เปิดร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด 14 เริ่มเปิดเข้าชื่อ-เดินสายทั่วประเทศ 1 เมษายน 65

14 มีนาคม 2565

คณะก้าวหน้า แถลงข่าวเปิดตัว ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. …. หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเตรียมยื่นต่อประธานรัฐสภาพร้อมรายชื่อผู้เชิญชวน ไม่น้อยกว่า 20 คน ตาม พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2564 และเตรียมเปิดตัวแคมเปญ “ขอคนละชื่อ ปลดล็อกท้องถิ่น” เริ่มเข้าชื่อทั้งในรูปแบบการเดินสายไปตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ และทั้งแบบออนไลน์ในวันที่ 1 เมษายน นี้

*** “เปิดร่างแก้รัฐธรรมนูญหมวด 14 – “ปิยบุตร” ชี้ที่ผ่านมามีปัญหาสารพัดขัดขวาง “การกระจายอำนาจ”

ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าวว่าประเทศไทยพูดเรื่องกระจายอำนาจมากนานกว่า 30 ปี รัฐธรรมนูญ 2540 ได้วางหลักการกระจายอำนาจไว้จนถึงวันนี้ 25 ปีแล้ว แต่การกระจายอำนาจยังไปไม่ถึงไหน โดยรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ได้ทำให้การกระจายอำนาจสะดุดลง ขณะที่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ได้ทำให้เรื่องการกระจายอำนาจถอยหลังลงคลอง และรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เป็นผลพวงจากรัฐประหารครั้งล่าสุดนั้น แม้จะมีหมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น แต่เมื่อพิจารณารายละเอียดในแต่ละมาตราแล้ว หลักการกระจายอำนาจ หลักความเป็นอิสระ การปกครองตนเองขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่อาจเกิดขึ้นได้จริงหากเดินตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แม้ที่ผ่านมาจะมีการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท). มาทุกระดับ และในปลายเดือนพฤษภาคมนี้จะมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและนายกเมืองพัทยา แต่การเลือกตั้งท้องถิ่นเพียงอย่างเดียวไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่าการกระจายอำนาจสมบูรณ์หรือไม่ เพราะต้องดูเรื่องความเป็นอิสระ เรื่องอำนาจหน้าที่การจัดทำบริการสาธารณะ เรื่องงบประมาณการเงินการคลัง และเรื่องการที่ราชการส่วนกลางแค่กำกับดูแลไม่ใช่บังคับบัญชาหรือสั่งการอย่างที่เป็นอยู่ในตอนนี้ด้วย

“ปัญหาปัจจุบัน อำนาจหน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะของท้องถิ่นนั้นทับซ้อนกับส่วนภูมิภาคและส่วนกลาง องค์กรตีความกฎหมายก็ตีความจำกัดอำนาจท้องถิ่น เรื่องรายได้งบประมาณท้องถิ่นก็มีไม่เพียงพอที่จะทำบริการสาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพ รัฐส่วนกลางที่อ้างว่ากำกับดูแลนั้น แต่หลายๆ เรื่องเหมือนเป็นการบังคับบัญชา สั่งการ หรือแทรกแซง โดยในสายตาของรัฐบาล คสช. รวมถึงรัฐบาลปัจจุบันนี้ มองท้องถิ่นเป็นเสมือนเป็นลูกน้อง เป็นแขนขา เป็นกลไกของพวกเขา ซึ่งวิธีคิดแบบนี้ไม่สอดคล้องกับหลักการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น พวกเราตั้งแต่ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่มองเห็นปัญหานี้ จึงมีนโยบายชื่อยุติรัฐราชการรวมศูนย์ทวงคืนอำนาจสู่ท้องถิ่น ซึ่งถ้าได้เป็นรัฐบาลจะเข้าไปจัดการเรื่องกระจายอำนาจให้เรียบร้อย ให้สมบูรณ์ แต่สุดท้ายพรรคถูกยุบไปเสียก่อน กรรมการบริหารพรรคโดนตัดสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้ง 10 ปี เราจึงมารวมตัวกันก่อตั้งคณะก้าวหน้า และยืนยันรณรงค์ผลักดันประเด็นที่ก้าวหน้าในสังคมต่อไป และหนึ่งในเรื่องนั้นก็คือเรื่องการกระจายอำนาจ” ปิยบุตรกล่าว

*** “10 ประเด็นสำคัญ” ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ – ปูทางสู่ “ประชามติ” ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคหรือไม่?

