ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ คือ ความจำเป็นของยุคสมัย ต้องอาศัยความร่วมจากทุกฝักฝ่ายทางการเมืองให้เกิดขึ้นจริง

19 สิงหาคม 2564

ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์กลายเป็นประเด็นสาธารณะที่ทุกคนพูดถึงในวงกว้าง ทั้งจากฝั่งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ต่างฝ่ายต่างมีคำถามเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันฯ

ฝ่ายรอยัลลิสต์ตั้งคำถามว่าเหตุใดจึงจำเป็นต้องปฏิรูปสถาบันฯ ส่วนฝ่ายที่เห็นด้วยอาจยังไม่แน่ใจว่าสถาบันทางการเมืองที่ฝังรากลึกอยู่ในทุกอณูของสังคมไทยมาเป็นเวลานานมีประเด็นใดที่ต้องนำมาพิจารณาปฏิรูปบ้าง และเมื่อสังคมไทยเห็นพ้องต้องกันแล้ว จะมีวิธีการเดินหน้าทำให้การปฏิรูปสถาบันเกิดขึ้นจริงได้อย่างไร?

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการจะทำให้การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์สำเร็จได้ ต้องมีอำนาจรัฐเข้าไปดำเนินการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ต้องอาศัยความร่วมมือกันของทุกฝ่าย ทั้ง 1) ฝ่ายที่ถืออำนาจรัฐในการแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญให้สถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2) รัฐสภาเข้าไปแก้ไขกฎหมายต่างๆ 3) การทำงานทางความคิด เพื่อหาฉันทามติร่วมกันของสังคม

การปฏิรูปสถาบันต้องอาศัยทุกฝักทุกฝ่าย ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ จะอาศัยรัฐสภาเดินหน้าทำอย่างเดียวไม่พอ ต้องทำให้คนทั้งสังคมเห็นพ้องต้องกันด้วย ถึงจะทำให้รัฐสภากล้าทำ หรือต่อให้รัฐสภากล้าทำ แต่ถ้าสังคมไม่มีฉันทามติ รัฐสภาก็อยู่ต่อไปไม่ได้เช่นกัน อาจถูกฝ่ายตรงข้ามต่อต้าน ประท้วง หรือรัฐประหารก็ได้ ดังนั้นหากฉันทามติของสังคมไม่เกิด การปฏิรูปเรื่องสำคัญของประเทศไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม ก็ไม่มีทางเป็นไปได้ ยกตัวอย่าง การปฏิรูปขนานใหญ่ที่เคยเกิดขึ้นอย่างการปฏิรูปการเมืองเมื่อปี 2540 ก็ต้องอาศัยฉันทามติของคนทั้งสังคม แม้กระทั้งฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็ต้องทำให้เขาเห็นว่าเป็นความจำเป็นต้องทำ

ถ้าเรายืนยันว่าประเทศไทยปกครองใน “ระบอบประชาธิปไตย” หมายความว่ามีประชาธิปไตยเป็นตัวตั้งก่อน องค์กรและสถาบันทางการเมืองทั้งหลายก็ต้องสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย

หลักประชาธิปไตยง่ายๆ คือ คืออำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ดังนั้นการใช้อำนาจรัฐทั้งหลายต้องเชื่อมโยงกลับไปที่ประชาชน และเมื่อองค์กรใดใช้อำนาจรัฐไปแล้ว ต้องสามารถถูกตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐได้

ประชาธิปไตยบอกว่าถ้าคุณใช้อำนาจรัฐ ก็ต้องถูกตรวจสอบ ดังนั้นต้องถามต่อว่าต้องการให้พระมหากษัตริย์มีความรับผิดชอบในกระการทำของตนเองหรือไม่

หากไม่อยากให้พระมหากษัตริย์ต้องมีความรับผิดชอบ ก็ต้องเขียนลงไปในรัฐธรรมนูญ เพื่อยืนยันว่าพระมหากษัตริย์ไม่มีพระราชอำนาจโดยแท้

ความจำเป็นของการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

เวลาเราพูดคำว่าปฏิรูปรูปของสถาบันกษัตริย์ จึงหมายความว่าสถาบันกษัตริย์ยังคงดำรงอยู่ในประเทศไทย เพียงแต่มีการปรับปรุงแก้ไขในหลายๆ เรื่องเพื่อให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย เพื่อให้รักษาสถาบันกษัตริย์ไว้ได้

ประการต่อมา การเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎเกณฑ์เรื่องสถาบันกษัตริย์เกิดขึ้นในทุกสมัย ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในอดีตเราจะเห็นว่ากฎเกณฑ์ต่างๆ เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ไม่ว่าจะอยูในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นๆ มีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา เช่น ในรัชสมัยในหลวงรัชกาลที่ 5 มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ครั้งใหญ่เพื่อปฏิรูปประเทศสยามในเวลานั้นด้วย

พอมายุค 2475 ที่มีการอภิวัฒน์สยามโดยคณะราษฎร ก็ยิ่งชัดเจนว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับระบอบแบบใหม่

