ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. …. หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น

14 มีนาคม 2565

หลักการ

แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อยกเลิกบทบัญญัติในหมวด ๑๔ การปกครองส่วนท้องถิ่น ตั้งแต่มาตรา ๒๔๙ ถึงมาตรา ๒๕๔ และเพิ่มบทบัญญัติหมวด ๑๔ การปกครองส่วนท้องถิ่น มาตรา ๒๔๙ ถึงมาตรา ๒๕๔/๖ แทน

เหตุผล

โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มีบทบัญญัติในหมวด ๑๔ การปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีเนื้อหาสาระอันเป็นอุปสรรคต่อการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น จนทำให้การกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นตามหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่นไม่อาจเกิดขึ้นได้จริง เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเป็นอิสระในการกําหนดนโยบาย การบริหาร การจัดทำบริการสาธารณะ การบริหารงานบุคคล การเงินและการคลัง การจัดทำและการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่และอำนาจในการจัดทำบริการสาธารณะในระดับท้องถิ่นโดยทั่วไป เพื่อแก้ไขปัญหาหน้าที่และอำนาจที่ซ้ำซ้อนกับราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อให้การกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องทำเท่าที่จำเป็น ไม่กลายเป็นการบังคับบัญชา และเพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น   

จึงจำเป็นต้องตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้

ร่าง

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..)

พุทธศักราช ….

_______________

…………………………….

…………………………….

…………………………….

……………………………………………………………………………………………..

……………………………

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

……………………………………………………………………………………………..

…………………………….

มาตรา ๑   รัฐธรรมนูญนี้เรียกว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม

(ฉบับที่ ..) พุทธศักราช ….”

มาตรา ๒   รัฐธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา ๓ ให้ยกเลิก “หมวด ๑๔ การปกครองส่วนท้องถิ่น” ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ตั้งแต่มาตรา ๒๔๙  ถึงมาตรา ๒๕๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“หมวด ๑๔

การปกครองส่วนท้องถิ่น

________________

มาตรา ๒๔๙ ภายใต้บังคับมาตรา ๑ รัฐต้องจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินแบบกระจายอำนาจ และต้องให้ความเป็นอิสระแก่ท้องถิ่นตามหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น

ท้องถิ่นใดมีลักษณะที่จะปกครองตนเองได้ย่อมมีสิทธิจัดตั้งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเป็นอิสระในการกําหนดนโยบาย การบริหาร การจัดทำบริการสาธารณะ การบริหารงานบุคคล การเงินและการคลัง การจัดทำและการใช้จ่ายงบประมาณ และมีหน้าที่และอำนาจเป็นของตนเอง

มาตรา ๒๕๐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแบ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไปและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไป ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไปอื่นที่จัดตั้งขึ้นโดยกฎหมาย

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษอื่นที่จัดตั้งขึ้นโดยกฎหมาย

มาตรา ๒๕๑ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่และอำนาจโดยทั่วไปในการจัดทำบริการสาธารณะในระดับท้องถิ่นเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น โดยไม่รวมเรื่องดังต่อไปนี้

(๑) ภารกิจทางทหารและการป้องกันประเทศ

(๒) ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร

(๓) การดำเนินงานเกี่ยวกับกิจการระหว่างประเทศ

(๔) การดำเนินงานของธนาคารกลางและระบบเงินตรา

(๕) บริการสาธารณะอื่นที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยรวมทั้งประเทศ ทั้งนี้ตามที่คณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด

รัฐบาล ราชการส่วนกลาง และราชการส่วนภูมิภาค มีหน้าที่และอำนาจในการจัดทำบริการสาธารณะเฉพาะเรื่องที่ไม่อยู่ในหน้าที่และอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เฉพาะเรื่องที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถจัดทำได้จนทำให้ประชาชนในท้องถิ่นได้รับผลกระทบและเดือดร้อนเสียหาย และเฉพาะเรื่องที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร้องขอให้รัฐบาล ราชการส่วนกลาง หรือราชการส่วนภูมิภาคจัดทำแทน