ปิยบุตร กล่าวด้วยว่า ตลอด 2 ปี ที่ผ่านมา คณะก้าวหน้าได้ไปให้การสนับสนุนผู้สมัครท้องถิ่นในทุกระดับ รวมถึงเร็วๆ นี้จะมีการเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครเมืองพัทยาด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่เรื่องการเลือกตั้งเท่านั้น เราสนใจเรื่องแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการกระจายอำนาจด้วย จึงเป็นที่มาของการเตรียมรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น โดยใช้สิทธิตามมาตรา 256 (1) บุคคลผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 5 หมื่นคนเข้าชื่อเสนอ โดยเราจะจัดการยกเลิกหมวด 14 เดิม และเขียนหมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่นขึ้นมาใหม่ นำสิ่งดีๆ ที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญ 2560 มาใช้ รวมถึงเพิ่มบทบัญญัติใหม่ๆ เข้าไปด้วย มี 10 ประเด็นสำคัญ คือ 1.บัญญัติรับรองหลักความเป็นอิสระท้องถิ่น และหลักการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของท้องถิ่น, 2.บัญญัติเรื่องอำนาจหน้าที่ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ทั่วไปในการจัดทำบริการสาธารณะระดับท้องถิ่น มีเฉพาะบางเรื่องเท่านั้นที่ท้องถิ่นทำไม่ได้ เช่น เรื่องความมั่นคง เป็นต้น นอกนั้นแล้วทำได้ทั้งหมดหากเป็นการบริการสาธารณะระดับท้องถิ่น เว้นแต่บางกรณีที่ท้องถิ่นมีศักยภาพไม่เพียงพอ สามารถร้องขอให้ส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาคเข้ามาช่วยได้, 3.เรื่องความซ้ำซ้อน ทุกวันนี้มีกฎหมายจำนวนมากที่ให้ราชการส่วนกลางและภูมิภาคมีอำนาจในการจัดทำบริการสาธารณะแบบเดียวกับท้องถิ่น ทำให้ซ้ำซ้อนและมีปัญว่าใครมีอำนาจกันแน่, 4.เรื่องแผนขั้นตอนการกระจายอำนาจที่บอกให้ถ่ายโอนอำนาจแต่ไม่มีสภาพบังคับจะไปจัดการเรื่องนี้ว่า ถ้าครบกำหนดแล้วยังไม่มีการถ่ายโอนให้ถือว่าเป็นอำนาจของท้องถิ่นเรียบร้อยตามรัฐธรรมนูญนี้, 5.รับรองยืนยันว่าผู้บริหารท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้งทุกกรณี