หลังจากนั้นก็มีการแก้ไขกฎเกณฑ์ในรัฐธรรมนูญและทางกฎหมายอีกหลายเรื่องเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ไม่ว่าจะเป็นตอนปี 2490 มีการทำรัฐธรรมนูญที่เป็นไปในทิศทางที่เพิ่มพระราชอำนาจมากยิ่งขึ้น ปี 2500 หลังการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็มีความพยายามในการเพิ่มพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์มากยิ่งขึ้น การแก้รัฐธรรมนูญปี 2534 ก็เช่นเดียวกัน มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในหมวดพระมหากษัตริย์ที่เพิ่มอำนาจให้กษัตริย์ยิ่งขึ้น และที่เด่นชัดคือรัฐธรรมนูญ 2560

จะเห็นได้ว่าในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎเกณฑ์เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์มาแล้วหลายครั้งหลายหน ทั้งในทิศทางที่ลดพระราชอำนาจลงและในทิศทางที่เพิ่มพระราชอำนาจยิ่งขึ้น

ดังนั้น อยากเชิญชวนให้มองการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นเรื่องปกติ เพราะสถาบันกษัตริย์ก็เป็นสถาบันหนึ่งที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ เหมือนกับสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา ศาล คณะรัฐมนตรี องค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้เสมอ เหมือนปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปศาล ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ปฏิรูประบบราชการ ปฏิรูปการศึกษา

จึงเป็นความจำเป็นอยู่เอง ถ้าบางยุคบางสมัย มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงปฏิรูป ก็ต้องปฏิรูปได้

ระบอบประชาธิปไตยเป็นตัวตั้ง – สถานการณ์หัวเลี้ยวหัวต่อ ยิ่งทำให้จำเป็นต้องมีการปฏิรูป

ถ้าเรายืนยันว่าประเทศไทยนั้นจะปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยยังคงรักษาให้มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หมายความว่าประชาธิปไตยเป็นตัวตั้ง บรรดาองค์กรและสถาบันการเมืองทั้งหลาย ก็ต้องถูกจัดวางตำแหน่งแห่งที่ให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย

ระบอบประชาธิปไตยเรียกร้องว่าอำนาจสูงสุดไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่งหรือคณะใดคณะหนึ่ง แต่อำนาจสูงสุดนั้นเป็นของคนทุกคน ในชื่อร่วมกันว่า “ประชาชน” ดังนั้น การใช้อำนาจรัฐต้องมีจุดเชื่อมโยงกลับไปที่ประชาชน และเมื่อบรรดาองค์กรต่างๆ เมื่อได้ใช้อำนาจแล้ว จะต้องถูกตรวจสอบได้

บรรดาสถาบัน-องค์กรต่าง ๆ ที่อยู่ในรัฐธรรมนูญที่ใช้อำนาจรัฐ ก็ต้องสอดคล้องกับหลักการเหล่านี้ในประชาธิปไตย รวมถึงสถาบันกษัตริย์ด้วย

สถานการณ์ในปัจจุบันนับตั้งแต่หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 โดย คสช. มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติต่างๆ จำนวนมาก หลายเรื่องเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์และเป็นไปในทิศทางที่เพิ่มพระราชอำนาจมากยิ่งขึ้น ทำให้ระบอบการปกครองนี้ห่างไกลออกไปจากระบอบ Constitutional Parliamentary Monarchy มากขึ้น มีกฎเกณฑ์และมีการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ในประเทศไทยที่ไม่สอดคล้องกับประชาธิปไตย

เช่น รัฐธรรมนูญ 2560 ในหมวด 2 ในหลายประเด็น, พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับส่วนราชการในพระองค์, พ.ร.บ.สงฆ์, พ.ร.ก.โอนกำลังพล, หรือ พ.ร.บ.ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ทั้งหลายเหล่านี้ได้วางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ที่เป็นไปในทิศทางที่ไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย

นอกจากนี้ การชุมนุมของนักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชนอนาคตของชาติ ที่เริ่มมาตั้งแต่ปีที่แล้ว เรียกร้องให้ 1) ประยุทธ์ออกไป 2) ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดยประชาชน และ 3) การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

การชุมนุมเหล่านั้นได้ทำให้ประเด็นปัญหาเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ถูกหยิบยกมาวางไว้บนโต๊ะ แต่การชุมนุมต่อเนื่องยาวนานมาจนวันนี้ ต้องเผชิญเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุม เกิดขบวนการนิติสงคราม เอากฎหมายมาใช้เป็นเครื่องมือ มีการนำกฎหมายมาตรา 112 กลับมาใช้อย่างมหาศาล มีการตั้งข้อหาแก่เยาวชน มีการทำ Watchlist ว่าใครต้องเป็นบุคคลเฝ้าระวัง ซึ่งจำนวนมากเป็นเยาวชนอนาคตของชาติ

เราต้องยอมรับความจริงแล้วว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่กำลังพูดถึงเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และมีคนจำนวนไม่น้อยเช่นเดียวกันเริ่มฝันถึงระบอบการปกครองแบบใหม่ที่ไม่มีสถาบันกษัตริย์แล้ว

ในขณะเดียวกันฝ่ายที่ยังต้องการรักษาสถาบันกษัตริย์เอาไว้กลับไปใช้วิธีการกดขี่ปราบปราม สถานการณ์แบบนี้จะถูกบีบไปเรื่อยๆ ประเทศไทยจะเหลือแค่ทางเลือก 2 ทาง คือ หากไม่เป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็เป็นสาธารณรัฐไปเลย