เพื่อให้การจัดทำบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มาตรฐาน มีคุณภาพ และประสิทธิภาพ รัฐอาจกำหนดมาตรฐานในการจัดทำบริการสาธารณะที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ ทั้งนี้ต้องไม่กระทบต่อสาระสําคัญแห่งหลักการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น และต้องไม่กระทบต่อความสามารถในการตัดสินใจดําเนินงานตามความต้องการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ในกรณีที่มีกฎหมายกำหนดหน้าที่และอำนาจในการจัดทำบริการสาธารณะให้แก่ราชการส่วนกลางหรือราชการส่วนภูมิภาคซ้ำซ้อนกับหน้าที่และอำนาจในการจัดทำบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้หน้าที่และอำนาจในการจัดทำบริการสาธารณะนั้นเป็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และห้ามมิให้ราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาคจัดทำบริการสาธารณะนั้น เว้นแต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถจัดทำบริการสาธารณะนั้นได้จนทำให้ประชาชนในท้องถิ่นได้รับผลกระทบและเดือดร้อนเสียหาย หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร้องขอให้ราชการส่วนกลางหรือราชการส่วนภูมิภาคจัดทำบริการสาธารณะนั้นแทน

มาตรา ๒๕๒ เพื่อดำเนินการกระจายอำนาจเพิ่มขึ้นให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง ให้มีกฎหมายกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ ซึ่งอย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้

(๑) การแบ่งหน้าที่และอำนาจระหว่างราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาคกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  

(๒) การแบ่งหน้าที่และอำนาจระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกันเอง โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับล่างมีหน้าที่และอำนาจในการจัดทำบริการสาธารณะเป็นหลัก และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับบนจัดทำบริการสาธารณะเฉพาะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับล่างไม่สามารถจัดทำได้ หรือบริการสาธารณะที่ครอบคลุมเชื่อมโยงกันระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับล่าง

(๒) การจัดสรรสัดส่วนรายได้ระหว่างราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาคกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องเพิ่มขึ้นโดยคิดเป็นสัดส่วนรายได้ต่อรายได้สุทธิของรัฐบาลไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบภายในสามปีนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ

(๓) การจัดให้มีคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งประกอบด้วยผู้แทนของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยมีจำนวนเท่ากัน ทำหน้าที่ดำเนินการตาม (๑) (๒) และดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ

ในกรณีที่คณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้กำหนดให้ราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาคถ่ายโอนภารกิจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภายในระยะเวลาที่กำหนด หากพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้วยังไม่มีการถ่ายโอนภารกิจ ให้ถือว่าภารกิจดังกล่าวถ่ายโอนไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และให้ถือว่าบรรดากฎหมายที่กำหนดให้หน้าที่และอำนาจแก่ราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคในการทำภารกิจดังกล่าวนั้น สิ้นผลไป

มาตรา ๒๕๓ เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอิสระในการเงินการคลัง และมีงบประมาณที่เพียงพอในการจัดทำบริการสาธารณะตามหน้าที่และอำนาจ ให้มีกฎหมายกำหนดรายรับขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งอย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้

(๑) การกําหนดอํานาจในการจัดเก็บภาษีและรายได้อื่น

(๒) การให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกู้เงินและการออกพันธบัตร  

(๓) การกำหนดให้รัฐบาลมีหน้าที่ในการจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยพิจารณาจากจำนวนประชากร รายได้ ความสามารถในการจัดทำบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่ง และความเท่าเทียมกันระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนการดำเนินการตามวัตถุประสงค์เฉพาะกิจของเงินอุดหนุนหรือตามข้อตกลงที่ได้ทำกับรัฐบาล

มาตรา ๒๕๔ เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีวิธีการในการจัดทำบริการสาธารณะได้หลากหลายและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ให้มีกฎหมายกำหนดวิธีการจัดทำบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งอย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้

(๑) หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดตั้งบริษัทจำกัดหรือร่วมถือหุ้นในบริษัทจำกัด  โดยไม่จำเป็นต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อสาธารณูปโภคเท่านั้น

(๒) หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดตั้งองค์การมหาชนในระดับท้องถิ่น

(๓) หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดตั้งสหการทั้งแบบความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประเภทเดียวกัน และระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างประเภท โดยให้สหการมีอำนาจในการจัดเก็บภาษีหรือรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลได้