“6.ออกกฎหมายเรื่องรายรับท้องถิ่น เสนอให้มีการเพิ่มรายได้ที่ท้องถิ่นหามาได้กับรายได้ที่ส่วนกลางได้รับเป็น ร้อยละ 50 ต่อ 50 ภายในสามปี, 7.เพิ่มความยืดหยุ่น คล่องตัว ให้กับท้องถิ่นในการหารายได้ให้กับตัวเอง เพิ่มความยืดหยุ่น คล่อนตัว ในการคิดค้นวิธีการรูปแบบต่างๆ ในการจัดทำบริการสาธารณะ เช่น เรื่องรายได้ อย่างการกู้เงิน ออกพันธบัตร เรื่องการจัดทำบริการสาธารณะอย่าง การรวมตัวกับท้องถิ่นอื่นๆ การตั้งสหการ หรือการมอบอำนาจให้เอกชนทำแทนได้ในบางประเด็น, 8.การกำกับดูแล ราชการส่วนกลางและภูมิภาคที่อ้างกำกับดูแล แต่แท้จริงแล้วเป็นการบังคับ การต้องขออนุญาตก่อน ต้องแก้ไขเพิ่มความเป็นอิสระให้ท้องถิ่นเรื่องนี้, 9.สนับสนุนการมีส่วนร่วมของพลเมือง เช่น การตั้งสภาพลเมืองท้องถิ่น การเข้าชื่อถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่นและสภาท้องถิ่น รวมถึงการมีส่วนร่วมในการจัดทำงบประมาณด้วย และ 10.วางโรดแม็ปประเทศไทยว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค โดยให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปทำแผนการว่าจะต้องทำอะไรบ้าง และภายใน 5 ปี ครม.ต้องจัดทำประชามติเพื่อถามประชาชนว่า ต้องการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคหรือไม่” ปิยบุตร กล่าว

***เตรียมคิกออฟเข้าชื่อ 1 เมษายนนี้ ทั้งออนไลน์ – เดินสายทั่วประเทศ ลั่นเป็นเรื่องประโยชน์ต่อประชาชน

ปิยบุตร กล่าวว่า เนื่องจาก พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.2564 กำหนดรายละเอียดไว้ว่า ร่างเสร็จแล้วยังไม่สามารถรณรงค์เข้าชื่อได้ทันที ต้องนำร่างนี้ พร้อมรายชื่อผู้เชิญชวนจำนวนไม่น้อยกว่า 20 คน ไปยื่นต่อประธานรัฐสภาเสียก่อน นี่เป็นวันแรกที่เราเปิดร่างนี้ขึ้นมา แล้วเตรียมนำรายชื่อผู้เชิญชวนไปยื่นต่อประธานรัฐสภา จากนั้นทางประธานรัฐสภาจะแจ้งกลับมา และเราจะเริ่มต้นรณรงค์เข้าชื่อกับพี่น้องประชาชน โดยในวันที่ 1 เมษายน 2565 นี้ ประชาชนจะเริ่มเข้าชื่อได้เป็นวันแรก ทั้งแบบออนไลน์และแบบเดินทางไปพบปะประชาชนทั่วทั้งประเทศ ภายใต้แคมเปญชื่อ “ขอคนละชื่อ ปลดล็อกท้องถิ่น” ซึ่งถ้าภารกิจนี้สำเร็จ จะทำให้การกระจายอำนาจเกิดขึ้นได้จริงเสียที เรารอมานานกว่า 3 ทศวรรษแล้ว ถ้าประเทศไทยไม่จัดการเรื่องปัญหาการกระจายอำนาจ ไม่ให้อิสระกับท้องถิ่น การบริหารรวมศูนย์แบบนี้ทำให้ประเทศไทยเดินไปอย่างยากลำบาก มีอุปสรรคนานับประการ และไม่สามารถสนองตอบข้อเรียกร้องประชาชนในพื้นที่ได้ การณรงค์ครั้งนี้จะเป็นการหาฉันทานุมัติจากประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่าย เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องของพรรคการเมือใดพรรคการเมืองหนึ่ง แต่เป็นเรื่องประโยชน์ของการบริหารราชการแผ่นดิน ต่อประชาชน และต่อประเทศไทย