แล้วเหตุใดเราไม่เลือกอีกทาง ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับประชาธิปไตยแล้วอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข อย่างเข้าอกเข้าใจซึ้งกันและกัน อย่างเข้าใจถึงสถานะบทบาทหน้าที่ซึ่งกันและกัน ได้อย่างเคารพเท่าเทียมกันในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

วิธีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

สร้างฉันทามติในสังคม ต้องเปลี่ยนแปลงทางความคิด

หลายเรื่องของการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อยู่ในรัฐธรรมนูญ หลายเรื่องอยู่ในกฎหมาย บางเรื่องเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่เคยทำต่อเนื่องกันมา หลายเรื่องเป็นพฤติกรรมส่วนบุคคล หลายเรื่องเป็นพฤติกรรมขององค์กร แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์จะสำเร็จได้ต้องมีอำนาจรัฐเข้าไปเปลี่ยนกฎเกณฑ์

นอกจากการแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญ กฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์แล้ว เรายังจำเป็นจะต้องอาศัยเรื่องของความคิดด้วย หากคนไทยทั้งหมดยังเห็นไม่ตรงกัน หากฉันทามติของสังคมไม่เกิด การปฏิรูปในเรื่องที่สำคัญของประเทศไม่มีทางเป็นไปได้

ดังนั้น การรณรงค์เรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ จะอาศัยรัฐสภาทำอย่างเดียวคงไม่พอ แต่จะต้องสร้างฉันทามติจากคนทั้งสังคม หากไม่มีเรื่องนี้รัฐสภาก็จะไม่ทำ เช่นเดียวกัน หากไม่มีฉันทามติของสังคม ต่อให้รัฐสภากล้าทำ รัฐสภาก็อาจจะมีอันเป็นไปเหมือนกัน

ดังนั้น ต้องสร้างฉันทามติในสังคมนี้ให้ได้ ซึ่งฉันทามติจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการทำงานในทางความคิด ก็คือต้องรณรงค์เปลี่ยนความคิดคนให้ได้ ต้องทำให้ประเด็นปัญหาการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ไม่ใช่ประเด็นเฉพาะของคนกลุ่มใดกลุ่มเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนเห็นว่าจะเป็นประโยชน์แก่พวกเรา จะกระทบกระเทือนถึงปัญหาปากท้องของเรา จะกระทบกระเทือนถึงปัญหาในชีวิตประจำวันของเราด้วย ไม่ใช่เรื่องไกลตัว เป็นเรื่องเปิดประตูหน้าบ้านก็เจอแล้ว

การชุมนุมต้องรักษาเพดานไม่ให้วาระการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์หายไป

ต้องยอมรับว่าตลอดปีที่ผ่านมา ประเด็นการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เกิดขึ้นมาได้เพราะการชุมนุมเรียกร้องกดดัน แต่ฝ่ายตรงข้ามที่ไม่เห็นด้วย กลับหยิบกลยุทธ์นิติสงครามมาใช้ สร้างข้อหาเอาแกนนำผู้ปราศรัยเข้าไปอยู่ในคุก มีการสลายการชุมนุมด้วยวิธีการรุนแรง ซึ่งส่งผลโดยปริยาย ทำให้ประเด็นการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ค่อยๆ หายไป การรณรงค์ถูกบังคับให้กลายเป็นเรื่อง “ปล่อยเพื่อนเรา” วิพากษ์วิจารณ์ศาล ตำรวจ การสลายการชุมนุมโดยไม่ชอบ ทั้งหมดนี้ทำให้ข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อค่อยๆ หายไป

กลยุทธ์ของรัฐ คือ ต้องการทำให้คนกลัว ทำให้พื้นที่การพูดคุยปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นศูนย์เหมือนแต่ก่อน แล้วต่อไปคนก็จะกลัว ไม่กล้าพูดถึง หรือทำให้คนต้องแบกภาระรับผิดชอบเรื่องคดีความต่างๆ ต้องมีภาระในการทำคดี เสียทรัพย์สินเงินทองในการประกันตัว ทำลายกำลังกาย กำลังใจ กำลังสมองในการต่อสู้

ดังนั้น การชุมนุมต่อเนื่องในปีนี้ หากไม่สามารถผลักดันเรื่องข้อ 3 ขึ้นไปอีก เนื้อหาที่พูดถึงเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ก็ค่อยๆ หายไป

แน่นอนว่าเราต้องอาศัยรัฐสภาในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ แต่ก็จำเป็นด้วยว่าเราต้องมีแรงกระเพื่อมจากสังคม ทำให้แม้กระทั่งฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็ต้องมาเห็นด้วย ให้เห็นว่านี่เป็นความจำเป็นของยุคสมัยจริง และเราก็ต้องอาศัยเรื่องของการชุมนุมเรียกร้องรักษาข้อเสนอนี้เอาไว้ให้ได้

สรุปข้อเสนอ 10 ข้อ เพื่อการแก้ไขหมวด 2 ของรัฐธรรมนูญ สู่การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

นี่จึงเป็นสาเหตุที่ผมได้ยกร่างรัฐธรรมนูญหมวด 2 พระมหากษัตริย์ขึ้นมา เพื่ออย่างน้อยที่สุดจะได้เป็นเข็มทิศ และเป็นข้อเสนอพร้อมใช้ หมายความว่าถ้าวันหนึ่งสถานการณ์มันถึงพร้อมเพียงพอ ถึงเวลาทุกคนเห็นพ้องต้องกัน ก็มีข้อเสนอนี้อยู่ในมือใช้ได้ทันที นอกจากนี้ยังเปิดพื้นที่ปลอดภัยใหม่ๆให้กับการรณรงค์ เช่น ประชาชนอาจใช้สิทธิเข้าชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผลักดัน ร่างแก้ไข หมวด 2 นี้เข้ารัฐสภาได้