(๔) หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการมอบอำนาจให้เอกชนจัดทำบริการสาธารณะแทน

มาตรา ๒๕๔/๑ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีสภาท้องถิ่นและคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น

สมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง

คณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน หรือมาจากความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น

การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ

สมาชิกสภาท้องถิ่น คณะผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น มีวาระการดํารงตําแหน่ง คราวละสี่ปี

คณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นจะเป็นข้าราชการซึ่งมีตําแหน่งหรือเงินเดือนประจํา พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่น มิได้

คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งและผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น คณะผู้บริหารท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา ๒๕๔/๒ การแต่งตั้งและการให้ข้าราชการและลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพ้นจากตําแหน่ง ต้องเป็นไปตามความเหมาะสมและความจําเป็นของแต่ละท้องถิ่น โดยการบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีมาตรฐานสอดคล้องกัน และอาจได้รับการพัฒนาร่วมกันหรือสับเปลี่ยนบุคลากรระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกันได้ รวมทั้งต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นองค์กรกลางบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นก่อน ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ

ในการบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องมีองค์กรพิทักษ์ระบบคุณธรรมของข้าราชการส่วนท้องถิ่น เพื่อสร้างระบบคุ้มครองคุณธรรมและจริยธรรมในการบริหารงานบุคคล ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ

คณะกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่นตามวรรคหนึ่งจะต้องประกอบด้วย ผู้แทนของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนข้าราชการส่วนท้องถิ่น และผู้ทรงคุณวุฒิโดยมีจํานวนเท่ากัน ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ

การโยกย้าย การเลื่อนตําแหน่ง การเลื่อนเงินเดือน และการลงโทษข้าราชการและลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา ๒๕๔/๓ การกํากับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายบัญญัติไว้ ต้องทําเท่าที่จําเป็น และมีหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ชัดเจนสอดคล้องและเหมาะสมกับรูปแบบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยต้องเป็นไปเพื่อการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นหรือประโยชน์ของประเทศเป็นส่วนรวม และจะกระทบถึงสาระสําคัญแห่งหลักการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่นหรือนอกเหนือจากที่กฎหมายบัญญัติไว้ มิได้

เพื่อให้การกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นไปตามหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น ให้มีกฎหมายการกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งอย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้ 

(๑) การกำกับดูแลจะกระทำได้เฉพาะตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในกรณีที่ผู้มีอำนาจกำกับดูแลเห็นว่าการกระทำขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้มีอำนาจกำกับดูแลไม่อาจยับยั้งหรือเพิกถอนการกระทำนั้นได้ แต่ให้ฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอเพิกถอนการกระทำนั้น  

(๒) การยกเลิกอำนาจของผู้มีอำนาจกำกับดูแลช่วงก่อนที่การกระทำขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีผลใช้บังคับ

(๓) การยกเลิกอำนาจของผู้มีอำนาจกำกับดูแลในการให้ความเห็นชอบในร่างข้อบัญญัติท้องถิ่น

(๔) การกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องส่งข้อบัญญัติท้องถิ่น มติ หรือการกระทำอื่นใดไปยังผู้มีอำนาจกำกับดูแล

(๕) การฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อเพิกถอนคำสั่งยุบสภาท้องถิ่น และคำสั่งให้ผู้บริหารท้องถิ่นหรือสมาชิกสภาท้องถิ่นพ้นจากตำแหน่ง

ให้บทบัญญัติในกฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ให้อำนาจกระทรวงมหาดไทยในการออกระเบียบเกี่ยวกับการกำกับดูแลทั้งหลายทั้งปวง และบรรดากฎ ระเบียบ หรือหนังสือเวียนที่ให้อำนาจกำกับดูแลทั้งหลายทั้งปวง สิ้นผลไป

มาตรา ๒๕๔/๔ ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดมีจํานวนไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจํานวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มาลงคะแนนเสียง เห็นว่าสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นผู้ใดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นไม่สมควรดํารงตําแหน่งต่อไป ให้สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นผู้นั้นพ้นจากตําแหน่ง ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ

การลงคะแนนเสียงตามวรรคหนึ่งต้องมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งมาลงคะแนนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด

มาตรา ๒๕๔/๕ ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานสภาท้องถิ่นเพื่อให้สภาท้องถิ่นพิจารณาออกข้อบัญญัติท้องถิ่นได้

จํานวนผู้มีสิทธิเข้าชื่อ หลักเกณฑ์และวิธีการเข้าชื่อ รวมทั้งการตรวจสอบรายชื่อ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา ๒๕๔/๖ ประชาชนในท้องถิ่นมีสิทธิในการมีส่วนร่วมการบริหารกิจการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่จัดให้มีวิธีการให้ประชาชนมีส่วนร่วมดังกล่าว

ให้มีกฎหมายว่าด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่นในการบริหารกิจการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งอย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้

(๑) การจัดให้มีการศึกษาผลกระทบและการรับฟังความคิดเห็นก่อนการดำเนินการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องถิ่นในสาระสำคัญ

(๒) การจัดให้มีการออกเสียงประชามติของประชาชนในท้องถิ่นเพื่อตัดสินใจในเรื่องสำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

(๓) การจัดตั้งสภาพลเมืองประจำท้องถิ่นโดยให้สมาชิกมาจากการสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันภายในประชาชนในท้องถิ่นทุกปี เพื่อทำหน้าที่เสนอแนะและตรวจสอบการบริหารจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

(๔) การจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม โดยให้ประชาชนในท้องถิ่นได้ตัดสินใจเลือกโครงการหรือแผนงานที่จะนำงบประมาณรายจ่ายไปใช้ได้

(๕) การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของการดำเนินการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้ประชาชนในท้องถิ่นเข้าถึงข้อมูลข่าวสารนั้นได้โดยง่ายและไม่เสียค่าใช้จ่าย”

มาตรา ๔ ภายในสองปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้คณะรัฐมนตรีจัดทำแผนการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค

ภายในห้าปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้คณะรัฐมนตรีจัดให้มีการออกเสียงประชามติในเรื่องการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค

มาตรา ๕ ภายในสองร้อยสี่สิบวันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้รัฐสภาดำเนินการตรากฎหมายดังต่อไปนี้ให้แล้วเสร็จ

(๑) กฎหมายกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ

(๒) กฎหมายเกี่ยวกับการกำหนดรายรับขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

(๓) กฎหมายเกี่ยวกับวิธีการจัดทำบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

(๔) กฎหมายเกี่ยวกับการกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

(๕) กฎหมายการถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นและการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น

(๖) กฎหมายการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่นในการบริหารกิจการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  

มาตรา ๖ ภายในหกสิบวันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้คณะรัฐมนตรีเสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการยกเลิกหน้าที่และอำนาจของราชการส่วนกลางหรือราชการส่วนภูมิภาคที่ซ้ำซ้อนกับหน้าที่และอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต่อสภาผู้แทนราษฎร และให้รัฐสภาพิจารณาและให้ความเห็นชอบภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีเสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อสภาผู้แทนราษฎร

ในกรณีที่รัฐสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการยกเลิกหน้าที่และอำนาจของราชการส่วนกลางหรือราชการส่วนภูมิภาคที่ซ้ำซ้อนกับหน้าที่และอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนดไว้ในวรรคแรก ให้ถือว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กำหนดหน้าที่และอำนาจของราชการส่วนกลางหรือราชการส่วนภูมิภาคที่ซ้ำซ้อนกับหน้าที่และอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสิ้นผลไป

มาตรา ๗ ภายในหกสิบวันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้คณะรัฐมนตรีเสนอร่างพระราชบัญญัติเพื่อแก้ไขหรือยกเลิกบทบัญญัติในกฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหลายที่ขัดหรือแย้งกับหลักการบริหารราชการแผ่นดินแบบกระจายอำนาจ และความเป็นอิสระแก่ท้องถิ่นตามหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น หรือที่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติในหมวด ๑๔ ของรัฐธรรมนูญนี้ และให้รัฐสภาพิจารณาและให้ความเห็นชอบภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีเสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อสภาผู้แทนราษฎร

                        ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

                                                   …………………………………………

                                                        นายกรัฐมนตรี

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า