*** “ธนาธร” ยกภาพเปรียบเทียบ “ศูนย์เด็กเล็ก” ไทย – เกาหลีใต้ ต่างกันลิบ ชี้ปัญหาสำคัญคือเรื่องโครงสร้างรัฐ

ด้านธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวว่าถ้าถามว่าทำไมเราต้องรณรงค์เรื่องกระจายอำนาจ ตนอยากตอบด้วยภาพของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในประเทศไทย ที่ปัจจุบันบริหารโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกที่มีมาตรฐานเดียวกันหมด คือ หนังสือนิทานเก่า, ขาด, สนามเด็กเล่นเก่า อันตราย, ครัวสกปรก, ห้องน้ำไม่มีชักโครกสำหรับเด็ก ฯลฯ แต่ถ้าลองดูศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในประเทศเกาหลีใต้ จะเห็นว่าสะอาด น่าใช้งาน ปลอดภัย มีไฟส่องสว่าง ประชาชนเข้าถึงได้ทุกคน ทั้งๆ ที่บริหารโดยท้องถิ่นเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยเราถ้าจะเห็นศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแบบนี้ก็มี แต่ทว่าเป็นของเอกชน นั่นหมายความว่า จะมีแต่ลูกหลานคนมีฐานะเท่านั้น ต้องเป็นคนร่ำรวยเท่านั้นถึงจะเข้าถึงบริการแบบนี้ได้ ทั้งนี้ เราคงเคยได้ยินหลายคนพูดกันว่าเด็กปฐมวัย เป็นวัยที่สำคัญต่อพัฒนาการ การเจริญโตทั้งร่างกายสติปัญา ต้องลงทุนกับเด็กปฐมวัยจึงจะตอบโจทย์ที่สุด แต่เมื่อดูสิ่งที่เกิดขึ้น เหมือนนี่จะเป็นแค่คำพูดสวยหรู เป็นแค่สโลแกนแปะข้างฝา คำถามคือ อะไรที่เป็นปัญหาอุปสรรคทำให้เราสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแบบต่างประเทศไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องเงิน เพราะใช้ 3-4 ล้านลงทุนก็สามารถทำได้เท่ากับประเทศมาตรฐานแล้ว เราเชื่อว่าสิ่งที่เป็นปัญหา เป็นอุปสรรค คือโครงสร้างรัฐที่เป็นปัญหา ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ถนนหนทาง สวนสาธารณะ การจัดการขยะ การจัดการสิ่งแวดล้อม การป้องกันสาธารณภัย การจัดงานประเพณีท้องถิ่น สิ่งต่างๆ เหล่านี้ดีกว่านี้ได้ เทียบเคียงประเทศพัฒนาแล้วได้ ถ้ามีการปฏิรูประบบรัฐราชการ และนี่คือเหตุผลที่ทำให้เรารณรงค์ในครั้งนี้

“การจำกัดอำนาจท้องถิ่น ผนวกกับการคุมเข้มของ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทำให้ผู้บริหารท้องถิ่นไม่มีใครกล้าคิดนอกกรอบ การจัดสรรงบประมาณไม่เป็นธรรม จำกัดจำเขี่ย ทำให้ท้องถิ่นไม่กล้าฝัน ไม่กล้าทะเยอทะยานทำให้บริการสาธารระที่ดีกว่านี้ได้ จากประสบการณ์กว่า 60 แห่ง ที่คณะก้าวหน้ามีโอกาสได้ร่วมบริหาร สิ่งที่เราพบเหมือนกันอย่างหนึ่งที่ผู้บริหารท้องถิ่นต้องมานั่งคือ คือ นั่งเขียนโครงการ เพราะงบประมาณที่อยู่ในมือนั้นไม่เพียงพอ ต้องเขียนโครงการขอหน่วยงานต่างๆ นี่คือคนที่อยู่ในพื้นที่ คนที่รู้ปัญหา รู้วิธีแก้ และมาจากการเลือกตั้งประชาชน รับผิดรับชอบจากสิ่งที่ทำ แต่ทว่าไม่มีงบประมาณ เรื่องสำคัญตรงนี้คือว่า ถ้าเราเอาอำนาจ เอางบระมาณมาอยู่ใกล้ประชาชนได้ คิดดูว่าการตอบสนองความต้องการประชาชนจะรวดเร็วแค่ไหน เพราะที่ผ่านมาต้องขอหลายชั้นหลายตอน มีตัวกลาง ระหว่างประชาชนกับอำนาจและงบประมาณ ดังนั้น ถ้าร่างแก้ไขรัธรรมนูญฉบับนี้ผ่าน อำนาจและงบประมาณจะอยู่ใกล้ประชาชนมากขึ้น ตัวกลางเดียวที่มีคือบัตรเลือกตั้ง คิดดูว่า ความรับผิดชอบทางการเมืองของผู้ที่มาจากประชาชนจะสูงขนาดไหน ทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็งด้วย เพราะโครงสร้างปัจจุบันทำลายประชาธิปไตย ประชาชนเห็นว่าหย่อนบัตรแล้วไม่มีอะไรเปลี่ยน เพราะคนที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่มีอำนาจและงบประมาณเพียงพอในการแก้ไขปัญหาให้ประชาชน ประชาชนจึงไม่คิดว่าเลือกตั้งท้องถิ่นสำคัญ ซึ่งถ้าแก้ได้ อำนาจและงบประมาณอยู่ที่ท้องถิ่น ทำให้นักการเมืองท้องถิ่นตอบสนองระชาชนได้ ประชาชนจะรู้สึกว่าการเลือกตั้งมีความหมาย โครงสร้างที่กดทัพ โซ่ตรวนที่พันธนาการจะถูกปลด ดอกไม้จะเบ่งบาน จะเกิดการแข่งขันกันทำงานรับใช้ประชาชน รวมถึงลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองชนบท” ธนาธรกล่าว

