิ์มิได้มีลักษณะเป็นสากลเหมือนกันทุกประเทศ หรือมีลักษณะคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง แต่เป็นสิ่งที่กำหนดมาจากการเมือง แน่นอนว่าระบบกรรมสิทธิ์ช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตได้ แต่ความเหลื่อมล้ำในปัจจุบันมันเกิดจากระบบกรรมสิทธิ์เกินตัว การกระจายกรรมสิทธิ์ที่เท่าเทียมจึงต้องวางอยู่บนฐานของการเมืองประชาธิปไตยที่ปราศจากการถูกครอบงำจากกลุ่มสถานะสังคมที่สูงกว่า ดังนั้นเส้นทางการเงินที่ใช้ในการรณรงค์เลือกตั้ง เพื่อผลิตสื่อสารมวลชน และติงค์แทงค์ควรจะเป็นไปอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อรับประกันว่าก่อนที่นโยบายสาธารณะจะออกมาบังคับใช้นั้นต้องมีกระบวนการผลิตนโยบายที่ยุติธรรมด้วยเช่นเดียวกัน

ทุนในทัศนคติของปิเกตตี้จึงมิควรถูกครอบครองโดยเอกชนมากเกินไป แต่ควรจะมีสัดส่วนทุนสาธารณะมากขึ้น โดยกระบวนการตัดสินใจใช้ทุนสาธารณะก็ต้องเป็นระบบประชาธิปไตยที่มีการกระจายอำนาจ โดยลดบทบาทรวมอำนาจตัดสินใจจากรัฐส่วนกลาง เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดความล่าช้า คอร์รัปชันจากระบบราชการ รวมถึงความเสี่ยงจากรัฐอำนาจนิยมศูนย์กลาง  

ความเหลื่อมล้ำพหุมิติ

ความเหลื่อมล้ำทางด้านวัตถุ (รายได้และทรัพย์สิน) เป็นความเหลื่อมล้ำมิติเดียวเท่านั้น ความเหลื่อมล้ำยังมีมิติอื่นๆ เช่น การเมือง เชื้อชาติ ความเชื่อ เพศ การศึกษา เป็นต้น ที่ต้องพิจารณาด้วยเพื่อให้ประสบความสำเร็จในการสร้างสังคมที่เท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำในมิติต่างๆ มีความเชื่อมโยงกัน ดังนั้นความเหลื่อมล้ำพหุมิติจึงมีความซับซ้อนอย่างมาก การแก้ปัญหาดังกล่าวจึงต้องพิจารณามิติอื่นๆ นอกจากด้านการกระจายทางวัตถุ และการแก้ปัญหาจึงอาจไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว แต่ต้องมีการศึกษาเชิงลึกในแต่ละสังคม รวมถึงปัญหาลักษณะเฉพาะของแต่ละสังคมประกอบด้วย ตัวอย่างเช่น การศึกษาในฝรั่งเศสเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองทุกคนจนถึงระดับปริญญาเอก แต่ปรากฏว่าก็มีความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาเกิดขึ้น โดยลูกหลานของครอบครัวที่มีการศึกษาสูงมักจะมีโอกาสการศึกษาที่สูงกว่าชนชั้นอื่น อีกทั้งงบประมาณอุดหนุนโรงเรียนรัฐก็ไม่เท่าเทียมกันเมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างโรงเรียนในเขตใจกลางเมืองปารีสกับเขตชานเมืองปารีส สถานะการจ้างงานของครูในโรงเรียนรัฐในเขตชานเมืองปารีสมีสัดส่วนการจ้างงานแบบชั่วคราวสูงกว่าโรงเรียนรัฐในกลางเมืองปารีส เป็นต้น ดังนั้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำการศึกษาจึงต้องมีการปฏิรูปการคลังด้านการศึกษา ให้มีการกระจายงบประมาณจากรัฐที่ยุติธรรมมากขึ้น ซึ่งคำว่ายุติธรรมก็ไม่ได้หมายถึงเท่ากัน แต่ต้องใช้ข้อมูลสถิติเชิงลึกและโปร่งใสเพื่อสร้างตัวชี้วัดที่ครอบคลุม เช่น รายงานประจำปีการกระจายทรัพยากรการศึกษา อัตราการเข้าถึงการศึกษาในแต่ละระดับชั้นโดยคำนึงถึงสถานะทางสังคม รายได้ของผู้ปกครอง เป็นต้น โดยข้อมูลเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญในขั้นต่อมาที่ทำให้เกิดการอภิปรายสาธารณะและประชาธิปไตยโดยรับประกันว่าไม่มีกลุ่มอำนาจใดมีอิทธิพลเหนือกว่าในการกำหนดนโยบายสาธารณะ