ผมเขียนร่างนี้ โดยพิจารณาจากรัฐธรรมนูญไทยในอดีต และรัฐธรรมนูญต่างประเทศที่เป็นประชาธิปไตย และมีสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ และพิจารณาถึงสภาพปัญหาในปัจจุบัน ผมยกร่างครั้งนี้พยายามใช้วิธีการเขียนให้ง่าย ให้ชัด ไม่ต้องตีความ คืออ่านแล้วเข้าใจได้ทันที โดยเป็นการแก้ไขในหมวด 2 หมวดพระมหากษัตริย์

อ่าน ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หมวด 2 พระมหากษัตริย์ ฉบับเต็ม

ข้อเสนอแบ่งออกเป็น 10 ประเด็นด้วยกัน คือ

1) มาตรา 6 กำหนดพระราชฐานะประมุขของรัฐว่าเป็นศูนย์รวมจิตใจและมีความเป็นกลางทางการเมือง เป็นสัญลักษณ์ที่คนในชาติยึดเหนี่ยวร่วมกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องไปบังคับว่าทุกคนจะต้องเคารพสักการะ แค่ทำให้เห็นว่าตำแหน่งสถาบันพระมหากษัตริย์มีความสำคัญในแง่ของศูนย์รวมจิตใจของคนในชาตินั่นเอง

ที่ต้องใช้คำว่า “และมีความเป็นกลางทางการเมือง” ก็เพราะคำว่า “พระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะฟ้องร้องในทางใดมิได้” ที่เราใช้ทุกวันนี้มาต่อเนื่องยาวนาน ถูกเปลี่ยนแปลงความหมายไปจากเดิมมาก ทั้งที่แต่เดิมคำนี้เป็น “ผล” ส่วน “เหตุ” มาจากการที่พระมหากษัตริย์ต้องมีความเป็นกลางทางการเมือง

เพราะถ้าไม่เป็นกลางทางการเมืองคนก็ไม่เคารพ จะมีฝักฝ่ายที่ชอบและไม่ชอบ หากพระมหากษัตริย์เอียงไปข้างฝ่ายการเมืองหนึ่ง คนที่เขาไม่สนับสนุนฝ่ายการเมืองนั้นก็จะไม่เคารพสถาบันกษัตริย์ ผมจึงเสนอให้เขียนตรงๆ ไปเลย ว่าพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาติ ทรงดำรงสถานะเป็นกลางทางการเมือง

2) ในมาตรา 7 ซึ่งเป็นมาตราที่สำคัญ ผมกำหนดตัวขอบเขตของพระราชอำนาจให้ชัดว่ามีพระราชอำนาจในเรื่องอะไรบ้าง และต้องมีรัฐมนตรีหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องรับสนองพระบรมราชโองการอะไรบ้าง

การเขียนเช่นนี้มาจากหลักการว่าพระมหากษัตริย์ไม่ทรงกระทำอะไรผิด ก็เพราะว่ากษัตริย์ไม่มีพระราชอำนาจในทางการเมืองโดยแท้ รัฐมนตรีเป็นคนรับผิดชอบไปทำกันเอง และก็เขียนออกมาให้ชัดไปเลย โดยดูแบบมาจากรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น

3) ให้มีการเปลี่ยนสถานะและรูปแบบทางกฎหมายของ “กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์” ให้เป็น “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ” เปลี่ยนให้เข้ากับรูปแบบของระบอบปัจจุบันแบบรัฐสมัยใหม่

4) ให้ยกเลิกองคมนตรี ในระบอบที่พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตยที่ยังรักษาสถาบันกษัตริย์ไว้เป็นประมุขของรัฐ ที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์จริงคือรัฐบาล แล้วก็รับผิดชอบต่อการใช้อำนาจเอง

ถ้าเขียนให้มีองคมนตรีต่อไป ปัญหาคือถ้าเกิดองคมนตรีคนใดคนหนึ่งมีพฤติกรรมที่ไม่ดี จะทำให้กระทบกระเทือนถึงพระมหากษัตริย์ หรือหากมีองคมนตรีบางคนที่ไม่เป็นกลางทางการเมือง ก็ย่อมทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ตามไปด้วย

จึงคิดว่าเราต้องแก้ปัญหาตรงนี้ ด้วยการยกเลิกองคมนตรี ส่วนที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ในการบริหารแผ่นดินก็คือรัฐบาล ตามโครงสร้างระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ

5) เปลี่ยนแปลงกระบวนการเข้าสู่ตำแหน่งของพระมหากษัตริย์ ซึ่งก่อนหน้านี้เราเคยใช้เเบบนี้มาโดยตลอด แต่เพิ่งมาเปลี่ยนตอนปี 2534 คือหากพระมหากษัตริย์ทรงตั้งรัชทายาทเอาไว้ ให้อัญเชิญพระนามของรัชทายาทนั้นเข้าสู่สภา แล้วสภาก็พิจารณาให้ความเห็นชอบ แต่หากไม่ได้ตั้งรัชทายาทเอาไว้ก็ต้องไปดูกฎมณเฑียรบาล ว่าตำแหน่งจะเป็นของพระองค์ใดแล้วก็เอาชื่อเข้าสู่สภาให้ความเห็นชอบ