***ลั่นนี่จะเป็นการระเบิดตัวของพลังทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดในรอบ 100 ปี

ธนาธรกล่าวอีกว่าที่ผ่านมาเรามักจะเจอวาทกรรมอย่างท้องถิ่นไม่มีศักยภาพ กระจายอำนาจคือกระจายการทุจริต แต่ถามว่า คำว่ามีศักยภาพหรือไม่นั้น เราดูที่อะไร เพราะศักยภาพไม่ได้เกิดขึ้นเอง แต่มาจากลงมือทำ เรียนรู้ ลองถูกลองผิด หน่วยงานราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคมีงบประมาณเยอะแยะที่สามารถจ้างคนมาทำงานได้ แต่ดูท้องถิ่น จะไปจ้างวิศวกรที่ปรึกษาออกแบบฝาย ออกแบบบ่อขยะก็ไม่มีเงิน ดังนั้น ถ้ากระจายเรื่องงบประมาณได้ เรื่องศักยภาพก็สามารถเกิดได้ถ้าให้เวลาสัก 2 ปี ส่วนเรื่องการทุจริตนั้นมีอยู่ทุกที่ ไม่ว่าจะในภาครัฐหรือเอกชน นักการเมืองท้องถิ่นก็เหมือนอาชีพอื่น มีทั้งที่ดีและเลว แต่การจะดึงงบประมาณมาใกล้ประชาชนได้ มันจะทำให้อย่างน้อยที่สุดประชาชนตระหนักถึงสิทธิตัวเอง เข้าใจในความสำคัญการจ่ายภาษีของตัวเองให้กับท้องถิ่น และเมื่อนั้นประชาชนจะตรวจสอบจะสนใจการใช้อำนาจในท้องถิ่นเอง ทั้งนี้ มีงานศึกษาของสมชัย ศรีสุทธิยากร เกี่ยวกับเรื่องการซื้อเสียงในการเลือกตั้ง พบว่ากลไกที่สำคัญสุดที่ซื้อเสียงคือ ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วย อสม. และกำนัน นี่คือ 4 หน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อส่วนภูมิภาค และนี่คือปัญหาทุจริตของระบบราชการรวมศูนย์ที่ดำรงอยู่