การเลือกปฏิบัติ

การเลือกปฏิบัติเชิงบวก (positive discrimination หรือ affirmative action) เป็นอีกวิธีที่ใช้ลดความเหลื่อมล้ำทางอัตลักษณ์ เช่น ความเหลื่อมล้ำทางเพศ ความเหลื่อมล้ำทางเชื้อชาติ ความเหลื่อมล้ำทางความเชื่อ ที่หลายๆ ประเทศริเริ่มใช้กัน มีวิธีหลากหลายในการใช้เลือกปฏิบัติเชิงบวก เช่น การกำหนดโควตาการจ้างงาน โควตาคณะกรรมการบริหาร เป็นต้น อย่างไรก็ตามมาตรการดังกล่าวก็ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีระบบแบ่งแยกชนชั้นสังคมและเชื้อชาติที่เป็นประวัติศาสตร์วัฒนธรรมอย่างต่อเนื่องอย่างประเทศอินเดีย การลดความเหลื่อมล้ำทางอัตลักษณ์จึงเป็นเรื่องที่ยาก และเป็นเรื่องที่ต้องเปลี่ยนแปลงในระดับวัฒนธรรมสังคม ข้อเสนอของปิเกตตี้ในการลดความเหลื่อมล้ำดังกล่าวจึงมีความทะเยอทะยานมากกว่านั้นคือ ให้แบ่งสัดส่วนผู้แทนประชาชนของแต่ละกลุ่มอัตลักษณ์ให้เท่ากัน เช่น ในสภาผู้แทนราษฎรควรแบ่งจำนวนให้เป็นชายร้อยละ 50 และหญิง ร้อยละ 50 หรือถ้าเป็นบริษัทเอกชนก็ควรให้สัดส่วนคณะผู้บริหารเป็นผู้แทนจากแรงงานครึ่งหนึ่ง และอีกครึ่งหนึ่งเป็นของฝ่ายผู้ถือหุ้น เป็นต้น เพื่อให้อำนาจในการกำหนดนโยบายและสิทธิประโยชน์ต่างๆ มีการกระจายที่เท่าเทียมกันระหว่างกลุ่มอัตลักษณ์ต่างๆ

ข้อเสนอของปิเกตตี้ในการลดความเหลื่อมล้ำดังกล่าวจึงมีความทะเยอทะยานมากกว่านั้นคือ ให้แบ่งสัดส่วนผู้แทนประชาชนของแต่ละกลุ่มอัตลักษณ์ให้เท่ากัน เช่น ในสภาผู้แทนราษฎรควรแบ่งจำนวนให้เป็นชายร้อยละ 50 และหญิง ร้อยละ 50 หรือถ้าเป็นบริษัทเอกชนก็ควรให้สัดส่วนคณะผู้บริหารเป็นผู้แทนจากแรงงานครึ่งหนึ่ง และอีกครึ่งหนึ่งเป็นของฝ่ายผู้ถือหุ้น เป็นต้น เพื่อให้อำนาจในการกำหนดนโยบายและสิทธิประโยชน์ต่างๆ มีการกระจายที่เท่าเทียมกันระหว่างกลุ่มอัตลักษณ์ต่างๆ

ความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เมื่อถอดแว่นเรื่องรัฐชาติ เพื่อมองดูโลกทั้งระบบ ก็ปรากฏว่าความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและด้อยพัฒนาก็ยังเป็นปัญหาเรื้อรัง มาตรการเงินกู้เงินช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาจากองค์การระหว่างประเทศต่างๆ มิได้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำแต่อย่างใด องค์การระหว่างประเทศให้ความสำคัญด้านการค้าเสรี ผลประโยชน์ของแต่ละประเทศมากกว่าการช่วยเหลือประเทศด้อยพัฒนา อีกทั้งกลไกการตัดสินใจต่างๆในองค์การระหว่างประเทศก็กระจุกตัวที่ประเทศพัฒนาแล้วมากกว่า ระบบโลกในปัจจุบันจึงเป็นระบบอาณานิคมใหม่และแบ่งงานกันทำที่ประเทศพัฒนาแล้วได้เปรียบ โลกาภิวัตน์และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาโลกร้อนที่สามารถทำลายที่อยู่ของมนุษย์จนไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในรุ่นต่อๆ ไปกลายเป็นปัญหาสำคัญที่สร้างความเหลื่อมล้ำ และเกินความสามารถที่รัฐใดรัฐหนึ่งจัดการได้ แต่ต้องใช้ความร่วมมือระหว่างประเทศ ข้อเสนอของปิเกตตี้คือ ต้องมีการเพิ่มสิทธิให้แก่ประเทศยากจนมากขึ้น และขยายแนวความคิดรัฐเพื่อสังคมเป็นสหพันธรัฐเพื่อสังคม

เขาได้ขยายสิทธิมนุษยชนให้ครอบคลุมเรื่องสิทธิในการพัฒนาด้วย และมองว่าระบบโลกมีการเชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออก การสะสมทุนจนมั่งคั่งของประเทศหนึ่ง (หรือคนคนหนึ่ง) ก็มาจากความช่วยเหลือร่วมกันของประเทศยากจน (คนยากจน) ดังนั้นจึงต้องมีการเก็บภาษีโลกขึ้นโดยเก็บภาษีความมั่งคั่งร้อยละ 2 จากบุคคลหรือบริษัทที่มีความมั่งคั่งตั้งแต่ 10 ล้านยูโร ซึ่งมีจำนวนแค่ 0.1% ของประชากรทั่วโลกแต่ครอบครองสินทรัพย์ 75 % ของโลกทั้งหมด ทำให้มูลค่าภาษีโลกที่เก็บได้ในแต่ละปีสูงถึง 1 ล้านล้านยูโร และเพียงพอที่จะเข้ามาแทนที่เงินช่วยเหลือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาในโครงการต่างๆ ที่ช่วยขยายการศึกษา บริการสุขภาพ โครงสร้างพื้นฐานให้ประเทศยากจน

เพื่อป้องกันไม่ให้เงินช่วยเหลือโครงการพัฒนาแก่ประเทศยากจนถูกใช้ไปในทางผิดเพื่อสะสมความมั่งคั่งให้แก่ผู้นำประเทศที่ได้รับความช่วยเหลือ ดังนั้นจึงต้องมีความโปร่งใสเรื่องการตรวจสอบสินทรัพย์ของผู้นำประเทศรวมถึงผู้บริหารขององค์กรเอกชน