เมื่อเป็นตามนี้ พระมหากษัตริย์จะเป็นพระมหากษัตริย์ของประชาชนอย่างแท้จริง อย่างที่เราพูดกันบ่อยๆ ว่า “อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ” คือปวงชนชาวไทยยกขึ้นให้เป็นพระมหากษัตริย์ จะเป็นเช่นนั้นได้ก็ต้องผ่านผู้แทนราษฎรก็พิจารณาให้ความเห็นชอบนั่นเอง

6) พระมหากษัตริย์ก่อนเข้ารับตำแหน่งต้องปฏิญาณตน โดยมีข้อความปฏิญาณตนว่าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และเคารพรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ

เป็นสัญลักษณ์ว่าพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ว่าพระมหากษัตริย์จะเคารพรัฐธรรมนูญ แสดงตนว่าพระมหากษัตริย์จะอยู่ได้รัฐธรรมนูญจริง ๆ ซึ่งหลายประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เขียนเอาไว้เช่นนี้หมด ให้มีการปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่ง

7) กระบวนการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ค ในรัชสมัยก่อนหน้านี้ รัฐธรรมนูญเขียนไว้กว้าง ๆ ว่าหากพระมหากษัตริย์มีเหตุที่ไม่ได้ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ ต้องตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เสมอ

แต่ปัจจุบันรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้บังคับแล้ว แม้มีเหตุดังกล่าว จะตั้งหรือไม่ก็ได้ ขึ้นกับพระบรมราชวินิจฉัยของกษัตริย์ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาเรื่องรอยต่อ ตำแหน่งประมุขของรัฐเป็นเหมือนศูนย์รวมของความเป็นรัฐ หากมีปัญหาว่าคนที่ดำรงตำแหน่งประมุขของรัฐไม่ได้อยู่ในประเทศ ไม่ว่าง ป่วย หรือไม่สบาย ก็ต้องหาคนมาทำแทน หลักการทางกฎหมายมหาชนก็เป็นเช่นนี้ การแก้ไขข้อนี้คือการนำเรื่องนี้กลับมาทำให้ถูกต้อง เหมือนสมัยในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมัยในหลวงรัชกาลที่ 8

8) การกำหนดเงินรายปี หรือ Civil List ในหลายประเทศกำหนดเงินรายปีที่สภาจะอนุญาตให้สถาบันกษัตริย์ ให้พระมหากษัตริย์สามารถดำรงสถานะอย่างสมพระเกียรติ ไม่ให้มีประเด็นปัญหาเรื่องเงินที่ต้องมาเถียงกันทุกปี และยังกำหนดว่าให้ใช้เรื่องอะไรบ้าง จะต้องครอบคลุมเรื่องอะไรบ้าง เอาไปใช้จ่ายเรื่องอะไรบ้าง และถูกตรวจสอบได้ โดยสภาและองค์กรตรวจเงินแผ่นดิน

9) การลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่ง ให้พระมหากษัตริย์ยังคงมีพระราชอำนาจลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้ง เฉพาะองค์กรผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในระดับรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้แก่รัฐมนตรี ผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และองค์กรอิสระ

10) ยกเลิกอำนาจในการวีโต้กฎหมาย เวลาเราบอกว่าประเทศไทยจะปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ยังรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์เอาไว้เป็นประมุขของรัฐ กับมีพระราชอำนาจในการวีโต้กฎหมาย อันนี้ต้องพึงระมัดระวัง เพราะสภาซึ่งเป็นตัวแทนประชาชน เมื่อตรากฎหมายออกมาแล้วเกิดพระมหากษัตริย์วีโต้ มันจะเกิดสภาวะที่พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นบุคคลเพียงคนเดียว สามารถยับยั้งกฎหมายที่ผ่านผู้แทนราษฎรมาได้ ซึ่งผมจะได้ลงรายละเอียดในครั้งต่อไป

สื่อสารถึงทุกฝ่ายทางการเมือง

ฝ่ายสนับสนุนปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ต้องขับเคลื่อนการสื่อสารด้วยรูปแบบที่แตกต่างหลากหลาย

กลุ่มแรก คือ ฝ่ายที่สนับสนุนการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ที่ผ่านมาการชุมนุมเรียกร้องของประชาชน-เยาวชนอนาคตของชาติ ได้ทำให้เรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์มาอยู่บนโต๊ะเรียบร้อย แต่นี่ยังไม่เพียงพอ ทั้งในด้านจำนวนและในด้านเนื้อหา

ในด้านจำนวน แน่นอนมีคนเห็นด้วยเพิ่มขึ้น แต่จำนวนที่มีอยู่ยังไม่พอ การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญของประเทศไทย ต้องมีจำนวนคนที่เห็นด้วยเยอะกว่านี้ คนที่เห็นด้วยแล้วแต่ไม่กล้าแสดงออกจะทำอย่างไรให้เขากล้าแสดงออก เป็นเรื่องปกติที่พูดคุยกันได้ คนที่ยังไม่เห็นด้วยจะทำให้เขาเปลี่ยนมาเห็นด้วยได้อย่างไร

ถ้าจะสร้างฉันทามติของสังคม ต้องมีจำนวนคนสนับสนุนการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์มากกว่านี้