“ผมเชื่ออย่างยิ่งว่า ถ้าให้โอกาส เอางบประมาณเข้าใกล้ประชาชน ประชาชนจะตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพ ตระหนักถึงภาษีของพวกเขา และเขาลุกขึ้นมาตรวจสอบนักการเมืองท้องถิ่นด้วยตัวเขาเอง วิธี แก้ปัญหาคอรัปชั่นไม่ใช่เอาประชาธิปไตยออกไป แต่คือการอัดฉีดเพิ่มประชาธิปไตยเข้าไปต่างหาก นี่คือเหตุผลที่พวกเราผู้เชิญชวนทั้ง 22 คน ต้องการเชิญชวนทุกคนมาร่วมแก้รัฐธรรมนูญ หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่องนี้ไม่ใช่เพียงแค่พรรคอนาคตใหม่เท่านั้น เพราะถ้าย้อนไปดูการรณรงค์ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อมีนาคม 2562 มีหลายพรรคการเมืองพูดเรื่องการกระจายอำนาจ ดังนั้น ถ้าประชาชนร่วมกับเรามากขึ้นเท่าไหร่ เสียงประชาชนดังมากขึ้นเท่านั้น จำนวนนับประชาชนก็จะกดดันสมาชิกรัฐสภา ให้ร่วมรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วยกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนทั่วทั้งประเทศ จะเป็นการถอดสลักที่ฉุดรั้งการพัฒนาประเทศไทย นี่จะเป็นการระเบิดตัวของพลังทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดในรอบ 100 ปี” ธนาธรกล่าว

***เปิดรายชื่อ 22 ผู้เชิญชวน “นิธิ เอียวศรีวงศ์” ร่วม – “พงษ์ศักดิ์” พร้อมอดีตนักการเมืองท้องถิ่นเอาด้วย

สำหรับรายชื่อ ผู้เชิญชวน ตาม พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.2564 มีจำนวน ทั้งสิ้น 22 คน ประกอบด้วย

1.ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า

2.ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า

3.พรรณิการ์ วานิช กรรมการคณะก้าวหน้า

4.ชํานาญ จันทร์เรือง กรรมการคณะก้าวหน้า

5.กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ กรรมการคณะก้าวหน้า

6.ไกลก้อง ไวทยการ กรรมการคณะก้าวหน้า

7.เยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์ กรรมการคณะก้าวหน้า

8.สุรชัย ศรีสารคราม กรรมการคณะก้าวหน้า

9.ชัน ภักดีศรี กรรมการคณะก้าวหน้า

10.เดชรัต สุขกําเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต หรือ Think Forward Center

11.พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และนายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลา

12.ประเสริฐ วชิรเขื่อนขันธ์ อดีตนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และอดีตนายกเทศมนตรีเมืองพระประแดง

13.ศุภสัณห์ หนูสวัสดิ์ เลขาธิการสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และอดีตนายกเทศมนตรี

14.เทพพร จําปานวน นายกเทศมนตรีตําบลอาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด

15. วิโรจน์ ลักขณาดิศร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

16.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการ

17.ธเนศวร์ เจริญเมือง นักวิชาการ

18.ธํารงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ นักวิชาการ

19.ถวิล ไพรสณฑ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทบวงมหาวิทยาลัย และอดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร

20.พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้บริหารบริษัทเอกชน

21. พิพัฒน์ วรสิทธิดําารง นายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย

22.บรรณ แก้วฉ่ำ นิติกรชําานาญการ และข้าราชการท้องถิ่น

ทั้งนี้จะเห็นว่า รายชื่อผู้เชิญชวนทั้ง 22 คน ประกอบไปด้วยบุคคลหลายฝ่าย นอกจากคณะก้าวหน้าแล้ว ยังมีนักวิชการ นักการเมืองระดับชาติ นักการเมืองท้องถิ่น ข้าราชการท้องถิ่น ร่วมด้วย


ชมคลิปการแถลงข่าวเต็มได้ที่ https://youtu.be/NI8kmbu07PY

อ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด 14 ว่าด้วยการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ที่ https://progressivemovement.in.th/feature/6819/

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า