ระบบอภิบาลองค์กรระหว่างประเทศก็ควรจะมีการปฏิรูปเพื่อให้ประเทศยากจนมีสิทธิมีเสียงมากขึ้น ปิเกตตี้ได้เสนอว่าสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านการค้าและการเงินที่ใช้อยู่ในปัจจุบันควรถูกแทนที่ด้วยสนธิสัญญาการพัฒนาร่วมกันและเป็นธรรม ซึ่งแตกต่างจากสนธิสัญญาเก่าๆ ที่ให้ความสำคัญด้านการค้าเสรีและการเงินเป็นเรื่องหลัก แต่สนธิสัญญาใหม่จะมุ่งไปที่จุดประสงค์ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น ภาษีโลก ภาษีนานาชาติ การกระจายความมั่งคั่ง การกระจายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การรักษาความหลากหลายชีวภาพ เป็นต้น และองค์กรที่ผลักดันประเด็นดังกล่าวจะเป็นรูปสภานานาชาติซึ่งอาจจะเป็นลักษณะแรก คือ สภาสหภาพยุโรป หรือ สภาของภูมิภาคต่างๆ เช่น สภาพสหภาพแอฟริกา สภาสหภาพเอเชีย เป็นต้น หรือในรูปแบบที่สองที่ในอุดมคติมากกว่า คือการเลือกตั้งผู้แทนเข้าสู่สภานานาชาติ  

สรุป

กล่าวโดยสรุป สำหรับนักเศรษฐศาสตร์สายมาร์กซิสม์อย่างปิเกตตี้แล้วเขาเชื่อว่าระบบทุนนิยมไม่ใช่ระบบที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นและสามารถเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นได้ เช่นเดียวกันความเหลื่อมล้ำตามทรรศนะของเขาจึงไม่ใช่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่เป็นผลผลิตร่วมที่สร้างมาจากประวัติศาสตร์ สังคม และการเมือง ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ระบบทุนนิยมเริ่มพบทางตันและความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงขึ้น และเขาก็เห็นข้อจำกัดของระบอบคอมมิวนิสม์ที่มีลักษณะอำนาจนิยม ปิเกตตี้จึงได้เสนอแนวคิดที่ลดความเหลื่อมล้ำได้แก่ การสร้างระบบสังคมนิยมประชาธิปไตย, สร้างรัฐเพื่อสังคม และขยายสู่ความร่วมมือสากลอย่างสหพันธรัฐเพื่อสังคม, การกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วม, การพัฒนารักษาระบบนิเวศวิทยาและความหลากหลายชีวภาพ, การเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า ภาษีสินทรัพย์ การกระจายสินทรัพย์ถ้วนหน้า, ความเท่าเทียมกันทางด้านการศึกษา, ระบบเศรษฐกิจที่มิใช่วางอยู่บนกลไกตลาดเป็นสำคัญ, ระบบการเลือกตั้งและสื่อสารมวลชนที่ปราศจากการครอบงำของอำนาจเงินตรา อย่างไรก็ตามเขาก็ตระหนักเสมอว่าสิ่งที่เขาเสนอมิใช่ทางออกหนึ่งเดียวหรือสูตรสำเร็จในการแก้ปัญหา แต่ยอมรับความเห็นที่แตกต่าง

ผมหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะช่วยให้ผู้อ่านทุกท่านกลับมาตั้งคำถามในสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำประเทศไทยที่มีแต่จะมากขึ้นในทุกมิติ ช่วยกระตุ้นให้ฉุกคิดว่าความเหลื่อมล้ำที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน มิใช่เป็นสิ่งปกติธรรมชาติ แต่เป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข และศึกษาหาสาเหตุรากเหง้าของความเหลื่อมล้ำพหุมิติ ระบบเศรษฐกิจไทยเป็นระบบทุนนิยมแบบประเทศพัฒนาแล้ว หรือเรายังอยู่ในระบบการผลิตแบบเก่าแบบระบบศักดินา? รวมถึงมีสถาบันทางเศรษฐกิจสังคมการเมืองใดบ้างที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาเศรษฐกิจและลดความเหลื่อมล้ำ?

The post แนะนำหนังสือ : A Brief History of Equality โดยโทมัส ปิเกตตี้ appeared first on คณะก้าวหน้า.

]]>
https://progressivemovement.in.th/article/common-school/reading-revolution/book-review/5951/feed/ 1