ในด้านเนื้อหาก็เช่นเดียวกัน จะเห็นได้ว่าคนที่เห็นด้วยกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ได้นำเสนอเนื้อหาที่เป็นรูปธรรมหลายประเด็นอยู่บ้าง แต่ยังไม่พอ ส่วนใหญ่จะเห็นด้วยกับในภาพใหญ่แล้ว ว่าต้องปฏิรูปให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย

แต่ในรายละเอียดไม่ได้ถูกพูดถึงเท่าไหร่นัก ไม่มีการขยายความว่าต้องปฏิรูปเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งภารกิจเหล่านี้ นักวิชาการ ปัญญาชน ผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญ คนที่มีประสบการณ์ คนที่มีทักษะในการรวบยอดความคิด (conceptualize) ในการอธิบาย อาจเข้ามาช่วยได้

นี่เป็นเรื่องของทักษะ ในการหยิบประเด็นเหล่านี้มาอภิปรายถกเถียง ในการเอาสิ่งที่ประชาชนคิดตรงกันมาอธิบายเป็นข้อให้เข้าใจง่าย ดังนั้นถึงจำเป็นว่านักวิชาการ ปัญญาชน หรือคนทั่วไปที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเรื่องแบบนี้ ต้องออกมาช่วยกันพูดเรื่องนี้ให้เยอะขึ้น ทั้งในแง่ของการพูดเพื่อทำให้ความคิดตกผลึกให้เป็นรูปธรรม ทั้งการดีเบตกับฝ่ายที่ยังไม่เห็นด้วย ไปเชิญชวนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยเห็นด้วยกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

ผมตั้งข้อสังเกตว่า นักวิชาการพูดเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์น้อยมาก แน่นอนในปัจจุบันนี้ เรามีนักวิชาการ ปัญญาชนสาธารณะ จำนวนมาก สนับสนุนการชุมนุม สนับสนุนข้อ 3 แต่มีจำนวนน้อยเกินไปที่ออกมาพูดเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

เราจะทำอย่างไรให้เปลี่ยนใจคนได้ มีหลายคนหลายแบบ ตั้งแต่คนที่มืดบอดไปเลย พูดเรื่องนี้แล้วถือว่าเป็นการลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของฉัน หรืออาจจะมีบางคนที่เริ่มจะเข้าใจอยู่บ้างแต่ยังไม่ทั้งหมด หรืออาจจะมีคนที่รักและเทิดทูนพระมหากษัตริย์จริง ๆ และมองเห็นความจำเป็นของการปฏิรูป หรืออาจจะมีคนเห็นด้วยหมดเลยแต่ไม่กล้าพูด การสื่อสารกับคนแต่ละกลุ่มเหล่านี้ ต้องใช้วิธีการสื่อสารหลากหลายรูปแบบ จะใช้วิธีการสื่อสารแบบเดียวกันไม่ได้

ฝ่ายกษัตริย์นิยม ที่เห็นด้วยขอให้ช่วยกันพูด ที่เห็นแย้งขอให้เปิดใจมองด้วยเหตุผล

กลุ่มคนที่ยืนยันชัดเจน เป็นคนที่จงรักภักดี เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ เคยทำงานรับใช้ คนเหล่านี้อาจจะคิดในใจว่าต้องปฏิรูป บางคนอาจจะรู้สึกว่าธุระไม่ใช่ คนกลุ่มนี้อาจจะกังวลว่าถ้าพูดไปเดี๋ยวจะเดือดร้อน อาจจะไม่เห็นด้วยกับการชุมนุม หรืออาจจะไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอ 10 ข้อของแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ หรือแม้กระทั่งที่ผมยกร่าง แต่ก็อาจมีเห็นด้วยอยู่บ้างในบางประเด็น หรือเห็นด้วย-เห็นต่างในรายละเอียด

อยากเชิญชวนผู้จงรักภักดีที่มีเหตุมีผล ที่คิดนึกอยู่ในใจว่าอย่างไรเสียประเทศไทยก็จำเป็นต้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ต้องช่วยกัน ต้องกล้าพูดกล้าแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา เพราะพวกท่านอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยมากที่สุด

ดังนั้น จำเป็นที่จะต้องมีคนที่บอกว่าตัวเองเป็นผู้จงรักภักดี คนที่เล็งเห็นถึงความจำเป็นของการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ต้องออกมาช่วยพูด เพื่อให้สังคมเห็นว่ามันมีหลายฝ่ายที่เห็นด้วยเหมือนกัน อย่าปล่อยให้สถานการณ์มันไปไกลจนเราคุมอะไรไม่ได้ เรายังมีเวลาและยังมีโอกาสอยู่ ผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้อาวุโสในบ้านเมืองนี้ที่เป็นฝ่ายผู้จงรักภักดี หลายท่านเคยทำงานรับใช้สถาบันพระมหากษัตริย์มาอย่างชัดเจนตรงไปตรงมา ถ้าท่านเห็นความสำคัญเห็นจำเป็น ว่าต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ และกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ต้องช่วยกันออกมาพูดให้มากกว่านี้ เพื่อที่จะประคับประคองสถานการณ์บ้านเมืองต่อไปได้

กลุ่มคนที่เคารพนับถือสถาบันกษัตริย์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นเหมือนพระเจ้า ใครมาพูดถึงแตะต้องอะไรไม่ได้เลย ผมอยากให้ลองเปิดใจให้กว้าง แล้วลองพิจารณาดูว่าตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 จนมาถึงวันนี้ มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายหลายเรื่องที่มันกระทบกระเทือนตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ ที่มันกระทบกระเทือนกับระบอบประชาธิปไตยหรือไม่

ลองพิจารณากันดูว่าหากทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จะกระทบกับสถาบันกษัตริย์อย่างไร ลองพิจารณากันอย่างแยบคาย ว่าวิธีการที่พวกท่านทำกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการล่าแม่มด การไปแจ้งความมาตรา 112 กับเด็กและเยาวชนเต็มไปหมด การจัดไอโอมาถล่ม การออกรายการด่ากันไปด่ากันมาแบบนี้ ทั้งหลายทั้งปวงไม่มีทางไปเปลี่ยนชุดความคิดของคนที่สนับสนุนให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ได้

คุณยิ่งกดขี่เขาเท่าไหร่ คุณแจ้งความเขาเท่าไหร่ คุณด่าเขาเท่าไหร่ เยาวชนอนาคตของชาติกลุ่มนี้เขาไม่เปลี่ยนความคิดแล้ว หนำซ้ำ จะยิ่งผลักเขาให้แรงขึ้นกว่าเดิมอีก

ผมพูดตรงๆ ถึงผู้จงรักภักดีที่อยากรักษาสถาบันกษัตริย์เอาไว้ในประเทศไทยต่อไป

วิธีการรักษาสถาบันกษัตริย์ที่ดีที่สุด ไม่ใช่การเอาคดีไปใส่คนอื่น ไม่ใช่การไปด่าคนอื่นว่าล้มเจ้า การป้องกันไม่ให้ประเทศไทยกลายเป็นสาธารณรัฐ วิธีที่ดีที่สุดคือต้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

สถาบันกษัตริย์และองคาพยพรายล้อม โปรดมองภาพความเป็นจริง

ฝ่ายสถาบันกษัตริย์และองคาพยพรายล้อม ในที่นี้มิได้เจาะจงบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่มองในฐานะองค์กร ผมอยากสื่อสารว่าในประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์มาโดยตลอด ไม่มีช่วงเวลาใดสะดุดหยุดลงเลย ที่เป็นแบบนี้ได้ เพราะสถาบันฯ มีการเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับยุคสมัยอยู่ตลอดเวลา รู้เท่ากันกับสถาการณ์ว่าจำเป็นต้องปฏิรูปเปลี่ยนแปลง

ในหลวงรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ทรงปฏิรูปสยาม ในหลวงรัชกาลที่ 7 มองออกว่าหากวันนั้นชนกับคณะราษฎรจะเกิดอะไรขึ้น จึงเลือกที่จะเจรจาประนีประนอมกับคณะราษฎร ลงมาเป็นกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ

ดังนั้น สถาบันกษัตริย์แต่ละยุคแต่ละสมัยมีการปรับตัวให้ทันยุคทันสมัยอยู่ตลอดเวลา แล้วเผชิญหน้ากับความท้าทายมาตลอด รอบนี้ก็เป็นอีกรอบหนึ่ง ที่สถาบันกษัตริย์กำลังเผชิญความท้าทายใหม่อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

การดำรงอยู่ได้อย่างต่อเนื่องของสถาบันกษัตริย์ คือ การรู้เท่าทันกับสถานการณ์ ต้องปฏิรูปเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การอาศัยอำนาจเผด็จการทหาร ทุนผูกขาด และระบบอำนาจนิยม ไม่มีทางรักษาสถาบันกษัตริย์เอาไว้ได้ ต้องใช้ประชาธิปไตยเท่านั้น ถึงจะรักษาสถาบันกษัตริย์เอาไว้ได้

ทุกวันนี้ สิ่งที่องคาพยพทั้งหลายของรัฐทั้งหลายกำลังทำ ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ระดับล่างจนถึงระดับนโยบายของรัฐบาล ไม่ใช่วิธีการรักษาสถาบันฯ คุณอาจจะอ้างว่าใครออกมาชุมนุมต้องโดนจัดการให้หมด ความเป็นจริงคือการกดปราบความต้องการของประชาชนเอาไว้  เพื่อให้รัฐบาล ทุนผูกขาด และกองทัพ ใช้ประโยชน์จากสถานะของสถาบันกษัตริย์ ได้กอบโกยผลประโยชน์ให้ตนเองต่างหาก แล้ววันข้างหน้าจะเป็นอย่างไรไม่รู้ ออกจากตำแหน่งไปหมดแล้วก็ไม่สนใจแล้ว

นักการเมืองต้องเข้าใจว่าการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เท่านั้นที่จะหยุดวงจรรัฐประหาร-ยุบพรรคได้

สุดท้าย ผมขอส่งสารถึง พรรคการเมืองและนักการเมือง แน่นอนที่สุดว่าการมาเป็นนักการเมือง มาลงสมัครรับเลือกตั้ง มีโอกาสในการบริหารราชการแผ่นดิน ก็เพื่อทำสิ่งที่ดี ๆ ให้กับพี่น้องประชาชน ในบางยุคบางสมัย ต่อสู้เท่านี้ ก็อาจจะเพียงพอ แต่วันหนึ่งก็จะต้องถูกรัฐประหารยึดอำนาจ ถูกยุบพรรคถูกตัดสิทธิ์อีก แล้ววันหน้าก็จะวนเวียนอยู่แบบนี้อีก

วันนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปจากเดิม แน่นอนว่าปัญหาของพี่น้องประชาชน รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจปากท้องหรือเรื่องโควิด วันนี้สำคัญแน่นอน แต่ทั้งหมดทั้งสิ้นเราต้องการรัฐบาลที่มีคุณภาพ มีวิสัยทัศน์ มีเสถียรภาพ มีนโยบายดีๆ มาส่งมอบให้กับพี่น้องประชาชน ให้ชีวิตของประชาชนอยู่ดีกินดีมากยิ่งขึ้น

แต่ทำอย่างไรถึงจะรักษารัฐบาลแบบนี้เอาไว้ได้ เมื่อถึงเวลาชนชั้นนำกลุ่มหนึ่งก็พร้อมจะออกมาก่อรัฐประหารยึดอำนาจ มีคดียุบพรรคตัดสิทธิ์อะไรกันอีก มันก็จะวนเข้าสู่อีหรอบเดิมอีกครั้งแล้วครั้งเล่า

ดังนั้น อาจจะถึงเวลาแล้วที่พรรคการเมืองและนักการเมืองที่พูดกันว่าเป็น “ฝ่ายประชาธิปไตย” ต้องคิดให้รอบด้านมากขึ้น เรื่องนโยบายเศรษฐกิจ นโยบายดี ๆ ที่จะทำให้พี่น้องประชาชนกินดีอยู่ดีมากยิ่งขึ้นก็ต้องคิด แต่ขณะเดียวกันก็ต้องหันมาคิดเรื่องการแก้ไขต้นตอปัญหาเชิงโครงสร้างการเมืองไทยด้วย

ผมเชิญชวนพรรคการเมืองและนักการเมืองที่ไม่ได้สนใจเรื่องนี้มาก นอกจากคิดเพียงว่านี่คืออาชีพๆ หนึ่ง ให้เห็นปัญหาภาพใหญ่มากกว่านี้ อาจจะถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะกินพาราเซตามอลไปเรื่อยๆ ไม่ได้ อาจจะถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องปฏิรูปโครงสร้างใหญ่ ซึ่งเรื่องของสถาบันกษัตริย์ก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่จะต้องปฏิรูปเช่นเดียวกัน

อย่าทิ้งโอกาสในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ อย่าทิ้งโอกาสในช่วงเวลาที่ทุกฝ่ายยังพอจะควบคุมสถานการณ์ได้อยู่

เพราะถ้าหากปล่อยสถานการณ์เป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ ก็จะบานปลาย จนคุมไม่ได้ จนไม่รู้เหมือนกันว่ามันจะกลายเป็นแบบไหน จบแบบไหน

ทางเดียวที่จะป้องกันไม่ให้ประเทศไทยเป็นสาธารณรัฐ คือ การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

โลกศตวรรษที่ 21 ที่เป็นแบบสมัยใหม่ ยึดหลักทุกคนเท่าเทียมกัน ทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทำให้สถาบันกษัตริย์กลายเป็นสิ่งที่ล้าสมัยตกยุคไปแล้ว แต่เมื่อลองไปสำรวจตรวจสอบทั่วโลกจะพบว่ามีหลายประเทศที่ยังรักษาสถาบันกษัตริย์เอาไว้ได้เป็นอย่างดี พร้อมกับที่เป็นประชาธิปไตยด้วย

ผมเป็นคนหนึ่งที่ยืนยันว่าประเทศไทยยังคงต้องมีสถาบันกษัตริย์ต่อไป แต่ต้องปฏิรูปกฎเกณฑ์ต่างๆ เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย ให้สอดคล้องกับค่านิยมแบบสมัยใหม่ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพ ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และมีความรับผิดชอบต่อประชาชน

ผมเป็นหนึ่งในคนที่ถูกฝ่ายตรงข้ามกล่าวหามาโดยตลอดว่าผมเป็นพวก “ล้มเจ้า” ผมขอพูดอย่างตรงไปตรงมา วาถ้าผมคิดแบบนั้นจริง ผมไม่ต้องมาเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ผมอยู่ไปเรื่อยๆ รู้หลบเป็นปีกรู้หลีกเป็นหาง ไม่ต้องเอามือมาซุกหีบ ไม่ต้องเอาเท้ามาแกว่งหาเสี้ยนก็ได้ รอดูไปว่าสถานการณ์จะเป็นไปอย่างไร

แต่เพราะผมยืนยันว่าประเทศนี้ยังต้องมีสถาบันกษัตริย์ต่อไป ผมถึงเสนอเรื่องนี้ออกมาในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อแบบนี้ ให้สถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่ต่อไปอย่างสอดคล้องกับยุคสมัย สอดคล้องกับประชาธิปไตย มีความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ต้องเป็นสถาบันกษัตริย์ที่ประหยัดมัธยัสถ์ ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับพี่น้องประชาชนคนในชาติ เป็นสถาบันกษัตริย์ที่ไม่ต้องรับผิดรับชอบ เพราะไม่มีพระราชอำนาจในการกระทำการทางการเมือง-การบริหารโดยแท้

เมื่อสถาบันกษัตริย์ทำแบบนี้ ถึงจะอยู่รอดปลอดภัยในระบอบประชาธิปไตย ในโลกสมัยใหม่ได้

วิธีการที่ดีที่สุดในการป้องกันไม่ให้ประเทศไทยกลายเป็นสาธารณรัฐ คือ การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า